หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗๒

มนตรีสภาก็ตกเป็นเป้าการวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ข้าพเจ้าจะขอจาระไนคำวิจารณ์บางข้อและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น

 1. ผู้คนสงสัยว่า อภิมนตรีสภาเป็นองค์กรที่ปรึกษาหรือเป็นองค์กรบริหารกันแน่ บางคนคิดว่า สภานี้มีอำนาจมากไป ข้าพเจ้าใคร่ขอตอบว่า สภานี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างเดียว เพราะไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในทางบริหารได้เลย ความเห็นของสภานี้จะมีผลในทางบริหารผ่านทางพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว วิธีทำงานของสภาในเวลานี้ คือ สภาจะประชุมโดยพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ด้วย และไม่มีวันประชุมโดยพระเจ้าแผ่นดินไม่เสด็จอยู่ด้วยเว้นแต่มีรับสั่งเป็นพิเศษ คำถามทั้งหลายที่เสนอไปยังสภานั้น ได้แก่ คำถามทุกอย่างในทางนโยบาย คำถามในกิจการคลังของชาติ การแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ดังเช่นเสนาบดีของรัฐ คำถามในการปูนบำเหน็จชั้นสูงและชั้นพิเศษดังเช่นยศเจ้าพระยาและสายสะพาย[1] (ในอดีตมีการนำไปใช้โดยมิชอบและก่อให้เกิดอิทธิพลหลังฉาก) และคำถามเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมอันสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินอาจแสวงหาคำแนะนำในกิจการส่วนพระองค์หรือส่วนราชตระกูลด้วยก็ได้
 เมื่อมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับกระทรวงแห่งใด เสนาบดีผู้รับผิดชอบก็อาจได้รับเชิญร่วมประชุม
 อภิมนตรี[2] ย่อมนั่งประชุมในเสนาบดีสภาและออกความเห็น แต่การวินิจฉัยขั้นสุดท้ายในเรื่องสำคัญดังเช่นการประกาศใช้กฎหมายใหม่หรือการลงนามในสนธิสัญญานั้นเป็นกิจของเสนาบดีสภาเสมอ และในเสนาบดีสภาก็ดี อภิมนตรีสภาก็ดี พระราชวินิจฉัยของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่เป็นใหญ่ ถึงแม้ในช่วงเหตุการณ์ปรกติ พระเจ้าแผ่นดินจะทรงรับตามความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ตลอด แต่ในเมื่อทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วไซร้ ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องทรงกระทำเช่นนั้น
 2. วิจารณ์กันว่า อภิมนตรีสภาซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษานั้นไม่ควรมานั่งประชุมในเสนาบดีสภาซึ่งเป็นองค์กรบริหาร ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้อนี้ค่อนข้างจริง เรารับระบบนี้มาเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสะดวก แต่ถ้าอภิมนตรีสภาไม่มานั่งประชุมในคณะเสนาบดีด้วยแล้ว การงานก็คงล่าช้าขึ้นมาก เพราะคำถามใด ๆ ที่วินิจฉัยกันในคณะเสนาบดี ก็ต้องยกไปพิจารณากันในอภิมนตรีสภาซ้ำอีก และเพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้เดียวที่จะวินิจฉัยคำถามทั้งหลาย จึงยังไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องนำความยุ่งยากใด ๆ เข้ามาในชั้นนี้ ถ้ามีอัครมหาเสนาบดีมาเป็นประธานเสนาบดีสภาแล้ว ใครจะเป็นผู้ถวายคำวินิจฉัยของเสนาบดีสภาต่อพระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น คงจะดีถ้าให้อภิมนตรีสภาเป็นองค์กรแยกต่างหากซึ่ง
  1. "grand cross" เป็นชั้นเครื่องอิสริยาภรณ์ แปลตรงตัวว่า มหากางเขน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (ม.ป.ป.) ว่า เทียบได้กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยชั้นสายสะพาย
  2. ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรี" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Councillor of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา