พงศาวดารมอญพม่า

จาก วิกิซอร์ซ
กลับไปหน้าหลัก
ก่อนหน้า ถัดไป
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
== บานแพนกเดิม ==

๏ ศุภมัสดุลุศักราช ๑๒๓๑ สัปสังวัจฉรบุศยมาศกาฬปักษ เอกาทศมีดิถีครุวารปริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว อันเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเศกผ่านพิภพ กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน

เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสวริยพิมานโดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยพระบรมราชวงษานุวงษ์ แลข้าทูล ลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย เฝ้าเบื้องบาทบงกชมาศ
จึงพระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมพระอาลักษณ
แลกรมอักษรพิมพ์

ให้จัดหาหนังสือเรื่องพระราชพงษาวดารลำดับกระษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ สร้างไว้สำหรับทรงทอดพระเนตร เปนเครื่องประดับพระปัญญา แลสำหรับแผ่นดินสืบไป
จึงพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ได้จัดอาลักษณจำลองเรื่องพระราชพงษาวดารลำดับกระษัตริย์ในประเทศต่าง ๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหลายภาษา

แลเรื่องพระราชพงษาวดารฝ่ายประเทศสยาม แลประเทศจีนนั้น นักปราชแลผู้มีบันดาศักดิได้ฟังได้รู้เรื่องด้วยกันเปนอันมาก แต่เรื่องพระราชพงษาวดารพม่ามอญนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งขุนสุนทรโวหารในกรมพระอาลักษณ แลขุนอักษรรามัญ นายขำเปรียญ นายสุดเปรียญ นายจุ ๑ รวม ๔ นายเปนล่ามแปลคัดออกจากหนังสือรามัญใบลานเปนภาษาสยาม เมื่อจุลศัก ราช ๑๒๑๙ ปีมเสงนพศก เดือนเจ็ดแรมสองค่ำวันอังคาร
แต่ท่อนปลายนั้นได้เรียงตามจดหมายเหตุเมืองหงษาวดีเมืองอังวะต่อเข้าในท่อน ต้น ครั้นเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ในหอหลวง ยังไม่ใคร่จะแพร่งพรายรู้เรื่องทั่วกันไป

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าในประเทศพม่ามอญนี้ ก็มีเรื่องลำดับกระษัตริย์ต่อ ๆ กันมาหลายชั่วจนถึงทุกวันนี้ ควรที่นักปราชแลผู้มีบันดาศักดิจะรู้ไว้ในเรื่องลำดับกระษัตริย์ แห่งประเทศต่าง ๆ
เปนเครื่องประดับปัญญาให้รอบรู้ โดยธรรมเนียมที่ประพฤติการแลมีอุบายต่างกันทุก ๆ ภาษา

ได้ตีพิมพ์ณโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง กล่าวความแต่ต้นดังนี้




== พงษาวดารมอญพม่า ==


๏ เมื่อจุลศักราชในปฐมปริเฉทได้ ๕๒๒ ปีเดือนห้าแรมเก้าค่ำวันพุฒสมเด็จพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแล้วแปดพรรษา ในพรรษาเปนที่ครบแปดนั้น เสด็จเที่ยวจาริกมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งบัดนี้เปนที่ตั้งเมืองหงษาวดีในประเทศรามัญ ครั้งนั้นประเทศซึ่งจะเปนที่ตั้งเมืองหงษาวดี ยังเปนทเลอยู่ แต่ภูเขาสุทัศนนั้น เมื่อน้ำแห้งงวดลงไปผุดขึ้นสูงประมาณยี่สิบสามวา แลดูแต่ไกลเหมือนพระเจดีย์ ครั้นน้ำขึ้นเปี่ยมฝั่งเห็นพอกะเพื่อมน้ำอยู่ เพราะเหตุนั้นพวกรามัญจึงเรียกว่าสุทัศนบรรพต ครั้นกาลล่วงมาภายหลัง ไม้รกฟ้างอกขึ้นบนยอดเขานั้นต้นหนึ่ง เรียกว่าเขาสุทัศนมรังสิตผุดขึ้นมา คำที่ว่าผุดขึ้นมานั้น ครั้นนานมาก็เปลี่ยนแปลงไป พวกรามัญทั้งหลายเรียกว่ามุตาวจนทุกวันนี้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงประเทศที่จะตั้งเมืองหงษาวดีนั้น พระองค์ผินพระภักตร์ตรงไปข้างทิศตวันออก ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นหงษ์ทองสองตัวลงเล่นน้ำอยู่ พระองค์จึงทรงทำ นายว่ากาลสืบไปภายน่าประเทศที่หงษ์ทองทั้งสองลงเล่นน้ำนั้น จะเปนมหานครขึ้น ชื่อว่าเมืองหงษาวดี แลจะเปนที่ตั้งพระธาตุสถูปเจดีย์พระศรีมหาโพธิ พระสาสนาคำสั่งสอนของเราจะรุ่งเรืองตั้งอยู่ในที่นี้ พระองค์ทรงทำนายไว้ดังนี้ ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้านิพพานล่วงไปแล้วได้ ๑๐๐๐ ปี หาดทรายที่ภูเขาสุทัศนมรังสิตนั้น ตื้นขึ้นมาประมาณได้สิบสามวา ข้างทิศใต้นั้นเมื่อน้ำขึ้นเปี่ยมฝั่งแล้วฦกได้แต่สามวา

๏ ครั้งนั้นมีเรือเภตราใหญ่ลำหนึ่งแล่นข้ามมาแต่เมืองพิทยานคร จะไปค้าขายณเมืองสุวรรณภูมิ์เมื่อแล่นมาถึงประเทศที่จะตั้งเมืองหงษาวดี แขกพวกเรือเภตราได้เห็นหงษ์ทองสองตัว ซึ่งเนื่องมาแต่ตระกูลหงษ์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นแล้วในกาลก่อน นั้น ลงมาเล่นน้ำอยู่บนหาดทราย ก็พากันพิศวงเชยชมหงษ์นั้น ครั้นกลับไปถึงเมืองพิทยานคร แขกนายเรือขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าบัณฑุราชา ๆ ได้ทราบเหตุมหัศจรรย์ดังนั้นแล้วจึงตรัสถามอาจารย์ผู้หนึ่ง ชื่ออาทิตยภารทวาชะเปนผู้ฉลาดรู้ไตรเพท รู้ฤกษ์ดิถีแลคัมภีร์ต่าง ๆ รู้จด หมายเหตุน้อยใหญ่ก็มาก อาจารย์อาทิตยภารทวาชกราบทูลว่า ในคัม ภีร์จดหมายเหตุมีมาว่า ครั้งพระโคตมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ เสด็จไปสู่เมืองสุธรรมวดีนั้น ครั้นเสด็จมาถึงประเทศที่หงษ์ทองทั้งสองลงเล่นน้ำนั้น ได้ทรงทำนายไว้ว่า ที่นั้นนานไปภายน่าจะเปนที่ตั้งพระนครขึ้นแห่งหนึ่ง แม้ถึงในตำราไตรเพทก็มีความว่าไว้อย่างนั้นด้วย พระเจ้าบัณฑุราชา จึงตรัสว่าถ้าอย่างนั้นจำเราจะให้ข้ามไปกำหนดจดหมายไว้ให้เปนสำคัญเสียก่อน จึงจะชอบ นานไปภายน่าจะได้เปนอาณาเขตรของเราสืบไป แล้วจึงให้เอาเสาศิลาท่อนหนึ่งยาวเจ็ดศอกใหญ่ห้ากำ ให้จาฤกอักษรศักราชปีเดือนวันคืนขึ้นแรมไว้ว่า ประ เทศที่นี้พระเจ้าบัณฑุราชาผู้ครองเมืองพิทยานครได้มาจองไว้เปนสำคัญ แล้วจึงให้หุ้มเสาศิลาไว้ด้วยแผ่นเหล็กดีทำให้แน่นหนาเสร็จแล้ว ให้อาจารย์อาทิตยภารทวาชะคุมพวกแขกห้าร้อยลงเภตราข้ามมาถึงประเทศที่จะตั้ง เมืองหงษาวดี พอเปนเวลาน้ำขึ้นเข้าทอดสมออยู่ริมฝั่งใกล้ภูเขาตำบลหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ข้างทิศใต้แห่งภูเขาสุทัศนมรังสิต ภูเขานั้นพวกรามัญเรียกว่าภูเขาซอยกะบัง คำไทยว่าเปนที่รั้งเรือทเล อาจารย์อาทิตยภารทวาชะก็ลงเรือสัดจองตีกันเชียงไปดูที่ไชยภูมิ์ ซึ่งจะเปนที่ตั้งพระนครได้ จึงได้เห็นหาดทรายที่หงษ์ทองทั้งคู่ลงมาจับอยู่นั้นสมควรจะเปนที่ตั้ง ราชธานีได้ แล้วให้ปักเสาศิลาลงไว้ในที่นั้นให้เปนสำคัญ ครั้นเสร็จการแล้วก็แล่นเภตรากลับมาเมืองพิทยานคร ตั้งแต่พระเจ้าบัณฑุราชาให้อาจารย์อาทิตยภารทวาชะข้ามมาปักเสาศิลานั้นครั้น ล่วงไปอิกร้อยหกสิบปี หาดทรายที่หงษ์ทองทั้งคู่เคยมาจับอยู่นั้นตื้นดอนขึ้นเปนแผ่นดิน ในเมืองพิทยานครนั้นเล่า พระเจ้าบัณฑุราชาล่วงไปแล้ว บุตรพระเจ้าบัณฑุราชาชื่อสาติราชา ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา ครั้นพระเจ้าสาติราชาล่วงไปแล้ว พระราชกุมารองค์หนึ่งชื่อว่าบัณฑุราชเปนบุตรพระเจ้าสาติราชา ได้ครองราชสมบัติสืบไป เมื่อพระเจ้าบัณฑุราชได้ราชสมบัตินั้น ได้ทราบว่าเสาศิลาซึ่งพระเจ้าปู่ให้ข้ามไปปักไว้นั้น จะมีผลประโยชน์อยู่ จึงให้อำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อสจาตทุโลคุมพวกแขกเจ็ดสิบคน ให้ข้ามมาอยู่รักษาประเทศที่จะตั้งเมืองหงษาวดีนั้นไว้ ตั้งแต่สจาตทุโลข้ามมารักษาอยู่นั้น ล่วงไปอิกห้าสิบหกปีประเทศที่จะตั้งเมืองหงษาวดีนั้นดอนขึ้น บางแห่งเปนที่ไร่นา บางแห่งเปนป่ารนามรกชัฎอยู่

