อรรถกถา ปิณโฑลยสูตร
- อรรถกถาปิณโฑลยสูตรที่ ๘
- พึงทราบวินิจฉัยในปิณโฑลยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
- บทว่า กิสฺมิญฺจิเทว ปกรเณ ได้แก่ ในเพราะเหตุบางอย่างนั่นเอง.
- บทว่า ปณาเมตฺวา แปลว่า ไล่ออกไป.
- ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุเหล่านี้ไปใน
เพราะเหตุไร ?
- ตอบว่า ความจริงมีอยู่ว่า ภายในพรรษาหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า
ประทับจำพรรษาอยู่ในเมืองสาวัตถี ออกพรรษาปวารณาแล้ว
แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีเที่ยวจาริกไป
ในชนบท เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จเข้าไปยังนิโครธาราม.
เจ้าศากยะทั้งหลายได้สดับ (ข่าว) ว่า พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว
หลังเสวยพระกระยาหารเสร็จทรงรับสั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายหาบ
เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น และน้ำปานะที่เป็นกัปปิยะ
หลายร้อยหาบ เสด็จไปสู่วิหารมอบถวายพระสงฆ์ ถวายบังคม
พระศาสดาแล้วประทับนั่งทำปฏิสันถาร (กับพระศาสดา) ณ ที่สมควร
ส่วนข้างหนึ่ง. (ฝ่าย) พระศาสดาประทับนั่งตรัสธรรมกถาอันไพเราะ
ถวายเจ้าศากยะเหล่านั้น.
- ขณะนั้น ภิกษุบางพวกกำลังเช็ดถูเสนาสนะ บางพวกกำลัง
จัดตั้งเตียงและตั่งเป็นต้น (ส่วน) สามเณรทั้งหลายกำลังถากหญ้า.
- ในสถานที่แจกสิ่งของ ภิกษุที่มาถึงแล้วก็มี ภิกษุที่ยังมาไม่ถึงก็มี
ภิกษุที่มาถึงแล้วจะรับลาภแทนภิกษุที่ยังมาไม่ถึง ก็พูดเสียงดังขึ้นว่า
จงให้แก่พวกข้าพเจ้า จงให้แก่อาจารย์ของพวกข้าพเจ้า จงให้แก่
อุปัชฌาย์ของพวกข้าพเจ้า.
- พระศาสดาทรงสดับแล้วได้ตรัสถามพระอานนทเถระว่า
อานนท์ ก็พวกที่ส่งเสียงดังเอ็ดอึงนั้นเป็นใคร คล้ายจะเป็นชาวประมง
แย่งปลากัน. พระเถระกราบทูล (ให้ทรงทราบ) เนื้อความนั้น.
พระศาสดาทรงสดับแล้วตรัสว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายส่งเสียงดัง
เพราะอามิสเป็นเหตุ. พระเถระกราบทูลว่า ใช่ พระเจ้าข้า.
- พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ ไม่สมควรเลย ไม่เหมาะสมเลย
เพราะเราตถาคตบำเพ็ญบารมีมาตั้ง ๔ อสงไขย กำไรแสนกัลป์
เพราะจีวรเป็นต้น เป็นเหตุก็หามิได้ ทั้งภิกษุเหล่านี้ออกจากเรือนบวช
เป็นอนาคาริก เพราะจีวรเป็นต้น เป็นเหตุก็หามิได้. พวกเธอบวชเพราะ
ความเป็นพระอรหันต์เป็นเหตุ (แต่) กลับมาทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์
ให้เป็นเหมือนกับสิ่งที่มีประโยชน์ ทำสิ่งที่ไม่มีสาระให้เป็นเหมือนสิ่งมี
สาระไปเถิดอานนท์ จง (ไป) ขับไล่ภิกษุเหล่านั้น (ให้ออกไป).
- บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ คือในเวลาเช้า ในวันรุ่งขึ้น. บทว่า
เวลุวลฏฺฐิกาย มูเล คือ ที่โคนต้นมะตูมอ่อน. บทว่า ปพาฬฺโห แปลว่า
(ภิกษุสงฆ์อันเรา) ขับไล่แล้ว. ปาฐะว่า ปพาโฬ ก็มี ความหมาย
(ก็เท่ากับ) ปพาหิโต (ขับไล่แล้ว).
