คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๙๙-๓๗๓๙/๒๕๔๑

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๓๖๙๙-๓๗๓๙/๒๕๔๑

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายพิสุทธิ์ เลิศดูพินิจ หรือสมณะพิสุทโธ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายวันชัย แซ่ตัน หรือพฤกษะศรี หรือสมณะอรณชีโว จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายชาตรี สุขวราห์ หรือสมณะพุทธชาโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายสุวรรณ พรหมจรรยา หรือสมณะพรหมจริโย จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายเดชา แก้วประชา หรือสมณะเตชพหุชโน จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายบรรจง จูงกลาง หรือสมณะปณีโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายสมลักษณ์ ล้อศรีเมือง หรือสมณะลักขโณ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายเกน ทองจันทร์ หรือสมณะทิฏฐชุกัมโม จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายวิศัลย์ ไชยสาร หรือสมณะชยสาโร จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายศรัณย์ แซ่อึ้ง หรือสมณะสมณีโย จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายสุรพล โตตาบ หรือสมณะเสฏฐพโล จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายประพจน์ วิริยะพาณ หรือสมณะวิริยพาโณ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายมาณพ เตชศรีสุทธิ หรือสมณะสิริเตโช ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายชาญชัย ชูพงษ์ หรือสมณะนมวังโส ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายสมจิตร์ พันธ์เพ็ง หรือสมณะสมชาติโก ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายธวัชชัย วงศ์แย้ม หรือสมณะหสิโต ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายประจิตต์ ตั้งเจริญเวช หรือสมณะเมตตจิตโต ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายบุญรัตน์ เดโชชัย หรือสมณะรตนปุญโญ ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายพาณิชย์ ตองติดรัมย์ หรือสมณะตถภาโว ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายณรงค์ สุวรรณรัตน์ หรือสมณะนรวีโร ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายชาตรี สิทธิพันธ์ หรือสมณะชาตวโร จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายสบสันต์ แสงคำคม หรือสมณะจิตตสันโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายวันชัย คงวัฒนกุล หรือสมณะสีลวัณโณ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายโสภณ นฤมล หรือสมณะสุขฌาโณ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายพันธุ์ บุญปลูก หรือสมณะพหุลีกโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายกอบชัย เวชพานิช หรือสมณะธัมมาวุทโธ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายเลิศชัย มนะตระกูล หรือสมณะอัคคชโย จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายไกรพนา พลชา หรือสมณะมุทุกันโต ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายผิว พาลี หรือสมณะพาลสุริโย ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายณรงค์ เฟื่องจันทร์ หรือสมณะชินธโร จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายเสงี่ยม จันทศร หรือสมณะโสรัจโจ จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายฟ้อย ทับลอย หรือสมณะปาตุภูโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายณรงค์ จันทร์เศรษฐี หรือสมณะจันทเสฏโฐ ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายพงษ์พันธ์ ขจัดสรรพโรค หรือสมณะพลานีโก ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายจำเนียร กาญธนะบัตร หรือสมณะพลานิโก ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายวินัย หนองบัวล่าง หรือสมณะวินยธโร จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายวิชัย ปลอดตะคุ หรือสมณะสมาหิโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง

นายอ้วน ม่วงมนตรี หรือสมณะอภิมันโต จำเลย


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายภูเบศร์ เกตุมาลา หรือสมณะเกตุมาลโก ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
นายจันทร์ พรหมจันทร์ หรือสมณะจันทโส ที่ ๑ จำเลย
นายรักษ์ รักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ที่ ๒


