คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๒๒/๒๕๔๕

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ชั้นต้น
คำฟ้องของโจทก์
คำให้การของจำเลย
พิพากษา
ชั้นอุทธรณ์
ชั้นฎีกา
ประเด็นวินิจฉัย โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายรุทร นพคุณ ฟ้องคดีนี้ โดยชอบหรือไม่
พิพากษา





คำพิพากษา
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
ที่ ๖๕๒๒/๒๕๔๕
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกา
 
ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น โจทก์
ระหว่าง
บริษัทเอเทค คอมพิวเตอร์ จำกัด ที่ ๑ จำเลย
นายดิศักดิ์ ศรีสุวรรณ ที่ ๒
นางสาวสุวนีย์ เฉลิมชัยกุล ที่ ๓


เรื่อง   ความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์



โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๗ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ศาลฎีการับวันที่ ๒๗ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๕

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายบุญมา เตชะวณิช และ/หรือ นางเนตยา วาร์งเค และ/หรือ นายรุทร นพคุณ และ/หรือ นายเกียรติ พูนสมบัติเลิศ ฟ้องร้องดำเนินคดีแทน ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีจำเลยที่ ๓ เป็นพนักงานขาย โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ’๙๕ ไทย เอ็ดดิชัน และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรมย่อย ชื่อ ไมโครซอฟท์ เวิร์ด, ไมโครซอฟท์ สเกดวล พลัส, ไมโครซอฟท์ พาว์เวอร์ พอยท์, ไมโครซอฟท์ เอกซ์เซล และไมโครซอฟท์ แอคเซสส์ อันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื่องจากโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติและอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์น ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย เมื่อระหว่างวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๐ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ’๙๕ ไทย เอ็ดดิชัน และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ของโจทก์ โดยทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ติดตั้งลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามร่วมกันเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย และแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าว แก่ลูกค้าของจำเลย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยทั้งสามรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เหตุเกิดที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๙ วรรคสอง, มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และจ่ายค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ต่อมา จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๑ มอบอำนาจให้นายรุทร นพคุณ ฟ้องคดีนี้โดยชอบ และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๙ วรรคสอง, มาตรา ๗๐ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียว อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๙ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำเลยที่ ๑ ปรับสี่แสนบาท ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำคุกคนละหนึ่งปี และปรับคนละหกแสนบาท จำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้หนึ่งในสี่ คงลงโทษจำเลยที่ ๓ จำคุกเก้าเดือน และปรับหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท โทษจำคุกของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนดหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ กับให้จ่ายค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณา แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า การมอบอำนาจของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๑ ไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ รับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์น ว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง อันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีจำเลยที่ ๓ เป็นพนักงานขายประจำร้านค้าของจำเลยที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่คู่ความมิได้อุทธรณ์และฎีกาคัดค้านว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ’ไทย เอ็ดดิชัน และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ของโจทก์ ติดตั้งลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีไว้เพื่อขาย เสนอขาย และแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ ๑ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อการค้าดังที่โจทก์ฟ้อง

ในชั้นนี้ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายรุทร นพคุณ ฟ้องคดีนี้ โดยชอบหรือไม่ ในปัญหานี้ ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้มอบอำนาจในนายบุญมา เตชะวณิช และ/หรือ นางเนตยา วาร์งเค และ/หรือ นายรุทร นพคุณ และ/หรือ นายเกียรติ พูนสมบัติเลิศ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจ พร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๒ และข้อเท็จจริงปรากฏตามท้องสำนวนว่า นายรุทร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้แต่งตั้งนายเรืองยศ นาสารี เป็นทนายความฟ้องคดีนี้ ส่วนจำเลยทั้งสามไม่นำสืบพยานในข้อนี้

