ธรรมาธรรมะสงคราม
คำนำ
[แก้ไข]เรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" นี้ ฃ้าพเจ้าได้แต่งขึ้นแต่เมื่อเดือนมกราคม, พ.ศ. ๒๔๖๑, เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ, ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น. ฃ้าพเจ้ารู้สึกว่าสมเด็จพระมหาสมณะทรงเลือกอุทาหรณเหมาะสมหนักหนา เพื่อแสดงหลักแห่งธรรมว่าธรรมะกับอธรรมให้ผลไม่เหมือนกัน อีกทั้งเมื่อพิจารณาดูเรื่องที่ทรงยกมาแสดงนั้น ช่างคล้ายจริงๆ กับกิจการที่เป็นไปแล้วในงานมหาสงครามในยุโรป อันพึ่งจะยุติลงในศกนั้นด้วยความปราชัยแห่งฝ่ายผู้ที่ละเมิดธรรมะ.
ครั้นเมื่อแต่งบทพากย์ขึ้นเสร็จแล้ว ฃ้าพเจ้าได้อ่านให้มิตรสหายบางคนฟัง, ก็ต่างคนต่างชมกันว่าดี, และวิงวอนให้จัดพิมพ์ขึ้นเปนเล่ม. เมื่อฃ้าพเจ้าได้ยอมตามคำขอของมิตรสหายแล้ว จึงนึกขึ้นว่าถ้าได้มีภาพประกอบบทพากย์ด้วยจะชูค่าแห่งหนังสือขึ้น. ข้าพเจ้าจึงทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงคิดประดิษฐ์ภาพขึ้นประกอบเรื่อง, เพราะเห็นว่าจะหาช่างใดในกรุงสยามที่เฃ้าใจความมุ่งหมายและความตั้งใจของฃ้าพเจ้าไม่ได้ดีเท่าเปนแน่แท้. และสมเด็จจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ทรงเฃ้าพระทัยความประสงค์ของฃ้าพเจ้าดีปานใด ภาพทั้งหลายในสมุดนี้ย่อมเปนพยานปรากฏอยู่เองแล้ว.
ในชั้นเดิมฃ้าพเจ้าคิดไว้ว่าจะจัดการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นจำหน่ายเฉยๆ, แต่ก็หาได้จัดการให้ดำเนินไปตามความคิดนั้นไม่, เพราะได้มีเหตุขัดข้องต่างๆ ซึ่งฃ้าพเจ้าไม่จำจะต้องนำมากล่าวในที่นี้. ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ นี้, ฃ้าพเจ้ามารำพึงว่า ฃ้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๔๐ ปีบริบูรณณวันที่ ๑ มกราคม, เห็นว่าเปนการสมควรที่จะมีของแจกเปนพิเศษสักหน่อย, ฃ้าพเจ้าจึ่งได้จัดการให้พิมพ์หนังสือนี้ขึ้น.
ฃ้าพเจ้าหวังใจว่า ท่านที่จะได้พบได้อ่านหนังสือนี้จะมีความพอใจ, เพราะจะได้อ่านทราบความคิดความเห็นและภูมิธรรมของคนโบราณว่ามีอยู่สูงเหมือนกัน. และจะได้มีโอกาสดูภาพอันวิจิตร์งดงาม เปนตัวอย่างอันดีแห่งภาพที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นโดยใช้ความพิจารณาอย่างดี, ควรถือเปนแผนแห่งศิลปะของไทยเราได้โดยไม่ต้องน้อยหน้าชาติอื่นๆ นอกจากนี้ฃ้าพเจ้าหวังใจว่าหลักธรรมะอันประกอบเรื่อง "ธรรมาธรรมะสงคราม" นี้ จะพอเปนเครื่องเตือนใจผู้ใฝ่ดีให้รำพึงถึงพุทธภาษิตว่า:-
"น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ | อุโภ สมวิภาคิโน | |
อธมฺโม นิรยํ เหติ | ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ" |
"ธรรมกับอธรรมให้ผลหาเสมอกันไม่; อธรรมย่อมจักนำชนไปสู่นรก, แต่ธรรมย่อมจักนำชนให้ฃ้ามพ้นบาปไปสู่สุคติ." - ด้วยอำนาจสัจจะวาจาภาษิตนี้ ขอความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลอิฐวิบุลผลจงบังเกิดมีแด่ท่านผู้ที่อ่านเรื่องนี้จงทุกเมื่อเทอญ ฯ
ราม ร.
