ผลต่างระหว่างรุ่นของ "จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรฯ"

จาก วิกิซอร์ซ
Bitterschoko (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Bitterschoko (คุย | ส่วนร่วม)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:12, 11 กรกฎาคม 2563



ตราของกรมศิลปากร
ตราของกรมศิลปากร
จดหมายเหตุ
เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร
ฉะบับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง
บุตรและธิดาพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ
มหาเสวกโท พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย)
และ
คุณหญิงอุไทยธรรม (หลี วัชโรทัย)
วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐



คำนำ

ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) และคุณหญิงอุไทยธรรม (หลี วัชโรทัย) ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ บุตรธิดามีความประสงค์จะตีพิมพ์จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร แจกเป็นที่ระลึก นำต้นฉะบับหนังสือเรื่องนี้มามอบให้กรมศิลปากรช่วยจัดการให้

กรมศิลปากรเห็นว่า สกุลวัชโรทัยรับราชการฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีในหน้าที่ใกล้ชิดเป็นพิเศษสืบเป็นลำดับมาหลายชั่วคนจนถึงปัจจุบัน การที่คิดตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกเป็นที่ระลึกจึงเหมาะด้วยประการทั้งปวง เพราะเป็นเรื่องเนื่องด้วยพระราชประวัติตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังมิใคร่มีใครจะได้ทราบมากนัก ด้วยเป็นเรื่องที่ยังไม่แพร่หลาย แม้ฉะบับที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติก็เป็นแต่ฉะบับเขียน กรมศิลปากรจึงรับจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์

จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร นี้ เดิมมีอยู่ ๒ ฉะบับ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) แต่เมื่อครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดี สมุหพระสุรัสวดี แต่งไว้ฉะบับ ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) แต่งไว้ในตอนท้ายพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ ฉะบับ ๑ ที่ตีพิมพ์ในสมุดเล่มนี้เป็นฉะบับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงแต่ง เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเป็นข้าหลวงเดิมในรัชชกาลที่ ๔ ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรนั้น เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก อยู่ในผู้หนึ่งซึ่งได้อยู่เฝ้ารักษาพยาบาลข้างที่ จึงได้รู้เห็นเหตุการเมื่อทรงประชวรโดยใกล้ชิด ข้อความที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในจดหมายเหตุฉะบับของท่าน ก็เข้าใจว่า คงถามมาจากเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง

จดหมายเหตุทั้ง ๒ ฉะบับที่กล่าวมานี้มีข้อความสำคัญคลาดเคลื่อนกันอยู่บางแห่ง แต่อ้างถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ ซึ่งเวลานั้น ปรากฏพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี เป็นผู้อยู่ประจำรักษาพยาบาลข้างที่เป็นนิจ พระองค์ ๑ ว่า เป็นผู้เชิญพระกระแสรับสั่งออกมาข้างหน้าในเวลาเมื่อทรงประชวรนั้นเนือง ๆ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่งจดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ตอนพรรณนาถึงเหตุการเมื่อทรงประชวร ทรงสงสัยข้อความที่กล่าวในจดหมายเหตุ ๒ ฉะบับนั้น จะตรัสถามผู้แต่งทั้งสองก็ไม่ได้ ด้วยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็ถึงพิราลัย และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงก็ถึงอสัญญกรรมไปเสียแล้ว จึงทูลถามกรมหลวงสมรรัตนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ อันเป็นปีที่เริ่มทรงแต่งหนังสือเรื่องนั้น ได้ความตามที่กรมหลวงสมรรัตนฯ ตรัสเล่า ทรงเห็นแม่นยำชัดเจนสิ้นสงสัย จึงจดลงไว้ในหนังสือที่ทรงแต่งนั้นตามที่ได้ทราบจากกรมหลวงสมรรัตนฯ เว้นไว้แต่แห่งใดที่กรมหลวงสมรรัตนฯ ไม่ทรงทราบ จึงทรงจดตามจดหมายเหตุของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงที่ตีพิมพ์ในสมุดนี้ เพราะฉะนั้น จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร จึงมีเป็น ๓ ฉะบับด้วยกัน ฉะบับอื่นเคยตีพิมพ์แล้ว แต่ฉะบับนี้เพิ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรก

อนึ่ง ในการตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ เจ้าภาพได้เรียบเรียงประวัติพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) ส่งมาขอให้เรียงลงไว้ด้วย จึงได้เรียงลงไว้ต่อจากคำนำนี้ และมีข้อความที่ควรจะกล่าวเพิ่มเติมว่า สกุลวัชโรทัยนี้เป็นสกุลเก่า สืบเชื้อสายมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ว่า สกุลนี้ได้เป็นภูษามาลามาแต่แผ่นดินพระมหาบุรุษเพทราชาสืบเนื่องกันมามิได้ขาด พระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) ผู้เป็นปู่ของพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น) ก็ได้รับราชการทรงเครื่องใหญ่มาแต่รัชชกาลที่ ๑ จนถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือว่า เป็นผู้รู้มาก ครั้งหนึ่ง มีข้อโต้เถียงกันในเรื่องทรงพระภูษาตามสีวันในเวลาสรงมุรธาภิเษกว่า ลัทธิสีวันของกรมภูษามาลาไม่เหมือนกับที่ใช้สีตามกำลังวันของโหรอยู่สองสี คือ วันพฤหัสบดี ตามที่โหรว่า เป็นสีเหลือง ภูษามาลาว่า เป็นสีน้ำเงิน วันศุกร์ ซึ่งว่า เป็นสีเลื่อมประภัสสรหรือใช้สีน้ำเงินกันอยู่นั้น ภูษามาลาว่า สีเหลือง เรื่องสีที่เถียงกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซักไซ้ไล่เลียงพระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) หลายครั้งหลายคราว พระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) ไม่ยอมเลยเป็นอันขาดว่า ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมา ก็ได้เกิดถุ้งเถียงกันแล้วตกลงตามอย่างภูษามาลาเช่นนี้ และว่า เคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยอม ถ้าทรงมุรธาภิเษกแล้ว ก็ทรงพระภูษาสีวันแบบภูษามาลา เว้นไว้แต่ถ้ารับเปลี่ยนทักษา ต้องตกลงยอมตามสีโหร ดังนี้

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุปทานกิจซึ่งบุตรและธิดาบำเพ็ญเพื่ออุทิศกัลปนาผลสนองคุณพระยาและคุณหญิงอุไทยธรรมด้วยความกตัญญูกตเวที ขออำนาจบุญกุศลทั้งปวงนี้จงบันดาลให้สำเร็จอิฐวิบากมนุญผลแก่ท่านทั้งสองนั้นตามสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการเทอญ.

  • กรมศิลปากร
  • ๑๗ มกราคม ๒๔๙๐



ประวัติย่อ

มหาเสวกโท พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) ป.ม., ท.จ.ว. เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๘ สืบเนื่องมาจากสกุลเก่าทั้งสองฝ่าย คือ สกุลบิดา "วัชโรทัย" และสกุลมารดา "สิงหเสนี"

ฝ่ายบิดา พระยาราชโกษา (จันทร์) เป็นบุตรพระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร) ๆ เป็นบุตรพระรัตนวงศา (แจ่ม) ๆ เป็นบุตรพระยาอุไทยธรรม (ทอง) ต้นสกุลวัชโรทัย

ฝ่ายมารดา คุณหญิงปุ้ย ราชโกษา เป็นธิดาคนใหญ่ของท่านเจ้าพระยายมราช (แก้ว) ๆ เป็นบุตรท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นสกุล สิงหเสนี

ท่านบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ และได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก เมื่ออายุสมควรจะอุปสมบท ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทตามคตินิยม ต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการในกรมพระภูษามาลาในตำแหน่งนายเวร

ท่านได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยใกล้ชิดด้วยความอุตสาหะบากบั่นต่อหน้าที่และความจงรักภักดี ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นลำดับ ได้เป็นที่ขุนราชสมบัติ หลวงเทพากรณ์ พระราชโกษา และพระยาราชโกษา ในรัชชกาลที่ ๕ ถึงรัชชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่พระยาอุไทยธรรมเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ และพระราชทานยศมหาเสวกโทเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพระภูษามาลา รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๑,๓๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ทำการสมรสกับคุณหญิงหลี อุไทยธรรม ธิดาของท่านกวงหลิม คหบดี และท่านนิ่ม ซึ่งตั้งเคหสถานอยู่หน้าวัดทองนพคุณ จังหวัดธนบุรี ได้อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลา ๕๐ ปีเศษ คุณหญิงหลี อุไทยธรรม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ก่อนหน้าท่านปีเดียว ได้มีบุตรเป็นกำลังรับราชการฉลองพระคุณสืบมาจนบัดนี้ ด้วยคุณความดีของท่าน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบลายก้านแย่งทอง และเครื่องพระราชทานเพลิง เป็นพระมหากรุณาธิคุณพิเศษ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสชะวา พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมาประชวรหนักถึงกับต้องนั่งยามถวายพยาบาล ท่านก็ได้มีโอกาสฉลองพระเดชพระคุณร่วมด้วยจนหายประชวร

ท่านได้ฉลองพระเดชพระคุณพิเศษในหน้าที่ผู้อำนวยการวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้ง ๑ และเป็นอนุกรรมการจัดการราชพิพิธภัณฑ์ในบั้นปลายแห่งชีวิต เมื่อกราบถวายบังคมลาออกจากประจำการโดยเหตุชราภาพเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้ถวายปฏิญาณไว้ว่า ถ้ามีราชการ ก็จะได้เข้ามาฉลองพระเดชพระคุณในหน้าที่ทุกคราวเช่นเดียวกับข้าราชการประจำการ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้กำกับราชการพระภูษามาลา แต่งเครื่องยศประจำการได้เป็นพิเศษตลอดอายุขัยของท่าน ท่านได้รับพระราชทานเกียรติยศพิเศษให้เป็นผู้เชิญพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถึง ๒ รัชชกาล คือ รัชชกาลที่ ๖ และที่ ๗

ท่านถึงอนิจจกรรมด้วยโรคชราที่บ้านริมสะพานยาว วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ คำนวณอายุได้ ๙๐ ปีเศษ ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ.



