งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 8

จาก วิกิซอร์ซ
สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (ค.ศ. 1908) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 8 ภิกษุ

ภิกษุหมู่หนึ่ง บทที่ 8

บทที่ 8
ภิกษุ

สยามได้รับการเรียกขานว่า "ราชอาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์" ด้วยเหตุที่มีภิกษุจำนวนมากอยู่ทุกหนแห่ง และทุกรูปล้วนห่มผ้าเหลือง ชายทุกคนในสยามจะออกบวชไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต และจะดำรงชีพเป็นภิกษุเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งแตกต่างกันไปตั้งแต่ไม่กี่เดือนไปจนหลายปี หรือแม้กระทั่งไปจนชั่วชีวิต ช่วงวัยตามปรกติสำหรับการเข้าสู่วงการนักบวชนั้น คือ ราว 19 ปี และตามความเหมาะสมแล้ว ระยะเวลาสั้นที่สุดที่สามารถอยู่ในภิกษุภาวะได้ คือ 2 เดือน ผู้ประสงค์จะได้รับการยอมรับเข้าสู่ภิกษุภาวะจะไปยังวัด สวมเสื้อผ้าที่ดีที่สุดของตน และมีเหล่าญาติมิตรติดตามไปพร้อมนำของขวัญมาถวายนักบวช ของขวัญเหล่านี้รวมถึงข้าว ปลา ไม้ขีดไฟ ผลไม้ ยาสูบ หมาก นาฬิกาปลุก แจกันดอกไม้ ธูป และของน่าพิศวงอย่างอื่นอีกหลายสิบอย่าง สิ่งของเหล่านี้จะกระจายไว้รอบพื้นวัดจนอาคารศักดิ์สิทธิ์นั้นดูประหนึ่งจะกลายเป็นฉาก "การขายของเลหลัง" อันน่าดูชม

บางทีก็มีเด็กเข้าสู่การรับใช้พระศาสนาและได้ครองผ้าเหลือง มักปรากฏว่า เมื่อฌาปนกิจบิดามารดาคนใดคนหนึ่งของเด็กผู้ชายแล้ว เด็กชายผู้นั้นก็จะกลายเป็น "ภิกษุน้อย" เพราะเขาหวังว่า วิธีนี้จะช่วยสงเคราะห์บิดาในปรโลกที่ซึ่งคนผู้นั้นถูกเรียกตัวไปสู่ และก็เป็นธรรมดาเช่นกันที่ภิกษุแต่ละรูปจะมีข้ารับใช้หรือลูกศิษย์เป็นเด็กชายไว้คอยทำความสะอาดกุฏิหรือทำงานลักษณะต่ำต้อยอย่างอื่นให้แก่ตน ภิกษุไม่อาจครอบครองเงินทองได้ แต่ศิษย์เหล่านี้อาจรับเงินและใช้เงินเพื่อประโยชน์ของภิกษุผู้เป็นนายได้

เช้าตรู่ ระฆังใหญ่ในอารามจะปลุกภิกษุให้ตื่นและออกไปขออาหารเช้า ภิกษุจะนำชามเหล็กขนาดใหญ่[1] มาไว้ในมือ โดยถือไว้เบื้องหน้าตน จากนั้น จะเดินคอตกอย่างแช่มช้าไปตามมรรคาที่จัดช่องไว้ให้ ภิกษุไม่อาจเตร่เข้าไปในช่องทางของผู้อื่น แต่ต้องอยู่เฉพาะที่ของตน เมื่อภิกษุดั้นด้นเดินไป ผู้คนทั้งหลายจะออกมาจากบ้านเรือนและใส่อาหารลงในชามนั้น คนหนึ่งใส่ข้าวเต็มกำมือ อีกคนหนึ่งใส่แกงเต็มทัพพี คนอื่นบางคนอาจเพิ่มกล้วยสองสามใบ หรือปลาแห้งสักจำนวนหนึ่ง หรือมะพร้าวขูดบ้าง ภิกษุจะไม่ทั้งเหลียวซ้ายและแลขวา และจะไม่กล่าววาจาขอบคุณใด ๆ ต่อผู้บริจาคอาหาร พอภิกษุกลับถึงอาราม ก็คงจะไม่เกินไปถ้าจะบรรยายว่า ชามข้าวของท่านนั้นมักเต็มไปด้วยของเล็กของน้อยระคนปนเปกันอย่างพิสดารและไม่น่าพิสมัยยิ่งนัก ดูออกไปทาง "เละ" เสียมากกว่า และก็ไม่น่าประหลาดใจอันใดมากมายเมื่อเราได้รู้ว่า ภิกษุบางรูปที่ไม่ยึดถือระเบียบแห่งนิกายตนเคร่งครัดนักจะนำปลา เนื้อ ไก่ และปลาเฮร์ริงแดงตากแห้ง[2] ที่ผสมผเสเปปนกันทั้งหมดนี้มาโยนให้หมา ก่อนจะฉันอาหารเช้าที่เย้ายวนใจกว่านั้นมากซึ่งมีผู้ตระเตรียมไว้ให้แล้วในอาราม ในบางช่วงเวลาของปี แต่ละอารามจะมีภิกษุไม่กี่รูปเท่านั้นที่ออกไปหาอาหาร ส่วนรูปอื่น ๆ จะอยู่กับกุฎิที่วัด ถ้าภิกษุมีญาติโยมเยอะ ศิษย์ของภิกษุรูปนั้นมักจะรับอาหารที่ปรุงอย่างเลิศล้ำและชวนน้ำลายสอเอาไว้ให้ฉันเป็นมื้อเช้า[3]

