อรรถกถา ยมกสูตร
- อรรถกถายมกสูตรที่ ๓
- พึงทราบวินิจฉัยในยมกสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
- ทิฏฐิของพระยมกะ
- บทว่า ทิฏฺฐิคตํ ความว่า ก็ถ้าพระยมกะนั้น จะพึงมีความคิด
อย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป ความเป็นไปแห่งสังขาร
นั่นแหละ ที่ไม่เป็นไป มีอยู่ (ความคิดดังว่ามานี้) ยังไม่ควรเป็นทิฏฐิ
(แต่) ควรเป็นญาณที่ท่องเที่ยวไปในคำสอน (ศาสนา).
- แต่เพราะพระยมกะนั้น ได้มีความคิดว่า สัตว์ขาดศูนย์ สัตว์พินาศ
ฉะนั้น ความคิดนั้นจึงเป็นทิฏฐิ.
- บทว่า ถามสา ปรามาสา ความว่า ด้วยพลังของทิฏฐิ และ
ด้วยการลูบคลำด้วยทิฏฐิ.
- บทว่า เยนายสฺมา สารีปุตฺโต ความว่า เมื่อปัจจันตชนบท
เกิดจลาจล เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปราบปรามให้สงบราบคาบได้
จึงไปหาเสนาบดี หรือไม่ก็ไปเฝ้าพระราชา ฉันใด เมื่อพระเถระนั้น
สับสนด้วยอำนาจทิฏฐิ ภิกษุเหล่านั้น ไม่สามารถจะกำหราบเธอได้
จึงพากันเข้าไปหาพระสารีบุตร ผู้เป็นพระธรรมเสนาบดี ของ
พระธรรมราชาจนถึงที่อยู่.
- พระสารีบุตรสอนพระยมกะ
- บทว่า เอวํ พฺยาโข( บาลีเป็น เอวํ ขฺวาหํ )
ความว่า พระยมกะไม่สามารถ
จะกล่าวได้เต็มปาก (พูดอ้อมแอ้ม) ต่อหน้าพระ (สารีบุตร) เถระ
เหมือนที่กล่าวในสำนักภิกษุเหล่านั้นได้ จึงกล่าวด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยวว่า
เอวํ พฺยาโข( บาลีเป็น เอวํ ขุวาหํ) (เป็นอย่างนั้นแล) ดังนี้.
- ในตอนนี้ พระสารีบุตรได้กล่าวอุปมาเปรียบเทียบไว้ดังนี้ว่า
ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?
- พระเถระได้ฟังคำของพระยมกะนั้น ดังนี้แล้ว คิดว่า ภิกษุนี้
ไม่เห็นโทษในลัทธิของตน เราจักทำโทษนั้นให้ปรากฏแก่เธอด้วย
การแสดงธรรมดังนี้ แล้วเริ่มแสดงเทศนามีปริวัฏ ๓ (เทศนา ๓ รอบ).
- ถามว่า เพราะเหตุไร พระสารีบุตรจึงเริ่มคำนี้ไว้ว่า ดูก่อน
ยมกะผู้มีอายุ ท่านสำคัญข้อนั้นเป็นไฉน ? ท่านพิจารณาเห็นรูป
ว่า เป็นสัตว์หรือ ?
- ตอบว่า เริ่มไว้ เพื่อให้บรรลุธรรมเนียมการซักถาม. เพราะว่า
พระเถระสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ในเวลาจบเทศนามีปริวัฏ ๓.
- เวลานั้น พระสารีบุตรกล่าวคำว่า ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เป็นต้นไว้ ก็เพื่อให้พระยมกะนั้นได้บรรลุถึงธรรมเนียมในการซักถาม.
- บทว่า ตถาคโต คือ สตฺโต (แปลว่า สัตว์).
- พระสารีบุตรเถระประมวล (รวบรวม) ขันธ์ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาแล้วถามว่า ท่านพิจารณาเห็น
ขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นสัตว์หรือ ?
- รูปประโยคว่า เอตฺถ จ เต อาวุโส นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติแสดงถึง
การซักถามของพระเถระ มีคำอธิบายดังนี้ว่า ก็เมื่อในปัจจุบันท่านยัง
หาสัตว์ไม่ได้ ตามความเป็นจริง ตามสภาพที่ถ่องแท้ในที่นี้คือ ในฐานะ
มีประมาณเท่านี้.
