ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:Phongsawadan Phra Ratcha Hatthalekha 2455 (1).djvu/32

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว
๒๕

สุรเสนีมาแอบดู หาช่วยหนุนไม่ แล้วไปตั้งอยู่ณวัดพิไชย” ดังนี้ ขอให้สังเกตดู ๒ ความนี้ผิดกันอย่างไร ที่ว่ามานี้เปนการคาดคเนแท้ ข้าพเจ้าไม่มีหลักฐานอย่างอื่นนอกจากที่แสดงมาแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่สิ้นความหวังใจที่จะได้หนังสือมหายุทธการแลจุลยุทธการในภายน่า แต่อย่างไรก็ดี หนังสือชนิดนั้นเปนแต่หนังสือประกอบพระราชพงษาวดาร ใช้สอบสวนในเวลาแต่งพระราชพงษาวดารดังปรากฎในบานแพนกพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐเปนหลายอย่าง ในจำพวกหนังสือประกอบพระราชพงษาวดารนี้ ถ้าจะจำแนกก็มี ๔ ประเภท คือหนังสือพระแต่งประเภท ๑ หนังสือโหรแต่งประเภท ๑ หนังสือราชการแต่งประเภท ๑ หนังสือบุคคลแต่งประเภท ๑

หนังสือพระแต่งนั้น มูลเหตุเดิมเห็นจะมาจากหนังสือเรื่องมหาวงษ์ในลังกาทวีป พระเถรองค์หนึ่งชื่อว่ามหานามแต่งว่าด้วยประวัติของพระพุทธสาสนาที่มาประดิษฐานในลังกาทวีป เปนพงษาวดารสำคัญของลังกาแต่โบราณมา เมื่อครั้งราชธานีของสยามประเทศประดิษฐานอยู่ที่นครศุโขไทย มีพระภิกษุสงฆ์ทางประเทศนี้ออกไปศึกษาพระพุทธสาสนาในลังกาทวีป แลมีพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกามาอยู่ทางประเทศนี้ ได้เปนมหาสวามีแลราชครูมาตั้งแต่ครั้งศุโขไทยแลนครเชียงใหม่เมื่อยังเปนเอกราช พวกลังกานำคติเรื่องแต่งหนังสือตามอย่างเรื่องมหาวงษ์เข้ามาแต่งตำนานพระสาสนาบ้าง ตำนานเจดียสถานบ้าง แต่งเปนภาษามคธ เช่นเรื่องชินกาลมาลินี แลรัตนพิมพวงษ์ เปนต้นบ้าง แต่งเปนหนังสือเทศน์ในภาษาไทย เช่นตำนานพระมหาธาตุหริภุญไชย พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช เปนต้น