๏ ครั้งนั้นในเมืองอรินทรบุรีคือเมืองภุกาม พระเจ้าโกวะธรรมได้ครองราชสมบัติในเมืองสุธรรมวดีคือเมืองสเทิมนี้ พระเจ้าอรินธมราชได้ครองราชสมบัติ ฝ่ายข้างทิศใต้ป่าเมาะตมะ มีเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองรัมวดี คือเมืองร่างกุ้ง พระเจ้าแผ่นดินที่ได้ครองราชสมบัติในเมืองรัมวดีนั้นเจ็ดองค์ ๆ เปนคำรบเจ็ดนั้น ทรงนามพระเจ้าเสนะคงคา ในภูเขาแครงนาคคือภูเขาหงอนนาคนั้น มีพระฤาษีองค์หนึ่งชื่อโลมดาบศอาไศรยอยู่ ยังมีนางนาคตัวหนึ่งแปลงเพศเปนนางกุมารีขึ้นมาเที่ยวอยู่ที่ภูเขาแครงนาค ครั้งนั้นยังมีเพทยาธรคนหนึ่ง เปนบุตรพระเจ้ากระลึงคราษฐ์เที่ยวมาถึงภูเขาแครงนาค ครั้นเห็นนางนาคกุมารีรูปงามก็มีจิตรรักใคร่ ได้ร่วมสังวาศกับนางนาคกุมารีนั้น นางนาคก็มีครรภ์ตกฟอง ๆ หนึ่งสีขาวสอาดเหมือนสีเงิน เพทยาธรได้เห็นฟองนาค จึงรู้ว่านางกุมารีนั้นเปนชาตินาค ก็มีจิตรเบื่อหน่ายหลีกหนีไปจากที่นั้น นางนาคก็ทิ้งฟองไว้ในที่นั้น ก็กลับลงไปเมืองนาค เพลาวันหนึ่งพระโลมดาบศเที่ยวหาผลไม้ ได้เห็นฟองนาคก็เก็บมารักษาไว้ ครั้นถึงกาลถ้วนกำหนดสิบเดือน ฟองนั้นก็แตกออกเปนกุมารีมีรูปศรีอันงาม พระโลมดาบศก็เลี้ยงรักษาไว้เมื่อนางกุมารีจำเริญขึ้นตั้งอยู่ในประถมไวยนั้น นายพรานคนหนึ่งเปนชาวเมืองรัมวดีได้เห็นนางกุมารีรูปงามประหลาดก็ไปทูลพระ เจ้าเสนะคงคาให้ทราบ พระเจ้าเสนะคงคาจึงใช้อำมาตย์คนหนึ่งออกไปขอต่อพระโลมดาบศ ครั้นได้มาแล้วจึงตั้งให้เปนอรรคมเหษีทรงพระนามพระวิมลาราชเทวี มีพระโอรสสององค์ พระราชกุมารผู้พี่ประสูตรเมื่อเพลามีสุริยคาห จึงให้ชื่อว่าสมละกุมาร พระราชกุมารผู้น้องนั้นประสูตรเมื่อพระอาทิตย์เปนสุริยคาหแล้ว แลเปนเพลาโมกข บริสุทธิ จึงให้ชื่อว่าวิมลกุมาร เมื่อพระราชกุมารทั้งสองนั้นจำเริญไวยใหญ่ขึ้นแล้ว พระอรรคมเหษีผู้เปนมารดานั้นก็มีจิตรกำเริบด้วยโทษะเกล้า เมื่อพิโรธขัดเคืองทาษทาษีนางสนมผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ตายด้วยกำลังพิศม์นาค เพราะพระอรรคมเหษีนั้นเปนชาตินาคมาแต่เดิม พระเจ้าเสนะคงคาทราบเหตุนั้น จึงตรัสถามเสนามาตย์ราชปโรหิตว่า นางเปนอย่างนี้จะมีเหตุประการใด ปโรหิตผู้หนึ่งได้ทราบความมาแต่บิดาของตนได้บอกเล่าไว้ว่า พระราชเทวีเปนชาตินาค จึงกราบทูลตามเรื่องความที่ตนได้ฟังมาให้พระเจ้าเสนะคงคาทราบ แล้วพระเจ้าเสนะคงคาตรัสสั่งให้ปโรหิตประกอบยาให้พระอรรคมเหษีประพรมผัดต่าง แป้งนวน พระอรรคมเหษีนั้นเปนชาตินาคจริง ครั้นถูกต้องยานั้นแล้วก็เกิดโรคซูบผอมอิดโรยถอยกำลังไปถึงแก่กรรม คนทั้งหลายจึงรู้ว่านางเปนชาตินาคจริง อำมาตย์ทั้งปวงได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็ไม่ยอมให้พระราชกุมารทั้งสองอยู่ในพระนคร จึงกราบทูลให้เชิญพระราชกุมารทั้งสองนั้น มามอบให้แก่พระโลมดาบศผู้เปนพระไอยิกาไว้ พระราชกุมารทั้งสองพี่น้องจึงไปถวายตัวทำราชการอยู่ในพระเจ้าอรินทรธมราช ณเมืองสุธรรมวดีแลพระราชกุมารทั้งสองนี้รูปงาม กิริยาอาการก็เรียบร้อย แล้วฉลาดในราชกิจน้อยใหญ่ด้วย เปนคนโปรดสนิทชิดใช้ในพระเจ้าอรินธมราช ๆ ทรงใช้สอยเข้าออกณภายใน นางภัทราราชกุมารีผู้เปนพระธิดาของพระเจ้าอรินธมราชมาผูกพันรักใคร่กับสะมล กุมาร ครั้นพระเจ้าอรินธมราชทราบเหตุนั้น ก็ทรงพระโกรธ ตรัสสั่งจะให้จับพระราชกุมารทั้งสองประหารชีวิตรเสีย พระราชกุมารทั้งสองนั้นรู้ตัวก็รีบหนีมาหาพระโลมฤๅษี แล้วบอกความนั้นให้ทราบทุกประการ พระฤๅษีจึงสั่งสอนว่าหลานทั้งสองอย่าอยู่ในที่นี้เลย พระเจ้าอรินธมราชทราบแล้วราชไภยคงจะมาถึงตัวหลานทั้งสองเที่ยงแท้ ประเทศที่หงษาวดีมีในที่โน้น คำโบราณเล่าสืบ ๆ กันมาว่าจะเปนราชธานีใหญ่ขึ้นเมืองหนึ่ง บัดนี้ประเทศที่นั้นดอนขึ้นเปนแผ่นดินแล้ว แต่ยังไม่เปนอาณาเขตรของผู้ใด หลานทั้งสองจงข้ามไปตั้งอยู่ที่นั้นเถิดจะพ้นไภยันตรายแลอยู่เกษมศุขสืบไป พระราชกุมารทั้งสองรับคำพระดาบศแล้ว ก็เที่ยวเกลี้ยกล่อมได้คนร้อยเจ็ดสิบคน จึงเอาไม้ไผ่มัดเข้าเปนแพสิบเจ็ดแพ ครั้นถึงเทศกาลเดือนสิบสอง ก็พากัน ลงแพทั้งร้อยเจ็ดสิบคน สิบคนต่อแพ แล้วข้ามมาจากฝั่งภูเขาแครงนาคไปข้างทิศตวันตกจนถึงประเทศหงษาวดีแล้ว เข้าจอดแพอยู่ข้างริมภูเขาซอยกะบัง ที่ท่าชื่อว่าละเดชทั้งสิบเจ็ดแพ แล้วพากันขึ้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่สมควรทั้งร้อยเจ็ดสิบคนแล้ว คนทั้งหลายที่อยู่บ้านชายป่าข้างทิศตวันตกนั้น ครั้นรู้ว่าพระราชกุมารทั้งสองข้ามมาตั้งอยู่ในที่นั้น ก็แตกตื่นพากันมาอยู่ด้วยพระราชกุมารทั้งสิ้น ได้คนประมาณพันเศษ พระราชกุมารทั้งสองจึงคิดปฤกษากันว่า บัด นี้พวกพลของเราก็มากขึ้นแล้ว เราจะสร้างพระนครเปนที่อาไศรยอยู่ในประเทศทีไรเล่า

๏ ขณะนั้นสมเด็จอมรินทราธิราช ได้ทราบความดำริห์ของพระราชกุมารทั้งสองนั้นแล้ว ก็ทรงรฦกถึงพระพุทธพยากรณ์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ทำนายไว้แต่ก่อนนั้นด้วย จึงแปลงเพศเปนพราหมณ์นครวัฒกี ถือเชือกประดับพลอยเท่าผลมะยมเปนสายบันทัดวัดที่ ๆ จะสร้างพระนคร เสด็จลงมาสู่สำนักนิ์พระราชกุมารแล้วจึงถามว่า ท่านทั้งสองนั่งปฤกษากันด้วยการสิ่งไร พระราชกุมารทั้งสองบอกว่า ข้าพเจ้าทั้งสองนี้คิดปฤกษากันถึงประเทศที่จะสร้างพระนครเปนที่อาไศรย นายนครวัฒกีจึงตอบว่า ถ้าดังนั้นท่านทั้งสองอย่าวิตกเลย การทั้งนี้ไว้เปนพนักงานของเรา ๆ จะช่วยจัดแจงสร้างให้ได้ดังประสงค์ พระราชกุมารทั้งสองกับคนห้าร้อยเศษได้ยินดังนั้นแล้ว ก็ชื่นชมยินดียิ่งนัก