บานแพนกเดิม

วันพฤหัสบดี เดือนสาม แรมสิบสองค่ำ จุลศักราชพันสองร้อยสามสิบสาม ปีมะแม ตรีศก ข้าพระพุทธเจ้า พระยาราชสุภาวดีศรีสัตเทพนารายณ์ สมุหมาตยาธิบดี ศรีสุเรนทราเมศวร พระสุรัสวดีกลาง ได้เรียบเรียงเรื่องราวในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันทรงพระประชวรจนถึงวันสวรรคต กาลก็ล่วงนานมาจะถึงสี่ปีแล้ว แต่ก่อนก็ได้ตั้งใจว่า จะเรียงไว้เป็นจดหมายเหตุ แล้วจะให้เจ้าคุณสาสนโสภณแต่งเป็นคำเทศน์ไว้สำหรับเมื่อทำบุญฉลองพระเดชพระคุณในเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ก็ยังหาได้เรียบเรียงขึ้นไว้ไม่ บัดนี้ กาลก็ล่วงมานาน ที่ได้เห็นและจำไว้ได้เกือบจะฟั่นเฟือน จะแต่งไปก็จะขาด ๆ เหลือ ๆ พลั้งพลาดบ้าง ครั้นจะไปอาศัยจดหมายเหตุในกรมพระอาลักษณ์ ก็จะได้แต่ความข้างหน้า ความข้างในไม่มีผู้ใดจะจำได้ด้วยไม่ได้ยินไม่เห็น ผู้ทีได้ยินได้เห็นจำได้มีน้อยตัว ด้วยความดีวิเศษเป็นอัศจรรย์ที่พระองค์รักษาพระสติดับทุกขเวทนาในพระสรีรร่างกาย มิได้ปล่อยให้กระสับกระส่ายกระวนกระวายไป ตั้งแต่ทรงพระประชวรจนสวรรคต พระองค์ทรงปรารถนาไว้ประการใดก็ได้ดังพระราชประสงค์ทุกประการ ความอันนี้จะไม่เรียบเรียงลงไว้ก็จะศูนย์ไป ชนภายหน้าและข้าทูลละอองฯ ที่สวามิภักดิ์ก็จะไม่ได้ยินได้รู้ อนึ่ง แต่ก่อน พระองค์ก็ได้ทรงเที่ยวเสาะแสวงหาทางศาสนาที่เป็นสัมมาปฏิบัติ พระองค์ก็ได้เลือกจัดตัดมาฝึกหัดเล่าเรียนศึกษาทุก ๆ ศาสนา มียะโฮวา และเยซู มะหะหมัด เป็นต้น พระองค์ก็ได้ทรงเลือกสรรหาศาสนาไหนจะดีจะเป็นที่ดับทุกข์ได้ในภพนี้และภพหน้า พระองค์ได้ทรงศึกษาเสาะแสวงหาในพวกบาดหลวงและฝรั่งอังกฤษ ก็ไม่ได้มีวิเศษเลยทุกศาสนา พบแต่เรื่องศาสนาที่บังคับเกณฑ์กันให้เชื่อให้นับถือ ไม่ได้มีวิเศษสิ่งใดในศาสนานั้น ๆ ได้แต่วิชาและภาษาต่าง ๆ มาไว้เป็นเครื่องประดับคดีโลกเท่านั้น คดีธรรมที่จะเป็นเครื่องดับทุกขเวทนาในเวลาใกล้จะตาย ในศาสนาอื่นมิได้พบปะเลย พระองค์จึงได้ทรงยกย่องว่า ศาสนาพระสมณโคดมวิเศษประเสริฐกว่าศาสนาที่มีในโลกนี้ พระองค์จึงทรงพระอุตสาหะพากเพียรฝึกหัดชำนิชำนาญในการพระพุทธศาสนาได้แล้ว จึงได้ยกย่องขึ้นเป็นพวกธรรมยุตติกนิกายพวกหนึ่ง ลัทธิทางศาสนาของพระองค์ก็ได้แผ่นสร้านกว้างขวางออกไปเป็นอันมาก ชนทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังก็ยินดีนับถือฝึกหัดตามเสด็จเป็นอันมาก เมื่อพระองค์เสด็จกลับเข้ามาว่าราชการแผ่นดิน ก็เพื่อจะให้การศาสนามีกำลังขึ้น คนทั้งหลายที่ไม่รู้การในพระอัธยาศัยก็จะสำคัญใจว่า พระองค์จะมิเบื่อหน่ายในการศาสนาเสียแล้วหรือ จึงได้ละทิ้งลัทธิอันนี้เสีย แต่ที่จริงนั้น พระองค์มิได้มีความเบื่อหน่ายเลย ตั้งแต่ได้เสวยศิริราชสมบัติมา ได้ทรงบำเพ็ญทานการพระราชกุศลก็ใหญ่ยิ่งกว่าสิ่งอื่น เหตุไรเล่า เพราะเป็นของที่พระองค์ได้ทรงประพฤติปฏิบัติมาช้านานแล้ว เป็นหนทางที่วิเศษ เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ก็ได้สั่งสอนชนทั้งหลายให้รู้ทางหัดใจไว้เมื่อเข้าช่องแคบ คือ เวลาจะใกล้ตาย หรือทุกข์ภัยสิ่งใดมีมา สิ้นปัญญาเข้าแล้ว ก็จะได้เอาไว้สำหรับเป็นเครื่องดับทุกข์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความที่พระองค์ได้ทรงเผื่อแผ่ไว้แก่สมณพราหมณาจารย์ข้าราชการใหญ่น้อยและอาณาประชาราษฎรด้วยทางคดีโลกก็มี ทางคดีธรรมก็มี ด้วยสวรรคสมบัติก็มี โลกียสมบัติก็มี ที่สุดจนแผ่เมตตาจิตต์ทั่วถึงกันไป ไม่ว่าไพร่กระฎุมพีผู้ดีเข็ญใจ สุดแต่ความปรารถนาของคนทั้งหลาย ปรารถนาดี ก็พระราชทานดีให้ ปรารถนาชั่ว ก็พระราชทานชั่วให้ จนชุบเลี้ยงข้าราชการก็หาได้ทรงคิดว่า เป็นข้ากับเจ้า เป็นเขาเป็นเรา เลี้ยงข้าราชการเหมือนอย่างบิดาเลี้ยงบุตร ผู้ใดทำผิด ก็ลงโทษตามผิด ผู้ใดทำชอบ ก็โปรดพระราชทานตามชอบ ได้ทรงผ่อนสั้นผ่อนยาวแก่คนทั้งหลายทุกประการ ชนทั้งหลายจึงได้นิยมยินดีนับถือรักใคร่ในพระองค์เป็นอันมาก ก็บัดนี้ พระองค์สวรรคตล่วงลับไปแล้ว ชนทั้งหลายมีความนับถือปรารถนาจะใคร่สดับตรับฟังอิทธิปาฏิหาริย์ของพระองค์ตั้งแต่ทรงพระประชวรจนสวรรคต อยากจะใคร่ได้ยินได้ฟัง ครั้นจะไม่เรียบเรียงเรื่องราวลงไว้ ความดีวิเศษของพระองค์ก็จะเสื่อมศูนย์ไป ครั้นจะเรียบเรียงลงไว้เล่า เกลือกจะมีความผิดด้วยเกี่ยวในการแผ่นดิน จะทำฉันใดดี จะเรียบเรียงไปตามพระกระแสที่รับสั่งไว้อย่างไร จะเรียบเรียงตามไปอย่างนั้น ก็เกลือกจะเหลือเกิดที่คำหนักคำเบาและคำสูงคำต่ำ ครั้นจะเรียงไปพอสมควรตามกระบวนราชการ ต้องตัดถ้อยตัดความ ยาวบั่นสั้นต่อ ขาดถ้อยขาดความอยู่ฉะนี้ ต้องขอรับพระราชทานโทษได้โปรดพระราชทานอภัยให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้จะได้เรียบเรียงร้อยกรอง ความที่จริงตามพระกระแสพระราชดำริอย่างไร ก็จะต้องเรียบเรียงลงไว้ให้แน่นอน ไว้สำหรับเป็นเครื่องประดับปัญญาชนทั้งหลายต่อไปภายหน้าว่า พระองค์เป็นผู้สัมมาปฏิบัติ จะได้เป็นที่กระทำสักการบูชาต่อไปภายหน้า



จดหมายเหตุ
เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร

สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรตั้งแต่ ณ วันพุธ เดือนสิบ ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราชพันสองร้อยสามสิบ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ทรงพระประชวรเป็นไข้ พระองค์สะบัดร้อนสะท้านหนาวเป็นคราว ๆ พระเสโทซึบซาบออกมากกว่าที่เคยทรงพระประชวรไข้แต่ก่อน ๆ เสวยพระโอสถข้างที่ตามเคย พระอาการก็หาถอยไม่ ไม่ได้เสด็จออกว่าราชการ ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบ ขึ้นสิบสามค่ำ เวลาทุ่มเศษ ทรงจับสั่นไปจนถึงเวลาสองยามเศษ ครั้นสร่างจับแล้ว รับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ กับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เข้าไปเฝ้าในที่ทรงพระประชวร จึงรับสั่งให้ประชุมหมอหลวงที่มีชื่อประกอบพระโอสถถวาย กรมขุนวรจักรธรานุภาพก็รับพระบรมราชโองการออกมาสั่งให้หลวงทิพจักษุ์ประกอบพระโอสถเข้าไปตั้งถวาย

ณ วันพุธ เดือนสิบ แรมแปดค่ำ เรือกลไฟเจ้าพระยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เวลาบ่ายสีโมงเศษ โปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีสยามกิจเข้ามาแต่เมืองสิงคโปร์ จะทรงเลื่อนที่ขุนศรีสยามกิจให้เป็นหลวงศรีสยามกิจ ไว้ซ์กงซุลสยามเมืองสิงคโปร์ โปรดให้เข้าไปรับสัญญาบัตรต่อพระหัตถ์ในที่ทรงพระประชวร แต่สัญญาบัตรนั้น ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณ ประทับพระราชลัญจกรแทน ด้วยทรงพระกำลังน้อย ดำรงพระองค์ไม่ค่อยจะได้ แต่ทรงพระอุตสาหะเซ็นพระนามให้เป็นสำคัญ แล้วรับสั่งให้หลวงศรีสยามกิจ ไว้ซ์กงซุล กลับไปเมืองสิงคโปร์ด้วยเรือเจ้าพระยา

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนสิบ แรมสิบสามค่ำ เวลาเช้าสามโมงเศษ เป็นวันประชุมถือน้ำ พระบรมราชวงศานุวงศ์ และท่านเสนาบดี ข้าราชการที่เป็นผู้ใหญ่ พร้อมกันรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาบนพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ข้าราชการผู้น้อยรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้ามาถวายบังคมพร้อมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคม

ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม จึงว่ากับพระบรมราชวงศานุวงศ์ว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรมากดังนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่ ก็ประชวรอยู่ด้วย ไม่ควรจะประมาทนิ่งเพิกเฉยเสีย ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงมีพระประศาสน์สั่งให้ล้อมวงตั้งกองป้องกันพิทักษ์รักษาพระบรมมหาราชวังและที่ตำหนักสวนกุหลาบ มิให้ผู้ใดที่ควรกับตำแหน่งของตัวเข้าไปเป็นอันขาด จึงสั่งให้พระยาสีหราชฤทธิไกรท้ายน้ำ และเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้ายขวา ทหารอย่างยุโรป ประจำซองล้อมวง และข้าราชการที่มีตำแหน่ง ก็ให้ไปรักษาอยู่ทุกแห่งทุกตำบล

ณ วันอังคาร เดือนสิบ แรมสิบสี่ค่ำ เวลาเช้าสี่โมงเศษ พระอาการมากขึ้น ให้ทรงเชื่อมกระหายน้ำ พระกระยาเสวยก็ถอยลง พระอาการแปรไปทางอุจจาระธาตุ พระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเสนาบดี ปรึกษาพร้อมกันว่า หลวงทิพจักษุ์ถวายพระโอสถมาก็หลายวันแล้ว พระอาการหาคลายไม่ จึงให้ประชุมหมอหลวงว่า ผู้ใดจะรับฉลองพระเดชพระคุณได้ หมอทั้งปวงก็นิ่งอยู่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท จึงรับเข้าถวายพระโอสถฉลองพระเดชพระคุณ ตั้งพระโอสถถวายหลายเวลา พระอาการก็ยังไม่ถอย

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ เวลาย่ำเที่ยงแล้ว ไปพระบังคนตกเป็นพระโลหิตลิ่มเหลวบ้าง พระอาการกำเริบมากขึ้น จึงรับสั่งให้หาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พระประเสริฐศาสตร์ดำรง เข้าไปเฝ้าในที่ จึงรับสั่งว่า พระโรคมากอยู่แล้ว ถ้าเห็นพระอาการเหลือมือเหลือกำลังปัญญาแพทย์ ก็ให้กราบบังคมทูลแต่โดยจริง อย่าให้ปิดบังไว้ ก็จะได้ทรงทอดพระธุระเสียว่า รักษาไม่หายแล้ว แล้วรับสั่งแก่พระประเสริฐศาสตร์ดำรงว่า จะรักษาได้หรือไม่ได้ พระประเสริฐศาสตร์ดำรงกราบทูลพระกรุณาว่า จะรับฉลองพระเดชพระคุณสักสี่ห้าเวลา จึงโปรดให้พระประเสริฐศาสตร์ดำรงเข้าถวายพระโอสถต่อไป ครั้นเวลาค่ำประมาณทุ่มเศษ ไปพระบังคนครั้งไรก็มีพระโลหิตเจืออยู่ทุก ๆ ครั้ง ก็รับสั่งว่า พระโรคครั้งนี้เห็นจะไม่หาย

ครั้น ณ วันอังคาร เดือนสิบเอ็ด ขึ้นหกค่ำ รับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เข้าไปเฝ้าในที่ทรงพระประชวร จึงมีพระราชดำรัสราชานุญาตสรรพกิจการพระนครมอบให้ปรึกษากัน อย่าให้ราษฎรได้ความเดือดร้อน รุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นเจ็ดค่ำ พระราชทานพระราชหัตถเลขาให้พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดาเชิญเอามายังพระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชทานให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง กรมขุน และท่านเสนาบดี อ่าน ความในพระราชหัตถเลขามีว่า พระราชดำริทรงเห็นว่า ซึ่งจะสืบพระราชสุริยวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ก็ได้ ให้ปรึกษากันจงพร้อม แล้วแต่จะเห็นท่านผู้ใดที่มีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้

ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว มีพระบรมราชโองการให้หาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเข้าไปเฝ้า จึงรับสั่งว่า ทรงพระประชวรครั้งนี้ เห็นจะเหลือมือหมอหลวงแล้ว ถ้าเพลี่ยงพล้ำลง ท่านผู้มีความสวามิภักดิ์และข้าหลวงเดิมก็จะเสียใจว่า รักษาพยาบาลไม่เต็มมือ จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสอนุญาตให้ว่า ผู้ใดมีหมอมียา ก็ให้ถวายเถิด ขณะนั้น พระราไชศวรรยาธิบดี เจ้ากรมพระคลังในซ้าย ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม รับฉลองพระเดชพระคุณประกอบพระโอสถไพลกับเกลือเจือด้วยเวทมนต์ถวาย ครั้นเสวยแล้ว พระอาการก็เสมอคงอยู่ มิได้ลดน้อยถอยลงไป ก็ทอดพระอาลัยในพระสรีรร่างกาย แล้วก็ทรงพระอุตสาหะแกล้งขืนพระทัยเสวยพระกระยาหารต่าง ๆ จะเสวยได้มากน้อยเท่าใดก็รับสั่งให้ออกมาบอกกับขุนนาง จะได้ดีใจว่า เสวยพระกระยาหารได้ ครั้นเวลาค่ำทุ่มเศษ จึงรับสั่งให้หาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภขึ้นไปเฝ้าบนพระที่แล้วรับสั่งว่า ตัวเจ้ากับข้าก็ใช่เนื้อไข แต่ได้เลี้ยงดูมาแต่เล็ก รักเหมือนลูก ครั้งนี้ เจ้ากับข้าจะอยกกันอยู่แยกกันไป ตัวเจ้าแต่ก่อนรักษาตัวไม่ดี ให้เป็นที่รังเกียจผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อไปภายหน้า ไม่มีข้าแล้ว แต่ทำอย่างนี้จะรักษาตัวไปไม่ได้ ให้กลับใจรักษาตัวเสียใหม่ จะทำการสิ่งใดให้เอาเสียงผู้ใหญ่เป็นที่ตั้งจึงจะดี เจ้าอย่าถือตัวว่า มั่งมีศรีสุข ข้าจะลำเลิกเจ้าเหมือนกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรลำเลิกข้ากับหาบนว่า ลูกเต้าได้ทรัพย์สินเงินทองก็เพราะบิดามารดาไม่ใช่หรือ การต่อไปข้างหน้า ไม่มีตัวข้าแล้ว เจ้าอุตส่าห์รักษาตัวให้จงดี พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภกราบถวายบังคมแล้วกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้ารับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาแต่อายุ ๑๓ ปี ก็มิได้มีความข้อใหญ่ให้เคืองใต้ฝ่าละอองฯ แต่ครั้งนี้ มีผู้กล่าวว่า ข้าพระพุทธเจ้าคบคิดกับจีนต้มฝิ่นเถื่อนขาย ความเรื่องนี้ยังหาได้พิจารณาไม่ ก็เป็นที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองฯ มาช้านาน การก็เป็นที่สุดลงในครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอทำสัตย์สาบานถวายจำเพาะพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าคบคิดกับเจ๊กต้มฝิ่นเถื่อนขายฝิ่นเถื่อนเป็นตั้วเหี่ยจริงดุจกล่าวแล้ว ให้พฤกษเทวดา อารักขเทวดา อากาศเทวดา พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และเทวดาที่รักษาพระมหาเศวตฉัตร จงบันดาลสังหารผลาญชีวิตข้าพระพุทธเจ้าให้ตายในสามวันเจ็ดวัน อย่าให้ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไปอีกเลย จึงรับสั่งตอบว่า ข้ารู้ดอกน่า เจ้าจะดีอย่างไรจะชั่วอย่างไร ข้าเลี้ยงเจ้ามาแต่เล็กแต่น้อย ข้าเห็นเป็นภัยแก่ตัวเจ้า ข้าช่วยรักษาภัยให้เจ้าดอกที่ข้าสอนเจ้าเมื่อตะกี้ไม่ใช่หรือ แล้วจึงรับสั่งว่า เมื่อเจ้าไปเมืองลอนดอน เมื่อกลับเข้ามา ได้ทำดาบมาให้ข้าเล่มหนึ่ง ราคาห้าสิบชั่ง ข้าจะไม่มีตัวอยู่รักษาของเจ้าแล้ว ข้าขอคืนดาบอันนี้ให้แก่เจ้าเอาไปรักษาไว้ ถ้าท่านพระองค์ใดมาเป็นเจ้า เจ้าจะได้เอาดาบเล่มนี้ถวายท่าน ท่านจะได้ชุบเลี้ยงเจ้าต่อไป

ณ วันอังคาร เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสามค่ เวลาเช้าสี่โมงเศษ มีพระบรมราชโองการว่า ให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภไปกราบไหว้ว่า ข้าให้เรียนคุณศรีสุริยวงศ์ ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหน ๆ คุณศรีสุริยวงศ์ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวแล้ว ขอให้คุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนอย่างตัวข้า ขออย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ถ้าโทษตั้วเหี่ยแล้ว ก็ตามแต่การจะเป็นไป ถ้าไม่ถึงตั้วเหี่ยแล้ว ก็อย่าให้ต้องเป็นไปเลย จงออกไปกราบเรียนเดี๋ยวนี้ ในเวลานั้น พระองค์เจ้าอุณากรรณเฝ้าอยู่ที่นั้นด้วย ก็ตามมากับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ๆ ก็กราบเรียนตามพระกระแสรับสั่งทุกประการ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ได้ฟังพระกระแสแล้ว จึงปรึกษากันกับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่า ที่คิดจัดแจงการไว้แล้วนั้น จะต้องกราบทูลเสียให้ทรงทราบ ถ้าไม่กราบทูลให้ทรงทราบ ก็จะวุ่นวายพระทัยไป พระอาการไข้ก็จะกำเริบมากขึ้น จึงมีบัญชาสั่งแก่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภให้นำข้อความขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองฯ ว่า ได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า ครั้งนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร พระอาการก็มาก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ก็ประชวรอยู่ด้วย ไม่ควรประมาทนิ่งเพิกเฉยเสีย ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้สั่งให้ล้อมวงตั้งกองป้องกันรักษาพระบรมมหาราชวังและที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ได้สั่งให้พระยาฤทธิไกร และพนักงานกรมพระตำรวจนอกซ้ายขวา ทหารอย่างยุโรป ประจำซองล้อมวง และข้าราชการที่มีตำแหน่ง ก็ให้ไปรักษาอยู่ทุกแห่งทุกหน้าที่ ให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภกราบทูลฉลองชี้แจงถวายให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองฯ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภก็เข้าไปกราบทูล ดูพระกิริยาและพระอาการกะปรี้กะเปร่าแข็งแรงขึ้น จึงรับสั่งว่า แม่หนูโสมจ๋า ขอน้ำให้พ่อกินที เสวยน้ำแล้วก็ยังหาได้รับสั่งประการใดไม่ ทรงนิ่งอยู่ ดูพระอาการเหมือนหนึ่งว่า จะทรงตรองประมาณครู่หนึ่ง จึงรับสั่งว่า ให้ไปกราบเรียนเสียใหม่ ไม่ว่าอย่างนั้นดอกน่า มิใช่จะให้ไปเรียนฝากฝังให้ลูกเต้าได้ราชสมบัติเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ไปฝากให้ช่วยบำรุงรักษาตามธรรมเนียมที่บิดาสงเคราะห์แก่บุตรดอก ด้วยว่าลูกเต้าเล่าก็ยังเด็กเล็กอยู่ จะเป็นเจ้าแผ่นดินแผ่นทรายอย่างไรได้ ธรรมดาเด็กจะแบกจะยกของที่หนักที่ใหญ่เกินกำลัง จะแบกจะยกไปได้แล้วแลหรือ เกลือกจะมีภัยไปภายหน้า ให้ออกไปกราบเรียนเสียใหม่ในเดี๋ยวนี้ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภก็ออกมากราบเรียนตามพระกระแสรับสั่งทุกประการ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ก็ถอนใจใหญ่นิ่งอยู่ หาได้ว่าขานประการใดไม่ พระยาบุรุษฯ ก็กลับเข้าไปเฝ้า แล้วรับสั่งถามว่า กราบเรียนท่านแล้วหรือ ท่านว่ากะไร พระยาบุรุษฯ กราบทูลพระกรุณาว่า ท่านหาได้ว่าประการใดไม่ เป็นแต่ท่านถอนใจใหญ่แล้วนิ่งอยู่ จึงรับสั่งถามต่อไปว่า ท่านได้จัดแจงการไว้ดังนี้แน่แล้วหรือ พระยาบุรุษฯ กราบทูลพระกรุณาว่า ท่านได้จัดแจงการไว้ดังกราบทูลพระกรุณาหลายเวลาแล้ว แล้วจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้เจ้าพนักงานเอาพระหีบสำหรับทรงพระราชหัตถเลขา ทำด้วยงา กรอบทองคำ มีเครื่องสำหรับเขียนหนังสือ ทำด้วยทองคำพร้อมทุกสิ่ง ประดับล้วนแล้วไปด้วยเพ็ชรทับทิมมรกต ราคาสองร้อยชั่งเศษ โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม กับเงินด้วยพันชั่ง

ครั้น ณ วันพุธ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ เวลาเช้าสี่โมง มีพระบรมราชโองการให้พระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญท่านพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์เข้าไปเฝ้าพร้อมด้วยพระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญท่านพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์เข้าไปเฝ้าพร้อมด้วยพระยาบุรุษฯ จึงรับสั่งเรียกท่านพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ให้ขึ้นไปเฝ้าบนพระแท่นเคียงพระองค์ที่ทรงพระประชวร แล้วจึงรับสั่งถามว่า อาการพ่อใหญ่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์จึงกราบทูลพระกรุณาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระอาการคลายขึ้นมากแล้ว จึงรับสั่งว่า พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์เป็นคนมีความชอบในราชการแผ่นดินมา ก็ยังหาได้เลื่อนยศถานาศักดิ์ให้ไม่ ข้าได้สั่งให้เขาเอาดาบไปให้ เจ้าได้ดาบแล้วหรือยัง พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ยังมิได้รับพระราชทาน จึงรับสั่งว่า แม่หนูโสม ไปสั่งให้พนักงานให้เอาดาบไปให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์เสียซิ แล้วจึงรับสั่งถามว่า การแผ่นดินเดี๋ยวนี้จัดแจงกันอย่างไร พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบทูลพระกรุณาว่า บิดากระหม่อมฉันเห็นว่า พระอาการทรงพระประชวรมาก ได้ปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ควรจะรับศิริราชสมบัติต่อไป จะได้ทำนุบำรุงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยต่อไปภายหน้า เห็นด้วยเกล้าฯ ดั่งนี้ บิดากระหม่อมฉันจึงได้จัดการสั่งให้เจ้าพนักงานล้อมวงที่ตำหนักสวนกุหลาบมาหลายเวลาแล้ว จึงรับสั่งว่า จะไม่ได้ ลูกข้ายังเป็นเด็กเล็กอยู่ จะว่าการแผ่นดินแผ่นทรายอย่างไรได้ จะทำการไปไม่ตลอดนั้นซิ