ครั้นสิ้นมื้อเช้า เหล่าภราดรผ้าเหลืองจะเข้าไปในวัดเพื่อทำพิธีกรรม เสร็จแล้วจะมีงานสำหรับรูปใดที่ใฝ่ใจจะทำ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำอันใด นับเป็นภาวะการมีงานทำรูปแบบหนึ่งซึ่งเหมาะเหลือเกินกับชาวสยามทั่วไปยิ่งกว่าการลงแรงทำงาน เนื่องจากภิกษุนั้นมาจากทุกชั้นวรรณะในสังคม จึงจะปรากฏเสมอว่า มีบางรูปในหมู่ภิกษุที่สามารถซ่อมแซมอาคาร หรือช่วยสร้างเรือ หรือกระทั่งบางทีก็สอนที่โรงเรียนได้ด้วย

ยามเที่ยง มีการฉันอาหารอีกมื้อ ถัดนั้นแล้ว ไม่มีทั้งมื้อชาและมื้อเย็น ด้วยเหตุนั้น ภิกษุจึงไม่มีอะไรให้ฉันอีกจนกว่าจะถึงเช้าวันใหม่ ภิกษุระงับความหิวตามธรรมชาติของตนได้ด้วยการดื่มชา เคี้ยวหมาก และสูบยา

ครั้นจวนค่ำ เหล่านักบวชจะสรงน้ำ ไม่ว่าในแม่น้ำหรือในสระน้ำบางอย่างในเขตวัด ทันทีที่มืด ภิกษุต้องกักตนอยู่ภายในกำแพงอาราม ทุก ๆ ค่ำจะมีการสั่นระฆัง ณ เวลาราว 6 โมงครึ่งเพื่อแจ้งภิกษุว่า ถึงเวลา "กักขัง" แล้ว ระฆังซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในฐานะเป็นนาฬิกาประจำวัดนั้นจะแขวนไว้กับโครงร่างไม้ที่มักสร้างเป็น 3 ชั้น พูดกันให้ชัด จะว่ามีการสั่นระฆังก็ไม่ถูก เขาไม่สั่นระฆัง เขาตีระฆังด้วยไม้ท่อนหนา รอบ ๆ เขตอันร่มเย็นนี้ปรกติจะมีเด็กชายตัวน้อยกลุ่มหนึ่งเล่นอยู่ ซึ่งเมื่อถึงเวลาอันควรแล้ว จะยอมปีนป่ายบันไดไม้โคลงเคลงขึ้นไปแล้วเคาะระฆังด้วยดุ้นไม้

ช่วงกรกฎาคมถึงตุลาคมซึ่งมีฝนตกหนัก นักบวชจะประชุมกันในกาลค่ำแล้วพร่ำสวดภาวนา แสงเดียวในวัด ก็คือ แสงของเทียนที่สลัวหรือตะเกียงอันควันคลุ้ง และรัศมีที่พร่ามัวจะสาดส่องลงบนเหล่าผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่คุกเข่าอยู่เบื้องล่าง หรือไม่ก็สลายตัวไปในความมืดมิดของหลังคาสูงตระหง่านด้านบน ขณะที่เสียงภาวนาเป็นทำนองนุ่มนวลก็แผ่แพร่ไปในบรรยากาศยามค่ำ ฝ่ายกบในสระก็จะครวญเสียงทุ้มกันสนั่น จิ้งหรีดก็พลันเสริมเสียงแหลมระเบ็งเซ็งแซ่ ส่วนหิ่งห้อยก็คอยกระพริบอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้และไม้ตาล ต่างผสมโรงในพิธีกรรมยามค่ำกันถ้วนหน้า

กุฏิที่ภิกษุอยู่นั้นเป็นห้องเล็ก ทาสีขาวทั่ว แทบไม่มีเครื่องเรือนใด ๆ มีเพียงพรมไม่กี่ผืน บางทีก็โครงเตียง หรือหาไม่แล้ว ก็จะมีฟูกอยู่บนพื้น มีดอกไม้สักนิดสักหน่อย และมีรูปพระพุทธเจ้าผู้สถาปนาศาสนาของพระภิกษุเหล่านั้น ภิกษุจะเก็บกาชาหนึ่งใบกับถ้วยใบจิ๋วสองสามใบไว้ในตู้หลังเล็ก และยินดีอยู่เสมอที่จะจัดน้ำชาให้แขกมากเท่ากับที่ตนฉันได้ เป็นไปได้มากว่า ภิกษุจะมีกระดานหมากรุกพร้อมตัวหมากสักชุดอยู่ในครอบครอง เพราะชาวสยามส่วนใหญ่คลั่งไคล้การละเล่นโบราณนี้

