หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/27

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
บันทึก

1. ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านพระราชบันทึกของพระองค์ กับทั้งบันทึกของพระยากัลยาณฯ โดยถี่ถ้วนแล้ว พระราชบันทึกของพระองค์นั้น ข้าพระพุทธเจ้ามีแต่จะแสดงความเห็นชอบด้วย แต่สำหรับบันทึกของพระยากัลยาณฯ แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะชมชอบการแสดงทัศนะของเขา และเห็นด้วยในบางส่วน แต่ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจที่พบว่า ตนเห็นต่างจากเขาในส่วนอื่น ๆ กระนั้น เวลาที่ได้รับมาสำหรับเรียบเรียงคำตอบนั้นมีน้อย และความลำบากในข้างข้าพระพุทธเจ้าซึ่งจำต้องออกความเห็นเป็นภาษาอังกฤษแทนที่จะเป็นภาษาสยามนั้นก็บีบให้ข้าพระพุทธเจ้าต้องเขียนแต่สั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่พระยากัลยาณฯ มีในบันทึกของเขานั้นมีอยู่สองประการ คือ ข้อเสนอว่าด้วยเรื่องที่จะต้องดำเนินการทันที กับข้อเสนอว่าด้วยเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าจะวิจารณ์แต่ประการแรก

2. ข้อเสนอสำคัญที่สุดตามความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้า คือ การเปลี่ยนระบบบริหารราชอาณาจักรด้วยการแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีซึ่งมีอำนาจที่จะเลือกสรรและถอดถอนเสนาบดีแห่งรัฐ กับทั้งมีอำนาจแต่ผู้เดียวที่จะจัดทำนโยบายและบังคับบัญชาคณะบริหารราชอาณาจักร ซึ่งแน่นอนว่าจะอยู่ภายใต้พระบรมราชานุมัติของพระเจ้าแผ่นดินและการควบคุมอยู่หลังม่านโดยอภิรัฐมนตรีสภา ข้าพระพุทธเจ้าจำต้องยอมรับว่า ตัวมีข้อจำกัดทั้งในการศึกษาและในความรู้เกี่ยวกับคณะบริหารประเทศทางยุโรป ความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่ว่า ในการปกครองแบบมีรัฐสภา[1] นั้น จะขาดอัครมหาเสนาบดีเสียมิได้ แต่ในประเทศที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นใหญ่ ดังเช่น รัสเซีย ตุรกี และเปอร์เซีย เป็นต้นนั้น ระบบเช่นนี้ดูจะไม่เป็นประโยชน์มากมายถ้าไร้พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา และไม่อาจจะคุ้มกันพระราชาที่ด้อยความสามารถให้พ้นจากความวินาศได้เป็นแน่ กระนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอกล่าวย้ำว่า ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มองว่า ตนเองเก่งกล้าสามารถที่จะตัดสินเรื่องที่มีลักษณะแบบยุโรปได้ ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะจำกัดคำวิจารณ์ทั้งหมดอยู่แต่สิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะกระทบกระเทือนสยามและชาวสยาม

3. แรกสุด ข้าพระพุทธเจ้าจะใคร่ครวญถึงความรู้สึกที่ระบบนี้น่าจะก่อให้เกิดขึ้นทั่วไปในบ้านเมือง เพราะอัครมหาเสนาบดีอย่างที่พระยากัลยาณฯ เสนอมานั้น หรืออัครมหาเสนาบดีในแง่ยุโรปโดยทีเดียวนั้น เป็นเจ้าพนักงานที่ไม่มีผู้ใดในสยามรู้จัก และการจะจัดให้มีขึ้นสักคนนั้นก็เป็นการรังสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งโดยสภาพแล้วคงจะเป็นชนวนให้เกิดความคาดเดาทุกรูปแบบ แน่นอนว่าจะเขียนคำอธิบายที่เข้าทีไว้ในคำปรารภพระราชกฤษฎีกาก็ได้ แต่จะเป็นไปได้หรือที่จะทำให้ผู้คนคล้อยตาม? ข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งผู้อื่นซึ่งคนเขาไม่เคารพเท่าพระเจ้าแผ่นดินเองมาปกครองแว่นแคว้นแทนพระองค์นั้น เป็นธรรมดาที่สุดอยู่แล้วที่จะทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่า ทำไม? เป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่สนพระทัยจะปฏิบัติราชกิจอันพระเจ้าแผ่นดินพึงปฏิบัติ หรือเพราะอภิมนตรีสภา[2] เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินด้อยพระปรีชาเกินกว่าจะปกครองเอง จึงแนะนำให้ทรงแต่งตั้งอัครมหาเสนาบดี? ไม่ว่ากรณีใด ทั้งพระเดชและพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดินก็จะเสียหายในสายตาของปวงประชา การรังสรรค์สิ่งใหม่นี้อาจเป็นที่สดุดีของชาวสยามหัวตะวันตกบางคน แต่คนพวกนี้จะมีสักกี่มากน้อยเมื่อเทียบกับชาวสยามทั้งหมด? กล่าวโดยรวบรัด คือ ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นว่า การรังสรรค์สิ่งใหม่จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นคุณขึ้นทั่วไปในบ้านเมือง เราต้องไม่ลืมว่า ความรู้สึกของคนทั่วไปมีความหมายมากในประเทศนี้ ดังที่พิสูจน์มาแล้วด้วยผลของพระราชกิจประการแรกของพระองค์ในการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา

  1. อันที่จริง คำว่า "รัฐสภา" ดูเหมือนจะใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ส่วน ณ เวลาตามเอกสารนี้ (พ.ศ. 2469) เรียกหน่วยงานนี้กันอย่างไรในภาษาไทยก็ยังค้นไม่พบ พบแต่พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2430 ทับศัพท์ว่า "ปาลิเมนต์" (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2470, น. 63) ในคำแปลนี้จึงใช้คำว่า "รัฐสภา" ไปก่อน
  2. ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรีสภา" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Council of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา