อรรถกถา โคมยปิณฑสูตร
- อรรถกถาโคมยปิณฑสูตรที่ ๔
- พึงทราบวินิจฉัยในโคมยปิณฑสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
- บทว่า สสฺสติสมํ ได้แก่ เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย
มีภูเขาสิเนรุ แผ่นดินใหญ่ พระจันทร์และพระอาทิตย์ เป็นต้น.
- บทว่า ปริตฺตํ โคมยปิณฺฑํ ได้แก่ ก้อนโคมัย (มูลโค)มีประมาณ
น้อยขนาดเท่าดอกมะซาง.
- ถามว่า ก็ก้อนโคมัยนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาจากไหน ?
- ตอบว่า พระองค์ทรงหยิบมาจากก้อนโคมัยที่ภิกษุรูปนั้นนำมา
เพื่อต้องการใช้ฉาบทา (เสนาสนะ).
- อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ก็พึงทราบว่า ก้อนโคมัย พระผู้มี-
พระภาคเจ้าทรงใช้ฤทธิ์บันดาลให้มาอยู่ในพระหัตถ์ ก็เพื่อให้ภิกษุได้
เข้าใจความหมาย (ของพระธรรมเทศนา) ได้แจ่มแจ้ง.
- บทว่า อตฺตภาวปฏิลาโภ ได้แก่ ได้อัตภาพ. บทว่า นยิทํ
พฺรหฺมจริยวาโส ปญฺญาเยถ ความว่า ชื่อว่า การอยู่ประพฤติ
มรรคพรหมจรรย์นี้ไม่พึงปรากฏ เพราะว่ามรรคเกิดขึ้นทำสังขาร
ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ให้ชะงัก ก็ถ้าว่าอัตภาพเพียงเท่านี้ จะพึงเที่ยงไซร้
มรรคแม้เกิดขึ้นก็จะไม่สามารถทำสังขารวัฏให้ชะงักได้ เพราะเหตุนั้น
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จะไม่พึงปรากฏ.
- บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า ถ้าสังขารอะไรจะพึงเที่ยงไซร้ สมบัติ
ที่เราเคยครอบครอง เมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ก็จะพึง
เที่ยงด้วย แต่สมบัติแม้นั้นก็ไม่เที่ยง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า
ภูตปุพฺพาหํ ภิกฺขุ ราชา อโหสึ เป็นต้น.
- บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสาวตีราชธานิปฺปมุขานิ ความว่า
กุสาวดีราชธานี เป็นใหญ่กว่านครเหล่านั้น อธิบายว่า ประเสริฐสุดกว่า
นคร (อื่น) ทั้งหมด.
- บทว่า สารมยานิ คือ สำเร็จด้วยแก่นไม้จันทน์แดง. ก็
พระเขนย(ปาฐะว่า ทามํ ฉบับพม่าเป็น อุปธานํ แปลตามฉบับพม่า) สำหรับบัลลังก์เหล่านั้นล้วนทำจากด้ายทั้งสิ้น. บทว่า
โคนกตฺถตานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยผ้าขนแกะสีดำ
ซึ่งมีขนยาวเกิน ๔ นิ้ว ที่คนทั้งหลายเรียกกันว่า ผ้าขนแกะมหาปัฏฐิยะ.
บทว่า ปฏิกตฺถตานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีขาวที่ทำ
จากขนสัตว์ ซึ่งมีขนทั้ง ๒ ด้าน. บทว่า ปฏลิกตฺถตานิ ความว่า
บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วยเครื่องปูลาดขนสัตว์มีดอกหนา. บทว่า
กทลิมิคปวรปจฺจตฺถรณานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลายปูลาดด้วย
พระบรรจถรณ์ชั้นยอด ทำจากหนังชะมด. เล่ากันว่า เครื่องลาด
ชนิดนั้น คนทั้งหลายเอาหนังชะมด ลาดทับบนผ้าขาว แล้วเย็บทำ.
- บทว่า สอุตฺตรจฺฉทนานิ ความว่า บัลลังก์ทั้งหลาย พร้อมทั้ง
(ติด) หลังคาเบื้องบน อธิบายว่า พร้อมทั้งเพดานสีแดงที่ติดไว้เบื้องบน.
- บทว่า อุภโตโลหิตกูปธานานิ ความว่า พระเขนยสีแดงที่วางไว้
สองข้างของบัลลังก์ คือ พระเขนยหนุนพระเศียร( ปาฐะว่า สีสูปขานญฺจ
ฉบับพม่าเป็น สีสูปธานญฺจ แปลตามฉบับพม่า ) และพระเขนยหนุน
พระบาท.
- ในบทว่า เวชยนฺตรถปฺปมุขานิ นี้มีอธิบายว่า รถของพระราชานั้น
ชื่อว่า เวชยันตะ มีดุมล้อทำด้วยแก้วอินทนิลและแก้วมณี มีกำ (ซื่ล้อ)
ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ มีกงทำด้วยแก้วประพาฬ มีเพลาทำด้วยเงิน
มีงอนทำด้วยแก้วอินทนิลและแก้วมณี มีทูบทำด้วยเงิน รถนั้นจัดเป็น
รถทรง คือเป็นเลิศแห่งรถเหล่านั้น.
- บทว่า ทุกูลสนฺทนานิ ได้แก่ มีผ้าทุกูลพัสตร์เป็นผ้าคลุมหลัง.
(ปาฐะว่า ทุกูลสนฺทนาติ ฉบับพม่าเป็น ทุกูลสนฺถรานิ แปลตามฉบับพม่า. )
- บทว่า กํสูปธานานิ ได้แก่ ภาชนะสำหรับรีดนม ทำด้วยเงิน.
(๒.ปาฐะว่า รชตฺมย โลหภาชนานิ ฉบับพม่าเป็น รชตมยโทหภาชนานิ แปลตามฉบับพม่า.)
- บทว่า วตฺถโกฏิสหสฺสานิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึง
พระภูษาที่ราชบุรุษนำไป ในเวลาประทับยืนสรงสนานด้วยคิดว่า
พระองค์จักทรงใช้พระภูษานั้นตามพระราชประสงค์.
- บทว่า ภตฺตาภิหาโร ได้แก่ พระกระยาหารที่พึงนำเข้าไปเทียบ.
- บทว่า ยมหํ เตน สมเยน อชฺฌาวสามิ ความว่า เราอยู่ใน
นครใด นครนั้นก็เป็นนครแห่งหนึ่งนั่นแล (ในบรรดานคร ๘๔,๐๐๐ นคร)
(ส่วน) ประยูรญาติที่เหลือ มีพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นต้น
และคนที่เป็นทาส ก็อาศัยอยู่ด้วย.
- แม้ในปราสาทและเรือนยอดเป็นต้น ก็มีนัย (ความหมายเดียวกัน)
นี้แล. แม้ในพระราชบัลลังก์เป็นต้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ก็ทรงใช้เอง
เพียงพระราชบัลลังก์เดียว บัลลังก์ที่เหลือ เป็นของสำหรับพระราชโอรส
เป็นต้น ทรงใช้สอย. บรรดาพระสนมทั้งหลาย ก็มีพระสนมคนเดียวเท่านั้น
ที่ปรนนิบัติถวาย. ที่เหลือเป็นเพียงบริวาร.
- หญิงที่เกิดในครรภ์ของนางพราหมณี (ผู้เป็นมเหสี) ของกษัตริย์
ก็ดี หญิงที่เกิดในครรภ์ของเจ้าหญิง (ผู้เป็นภรรยา) ของพราหมณ์ก็ดี
ชื่อว่า เวลามิกา.
- ด้วยบทว่า ปริทหามิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เรานุ่งผ้า
คู่เดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นของพวกราชบุรุษที่เที่ยวแวดล้อม จำนวน
๑,๖๘๐,๐๐๐ คน.
- ด้วยบทว่า ภุญฺชามิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราเสวย
ข้าวสุกประมาณ ๑ ทะนานเป็นอย่างสูง ที่เหลือเป็นของราชบุรุษที่เที่ยว
แวดล้อม จำนวน ๘๔,๐๐๐ คน.
- ก็ข้าวสุกถาดเดียว พอคน ๑๐ คนกินได้. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นทรงแสดงสมบัติ เมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะนี้อย่างนี้แล้ว
บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงว่า สมบัติ นั้นไม่เที่ยง จึงตรัสคำว่า อิติ โข ภิกฺขุ
เป็นต้น
- บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปริณตา ไต้แก่ (สังขารทั้งหลาย)
ถึงความเป็นสภาพหาบัญญัติมิได้ เพราะละปกติ เปรียบเหมือน
ประทีปดับฉะนั้น.
- บทว่า เอวํ อนิจฺจา โข ภิกฺขุ สงฺขาร ความว่า ที่ชื่อว่าไม่เที่ยง
เพราะหมายความว่า มีแล้วกลับไม่มีอย่างนี้.
- เปรียบเหมือน บุรุษพึงผูกบันไดไว้ที่ต้นจำปาซึ่งสูงถึง ๑๐๐ ศอก
แล้วไต่ขึ้นไปเก็บเอาดอกจำปา ทิ้งบันไดไต่ลงมาฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุเพียงดังว่าคือ เสด็จขึ้นสู่สมบัติของ
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ซึ่งกินเวลานานหลายแสนโกฏิปี เป็นเหมือน
ทรงผูกบันได (ไต่ขึ้นไป) ทรงถือเอาอนิจจลักษณะที่อยู่ในที่สุดแห่ง
สมบัติแล้ว เสด็จลงมาเหมือนทรงทิ้งบันได (ไต่ลงมา) ฉะนั้น.
- บทว่า เอวํ อธุวา ความว่า เว้นจากความเป็นสภาพยั่งยืน
อย่างนั้น เหมือนต่อมน้ำเป็นต้นฉะนั้น.
- บทว่า เอวํ อนสฺสาสิกา ความว่า เว้นจากความน่ายินดีอย่างนั้น
เหมือนน้ำดื่มที่ดื่มในความฝัน(ปาฐะว่า สุวินิเก ฉบับพม่าเป็น สุปินเก แปลตามฉบับพม่า.)
และเหมือนกระแจะจันทน์ที่ตนไม่ได้ลูบไล้ฉะนั้น.
- พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนิจจลักษณะไว้ในสูตรนี้ ดังพรรณนา
มานี้.
- จบ อรรถกถาโคมยปิณฑสูตรที่ ๔