ประชุมโคลงโลกนิติ/พระประวัติ

จาก วิกิซอร์ซ
พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร





สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร[ก] เป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่สิบห้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดานิ่ม (สกุล บุญ-หลง) พระนามเดิม พระองค์เจ้า (ชาย) มั่ง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๓๖ ณ พระนิเวศน์เดิม ฝั่งธนบุรี มีพระพี่นางร่วมพระชนนีอีกหนึ่งพระองค์ แต่สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเป็นหลานของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (หน ต้นสกุลบุญ-หลง) เสนาบดีด้านการคลังและการต่างประเทศในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีนามที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้มีฝีมือในการแต่งหนังสือจนได้รับยกย่องว่าเป็นกวีเอก ร่ายยาวเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมารและมัทรีที่ท่านแต่งยังเป็นสำนวนที่ใช้เทศน์กันมาจนทุกวันนี้ ส่วนร้อยแก้วเรื่องสามก๊กและราชาธิราชก็เป็นบทประพันธ์ที่รู้จักกันดีและมีผู้นิยมอ่านมาจนปัจจุบันเช่นกัน

เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาพระประวัติและพระกรณียกิจของพระองค์ท่านที่เปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ จึงจะได้แยกกล่าวเป็นในแต่ละรัชกาลไป


พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๒


เฉลิมพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรม

โดยโบราณราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะทรงสถาปนา เลื่อนกรม ตั้งกรมเจ้านาย ทรงตั้งพระราชาคณะ และทรงเลื่อนตำแหน่งขุนนางเป็นบำเหน็จความชอบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า (ชาย) มั่ง เป็นเจ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "กรมหมื่นเดชอดิศร" ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ทรงได้รับสถาปนาในปีใด ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานที่ริมแม่น้ำใต้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในที่ดินซึ่งเดิมเป็นบ้านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้เป็นขรัวตา อาณาเขตวังด้านทิศตะวันออกติดถนนมหาราช ด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบัน คือ บริเวณบ้านเมตตาของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ประทับที่วังนี้จนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงเสด็จไปประทับที่วังริมถนนมหาชัยวังใต้


ทรงกำกับราชการกรมพระอาลักษณ์

หลักจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า ในขณะนั้นมีเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์ที่ทรงพระปรีชาสามารถควรจะได้เป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับขุนนางทั้งฝ่ายทหารพลเรือนด้วย จึงทรงแต่งตั้งเจ้านายให้มีหน้าที่กำกับราชการกรมต่าง ๆ เป็นทำนองที่ปรึกษาของเสนาบดีหรือผู้เป็นหัวหน้าในกรมนั้น ๆ เมื่อมีกระแสพระราชดำริในราชการเรื่องใด ก็จะทรงปรึกษาหารือกับเจ้านายผู้ทรงกำกับราชการกรมนั้น ๆ ด้วย พระราชดำริครั้งนี้มีความสำคัญในการบริหารราชการเป็นอันมาก และได้ใช้เป็นแบบแผนต่อมาอีกหลายรัชกาล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ทรงกำกับราชการกรมพระอาลักษณ์ กรมพระอาลักษณ์นั้นเป็นกรมใหญ่และสำคัญกรมหนึ่ง มีหน้าที่อย่างราชเลขานุการ ปฏิบัติงานด้านเอกสารและหนังสือถวายพระมหากษัตริย์ รับพระบรมราชการ หมายรับสั่ง พระราชหัตถเลขา และจดหมายเหตุเรื่องต่าง ๆ แต่งพระราชสาสน์ซึ่งมีไปมาต่อเจ้าแผ่นดินทั้งปวง จารึกพระสุพรรณบัฏ หมายตั้งขุนนาง คัดเขียนหนังสือต่าง ๆ รักษาพระราชกำหนดกฎหมายฉบับข้างที่ เอกสาร และหนังสือสำคัญของบ้านเมือง ดูแลรักษาหนังสือในหอหลวง เจ้ากรมเป็นพระยา มีฐานะรองจากเสนาบดีลงมา งานราชเลขานุการและงานกรมพระอาลักษณ์ได้รวมกันอยู่เช่นนี้ จนในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๑๐ จึงโปรดให้แยกงานทั้งสองด้านออกจากกัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้สนองพระเดชพระคุณกำกับราชการกรมพระอาลักษณ์ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ สืบเนื่องกันโดยตลอดจนสิ้นพระชนม์ งานราชการกรมพระอาลักษณ์ซึ่งรวมทั้งงานราชเลขานุการและงานดูแลรักษาหนังสือหอหลวงไว้ด้วยนั้นทำให้ทรงมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าหนังสือและสรรพตำราต่าง ๆ จนชำนาญรอบรู้ในหลักราชการและเป็นประโยชน์ต่อการนิพนธ์วรรณกรรมเรื่องต่าง ๆ ต่อมาอันเป็นผลงานที่เชิดชูพระเกียรติคุนให้ปรากฏมาจนทุกวันนี้


พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๓


เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๖๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชด้วย "ทรงพระปรีชารอบราชการ" ทั้งในราชการกรมพระอาลักษณ์ การต่างประเทศ การป้องกันพระนคร การศาสนา และที่สำคัญ คือ ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่งทั้งในเรื่องส่วนพระองค์และราชการ นอกจากนี้ งานพระนิพนธ์ที่สำคัญหลายเรื่องรวมทั้ง โคลงโลกนิติ ก็ทรงแต่งขึ้นในรัชกาลนี้

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงพระกรณียกิจที่สำคัญบางเรื่อง


ทรงเป็นกรมขุนเดชอดิศร

ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เลื่อนพระอิสริยยศจาก "กรมหมื่นเดชอดิศร" เป็น "กรมขุนเดชอดิศร" มีพระเกียรติคุณปรากฏในแผ่นพระสุพรรณบัฏว่า

"มีพระบรมราชโองการมานพระบันทูลสุรสิงหานาทวิลาสดำเนิรตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า กรมหมื่นเดชอดิศร ทรงพระปรีชารอบราชการ ให้เสด็จเลื่อนพระนามขึ้นเป็น กรมขุนเดชอดิศร นาคนาม ศิริสวัสดิทฤฆายุศม"[ข]


ทรงเป็นเชฐมัตตัญญู

"เชฐมัตตัญญู" แปลว่า พี่ใหญ่ผู้เจริญอย่างสูงสุดที่รู้ประมาณ หมายถึงว่า ทรงเป็นพระเชษฐา เป็นพระบรมวงศ์ผู้ทรงอาวุโสมีพระอิสริยยศอันสูงยิ่ง และทรงรอบรู้ในการที่ควรหรือไม่ควรกระทำ คำสรรเสริญว่าทรงเป็นเชฐมัตตัญญูนี้มาจากกระแสพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงพระปริวิตกถึงการที่พระสงฆ์ส่วนหนึ่งพากันโดยเสด็จพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระผนวชอยู่และทรงครองจีวรห่มแหวกอย่างพระมอญซึ่งทรงเห็นว่ามิใช่แบบแผนของพระไทย ด้วยพระบรมราโชบายอันแยบคาย จึงมีพระกระแสบรมราชโองการถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรแทน ขอให้ทรงนำจีวรองค์หนึ่งไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่งซึ่งทรงพระผนวชอยู่และยังทรงครองจีวรอย่างพระไทยทั่วไป หากทรงรับจีวรไว้ครอง ก็น่าจะเปรียบเสมือนนิมิตหมายว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ยังทรงเป็นหลักสำคัญของบรรดาสงฆ์ที่ยึดมั่นในแบบแผนประเพณีเดิม

ความในพระบรมราชโองการฉบับนี้ นอกจากมีสาระอันแสดงเหตุผลตามกระแสพระราชดำริแล้ว ยังเป็นเอกสารที่ได้รับยกย่องว่า มีถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะ สละสลวย และแยบคายเป็นอย่างยิ่ง ความบางตอนนั้นมีว่า