วังพญาไท, วันที่ ๑ มกราคม, พ.ศ. ๒๔๖๓.
คำพากย์
[แก้ไข]ธรรมะเทวบุตร | ผู้พิสุทธิโสภา | |
สถิตอยู่ ณ กามา- | พจรภพแผ่นดินสรวง | |
ครองทิพยพิมาน | บริวารอมรปวง | |
ปองธรรมะบ่ล่วง | ลุอำนาจอกุศล | |
เมตตาการุญรัก- | ษะพิทักษ์ภูวดล | |
ปรานีนิกรชน | ดุจดังปิโยรส | |
ครั้นถึง ณ วันเพ็ญ | ที่เป็นวันอุโบสถ | |
เธอมุ่งจะทรงรถ | ประพาศโลกเช่นเคยมา | |
เข้าที่สนานทรง | เสาวคนธธารา | |
แล้วลูบพระกายา | ด้วยวิเลปนารม | |
ทรงเครื่องก็ล้วนขาว | สวิภูษณาสม | |
สำแดงสุโรดม | สุจริต ณ ไตรทวาร | |
ทรงเพรชราภรณ์ | พระกรกุมพระขรรค์กาญจน์ | |
ออกจากพิมานสถาน | ธ เสด็จ ณ เกยพลันฯ |
(บาทสกุณี แล้ว กลม)
ขึ้นทรงรถทองผ่องพรรณ | งามงอนอ่อนฉัน | |
เฉกนาคราชกำแหง | ||
งามกงวงจักรรักต์แดง | งามกำส่ำแสง | |
งามดุมประดับเพรชพราย | ||
เลิศล้วนมวลมาศฉลุลาย | เทพประนมเรียงราย | |
รับที่บัลลังก์เทวินทร์ | ||
กินนรฟ้อนรำร่ายบิน | กระหนกนาคิน | |
ทุกเกล็ดก็เก็จสุรกานต์ | ||
งามเทวธวัชชัชวาลย์ | โบกในคัคนานต์ | |
แอร่มอร่ามงามตา | ||
พรั่งพร้อมทวยเทวเสนา | ห้อมแห่แหนหน้า | |
และหลังสะพรั่งพร้อมมวล | ||
จามรีเฉิดฉายปลายทวน | หอกดาบปลาบยวน | |
ยั่วตาพินิจพิศวง | ||
แลดูรายริ้วทิวธง | ฉัตรเบญจรงค์ | |
ปี่กลองสนั่นเวหน | ||
อีกมีทวยเทพนฤมล | ฟ้อนฟ่องล่องหน | |
เพื่อโปรยบุปผามาลี | ||
ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี | เคลื่อนขบวนโยธี | |
ไปโดยวิถีนภาจรฯ |
(กลองโยน แล้ว เชิด)
ครั้นถึงชมพูดูสลอน | สล้างนิกร | |
ประชามาชมบารมี | ||
หยุดรถอยู่หว่างเมฆี | แลยังปัถพี | |
พระองค์ก็ยิ้มพริ้มพราย | ||
กษัตริย์พราหมณ์แพทย์ศูทรทั้งหลาย | ต่างมาเรียงราย | |
ระยอบบังคมเทวัญ | ||
ต่างคนปลื้มเปรมเกษมสันต์ | ต่างคอยเงี่ยกรรณ | |
เพื่อฟังพระเทวบัญชา | ||
จึ่งธรรมเทพนาถา | ตรัสเผยพจนา | |
เพื่อแนะทำนองคลองธรรมฯ |
ดูก่อนนิกรชน | อกุศลบทกรรม | |
ทั้งสิบประการจำ | และละเว้นอย่าเห็นดี | |
การฆ่าประดาสัตว์ | ฤ ประโยชน์บ่พึงมี | |
อันว่าดวงชีวี | ย่อมเป็นสิ่งที่ควรถนอม | |
ถือเอาซึ่งทรัพย์สิน | อันเจ้าของมิยินยอม | |
เขานั้นเสียดายย่อม | จิตตะขึ้งเป็นหนักหนา | |
การล่วงประเวณี | ณ บุตรีและภรรยา | |
ของชายผู้อื่นลา- | มกกิจบ่บังควร | |
กล่าวปดและลดเลี้ยว | พจนามิรู้สงวน | |
ย่อมจะเป็นสิ่งควร | นรชังเป็นพ้นไป | |
ส่อเสียดเพราะเกลียดชัง | บ่มิยังประโยชน์ใด | |
เสื่อมยศและลดไม- | ตริระหว่างคณาสลาย | |
พูดหยาบกระทบคน | ก็ต้องทนซึ่งหยาบคาย | |
เจรจากับเขาร้าย | ฤ ว่าเขาจะตอบดี | |
พูดจาที่เพ้อเจ้อ | วจะสาระบ่มี | |
ทำตนให้เป็นที่ | นรชนเขานินทา | |
มุ่งใจและไฝ่ทรัพ- | ยะด้วยโลภเจตนา | |
ทำให้ผู้อื่นพา | กันตำหนิมิรู้หาย | |
อีกความพยาบาท | มนะมุ่งจำนงร้าย | |
ก่อเวรบ่รู้วาย | ฤจะพ้นซึ่งเวรา | |
เชื่อผิดและเห็นผิด | สิจะนิจจะเสื่อมพา | |
เศร้าหมองมิผ่องผา | สุกะรื่นฤดีสบาย | |
ละสิ่งอกุศล | สิกมลจะพึงหมาย | |
เหมาะยิ่งทั้งหญิงชาย | สุจริต ณ ไตรทวาร | |
จงมุ่งบำเพ็ญมา- | ตุปิตุปัฏฐานการ | |
บำรุงบิดามาร- | ดรให้เสวยสุข | |
ใครทำฉะนี้ไซร้ | ก็จะได้นิราศทุกข์ | |
เนานานสราญสุข | และจะได้คระไลสวรรค์ | |
ยศใหญ่จักมาถึง | กิตติพึงจักตามทัน | |
เป็นนิจจะนิรัน- | ดรย่อมจะหรรษาฯ |
ครั้นเสด็จประทานเทศนา | ฝูงชนต่างสา- | |
ธุเทิดประนตประนมกร | ||
ธรรมเทพจึงอวยพร | ให้ปวงถาวร | |
ในอายุวรรณสุขพล | ||
แล้วสั่งขบวนเดินหน | ประทักษิณวน | |
ชมพูทวีปมหาสถานฯ |
(เชิดฉิ่ง)
ปางนั้นอธรรมะ | เทวบุตรผู้ใจพาล | |
เนาในพิมานสถาน | ณ กามาพจรสวรรค์ | |
ครองพวกบริวาร | ล้วนแต่พาลประดุจกัน | |
โทโสและโมหันธ์ | บ่มิพึงบำเพ็ญบุญ | |
เห็นใครน้ำใจซื่อ | สุจริตะการุญ | |
เธอก็มักจะหันหุน | เพราะพิโรธและริษยา | |
ถึงวันที่จันทร์เพ็ญ | ธก็มักจะไคลคลา | |
ขับรถะยานมา | ณ ชมพูทวีปพลัน | |
แต่งองค์ก็ทรงล้วน | พัสตระดำทุกสิ่งอัน | |
อาภรณ์ก็เลือกสรร- | พะสัมฤทธิ์และพลอยดำ | |
หัสถ์สดำพระกำขวาน | อันมหิทธิกำยำ | |
จรจากวิมานอัม- | พรตรงมาทรงรถ |
(คุกพาทย์ แล้ว กราว)
รถทรงกงกำทั้งหมด | ตลอดงอนรถ | |
ล้วนแล้วด้วยไม้ดำดง | ||
บัลลังก์มียักษ์ยรรยง | ยืนรับรองทรง | |
สลับกระหนกมังกร | ||
ลายสิงห์เสือสีห์มีสลอน | หมาไนยืนหอน | |
อีกทั้งจระเข้เหรา | ||
งอนรถมีธวัชตวัดร่า | สีดำขำน่า | |
สยดสยองพองขน | ||
แลดูหมู่กองพยุหพล | สลับสับสน | |
ล้วนฤทธิ์คำแหงแรงขัน | ||
กองหน้าอารักขะไพรสัณฑ์ | ปีกซ้ายกุมภัณฑ์ | |
คนธรรพ์เป็นกองปีกขวา | ||
กองหลังนาคะนาคา | สี่เหล่าเสนา | |
ศาสตราอาวุธวาวแสง | ||
พวกพลทุกตนคำแหง | หาญเหิมฤทธิ์แรง | |
พร้อมเพื่อผจญสงคราม | ||
พาหนคำรนคำราม | เสือสิงห์วิ่งหลาม | |
