ข้ามไปเนื้อหา

ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐/ข้อกำหนด

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ


ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย


พ.ศ. ๒๕๕๐





โดยที่ข้อ ๓๐๐ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นศาลรัฐธรรมนูญ จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓๐๐ วรรคห้า กำหนดวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยไว้ ดังต่อไปนี้



ข้อ ๑

ข้อกำหนดนี้เรียกว่า "ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐"


ข้อ ๒

ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


ข้อ ๓

ให้ยกเลิกข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๙


ข้อ ๔

ในข้อกำหนดนี้

"ศาล" หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี

"ตุลาการ" หมายความว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี

"ตุลาการประจำคดี" หมายความว่า ตุลาการซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าของสำนวนเป็นรายคดี

"คดี" หมายความว่า เรื่องที่เสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

"คำร้อง" หมายความว่า คำร้องที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัย

"คู่กรณี" หมายความว่า ผู้ร้องและผู้ถูกร้อง

"ผู้ร้อง" หมายความว่า ผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

"ผู้ถูกร้อง" หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องของผู้ร้อง

"ผู้เกี่ยวข้อง" หมายความว่า หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคดี

"กระบวนพิจารณา" หมายความว่า การพิจารณาคดีหรือการกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคดี ซึ่งกระทำโดยคู่กรณี หรือโดยศาล หรือตามคำสั่งศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกระทำต่อศาลหรือต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือศาลกระทำต่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย รวมถึงการส่งคำร้อง การไต่สวน การพิจารณาคดี และการลงมติ ตลอดจนการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

"การพิจารณาคดี" หมายความว่า การไต่สวน หรือการประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย

"การไต่สวน" หมายความว่า การตรวจพยานหลักฐาน การนั่งพิจารณา หรือการสืบพยาน


ข้อ ๕

ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญรักษาการตามข้อกำหนดนี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศโดยความเห็นชอบของศาลเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อกำหนดนี้



หมวด ๑


บททั่วไป





ข้อ ๖

วิธีพิจารณาตามที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ให้ใช้ระบบไต่สวน

วิธีพิจารณาใดซึ่งข้อกำหนดนี้มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อข้อกำหนดนี้


ข้อ ๗

ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนี้หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะ


ข้อ ๘

ศาลมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย

(๑) ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แก่บุคคลใดที่ศาลเรียกมาให้ถ้อยคำ ให้ความเห็น หรือเบิกความ

(๒) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเอกสารหรือการดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาล


ข้อ ๙

แบบพิมพ์ที่ใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล กำหนดให้ใช้เพื่อการใด มีรูปแบบ ขนาด และข้อความอย่างใด ให้เป็นไปตามท้ายข้อกำหนดนี้


ข้อ ๑๐

ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในคำร้องที่ขอให้วินิจฉัย

(๒) เป็นหรือเคยเป็นสามีหรือภริยา หรือญาติของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้น

(๓) เคยถูกอ้างเป็นพยานโดยที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ เว้นแต่เคยมีส่วนร่วมในวิธีพิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ หรือเคยแสดงความเห็นในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับคำร้องนั้น

(๔) เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน

(๕) เป็นกรรมการกฤษฎีกาหรืออนุญาโตตุลาการซึ่งพิจารณาคำร้องในเรื่องเดียวกันนั้นมาก่อน

(๖) มีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา ที่ตุลาการนั้นเอง สามีภริยา หรือญาติ สืบสาโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของตุลาการนั้น ฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่กรณี สามีภริยา หรือญาติสืบสาโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่ง


ข้อ ๑๑

เมื่อมีเหตุที่จะคัดค้านอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ๑๐ เกิดขึ้นแก่ตุลาการคนใด ตุลาการนั้นเองจะแถลงต่อศาลแสดงเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้าน แล้วขอถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีนั้นก็ได้


ข้อ ๑๒

เมื่อมีเหตุที่ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ตามข้อ ๑๐ คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาลได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาด

เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ตุลาการซึ่งถูกคัดค้านงดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ จนกว่าศาลจะได้มีการชี้ขาดในเรื่องที่คัดค้านนั้น

การกระทำใด ๆ ของตุลาการซึ่งถูกคัดค้านที่ได้ดำเนินไปก่อนมีเหตุที่อาจถูกคัดค้านนั้น ย่อมสมบูรณ์ไม่เสียไปเพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งยอมรับคำร้องคัดค้าน เว้นแต่ศาลจะกำหนดเป็นอย่างอื่น


