ประชุมโคลงโลกนิติ/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ



หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ซึ่งประกอบด้วย โคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร โคลงโลกนิติสำนวนเก่าไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และคาถาบาลี เล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน ซึ่งคณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติได้จัดทำขึ้น และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้พิมพ์เผยแพร่ไปยังสถานศึกษา หน่วยงาน และห้องสมุดต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนที่รักการศึกษาค้นคว้าได้ศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมที่มีคุณค่าและนำแนวคิดข้อเตือนใจจากภาษิตคำสอนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาตินี้ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้ทำหน้าที่พิจารณาคัดสรรวรรณกรรมที่มีคุณค่าและหาอ่านได้ยากนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมอันเป็นสมบัติของชาติให้คงอยู่สืบไป ใน พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ คณะกรรมการฯ ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์ เป็นประธาน ได้ศึกษารวบรวมภาษิตคำสอนที่คุ้นเคยกันมาแต่เก่าก่อน รวมทั้งภาษิตคำสอนของคนไทยในท้องถิ่นภาคต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดเป็นหนังสือชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน หนังสือในชุดนี้ที่ได้จัดทำและพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ได้แก่ ประชุมสุภาษิตพระร่วง และประชุมโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การจัดทำต้นฉบับ ประชุมโคลงโลกนิติ นี้ คณะกรรมการฯ ได้นำโคลงโลกนิติฉบับที่พิมพ์ครั้งต่าง ๆ เช่น โคลงโลกนิติในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน พ.ศ. ๒๕๑๗ โคลงโลกนิติฉบับหอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๐ ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ. ๑๒๖ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๐) และฉบับกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๓๙ มาเทียบเคียงตรวจสอบและใช้เป็นต้นฉบับในการจัดพิมพ์ ส่วนการตรวจสอบคาถาของบทโคลงนั้น ได้ใช้หนังสือโคลงโลกนิติที่กล่าวมาข้างต้น พร้อมด้วยโลกนิติสำนวนอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น โลงนิติไตรพากย์ฉบับคารม พ.ศ. ๒๔๖๑ และโลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้น และเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจภาษิตคำสอนในประชุมโคลงโลกนิติได้ดียิ่งขึ้น คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง รองประธานกรรมการ เป็นหัวหน้าคณะจัดทำคำอธิบายศัพท์ และเขียนเชิงอรรถชี้แจงเกี่ยวกับคาถาและคำศัพท์ที่ใช้ผิดแผกกันอย่างมีนัยสำคัญในโคลงนิติฉบับต่าง ๆ รวมทั้งให้เป็นผู้เขียนบทนำเสนอและพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรด้วย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร กรรมการที่ปรึกษา ยังได้กรุณาเป็นประธานตรวจสอบเนื้อหาในเชิงอรรถและคำอธิบายศัพท์ด้วย

กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกโคลงโลกนิติบางบทไปให้นักเรียนเรียนในวิชาภาษาไทย รวมทั้งใช้เป็นบทอาขยานด้วย หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับนี้ประกอบด้วยโคลงเก้าร้อยสองบท ถือได้ว่า เป็นฉบับสมบูรณ์ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้าหรือเป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความคิดให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น

กรมวิชาการขอขอบคุณคณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ ราชบัณฑิตยสถาน หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และผู้มีส่วนให้เกิดหนังสือเล่มนี้ทุกท่าน กรมวิชาการหวังว่า เยาวชนผู้รักการศึกษาค้นคว้าและคนไทยทั่วไปจะได้ประโยชน์จากหนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับนี้โดยทั่วกัน



อำรุง จันทวานิช
อธิบดีกรมวิชาการ
๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๒