แลล้วนจะน่าสยดสยอน | ||
ให้เคลื่อนขบวนพลจร | ไปในอัมพร | |
ฟากฟ้าคะนองก้องมาฯ |
(เชิด)
ครั้นถึงชมพูแดนประชา | ให้หยุดโยธา | |
ลอยอยู่ที่ในอัมพร | ||
เหลือบแลเห็นชนนิกร | ท่าทางสยดสยอน | |
อธรรมก็ยิ่งเหิมหาญ | ||
ทะนงจงจิตคิดพาล | ด้วยอหังการ | |
ก็ยิ่งกระหยิ่มยินดี | ||
เห็นว่าเขาเกรงฤทธี | จึ่งเปล่งพจี | |
สนั่น ณ กลางเวหน |
ดูราประชาราษฎร์ | นรชาตินิกรชน | |
จงนึกถึงฐานตน | ว่าตกต่ำอยู่ปานใด | |
ไม่สู้อมรแมน | ฤ ว่าแม้นปีศาจได้ | |
ฝูงสัตว์ ณ กลางไพร | ก็ยังเก่งกว่าฝูงคน | |
ทั้งนี้เพราะขี้ขลาด | บ่มิอาจจะช่วยตน | |
ต่างมัวแต่กลัวชน | จะตำหนิและนินทา | |
ผู้ใฝ่ซึ่งอำนาจ | ก็ต้องอาจและหาญกล้า | |
ใครขวาง ณ มรรคา | ก็ต้องปองประหารพลัน | |
อยากมี ณ ทรัพย์สิ่ง | จะมานิ่งอยู่เฉยฉะนั้น | |
เมื่อใดจะได้ทัน | มนะมุ่งและปราถนา | |
กำลังอยู่กับใคร | สิก็ใช้กำลังคร่า | |
ใครอ่อนก็ปรา- | ชิตะแน่มิสงสัย | |
สตรีผู้มีโฉม | ศุภลักษณาไซร้ | |
ควรถือว่ามีไว้ | เป็นสมบัติ ณ กลางเมือง | |
ใครเขลาควรเอาเปรียบ | และมุสาประดิษฐ์เรื่อง | |
ลวงล่อบ่ต้องเปลือง | ธนะหากำไรงาม | |
เมื่อเห็นซึ่งโอกาส | ผู้ฉลาดพยายาม | |
ส่อเสียดและใส่ความ | และประโยชน์ ณ ตนถึง | |
ใครท้วงและทักว่า | ก็จงด่าให้เสียงอึง | |
เขานั้นสิแน่จึ่ง | จะขยาดและกลัวเรา | |
พูดเล่นไม่เป็นสา- | ระสำหรับจะแก้เหงา | |
กระทบกระเทียบเขา | ก็สนุกสนานดี | |
ใครจนจะทนยาก | และลำบากอยู่ใยมี | |
คิดปองซึ่งของดี | ณ ผู้อื่นอันเก็บงำ | |
ใครทำให้ขัดใจ | สิก็ควรจะจดจำ | |
ไว้หาโอกาสทำ | ทุษะบ้างเพื่อสาใจ | |
คำสอนของอาจารย์ | ก็บุราณะเกินสมัย | |
จะนั่งไยดีไย | จงประพฤติตามจิตดู | |
บิดรและมารดา | ก็ชราหนักหนาอยู่ | |
เลี้ยงไว้ทำไมดู | นับจะเปลืองมิควรการ | |
เขาให้กำเนิดเรา | ก็มิใช่เช่นให้ทาน | |
กฎธรรมดาท่าน | ว่าเป็นของไม่อัศจรรย์ | |
มามัวแต่กลัวบาป | ก็จะอยู่ทำไมกัน | |
อยากสุขสนุกนัน- | ทิก็ต้องดำริแสวง | |
ใครมีกำลังอ่อน | ก็ต้องแพ้ผู้มีแรง | |
ใครเดชะสำแดง | ก็จะสมอารมณ์ปอง |
พูดเสร็จแล้วเล็งแลมอง | เห็นคนสยดสยอง | |
อธรรมก็ยิ่งยินดี | ||
ตบหัตถ์ตรัสสั่งเสนี | ให้เริ่มจรลี | |
ออกเดินขบวนพลกาย | ||
ขบวนก็พลันผันผาย | เป็นแถวเรียงราย | |
เวียนซ้ายชมพูพนาลัย ฯ |
(เชิด)
ขบวนสองเทพคลาไคล | เวียนขวาซ้ายไป | |
ประสบกันกลางเวหา | ||