ข้อ ๑๓

เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการคนใด และตุลาการซึ่งถูกคัดค้านไม่ขอถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีนั้น ให้ศาลพิจารณาคำร้องคัดค้านและบันทึกคำชี้แจงของตุลาการซึ่งถูกคัดค้าน โดยอาจฟังคำแถลงของคู่กรณีและตุลาการซึ่งถูกคัดค้าน รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นตามที่เห็นสมควร แล้วออกคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำร้องคัดค้านนั้น คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด

เมื่อศาลต้องพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ตุลาการซึ่งถูกคัดค้านจะร่วมพิจารณาหรือออกเสียงลงคะแนนชี้ขาดคำร้องคัดค้านมิได้

การชี้ขาดคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ถือตามคำร้องคัดค้าน


ข้อ ๑๔

ตุลาการจะขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีหรือการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่งคดีใดมิได้ เว้นแต่มีเหตุที่อาจถูกคัดค้านตามข้อ ๑๐ เหตุสุดวิสัย เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือเหตุอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร


ข้อ ๑๕

ในการพิจารณาคดี ให้ศาลมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี การให้บุคคลใดซึ่งฝ่าฝืนออกไปนอกสถานที่พิจารณา และให้กระทำการใด ๆ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว รวมทั้งออกระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ


ข้อ ๑๖

การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล ตลอดจนมารยาทของบุคคลเช่นว่านี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของศาล



หมวด ๒


อำนาจศาล





ข้อ ๑๗

ศาลมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีดังต่อไปนี้

(๑) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ

(๒) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ

(๓) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ตามมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญ

(๔) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านว่า มติของพรรคการเมืองที่ให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น มีลักษณะเป็นการขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๑๐๖ (๗) ของรัฐธรรมนูญ

(๕) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ตามมาตรา ๑๔๑ ของรัฐธรรมนูญ

(๖) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติใด ที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่า คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ตามมาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๔๙ ของรัฐธรรมนูญ

(๗) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๑๕๐ ของรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา ๑๕๑ ของรัฐธรรมนูญ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๕๔ ของรัฐธรรมนูญ

(๘) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๕๕ ของรัฐธรรมนูญ

(๙) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา ๑๖๘ วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญ

(๑๐) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา ๑๘๒ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๑) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนด ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๘๕ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๒) คดีที่ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๓) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร จะใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๑ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๔) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามคำร้องของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ตามมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๕) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กรณีมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ตามมาตรา ๒๑๔ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๖) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือกระทำการอันต้องห้าม ตามมาตรา ๒๓๓ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๗) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองที่ถือว่ากระทำการเพื่อให้ ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญ

(๑๘) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา ๒๔๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญ

(๑๙) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญ

(๒๐) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาล



หมวด ๓


การยื่น การถอน และการจำหน่ายคำร้อง





ข้อ ๑๘

คำร้องตามข้อ ๑๗ ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง

(๒) ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง

(๓) ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง

(๔) คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง

(๕) ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย

คำร้องที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามความในวรรคหนึ่ง ศาลหรือตุลาการประจำคดีอาจมีคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้ามิได้ปฏิบัติ ก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น การจัดทำ การยื่น และรายละเอียดของคำร้อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด


ข้อ ๑๙

ให้นำความในข้อ ๑๘ มาใช้บังคับแก่คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยอนุโลม


ข้อ ๒๐

การยื่นคำร้องต่อศาลตามข้อ ๑๗ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดนี้ และกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาล

การยื่นคำร้องตามข้อ ๑๗ (๕) ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบตามที่ศาลกำหนด

การยื่นคำร้องตามข้อ ๑๗ (๑๓) ให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหารที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดี ส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง หรือกรมพระธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย


ข้อ ๒๑

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๔๕ (๑) และมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญ


ข้อ ๒๒

การยื่นคำร้องของบุคคลตามข้อ ๒๑ นอกจากต้องดำเนินการตามข้อ ๑๘ แล้ว ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วด้วย


ข้อ ๒๓

คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาล ก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคำร้อง หรือศาลเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลอาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องนั้นก็ได้

กรณีที่ผู้ร้องไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำสั่งศาลหรือตุลาการประจำคดีภายในเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่า เป็นการทิ้งคำร้อง และศาลอาจพิจารณาสั่งจำหน่ายคำร้องนั้นก็ได้



