อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม/เรื่อง 1

จาก วิกิซอร์ซ
อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์

อธิบายเรื่องนามประเทศสยาม

ชาวเราพูดจาแลแต่งหนังสือมักใช้คำว่า "เมืองไทย" บ้าง ใช้คำว่า "ประเทศสยาม" บ้าง หมายความเปนอันเดียวกันว่า ประเทศที่เราอยู่นี้ ที่จริงก็ไม่ผิด เพราะประเทศนี้ย่อมเรียกกันทั่วไปในโลกว่า "ประเทศสยาม" แลเปนประเทศที่เราผู้เปนชนชาติไทยครอบครอง จะเรียกว่า เมืองไทย ก็ถูกเหมือนกัน แต่ถ้าว่าโดยทางภาษาแลทางพงศาวดาร คำว่า "เมืองไทย" กับคำว่า "ประเทศสยาม" หมายความต่างกัน แลความที่หมายผิดกันมาก คำว่า เมืองไทย นั้น ตามภาษาหมายความว่า เปนที่อยู่ของชนชาติไทย เมืองใดชาวเมืองเปนชนชาติไทย ก็เรียกเมืองนั้นได้ว่า เมืองไทย ก็ชนชาติไทยมีหลายพวกหลายเหล่าด้วยกัน เช่น พวกไทยใหญ่ (เงี้ยว) พวกลื้อ พวกเขิน พวกพวน พวกผู้ไทย แลพวกโททางแดนตังเกี๋ย แลในแดนจีนข้างฝ่ายใต้ก็ยังเปนถิ่นสถานของชนชาติไทย เมืองของไทยพวกนั้น ๆ ก็นับว่า เปนเมืองไทย เพราะฉะนั้น ถ้าว่าโดยทางภาษา เมืองไทยมีมากมายหลายแห่ง หาฉะเพาะแต่ประเทศของเราเท่านี้ไม่ ถ้าว่าโดยทางพงศางดาร คำว่า เมืองไทย กับ ประเทศสยาม ยิ่งห่างกันออกไปอีก ด้วยเมืองไทยเดิมตั้งอยู่ณดินแดนซึ่งในบัดนี้เรียกว่า มณฑลฮุนหนำ อันเปนแดนจีนข้างฝ่ายใต้ ต่อราวเมื่อ พ.ศ. ๔๐๐ ล่วงมา ชนชาติไทยจึงลงมาเที่ยวตั้งบ้านเมืองอยู่ใหม่เกินเปนแดนไทยใหญ่ ไทยน้อย แดนลานช้าง (หลวงพระบาง) แลลานนา (มณฑลภาคพายัพ) แล้วแผ่นอำนาจมาถึงเมืองที่เราอยู่บัดนี้ ซึ่งแต่เดิมทีเดียวเปนถิ่นสถานของชนชาติลาว (ละว้า) เมื่อไทยมาได้ครอบครองเปนเจ้าของแล้ว จึงมาเรียกว่า "เมืองไทย" สันนิษฐานว่า เห็นจะเกิดเรียกตั้งแต่ครั้งชนชาติไทยขยายอำนาจลงมาเที่ยวตั้งบ้างเมืองเมื่อได้ดินแดนของชนชาติอื่น แลรวบรวมไทยด้วยกัน ตั้งบ้านเมืองอยู่แห่งใด ก็เรียกที่แห่งนั้นว่า เมืองไทย เปนการประกาศแก่ชนชาติอื่นว่า เปนอาณาเขตของชนชาติไทยเปนลำดับมา เพราะฉนั้น คำว่า เมืองไทย จึงเปนคำสำหรับไทยเรียกบ้านเมืองของตนเองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วนคำว่า "สยาม" นั้น เปนคำภาษาสันสกฤต แปลนัยหนึ่งว่า "คล้าม" หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่า "ทอง" เมื่อใช้เรียกเปนนามประเทศว่า "สยามประเทศ" จึงหมายความว่า เปนประเทศที่อยู่ของมนุษย์จำพวกผิวคล้าม หรือมิฉนั้น หมายความว่า เปนประเทศที่เกิดทองคำ ความข้างอย่างหลังสมด้วยเรื่องประวัติพระพุทธสาสนา ซึ่งแค่งในภาษามคธกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชให้พระโสณกับอุตตรเชิญพระสาสนามาประดิษฐานใน "สุวรรรภูมิ" ประเทศ คือ ประเทศ "อู่ทอง" คำที่เรียกว่า สยามประเทศ จะหมายความว่ากระไรก็ตาม แต่เปนคำภาษาสันสกฤต ข้อนี้เปนหลักฐานว่า เปนนามที่ชาวมัชฌิมประเทศเรียกก่อน จะเปนพวกที่อยู่ในอินเดียหรือพวกที่มาได้เปนใหญ่อยู่ในเมืองขอมเรียกก่อนก็ได้ทั้งสถาน พิเคราะห์ดูเห็นมีเค้าเงื่อนว่า พวกชาวมัชฌิมประเทศที่มาเปนใหญ่ในเมืองขอมจะบัญญัติขึ้น ด้วยมีอักษรจารึกไว้ที่รูปภาพในพระนครวัดแห่งหนึ่งว่า "รูปชาวสยาม" ดังนี้

แต่ชาวนานาประเทศทั้งปวงเรียกนามประเทศที่เราอยู่ว่า ประเทศสยาม มาแต่โบราณ มีในจดหมายเหตุจีนแต่โบราณนี้ว่า เดิมทีเดียว ประเทศนี้มีสองอาณาจักรเปนอิศระแก่กัน อาณาจักรข้างใต้เรียกว่า "หลอฮกก๊ก" (ละโว้) อาณาจักรข้างเหนือเรียกว่า "เสียมก๊ก" (สยาม) ต่อมา สองอาณาจักรนั้นรวมเปนอาณาจักรเดียวกัน จีนจึงเรียกนามรวมกันว่า "เสียมหลอฮกก๊ก" ต่อมาละคำ "ฮก" ออกเสีย คงเรียกแต่ว่า "เสียมหลอก๊ก" มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ พิเคราะห์ความตามที่ปรากฎในจดหมายเหตุจีนซึ่งกล่าวมา สินนิษฐานว่า เดิมทีเดียว ชาวต่างประเทศเห็นจะเรียกประเทศนี้ว่า สยาม ทั้งหมด ครั้นพวกขอมขยายอาณาเขตเข้ามาถึงประเทศนี้ มาตั้งเมืองลพบุรีเปนราชธานี จึงปรากฎนามอาณาเขตขอมที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาว่า อาณาเขตละโว้ ตามนามเดิมของเมืองลพบุรี ดินแดนอันมิได้อยู่ในอาณาเขตละโว้ พวกชาวต่างประเทศก็ยังคงเรียกว่า สยาม อยู่อย่างเดิม ครั้นพระร่วงตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเปนอิศระ ชาวต่างประเทศจึงเรียกราชอาณาจักรสุโขทัยตามนามเดิมว่า สยามประเทศ ครั้นเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีแล้วรวมราชอาณาจักรสุโขทัยเข้าเปนอาณาจักรอันเดียวกัน จึงเปนเหตุให้จีนเปลี่ยนนามเรียกว่า "เสียมหลอฮกก๊ก"

ในเรื่องคำว่า เมืองไทย กับคำว่า ประเทศสยาม ที่อธิบายมานี้ มีความจริงที่ประหลาทอยู่อย่างหนึ่ง คือ คำว่า เมืองไทย เปนคำพวกไทยเรียก แต่ชาวประเทศอื่นเขาไม่เรียก ส่วนคำว่า สยาม นั้นเปนคำที่ชาวต่างประเทศเรียก แต่ไทยเองหาเรียกไม่ เปนเช่นนี้มาแต่โบราณ ในศิลาจารึกครั้งราชวงศพระร่วงเปนใหญ่ เมื่อจะกล่าวถึงนามประเทศนี้ ก็เรียกแต่ว่า กรุงสุโขทัย มาถึงสมัยกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี มีพระราชสาส์นหรือทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ เมื่อจะกล่าวนามประเทศนี้ ก็ใช้แต่ว่า กรุงศรีอยุธยา มีสำเนาตัวอย่างหนังสือครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แลทำหนังสือสัญญากับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเฯศส ฝ่ายฝรั่งเศสใช้คำว่า สยาม แต่ฝ่ายไทยก็ใช้คำว่า กรุงศรีอยุธยา ทุกแห่ง แม้จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ ในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ แลรัชกาลที่ ๓ ก็ยังคงใช้นามประเทศในภาษาไทยว่า กรุงศรีอยุธยา ต่อมา มีตัวอย่างอยู่ในหนังสือสัญญาซึ่งทำกับอังกฤษ (ครั้งเฮนรีเบอรนีเปนทูตเข้ามา) เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ยังใช้คำว่า กรุงศรีอยุธยา เปนนามประเทศ

ไทยเราพึ่งมาใช้คำ สยาม เปนนามของประเทศในทางราชการต่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร (ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอที่จะสอบให้รู้แน่ว่า เริ่มใช้มาแต่ปีใด) เข้าใจว่า ดูเหมือนจะใช้เมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เปนเดิมมา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ที่ใช้คำว่า กรุงศรีอยุธยา เปนแต่นามราชธานีเก่า ไม่ตรงกับนามประเทศ แลนานาประเทศเรียกนามอยู่ว่า ประเทศสยาม ทั่วกันแล้ว จะใช้นามอื่นหาเหมาะไม่ จึงได้ใช้นามว่า ประเทศสยาม ในทางราชการแต่นั้นมา