๏ พระอินทรนครวัฒกีทรงยืนอยู่ในข้างทิศพายัพแล้ว ก็ทอดพระเนตรดูไปเห็นประเทศข้างทิศตวันออกที่หงษ์ทองจับอยู่นั้น เปนที่ไชยภูมิ์ สมควรจะสร้างพระนครได้ แต่ประเทศที่นั้นสจาตทุโลกับพวกแขกสิบเจ็ดคนไปตั้งรักษาอยู่ พวกสจาตทุโลเห็นนายนครวัฒกีมาจัดแจงการจะสร้างพระนครดังนั้นจึงห้ามว่า ดูกรอาจารย์ตัวท่านก็เปนพราหมณ์ ท่านจงประพฤติให้ถูกต้องโดยชอบธรรมเถิด อย่าบังอาจข่มเหงเราไม่ชอบ ด้วยที่ตำบลนี้เปนที่ของเรา พระเจ้าบัณฑุราเยนผู้ครองเมืองพิทยานาครัมตรัสให้เราทั้งปวงมารักษาไว้ ท่านจะมาสร้างเมืองลงในที่ของเรานี้ไม่ควร นายนครวัฒกีจึงตอบว่าประเทศที่นี้เราได้สังเกตกำหนดไว้แต่ก่อนแล้ว ว่าจะสร้างพระนคร บัดนี้ท่านว่าเปนของท่านไม่ชอบ ถ้าเปนที่ของท่านจริงแล้ว สิ่งของสำคัญที่ท่านจดหมายไว้มีอยู่ฤาประ การใด พวกสจาตทุโลตอบว่า แต่ก่อนประเทศที่นี้ยังเปนทเลฦกได้สิบสามวา พระเจ้าบัณฑุราเยนเจ้าของเราได้ให้เอาเสาศิลามาทิ้งไว้ท่อนหนึ่ง ยาวเจ็ดศอกใหญ่ห้ากำ ได้จาฤกอักษรศักราชปีเดือนวันคืนขึ้นแรมไว้เปนสำคัญ มีแจ้งอยู่จนทุกวันนี้ เราจึงว่าเปนของเรา นายนครวัฒกีจึงตอบว่า ซึ่งท่านทั้งปวงได้จาฤกจดหมายอักษรในสิ่งของให้เปนสำคัญ แล้วทิ้งลงไว้เมื่อน้ำฦกได้สิบสามวานั้น เปนการทำในภายหลังเราดอก เราได้จดหมายจองไว้แต่เมื่อน้ำฦกได้ ๒๓ วาโน้นแล้ว เมื่อประเทศที่นี้ยังเปนทเลน้ำฦกได้ ๒๓ วานั้น เราได้เอาเสาทองคำท่อนหนึ่งยาวเจ็ดศอกใหญ่เจ็ดกำ ได้จาฤกอักษรมาทิ้งไว้เปนสำคัญมีแจ้งอยู่จนทุกวันนี้ เราจึงว่าประเทศที่นี้เปนของเราก่อน สจาตทุโลจึงว่า ถ้ามีจริงอย่างท่านว่านั้นแล้วเพลาพรุ่งนี้ท่านจงเอาของสำคัญมาชี้ให้เรา เห็น เราก็จะเอาของสำคัญของเรามาชี้ให้ท่านดู ถ้าสมจริงดังท่านว่านั้นแล้วข้าพเจ้าจะทุ่งเถียงกะไรได้เล่า นายนครวัฒกีกับ สจาตทุโลได้สัญญากันไว้ฉนี้ ในเพลากลางคืนวันนั้นสมเด็จอมรินทราธิราชจึงนฤมิตรเสาทองคำทั้งแท่งท่อน หนึ่ง พร้อมไปด้วยลายลักษณอักษรศักราชปีเดือนวันคืนขึ้นแรมให้มีไว้ ฦกลงไปแต่ใต้เสาศิลาของพวกแขกอิก ๑๐ วา

๏ ครั้นณวันรุ่งขึ้นคนทั้งสองฝ่ายมาประชุมกันพร้อมแล้ว สจาตทุโลจึงให้พวกแขกขุดลงไปฦกสิบสามวา เอาเสาศิลาขึ้นมาชี้บอกแก่นายนครวัฒกีมีทั้งลายลักษณอักษร ฝ่ายนายนครวัฒกีก็ให้พวกมอญขุดแต่ใต้เสาศิลาฦกลงไปอิก ๑๐ วา เอาเสาทองคำขึ้นมาชี้ให้สจาตทุโลกับพวกแขกเห็น พวกมอญทั้งปวงก็ได้เห็นเสาทองคำทั้งศักราชปีเดือนวันคืนขึ้นแรม ประจักษ์แจ้งตามสัญญาที่ได้ว่าไว้แต่ก่อน สจาตทุโล พวกแขกทั้งปวงได้เห็นเสาทองคำทั้งจาฤกจดหมายเปนสำคัญ จริงดังนั้นแล้ว ก็กลัวไม่อาจโต้ตอบทุ่งเถียงได้ ก็แพ้นายวัฒกีไปตามสัญญา ประเทศที่พระอินทรกับพวกแขกวิวาทกันแลชี้ของสำคัญแก่กันนั้นเปนกลางเมือง เรียกว่าอินทจักรเมือง ครั้นภายหลังสร้างพระสถูปลงไว้ในที่นั้น เรียกว่ากยัดเติง คือพระเจดีย์เห็นหลัก ครั้นพวกแขกแพ้นายนครวัฒกีตามสัญญานั้นแล้ว พวกรามัญจึงขับไล่พวกแขกเสียจากที่นั้น สจาตทุโลกับบริวารทั้งปวงยกเสาศิลาลงแพแล้วก็ถอยแพออกไปจากที่นั้น ประเทศที่ถอยแพไปนั้น รามัญเรียกว่าตะรางจาเรดะ แปลว่าประตูที่ถอยแพไป เมื่อแพถอยออกไปจากที่นั้นแล้ว แพก็ถอยไปข้างทิศหรดี ครั้นถึงที่ตำบลแห่งหนึ่งเสาศิลานั้นก็ตกน้ำลงไป ประเทศที่เสาศิลาตกน้ำนั้นรามัญเรียกว่าเติงตะโมะ คำไทยว่าหลักศิลา พวกสจาตทุโลล่องแพไปถึงที่ตำบลแห่งหนึ่ง จอดแพไว้ในที่นั้น จึงปฤกษากันว่าเสาศิลาของเราก็ตกน้ำเสียแล้ว เรือใหญ่ที่จะแล่นข้ามไปเมืองเราก็ไม่มี ยากที่เราจะข้ามไปถึงเมืองพิทยานครได้ อนึ่งแม้เราข้ามไปถึงเมืองได้เล่า พระเจ้าบัณฑุราชาคงลงราชทัณฑ์แก่เราทั้งปวงเปนมั่นคง อนึ่งพระเจ้าบัณฑุราชาเล่า เมื่อทรงทราบเหตุนี้แล้วคงเคืองแค้นพระไทย แล้วจะยกกองทัพข้ามมาตีเอาประเทศหงษาวดีนี้อิกเปนเที่ยงแท้ จำเราจะหยุดอยู่ที่นี้คอยท่ากองทัพเจ้าของเราข้ามมาก่อนจึงจะชอบ ครั้นคิดดังนั้นแล้ว สจาตทุโลกับพวกแขกทั้งปวงก็พากันขึ้นไปตั้งโรงหยุดพักอยู่ในที่นั้น ประเทศที่พวกแขกขึ้นมาตั้งโรงอยู่นั้นรามัญเรียกว่าตายคะลา คำไทยว่าโรงแขก