บทภาวนาและบทสวดนั้นจะใช้หัวเข็มอันแข็งและละเอียด ทำจากงาช้างหรือเหล็ก จารลงบนใบตาลที่เป็นริ้วยาว[4] ริ้วใบตาลนี้จะใช้เชือกหรือแถบสักชิ้นยึดไว้ด้วยกันผ่านแนวรู เอกสารผูกนี้จะปิดทองไว้ตามขอบและเก็บรักษาอย่างระมัดระวังไว้ในหีบ "หนังสือ" เหล่านี้จะเขียนเป็นภาษาที่ผู้คนทั่วไปไม่เข้าใจ และอันที่จริง มีแต่ภิกษุที่อยู่รับใช้พระศาสนามานานพอจนได้เรียนภาษานี้แล้ว จึงจะรู้ว่า บทสวดที่ตนเพียรท่องนักหนานี้มีเนื้อหาว่าด้วยสิ่งใด

ในบรรดาข้าวของไม่กี่อย่างที่ภิกษุอาจครอบครองได้ตามกฎหมายนั้น มีพัดขนาดใหญ่ทำจากใบตาลใบกว้าง[5] เป็นที่คาดหมายว่า ภิกษุจะถือพัดนี้ไว้เบื้องหน้าตนในยามที่เดินไปรอบ ๆ เพื่อป้องกันสายตาของตนมิให้ยลสิ่งต่าง ๆ ของโลก แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่ในช่วงเวลาร้อนระอุของวัน ภิกษุจะถือพัดนี้ไว้บนศีรษะเพื่อจะกันตนจากรังสีอันร้อนแรงแห่งดวงตะวัน และคงยากที่ใครจะโทษท่านได้ เพราะท่านไม่ได้รับอนุญาตให้สวมหมวกชนิดใด ๆ อยู่แล้ว ทั้งต้องโกนเผ้าผมทุกอณูออกจากบนกบาลอีก

อารามแต่ละแห่งมีหัวหน้านักบวชหนึ่งรูป ซึ่งมีกิจเป็นการสอดส่องว่า พิธีกรรมของวัดจะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม และภิกษุจะประพฤติตนในลักษณะที่เหมาะที่ควร ถ้าภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภราดรสงฆ์กระทำสิ่งผิดใด ๆ และผู้มีอำนาจเหนือล่วงรู้เรื่องนั้นเข้า ก็แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาคือการลงโทษ สำหรับความผิดอันร้ายแรงยิ่ง ผู้มีความผิดจะถูกขับจากอาราม และส่งตัวให้ตำรวจ ชายผู้นั้นจะได้รับโทษหนักที่สุดตามที่กฎหมายอนุญาต แต่ถ้าความผิดนั้นเป็นแต่เรื่องเล็กน้อย เช่นนั้นแล้ว โทษก็จะเบา ส่วนผู้มีบาปนั้น บางทีจะถูกจัดให้ชักลากน้ำ กวาดลานวัด หรือกระทำหน้าที่ต่ำต้ออย่างอื่นบางประการซึ่งมักเป็นงานของคนรับใช้ตามปรกติ

"บาป" บางอย่างที่นักบวชไม่อาจกระทำได้นั้น ชวนให้เราฉงนสนเท่ห์นัก และที่จริง บาปเหล่านั้นหลาย ๆ อย่างก็กระทำกันเป็นกิจวัตรโดยปราศจากบทลงโทษใด ๆ ตามมา เป็นต้นว่า จะเป็นบาปถ้านอนสูงกว่าพื้นเกิน 12 นิ้ว ฟังเพลง กินมากเกิน นอนมากไป แกว่งแขวนขณะเดิน เผาไม้ ขยิบตา ปล่อยให้น้ำลายยืดหรือส่งเสียงดังในยามกิน ขี่ช้าง หรือผิวปาก

หมายเหตุ[แก้ไข]

  1. คือ บาตร
  2. เฮร์ริงเป็นปลาในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งไม่น่าใช่ปลาที่ชาวสยามยุคนั้นจะหาได้ตามปรกติ บางทีผู้เขียนอาจสื่อถึงปลาอย่างอื่นที่มีรูปลักษณ์คล้ายกัน (ดูปลาเฮร์ริงใน รูปที่ 1)
  3. สำนวน "break one's fast" แปลว่า กินเป็นมื้อเช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังอดอาหารมาทั้งคืน
  4. คือ ใบลาน
  5. คือ ตาลปัตร