หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖๘

บางทีก็มีการให้คำตอบในทางเห็นชอบโดยการยกมือไหว้หรือค้อมศีรษะ[1] ครั้นแล้ว จะประกาศพระเจ้าแผ่นดินอย่างเป็นทางการ และเพิ่มข้อความ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" เข้าในพระนาม[2]

 ธรรมเนียมนี้ดำเนินมาจนถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรังสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการสถาปนามกุฎราชกุมารซึ่งสืบราชสมบัติอย่างไร้ข้อกังขา ส่วนพิธีการ ณ เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์นั้นก็เป็นแต่ประกาศบางอย่าง
 รัชกาลที่ 6 ไม่มีพระราชโอรส จึงตกเป็นปัญหาในเสนาบดีสภาว่า ควรให้พระเชษฐาหรืออนุชาร่วมพระราชบิดามารดามาสืบทอดพระองค์ ภายหลังจึงทรงตรากฎหมายการสืบสันตติวงศ์ขึ้น[3]
 กฎหมายการสืบสันตติวงศ์นี้มีหลักการโดด ๆ อยู่สองประการ คือ หลักการเลือกตั้ง กับหลักการสืบสันตติวงศ์ด้วยการสืบตระกูล ในกฎหมายนี้ เริ่มข้อความโดยแถลงว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงสงวนไว้ซึ่งสิทธิอันบริบูรณ์ในการที่จะแต่งตั้งสมาชิกผู้ใดในราชตระกูลขึ้นเป็นผู้สืบทอดพระองค์ แต่ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์โดยมิได้ทรงแต่งตั้งผู้สืบทอดไว้ การสืบสันตติวงศ์ก็จะตกสู่พระราชโอรสของพระองค์ ข้อนี้ก็ฟังดูไม่อ้อมค้อมดีอยู่ แต่นิสัยการมีภริยามากเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากขึ้นตรงนี้ กฎหมายระบุว่า พระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีควรอยู่ในลำดับก่อนผู้อื่น แล้วจึงให้ลำดับแก่พระราชโอรสที่พระมารดามีพระยศถัดจากพระมเหสี (มีพระยศต่างกันสี่ชั้นและลดหลั่นลงมาตามขั้นไปจนถึงพระราชโอรสอันประสูติแต่พระสนมในที่สุด) ข้อนี้ก็ยังฟังดูใช้ได้ในหลักการ ถ้ามิใช่เพราะมีข้อเท็จจริงว่า พระสนมนั้นจะเลื่อนพระยศขึ้นเมื่อใดก็ได้ และพระมเหสีเองนั้นจะทรงถูกลดพระยศลงตามพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า เรื่องนี้ทำให้เป็นไปได้อย่างยิ่งยวดที่จะเกิดความยุ่งยาก ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้จัดลำดับความสำคัญของพระราชโอรสด้วยพระยศที่พระมารดาทรงได้แต่ประสูติ ข้าพเจ้าหมายความว่า ควรให้ความสำคัญแก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าหญิง เช่น พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน จากนั้นเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ ถ้ามีพระราชโอรสมากกว่าหนึ่งพระองค์ซึ่งพระมารดามีพระยศเสมอกัน การสืบสันตติวงศ์จึงจะอาศัยความอาวุโสทางพระชันษาของเจ้าชายเหล่านี้ เมื่อหาพระราชโอรสมิได้แล้ว การสืบสันตติวงศ์จึงจะตกแก่พระเชษฐาหรืออนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน ตามความในกฎหมายดังที่เป็นอยู่นี้ การจัดลำดับความสำคัญยังอาศัยพระยศที่พระมารดาทรงได้จากการสถาปนา ข้าพเจ้าใคร่เสนอให้แก้ไขปรับปรุงอย่างเดียวกับที่ว่ามาข้างต้นนี้ คำถามต่อไปมีว่า กฎหมายมิได้สร้างความชัดเจนนักในกรณีที่ไม่มีพระเชษฐาหรืออนุชาเหลืออยู่ หรือในกรณีที่บุคคลซึ่งควรจะได้สืบสันตติวงศ์นั้นเกิดดับสูญเสียแล้ว พระโอรสทุกพระองค์ของเจ้าชายพระองค์นั้นชอบจะได้
  1. ดูตัวอย่างการประชุมเช่นนี้เมื่อคราวรัชกาลที่ 4 สวรรคต ใน ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ (2472, น. 19–29) และ มหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล), เจ้าพระยา (2490, น. 27–31)
  2. เช่น สร้อยพระนามรัชกาลที่ 5 มีว่า "สรรพวิเศษศิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ" (กฎหมายลักษณอาญา, 2451, น. 207)
  3. ดู "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467". (2467, 12 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41, ตอน 0 ก. น. 195–213.