หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗๔
 ข้าพเจ้าเชื่อว่า เหตุผลบางอย่างที่ทำให้ อ.ส. กลายเป็นที่วิจารณ์และเกรงกลัวกันหนักหนาในเวลานี้ คือ ความรู้สึกริษยาในบางแง่ คนไหนที่พระเจ้าแผ่นดินเอาพระทัยใส่ คนนั้นก็ย่อมถูกชังน้ำหน้าเรื่อยไป อ.ส. ยังทำให้อิทธิพลหลังฉากเกิดค่อนข้างยาก เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนจะต้องเดินทะลุฉากถึงห้าชั้นหรือกว่านั้น แทนที่จะเป็นชั้นสองชั้น
 ก็เมื่อได้กล่าวถึงคำวิจารณ์บางอย่างที่มีต่ออภิมนตรีสภาในรูปแบบปัจจุบันนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอตั้ง. . .
คำถามที่ห้า  กำหนดให้อภิมนตรีสภามีรูปแบบใดดีที่สุด? คุ้มไหมที่จะให้สภานี้เป็นสถาบันถาวรของประเทศ หรือควรปล่อยให้สภานี้ยุติไปตามยถากรรม?
ง) คณะเสนาบดี  ในบทความของท่านใน แอตแลนติกรายเดือน นั้น[1] ท่านได้กล่าวว่า ระบบการปกครองสยามอยู่ในสัดส่วนแยกกันอย่างรัดกุม ข้อนี้จริงแท้แน่นอน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า นี่เป็นเนื้อในของระบบที่ให้เสนาบดีแต่ละคนรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่ละคนย่อมดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของกระทรวงตนฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ได้พยายามจะปรับปรุงเรื่องนี้โดยให้มีประชุมทุกสัปดาห์แล้ว อย่างน้อยเสนาบดีจะพบกันสัปดาห์ละครั้งเพื่อถกเรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน และข้าพเจ้าเห็นว่า มีการกระเตื้องขึ้นจริง ๆ แต่ก็ยังจะดีกว่านี้ได้ถ้าเรามีอัครมหาเสนาบดีมาเป็นประธานคณะเสนาบดี คนผู้นี้ควรได้รับอนุญาตให้มีอิสระพอสมควรในการเลือกเพื่อนร่วมงานของตน เพื่อที่คณะเสนาบดีจะทำงานได้ดีอย่างองค์กรซึ่งมีรากเหง้าเดียวกัน เสนาบดีนั้นพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงตั้งขึ้นหลังจากที่ได้ทรงปรึกษากับมหาเสนาบดี[2] ข้าพเจ้าเชื่อว่า นี่จะเป็นผลประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ส่วนอภิมนตรีสภานั้นก็จะได้ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรควบคุม ข้าพเจ้าได้กำหนดแนวทางสำหรับดำเนินงานภายใต้ระบบนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วนสิ่งที่จะต้องวินิจฉัย ก็คือ ระบบนี้ควรนำมาใช้เลยหรือเอาไว้ก่อน
คำถามที่หก  เราควรมีอัครมหาเสนาบดีหรือไม่? ควรเริ่มระบบนี้ตอนนี้เลยหรือไม่?
จ) สภานิติบัญญัติ  คำถามเกี่ยวกับการมีสภานิติบัญญัติสักสภานั้นได้ถกกันมาหลายวาระแล้ว ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติประเภทหนึ่งขึ้น[3] สภานี้ประกอบด้วยเสนาบดีแห่งรัฐและสมาชิกที่ทรงแต่งตั้งมาสิบสองคน สภานี้ดำรงอยู่ราวห้าปี และหลังจากนั้นก็เข้ากรุไป กระนั้น สมาชิกบางคนในครั้งนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าเห็นว่า สภานี้ล้มเลิกไปเพราะรู้สึกกันว่า ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องมีสภาเช่นนั้น และสภานี้มีแต่ทำให้งานของเสนาบดีล่าช้า
  1. ดู Sayre, F. B. (1926, pp. 841–851)
  2. ต้นฉบับใช้ทั้ง "prime minister" และ "premier" ในคำแปลนี้จึงใช้ "อัครมหาเสนาบดี" กับ "prime minister" และ "มหาเสนาบดี" กับ "premier" เพื่อแสดงความแตกต่างทางถ้อยคำเท่านั้น
  3. คงหมายถึง สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ จ.ศ. 1236 (พ.ศ. 2417) ราวหกปีหลังรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์