- พระสารีบุตร (เถระ) ประสงค์จะให้พระยมกะพยากรณ์ความ
เป็นพระอรหันต์ จึงถามคำถามนี้ว่า สเจ ตํ อาวุโส ดังนี้เป็นต้น.
- บทว่า ยํ ทุกฺขํ ตํ นิรุทฺธํ ความว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นแล
ดับไปแล้ว ไม่มีสัตว์ที่จะชื่อว่าดับต่างหาก ข้าพเจ้าพึงพยากรณ์อย่างนี้.
- บทว่า เอตสฺเสว อตฺถสฺส ความว่า ปฐมมรรค (โสดาปัตติมรรค)
นั้น อย่างนี้.
- บทว่า ภิยฺโยโสมตฺตาย ญาณาย ความว่า เพื่อประโยชน์
แก่ญาณมีประมาณยิ่ง อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่การทำมรรค ๓
ชั้นสูง พร้อมทั้งวิปัสสนาให้แจ่มแจ้ง.
- บทว่า อารกฺขสมฺปนฺโน คือ ถึงพร้อมด้วยการอารักขาภายใน
และการอารักขาภายนอก.
- บทว่า อโยคกฺเขมกาโม คือ ไม่ปรารถนาความเกษม (ปลอดภัย)
จากโยคะ ๔.
- บทว่า ปสยฺห คือ ข่มขู่ ได้แก่ ข่มขี่.
- บทว่า อนุปขชฺช คือ ลักลอบเข้าไป.
- ในบทว่า ปุพฺพุฏฺฐายี เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
- บุรุษที่ชื่อว่า ปุพฺพุฏฺฐายี เพราะหมายความว่า เห็นคหบดี หรือ
บุตรคหบดี มาแต่ไกลก็ลุกจากที่นั่งก่อน.
- ที่ชื่อว่า ปจฺฉานิปาตี เพราะหมายความว่า ให้ที่นั่งแก่คหบดี
หรือบุตรคหบดีนั้นแล้ว เมื่อท่านนั่ง (ตนเอง) จึงหย่อนตัวลง คือ
นั่งทีหลัง. (อีกอย่างหนึ่ง) บุรุษนั้นตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วจัดแจงว่า
พวกเจ้าจำนวนเท่านี้ จงไปไถนา จำนวนเท่านี้จงไปหว่าน ดังนี้ชื่อว่า
ลุกขึ้นก่อนใครหมด เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ปุพฺพุฏฺฐายี.
- บุรุษนี้นั้น ชื่อว่า ปจฺฉานิปาตี เพราะเมื่อคนงานทั้งหมดกลับไป
ยังที่อยู่ของตน ๆ แล้ว (ตนเอง) ก็ยังจัดการอารักขารอบเรือน
ปิดประตูนอนทีหลังเขาหมด.
- ที่ชื่อว่า กึการปฏิสาวี เพราะหมายความว่า มองดูหน้าคหบดี
หรือบุตรคหบดี คล้ายจะถามว่า จะให้ผมทำอะไรครับท่าน (จะให้)
ผมทำอะไรครับท่าน (จากนั้น) ก็คอยฟังคำสั่งว่า จะให้ทำอะไร.
(ปาฐะว่า กึ การณํ ฉบับพม่าเป็น กึ การํ แปลตามฉบับพม่า)
- ที่ชื่อว่า มนาปจารี เพราะหมายความว่า ประพฤติสิ่งที่ถูกใจ.
- ที่ชื่อว่า ปิยวาที เพราะหมายความว่า พูดวาจาที่น่ารัก.
- บทว่า มิตฺตโตปิ นํ ทเหยฺย ความว่า (คหบดีหรือบุตรคหบดี)
พึงเชื่อว่า บุรุษนี้เป็นมิตรของเรา.
- บทว่า วิสฺสาสํ อาปชฺเชยฺย ความว่า (คหบดีหรือบุตรคหบดี)
พึงทำกิจทั้งหลายมีดื่มกินร่วมกันเป็นต้น จึงเป็นผู้คุ้นเคยกัน.