ต่างกองต่างหยุดรอรา | อยู่กลางมรรคา | |
เพื่อคอยอีกฝ่ายหลีกทาง | ||
ต่างกองต่างยืนอยู่พลาง | ต่างไม่ให้ทาง | |
แก่กันเพื่อเดินกองไป | ||
ธรรมะเทวบุตร์เปนใหญ่ | จึ่งกล่าวคำไป | |
ด้วยถ้อยสุนทรอ่อนหวาน | ||
ดูราอธรรมมหาศาล | เราขอให้ท่าน | |
หลีกทางให้เราเดินไป | ||
อธรรมตอบว่าฉันใด | เราจะหลีกให้ | |
เราก็ไม่หย่อนศักดิ์ศรี | ||
ธรรมะจึ่งว่าเรานี้ | สิทธิย่อมมี | |
ที่ควรจะได้ทางจร | ||
เพราะเราชวนชนนิกร | ให้จิตสุนทร | |
บำเพ็ญกุศลจรรยา | ||
เราทำให้ชนนานา | ได้มียศฐา- | |
นะเลิศประเสริฐทุกสถาน | ||
สมณะอีกพราหมณาจารย์ | สรรเสริญทุกวาร | |
เพราะเรานี้เที่ยงธรรมา | ||
อีกทั้งมนุษย์เทวา | น้อมจิตบูชา | |
ทุกเมื่อเพราะรักความดี | ||
อธรรมตอบว่าข้านี้ | รี้พลมากมี | |
ไม่ต้องประหวั่นพรั่นใจ | ||
ไม่เคยยอมให้แก่ใคร | วันนี้เหตุไฉน | |
จักยอมให้ทางท่านจร | ||
ธรรมะว่าเราเกิดก่อน | ในโลกอัมพร | |
อธรรมเธอเกิดตามมา | ||
ตัวเราเก่ากว่าแก่กว่า | ยิ่งใหญ่ยศฐา | |
ผู้น้อยควรให้ทางจร | ||
อธรรมว่าคำอ้อนวอน | หรือพจนากร | |
อ้างเหตุสมควรใดๆ | ||
ไม่ทำให้เรานี้ไซร้ | ยอมหลีกทางให้ | |
เพื่อธรรมะเทพจรลี | ||
มาเถิดรบกันวันนี้ | ใครชนะควรมี | |
สิทธิได้เดินทางไป | ||
ธรรมะว่าเออตามใจ | อันเรานี้ไซร้ | |
ประกอบด้วยสรรพคุณา | ||
มีทั้งกำลังวังชา | เกียรติยศหา | |
ผู้ใดเสมอไป่มี | ||
ทั่วทิศบันลือฤทธี | อธรรมเธอนี้ | |
จักเอาชำนะอย่างไร | ||
อธรรมยิ้มเย้ยเฉลยไป | ว่าธรรมดาไซร้ | |
เขาย่อมเอาเหล็กตีทอง | ||
เอาทองตีเหล็กเป็นของ | ไม่สามารถลอง | |
เพราะเหตุว่าผิดธรรมดา | ||
แม้นเราฆ่าท่านมรณา | เหล็กก็จักน่า | |
นิยมประดุจทองคำ | ||
ว่าแล้วต้อนพลกำยำ | ตรูเข้ากระทำ | |
ประยุทธ ณ กลางอัมพร |
(เชิด)
ฝ่ายทัพอธรรมราญรอน | ห้าวหาญชาญสมร | |
ฝ่ายธรรมะอิดหนาระอาใจ | ||
ธรรมะสลดหฤทัย | คิดว่าตนไซร้ | |
จะไม่ชนะดั่งถวิล | ||
จะต้องทนดูคำหมิ่น | และต้องยอมยิน | |
ให้ทางแก่ฝ่ายอธรรม | ||
แต่ว่าเดชะกุศลกรรม | มาช่วยฝ่ายธรรม | |
แลเห็นถนัดอัศจรรย์ | ||
อธรรมหน้ามืดโดยพลัน | มิอาจนั่งมั่น | |
อยู่บนบัลลังก์รถมณี | ||
พลัดตกหกเศียรทันที | ถึงพื้นปัถพี | |
และดินก็สูบซ้ำลง ฯ |
(รัว)
ธรรมะมีขันตีทรง | กำลังจึ่งยง | |
แย่งยุทธะชิตชัยชาญ | ||
ลงมาจากกลางคัคนานต์ | ฟาดฟันประหาร | |