เรื่อง   ความผิดเกี่ยวกับศาสนา



จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓, ที่ ๖ ถึงที่ ๙, ที่ ๑๑, ที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๘, ที่ ๒๐, ที่ ๒๔ ถึงที่ ๒๗, ที่ ๒๙, ที่ ๓๑, ที่ ๔๕, ที่ ๔๗ ถึงที่ ๕๒, ที่ ๕๔, ที่ ๕๕, ที่ ๖๔ ถึงที่ ๖๖, ที่ ๖๘, ที่ ๗๐ ถึงที่ ๗๔, ที่ ๗๗, ที่ ๗๙ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๓ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ ศาลฎีการับวันที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑

คดีทั้งสี่สิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่น รวมเจ็ดสิบเก้าสำนวน เพื่อความสะดวก ศาลชั้นต้นให้เรียกจำเลยในลำดับแรกของแต่ละสำนวนตั้งแต่คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๔/๒๕๓๓ ถึง ๑๓๒/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ ตามลำดับ และเรียกรายรักษ์ หรือรัก รักพงษ์ หรือรักษ์พงษ์ หรือสมณะโพธิรักษ์ ว่า จำเลยที่ ๘๐ แต่คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๔-๕๖, ๕๙-๖๒, ๖๔, ๖๖-๗๑, ๗๓, ๗๗-๘๐, ๘๒, ๘๔, ๙๘, ๑๐๐-๑๐๕, ๑๐๗, ๑๐๘, ๑๑๗-๑๑๙, ๑๒๑, ๑๒๓-๑๒๗, ๑๓๐, ๑๓๒/๒๕๓๓ ของศาลชั้นต้น

โจทก์ฟ้องทั้งเจ็ดสิบเก้าสำนวน รวมใจความว่า ระหว่างวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งแปดสิบได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันโดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗๙ ไม่ใช่สามเณรและภิกษุในศาสนาพุทธ ได้บังอาจแต่งกายใช้เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหมายแสดงว่าเป็นสามเณรและภิกษุในศาสนาพุทธ อาทิ การใช้บาตรออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นสามเณรและภิกษุในศาสนาพุทธ และจำเลยที่ ๘๐ ได้ช่วยเหลือให้ความสะดวกโดยเป็นผู้ทำพิธีบวชให้แก่จำเลยที่ ๑๗ ถึง ๓๑, ๔๒ ถึง ๔๔, ๕๔ ถึง ๕๖, ๕๙, ๖๑, ๖๒, ๖๘ ถึง ๗๑, ๗๕ ถึง ๗๙ และเป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายกับอัฐบริขาร เช่น สบง จีวร สังฆาฏิ และบาตร เพื่อให้จำเลยดังกล่าวสวมใส่และใช้บาตรออกบิณฑบาตโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุหรือสามเณรในศาสนาพุทธ เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม, ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์, ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เกี่ยวพันกัน เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗๙ ได้พร้อมเครื่องนุ่มห่มจำนวนเจ็ดสิบเก้าชุดและบาตรจำนวนเจ็ดสิบเก้าใบเป็นของกลาง จำเลยที่ ๘๐ เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๘๖๐/๒๕๓๒ ของศาลชั้นต้น อัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยทุกสำนวนต่อศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ และจำเลยที่ ๘๐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘, ๘๖, ๙๑ ริบของกลาง และนับโทษของจำเลยที่ ๘๐ ติดต่อกันรวมสามสิบสามสำนวน และโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๘๖๐/๒๕๓๒ ของศาลชั้นต้น

จำเลยทุกสำนวนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ ให้จำคุกคนละสามเดือน จำเลยที่ ๘๐ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำเลยที่ ๘๐ ทำการบวชและสมาทานศีลให้จำเลยอื่นรวมสามสิบสามคน เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ลงโทษทุกกรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละสองเดือน รวมสามสิบสามกระทง จำคุกหกสิบหกเดือน จำเลยทั้งแปดสิบไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้กรอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละสองปี กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยทั้งแปดสิบโดยให้ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก และให้พนักงานคุมประพฤติสอดส่องให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓๒ ถึง ๔๔, ๕๗ ถึง ๖๓ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๘๐ ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๔๒ ถึง ๔๔, ๕๙, ๖๑, ๖๒ คงจำคุกจำเลยที่ ๘๐ ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๑๗ ถึง ๓๑, ๕๔ ถึง ๕๖, ๖๘ ถึง ๗๑, ๗๕ ถึง ๗๙ กระทงละสองเดือน รวมยี่สิบเจ็ดกระทง รวมจำคุกห้าสิบสี่เดือน จำเลยที่ ๘๐ ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ และให้ยกคำขอริบของกลางของจำเลยที่ ๓๒ ถึง ๔๔ และ ๕๗ ถึง ๖๒ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓, ที่ ๖ ถึงที่ ๙, ที่ ๑๑, ที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๘, ที่ ๒๐, ที่ ๒๔ ถึงที่ ๒๗, ที่ ๒๙, ที่ ๓๑, ที่ ๔๕, ที่ ๔๗ ถึงที่ ๕๒, ที่ ๕๔, ที่ ๕๕, ที่ ๖๔ ถึงที่ ๖๖, ที่ ๖๘, ที่ ๗๐ ถึงที่ ๗๔, ที่ ๗๗, ที่ ๗๙ ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า นักบวชในศาสนาพุทธมีสี่ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีการบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรีแล้ว เนื่องจากมีประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ห้ามไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑[1] ภิกษุสามเณรในประเทศไทยมีสองนิกาย คือ ธรรมยุตนิกาย และมหานิกาย อยู่ในความปกครองของมหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นอกจากนี้ ยังมีคณะสงฆ์อื่น คือ คณะสงฆ์จีนนิกายและคณะสงฆ์อนัมนิกายอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระสังฆราชตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐) การบวชภิกษุสามเณรในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) กล่าวคือ ต้องได้รับการบวชจากพระอุปัชฌาย์ที่บวชมาแล้วมากกว่าสิบพรรษาและได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคม จำเลยที่ ๘๐ บวชเป็นภิกษุเมื่อปี ๒๕๑๓ ที่วัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในฝ่ายธรรมยุตนิกาย แต่จำเลยที่ ๘๐ ไม่ประพฤติตามโอวาทของพระอุปัชฌาย์ ในปี ๒๕๑๖ พระอุปัชฌาย์ได้ขอหนังสือสุทธิมาบันทึกว่า ไม่รับปกครอง จำเลยที่ ๘๐ จึงได้เข้าสังกัดในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่วัดหนองกระทุ่ม ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และได้แยกไปปฏิบัติธรรมตามแนวของตนที่แดนอโศก โดยมีภิกษุอีกหลายรูปร่วมปฏิบัติธรรมด้วย ต่อมา วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๘๐ และคณะได้ประกาศลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม แล้วไปพำนักอยู่ที่สำนักสันติอโศก แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่มีฐานะเป็นวัดตามกฎหมาย หลังจากนั้น จำเลยที่ ๘๐ ซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคม ได้ทำการบวชให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗๙ ตามกฎระเบียบของชาวอโศก และเป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๗๙ ที่จำเลยที่ ๘๐ บวชให้นั้น ขั้นตอนการบวชของชาวอโศก หากเป็นชาย ต้องเข้าปฏิบัติธรรมที่สำนักสันติอโศก โดยเริ่มจากชั้นปะ ต่อมาเป็นนาค จากนั้นบวชเป็นสามเณรและภิกษุ และมีการแต่งกายเช่นเดียวกับภิกษุสามเณรของคณะสงฆ์ไทย ส่วนผู้หญิงเริ่มจากชั้นปะ ต่อมาเป็นกรัก จากนั้น บวชเป็นสิกขมาต แต่งกายด้วยเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสีกรักคลุมทับ ดังนั้น การทำพิธีบวชภิกษุสามเณรของจำเลยที่ ๘๐ จึงเป็นการบวชที่ไม่ชอบ การบวชเป็นภิกษุในปัจจุบันเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา เป็นการบวชโดยคณะสงฆ์ องค์ประกอบที่ทำให้การบวชสมบูรณ์ต้องมีสมบัติสี่ประการครบถ้วน คือ ๑. วัตถุสมบัติ คือ ตัวผู้ขอบวชเป็นภิกษุต้องเป็นชาย ไม่เป็นกะเทย อายุยี่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ๒. สีมาสมบัติ คือ เขตทำสังฆกรรมต้องถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ๓. ปริสสมบัติ คือ ต้องมีองค์ประชุมที่ถูกต้อง เช่น การบวชต้องกระทำในหมู่สงฆ์ตั้งแต่ห้ารูปหรือสิบรูปขึ้นไปแล้วแต่กรณี ๔. กรรมวาจาสมบัติ คือ ญัตติข้อเสนอในการขอบวชเพื่อขอความเห็นชอบจากองค์ประชุมว่าเห็นชอบหรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ ๘๐ ประพฤติผิดพระธรรมวินัยหลายประการ จึงได้มีการนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๕ มหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นสามคณะ คือ คณะทำงานด้านธรรมวินัย คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านมวลชน เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง คณะทำงานด้านพระธรรมวินัยมีความเห็นว่า จำเลยที่ ๘๐ ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ส่วนคณะทำงานด้านกฎหมายมีความเห็นว่า จำเลยที่ ๘๐ ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะการกสงฆ์เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อมหาเถรสมาคม คณะการกสงฆ์ได้ประชุมกันโดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี[2] เป็นประธาน คณะการกสงฆ์ได้มีมติสี่ประการ ประการแรก มีมติขอให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยดำเนินการให้จำเลยที่ ๘๐ สละสมณเพศ ประการที่สอง มีมติเกี่ยวกับบริวารของจำเลยที่ ๘๐ ซึ่งเข้าบวชโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าต้องการจะบวชให้ถูกต้องก็ให้มารายงานตัวต่อสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดผู้เป็นการกสงฆ์ขึ้นไป ประการที่สาม ให้ประกาศนียกรรมแก่พุทธบริษัทให้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน ประการที่สี่ ให้กรมการศาสนาแจ้งแก่ภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักรให้ทราบข้อเท็จจริงและมิให้คบหาสมาคมจำเลยที่ ๘๐ และบริวาร มติของการกสงฆ์ดังกล่าว มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบ แต่สำหรับมติประการแรกได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ ต่อมา สมเด็จพระสังฆราช[3] ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๘๐ สละสมณเพศภายในเจ็ดวัน ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนาได้นำคำสั่งไปให้จำเลยที่ ๘๐ ทราบที่สำนักสันติอโศก จำเลยที่ ๘๐ ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำสั่ง นายเสนาะจึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ในขณะนั้น จำเลยที่ ๘๐ และบริวารได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นสวมเสื้อแขนกระบอกสีกรัก มีจีวรคลุมทับ ซึ่งคล้ายกับเครื่องแต่งกายของพระในศาสนาพุทธ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. ๔ ต่อมา เมื่อครบกำหนดเจ็ดวัน จำเลยที่ ๘๐ ยังไม่ได้สละสมณเพศ นอกจากนี้ ยังปฏิบัติกิจวัตรอย่างภิกษุ เช่น บิณฑบาต การแสดงธรรม นายเสนาะจึงไปร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ปรากฏตามบันทึกคำร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ. ๖ หลังจากรับคำร้องทุกข์แล้ว กรมตำรวจได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวน มีพลตำรวจตรี วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้มีหนังสือขอความเห็นชอบไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำการจับกุมจำเลยที่ ๘๐ นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ได้ให้ความเห็นชอบในการจับกุม วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ พลตำรวจตรี วิโรจน์ได้ไปที่สันติอโศกและนำจำเลยทั้งแปดสิบและสาวกอื่นของจำเลยที่ ๘๐ ไปสอบสวนที่โรงเรียนพลตำรวจนครบาลบางเขนรวมหนึ่งร้อยห้าคน ในจำนวนนี้ ยี่สิบหกรูปบวชโดยถูกต้อง ส่วนที่เหลือ คือ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗๙ บวชโดยไม่ถูกต้อง พนักงานสอบสวนจึงคุมตัวไว้พร้อมทั้งแจ้งข้อหาว่า แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณรในศาสนาพุทธโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นบุคคลเช่นนั้น ส่วนจำเลยที่ ๘๐ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า ก่อให้ผู้อื่นแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณรในพุทธศาสนาโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น จำเลยทั้งแปดสิบให้การปฏิเสธ ปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ. ๓๙ และ จ. ๔๐ ส่วนเครื่องแต่งกายของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗๙ พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางปรากฏตามบันทึกการยึดของกลาง เอกสาร หมาย จ. ๔๑ โดยเครื่องแต่งกายแบ่งเป็นของเพศชายและเพศหญิง เครื่องแต่งกายเพศชายปรากฏตามวัตถุพยานหมาย วจ. ๑ ส่วนเครื่องแต่งกายเพศหญิงปรากฏตามวัตถุพยานหมาย วจ. ๒ จากการสอบสวนพบว่า จำเลยที่บวชเป็นภิกษุและสามเณรชาวอโศกจะมีหนังสือสุทธิประจำตัวซึ่งมีรูปของจำเลยแต่ละคนในเครื่องแต่งกายของภิกษุ วันเวลาที่บวช โดยมีจำเลยที่ ๘๐ เป็นผู้บวชให้ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. ๔๕ ส่วนจำเลยที่บวชเป็นสิกขมาตจะมีการลงทะเบียนไว้ในทะเบียนนักบวชชาวอโศก พนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วสั่งฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘๐ โดยในส่วนของจำเลยที่ ๘๐ โจทก์ฟ้องว่า เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ กระทำความผิด