หมวด ๔


องค์คณะและวิธีพิจารณา





ข้อ ๒๔

องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่าห้าคน

ตุลาการซึ่งไม่ได้ร่วมในการพิจารณาคดีใด ย่อมไม่มีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยคดีนั้น

คำวินิจฉัยของศาลให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ


ข้อ ๒๕

กรณีมีคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใด ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่าสามคนเป็นตุลาการประจำคดี เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑๗ (๕) และ (๙) หรือกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีก็ได้

ในกรณีที่ไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ศาลมอบหมายตุลาการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แต่งตั้งตุลาการประจำคดีแทน

ให้ตุลาการประจำคดีตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวน มีอำนาจพิจารณารับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๒๗ และออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดคดี คำสั่งของตุลาการประจำคดีให้ถือเสียงข้างมาก


ข้อ ๒๖

กรณีมีคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๑๗ (๕) หรือ (๙) หรือกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามที่ศาลเห็นสมควร และศาลไม่ได้แต่งตั้งตุลาการประจำคดีไว้ ให้ศาลตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง


ข้อ ๒๗

ให้ตุลาการประจำคดีตามข้อ ๒๕ มีอำนาจตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

กรณีตุลาการประจำคดีมีความเห็นควรสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้เสนอศาลพิจารณาภายในเจ็ดวันนับแต่วันมีความเห็น หากศาลเห็นพ้องด้วย ให้จัดทำเป็นคำสั่งของศาล

หากศาลไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของตุลาการประจำคดีตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตามความเห็นของศาล


ข้อ ๒๘

เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้คู่กรณีที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เห็นสมควร


ข้อ ๒๙

เมื่อศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี มีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป


ข้อ ๓๐

ผู้ร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง หรือผู้ถูกร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล และต้องเป็นสาระสำคัญอันควรแก่การแก้ไขเพิ่มเติมและเกี่ยวข้องกับเรื่องเดิม โดยให้ทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาล


ข้อ ๓๑

การส่งคำร้อง ประกาศ หรือเอกสารอื่นใด ให้ส่งแก่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้อง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้

ในกรณีไม่อาจดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ศาลหรือตุลาการประจำคดี แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้นำเอกสารดังกล่าวปิดไว้ ณ ที่ทำการศาลหรือสถานที่ตามวรรคหนึ่ง หรือให้ประกาศโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลหรือตุลาการประจำคดีเห็นสมควร และการปิดหรือการประกาศดังกล่าว ให้ถือว่า ได้มีการส่งเอกสารโดยชอบแล้วนับแต่วันปิดหรือประกาศ


ข้อ ๓๒

ในการพิจารณาคดีของศาล หากศาลเห็นว่า คดีใดมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้

การไต่สวนของศาล ให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอำนาจกำหนดบุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้

เมื่อศาลประกาศกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสำเนาประกาศแก่คู่กรณี ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัด ส่วนกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด ประกาศตามวรรคสาม ให้ปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาล


ข้อ ๓๓

คู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคลและหลักฐานอื่นเป็นพยานได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และมีสิทธิขอตรวจพยานหลักฐานและคัดสำเนาพยานหลักฐานของตนเองหรือของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ณ ที่ทำการศาลในเวลาทำการได้ตามที่ศาลกำหนด

การอ้างพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานพร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นในการอ้างพยานหลักฐานและวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว

คู่กรณีอาจยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

พยานหลักฐานใดที่คู่กรณีไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ คู่กรณีไม่อาจนำเข้าสู่การพิจารณาคดีได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


ข้อ ๓๔

เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ และให้แจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานตามข้อ ๓๓ วรรคสอง ต่อศาล พร้อมสำเนาจำนวนเพียงพอตามที่ศาลกำหนด และหากคู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต้องกระทำก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น

การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล โดยผู้ขอต้องแสดงเหตุอันสมควรว่า ไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


ข้อ ๓๕

ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานทั้งหมดยื่นต่อศาลเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสตรวจสอบพยานหลักฐานดังกล่าว หากฝ่ายใดไม่อาจยื่นพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลในวันนัดตรวจพยานหลักฐานได้ อันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในวันนัดตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาล หรือตุลาการประจำคดี หรือตุลาการคนใดคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย สอบถามคู่กรณีถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานที่อ้างอิง ตลอดจนการยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วจดบันทึกรายงานการพิจารณาคดีไว้ เมื่อเสร็จแล้ว ให้ศาลกำหนดวันนัดสืบพยาน และแจ้งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน


ข้อ ๓๖

การไต่สวนของศาล ให้คู่กรณีซักถามเฉพาะประเด็นที่ศาลกำหนด และให้มีการสืบพยานหลักฐานที่คู่กรณีไม่รับกัน

ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันไต่สวน ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป


ข้อ ๓๗

ในการไต่สวนของศาล หากศาลเห็นว่า คดีใดมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะงดการไต่สวนก็ได้


ข้อ ๓๘

การไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ศาลกำหนดและกระทำเท่าที่จำเป็น

การไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ให้ศาลสอบถามพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญเอง ก่อนทำการไต่สวน ให้ศาลแจ้งให้พยานทราบถึงประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะทำการไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเองหรือตอบคำถามของศาล

เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่กรณีซักถามพยานเพิ่มเติมตามประเด็นและข้อเท็จจริงที่ศาลกำหนดไว้ก็ได้ โดยให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามก่อน


ข้อ ๓๙

ศาลอาจอนุญาตให้สืบพยานที่อยู่นอกที่ทำการศาลตามที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอโดยระบบการประชุมทางวีดิทัศน์ได้ โดยให้ฝ่ายที่ร้องขอเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดให้มีระบบดังกล่าว และเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนี้ทั้งหมด

การสืบพยานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่า กระทำในห้องพิจารณาของศาล


ข้อ ๔๐

ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลที่ต้องมาเบิกความ เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล ตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือที่คู่กรณีฝ่ายที่ร้องขอกำหนดและศาลอนุญาต โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลและสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นทราบก่อนวันนัดสืบพยานบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

คู่กรณีที่ติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานบุคคลนั้นไม่น้อยกว่าสามวัน มิฉะนั้น ให้ถือว่า ไม่ติดใจคัดค้าน

ในวันนัดสืบพยาน ให้พยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า แล้วตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาลและคู่กรณีฝ่ายอื่นตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามความในวรรคสองและศาลอนุญาต หากพยานไม่มาศาล หรือมาศาล แต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ และศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นนั้นก็ได้

พยานบุคคลใดยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งต่อศาลแล้ว จะขอถอนบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นมิได้ และเมื่อพยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าแล้ว ให้ถือว่า บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยาน


ข้อ ๔๑

ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลใดเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนด แทนการมาเบิกความ โดยพยานไม่ต้องมาศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลก็ได้

ให้ศาลส่งสำเนาบันทึกคำพยานตามวรรคหนึ่งให้คู่กรณีทราบ หรือมีคำสั่งแจ้งให้คู่กรณีมารับสำเนาบันทึกคำพยานภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และหากคู่กรณีติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสามวันนับแต่วันได้รับสำเนาบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นนั้น มิฉะนั้น ให้ถือว่า ไม่ติดใจคัดค้าน

ศาลอาจนัดให้พยานมาศาลเพื่อตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาล หรือของคู่กรณีตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามความในวรรคสองและศาลอนุญาต ในกรณีเช่นนี้ ถ้าพยานบุคคลนั้นไม่มาศาล หรือมาศาล แต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานบุคคลนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบและศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานบุคคลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นนั้นก็ได้


ข้อ ๔๒

ระหว่างการไต่สวนของศาล ให้ศาลบันทึกรายงานการพิจารณาคดีรวมไว้ในสำนวน และจัดให้คู่กรณีลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

การบันทึกคำเบิกความของพยานในการไต่สวน ให้บันทึกการพิจารณาโดยใช้เครื่องบันทึกเสียง และเครื่องบันทึกภาพและเสียง หรือวิธีการอื่นตามที่ศาลกำหนด


ข้อ ๔๓

กรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดี ก็ให้กระทำได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของคู่กรณี ต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีด้วยวาจา ให้ผู้ร้องเป็นผู้แถลงก่อนและให้ผู้ถูกร้องแถลงในลำดับถัดไป

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีด้วยวาจาของแต่ละฝ่าย ศาลจะซักถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้แถลงในระหว่างการแถลงหรือภายหลังการแถลงก็ได้

