นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมิได้เอ่ยถึง แต่เป็นผลที่งอกงามขึ้นตามสภาพและตามความจำเป็นของลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม พรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญของสถาบันผู้แทนปวงชน เราไม่จำเป็นต้องก้าวย่างเข้าไปอภิปรายหัวข้อนี้ให้ยืดยาว เพราะผู้เขียนได้บรรยายไว้เต็มอัตรากว่านี้แล้วใน รัฐศาสตร์รายไตรมาส ฉบับเดือนธันวาคม 1912[1] และยิ่งล่าสุดกว่านั้น (มิถุนายน 1914) นายเฮนรี ซาโต ได้เผยแพร่หนังสือชื่อ วิวัฒนาการของพรรคการเมืองในญี่ปุ่น[2] ซึ่งเราได้อ้างถึงมาบ้างแล้ว อูเอฮาระ[3] ก็ได้อภิปรายหัวข้อนี้ไว้เหมือนกัน[4]
ประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองในญี่ปุ่นนั้นอาจแบ่งออกเป็นช่วงเวลาดังต่อไปนี้ (1) ช่วงเป็นตัวอ่อน ปี 1867–1882 (2) ช่วงจัดระเบียบ ปี 1882–1890 (3) ช่วงพัฒนา ปี 1890–1898 (4) ช่วงมีอิทธิพล ปี 1898–1911 (5) ช่วงมีอำนาจเหนือองค์กรอื่น ปี 1911 เรื่อยมา แต่ในเรื่องนี้ เราเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับช่วงเวลา 3 ช่วง คือ ตั้งแต่ปี 1890 จนถึงปัจจุบันเท่านั้น
การเลือกตั้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 กรกฎาคม 1890 นั้น[5] นำมาสู่ผลการเลือกตั้งที่มีสมาชิกแตกแยกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย 10 กลุ่ม แต่กระนั้น บางกลุ่มก็หลอมรวมกันเป็นพรรคการเมือง 4 หรือ 5 พรรคเป็นผลสำเร็จ ซึ่งในจำนวนนี้ พรรคใหญ่ที่สุด คือ จิยูโต หรือพรรคเสรีนิยม[6] หลายปีทีเดียวที่กลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มหัวก้าวหน้า (ไคชินโต[7] หรือชิมโปโต)[8] เป็นพรรคโดดเด่นที่สุด และรัฐบาลก็คอยหาช่องเป็นพันธมิตรกับแต่ละพรรคเหล่านี้ตามลำดับ ในปี 1898 พรรคทั้งสองดังกล่าวกลบฝังความบาดหมางเอาไว้ แล้วผนึกกำลังกันก่อตั้งเค็นเซโต หรือพรรครัฐธรรมนูญนิยม[9] พรรคใหม่นี้ได้รับเชิญให้เข้าจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในทันทีทันใด ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า คณะรัฐมนตรีโอกูมะ-อิตางากิ[10] เพราะมาจากหัวหน้าพรรคทั้งสองที่ผนึกกำลังกัน คณะรัฐมนตรีที่สองพรรคเชื่อมเข้าหากันนี้ไม่นานก็ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งภายใน และรัฐบาลผสม
- ↑ Clement, E. W. (1912). "Political Parties in Japan". The Political Science Quarterly 27 (4): 669–681. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Satoh, H. (1914). Evolution of Political Parties in Japan: A Survey of Constitutional Progress. Tokyo: K.M. Kawakami. OCLC 259706032. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ Uyehara, G. E. (1910). The Political Development of Japan, 1867–1909. London: Constable. OCLC 466274954. (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คาวากามิ, แนวคิดทางการเมืองของญี่ปุ่นสมัยใหม่, โชกวาโบ, โตเกียว, 1903; และ เอกสารของเลย์ใน รายงานการประชุมของสมาคมเอเชียแห่งญี่ปุ่น, โตเกียว, เล่ม 30, หน้า 363–462 ก็ทรงคุณค่าเช่นกัน
- ↑ ดู 1890 Japanese general election (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ดู Liberal Party (Japan, 1890) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ชื่อพรรคการเมือง ดู Kaishintō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ชื่อพรรคการเมือง ดู Shimpotō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ดู Kenseitō (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ คณะรัฐมนตรีของโอกูมะ ชิเงโนบุ กับอิตางากิ ไทซูเกะ ดู First Ōkuma Cabinet (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)