๏ ฝ่ายพระอินทรก็ให้พวกมอญเอาเสาทองคำนั้นไปฝังไว้ในข้างทิศใต้ครั้นภายหลัง ประเทศที่ฝังเสาทองคำไว้นั้น พวกรามัญได้ก่อพระสถูปบรรจุพระเกษธาตุไว้องค์หนึ่ง เรียกว่าพระเจดีย์ได้ชนะ ครั้งนั้นพระอินทรนครวัฒกีก็เริ่มการจะสร้างพระนคร ทรงจับเชือกประดับพลอยอันมีสัณฐานประมาณเท่าผลมะยม ก็กระทำประเทศที่ได้เสาทองคำขึ้นมาที่หงษ์ทองทั้งคู่เคยจับอยู่แต่ก่อนนั้น ให้เปนอินทจักรกลางเมือง แล้วออกไปยืนอยู่ข้างทิศตวันออก ปักหลักไว้หลักหนึ่ง จึงเอาต้นเชือกผูกไว้กับหลักนั้นให้มั่น ชักปลายเชือกหันไปข้างทิศเหนือเวียนไปข้างทิศพายัพ ปักหลักขึงเชือกไว้อิกหลักหนึ่งในทิศพายัพนั้น แล้วจับปลายเชือกหันไปข้างทิศตวันออก เลี้ยงไปข้างทิศอิสาณ ปัก หลักขึงเชือกไว้อิกหลักหนึ่ง แล้วชักปลายเชือกหันไปข้างทิศใต้เวียนไปข้างทิศอาคเณย์ ปักหลักขึงเชือกไว้อิกหลักหนึ่ง แล้วชักปลายเชือกหันไปข้างทิศตวันตก เลี้ยวไปข้างทิศหรดี ปักหลักขึงเชือกอิกหลักหนึ่ง แล้วชักปลายเชือกหันไปข้างทิศเหนือ จะไปประจวบต้นเชือกในหลักซึ่งมีในทิศพายัพนั้นเมื่อขณะหันเข้าไปในทิศพายัพ ยังไม่ทัน ถึงหลัก เชือกพลอยก็ขาดลง พระอินทรนครวัฒกีก็หยุดอยู่ในที่นั้น ประเทศที่เชือกพลอยขาดไปนั้นรามัญเรียกว่าพลอยทะกุด คำไทยว่าพลอยขาด ตั้งแต่นั้นมาด้วยเดชอานุภาพผลกุศลของพระราชกุมารทั้งสอง ได้สร้างกำแพงค่ายคูประตูหอรบ ทั้งพระราชวังปราสาททองเรือนยอด เสร็จตามพระพุทธทำนายนั้นแล้ว จึงสมมตนามชื่อว่าเมืองหงษาวดี ได้ราชาภิเศกสมลราชกุมารผู้พี่ด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า คือพระมหามกุฏหนึ่ง พระขรรค์แก้วหนึ่ง ฉลองพระบาทหนึ่ง ฉลองพระองค์หนึ่ง เสวตรฉัตรหนึ่ง เปนเอกราชได้ครองศิริราชสมบัติในเมืองหงษาวดี สมเด็จอมรินทราธิราชเสด็จลงมาสร้างเมืองหงษาวดี เมื่อศักราชในตติยปริเฉทได้ ๕๑๔ ปี เดือนสามแรมค่ำหนึ่งวันจันทรมฤคศิรฤกษ์ ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคย์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้วได้ ๑๑๑๖ พรรษา กระษัตริย์ซึ่งได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดี ตั้งแรกเปนประถมกระษัตริย์นั้นคือ สมลกุมารทรงพระนามพระเจ้าสักรทัต ๑ วิมะละกุมารผู้เปนพระอนุชาทรงพระนามพระเจ้าสักรทัตที่สอง ๑ พระเจ้าอะสะผู้เปนพระโอรสพระเจ้าสะมะละทรงพระนามพระเจ้าสัตรูชินราช ๑ พระเจ้าอรินทะมะผู้เปนโอรสพระเจ้าอะสะได้หอกเพ็ชร ๑ มหิงสะกุมารผู้เปนโอรสพระเจ้าอรินทะมะทรงพระนามพระเจ้าปดิภัทร ๑ พระเจ้านาคินทราชได้ช้างชะนะ ๑ พระเจ้ามิคาทีปะใหญ่ ๑ พระเจ้าคัชะปิยะราช ๑ พระเจ้ากะระวิกะธานีได้นกกะระเวกทองชะนะ ๑ พระเจ้ามัณฑ์จันทราช ๑ พระเจ้าสาตะติราชได้หอกเพ็ชร ๑ พระเจ้าอนุราชาได้ธนูแก้ว ๑ พระเจ้ามิคาทีปะน้อย ๑ พระเจ้าชัคคะสามันต์ได้พระขรรค์เพ็ชร ๑ พระเจ้าอุบลราช ๑ พระเจ้าบุณฑริกราช ๑ พระเจ้าดิศราชาได้นางภัทรเทวี ๑ พระเจ้าแผ่นดิน ๑๗ องค์นี้ได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดี สืบวงษานุวงษ์มาได้ ๑๕๐ ปี แต่พระเจ้าแผ่นดิน ๑๖ องค์นั้น ล้วนทรงพระราชศรัทธาบำรุงพระพุทธสาสนาตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์แลทศ กุศลกรรมบถ แล้วทรงพระอุสาหเสียสละพระราชทรัพย์ สร้างพระอุโบสถวิหารการปเรียญกุฎีศาลาอาราม สร้างพระพุทธรูปพระสถูปพระเจดีย์ ปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ ตั้งความเพียรเรียนภาวนารักษาศีลมีเมตตาจิตรแก่สัตว ตั้งอยู่ในยุติธรรม พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติสืบ ๆ ต่อกันมาถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ซึ่งเปนที่สุดวงษ์องค์เปนคำรบ ๑๗ นั้น ทรงพระนามพระเจ้าดิศราชา กลับถือมิจฉาทิฐิไปเลื่อมใสในลัทธิเดียรถี ไม่นับถือพระรัตนไตรย นับถือแต่เทพารักษ์ แล้วตรัสสั่งให้ราชบุรุษเก็บเอาพระพุทธรูปในพระอุโบสถแลอารามทั้งปวงไปทิ้ง เสียในแม่น้ำคงคา

๏ ครั้งนั้นยังมีนางกุมารีคนหนึ่ง เปนธิดาเศรษฐีอยู่ในเมืองหงษาวดีชื่อว่านางภัทรา มีจิตรศรัทธาเลื่อมใส ไปฟังพระธรรมเทศนากับบิดามารดาในโรงธรรมศาลาเปนนิตย์ ตั้งแต่นางมีอายุได้สิบปีแล้ว มีความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาครูอาจารย์ รู้คุณพระรัตนไตรย ตั้งอยู่ในพระไตรสรณาคมน์ แลรักษาศีลบำเพ็ญทานมิได้ขาด เพลาวันหนึ่งนางภัทราพาพวกทาษลงไปอาบน้ำในแม่น้ำ คลำพบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จึงยกขึ้นมาก็เห็นเปนองค์พระพุทธรูปปิดทองอร่ามงามนัก จึงถามทาษีว่าเหตุใดพระพุทธรูปจึงมาจมน้ำอยู่ฉนี้ นางทาษีก็บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินตรัสสั่งให้เที่ยวเก็บพระพุทธรูปมาทิ้งน้ำ เสียสิ้น ด้วยเชื่อคำอาจารย์ผู้เปนมิจฉาทิฐิมาสั่งสอน ถ้าผู้ใดเคารพนมัสการบูชาพระพุทธรูปพระสถูปพระเจดีย์ แลนับถือคุณพระรัตนไตรยแล้ว พระเจ้าแผ่นดินทราบแล้วจะให้จับฆ่าเสีย นางภัทราได้ฟังดังนั้นจึงว่า ถึงมาทแม้นพระเจ้าแผ่นดินจะให้ลงพระราชอาญาฆ่าฟันเราเสียให้สิ้นชีวิตรก็ตาม เถิด เราก็จะสู้เสียสละชีวิตรถวายพระรัตนไตรยแล้ว จึงชวนทาษีที่เปนบริวารทั้งปวง งมพระพุทธรูปที่จมอยู่ในน้ำได้หลายองค์ ช่วยกันชำระขัดสีให้หมดมลทินแล้ว จึงยกขึ้นไปตั้งไว้ในศาลา ตำบลที่นางภัทราคลำถูกพระพุทธรูปนั้น ครั้นกาลล่วงนานมารามัญเรียกว่า กยัดสะโปดเดะ แปลเปนภาษาไทยว่าที่คลำถูกพระ ที่ยกพระพุทธรูปขึ้นมาชำระล้างขัดสีนั้น ครั้นกาลล่วงมาช้านานรามัญเรียกว่าบางกราวคำไทยว่ายกล้าง ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

๏ ครั้นพระเจ้าดิศราชาได้ทรงทราบก็ทรงพระโกรธ จึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปจับตัวนางภัทรา ครั้นราชบุรุษมาจะจับตัวนางภัทรา ๆ ยังชำระล้างขัดสีพระพุทธรูปไม่แล้ว ปราถนาจะทำกุศลเสียให้สำเร็จ นางจึงให้แหวนประดับเพ็ชรมีราคามากวงหนึ่งแก่ราชบุรุษ ขอผัดแต่พอให้ชำระล้างขัดสีพระพุทธรูปแล้วจึงจะยอมไปตามรับสั่ง ราชบุรุษรับแหวนแล้วก็ผ่อนให้นางช้าอยู่ พระเจ้าดิศราชาคอยราชบุรุษที่ใช้ไปนั้นยังไม่เห็นกลับมา จึงใช้ราชบุรุษไปอิกพวกหนึ่ง นางขัดไม่ได้ก็ยอมมา ราชบุรุษก็นำนางภัทราเข้าไปเฝ้า พระเจ้าดิศราชาตรัสถามนางก็รับเปนสัตย์ ก็ทรงพระโกรธจะให้ฆ่านางภัทรา จึงตรัสสั่งให้พานางออกไปที่แจ้ง ให้เอาช้างร้ายซับมันมาแทงเสีย นางจึงตั้งสัตยาธิฐานนมัสการเอาคุณพระรัตนไตรยเปนที่พึ่ง แล้วแผ่เมตตาไปในพระเจ้าแผ่นดินแลควาญช้าง ๆ ร้าย บริกรรมภาวนาว่า พุทธังสรณัง คัจฉามิ แต่เท่านี้ ด้วยอำนาจคุณพระรัตนไตรย คุณเมตตา บันดาลให้ช้างร้ายนั้นสดุ้งตกใจกลัวร้องอื้ออึงแล้วหนีไป ควาญช้างเอาขอเกี่ยวไว้ก็ไม่อยู่ กรมช้างจึงนำเอาเนื้อความขึ้นกราบทูล จึงตรัสสั่งให้พานางไปฝังลงในหลุมเพียงอกเบื้องบน ให้ปกคลุมด้วยฟางเข้าเอาเพลิงจุดเผา นางภัทราก็รฦกถึงคุณพระรัตนไตรย บริกรรมภาวนาแผ่เมตตาไปเหมือนดังนั้น เพลิงก็ไม่เผากายให้เปนอันตรายได้ ราชบุรุษจึงเอาเนื้อความเข้าไปกราบทูลอิก จึงตรัสสั่งให้พานางเข้าไปน่าที่นั่ง พระเจ้าดิศราชาจึงตรัสกับนางว่า ถ้ารูปพระของนางประเสริฐแล้ว ทำให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ นางจึงจะได้รอดชีวิตร ถ้ารูปพระของนางเหาะขึ้นไปไม่ได้ เราจะให้สับกายเสียให้ได้เจ็ดท่อน ตรัสสั่งดังนี้แล้ว จึงสั่งให้ราชบุรุษพานางภัทราออกมา นางภัทรามาถึงศาลาที่ตั้งพระพุทธรูปไว้ นางก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาแล้ว ก็นมัสการกราบไหว้ตั้งสัตยาธิฐานว่า ข้าพเจ้านับถือคุณพระรัตนไตรยเปนที่ยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง อนึ่งพระรัตนไตรยประเสริฐกว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ เดชะความสัตย์ของข้าพเจ้าสองประการนี้ ขอให้พระพุทธรูปแปดองค์นี้ จงลอยขึ้นไปในอากาศ ให้ถึงสำนักนิ์พระเจ้าแผ่นดิน ให้เห็นประ จักษ์แก่ตาโลก ครั้นจบคำอธิฐานแล้ว พระพุทธรูปแปดองค์ก็ลอยขึ้นไปในอากาศ ที่พระพุทธรูปลอยขึ้นไปนั้น ครั้นนานมาคนทั้งหลายจึงสร้างพระเจดีย์ลงไว้ รามัญให้ชื่อว่าตีละบอเติน คำไทยว่าพระบินขึ้น พระเจดีย์นั้นอยู่ข้างทิศตวันออกแห่งวัดปะลองซอน ได้เปนที่นมัสการมาจนทุกวันนี้ พระพุทธรูปแปดองค์นั้นก็ลอยไปทางอากาศเข้าสู่พระราชวัง ลอยอยู่ตรงน่าที่นั่งพระเจ้าดิศราชา เห็นประจักษ์แก่คนทั้งปวง นางภัทราได้เห็นดังนั้นมีความยินดีนัก จึงรีบเข้าไปเฝ้าพระมหากระษัตริย์แล้วกราบทูลว่า พระองค์ได้เห็นแล้วฤๅ แต่พระพุทธเจ้าเข้าสู่พระนิพพานแล้วยังแต่รูปแทนพระองค์ ยังทำปาฎิหารปรากฏได้ดังนี้ บัดนี้พระองค์นับถือพวกอาจารย์มิจฉาทิฐิว่าประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้า พระองค์จงตรัสสั่งให้อาจารย์พวกนั้นเหาะไปให้เหมือนพระพุทธรูปบ้าง พระเจ้าดิศราชาจึงตรัสสั่งให้อาจารย์ทั้งหลายนั้นเหาะไป อาจารย์ทั้งหลายนั้นก็เหาะไปไม่ได้ จึงทรงพระโกรธแล้วให้ขับไล่อาจารย์ออกไปเสีย พระพุทธรูปทั้งแปดองค์เมื่อลอยอยู่ตรงพระภักตร์พระมหากระษัตริย์ สำแดงอานุภาพให้ปรากฏแก่คนทั้งปวงดังนี้แล้ว ก็ลอยออกไปข้างทิศตวันตก ที่พระพุทธรูปทั้งแปดองค์ลอยกลับออกมานั้น ครั้นนานมาคนทั้งหลายจึงสร้างพระเจดีย์ไว้ในที่นั้น ให้ชื่อว่ากะยัดปอ แปลว่าพระบิน ที่พระพุทธรูปทั้งแปดองค์ลงประดิษฐานนั้น รามัญเรียกว่าตำบลกะยัดซอ คำไทยว่าพระลงตั้งแต่นั้นมา ครั้นพระเจ้าดิศราชาได้เห็นคุณของนางประจักษ์ดังนั้น จึงตั้งนางเปนพระอรรคมเหษี ให้ชื่อว่าสมเด็จพระภัทราราชเทวี พระนามของนางนั้นก็ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าดิศราชาก็รู้คุณพระพุทธสาสนา จึงให้เที่ยวเก็บพระพุทธรูปซึ่งหักพังมากองไว้ แล้วได้พระเกษธาตุองค์หนึ่ง จึงก่อพระเจดีย์สวมพระพุทธรูปทั้งปวงนั้นลงไว้ แล้วบรรจุพระเกษธาตุนั้นไว้ในพระเจดีย์นั้น ให้ชื่อพระเจดีย์ว่า พระโวรตแปลว่ากองแก้ว ได้เปนที่นมัสการ ครั้นนานมาชื่อพระเจดีย์นั้นเปลี่ยนแปลงไป รามัญเรียกว่ากะยัดกลอมพะโว คำไทยว่าพระร้อยกอง ครั้นนานมาชื่อพระเจดีย์นั้นเปลี่ยนไปอิก รามัญเรียกว่ากะยัดกลอมปอนคำไทยว่าพระเจดีย์ร้อยอ้อม ชื่อนั้นก็ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ ครั้นพระเจ้าดิศราชาทิวงคตล่วงไปแล้ว เมืองหงษาวดีสิ้นวงษ์กระษัตริย์รามัญร้างเปนป่าไปครั้งหนึ่ง