"พ่อมั่งขา พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิตและอธิบายของข้าผู้พี่อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว...พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยูนั้นและเห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเราจึงเรียกกันว่าพระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ โดยอัตโนมัติปัญญาของพี่เห็นว่า ถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรอยู่นานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญเป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้กล่าว...ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดินก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย"[ค]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เชฐมัตตัญญูถวายโดยเรียบร้อย ครั้นความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีสมณสาสน์มาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า การที่ทรงครองจีวรแบบพระมอญนั้นมิได้คาดว่าจะเป็นข้อให้ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย จึงจะได้ทรงเปลี่ยนเป็นครองจีวรอย่างพระไทยให้ต้องตามพระบรมราชโองการต่อไป


ทรงเป็นผู้รักษาพระนครด้านทิศตะวันออก

การนี้เกิดจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริถึงการป้องกันรักษาพระนครทั้งสี่ทิศ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างวังพระราชทานให้เจ้านายผู้ใหญ่ที่เป็นหลักสำคัญในราชการเสด็จไปประทับ แต่บริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นบริเวณที่มีชุมชนชาวจีนอยู่หนาแน่นยังหามีไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังถนนมหาชัยบริเวณใกล้ประตูสะพานหันซึ่งเป็นต้นทางที่จะไปสำเพ็งอันเป็นชุมชนชาวจีน วังถนนมหาชัยแบ่งเป็นสามวัง คือ วังเหนือ วังกลาง วังใต้ เฉพาะวังใต้นั้นมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงเป็นเจ้านายองค์สำคัญที่ควรจะเป็นประธานในการรักษาพระนครด้านทิศตะวันออก จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายจากวังริมแม่น้ำใต้วัดพระเชตุพนฯ ไปประทับที่วังถนนมหาชัยวังใต้ และได้ประทับที่วังนี้จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๐๒


ทรงปฏิสังขรณ์พระอาราม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามที่สำคัญสองพระอาราม คือ วัดราชคฤห์ ฝั่งธนบุรีที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ขรัวตาของท่าน ได้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ ๑ ได้รับพระราชทานนามว่า วัดราชคฤห์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์โดยสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แทนพระอุโบสถเดิม ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานบรรทมหงายศิลปะอยุธยา ปัจจุบัน พระอุโบสถหลังนี้ใช้เป็นพระวิหาร และบรรดาผู้สืบสายราชสกุลเดชาติวงศ์ของพระองค์ท่านได้รับภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามนี้กันต่อ ๆ มาอีกด้วย อีกวัดหนึ่งที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ คือ วัดทองธรรมชาติ ฝั่งธนบุรี เป็นวัดที่กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้ากุ) และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัสดา ทรงบูรณะมาแต่ก่อน กรมหลวงนรินทรเทวีทรงเป็นพระน้องนางต่างพระชนนีในรัชกาลที่ ๑ จึงทรงมีศักดิ์เป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร


ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ

พระกรณียกิจด้านวรรณกรรมเรื่องสำคัญ ๆ ที่ทรงพระนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ได้แก่

๑. โคลงโลกนิติ โคลงโลกนิติเป็นวรรณกรรมโบราณที่มีมาแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออย่างน้อยก็ก่อนรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ และให้จารึกตำรับตำราต่าง ๆ ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี พุทธศาสนา ประเพณี ตำรายา ตลอดจนสุภาษิตลงบนแผ่นศิลาที่ประดับผนังปูชนียสถานต่าง ๆ ในพระอารามสำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ถูกต้องตามพระบาลี บางโคลงก็ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยสี่ร้อยแปดบท แล้วจารึกไว้ที่แผ่นศิลาประดับศาลาทิศพระมณฑปสี่หลัง แต่จำนวนโคลงที่จารึกไว้มีมากกว่านี้ เข้าใจว่า ทรงเพิ่มเติมภายหลังเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ที่จะจารึก อนึ่ง โคลงโลกนิตินี้มีแต่งกันหลายสำนวน และที่แต่งเป็นร้อยแก้วก็มี แต่สำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ รวมทั้งใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนด้วย

๒. โคลงภาพต่างภาษา ทรงพระนิพนธ์ขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ คราวเดียวกับพระนิพนธ์เรื่องโคลงโลกนิติ ด้วยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปและวาดรูปคนต่างชาติต่างภาษารวมสามสิบสองชาติประดับไวที่ศาลารายรอบวัดพระเชตุพนฯ รวมสิบหกหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงแต่งโคลงภาพคนต่างภาษาเป็นโคลงดั้นบาทกุญชรจารึกบนแผ่นศิลาใต้รูปคนต่างภาษาสี่ชาติ คือ สระกาฉวน (เป็นชนอินเดียพวกหนึ่ง) ญี่ปุ่น ญวน และจีน

