หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗๕
 ครั้นพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรมหลวงพิษณุโลกฯ[1] ถวายคำแนะนำให้ทรงก่อตั้งสภาแห่งรัฐ คล้าย ๆ กับที่มีอยู่ในรัสเซียสมัยนั้น (ไม่ได้หมายถึง ดูมา)[2] ข้าพเจ้าเชื่อว่า เรื่องนี้ได้ถกกันในที่ประชุมคณะเสนาบดีแล้ว แต่ก็มิได้ตกลงรับโครงการนี้ เนื่องจากความเห็นของนายเจนส์ เวสเตนการ์ด[3] ที่คิดว่า การนำระบบรัฐสภารูปแบบใด ๆ มาใช้แก้ขัดนั้นไม่ช่วยให้เกิดผลดีอันใด
 บัดนี้ กรมพระดำรงฯ[4] ได้เสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสภานิติบัญญัติซึ่งประกอบด้วยข้าราชการที่แต่งตั้งจากทุกกระทรวง ที่จริงสภานี้จะทำงานเหมือนเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายสักคณะ แต่เรามีกรมร่างกฎหมายอยู่แล้ว และข้าพเจ้าไม่มั่นใจว่า สภาที่เสนอมานั้นจะทำงานได้ดีกว่ากัน ความกริ่งเกรงของข้าพเจ้านั้นออกจะไปในทางตรงกันข้าม และสภานี้ก็จะทำให้งานล่าช้าเหมือนกัน นอกจากนั้น สภาอาจพยายามวิจารณ์นโยบายของเสนาบดี และด้วยเหตุที่สมาชิกสภาได้แก่ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งแต่งตั้งมาแต่ชั่ววาระหนึ่ง ระบบนี้จึงอาจไม่ดีนักสำหรับการรักษาวินัย ปัญหาในการสรรหาสมาชิกนั้นก่อความยากลำบากเกี่ยวกับสภาที่มาจากแต่งตั้งดังกล่าวเสมอ ในยามนี้เราไม่มีเงินพอจะจ้างสมาชิก และเราก็ไม่มีทางจะได้สมาชิกที่ไม่รับค่าจ้าง
คำถามที่เจ็ด  เราควรมีสภานิติบัญญัติหรือไม่? องค์ประกอบ[5] ของสภาเช่นว่านั้นควรเป็นเช่นไร? (ข้าพเจ้าได้รับฎีกาหลายฉบับให้จัดตั้งสภาขึ้นสักอย่าง)
2. กิจการคลัง
 เกี่ยวกับกิจการคลังนั้น ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวมากมาย เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่า ตนเองไร้ความสามารถในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เรามีที่ปรึกษาที่เปี่ยมความสามารถอย่างยิ่งอยู่แล้ว คือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด คุก
 ปัญหาสำคัญข้อหนึ่ง คือ การปันทรัพยากรที่มีในหมู่กระทรวงต่าง ๆ นั้นให้เหมาะสม ข้าพเจ้าทราบว่า ในความเห็นของท่าน เราใช้เงินมากไปในด้านกองกำลังกลาโหม ข้าพเจ้ามีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับท่านในประการนี้ กระนั้น การตัดงบประมาณด้านกลาโหมเป็นความรับผิดชอบอันหนักอึ้งนัก มีไม่กี่คนที่กล้าหนุนเรื่องเช่นนี้ เพราะเราได้ประสบการณ์มากล้นจากนโยบายอันบ้าบิ่นของเพื่อนบ้านเรา
 ข้าพเจ้ากำลังจะยกเครื่องนโยบายการคลังทั้งหมดของเรา แต่ข้าพเจ้าออกจะด้อยเปรียบตรงที่ไม่มีความสามารถในเรื่องนี้เอาเสียเลย
  1. สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  2. Dictionary.com (2020b): "ดูมา" (duma) สามารถหมายถึง (1) สภาหรือสมัชชาอย่างเป็นทางการในประเทศรัสเซียก่อน ค.ศ. 1917, (2) สภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นสภาล่างในรัฐสภารัสเซีย พระเจ้านิโคลัสที่ 2 ทรงตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1905
  3. เจนส์ ไอเวอร์เซน เวสเตนการ์ด (Jens Iversen Westengaard) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Foreign Language Press Survey, 1903)
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ดร
  5. ตาม Dictionary.com (2020a) "constitution" สามารถหมายถึง องค์ประกอบ หรือรูปแบบการบริหาร ก็ได้ (นอกเหนือจากความหมายอื่น ๆ) ในที่นี้เห็นว่า กำลังอภิปรายเรื่ององค์ประกอบสภา มากกว่ารูปแบบการบริหารสภา จึงแปลว่า "องค์ประกอบ"