๏ ครั้นกาลล่วงมาภายหลัง กระษัตริย์พม่าชื่อว่าพระเจ้าอลังคจอสู่ผู้เปนใหญ่ในภุกามประเทศ ยกกองทัพลงมาตีเมืองหงษาวดี เมือง สเทิมได้แล้ว เสด็จไปประพาศป่าชื่อตำบลเมาะตมะ เห็นภูมิฐานสนุกจึงให้สร้างเมืองลงในที่นั้น ให้ชื่อว่าเมืองเมาะตมะ แล้วจึงตั้งแขกผู้หนึ่งให้เปนเจ้าเมือง ให้ชื่อว่าอลิมามาง แล้วพระเจ้าอลังคจอสู่จึงเสด็จลงไปประพาศป่าณชายทเลฝั่งตวันออก ถึงตำบลตะแว มีต้นทุเรียนมาก ชาวบ้านป่าจึงนำผลทุเรียนมาถวาย พระเจ้าอลังคจอสู่เสวยชอบพระหฤไทยนัก จึงให้สร้างเมืองลงในประเทศนั้นให้ชื่อว่าเมืองตะแว คือเมืองทวาย ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งให้เปนเจ้าเมือง ให้ชื่อตะแววุ่นเจ้าเมืองทวาย กับไพร่พลพอสมควร แล้วมีรับสั่งไว้ว่าถ้าถึงรดูทุเรียนมีผลแล้ว ให้จัดเอาผลทุเรียนขึ้นไปส่งถึงเมืองภุกามทุกปีอย่าให้ขาดได้ แล้วพระเจ้าอลังคจอสู่จึงเสด็จกลับไป กวาดครัวรามัญเมืองหงษาวดีเมืองสเทิมอพยพขึ้นไปยังเมืองภุกามเมืองหงษาวดี เมืองสเทิมก็ร้างไป มีคนอยู่น้อยนัก เมืองทวายซึ่งพระเจ้าอลังคจอสู่สร้างไว้ให้พวกพม่าอยู่นั้น คนทั้งหลายในเมืองนั้นจึงพูดเปนภาษาพม่า ครั้นนานมาภาษานั้นเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ว่าพม่าพอฟังได้ ภาษาทวายนั้นจึงไม่เหมือนกับภาษารามัญ ปรากฎมาจนทุกวันนี้

๏ ลุศักราช ๖๓๐ ปี พระเจ้าอลังคจอสู่สวรรคตล่วงไปแล้ว ครั้นภายหลังพระเจ้าภุกามองค์ใหม่ ตั้งขุนนางพม่าคนหนึ่งชื่อสมิงอะขะมะมอญลงมาสร้างเมืองหงษาวดี รวบรวมพวกรามัญที่แตกกระจัดกระ จายอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้นให้เข้าอยู่ในเมืองหงษาวดีให้เปนปรกติดังเก่า ครั้นนานมาสมิงอะขะมะมอญคิดขบถต่อพระเจ้าภุกาม แล้วสมิงอะขะมะมอญได้ครองเมืองพะโคคือเมืองหงษาวดี ครั้นอยู่มาจึงลักขะยาพยูเปนน้องภรรยาสมิงอะขะมะมอญ จับสมิงอะขะมะมอญนั้นฆ่าเสีย จึงตั้งตัวเปนใหญ่อยู่ได้แปดวัน แล้วอเขตตะขะมะมอญจับลักขะยาพยูฆ่าเสีย จึงตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดินชื่อว่าพระเจ้าตะยาพยา ได้เปนใหญ่ในเมืองหงษาวดี มิได้ขึ้นแก่เมืองภุกาม เชื้อวงษ์สมิงพม่าสามองค์ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงษาวดี เมื่อสมิงตะยาพยาได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงษาวดีนั้น ลุศักราช ๖๓๔ ปี

๏ ยังมีรามัญคนหนึ่งชื่อมะกะโท เปนชาวเมืองเมาะตมะ เปนคนมีวาศนามีทรัพย์มาก มิตรสหายก็มีมาก เข้ามาทำราชการอยู่ในสมเด็จพระร่วงเจ้าณเมืองศุโขไทย แล้วหนีกลับมาเมืองเมาะตมะ ลุศักราช ๖๔๓ ปี จึงคิดขบถจับอลิมามางเจ้าเมืองเมาะตมะฆ่าเสียมะกะโทก็ได้เปนใหญ่ในเมืองเมาะ ตะมะครั้นนานมามะกะโทมีอานุภาพมาก หัวเมืองรามัญทั้งปวงก็ยำเกรง แล้วตั้งตัวขึ้นเปนกระษัตริย์ทรงพระนามชื่อว่า สมิงวาโร แต่คำไทยเรียกว่าพระเจ้าฟ้ารั่ว

๏ ลุศักราช ๖๔๖ ปี พระเจ้าฟ้ารั่วให้สร้างปราสาทในเมืองเมาะ ตมะ ในวันยกเสาปราสาทนั้นเปนวันพฤหัศบดีเดือนหกแรมสามค่ำ นักขัตฤกษ์ ๒๒ เปนราชาฤกษ์ จึงมุขมนตรีแลคนทั้งปวงพร้อมกันคอยหาฤกษ์แลนิมิตร ครั้นถึงเวลากลางวันพอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์แล้ว ก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุมเสาเอก แล้วตัดเชือกที่ผูกเสาปราสาทให้ขาด เสาปราสาทนั้นก็ลงไปในหลุม ทับสัตรีมีครรภ์นั้นตาย โลหิตสัตรีนั้นกระเด็นขึ้นมากลายเปนอสรพิศม์สี่ตัวสองหน อสรพิศม์เจ็ดตัวนั้นตายอยู่ที่ริมปากหลุม อสรพิศม์ตัวหนึ่งเลื้อยไปข้างทิศตวันตกแล้วจึงตาย โหราจารย์แต่ก่อนทำนายไว้ว่าในวงษ์กระษัตริย์พระเจ้าฟ้ารั่ว จนถึงกระษัตริย์ทรงพระนามพระยาอู่เปนแปดองค์ด้วยกัน กระษัตริย์เจ็ดองค์นั้นจะสิ้นพระชนม์ในเมืองเมาะตมะ แต่พระยาอู่กระษัตริย์ที่สุดเปนคำรบแปดนั้น จะไปได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงษาวดีแล้วจึงสิ้นพระชนม์ ครั้นสร้างปราสาทสำเร็จแล้ว พระเจ้าฟ้ารั่วก็ได้เสวยราชสมบัติ อยูในปราสาท เปนประถมกระษัตริย์ในเมืองเมาะตมะ