๓. โคลงนิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์ ทรงพระนิพนธ์โคลงนิราศเรื่องนี้ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เมื่อเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏยกทัพเข้ามายึดเมืองโคราชและสระบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดกำลังทัพยกไปปราบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ตามเสด็จไปในทัพหลวง และได้ทรงพระนิพนธ์โคลงนิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์เป็นร่ายและโคลงสี่สุภาพหนึ่งร้อยหกสิบสามบท


พระกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๔


ในรัชกาลนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ไม่เพียงแต่จะทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์สำคัญ หากยังเป็นช่วงเวลาที่ทรงมีโอกาสได้ปฏิบัติพระกรณียกิจในเรื่องต่าง ๆ สนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่จนถึงบั้นปลายของพระชนมชีพ ทั้งทรงได้รับยกย่องในพระอิสริยยศและพระเกียรติคุณอย่างสูงสุด งานพระนิพนธ์ร้อยกรองหลายเรื่องเป็นวรรณกรรมที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญทั้งในรัชกาลที่ ๔ และในรัชกาลต่อมา

เหตุการณ์ในช่วงผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ ๓ เป็นรัชกาลที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ต้น ในฐานะที่ทรงเป็นเชฐมัตตัญญูในทั้งสองรัชกาล และทรงเป็นที่เคารพนับถือในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายทหารพลเรือนได้ประชุมปรึกษากัน แล้วพร้อมกันไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ และสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติทั้งสองพระองค์ การผลัดแผ่นดินจึงเป็นไปโดยเรียบร้อย เป็นผลให้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบอันเป็นเกียรติยศสูงสุด คือ ทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "กรมสมเด็จพระเดชาดิศร" หม่อมเจ้านฤมล พระธิดาพระองค์ใหญ่ ได้รับสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า (หญิง) นฤมลมณีรัตน และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีกระบวนแห่เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกไปสมโภช ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า "แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรนั้นทรงพระราชยานกง มีกระบวนแห่เครื่องสูงกลองชนะสังข์แตรด้วย ผิดกันกับพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง"[ง]

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงพระกรณียกิจที่สำคัญแต่ละเรื่องไปโดยลำดับ


ได้ทรงเลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร

แต่โบราณครั้งกรุงศรีอยุธยามา พระอิสริยยศเจ้าต่างกรมมีเพียงชั้นกรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง และกรมพระ ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กำหนดพระอิสริยยศเจ้าต่างกรมเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งเหนือชั้นกรมพระ นับเป็นกรมพระพิเศษ เรียกว่า "กรมสมเด็จพระ" ในหนังสือ ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวว่า พระอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เลื่อนได้มีเจ็ดชั้น คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กรมสมเด็จพระ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน และกรมหมื่น พระอิสริยยศ "กรมสมเด็จพระ" จึงนับว่าสูงเป็นลำดับที่สาม และในขณะนั้นไม่มีการสถาปนาตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแล้ว พระอิสริยยศจึงเป็นรองจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็นประถมรวมสามพระองค์ คือ

ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศและพระนามพระบรมอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด สมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ซึ่งทรงพระผนวชอยู่ เป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร เป็น กรมสมเด็จพระเดชาดิศร

มีข้อพึงสังเกตว่า การสถาปนาพระอิสริยยศครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงได้เลื่อนกรมจาก "กรมขุน" ขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระ" เลยทีเดียว ไม่ต้องเป็น "กรมหลวง" หรือ "กรมพระ" ก่อนตามลำดับ และในประกาศเลื่อนกรมระบุทรงให้ตั้งเจ้ากรมเป็น "พระยา" ส่วนเจ้านายอีกสองพระองค์นั้น "เจ้ากรม" เป็น "พระ" นับว่าทรงได้รับการยกย่องสูงกว่าเจ้านายสองพระองค์นั้น หลังจากนั้นแล้ว มิได้สถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่เจ้านายพระองค์ใดอีกจนสิ้นรัชกาล