มีคำสอดเข้ามาว่า ทำไมจึงไม่ดีพระทัย รับสั่งว่า ไม่ได้เล่า เพราะทรงเห็นว่า ยังไม่มั่นพระทัย กลัวการจะไม่แน่

จึงรับสั่งต่อไปว่า เจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยที่มีสติปัญญาก็มีอยู่เป็นอันมาก ให้เลือกเอาเถิด ลูกข้ายังเด็กอยู่ อย่าให้มีภัยแก่ลูกข้าเลย พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ขึ้นรับศิริราชสมบัติ กลัวจะมีเหตุไปข้างหน้า ด้วยนานาประเทศได้นิยมนับถือมาช้านาน ประการหนึ่ง เอมปเรอฝรั่งเศสก็ผูกไมตรี ถวายพระราชศาส์นและพระแสงองค์ใหญ่องค์เล็ก เข้ามาผูกพันเป็นชั้น ๆ ไว้แล้ว จะไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป การภายหน้าก็จะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้ อนึ่ง ทุกวันนี้ พระนามก็โด่งดังปรากฏอยู่ในประเทศยุโรป เป็นที่นับถือ คิดเห็นด้วยเกล้าฯ ดังนี้

รับสั่งว่า อย่างนั้นก็ตามใจเจ้าเถิดซิ ข้าจะขอชี้แจงการเก่าแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระประชวรจวนจะสิ้นแผ่นดิน ครั้งนั้น ปู่ของเจ้าก็ยังอยู่ พระนั่งเกล้าฯ ก็มิได้รับสั่งให้หาปู่ของเจ้าเข้าไปเฝ้าฝากฝังสั่งเสียด้วยการแผ่นดิน ท่านก็หาแต่พ่อเจ้าเข้าไปเฝ้าฝากฝังสั่งเสียด้วยการแผ่นดิน ครั้งนี้ ข้าก็เอาแบบเหมือนอย่างกาลครั้งโน้น ข้าก็หาได้สั่งเสียกับพ่อเจ้าไม่ ข้าจะขอฝากการแผ่นดินแก่เจ้า เมื่อเจ้าจะขัดขวางอย่างไร เจ้าจงไปปรึกษากับพ่อเจ้าเอาเองเถิด ไหน ๆ ลูกข้าก็ได้เป็นลูกเขยเจ้าแล้ว ข้าขอฝากลูกข้ากับเจ้าด้วย การที่เจ้าคิดนี้ ข้าก็มีความยินดีแล้ว แต่ช่วยกันรักษาไว้ให้ดี อย่าให้มีเหตุการขึ้นได้ การเปลี่ยนแผ่นดินใหม่มักเกิดรบราฆ่าฟันกัน อย่าให้เป็นเช่นอย่างพระเสนหามนตรี ถ้าเถิดขึ้นดังนั้นก็จะอายเขา พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กระหม่อมฉันจะไปคิดกันกับบิดารับฉลองพระเดชพระคุณ จะมิให้มีเหตุการให้เคืองใต้ฝ่าละอองฯ ขึ้นได้ จึงรับสั่งว่า ข้าได้ให้เงินกับพ่อเจ้าไว้พันชั่ง ให้ไปปรึกษาหารือกัน ควรจะใช้ในการล้อมวงกงกำบ้างอย่างไรก็ตามเถิด ให้เจ้ารักลูกข้าที่เป็นลูกเขยเจ้าให้มาก ๆ เรือไฟของเจ้าลำหนึ่ง เจ้าว่า จะขาย ข้าจะซื้อเอา แต่ไม่ให้เอาเป็นเรือแผ่นดิน ให้เป็นเรือส่วนกลางในลูกข้า เมื่อมีธุระไปทางไหน จะได้ใช้ทั่ว ๆ กัน ให้ไปเอาเงินที่ยายศรี แล้วรับสั่งว่า แม่หนูใหญ่จ๋า เอาเงินมาให้พระยาสุรวงศ์ค่าเรือไฟ แล้วให้พระยาสุรวงศ์ไปคิดกันกับแม่หนูใหญ่เถิด

พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบถวายบังคมออกมาแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ แก่เจ้าพนักงานภูษามาลาให้ไปเชิญหีบพระเครื่องออกมา แล้วครั้นรุ่งขึ้นวันสิบสี่ค่ำ เวลาเช้าสามโมงเศษ รับสั่งให้พระองค์เจ้าโสมาวดีกับเจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาจัดพระธำมรงค์กับพระประคำเครื่องแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระประคำสายนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะพระราชทานกรมหมื่นอุดมรัตนราษี บังเอิญให้เจ้าพนักงานหยิบผิดไป หาใช่องค์นี้ไม่ แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าโสมาวดีกับเจ้าพนักงานเอาพระธำมรงค์ พระประคำ ไปถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ครั้นเวลาค่ำสองทุ่มเศษ รับสั่งให้พระองค์เจ้าโสมาวดีเชิญพระธำมรงค์เพ็ชรใหญ่ ราคาร้อยชั่ง มาถวาย ทรงรับพระธำมรงค์แล้วยกพระหัตถ์ประสานขึ้นเหนือพระนลาต ทรงอธิษฐานบริจจาคบูชาพระพุทธบุศยรัตนจักรพรรดิพมลมณีมัย แล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระศรีสุนทรโวหารจดหมายรายสิ่งของพระราชทานเจ้านาย จะได้เอาเก็บรักษาไว้เป็นเครื่องระลึกตามคุณวิชาของท่านนั้น ๆ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ได้พระราชทานตลับทองคำลงยาใส่ทองคำบางตะพานหนักห้าตำลึงสำหรับลงยันต์ด้วยพระดินสอเพ็ชร กับนาฬิใหญ่เที่ยงอย่างดีซุ้มหนึ่ง มีเข็มดูวันเดือนปีทุ่มโมง กับพระประทุมทำด้วยศิลาองค์หนึ่ง กรมขุนวรจักรธรานุภาพได้พระราชทานนาฬิกาใหญ่ มีแก้วเลี่ยมครอบ มีเข็มดูวันเดือนปีทุ่มโมงพร้อม มีปรอทดูร้อนดูหนาว แต่นาฬิกาตั้งอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม มีขลุ่ยประโคม โปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระแก้วมรกตไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจ้าลูกเธอที่ยังไม่มีวัง โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินองค์ละ ๓๐ ชั่งทุกพระองค์ สำหรับจะได้ทำวัง

วันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ เวลาเช้าสองโมง รับสั่งแก่พระยาบุรุษฯ ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ อย่าไปข้างไหนเลย ให้คอยดูใจพ่อ ข้ารู้เวลาตายของข้าแล้ว ถ้าข้าจะเป็นอย่างไรลง ก็อย่าได้วุ่นวายบอกหนทางว่า อรหังพุทโธ เลย ให้นิ่งดูแต่ในใจเถิด เป็นธุระของข้าเอง ความสัตย์จริงที่มีพระกระแสรับสั่งดังนี้ เวลานั้น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภหาได้ลงใจตามเสด็จไม่ ด้วยเห็นพระอาการยังปกติเรียบร้อยอยู่ หาได้เห็นสัญญาวิปลาสสิ่งใดสิ่งหนึ่งในพระองค์ไม่ ครั้นเวลาสามโมงเศษ จึงรับสั่งให้หาพระราชโกษา กรมพระภูษามาลา เข้าไปเฝ้า แล้วรับสั่งว่า เมื่อข้าไม่มีตัวแล้ว เจ้าจะทำในสรีรร่างกายของข้า สิ่งไรไม่เป็นที่ชอบใจอยู่แต่ก่อน ขออย่าได้ทำ เป็นต้นว่า แหวนที่จะใส่ปากผี เอาเชือกผูกแหวนแขวนห้อยไว้ริมปากกลัวผีจะกลืนแหวนเข้าไป อย่างนี้จงอย่าได้ทำแก่ข้าเลย แต่อย่าให้เสียธรรมเนียม แหวนที่จะใส่ปากนั้น ให้เอาเชือกผูกแหวนแขวนที่เข็มกลัดคอเสื้อเพ็ชรที่ข้าได้ว่าขอไว้นานแล้ว เมื่อจะตาย จะเอากลัดไปด้วย ราคาก็ไม่มากนัก เพียงห้าสิบชั่งเศษ แล้วจะได้ทำพระฉลองพระองค์ด้วย เข็มขัดที่จะคาดนั้น อย่าให้เอาของแผ่นดิน ให้เอาของเดิมของข้าที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทรซื้อกรมหลวงพิทักษ์มนตรีนั้น แหวนที่จะใส่นั้น ได้จัดมอบไว้แล้ว ให้ไปถามพ่อกลางดูเถิด สังวาลเครื่องต้น เอาสายที่ข้าทำใหม่ อย่าให้เอาสายสำหรับแผ่นดิน ให้เอาของที่ข้าทำใหม่ การอื่น ๆ นอกนั้น ก็ให้ไปปรึกษาพ่อกลางดูเถิด แต่อย่าให้เกี่ยวข้องเป็นของแผ่นดิน ของแผ่นดินนั้น เจ้าแผ่นดินใหม่ท่านจะได้ใส่เลียบพระนคร เมื่อเอาโกศลงเปลื้องเครื่อง ให้ค้นดูในปาก ฟันมีก็ให้เอาไว้ให้หมด จะได้แจกลูกที่ยังไม่ได้ให้พอกัน ถ้าฟันไม่พอกัน ให้ถอดเอาเล็บมือ ถ้าเล็บมือไม่พอ ให้ถอดเอาเล็บตีน แบ่งปันกันไปกว่าจะพอ เงินก้อนจีนของข้าหาสะสมไว้ ว่าจะทำลองในโกศขึ้นไว้อีกสักองค์หนึ่ง ก็ทำหาทันไม่ เงินก้อนนั้นวางอยู่ที่หน้าต่างข้างโน้นหรืออย่างไรไม่รู้ได้เลย ให้กับกรมหลวงเทเวศร์สานเสื่อปูพระรัตนสถานเสียเถิด ทองก็ได้หาสะสมไว้ ว่าจะทำโกศลงยาขึ้นไว้อีกสักองค์หนึ่ง ทำก็ไม่ทัน ทองนั้นระคนปนกันอยู่กับทองอื่น ๆ ก็ให้เอาไปใช้ในการเบ็ญจาหรือจะเอาไปใช้ในพระฉลองพระองค์ก็ตาม แต่พระเบ็ญจานั้นอย่าทำให้ใหญ่โตไปเลย ให้ป่วยการผู้คนช่างเชียว ให้เอาอย่างเบ็ญจาที่ข้าทำให้วังหน้าน้องข้า มีตัวอย่างอยู่แล้ว ถึงจะใช้โครงอันนั้นก็ได้