๏ ลุศักราช ๖๕๕ ปี พระเจ้าฟ้ารั่วได้ช้างเผือกผู้ช้างหนึ่ง ชาวเมืองทั้งปวงจึงร้องเรียกพระเจ้าฟ้ารั่วนั้นว่า ตะละจิงพะต่าง แปลเปนภาษาไทยว่าพระเจ้าช้างเผือก แลพระเจ้าตะยาพยากับพระเจ้าฟ้ารั่วนั้น ส่งเครื่องราชบรรณาการไปมาถึงกัน ตั้งสัญญากันไว้ว่าถ้าพม่ายกกองทัพลงมาเมื่อใดให้ยกไปช่วยกัน อย่าให้พม่าย่ำยีรามัญทั้งปวงสืบต่อไปได้

๏ ครั้นอยู่มาพระเจ้าภุกามให้ยกทัพเรือลงมาตีเมืองหงษาวดี พระ เจ้าตะยาพยากลัวกองทัพพม่า จึงให้ราชสาสนมาถึงพระเจ้าฟ้ารั่วให้ยกกองทัพมาช่วย พระเจ้าฟ้ารั่วจึงยกกองทัพมาเมืองหงษาวดีช่วยตีพม่าแตกไปแล้ว จะยกกองทัพกลับมาเมืองเมาะตมะ พระเจ้าตะยา พยาจึงห้ามไว้ว่า บัดนี้พระองค์ยกกองทัพมาช่วยข้าพเจ้าตีทัพพม่าแตกไปแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่ได้ถวายเครื่องราชบรรณาการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยพระองค์จงหยุด กองทัพพักแรมอยู่ก่อน ข้าพเจ้าจะจัดแจงขันทองใส่ดอกไม้ทอง แลสิ่งของทองเงินเครื่องราชบรรณาการมาถวายก่อน พระเจ้าฟ้ารั่วได้ฟังพระเจ้าตะยาพยาห้ามก็เชื่อถ้อยคำ จึงยั้งทัพอยู่ยังไม่กลับไป ครั้นภายหลังพระเจ้าตะยาพยาคิดคดต่อมิตร จะจับพระเจ้าฟ้ารั่วฆ่าเสีย จะได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศแต่ผู้เดียว จึงคอยดูท่วงที ครั้นเห็นพวกกองทัพพระเจ้าฟ้ารั่วต่างคนต่างไปเที่ยวหาเสบียงอาหารกระจัด กระจายเรี่ยรายกันอยู่ไม่เปนหมวดเปนกอง พระเจ้าตะยา พยาจึงยกกองทัพมาล้อมพระเจ้าฟ้ารั่ว ๆ ครั้นรู้ดังนั้น จึงว่าแก่พระเจ้าตะยาพยาว่า เราได้ยกกองทัพมาช่วยท่านตีทัพเมืองภุกามแตกยับเยินไป ถ้าไม่ฉนั้นท่านก็อยู่ในเงื้อมมือข้าศึก เราได้มีคุณแก่ท่านเปนอันมาก ท่านเปนคนอกตัญญูไม่รู้จักคุณเรา กลับจะมาล้อมจับเราฆ่าเสียอิกเล่า พระเจ้าฟ้ารั่วจึงประกาศแก่เทพยดาทั้งปวงว่า ข้าพเจ้าซื่อตรงต่อมิตรมาช่วยป้องกันเมืองไว้มิให้เปนอันตราย แลสมิงตะยาพยานี้มิรู้จักคุณข้าพเจ้า ยังจะคิดทำร้ายแก่ข้าพเจ้าครั้งนี้ ขอเทพยดาเจ้าทั้งปวงจงช่วยรักษาข้าพเจ้าอย่าให้เปนอันตราย จงบันดาลให้สมิงตะยาพยาผู้เสียสัตย์ถึงปราไชยแก่ข้าพเจ้าเถิด ครั้นประกาศแก่เทพยดาแล้ว พระเจ้าฟ้ารั่วจึงทรงช้างพระที่นั่งตัวกล้าไสเข้ามาชนกับช้างพระเจ้าตะยาพยา ช้างพระเจ้าตะยาพยาเสียทีผันแปรไป พระเจ้าฟ้ารั่วได้ท่วงทีจึงจับพระเจ้าตะยาพยาได้ ยังทรงคิดถึงพระราชไมตรีโปรดงดโทษไว้ ภายหลังพระเจ้าตะยาพยาคิดคดอิกจึงให้ฆ่าเสีย แต่นั้นมาเมืองพะโคคือเมืองหงษาวดี ก็อยู่ในอำนาจพระเจ้าฟ้ารั่ว ๆ ก็ยกกองทัพกลับมาครองราชสมบัติในเมืองเมาะตมะดังเก่า ได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศทั้งปวง

๏ ส่วนตะแววุ่นเจ้าเมืองทวายนั้น เมื่อรามัญมีกำลังแขงเมืองขึ้นดัง นี้ ก็ไม่อาจจะมาส่งส่วยผลทุเรียนถึงเมืองภุกามได้ ด้วยเมืองมอญกั้นน่าอยู่คิดเกรงรามัญจะย่ำยี จึงมาขึ้นแก่พระเจ้าฟ้ารั่วณเมืองเมาะตมะ

๏ ลุศักราช ๖๗๔ ปี พระเจ้าฟ้ารั่วก็สวรรคตล่วงไป จึงมะกะตาผู้น้องพระเจ้าฟ้ารั่ว ได้ราชสมบัติได้พระนามว่าพระยารามประเดิด

๏ ลุศักราช ๖๗๖ ปี สมิงมังลคิดพี่เขยจับพระยารามประเดิดฆ่าเสียแล้วสมิงมังลคิดให้บุตรชายครอง ราชสมบัติ ได้พระนามว่าพระยาแสนเมือง ขณะนั้นตะแววุ่นเจ้าเมืองทวาย ครั้นรู้ข่าวว่าพระเจ้าฟ้ารั่วสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่มาขึ้นแก่เมืองเมาะตมะสืบไป

๏ ลุศักราช ๖๘๐ ปี พระเจ้าแสนเมืองจึงยกกองทัพไปตีเมืองทวายได้แล้ว ยกกลับขึ้นมา จึงไปตีเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนได้แล้ว พระเจ้าแสนเมืองจึงให้พระเจ้าเชียงใหม่ ถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ถ้าถึงปีแล้วให้นำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย แล้วพระเจ้าแสนเมืองจึงยกทัพกลับมาเมืองเมาะตมะ พระเจ้าแสนเมืองนั้นอยู่ในราชสมบัติสิบสี่ปี ลุศักราช ๖๘๑ ปีก็สิ้นพระชนม์ จึงเจ้าชีผู้น้องได้ครองราชสมบัติได้พระนามว่าพระยารามไตย พระยารามไตยเสวยราชสมบัติได้แปดปี ขุนนางรามัญชื่อชีปอนฆ่าเสียในศักราช ๖๘๙ ปีนั้น ชีปอนได้ราชสมบัติอยู่เจ็ดวัน จึงเจตสงครามฆ่าชีปอนเสีย แล้วตั้งเชื้อพระวงษ์ชื่ออายกำกองให้เปนพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นอยู่มานางจันทรมังคละใส่ยาพิศม์ให้พระยาอายกำกองเสวยถึงแก่กรรม จึงตั้งเชื้อพระวงษ์ชื่ออายลาวให้เปนพระเจ้าแผ่นดิน พระยาอายลาวครองราชสมบัติได้สิบแปดปี

๏ ลุศักราช ๗๐๗ ปี พระยาอายลาวถึงแก่กรรม จึงพระยาอู่ได้เสวยราชสมบัติ แลกระษัตริย์ตั้งแต่พระเจ้าฟ้ารั่วเสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตมะสืบวงษ์มาจน ถึงพระยาอู่เปนแปดองค์ด้วยกัน มีช้าง เผือกทุก ๆ องค์ ชาวเมืองเรียกว่าพระเจ้าช้างเผือกทั้งแปดองค์ ขณะเมื่อเมืองเมาะตมะเกิดขบถเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินเนือง ๆ วุ่นวายอยู่นั้น เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ตั้งแขงเมืองอยู่ มิได้มาขึ้นแก่เมืองเมาะตมะหลายปีแล้ว แลเมื่อพระยาอู่ครองราชสมบัติ มาจนถึงศักราช ๗๑๐ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตมะ ครั้นตีไม่ได้ก็ล่าทัพกลับไป เมื่อพระยาอู่ได้ครองราชสมบัติในเมืองเมาะตมะนั้นได้ ๑๖ ปีแล้ว

๏ ลุศักราช ๗๑๖ ปี พระยาอู่ให้สมิงพะตะบะอยู่รักษาเมือง แล้วเสด็จไปคล้องช้างในป่า ภายหลังสมิงพะตะบะกลับเปนขบถ ตระ เตรียมสาตราวุธรักษาน่าที่เชิงเทินปิดประตูเมืองไว้จะคอยต่อสู้ พระยาอู่จะเข้าเมืองเมาะตมะมิได้ จึงไปตั้งอยู่ในเมืองพะโค คือเมืองหงษาวดี ในจุลศักราช ๗๒๐ ปี พระยาอู่ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงษาวดีได้ ๑๒ ปีแล้ว ในจุลศักราช ๗๓๔ ปีนั้น พระยาอู่ได้ก่อสร้างพระเกษธาตุเจดีย์ในเมืองร่างกุ้งนั้นโตใหญ่สูงขึ้นอิก ๔๐ ศอก ได้สถาปนาการซ่อมแปลงอยู่เปนนิตย์ พระยาอู่นั้นได้เสวยราชสมบัติในเมืองเมาะตมะได้ ๑๖ ปีแล้ว ครั้นภายหลังได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงษาวดีอิกสิบเก้าปี รวมปีที่ได้ราชสมบัติได้สามสิบห้าปี พระชนมายุได้หกสิบปี