ทรงกำกับราชการกรมนา

การปกครองบ้านเมืองในขณะนั้นแบ่งเสนาบดีเป็นหกตำแหน่ง ประกอบด้วย อัครมหาเสนาบดีสองตำแหน่ง คือ สมุหนายกบังคับกรมฝ่ายพลเรือน และสมุหพระกลาโหมบังคับกรมฝ่ายทหารทั่วไป ส่วนเสนาบดีอีกสี่ตำแหน่งเรียกว่าจตุสดมภ์ มีพระคลังกรมท่า กรมเมืองหรือกรมพระนครบาล กรมวัง และกรมนา นอกจากนี้ ยังมีกรมใหญ่ ๆ ที่มิได้ขึ้นกับเสนาบดีทั้งหกตำแหน่ง เจ้ากรมมีหน้าที่เสมอกับเสนาบดีหรือยิ่งกว่าเสนาบดีก็มีอีกหลายกรม

กรมนามีหน้าที่เป็นพนักงานดูแลรักษานาหลวง เก็บหางข้าวค่านาจากราษฎร จัดซื้อข้าวขึ้นฉางหลวงสำหรับจ่ายในพระราชวังและในพระนคร ทำตัวอย่างชักจูงให้ราษฎรทำนาโดยตัวเสนาบดีเองลงไถนาเป็นคราวแรกในแต่ละปีที่เรียกกันว่า "แรกนาขวัญ" ทำนุบำรุงไร่นาให้อุดมสมบูรณ์ และมีอำนาจตั้งศาลพิจารณาความที่เกี่ยวข้องด้วยที่นาและโคกระบือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงได้รับมอบหมายให้กำกับราชการกรมนาซึ่งเป็นกรมที่ใหญ่กว่ากรมพระอาลักษณ์ด้วยเจ้ากรมเป็นเสนาบดีเช่นนี้ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๔ จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๐๒


ทรงเป็นมหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐ

คำสรรเสริญพระปรีชาสามารถในทางภาษาและพระปัญญาอันเลิศนี้ปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นจอมปราชญ์ของไทยพระองค์หนึ่งซึ่งได้ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ขอให้ทรงช่วยคิดคำนำพระนามเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอแท้ ๆ ไม่ให้ใช้พ้องกับเจ้านายพวกที่มีมารดาเป็นคนต่ำศักดิ์ตระกูลหรือที่มิใช่เป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน ความในพระราชหัตถเลขานั้นว่า

"กราบทูลหารือในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ขอให้ทรงจัดแจงการเสียให้สมควร เพราระทรงนับถือจริง ๆ ว่า เปนผู้ใหญ่ในพระองค์เจ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยกัน แลทรงพระสติปัญญาสามารถ ฉลาดในโวหารอันควรแลไม่ควร แลสรรพพจนโวหารในสยามาทิพากย์พิเศษต่าง ๆ หาผู้จะเสมอมิได้ในกาลบัดนี้ ขอพระสติปัญญาทรงพระดำริห์ตั้งบัญญัติให้ดีให้สมควรสักเรื่อง ๑ ขอจงทรงโดยความตามพระหฤทัยเถิด อย่าเกรงใจใครเลย ทรงบังคับมาอย่างไร จะขอรับประทานทำตามทุกประการในเรื่องนี้ คำว่า พระเจ้าลูกเธอ ดังนี้ตามกฎหมายแลอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนเปนคำนำชื่อพระราชบุตรในพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในเวลาประจุบันนั้น ๆ แต่บัดนี้ คนเรียกสองพวกสามพวกไปจนเจ้านายที่มารดาต่ำชาติต่ำตระกูลไม่ควรจะเปนเจ้าจอมมารดาก็เรียกว่า พระเจ้าลูกเธอ เสียหมด...แลเจ้านายที่ควรเรียกว่า ลูกเธอ นั้นก็เรียกแต่ว่า พระองค์ นั้นเปล่า ๆ ดูถูกมากนัก ไม่ใคร่จะมีใครอ้างอิงนับถือ ด้วยเหนว่า เด็กแลบิดาแก่ชรา...เพราะฉะนั้น ขอพระดำริห์ในกรมเปนผู้ใหญ่ในราชตระกูลแลเปนมหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐทรงพระดำริห์ให้ตั้งคำนำชื่อพระเจ้าลูกเธอเสียใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าให้พ้องกับพวกอื่น..."[จ]