- ทั้งสองบท ย่อมแสดงถึงภาวะที่ถูกนำ (ขับไล่) ออกแล้วนั่นแล.
- บทว่า สิยา อญฺญถตฺตํ ความว่า พึงมีความเลื่อมใสเป็น
อย่างอื่น หรือพึงมีภาระเป็นอย่างอื่น.
- ถามว่า พึงมีอย่างไร?
- ตอบว่า ก็เมื่อภิกษุลดความเลื่อมใส (ในพระผู้มีพระภาคเจ้า)
ลงด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงขับไล่พวกเรา ในเพราะเหตุ
เล็กน้อย ชื่อว่ามีความเลื่อมใสเป็นอย่างอื่น. เมื่อพวกเธอหลีกไปเข้ารีต
เดียรถีย์พร้อมทั้งเพศทีเดียว ชื่อว่า มีเพศเป็นอย่างอื่น.
- ส่วนการที่กุลบุตรผู้บวชแล้วทั้งหลายมั่นใจว่า พวกเราจัก
สามารถกำหนด (ทราบ) พระอัธยาศัยของพระศาสดาให้ได้ แล้ว
ไม่สามารถกำหนด (ทราบ) ได้ จึงคิดว่าเราจะบวชไปทำไม แล้วบอก
ลาสิกขาหวนกลับมาเป็นคนเลว (สึก) พึงทราบว่า ความเปลี่ยนแปลง
ในคำว่า สิยา วิปริณาโม นี้.
- บทว่า วจฺฉสฺส ได้แก่ ลูกวัวที่ยังดื่มนม.
- บทว่า อญฺญถคฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นคือความซบเซา.
อธิบายว่า ลูกวัวที่ยังดื่มนม เมื่อไม่ได้ (ดื่ม) น้ำนม หาแม่ไม่เจอ ย่อม
ซบเซา สะทกสะท้าน หวั่นไหว.
- บทว่า วิปริณาโม ได้แก่ ความตาย. อธิบายว่า ลูกวัวนั้น
เมื่อไม่ได้น้ำนม ก็จะซูบผอมลงเพราะความระหาย (ไม่ช้า) ก็จะล้มลง
ขาดใจตาย.
- บทว่า พีชานํ ตรุณานํ ได้แก่ พืชที่งอกแล้วต้องได้น้ำช่วย.
- บทว่า อญฺญถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นคือความเหี่ยวแห้ง
นั่นเอง อธิบายว่า พืชเหล่านั้นเมื่อไม่ได้น้ำก็จะเหี่ยวแห้ง.
- บทว่า วิปริณาโม ได้แก่ ความเสียหาย. อธิบายว่า พืชเหล่านั้น
ไม่ได้น้ำก็จะเหี่ยวแห้งเสียหายไป จะมีเหลืออยู่ก็แต่ซากเท่านั้น.
- บทว่า อนุคฺคทิโต ความว่า ได้รับอนุเคราะห์แล้วด้วยการ
อนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์ด้วยธรรม.
- บทว่า อนุคฺคณฺเทยฺยํ ความว่า เราตถาคตพึงอนุเคราะห์ด้วย
การอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมทั้งสองอย่างนั้น.
- เพราะว่า สามเณรและภิกษุหนุ่มผู้บวชใหม่ เมื่อมีความขาดแคลน
ด้วยปัจจัยมีวีจรเป็นต้น หรือเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น พระศาสดาหรือ
อุปัชฌาย์อาจารย์ยังมิได้อนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส
ก็จะลำบาก ไม่สามารถทำการสาธยายหรือใส่ใจ (ถึงธรรมได้)
(เธอเหล่านั้น) อันพระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ยังมิได้อนุเคราะห์
ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยธรรม ก็จะเสื่อมจากอุเทศและจากโอวาทานุสาสนี
(การแนะนำพร่ำสอน) ไม่สามารถจะหลีกเว้นอกุศลมาเจริญกุศลได้.
แต่ (เธอเหล่านั้น) ได้รับอนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ทั้งสองนี้แล้ว
ก็จะไม่ลำบากกาย ประพฤติในการสาธยายและใส่ใจ (ถึงธรรม)
ปฏิบัติตามที่พระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์พร่ำสอนอยู่ ต่อมา
แม้ไม่ได้รับการอนุเคราะห์นั้น (แต่) ก็ยังได้กำลัง เพราะการอนุเคราะห์
ครั้งแรกนั้นนั่นแล (จึงทำให้) มั่นคงอยู่ในศาสนาได้ เพราะฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเกิดปริวิตกอย่างนี้ขึ้น.
- พรหมมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
- บทว่า ภควโต ปุรโต ปาตุรโหสิ ความว่า ท้าวมหาพรหม
ได้ทราบพระดำริของพระศาสดาแล้วได้ (มา) ปรากฏ เฉพาะพระพักตร์
(พระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุ
เหล่านี้ออกไป บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะทำการ
อนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้นจึงทรงคิดถึงเหตุอย่างนี้ และเราก็จักทำให้
(พระผู้มีพระภาคเจ้า) เกิดพระอุตสาหะนั้น (ต่อไป).
- พ่อครัวผู้ฉลาด (ทราบว่า) บรรดาอาหารมีรสเปรี้ยวเป็นต้น
รสอย่างใดถูกพระทัยพระราชา ก็จะปรุงรสอย่างนั้นให้อร่อยขึ้น
ด้วยเครื่องปรุง แล้ววันรุ่งขึ้นก็น้อมนำเข้าไปถวายพระราชา (อีก)
ฉันใด ท้าวมหาพรหมนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะความที่ตนเองเป็น
ผู้ฉลาด จึงได้ทูลสำทับอุปมาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาแล้ว
นั่นแลด้วยคำมีอาทิว่า เอวเมตํ ภควา แล้วกล่าวคำนี้ว่า สนฺเตตฺถ ภิกฺขู
เพื่อทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทำการอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์.
- บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภินนฺทตุ ความว่า (ขอพระผู้มี-
พระภาคเจ้า) จงทรงยินดีให้ภิกษุสงฆ์นั้นมาอย่างนี้ว่า ขอภิกษุสงฆ์
จงมาสู่สำนักของเราตถาคตเถิด.
- บทว่า อภิวทตุ ความว่า (ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า) จงตรัสสอน
ประทานโอวาทานุสาสนีแก่ภิกษุสงฆ์ผู้มาถึงแล้วเถิด.
- พระพุทธเจ้าทรงแสดงฤทธิ์
- บทว่า ปฏิสลฺลานา ได้แก่ จากความเป็นผู้เดียว.
- บทว่า อิทฺธาภิสํขารํ อภิสงฺขาเรสิ ได้แก่ (พระผู้มีพระภาคเจ้า)
ได้ทรงทำฤทธิ์. บทว่า เอกทฺวีหิกาย ได้แก่ (ภิกษุ) มาทีละรูปบ้าง
ทีละ ๒ รูปบ้าง. บทว่า สารชฺชมานรูปา ได้แก่ กลัวเพราะมีความ
เกรงเป็นประมาณ.
- ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงฤทธิ์
ให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าโดยวิธีนั้น ?
- ตอบว่า เพราะทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล. อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงมา (เฝ้า)
เป็นกลุ่ม ๆ ไซร้ พวกเธอก็จะพากันเยาะเย้ยถากถางว่า พระผู้มี-
พระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุแล้วเสด็จเข้าสู่ป่า (แต่) ก็ไม่สามารถจะ
ประทับอยู่ในป่านั้นให้ครบวันได้ จึงเสด็จกลับมาหาภิกษุอีกเหมือนเดิม.
ครานั้นพวกเธอจะไม่พึงตั้งความเคารพในพระพุทธเจ้า (และ) จะไม่พึง
สามารถรับพระธรรมเทศนาได้. แต่เมื่อภิกษุเหล่านั้นมีความกลัว
หวาดหวั่นมาเฝ้าทีละรูปสองรูป ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าก็จัก
ปรากฏชัด และพวกเธอก็จักสามารถรับพระธรรมเทศนาได้ ดังนี้แล้ว
จึงได้ทรงแสดงฤทธิ์แบบนั้น เพราะทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่
ภิกษุเหล่านั้น.