ครั้นเช้าห้าโมงเศษ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าสั่งพระยาบุรุษฯ ให้ไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ให้เข้ามาเฝ้า เมื่อจะเข้ามา ให้คอยเวลาทุกขเวทนาน้อย จึงให้เข้ามา พระยาบุรุษฯ ก็ไปกราบทูลกราบเรียนตามพระกระแสพระราชโองการ ครั้นเวลาเกือบจะใกล้เที่ยง พระวาโยถอย พระอาการค่อยคลายสบายขึ้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย เข้าไปเฝ้า รับสั่งเรียกพระนามและชื่อเรียงกันไป แล้วรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าใกล้พระแท่น ให้ยื่นมือเข้าไปถวาย เอาพระหัตถ์มาทรงจับมือท่านทั้งสาม แล้วรับสั่งลาว่า วันนี้ พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันเพ็ญ อายุของฉันจะหมดจะดับในวันนี้แล้ว ท่านทั้งหลายกับดิฉันได้ช่วยทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้ กาลมาถึงฉันแล้ว ฉันจะขอลาท่านทั้งหลาย ด้วยฉันออกอุทานวาจาไว้เมื่อบวชอยู่นั้นว่า วันไรเป็นวันเกิด อยากจะตายในวันนั้น วันฉันเกิดเป็นวันเพ็ญ เดือนสิบเอ็ด วันมหาปวารณา เมื่อป่วยไข้จะตาย จะให้สัทธิงวิหาริกอันเตวาสิกยกลงไป จะขอตายในท่ามกลางสงฆ์ เมื่อเวลาที่พระสงฆ์กระทำวินัยกรรมมหาปวารณา ก็บัดนี้ เห็นจะไม่ได้พร้อมตามความที่ปรารถนาไว้เพราะเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว ฉันจะขอลาท่านทั้งหลายไปจากภพนี้ในวันนี้แล้ว ฉันขอฝากลูกของฉันด้วย อย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านเป็นที่พึ่งแก่ลูกของฉันต่อไปด้วยเถิด ท่านก็พากันโศกเศร้าพากันร้องไห้ทั้งสาม จึงรับสั่งห้ามว่า อย่าร้องไห้เลยจ้ะ ความตายไม่เป็นของอัศจรรย์อะไรดอก ทรงว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ย่อมเหมือนกันทุกรูปทุกนาม แต่ผิดกันที่ตายก่อนตายหลัง แต่ก็ต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น ก็บัดนี้ กาลมาถึงตัวฉันเข้าแล้ว ฉันจึงได้อำลาท่าน ท่านเห็นว่า ฉันจะพลัดพรากจากไป มีความอาลัยรักใคร่ จึงได้ร้องไห้ด้วยความเสียดาย ก็บัดนี้ ตัวฉันเป็นคนถึงเข้าก่อนแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะต้องถึงเหมือนกัน ผิดกันแต่ถึงก่อนถึงหลัง คงจะต้องไปทางเดียวอย่างนี้เหมือนกันทุกรูปทุกนาม แล้วรับสั่งว่า คุณศรีสุริยวงศ์จ๋า ไข้หนักพักใหญ่ คนอื่น ๆ เขาตาลอยตาค้าง แต่ตัวของฉันอาการไข้ก็มาก ทำไมตาจึงติด เป็นเหตุด้วยอะไร ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ก็หาได้กราบบังคมทูลประการใดไม่ จึงรับสั่งเรียก แม่หนูโสมจ๋า ขอผ้าขาวชุบน้ำมาซับตาให้พ่อ ครั้นซับพระเนตรแล้ว จึงได้ทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย แล้วรับสั่งว่า ฉันจะขอพูดด้วยการแผ่นดิน ยังหาได้สมาทานศีล ๕ ประการไม่ ฉันเป็นคนป่วยไข้ จะขอสมาทานศีล ๕ ประการเสียก่อน แล้วจึงจะพูดด้วยการแผ่นดิน จึงทรงตั้งนโมขึ้นสามหน ทรงสมาทานศีล ๕ ประการ จบแล้วเลยตรัสภาษาอังกฤษต่อไปอีกยืดยาวหลายองค์ แล้วรับสั่งว่า สมาทานศีลแล้วทำไมจึงพูดภาษาอังกฤษต่อไปอีกเล่า เพื่อจะสำแดงให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า สติยังดีอยู่ ไม่ใช่ภาษาของตัวก็ยังทรงจำได้แม่นยำอยู่ สติสตังยังดีอยู่ จะพูดด้วยการแผ่นดิน ท่านทั้งหลายจะได้สำคัญว่า ไม่ฟั่นเฟือนเลอะเทอะ สติยังดีอยู่ ตัวท่านกับฉันได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมา ได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนสิ้นตัวฉัน ถ้าสิ้นตัวฉันแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงช่วยกันทำนุบำรุงการแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจะได้ที่พึ่งอยู่เย็นเป็นสุข แต่ต้องรับฎีการ้องทุกข์ของราษฎรให้เหมือนฉันที่เคยรับมาแต่ก่อน อนึ่ง ผู้ที่จะเป็นเจ้าแผ่นดินต่อไปภายหน้า ให้พร้อมกันเลือกหาเอาเถิด จะเป็นพี่ก็ตาม จะเป็นน้องก็ตาม จะเป็นลูกก็ตาม จะเป็นหลานก็ตาม สุดแต่จะเห็นพร้อมกัน ท่านพระองค์ใดมีปรีชาญาณควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็ยกขึ้นเป็นเจ้า จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดินและพระราชวงศานุวงศ์และราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าหันเหียนตามพระกระแสพระเจ้าแผ่นดินก่อนเลย เอาแต่ความดีความเจริญเป็นที่ตั้ง สิ้นพระกระแสรับสั่งดังนี้แล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ก็ถวายบังคมนิ่งอยู่ประมาณครู่หนึ่ง ก็หาได้รับสั่งประการใดต่อไปไม่ ก็กราบถวายบังคมลาพากันออกมา ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม จึงว่ากับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า พระอาการแข็งแรง ยังจะยืดยาวไปอีกหลายเวลา แล้วท่านก็พากันออกไปอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย

เวลาบ่ายห้าโมงเศษ มีพระบรมราชโองการรับสั่งแก่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า ให้ไปหาตัวตาฟักเข้ามา ให้เอาสมุดดินสอเข้ามาด้วย ให้เข้ามารอคอยอยู่ เมื่อเวลาไรค่อยสบาย จึงค่อยเข้ามา แล้วรับสั่งกับหลวงราโชว่า หมอขา ข้ามีธุระจะทำการ หมอช่วยแก้ไขดับทุกขเวทนาลมที่เสียดแทงให้ถอยลงสักหน่อยจะได้หรือไม่ได้ หลวงราโชรับสั่งว่า จะฉลองพระเดชพระคุณได้ด้วยเกล้าฯ หลวงราโชก็แก้ไขถวายอยู่งาน พอพระอาการพระวาโยที่เสียดแทงขึ้นคลายลง พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจึงทูลฉลองว่า พระศรีสุนทรโวหารเข้ามาเฝ้าละอองฯ แล้ว จึงรับสั่งแก่พระศรีสุนทรโวหารเป็นภาษามคธยืดยาวเรื่องความอนาถปิณฑิโกวาทะ จบแล้วจึงรับสั่งถามพระศรีสุนทรโวหารว่า ที่ตรัสเป็นภาษามคธดังนี้ผิดเพี้ยนอย่างไรบ้าง พระศรีสุนทรโวหารกราบทูลพระกรุณาว่า ซึ่งทรงภาษามคธนี้ไม่ผิดเพี้ยนแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนหนึ่งเมื่อไม่ทรงพระประชวร จึงรับสั่งว่า อาการก็มากถึงเพียงนี้แล้ว ยังมีสติดี ไม่ฟั่นเฟือน ให้เอาสมุดมา ข้าจะให้เขียนคาถาลาพระ ทรงแต่งเป็นภาษามคธจนจบ แจ้งอยู่ในพระคาถาที่ทรงแต่งทุกประการแล้ว แต่คำแปลในพระคาถาที่ทรงลาพระและขอสมาสงฆ์เผดียงไปที่วัดราชประดิษฐ์ว่า

ขอเผดียงพระสงฆ์จงทราบ เมื่อครั้งตัวฉันเป็นภิกขุอยู่ ฉันได้เจรจาคำนี้เนือง ๆ ว่า เราเกิดแล้ว ออกจากครรภ์มารดาแล้ว ในวันปวารณา คือ วันพฤหัสบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ ถ้าเมื่อเราจะตาย หากว่าป่วยหนักลง พวกศิษย์นำไปถึงที่ประชุมสงฆ์ทำปวารณาในโรงอุโบสถยังประกอบด้วยกำลังเช่นนั้น ด้วยกำลังเช่นไรเล่า เราจะพึงทำปวารณาสามจบกะสงฆ์ แล้วจึงตายกับที่ฉะเพาะหน้าพระสงฆ์ การที่ได้ทำนั้นเป็นการดี เป็นการสมควรแก่เรา วาจาอย่างนี้ฉันได้พูดเนือง ๆ เมื่อครั้งเป็นภิกขุ บัดนี้ ตัวฉันเป็นคฤหัสถ์ จะทำอะไรได้อย่างที่ว่าไว้นั้น เพราะฉะนั้น จึงส่งเครื่องสักการบูชาเหล่านี้ไปยังวิหารบูชาธรรมนั้นและบูชาพระสงฆ์ซึ่งทำปวารณากรรม ด้วยเครื่องสักการบูชาเหล่านี้ทำให้เป็นของแทนตัวฉัน วันมหาปวารณา คือ วันเพ็ญ ขึ้นสิบห้าค่ำ วันนี้ ก็เป็นวันพฤหัสบดีเหมือนวันฉันเกิด ความเจ็บไข้ของตัวฉันเจริญทวีมากขึ้น ตัวฉันกลัวว่า จะต้องตายลงในวันนี้ ฉันขอลาพระสงฆ์ ฉันขออภิวาทไหว้ต่อพระผู้มีพระภาคผู้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ปรินิพพานแล้วนาน ฉันขอนมัสการพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ขอนอบน้อมพระอริยสงฆ์ด้วย ตัวฉันผู้ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว

โทษ คือ ความล่วงเกิน ได้เป็นไปล่วงเกิน ข้าพเจ้าผู้เป็นคนพาล คนหลง คนไม่ฉลาดด้วยประการไร ตัวข้าพเจ้าคนไรเล่า ณ อัตตภาพนี้ เป็นผู้ประมาทแล้วอย่างนั้น ๆ ได้ทำกรรมเป็นอกุศลทั้งหลาย ขอพระสงฆ์จงรับโทษล่วงเกินของข้าพเจ้านั้น เป็นโทษล่วงเกินจริง เพื่อสังวรระวังตนต่อไปภายหน้า

บัดนี้ ตัวฉันได้ทำการอธิษฐานสังวรระวังในศีล ๕ แล้วปลุกความทำในใจดังนี้ ศึกษาอยู่ในขันธ์ทั้งหลายห้า ในอายตนะทั้งหลายภายในหก ภายนอกหก ในวิญญาณทั้งหลายหก ในสัมผัสทั้งหลายหก ในเวทนาทั้งหลายหก ซึ่งเป็นไปในทวารทั้งหลายหก ของนั้นไม่มีในโลก ของไรเล่าเมื่อสัตย์เข้าถือเอามั่นจะพึงไม่มีโทษ อนึ่ง หรือบุรุษเขาถือเอามั่นของสิ่งไรเล่าจะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ ตัวฉันศึกษาความไม่ยึดหน่วงถือเอามั่น สรรพสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตาใช่ตัวตน ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ของนั้นใช่ของเรา ส่วนนั้นใช่เราไม่เป็นเรา ส่วนนั้นใช่ตัวใช่ตน ความตายใด ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ความตายนั้นไม่เป็นอัศจรรย์ เพราะความตายนั้นเป็นหนทางไปของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงหมดด้วยกัน ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ฉันขอลาขอไหว้นมัสการ ข้อใดเป็นความผิดพลั้งของตัวฉัน ขอพระสงฆ์จงงดโทษเป็นความผิดของข้าพเจ้าเถิด

ครั้นเมื่อกายของข้าพเจ้า แม้นถึงกระสับกระส่ายอยู่ จิตต์จะไม่เป็นของกระสับกระส่าย ข้าพเจ้าศึกษาอยู่อย่างนี้ ทำความไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้

ทรงแต่งพระคาถาลาพระเสร็จแล้ว จึงรับสั่งแก่พระศรีสุนทรโวหาร ว่า ให้เอาไปคัดลอกให้อ่านออกง่าย ๆ แล้วให้ไปสั่งมหาดเล็กให้จัดเครื่องนมัสการไปตั้งที่ในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์เมื่อสงฆ์จะกระทำวินัยกรรมปวารณาพระวัสสา ให้จุดธูปเทียนขึ้น แล้วจึงอ่านคาถาลาพระในท่ามกลางสงฆ์แทนตัวข้า พระศรีสุนทรโวหารก็กราบถวายบังคมลามาทำตามพระกระแสรับสั่งทุกประการ

เมื่อพระศรีสุนทรโวหารเข้าไปเขียนหนังสือแต่งพระคาถาลาพระแล้ว ก็พอพลบย่ำค่ำ ครั้นเวลาสองทุ่มหกบาท จึงรับสั่งเรียกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า พ่อเพ็ง เอาโถมารองเบาให้พ่อที พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจึงเชิญเอาโถพระบังคนขึ้นไปบนพระแท่นถวาย ลงพระบังคนแล้ว ก็พลิกพระองค์ไปข้างทิศตะวันตก รับสั่งบอกว่า จะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วพลิกพระองค์หันพระพักตร์สู่เบื้องตะวันตก ก็รับสั่งบอกอีกว่า จะตายเดี๋ยวนี้แล้ว แล้วก็ทรงภาวนาว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ทรงอัดนิ่งไป แล้วผ่อนอัสสาสปัสสาสเป็นคราว ๆ ยาว แล้วผ่อนสั้นเข้าทีละน้อย ๆ หางพระสุรเสียงมีสำเนียงดัง โธ ๆ ทุกครั้ง สันเข้า โธก็เบาลงทุกที ตลอดไปจนยามหนึ่งก็ดังครอกเบา ๆ พอระฆังยามหอภูวดลทัศไนย์ย่ำก่าง ๆ นกตุ๊ดก็ร้องขึ้นตุ๊ดหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคตเวลาเต็มปฐมยาม ท่าบรรทมเมื่อสวรรคตเหมือนกับท่าพระไสยาสน์ในวัดบวรนิเวศฯ พระสรีรร่างกายและพระหัตถ์พระบาทจะได้กระดิกกระเดี้ยเหมือนสามัญชนทั้งหลายทั้งหาบมิได้ แล้วก็มีหมอกคลุ้มมัวเข้าไปในพระที่นั่งเวลานั้น พระเจ้าลูกเธอและท่านข้างในที่ห้อมล้อมกราบถวายบังคมอยู่นั้นสงบสงัดเงียบไปจนยามเศษ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจึงทูลกับพระเจ้าลูกเธอและบอกกับท่านข้างในว่า พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ราชการรักษาพระอาการที่ทรงพระประชวรสิ้นแล้ว ราชการต่อไปเป็นของท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ต้องเอาข้อความไปแจ้งกราบเรียนแก่ท่านอธิบดีเสียก่อน แต่ขอให้งดไว้ อย่าเพ่อร้องไห้เกรียวกราวไป ด้วยพระสตินั้นดีเป็นที่สุด จะหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้แล้ว พระเจ้าลูกเธอและท่านข้างในก็รับตามคำ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภก็ลงมาจากพระที่นั่ง จะมีผู้ใดที่อยู่ชั้นล่างจะได้รู้ว่าสวรรคตแล้วแต่สักคนเดียวก็มิได้มี พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภไปกราบเรียนท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม ท่านยังหาอยู่ไม่ ได้กราบทูลแต่สมเด็จกรมขุนบำราบปรปักษ์และกราบเรียนท่านเจ้าพระยาภูธราภัย เจ้านายท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ก็จัดการไปตามพนักงานทุก ๆ หน้าที่ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภก็กลับไปเฝ้าพระบรมศพอยู่บนพระแท่นอย่างเดิม เกือบจะใกล้สี่ทุ่ม เห็นว่า สิ้นกำหนดสวรรคตแล้ว ก็คุกเข่าขึ้นกราบถวายบังคม พระเจ้าลูกเธอและท่านข้างในก็พากันร้องไห้เซ็งแซ่ขึ้นพร้อมกันทั้งข้างหน้าข้างในตั้งแต่เวลาสี่ทุ่มจนย่ำรุ่ง เสียงดังสนั่นหวั่นไหวไปในพระบรมมหาราชวัง