แม้จะสอบไม่พบหลักฐานว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร กราบบังคมทูลตอบว่าอย่างไร และได้ถวายความเห็นให้ทรงจัดระเบียบการใช้คำนำพระนามพระราชวงศ์โดยถือความสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินด้วยหรือไม่ แต่ต่อมา ได้มีประกาศพระบรมราชโองการและพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกมาเป็นหลายฉบับเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำกราบบังคมทูลต่าง ๆ รวมทั้งคำนำพระนามแทนคำ "พระเจ้าลูกเธอ" ที่ใช้กันมาช้านานโดยโบราณราชประเพณี และคำนำพระนามของเจ้านาย เช่น พระอัยการเธอ พระพี่ยาเธอ พระน้องยาเธอ พระลูกยาเธอ พระหลานเธอ ให้เป็นการนับความสัมพันธ์ฉันพระประยูรญาติกับพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง เจ้านายสายอื่นจะนำไปใช้นับความสัมพันธ์เช่นนั้นด้วยไม่ได้ หากจะพิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีกว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ทรงประกาศพระบรมราชโองการห้ามปรามโดยตรง ก็น่าจะเป็นเพราะปัญหาอันละเอียดอ่อนในหมู่พระราชวงศ์เช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยกลอุบายอันแยบคายเข้าช่วยด้วย จึงต้องมีพระราชหัตถเลขาขอให้พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ถวายความเห็นมาประกอบพระบรมราชวินิจฉัยก่อนที่จะมีประกาศพระบรมราชโองการใด ๆ ออกไป


ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ที่ทรงไว้ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนใหญ่เป็นฉันท์ดุษฎีสมโภชและประกาศพระราชพิธีเรื่องต่าง ๆ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือ ประกาศการพระราชพิธี ว่า นอกจากบรรดาประกาศในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งโดยมากเป็นพระราชนิพนธ์แล้ว ที่เหลือนอกนั้นมักเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น

๑. ประกาศพระราชพิธีสารท ประกาศพระราชพิธีสารทมีแปดฉบับ ที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มีสองสำนวน คือ ฉบับร่ายยาว และฉบับร่ายดั้น ฉบับร่ายดั้นนี้ได้ใช้ในพระราชพิธีสารทสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ จนโปรดให้เลิกพิธีกวนข้าวทิพย์ จึงตัดตอนที่ว่าด้วยการกวนข้าวทิยพ์ออกแล้วใช้กันต่อมา ประกาศฉบับอื่น ๆ ที่เป็นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ก็ได้แก้ไขจากพระนิพนธ์ฉบับร่ายดั้นนั้น

๒. ประกาศพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลใหม่ เป็นร่ายยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงแต่งขึ้นแทนฉบับที่ใช้กันมาแต่เดิม ส่วนคาถาข้างต้นน่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ และได้ใช้กันต่อมาจนในรัชกาลที่ ๖

๓. ประกาศพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน เป็นร่ายยาว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ทรงให้ความเห็นไว้ว่า จะเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงแต่งหรือผู้ใดแต่งไม่ทราบแน่ชัด พระราชพิธีคเชนทรัศวสนานเป็นพิธีโบราณ กระทำในเดือนห้า มีการบำเพ็ญพระราชกุศล เชิญพระแสงทั้งปวงออกประดิษฐานในพิธี อาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธี เวลาบ่ายมีกระบวนแห่ช้าง ม้า โค กระบือ ทหารปืนใหญ่ปืนเล็ก เป็นต้น และมีบายศรีสมโภชเวียนเทียนพระยาช้างต้นม้าต้น ประกาศพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานได้ใช้ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแต่พระปรมาภิไธยและชื่อพระยาช้างต้นม้าต้น จนเลิกพิธีในรัชกาลที่ ๕ นั้น

๔. ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตร มีสามเรื่อง คือ ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เดิมในพระบรมมหาราชวัง) ด้วยในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่า งานบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ประกอบกับในรัชกาลของพระองค์นั้นอยู่ในเดือนหกซึ่งเจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ มาแต่เดิม จึงควรจัดให้เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ การพระราชกุศลอย่างใหม่นั้นพระราชทานชื่อว่า "พระราชพิธีฉัตรมงคล" ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรทั้งสามเรื่องนี้ได้ใช้ในพระราชพิธีฉัตรมงคลต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕

๕. ฉันท์กล่อมมงคลคเชนทรชำนิเผือกพลาย บทกล่อมช้างชุดนี้ไม่ทราบว่าทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อใด ผู้เขียน[ฉ] ได้สอบบัญชีรายชื่อพระยาช้างต้นที่สมโภชขึ้นระวางในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ แล้ว ไม่พบว่า มีช้างต้นที่ได้รับพระราชทานนามดังกล่าว ฉันท์บทนี้ได้รวมพิมพ์ไว้ในหนังสือ ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย เล่ม ๑ หากพิเคราะห์โดยชื่อแล้ว ก็น่าจะเป็นบทกล่อมช้างต้นทั้งที่เป็นช้างงา ช้างเผือก และช้างพลายรวม ๆ กัน

๖. ฉันท์ดุษฎีสังเวยพระพุทธบุษยรัตน์ เนื้อความกล่าวถึงประวัติพระพุทธบุษยรัตน์ การอัญเชิญจากเมืองจำปาศักดิ์มาประดิษฐานในกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๒ จนถึงการสมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึงสองปี พระนิพนธ์เรื่องนี้จึงน่าจะได้ใช้ในการสมโภชพระพุทธบุษยรัตน์วาระต่าง ๆ แล้วมีผู้แต่งต่อในภายหลังด้วย

๗. คำฤษฎี เป็นหนังสืออธิบายความหมายศัพท์แบบพจนานุกรม โดยแยกหมวดอักษรอย่างคร่าว ๆ ศัพท์ที่รวบรวมไว้มีทั้งคำภาษาบาลี คำบาลีแผลงเป็นสันสกฤต คำเขมร ลาว ไทย และคำโบราณจากหนังสือต่าง ๆ สำหรับผู้แต่งร้อยกรองได้ใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มที่หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้เพิ่มเติมคำและตรวจแก้ในส่วนที่บกพร่อง ส่วนเล่มที่สอง สมด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงร่วมกันรวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย


สิ้นพระชนม์


ใน พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองทะเลตะวันตก เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร ปรากฏความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

"ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี เข้าไปเฝ้าที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ยินดีที่เสด็จกลับมา เสด็จออกตรัสอยู่ด้วยจนเวลา ๔ ทุ่ม

"ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง กรมสมเด็จพระเดชาดิศรประชวรลมสิ้นพระชนม์ พระชนม์นับเรียงปีได้ ๖๗ พรรษา"[ช]

วันที่สิ้นพระชนม์ที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวน่าจะคลาดเคลื่อน เพราะผู้เขียน[ฉ] สอบปฏิทินแล้ว วันจันทร์ เดือน ๑๐ ปี มะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ จะต้องเป็นวันขึ้น ๙ ค่ำ อันตรงกับวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๒

การพระราชทานเพลิงศพ พระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันบันทึกไว้ว่า

"จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอก โทศก (พ.ศ. ๒๔๐๓) เป็นปีที่ ๑๐ ได้ทำการเมรุผ้าขาวกรมสมเด็จพระเดชาดิศรที่ท้องสนามหลวง วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑ ค่ำ ชักพระศพไปเข้าเมรุ ณ วันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ได้พระราชทานเพลิง"

วันพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระเชฐมัตตัญญูและมหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๓


ทรงเป็นต้นราชสกุลเดชาติวงศ์


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงเป็นต้นราชสกุล "เดชาติวงศ์" หลวงราชภักดี (หม่อมหลวงเสงี่ยม เดชาติวงศ์) กรมการฝ่ายเหนือ กระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นหลานทวดและเป็นผู้สืบสายสกุล ได้รับพระราชทานนามสกุล "เดชาติวงศ์" (Dejâtivongse) จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลำดับที่หนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบสาม เมื่อวันพุธที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