- บทว่า สํวิสฺสฏฺโฐ แปลว่า คุ้นเคยกันดี.
- อุปมาเปรียบเทียบ
- ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีข้ออุปมาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ :-
- พาลปุถุชนผู้มิได้สดับ (ธรรมของพระอริยะ) ในเวลาที่อาศัย
วัฏฏะ (ยังเวียนว่ายตายเกิด) เปรียบเหมือนบุตรคหบดีผู้โง่เขลา.
- เบญจขันธ์ไม่มีกำลังทุรพล (ทรุดโทรม, เกิดดับอยู่ตลอดเวลา)
เปรียบเหมือนศัตรูคอยดักสังหาร.
- เบญจขันธ์ซึ่งเข้าถึงในขณะปฏิสนธิ เปรียบเหมือนเวลาที่ศัตรู
ผู้คอยดักสังหารเข้าไปหาด้วยหวังว่า จักรับใช้บุตรคหบดีผู้โง่.
- เวลาที่ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะ ไม่ยืดถือเบญจขันธ์ว่า เหล่านี้เป็น
ของเรา (แต่กลับแยก) ยึดถือว่า รูปของเรา เวทนาของเรา สัญญา
ของเรา สังขารของเรา วิญญาณของเรา เปรียบเหมือนเวลาที่บุตร
คหบดีผู้โง่เขลาไม่ทราบว่า ผู้นี้เป็นสหายของเรา ผู้นี้เป็นศัตรูผู้คอย
ดักสังหารของเรา.
- เวลาที่ปุถุชนผู้อาศัยวัฏฏะยึดถือ (เบญจขันธ์) ว่า เหล่านี้ของเรา
แล้วทำสักการะ (ปรนนิบัติ) เบญจขันธ์ด้วยการอาบน้ำ และการกิน
เป็นต้น เปรียบเหมือนเวลาที่ศัตรูผู้คอยดักสังหารยอมรับว่า ผู้นี้เป็น
มิตรของเรา แล้วทำสักการะ (ปรนนิบัติ). การที่พาลปุถุชนผู้คุ้นเคยแล้ว
สิ้นชีวิตเพราะขันธ์แตกในขณะจุติ พึงทราบว่าเปรียบเหมือนการที่
ศัตรูผู้คอยดักสังหาร ทราบว่า คหบดีหรือบุตรคหบดีนี้กับเราคุ้นเคยกัน
มากแล้ว ทำสักการะพลางเอาดาบตัดศีรษะ (ของคหบดีหรือบุตร
ของคหบดี).
- บทว่า อุเปติ แปลว่า เข้าใกล้. บทว่า อุปาทิยติ แปลว่า ยึดถือ.
บทว่า อธิฏฺฐาติ แปลว่า ตั้งมั่น. บทว่า อตฺตา เม ความว่า นี้เป็นอัตตา
ของเรา.
- บทว่า สุตวา จ โข อาวุโส อริยสาวโก ความว่า บุตรคหบดี
ผู้เป็นบัณฑิตรู้จักศัตรูผู้เข้าใกล้อย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา แล้ว
ไม่ประมาท ใช้ศัตรูให้ทำงานชนิดนั้น ๆ หลบหลีกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ย่อมได้รับประโยชน์ ฉันใด แม้พระอริยสาวกผู้ได้สดับ (ธรรมของ
พระอริยะ) ก็ฉันนั้น ไม่ยึดถือเบญจขันธ์ว่าเป็นเรา หรือว่าของเรา
โดยนัยเป็นต้นว่า ไม่พิจารณาเห็นรูปว่าเป็นอัตตา ทราบว่า เบญจขันธ์
เหล่านี้เป็นศัตรูของเราแล้วประกอบเข้ากับวิปัสสนา โดยเป็นรูปสัตตกะ
(หมวดเจ็ดของรูป) และอรูปสัตตกะ (หมวดเจ็ดของอรูป) เป็นต้น
หลีกเว้นทุกข์ซึ่งเกิดจากเบญจขันธ์นั้น ย่อมได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
อันเป็นผลที่เลิศ.
- บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.