อธรรมะผู้ปราชัย | ||
แล้วสั่งเสนีย์ผู้ใหญ่ | ฝังอธรรมไว้ | |
ในพื้นผ่นดินบันดล | ||
กลับขึ้นรถทรงโสภณ | แล้วตรัสแด่ชน | |
ผู้พร้อมมาชมบารมี |
ดูราประชาราษฏร์ | ท่านอาจเห็นคติดี | |
แห่งการสงครามนี้ | อย่าระแวงและสงสัย | |
ธรรมะและอธรร- | มะทั้งสองสิ่งนี้ไซร้ | |
อันผลจะพึงให้ | บ่มิมีเสมอกัน | |
อธรรมย่อมนำสู่ | นิรยาบายเป็นแม่นมั่น | |
ธรรมะจักนำพลัน | ให้ถึงสุคตินา | |
เสพธรรมะส่งให้ | ถึงเจริญทุกทิวา | |
แม้เสพอธรรมพา | ให้พินาศและฉิบหาย | |
ในกาลอนาคต | ก็จักมีผู้มุ่งหมาย | |
ข่มธรรมะทำลาย | และประทุษฐ์มนุษย์โลก | |
เชื่อถือกำลังแสน- | ยะจะขึ้นเป็นหัวโจก | |
หวังครองประดาโลก | และเป็นใหญ่ในแดนดิน | |
สัญญามีตรามั่น | ก็จะเรียกกระดาษชิ้น | |
ละทิ้งธรรมะสิ้น | เพราะอ้างคำว่าจำเป็น | |
หญิงชายและทารก | ก็จะตกที่ลำเค็ญ | |
ถูกราญประหารเห็น | บ่มิมีอะไรขวาง | |
ฝ่ายพวกอธรรมเหิม | ก็จะเริ่มจะริทาง | |
ทำการประหารอย่าง | ที่มนุษย์มิเคยใช้ | |
ฝ่ายพวกที่รักธรรม | ถึงจะคิดระอาใจ | |
ก็คงมิยอมให้ | พวกอธรรมได้สมหวัง | |
จะชวนกันรวบรวม | พลกาจกำลังขลัง | |
รวมทรัพย์สะพรึบพรั่ง | เป็นสัมพันธไมตรี | |
ช่วยกันประจัญต่อ | พวกอธรรมเสนี | |
เข้มแข็งคำแหงมี | สุจริตธรรมะสนอง | |
ลงท้ายฝ่ายธรรมะ | จะชนะดังใจปอง | |
อธรรมะคงต้อง | ปราชัยเป็นแน่นอน | |
อันว่ามนุษย์โลก | ยังโชคดีไม่ย่อหย่อน | |
อธรรมะราญรอน | ก็ชำนะแต่ชั่วพัก | |
ภายหลังข้างฝ่ายธรรม | จะชำนะประสิทธิ์ศักดิ์ | |
เพราะธรรมะย่อมรักษ์ | ผู้ประพฤติ ณ คลองธรรม | |
อันคำเราทำนาย | ชนทั้งหลายจงจดจำ | |
จงมุ่งถนอมธรรม | เถิดจะได้เจริญสุข | |
ถึงแม้อธรรมข่ม | ขี่อารมณ์ให้มีทุกข์ | |
ลงท้ายเมื่อหมดยุค | ก็จะได้เกษมศานต์ | |
ถือธรรมะผ่องใส | จึ่งจะได้เป็นสุขสราญ | |
ถือธรรมะเที่ยงนาน | ก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ฯ |
ฝ่ายฝูงสิริเทพกัญญา | ก็โปรยบุปผา | |
มาเกลื่อน ณ พื้น ปัถพี | ||
แล้วธรรมะเทพฤทธี | ตรัสสั่งเสนีย์ | |
ให้เคลื่อนขบวนโยธา | ||
ลอยล่องฟ่องในเวลา | ดำเนินเวียนขวา | |
ไปรอบทวีปชมพู ฯ |
(เชิด)
ราม ร.
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์, สนามจันทร์, วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์, พ.ศ. ๒๔๖๑
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก