อรรถกถา ชาครสูตร
- อรรถกถาชาครสูตร
- พึงทราบวินิจฉัยสูตรที่ ๖ ต่อไป :-
- บทว่า ชาครตํแปลว่า ตื่นอยู่. บทว่า ปญฺจ ชาครตํ อธิบายว่า
ก็เมื่อว่าโดยคาถาที่วิสัชนา เมื่ออินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕
ก็ชื่อว่า หลับ เพราะเหตุไร. เพราะว่าบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยนิวรณ์ ๕ นั้น
นั่งก็ดี ยืนก็ดี แม้นอนจนอรุณขึ้นก็ดี ในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า
หลับแล้ว เพราะความประมาท คือเพราะความเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วย
อกุศล เมื่อนิวรณ์ ๕ นี้หลับแล้วอย่างนี้ อินทรีย์ ๕ จึงชื่อว่า ตื่นอยู่
เพราะเหตุไร. เพราะว่าบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยอินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้นนั้น
แม้นอนหลับในที่ใดที่หนึ่ง ก็ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นอยู่ เพราะความไม่ประมาท คือ
เพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกุศล. บุคคลย่อมถือเอา ย่อมถือ ย่อมถือมั่นซึ่งธุลี
คือกิเลสด้วยนิวรณ์ ๕ นั่นแหละ.
- พึงทราบเนื้อความนี้ว่า นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้นที่เกิดก่อน
ย่อมเป็นปัจจัยแก่กามฉันทะเป็นต้นซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง ดังนี้เป็นต้น จึงชื่อว่า
บุคคลย่อมบริสุทธิ์ ด้วยอินทรีย์ ๕ ดังนี้. แม้ในที่นี้ ท่านกล่าวอินทรีย์ ๕
ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ดังนี้แล.
- จบอรรถกถาชาครสูตรที่ ๖