พิเคราะห์แล้ว สำหรับพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์นั้น โจทก์มีนายรุทร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เป็นพยานเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจ พร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๒ ว่า โจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด โดยนายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ[1] ผู้ช่วยเลขานุการ ได้ลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๑ มอบอำนาจให้พยานฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยมีนายแมกเดลนา แมกดัลล์[2] โนตารีปับลิก ของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองว่า นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการ เป็นผู้มีอำนาจโดยถูกต้องในการลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ และมีนายราล์ฟ มันโร[3] เลขาธิการแห่งมลรัฐวอชิงตัน[4] รับรองฐานะของโนตารีปับลิกว่าถูกต้องตามกฎหมาย กับมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริการับรองรอยตราประทับของมลรัฐวอชิงตันในเอกสารว่าเป็นรอยตราประทับของมลรัฐวอชิงตันที่ถูกต้องแท้จริง โดยมีสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันรับรองรอยตราประทับของกระทรวงการต่างประเทศประเทศสหรัฐอเมริกาในเอกสารว่าเป็นรอยตราประทับที่ถูกต้องแท้จริง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจดูหนังสือมอบอำนาจ พร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๒ ที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลแล้ว ปรากฏว่า ท้ายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า “เพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งการนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ลงลายมือชื่อและประทับตราของข้าพเจ้าไว้ในหนังสือนี้ ณ วันนี้ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๑๙๙๗” ตามข้อความที่ระบุไว้ท้ายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า การทำหนังสือมอบอำนาจในนามของโจทก์นั้น นอกจากผู้มีอำนาจกระทำการในนามของโจทก์ต้องลงลายมือชื่อในเอกสารแล้ว ยังจะต้องประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ด้วย แต่ในช่องผู้มอบอำนาจคงมีแต่ลายมือชื่อของนายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการของโจทก์ เพียงอย่างเดียว โดยไม่ปรากฏว่ามีรอยตราสำคัญของโจทก์ประทับกำกับไว้ด้วย นอกจากนี้ เมื่อโจทก์อ้างส่งพยานเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ’๙๕ ไทย เอ็ดดิชัน และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ของโจทก์ ตามหนังสือถ้อยแถลงหรือบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ. ๖ ต่อศาล ตามเอกสารดังกล่าวก็ปรากฏว่า มีนายโรเบิร์ต เอ. เอสแฮลแมน[5] ผู้ช่วยเลขานุการของโจทก์อีกคนหนึ่ง เป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้ในนามของโจทก์ และมีการประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามข้อความที่ระบุไว้ท้ายหนังสือถ้อยแถลงฉบับดังกล่าวว่า “เพื่อเป็นพยานหลักฐาน บริษัท (โจทก์) จึงให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ประทับตราของบริษัทไว้ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๑๙๙๖ ณ เรดมอนด์ วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา” พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า ในการทำเอกสารสำคัญในนามของโจทก์นั้น นอกจากผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์จะต้องลงลายมือชื่อไว้แล้ว ยังจะต้องประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ตามข้อความที่ปรากฏในเอกสารด้วย ซึ่งมีเหตุผลน่าเชื่อว่า เป็นเพราะมีข้อบังคับของบริษัทโจทก์กำหนดไว้เช่นนั้น แม้โจทก์จะนำสืบฟังได้ว่า ตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๑ นายแมกเดลนา แมกดัลล์ โนตารีปับลิกแห่งมลรัฐวอชิงตัน ได้รับรองว่า นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจโดยถูกต้องในการลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ แต่ข้อความที่นายแมกเดลนา แมกดัลล์ รับรองดังกล่าว ก็หาได้มีความหมายว่า นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการ สามารถลงลายมือชื่อในนามของโจทก์โดยไม่ต้องมีการประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ตามข้อความที่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า นายแมกเดลนา แมกดัลล์ โนตารีปับลิก มิได้รับรองว่า ตามข้อบังคับของบริษัทโจทก์ นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการของโจทก์ สามารถลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยไม่ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า หนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๑ ข้อความที่ระบุว่า ผู้มอบอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ไว้ในหนังสือมอบอำนาจนั้น เป็นแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของสำนักงานทนายความที่ใช้ทั่วไป แต่ไม่มีการประทับตรานั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ใช่ข้อพิรุธอันแสดงว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ เพราะถ้าหากผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์สามารถลงลายมือชื่อในเอกสารสำคัญมีผลผูกพันโจทก์ได้โดยไม่ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ด้วย ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้ทำเอกสารจะไม่ขีดฆ่าข้อความว่า “ประทับตรา” ดังกล่าวออกให้สิ้นสงสัย ทั้งไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องประทับตราของโจทก์ในเอกสารสำคัญฉบับอื่นกำกับลายมือชื่อผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ให้ตรงกับข้อความในเอกสารดังเช่นหนังสือถ้อยแถลง เอกสารหมาย จ. ๖ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น แม้จำเลยทั้งสามจะไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ แต่ในการฟ้องคดีอาญานั้น นอกจากโจทก์จะมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นด้วยว่า อำนาจฟ้องของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามรูปคดีที่โจทก์นำสืบมานี้ โจทก์ยังไม่สามารถสืบให้ศาลเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ มีผลผูกพันโจทก์ได้ และปรากฏข้อเท็จจริงในทางพิจารณาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. ๑ คงมีแต่นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารโดยมิได้มีการประทับตราสำคัญของโจทก์กำกับไว้ตามข้อความที่ระบุในเอกสารเช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่า นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้กระทำการแทนบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโทก์ยังมิได้ทำหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ. ๑ มอบอำนาจให้นายรุทรฟ้องคดีนี้โดยสมบูรณ์ นายรุทรจึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้อง รวมทั้งไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายเรืองยศเป็นทนายความฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๘๗๓/๒๕๔๓ ระหว่างไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น โจทก์ บริษัทไคน์ ซิสเท็ม กับพวก จำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างมาท้ายฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โดยคดีดังกล่าว โจทก์ได้มอบอำนาจในฟ้องคดีโดยชอบมาแต่ต้นแล้ว แม้ในคดีนี้ ทนายโจทก์จะยื่นสำเนาหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีฉบับใหม่เข้ามาในคดี ตามเอกสารท้ายฎีกา หมายเลข ๔ ซึ่งท้ายสำเนาเอกสารดังกล่าว คงมีแต่นายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ผู้ช่วยเลขานุการของโจทก์ ลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ และไม่มีข้อความเรื่องการประทำตราสำคัญของโจทก์ระบุไว้ โดยมีนายแจน เอ็ม. ดักลาส[6] โนตารีปับลิก รับรองว่าเป็นลายมือชื่อของนายแบรดฟอร์ด แอล. สมิธ ซึ่งมีอำนาจโดยถูกต้องในการลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะเอกสารดังกล่าว โจทก์มิได้อ้างส่งในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่โจทก์เพิ่งมาอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งฝ่ายจำเลยไม่มีโอกาสถามค้านพยานโจทก์และนำสืบหักล้างในข้อนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน



สุรชาติ บุญศิริพันธ์


เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ


พินิจ เพชรรุ่ง



เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ[แก้ไข]

  1. Bradford L. Smith (มักเรียกโดยย่อว่า Brad Smith)
  2. Magdelna McDall
  3. Ralph Munro
  4. Secretary of State of Washington
  5. Robert E. Eshelman
  6. Jan M. Douglas




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"