- บทว่า นิสีทึสุ ความว่า เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นกลัวมา
(เฝ้าพระพุทธเจ้า) ภิกษุแต่ละรูปก็จะคิดว่า พระศาสดาทรงจ้องมองดู
เราเท่านั้น เห็นจะทรงมีพระประสงค์ลงโทษเราเป็นแน่แท้ ดังนี้แล้ว
ค่อย ๆ มาถวายบังคมนั่งลง ครานั้น ภิกษุรูปอื่น ๆ ก็จะ (เป็นทำนอง
เดียวกัน) ภิกษุ ๕๐๐ รูป พากันมานั่งด้วยอาการอย่างนี้แล.
- ฝ่ายพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์นั่งอยู่อย่างนั้น
ไม่ไหวกาย คล้ายกระแสน้ำในมหาสมุทร (ไหลไปสงบนิ่งอยู่) ใน
ทะเลสีทันดร และเหมือน (เปลว) ประทีปสงบนิ่งอยู่ในที่สงัดลมฉะนั้น
จึงทรงดำริว่า ธรรมเทศนาแบบไหนจึงจะเหมาะแก่ภิกษุเหล่านี้.
- ลำดับนั้น พระองค์จงทรงมีพระดำริดังนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้
เราขับไล่เพราะอาหารเป็นเหตุ ธรรมเทศนาเรื่องคำข้าวที่ทำเป็นก้อน
เท่านั้นเป็นสัปปายะแก่ภิกษุเหล่านั้น เราแสดงธรรมเทศนาแล้วจัก
แสดงเทศนามีปริวัฏ ๓ (๓ รอบ) ในตอนท้ายเวลาจบเทศนา ภิกษุ
ทั้งหมดก็จักบรรลุอรหัตตผล.
- ครันแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมเทศนานั้นแก่ภิกษุเหล่านั้น
จึงตรัสคำว่า อนฺตมิทํ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
- บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตํ ได้แก่ ต่ำช้า คือ เลวทราม.
- บทว่า ยทิทํ ปิณโฑลฺยํ ความว่า ความเป็นอยู่ของบุคคล
ผู้เลี้ยงชีวิตด้วยการแสวงหาก้อนข้าวนั้นใด.
- ความหมายของคำว่า ปิณโฑลยะ
- ก็ในบทว่า ปิณฺโฑลฺยํ นี้มีความหมายเฉพาะบท ดังนี้ :- ภิกษุ
ชื่อว่า ปิณโฑละ เพราะหมายความว่า เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว การ
ทำงานของภิกษุผู้เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว ชื่อว่า ปิณโฑลยะ อธิบายว่า
ความเป็นอยู่ที่ให้สำเร็จด้วยการแสวงหาก้อนข้าว.
- บทว่า อภิสาโป แปลว่า การด่า อธิบายว่า ผู้คนทั้งหลาย
โกรธแล้วย่อมด่าว่า ท่านห่มจีวรที่ไม่เข้ากับตัวแล้วถือกระเบื้องเที่ยว
แสวงหาก้อนข้าว. ก็หรือว่า ย่อมด่าแม้อย่างนี้ทีเดียวว่า ท่านไม่มีอะไร
จะทำหรือ? ท่านขนาดมีกำลังวังชาสมบูรณ์ด้วยวิริยะเห็นปานนี้ ยัง
ละทิ้งหิริโอตตัปปะถือบารตเที่ยวแสวงหาคำข้าวไม่ต่างอะไรกับคนกำพร้า
- บทว่า ตญฺจ โข เอตํ ความว่า การเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว
ทั้ง ๆ ที่ถูกแช่งด่านั้น.
- บทว่า กุลปุตฺตา อุเปนฺติ อตฺถวสิกา อตฺถวสํ ปฏิจฺจ ความว่า
กุลบุตรโดยชาติ และกุลบุตรโดยอาจาระในศาสนาของเราเป็น
ผู้อยู่ในอำนาจแห่งผล อยู่ในอำนาจแห่งเหตุ คืออาศัยอำนาจแห่งผล
อำนาจแห่งเหตุจึงประกอบ (การเที่ยวแสวงหาคำข้าว).
- อธิบายศัพท์ ราชาภินีตะ เป็นต้น
- ในบทว่า ราชาภินีตา เป็นต้น พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
- กุลบุตรเหล่าใด กินของพระราชาแล้วถูกจองจำในเรือนจำหลวง
(ต่อมา) หนีได้จึง (ไป) บวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ราชาภินีตะ.
ก็กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ราชาภินีตะ เพราะถูกนำไปเครื่องจองจำ
ของพระราชา.