มีคำกลางสอดแทรกว่า ชนทั้งหลายทั้งชายหญิงซึ่งร้องไห้มาก ก็เพราะรักใคร่นับถือความดีในพระองค์ด้วยประการใดประการหนึ่ง จึงได้ร้องไห้เศร้าโศกถึงพระองค์มาก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาทุ่มเศษ ถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ สวรรคตเวลายามหนึ่ง ดำรงอยู่ในศิริราชสมบัติ ๑๘ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูต ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด ฉศก ศักราช ๑๑๖๖ ปี พระชนม์ได้ ๖๕ พรรษา มีพระราชโอรสฝ่ายใน ๔๑ ฝ่ายหน้า ๓๕ รวม ๗๖ พระองค์[1]

ตั้งแต่สวรรคตแล้ว ต่อมา เวลาสี่ทุ่มเศษ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม จึงเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง สั่งให้จัดการรักษาพระที่นั่งทั้งข้างหน้าข้างใน ให้องครักษ์ และกรมอาสาแปดเหล่า กรมทหารอย่างยุโรป ทั้งในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรฯ ตั้งกองจุกช่องล้อมวงทั้งนอกใน เสร็จแล้วจึงมีบัญชาสั่งให้สังฆการีไปเชิญเสด็จกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ และพระราชาคณะฐานานุกรม ๒๕ องค์ อาราธนามาประชุมในพระที่นั่งอนันตสมาคมตรงหน้าพระมหาเศวตฉัตร นั่งฟังเป็นประธานพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน

ฯพณฯ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม จึงกล่าวขึ้นในท่ามกลางประชุมว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรยังมีพระชนม์อยู่ ได้ทรงอนุญาตโปรดเกล้าฯ ว่า ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไป ให้พร้อมเพรียงปรึกษาหารือกันสุดแต่จะเห็นพร้อมยอมกัน จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าหลานเธอ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระสติปัญญาวัยวุฒิรอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวง ควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็สมมตยกพระองค์นั้นขึ้นเป็นเจ้าเถิด มิได้ทรงรังเกียจ ที่จะให้ราชสมบัติแก่พระเจ้าลูกยาเธอนั้นหามิได้ ตามแต่พระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดี บัดนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว แผ่นดินว่างอยู่ ท่านทั้งหลายทั้งปวงแต่บรรดาอยู่ในที่ประชุมนี้จะเห็นว่า เจ้านายท่านพระองค์ใดจะเป็นเจ้าเป็นที่พึ่งแก่พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีอาณาประชาราษฎร อาจดับยุคเข็ญได้ ก็ให้ว่าขึ้นในท่ามกลางประชุมนี้ อย่าได้หวั่นหวาดเกรงขาม

ขณะนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร ซึ่งมีพระชนม์กว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงรับสั่งขึ้นท่ามกลางประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระเดชพระคุณ ได้ทำนุบำรุงและชุบเลี้ยงมุขมนตรีใหญ่น้อยขึ้นเป็นอันมาก มีพระคุณเหลือล้น ไม่มีสิ่งไรจะทดแทนพระคุณนั้นได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณท่าน เมื่อเห็นว่า ยังทรงพระเยาว์อยู่ ก็ให้ช่วยกันทำนุบำรุงกว่าจะทรงพระเจริญขึ้น แล้วท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงซ้ำถามพระบรมวงศานุวงศ์และมุขมนตรีทั้งหลายว่า ท่านกรมหลวงเทเวศร์วัชรินทรตรัสดังนี้ ท่านทั้งปวงจะเห็นควรหรือไม่ควรประการใดก็ให้ว่าขึ้น แต่บรรดาข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนที่มาประชุม กราบเรียนด้วยวาจาก็มี ทำกิริยายินยอมพร้อมกันก็มี ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่าขึ้นอีกว่า แผ่นดินที่ล่วงแล้วแต่ก่อน ๆ มา มีพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ต้องมีอุปราชฝ่ายหน้า เป็นเยี่ยงอย่างมาทุก ๆ แผ่นดิน ก็ครั้งนี้ จะควรแก่ท่านผู้ใดที่จะเป็นอุปราชฝ่ายหน้า

กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทรจึงกล่าวขึ้นอีกว่า เห็นแต่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญควรจะรับราชการในที่อุปราชได้ ด้วยได้ศึกษาวิชาการทหารอย่างประเทศยุโรปชำนิชำนาญ และการช่างต่าง ๆ ก็ได้เรียนรู้ตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมาแต่ก่อน และจะได้คุ้มครองข้าไทยในกรมนั้นด้วย ขอให้ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯ เถิด

ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ซ้ำถามพระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีก็เห็นพร้อมกัน แล้วท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่าขึ้นว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชการแผ่นดิน ด้วยได้เคยทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึงสองแผ่นดินแล้ว ขอให้เป็นผู้สำเร็จราชการในพระคลังมหาสมบัติ และพระคลังต่าง ๆ และสถานราชกิจ และเป็นผู้อุปถัมภ์ในการพระเจ้าแผ่นดินด้วย การปรึกษาตกลงยินยอมพร้อมกันในที่ประชุมแล้ว กรมหมื่นบวรรังษีฯ และพระราชาคณะฐานานุกรมก็สวดถวายชัยมงคลขึ้นพร้อมกัน การประชุมก็สำเร็จในวันเดียวนั้น สองยามเศษ

รุ่งขึ้น เวลาเช้า ได้จัดการสรงน้ำพระบรมศพ พระบรมวงศานุวงศ์ และ ฯพณฯ สมุหพระกลาโหม จึงให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ไปรับเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ ในเวลานั้น พระอาการไข้เพิ่งจะคลายขึ้นใหม่ ๆ พระกำลังยังน้อย จะทรงพระดำเนินเข้าไป กลัวพระอาการจะกำเริบ จึงได้ทรงพระเสลี่ยงอย่างใหม่คล้ายพระเก้าอี้เสด็จเข้าไปในพระมหามณเฑียร ถวายสรงน้ำพระบรมศพแล้ว ก็ทรงมอบการไว้ให้พระบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ให้ทรงจัดการพระบรมศพและถวายพระมหาชฎาแทนพระองค์ รับสั่งเสร็จก็เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ถวายเครื่องพระบรมศพ เสร็จแล้วเชิญเข้าประดิษฐานในพระโกศทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอย แล้วตั้งกระบวนแห่ออกประตูสนามราชกิจไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตามอย่างราชประเพณีพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา

เรียบเรียงเรื่องราวในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็สิ้นข้อความแต่เพียงนี้.




  • พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
  • นายสนั่น บุณยศิริพันธุ์ เจ้าของ ผู้พิมพ์
  • ผู้โฆษณา ๒๔/๑/๙๐


เชิงอรรถ

เชิงอรรถของกรมศิลปากร

เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ

บรรณานุกรม

เอกสารต้นฉบับ
  • มหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล), เจ้าพระยา. (2490). จดหมายเหตุ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร ฉะบับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์. [บุตรและธิดาพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพมหาเสวกโท พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น วัชโรทัย) และคุณหญิงอุไทยธรรม (หลี วัชโรทัย) วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2490].
เอกสารอ้างอิง
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2548). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ISBN 9749528115.
  • ปรามินทร์ เครือทอง (บรรณาธิการ). (2547). จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 สวรรคต วันสุดท้ายของกษัตริย์นักปราชญ์. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743232036.

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก
  1. จำนวนพระราชโอรสและพระราชธิดาที่กล่าวนี้ผิดกับในพระราชพงศาวดาร ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และที่อื่น ๆ ในที่นั้น ๆ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสและพระราชธิดา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชาย ๔ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง ๑ พระองค์เจ้าชาย ๓๕ พระองค์เจ้าหญิง ๔๒ รวม ๘๒ พระองค์ ปรากฏพระนามโดยละเอียดในหนังสือเรื่อง "ราชสกุลวงศ์"