๏ ลุศักราช ๗๔๕ ปี พระยาอู่ทิวงคต จึงพระโอรสพระยาอู่ชื่อสีหราชาได้ครองราชสมบัติ เมื่อเปนพระเจ้าแผ่นดินแล้วรามัญเรียกว่าพระเจ้าราชาธิราช เมื่อครองราชสมบัตินั้นต้องปราบข้าศึกมากนัก จนสิ้นศัตรูแล้วก็ได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศแต่องค์เดียว แล้วได้ทำศึกกับพม่าเนือง ๆ จึงมิได้สถาปนาพระมหาธาตุแลอารามได้แต่ทำสักการบูชาบำเพ็ญทานอยู่ได้ประมาณ สามสิบแปดปี ครั้นพระชนมายุได้ ๕๔ ปีก็ทิวงคตในศักราช ๗๘๓ ปี โอรสพระเจ้าราชาธิราชชื่อพระยาธรรมราชาได้ราชสมบัติต่อมา เมื่อพระยาธรรมราชาได้เปนพระเจ้าแผ่นดินนั้น ไพร่พลเมืองได้ความเดือดร้อนนัก ไม่ได้บำเพ็ญกุศลวิเศษสิ่งใด อยู่ได้สามปีก็ทิวงคต ในศักราช ๗๘๖ ปี พระชนมายุพระเจ้าธรรมราชานั้นได้สามสิบสองปี

๏ จึงน้องพระธรรมราชาชื่อพระยารามเกิด แลเปนโอรสพระเจ้าราชาธิราช ได้เสวยราชสมบัติในเมืองหงษาวดีต่อไป แลพระ ยารามเกิดองค์นี้ฉลาดในกลอุบาย เอาไชยชนะราชประจามิตรได้โดยง่ายไม่ต้องทำการสงคราม แล้วก็มีพระไทยกว้างขวาง ได้ก่อสร้างกุศลไว้ในพระพุทธสาสนาเปนอันมาก ได้ทรงตระเตรียมการไว้จะก่อพระเจดีย์ร่างกุ้ง ให้สูงขึ้นไป ๖๐ ศอก ในศักราช ๘๑๕ ปี ได้ลงมือก่อพระเจดีย์ยังไม่ทันแล้วก็สิ้นพระชนม์ ได้เสวยราชสมบัติสามสิบห้าปี พระชนมายุได้หกสิบห้าปี เมื่อสิ้นพระชนม์นั้นในศักราช ๘๑๘ ปี

๏ ภายหลังพระยาแก่นท้าวได้ราชสมบัติ จึงทรงพระดำริห์ว่าพระเจ้าราชาธิราชผู้เปนพระเจ้าปู่ของเรา เมื่อได้ราชสมบัตินั้น ต้องปราบปรามข้าศึกมากนัก เพราะบ้านเมืองไม่เปนศุข พระราชกุศลวิเศษสิ่งใดก็ไม่ได้ทรงก่อสร้าง จะมีศัตรูมากนั้นก็เพราะมีความปราถนาสมบัติของผู้อื่น แลบัดนี้เราได้เปนใหญ่แล้ว จะไม่ปราถนาสมบัติของผู้ใด จะตั้งใจอยู่ในยุติธรรมบำรุงบ้านเมืองให้เปนศุข ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงอุสาหรักษาสุจริต คิดแต่บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ แลบำรุงสมณพราหมณาจารย์แลราษฎรให้เปนศุข แล้วตั้งพระราชกำ หนดให้หมายประกาศไว้ว่า ถ้าผู้ใดจะเปนมนุษย์ฤๅสัตวเดียรฉานก็ดีเบียนเบียนกัน แลเปนโจรผู้ร้ายปล้นสดมยื้อแย่งลักฉกฉ้อชิงเอาทรัพย์สิ่ง ของทองเงินของผู้อื่น เราจะให้ประหารชีวิตรผู้นั้นด้วยพระแสงเล่มนี้ เสด็จออกขุนนางเฝ้าเมื่อไรตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงกระหยับพระแสงเมื่อนั้น ครั้นอยู่มามหาดเล็กข้าหลวงเดิมคนสนิทคนหนึ่งไปลักแหวนของเศรษฐี เศรษฐีเข้าไปกราบทูลจึงโปรดให้พิจารณา มหาดเล็กนั้นรู้ว่าตัวผิดจึงเอาทองคำเข้าไปถวายห้าตำลึง จะขอไถ่โทษตัว พระองค์ก็ไม่ทรงรับ ครั้นพิจารณาเปนสัตย์แล้ว จึงรับสั่งให้เอาตัวมหาดเล็กนั้นไปประหารชีวิตรเสีย ตัดศีศะเสียบไว้ในหนทางสี่แพร่ง อยู่มาวันหนึ่ง บุรุษคนใช้ในวัง ซื้อเข้าเหนียวให้เงินราคาน้อย แย่งเอาเข้ามามาก เจ้าของเข้าเหนียวร้องขึ้น พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงฟัง จึงให้หาตัวแม่ค้าไปไต่ถาม ได้ทราบเนื้อความก็ให้พิจารณา ครั้นเปนสัตย์แล้วจึงรับสั่งให้เอาตัวบุรุษนั้นไปตัดศีศะเสียบไว้ในหนทางสี่ แพร่ง เพราะเหตุพระยาแก่นท้าวนั้นซื่อตรง ที่ควรจะทำโทษก็ทำโทษ ที่ควรจะโปรดก็โปรดตามความชอบ คนทั้งหลายก็เกรงกลัวนัก ชวนกันสอนบุตรแลหลานไม่ให้กระทำความชั่ว บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุขปราศจากโจรผู้ร้ายหาอันตรายมิได้

๏ เพลาวันหนึ่ง พระเจ้าแก่นท้าวนั้นแปลงพระองค์เปนชาวเมืองทรงม้าไปเที่ยวตามถนน ไม่ทันรั้งม้าไว้ ม้านั้นไปโดนหญิงอันทูนหม้อน้ำคนหนึ่ง หม้อน้ำตกจากศีศะแตกทำลาย หญิงนั้นโกรธ จึงร้องว่า เราจะเอาเนื้อความเข้าไปกราบทูล พระเจ้าแก่นท้าวทรงพระสรวลแล้วจึงตรัสว่าอย่ากราบทูลเลย เราจะใช้ให้ แล้วพระองค์ไปยืมทอง แดงชาวร้านมาใช้ให้แก่หญิงนั้นมากกว่าราคาหม้อ หญิงนั้นดีใจ แล้วก็ไปจากที่นั้น พระยาแก่นท้าวนี้มีพระนามอิกว่าพระยาพะโร มีพระไทยดีตั้งอยู่ในสัตย์ในธรรมยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายแต่ก่อน ซึ่งล่วงไปแล้วนั้น ทั้งได้บำรุงพระพุทธสาสนาก็มาก ได้ทรงบริจาคทรัพย์บำเพ็ญในการก่อพระเจดีย์ร่างกุ้งที่ยังค้างอยู่นั้น ได้ก่อสวมขึ้นไปจนถึงฅอรฆัง เพราะมีพระไทยเมตตาเอนดูราษฎรมากไม่เร่งรัด การพระเจดีย์จึงยังไม่ทันแล้วเสร็จพอสิ้นพระชนม์ เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้ยี่สิบสองปี ครองราชสมบัติได้สี่ปี ลุศักราช ๘๒๒ ปี พระชนมายุได้ยี่สิบห้าปีก็สวรรคต

๏ จึงพระยาทาษราชา เปนหลานพระยายักขราชา ก็ได้ครองราชสมบัติต่อมา แลพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ได้ราชสมบัติเพราะข้าใช้ของพระองค์ เหตุดังนั้นคนทั้งหลายจึงเรียกว่าทาษราชา เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้น พระชนมายุได้ยี่สิบสามปี ครั้นถึงศักราช ๘๒๕ ปีทิวงคต

๏ จึงพระยายุตราชา เปนหลานพระยายักขราชา ก็ได้ราชสมบัติต่อมา แลชื่อเดิมของพระยายุตราชานั้นชื่อว่ามะมุดตาว อนึ่งพระยานั้นได้ความลำบากพลัดพรากจากบิดามารดาแต่ยังเยาว์ ครั้นได้ราชสมบัติแล้วคนทั้งหลายเรียกว่าสมิงกำลัง แปลว่าพระยากำพร้า ๆ นั้น ใจร้ายกาจนัก มีแต่จะทำการบาปหยาบช้า มักประพฤติกาเม สุมิจฉาจารเปนนิตย์ มิได้คิดที่จะทำการกุศลแลบำรุงพระพุทธสาสนาครองราชสมบัติอยู่เจ็ดเดือนก็ สวรรคตในศักราช ๘๒๕ ปี พระราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชยังอยู่อิกองค์หนึ่ง แลนางกระษัตริย์นั้นพวกพม่าเรียกว่าตะแคงจาวปอก ข้างรามัญเรียกว่าวิสัทธราชา ครั้นนานมาจึงเรียกว่าพระยาท้าว ๆ นั้นได้ครองราชสมบัติต่อมา ทรงพระราชศรัทธาได้บำเพ็ญพระราชกุศล แลบำรุงพระพุทธสาสนาเปนอันมาก ได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงพระสถูปน้อยใหญ่ สร้างอารามกุฎีพิหารถวายพระภิกษุสงฆ์นับประมาณมิได้ แลพระยาท้าวนั้นเปนกระษัตริย์ผู้หญิง แต่มีบุญญาธิการมาก กระษัตริย์ต่างเมืองทั้งหลายนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายก็มาก แลนางพระยานั้นทรงพระกรุณาสามเณรองค์หนึ่งรู้พระไตรปิฎก ตั้งไว้เปนพระราชบุตรเลี้ยงเมื่อสามเณรนั้นอายุครบอุปสมบทแล้ว ครั้นถึงวันฤกษ์ดี จึงตรัสสั่งให้จัดเครื่องบริกขารมีบาตรแลไตรจีวรเปนต้นที่อย่างดี พร้อมด้วยเครื่องพิธีสักการบูชา แห่แหนมาตามอย่างธรรมเนียมลูกหลวงออกผนวช ครั้นพร้อมด้วยคณะสงฆ์ มีพระอุปัชฌาย์เปนต้นแล้ว จึงให้อุปสมบทเปนพระภิกษุ แลภิกษุบวชใหม่นั้นชำนาญในพระไตรปิฎกนัก ได้บอกอรรถกถาบาฬีแก่พระสงฆ์สามเณรทั้งปวงเปนอันมาก แลเทศนาไพเราะห์นัก พระอุปัชฌาย์จึงให้ชื่อว่าพระมหาปิฎกธะระ