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีด้วยวาจาตามวรรคสามและวรรคสี่ ให้นำความในข้อ ๔๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ข้อ ๔๔

ในการประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย คู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้องจะให้ข้อเท็จจริงหรือความเห็นแล้วแต่กรณีเป็นหนังสือก็ได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากศาล


ข้อ ๔๕

ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดนี้ ให้ตุลาการเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา


ข้อ ๔๖

ศาลอาจสั่งงดการสืบพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร


ข้อ ๔๗

ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือโดยคู่กรณีร้องขอ ศาลอาจสั่งให้มีการนำสืบพยานหลักฐาน ตรวจสอบบันทึก เอกสาร วัตถุ หรือสถานที่ ไม่ว่าจะกระทำในเวลาใด ภายในหรือภายนอกที่ทำการศาลก็ได้


ข้อ ๔๘

ศาลมีอำนาจในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานใด ๆ ที่ได้มา หรือมีอยู่ หรือที่คู่กรณีนำมาสืบนั้น เกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้ฟังเป็นยุติได้หรือไม่


ข้อ ๔๙

การพิจารณาคดีของศาล ให้กระทำด้วยความรวดเร็ว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ หรือเหตุอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก็ได้


ข้อ ๕๐

การพิจารณาวินิจฉัยของศาล ให้วินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนด โดยตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลกำหนดมิได้


ข้อ ๕๑

ให้ศาลเป็นผู้บันทึกรายงานการพิจารณาคดี


ข้อ ๕๒

ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำสั่ง ประกาศ หรือหนังสืออื่นใดของศาล



หมวด ๕


การทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง





ข้อ ๕๓

คำวินิจฉัยของศาลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมา หรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง

คำวินิจฉัยของศาลต้องลงลายมือชื่อของตุลาการที่วินิจฉัย ถ้าตุลาการคนใดมีเหตุจำเป็นไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้องค์คณะนั้นมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งที่เป็นองค์คณะจดแจ้งเหตุดังกล่าวแล้วกลัดรวมไว้กับคำวินิจฉัย


ข้อ ๕๔

ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยในส่วนของตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ เมื่อการลงมติเสร็จสิ้น ให้ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะจัดทำคำวินิจฉัยของศาล การทำคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคหนึ่ง องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคน ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ข้อ ๕๕

คำวินิจฉัยของศาลให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลอื่น และองค์กรอื่นของรัฐ

คำวินิจฉัยของศาล ให้มีผลในวันอ่าน

ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่มีคู่กรณี ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย แล้วแต่กรณี ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ให้ศาลบันทึกไว้ และให้ถือว่า คำวินิจฉัยนั้นได้อ่านโดยชอบแล้ว

ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้อง และให้ถือว่า วันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน

ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องตามข้อ ๑๗ (๑๑) ว่า ไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ หรือข้อ ๑๗ (๑๓) (๑๔) (๑๘) หรือ (๑๙) ว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดทำประกาศผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว

การแจ้งให้มาฟังและการอ่านคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคสาม และการแจ้งตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด


ข้อ ๕๖

คำสั่งจำหน่ายคำร้องตามข้อ ๒๓ และคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามข้อ ๒๗ วรรคสอง ต้องประกอบด้วยความเป็นมาโดยย่อของคำร้อง ความเห็นประกอบ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง

ให้นำความในข้อ ๕๔ วรรคสอง มาใช้บังคับในการทำคำสั่งโดยอนุโลม เมื่อจัดทำคำสั่งเสร็จแล้ว ให้แจ้งคู่กรณีทราบ พร้อมปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาลไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน


ข้อ ๕๗

ในกรณีที่คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง เมื่อศาลเห็นเอง หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอและศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกต้องก็ได้

การทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้ผลในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเดิม เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว ให้แจ้งผู้ร้องหรือคู่กรณี แล้วแต่กรณีได้รับทราบ และให้นำความข้อ ๕๔ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการทำคำสั่งตามข้อนี้ ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด



บทเฉพาะกาล





ข้อ ๕๘

บรรดาคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๕ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ศาลดำเนินการต่อไป

ข้อกำหนดนี้ไม่ใช้บังคับแก่คดีที่ได้ยื่นคำร้องไว้ก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ และให้ใช้ข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นคำร้องนั้นบังคับต่อไป เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดเป็นอย่างอื่น




ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


วิรัช ลิ้มวิชัย
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๙๖ ก/หน้า ๑๔/๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๐