- ส่วนกุลบุตรเหล่าใด ถูกโจรจับได้ในป่าทึบ เมื่อบางพวกถูกโจร
นำไป บางพวกก็พูดว่า นาย เราทั้งหลายอันพวกท่านปล่อยแล้วก็
จักไม่อยู่ครองเรือนหรอก (แต่) จักบวช ในการบวชนั้น เราจักให้
ส่วนบุญแก่พวกท่านจากบุญมีการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ที่พวกเรา
จักทำ กุลบุตรเหล่านั้นอันโจรเหล่านั้นปล่อยแล้วจึง (ไป) บวช
กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า โจราภินีตะ.
- ก็กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า โจราภินีตะ เพราะหมายความว่า
ถูกพวกโจรนำไปให้ถูกฆ่าตาย.
- ส่วนกุลบุตรเหล่าใดติดหนี้แล้วไม่สามารถใช้คืนให้ได้จึงหนี
ไปบวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า อิณัฏฏะ (ติดหนี้) หมายความว่า
ถูกหนี้บีบคั้น บาลีเป็น อิณฏฺฐา ก็มี หมายความว่า ตั้งอยู่ในหนี้ (ติดหนี้)
- กุลบุตรเหล่าใด ถูกราชภัย โจรภัย ฉาตกภัย และโรคภัยอย่างใด
อย่างหนึ่งครอบงำประทุษร้ายแล้วบวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ภยัฏฏะ
(ลี้ภัย) อธิบายว่า ถูกภัยเบียดเบียน บาลีเป็น ภยฏฺฐา ก็มีหมายความว่า
ตั้งอยู่ในภัย.
- บทว่า อาชีวิกาปกตา ได้แก่ กุลบุตรผู้ถูกการเลี้ยงชีพ
ประทุษร้าย คือ ครอบงำ อธิบายว่า ไม่สามารถเลี้ยงบุตรและ
ภรรยาได้. บทว่า โอติณฺณา ได้แก่ แทรกซ้อนอยู่ภายใน. กุลบุตรนั้น
เกิดความคิดขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า จักทำที่สุดทุกข์ให้ได้จึงบวช
ต่อมาไม่สามารถทำการบวชนั้นให้ (ได้ผล) อย่างนั้นได้ เพื่อทรงชี้
กุลบุตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า โส จ โหติ อภิชฺฌาลุ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาลุ ได้แก่ เป็นผู้มีปกติเพ่งเฉพาะ
(อยากได้) สิ่งของของผูอื่น (มาเป็นของตน) บทว่า ติพฺพสาราโค
ได้แก่ มีราคะหนาแน่น.
- บทว่า พฺยาปนฺนจิตฺโต ได้แก่ มีจิตวิบัติเพราะเป็นจิตเสีย.
- บทว่า ปทุฏฺฐมนสงฺกปฺโป ได้แก่ มีจิตดุร้าย เหมือนโคเขาคม.
- บทว่า มุฏฺฐสฺสติ ได้แก่ หลงลืมสติ คือ ระลึกไม่ได้ว่า
สิ่งที่ตนทำแล้วในที่นี้ย่อมหายไปในที่นี้ เหมือนกาวาง (ก้อน) ข้าวไว้แล้ว
(ก็ลืม) ฉะนั้น.
- บทว่า อสมฺปชาโน ได้แก่ ไม่มีปัญญา คือ เว้นจากการ
กำหนดขันธ์เป็นต้น.
- บทว่า อสมาหิโต ได้แก่ ไม่มั่นคง เพราะไม่มีอุปจารสมาธิ
และอัปปนาสมาธิ เหมือนเรือที่ผูกไว้แล้ว (ก็ยังโคลง) เพราะกระแสน้ำ
เชี่ยวฉะนั้น.
- บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ได้แก่ มีใจหมุนไป (ฟุ้งซ่าน) -เหมือน
ข้าศึกถูกล้อมกลางทางฉะนั้น.
- บทว่า ปกฺกตินฺทฺริยา ได้แก่ ไม่สำรวมอินทรีย์ เหมือนคฤหัสถ์
มองดูลูกชายลูกสาว ชื่อว่า เป็นผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ฉะนั้น.
- บทว่า ฉวาลาตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนในที่ที่เผาศพ.