จำเลยทั้งแปดสิบนำสืบว่า เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ จำเลยที่ ๘๐ ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกายที่วัดอโศการาม ต่อมา ในปี ๒๕๑๖ ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกายที่วัดหนองกระทุ่ม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยมีพระครูสถิต วุฒิกุล เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปปฏิบัติธรรมที่แดนอโศก โดยมีภิกษุทั้งฝ่ายธรรมยุตนิกายและมหานิกายรวมทั้งฆราวาสมาร่วมปฏิบัติธรรม เนื่องจากการปฏิบัติธรรมที่เคร่งครัดกว่า จึงถูกกลั่นแกล้งจากพระภิกษุสงฆ์อื่น นอกจากนี้ การปฏิบัติตามธรรมวินัยก็แตกต่างกัน ไม่อาจร่วมทำสังฆกรรมกันได้ อันเป็นนานาสังวาสกับพระภิกษุสงฆ์อื่น ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๘๐ และภิกษุในกลุ่มของจำเลยที่ ๘๐ รวมยี่สิบเอ็ดรูป และสามเณรสองรูป ได้ประกาศท่ามกลางการประชุมสงฆ์ที่วัดหนองกระทุ่มขอลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมเป็นคณะสงฆ์ชาวอโศก หลังจากแยกมาแล้ว จำเลยที่ ๘๐ และคณะได้ไปตั้งพุทธสถานหรืออาศรมสันติอโศก ที่แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร, พุทธสถานศรีสะอโศก ที่ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ, พุทธสถานศาลีอโศก ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์, พุทธสถานปฐมอโศก ที่ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พุทธสถานดังกล่าวมีโบสถ์ ศาลา กุฏิเหมือนวัดทั่วไป แต่เน้นความสมถะเรียบง่าย จำเลยที่ ๘๐ และคณะสงฆ์ชาวอโศกได้ทำพิธีบวชให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึง ๗๙ ผู้ที่จะบวชตามกฎระเบียบของชาวอโศกในตอนแรกจะเรียก อาคันตุกะ ถือศีลแปด เมื่อมีความแน่ใจในปฏิปทาของชาวอโศกและประสงค์จะเปลี่ยนฐานะจากนักบวชเดิม นักบวชชายจะได้เลื่อนเป็นอารามิก, ปะ, นาค, สามเณร และมีสิทธิขอบวชเป็นภิกษุได้ ส่วนนักบวชหญิงจะเลื่อนจากอาคันตุกะเป็นอารามิกา, ปะ, กรัก และสิกขมาตตามลำดับ สำหรับการบวชในศาสนาพุทธ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียวบวชให้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมา พระพุทธเจ้าให้พระรูปอื่นบวชให้เรียกว่า ไตรสรณคมนอุปสัมปทา ภายหลัง พระพุทธเจ้าทรงยกเลิกการบวชทั้งสองวิธี ให้ใช้การบวชวิธีที่สามแทน เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา การบวชวิธีนี้คณะสงฆ์เป็นผู้อนุมัติการบวช พระอุปัชฌาย์ไม่สามารถบวชผู้ใดให้เป็นภิกษุได้ องค์ประกอบที่ทำให้การบวชสมบูรณ์จะต้องมีสมบัติครบสี่ประการ คือ ๑. วัตถุสมบัติ คือ ตัวผู้บวชต้องมีอายุยี่สิบปี ไม่เป็นกะเทย ๒. สีมาสมบัติ คือ เขตุอุโบสถที่ทำการบวชถูกต้องตามพระธรรมวินัย ๓. ปริสสมบัติ คือ คณะสงฆ์ที่ทำการสังฆกรรมอย่างน้อยต้องมีสิบรูป ไม่เป็นนานาสังวาส ๔. วาจาสมบัติ คือ ข้อเสนอในการขอบวชเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ว่าจะให้บวชหรือไม่ การบวชของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๑, ที่ ๔๕ ถึง ๕๖ และ ๖๔ ถึงที่ ๗๙ บวชโดยวิธีที่ ๓ มีคณะสงฆ์ชาวอโศกเป็นผู้อนุมัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย จึงเป็นภิกษุในพุทธศาสนา มีสิทธิแต่งกายและใช้บาตรออกบิณฑบาตเช่นเดียวกับภิกษุสามเณรคณะสงฆ์ไทย จำเลยที่ ๘๐ ได้ออกหนังสือสุทธิให้แก่ภิกษุสามเณรชาวอโศกทุกคน ปรากฏตามหนังสือสุทธิ เอกสารหมาย จ. ๔๕ สำหรับจำเลยที่ ๓๒ ถึงที่ ๔๔, ที่ ๕๗ ถึงที่ ๖๓ ที่บวชเป็นสิกขมาตนั้น ไม่ใช่ภิกษุหรือภิกษุณีในศาสนาพุทธ ไม่มีหนังสือสุทธิ แต่มีหนังสือรับรอง มีวัตรปฏิบัติและแต่งกายคล้ายชีขาว แต่ใส่เสื้อแขนกระบอกและผ้าถุงสีน้ำตาล ผ้าคลุมกายสีกรัก ไม่มีจีวร สังฆาฏิ อังสะเหมือนภิกษุ จำเลยที่ ๘๐ เป็นผู้มอบเครื่องอัฐบริขารให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗๙ หลังจากประกาศลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะอำเภอได้อนุมัติแล้ว คณะสงฆ์ชาวอโศกได้เดินทางออกเผยแพร่ธรรมะ แต่ไม่ได้รับสิทธิลดค่าโดยสารรถไฟ เนื่องจากคณะสงฆ์ชาวอโศกไม่ได้อยู่ในความปกครองของมหาเถรสมาคมแล้ว ต่อมา ทางมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะการกสงฆ์ทำการตรวจสอบ โดยมีพระจากฝ่ายธรรมยุตนิกายและฝ่ายมหานิกายเป็นกรรมการ จึงเป็นนานาสังวาส ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นโมฆะตามพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๕ เอกสารหมาย ป.ล. ๒๑ ของศาลแขวงดุสิต ต่อมา วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๒ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มาขอให้จำเลยที่ ๘๐ และคณะสงฆ์ชาวอโศกเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้แตกต่างจากพระสงฆ์ไทย จำเลยที่ ๘๐ และคณะสงฆ์ชาวอโศกจำต้องยอมเปลี่ยนเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีกรัก มีผ้านุ่งเหมือนสบงสีกรัก มีผ้าห่มคลุมสีกรัก และเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น สมณะ ทั้งนี้ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ นายเสนาะ พ่วงพิญโญ ได้นำคำสั่งของมหาเถรสมาคมที่ให้จำเลยที่ ๘๐ สละสมณเพศภายในเจ็ดวัน มาให้ทราบ แต่จำเลยที่ ๘๐ ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบ ต่อมา นายชัยภักดิ์ได้พาจำเลยที่ ๘๐ ไปทำบัตรประจำตัวประชาชน วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๒ นายเสนาะได้มาพบและถามจำเลยที่ ๘๐ ว่า สละสมณเพศหรือยัง จำเลยที่ ๘๐ ไม่ตอบ เพราะเห็นว่า มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ ๘๐ สึก นายเสนาะจึงไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งแปดสิบเป็นคดีนี้

พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ประกาศใช้แล้ว และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ต้องส่งสำนวนให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเหล่านี้ก่อน เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนาต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๗ และไม่เป็นไปตามมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับดังกล่าว จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ ศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นไปเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ คดีนี้ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคแรก ฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๒ ปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จากหลักฐานหนังสือสุทธิ เอกสารหมาย จ. ๔๕ แสดงว่า ก่อนจำเลยที่ ๘๐ จะมีพรรษาครบสิบพรรษา จำเลยที่ ๘๐ ได้ทำหน้าที่ดังเช่นอุปัชฌาย์บวชให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘, ที่ ๔๕ ถึงที่ ๔๙, ที่ ๖๔ ถึง ๖๕, ที่ ๗๒ และที่ ๗๓ หลังจากนั้น จำเลยที่ ๘๐ ได้บวชให้แก่จำเลยอื่นอีก โดยทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นพระผู้ใหญ่ในการบวช รวมทั้งเป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยที่บวช โดยจำเลยที่ ๘๐ ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคม จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๑, ที่ ๔๕ ถึงที่ ๕๖,ที่ ๖๔ ถึงที่ ๗๙ ได้แต่งกายอย่างคณะสงฆ์ไทย ใช้บาตรออกบิณฑบาตจากบุคคลทั่วไป และอ้างว่า เป็นภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๒๓ ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งปกครองสงฆ์ ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) เอกสารหมาย จ. ๒ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ข้อ ๔ บัญญัติว่า "ในกฎหมายเถรสมาคมนี้ 'พระอุปัชฌาย์' หมายความว่า พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นประธานและรับผิดชอบในการให้บรรพชาอุปสมบทตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้" ข้อ ๑๒ บัญญัติว่า "พระอุปัชฌาย์มีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้เฉพาะตนและเฉพาะภายในเขตตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ แห่งกฎหมายมหาเถรสมาคมนี้" เมื่อจำเลยที่ ๘๐ ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าว การบวชของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓, ที่ ๖ ถึงที่ ๙, ที่ ๑๑, ที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๘, ที่ ๒๐, ที่ ๒๔ ถึงที่ ๒๗, ที่ ๒๙, ที่ ๓๑, ที่ ๔๕, ที่ ๔๗ ถึงที่ ๕๒, ที่ ๕๘, ที่ ๕๔, ที่ ๕๕, ที่ ๖๔ ถึงที่ ๖๖, ที่ ๖๘, ที่ ๗๐ ถึงที่ ๗๔, ที่ ๗๗, ที่ ๗๙ จึงเป็นการบวชที่ไม่ชอบตามกฎมหาเถรสมาคมและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำเลยดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ ๘๐ เป็นผู้บวชให้จำเลยดังกล่าว และทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นผู้มอบเครื่องแต่งกายและอัฐบริขารให้แก่จำเลยอื่น จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยอื่นในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ จึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นเดียวกัน ที่จำเลยฎีกาว่า กฎมหาเถรสมาคมออกมาเสริมเพิ่มเติมพระธรรมวินัยและนำมาใช้เหนือกว่าพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติว่า การบวชต้องพร้อมด้วยสมบัติสี่เท่านั้น ซึ่งสมบัติสี่ดังกล่าวนั้น พระอุปัชฌาย์ไม่จำต้องเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมกำหนดเหนือไปกว่าพระพุทธบัญญัติ เป็นการผิดไปจากพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และการบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมเท่ากับละเมิดเสรีภาพการนับถือศาสนาของจำเลยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ เห็นว่า พระธรรมวินัยมีถ้อยคำและความหมายอย่างไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อต้องห้ามฎีกาปัญหานี้เสียแล้ว จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า กฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวออกมาเพื่อประดิษฐานพระธรรมวินัยให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและจำนวนพุทธศาสนิกชนที่เพิ่มขึ้น มิได้ขัดต่อพระธรรมวินัย และเมื่อกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๒๓ จึงใช้บังคับได้ จำเลยทุกคนจำเป็นต้องอนุวัตปฏิบัติตาม จะโต้เถียงว่าขัดหรือแย้งกับพระธรรมวินัย จึงไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๘ นั้นจะบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา มีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ แต่ก็ได้บัญญัติแสดงความมุ่งหมายไว้ด้วยว่า การใช้เสรีภาพดังกล่าวจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ป้องกันมิให้บุคคลผู้มีเจตนาไม่สุจริตอาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนาหาประโยชน์ใส่ตน อันเป็นต้นเหตุให้เสื่อมศรัทธาแก่ผู้ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว และไม่ก่อเกิดศรัทธาแก่ผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน จำเลยทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ต้องตามเจตนารมณ์ ส่วนที่จำเลยที่ ๘๐ ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ ๘๐ มิได้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เนื่องจากจำเลยที่ ๘๐ ได้ลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมเป็นเวลานานถึงสิบสี่ปีแล้ว ไม่เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ ขึ้น จำเลยที่ ๘๐ กับพวกปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดจึงถูกกลั่นแกล้ง และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแตกต่างกันทำให้ไม่อาจร่วมทำสังฆกรรมกันได้ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๘๐ กับพวกจึงได้ประกาศขอลาออกจากการปกครองของมหาเถรสมาคมแล้วแยกตัวมาตั้งพุทธสถานสันติอโศกที่คลองกุ่มและที่อื่น ๆ ดำเนินการบวชบุคคลอื่นเป็นพระภิกษุ โดยวางกฎระเบียบต่าง ๆ และพยายามปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย ไม่จำต้องปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๘๐ ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกายเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ และในปี ๒๕๑๖ ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย แสดงว่า จำเลยที่ ๘๐ ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ ๘๐ ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยทุกคนถูกกลั่นแกล้งจากใครอย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๘ บัญญัติให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ การประกาศของจำเลยที่ ๘๐ กับพวกดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยที่ ๘๐ กับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ การที่ภิกษุสงฆ์นักบวชไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายกลับมีผลเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน



สถิตย์ ไพเราะ


หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์


ศุภชัย ภู่งาม



เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ[แก้ไข]

  1. ประกาศห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๑
  2. สมเด็จพระธีรญาณมุนี ศรีชินทัตตวรางกูร วิบูลสีลาจารวิมล คณโสภณเลขาธิกร สุนทรปริยัติดิลก ตรีปิฎกวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถระ) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร
  3. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ อุฏฐายีภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมสาสนโสภณ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"