- บทว่า อุภโต ปทิตฺตํ มชฺเฌ คูถคตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนเผาศพ
ยาวประมาณ ๘ นิ้ว ถูกไฟไหม้ในที่ทั้งสอง (ปลายทั้งสองข้าง)
(ส่วน) ตรงกลางเปื้อนคูถ.
- บทว่า เนว คาเม ความว่า ก็ถ้าว่า ดุ้นฟืนเผาศพนั้นจะพึง
สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นแอก คันไถ กลอนเรือน เพลารถ และ
ห่วงดุม เป็นต้นได้ไซร้ ก็พึงใช้ประโยชน์เป็นฟืนในบ้านได้ ถ้าจะพึง
สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นฟืน เครื่องลาดและเตียงน้อยเป็นต้น
ในกระท่อมนาได้ไซร้ ก็พึงใช้ประโยชน์เป็นฟืนในป่าได้ แต่เพราะเหตุที่
ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองทาง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงตรัสไว้อย่างนี้.
- บทว่า คิหิโภคา ปริหีโน ความว่า เมื่อเหล่าคฤหัสถ์ผู้อยู่ใน
(บ้าน) เรือน แบ่งไทยธรรม (ถวาย) โภคะส่วนใดเป็นส่วนที่เธอจะ
พึงได้ ก็เสื่อมแล้วจากโภคะส่วนนั้นนั่นแล.
- บทว่า สามญฺญตฺถญฺจ ความว่า และ (ไม่ทำ) ประโยชน์
คือคุณเครื่องความเป็นสมณะที่กุลบุตรดำรงอยู่ในโอวาทของอุปัชฌาย์
และอาจารย์แล้วพึงบรรลุได้ด้วยอำนาจปริยัติและปฏิเวธ (ให้ปริบูรณ์).
- ก็แลอุปมา (ว่าด้วยดุ้นฟืนเผาศพ) นี้ พระศาสดาทรงนำมามิใช่
ด้วยอำนาจของภิกษุผู้ทุศีล แต่ทรงนำมาด้วยอำนาจบุคคลผู้มีศีล
บริสุทธิ์ (แต่) เกียจคร้านถูกโทษ ทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นครอบงำแล้ว.
- อกุศลวิตกทำให้คนเป็นเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ
- ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มว่า
ตโยเม ภิกฺขเว ไว้ ?
- ตอบว่า ทรงเริ่มไว้เพื่อแสดงว่า สภาพของบุคคลนี้ที่เปรียบ
เหมือนดุ้นฟืนเผาศพ มารดาบิดามิได้ทำให้ อุปัชฌาย์อาจารย์มิได้ทำให้
แต่อกุศลวิตกเหล่านี้ (ต่างหาก) ทำให้.
- บทว่า อนิมิตฺตํ วา สมาธึ ได้แก่ สมาธิในวิปัสสนา อธิบายว่า
สมาธิในวิปัสสนานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อนิมิตตะ
(ไม่มีนิมิต) เพราะถอนนิมิตทั้งหลายมีนิมิตว่าเที่ยงเป็นต้นได้.
- อนึ่ง ในพระบาลีตอนนี้พึงทราบความว่า สติปัฏฐาน ๔
ระคนกัน (ส่วน) อนิมิตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีนิมิต) เป็นบุรพภาค
(ส่วนเบื้องต้น) อีกอย่างหนึ่ง อนิมิตตสมาธิ ระคนกัน (ส่วน) สติปัฏฐาน
เป็นบุรพภาค.
- อนิมิตตสมาธิถอนทิฏฐิ ๒ อย่าง
- คำนี้ว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ทิฏฺฐิโย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อ
แสดงว่า อนิมิตตสมาธิภาวนา ย่อมเป็นไปเพื่อละมหาวิตกทั้ง ๓ เหล่านี้
อย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ยังถอนสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิได้อีกด้วย.
บทว่า น วชฺชวา อสฺสํ ได้แก่ เราพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ.
- บทที่เหลือในพระบาลีนี้ง่ายทั้งนั้น.
- พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงเทศนาในสูตรแม้นี้ให้วนเวียนอยู่กับ
ภพ ๓ แล้ว จดยอด (ให้จบลง) ด้วยอรหัตตผลด้วยประการดังพรรณนา
มาฉะนี้.
- เวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วย
ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
- จบอรรถกถาปิณโฑลยสูตรที่ ๘