๏ ฝ่ายข้างภุกามประเทศนั้น พระเจ้าภุกามให้สร้างเมืองใหม่ แล้วให้ชื่อเมืองอังวะ ๆ นั้นอยู่ริมแม่น้ำเอราวดีฝั่งตวันออก ตรงเมืองจะเกิงข้าม เหนือเมืองภุกามเก่าขึ้นมาทางประมาณห้าวัน แลเมืองภุกามนั้น พม่าเรียกว่าเมืองปะกัน รามัญเรียกว่าเมืองพะกำ คำไทยเรียกว่าเมืองภุกาม แล้วพระเจ้าภุกามก็ยกขึ้นมาตั้งอยู่ณเมืองอังวะ ๆ ก็เปนเมืองหลวงในประเทศพม่าตั้งแต่นั้นมา เมื่อขณะนางพระยาท้าวได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีนั้น

๏ ฝ่ายพระเจ้าอังวะได้ทรงทราบว่า ครั้งนี้เจ้าแผ่นดินเมืองรามัญเปนสัตรีก็ดีพระไทยนัก ปราถนาจะใคร่ได้รามัญประเทศให้เปนเขตรแดนของพระองค์ จึงตรัสใช้ขุนนางผู้มีสติปัญญา ให้ลงมาคิดอ่านอุบายพ่อลวงนางพระยาท้าวนั้นให้เสด็จออกจากเมืองหงษาวดี แล้วขุนนางพม่าก็จับนางพระยาท้าวขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะ ๆ จึงตั้งนางพระยาท้าวเปนพระอรรคมเหษี ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญทั้งปวงก็ต้องอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ

๏ ครั้นภายหลังพระมหาปิฎกธะระ จึงปฤกษากับขุนนางรามัญทั้งปวง จะคิดอุบายพานางพระยาท้าวกลับลงมาครองกรุงหงษาวดีดังเก่าให้จงได้ พระภิกษุมหาปิฎกธะระนั้น ชำนาญในหนังสือพม่าหนังสือรามัญทั้งปวงสิ้น แลพูดภาษาพม่าได้ชัดเจนนัก จึงเที่ยวเทศนาในเมืองทุกตำบล ขุนนางแลราษฎรในเมืองอังวะก็นิยมยินดีนับถือนักจนมีชื่อเสียงปรากฏไป ครั้นภายหลังได้เข้าไปเทศนาในพระราชวัง จึงได้พบปะกันกับนางพระยาท้าว ๆ ยินดีนัก ครั้นภายหลังพระมหาปิฎกธะระนั้นจึงพูดกับนางพระยาเปนความลับ ในการที่จะเชิญเสด็จกลับมาเมืองหงษาวดี ครั้นนางพระยายินยอมด้วยถ้อยคำแล้ว เธอจึงคิดอุบายพานางพระยาท้าวลงมาณเมืองหงษาวดีได้ตั้งแต่นั้นมาท้าวพระยา รามัญทั้งปวง ก็เรียกนางพระยาท้าวนั้นชื่อว่าวิสัทธราชา เพราะเหตุที่นางพระยาสละพระเจ้าอังวะลงมาได้ แล้วรามัญทั้งปวงก็มิได้นอบน้อมต่อพระเจ้าอังวะสืบไป

๏ ครั้นภายหลังพระมหาปิฎกธะระนั้น เธอคิดสงไสยตัวด้วยลักพานางพระยาลงไปนั้น จะเกี่ยวข้องในข้ออทินนาทานสิกขาบท เห็นว่าตัวจะไม่บริสุทธิในพระพุทธสาสนา จึงเข้าไปถวายพระพรกับนางพระยา ๆ ก็อนุญาต จึงได้สึกจากพระพุทธสาสนา ครั้นภิกษุสึกออกมาแล้ว นางพระยาท้าวก็ตั้งให้เปนพระยาอุปราช นางพระยาท้าวนั้นเมื่อกลับลงมาจากเมืองอังวะ แลได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีเมื่อภายหลังนี้ได้เจ็ดปี แล้วจึงมอบสมบัติให้แก่พระยาอุปราช จึงเสด็จลงมาณเมืองร่างกุ้ง ให้ก่อพระอุโบสถในที่ใกล้พระเจดีย์ร่างกุ้ง ให้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ใหญ่ แล้วให้เอาเงินมาชั่งหนักเท่าพระองค์ คิดเปนราคาทองหนักยี่สิบห้าชั่ง จึงให้ช่างแผ่หุ้มพระเจดีย์ แต่ยอดลงมาแล้วตั้งราชบุรุษเปนตัวนายใหญ่สี่คน นายรองอิกสี่คน ไพร่ร้อยคนให้เปนข้าพระปฏิบัติพระเกษธาตุร่างกุ้งแล้วให้หล่อรฆังหนักร้อย เจ็ดสิบชั่งไว้สำหรับตีที่ลานพระเจดีย์ ได้ปักเสาศิลามีแป้นรายรอบพระเจดีย์ได้เอาเสวตรฉัตร ๔ คัน บาตร ๔ ชามทอง ๘ ช้อนทอง ๔ เล่ม บ้วนพระโอษฐทอง ๔ ได้บูชาได้ ถวายเข้าพระวันละ ๔ สำรับ คนสำ หรับจุดประทีปตคันทุกวันนั้น ๒๗ คน คนเฝ้าของพระเจดีย์ ๕๐ คน ช่างทอง ๔ เตา พิณพาทย์ ๔ วง กลองแขก ๔ วง คนเฝ้าประตู ๔ คน คนกวาด ๔ คน คนเก็บตคัน ๒๐ คน ได้บูชาถวายไว้ ได้ก่อกำแพงไว้เจ็ดชั้น ในระหว่างกำแพงนั้นได้ปลูกต้นตาลต้นมะพร้าว พระยาท้าว ได้ทรงประดับประดาตกแต่งบูชาอย่างนี้เปนต้น แลได้ทรงสมาทานศีลจำเริญภาวนาอยู่เปนนิตย์ วันหนึ่งทรงประชวรหนัก ทอดพระเนตรเห็นพระเจดีย์ร่างกุ้งนั้นให้เปนอารมณ์ กับทรงจำเริญสมาธิจนสิ้นพระชนม์ นางกระษัตริย์พระยาท้าวนั้น เมื่อได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีเมื่อภายหลัง พระชนมายุได้ห้าสิบแปดปี อยู่ในราชสมบัติเจ็ดปี ครั้นถึงพระชนมายุได้หกสิบห้าปีสิ้นพระชนม์ ในศักราช ๘๓๒ ปีนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกกองทัพมาตีเมืองทวายได้แล้วกวาดครัวเมืองทวายไปมาก ครั้นภายหลังพระยาอุปราชาก็ได้เปนใหญ่ในเมืองหงษาวดี มีชื่อว่าพระยาธรรมเจดีย์ เพราะเหตุเธอทรงพระไตรปิฎก พระยาธรรมเจดีย์นั้น ชำนาญทั้งคดีโลกย์คดีธรรม ทรงพระราชศรัทธามาก ไม่อยู่ในพระราชวังเก่าเหมือนพระ เจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ออกไปตั้งพระราชวังอยู่ในทิศตวันตกของพระมุตาว ได้บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นภายหลังเสด็จไปณเมืองร่างกุ้ง ให้หล่อรฆังใหญ่ใบหนึ่งทองหนักแสนแปดหมื่นชั่ง รฆังนั้นปากกว้างแปดศอกฦกสิบศอก สร้างไว้ในบริเวณพระเกษธาตุเจดีย์ แล้วตรัสสั่งให้จัดต้นไม้กัลปพฤษ์บูชาพระเกษธาตุ เมื่อฤดูออกพรรษาปีละยี่สิบห้าต้นเปนนิตย์มิได้ขาด เมื่อขณะพระเจ้าธรรมเจดีย์สึกจากภิกษุนั้นอายุสี่สิบปีได้เปนพระยาอุปราช อยู่ในที่อุปราชเจ็ดปี ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินสิบสี่ปี ลุศักราช ๘๕๓ ปีก็สิ้นพระชนม์

๏ ภายหลังบุตรพระเจ้าธรรมเจดีย์ชื่อว่าหัตถีราชา ได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน คนทั้งหลายเรียกว่าพระยาราม ๆ นั้นฆ่าพระราชกุมารพี่น้องทั้งหลายเสียเปนอันมาก ด้วยกลัวจะชิงราชสมบัติ ครั้งนั้นรามัญประเทศทั้งปวงเกิดความไข้เจ็บมากนัก ครั้นภายหลังพระยารามก็ตั้งอยู่ในราชธรรมสิบประการ

๏ ลุศักราช ๘๕๔ ปีเดือนยี่ขึ้นสิบสามค่ำ บังเกิดลมพยุใหญ่ ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักลง ลมพาไปตกถึงเมืองเสี่ยง ภายหลังพระยารามก็ได้จัดแจงยกขึ้นได้ดังเก่า ครั้งนั้นพระชนมายุได้สี่สิบแปดปี เธอก็สร้างพระเจดีย์สี่สิบองค์ล้อมพระเจดีย์ใหญ่ในเมืองร่างกุ้ง แลได้บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ที่พระเกษธาตุร่างกุ้งนั้น พระยารามแรกได้ราชสมบัติ พระชนมายุยี่สิบหกปี ครองราชสมบัติอยู่สามสิบห้าปี เมื่อสิ้นพระชนม์พระชนมายุได้หกสิบเอ็ดปี จึงบุตรพระยารามชื่อพะธิโรราชา เมื่อได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุสิบหกปี เปนพระเจ้าแผ่นดินตั้งอยู่ในยุติธรรมน้อยนัก

๏ ลุศักราช ๘๙๒ ปี พระเจ้าพะธิโรราชา ยกทัพเข้าไปตีกรุงศรี อยุทธยา ตีล่วงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี เข้าไปจนเห็นกำแพงกรุงศรีอยุทธยา แล้วเห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สดวก ด้วยขัดสนเสบียงอาหารจะตั้งอยู่นานมิได้ ก็รีบล่าทัพกลับมากรุงหงษาวดีและพระเจ้าพะธิโรราชานั้นบำรุงพระพุทธสาสนาก็ น้อย ครองราชสมบัติอยู่สิบสองปี เมื่อพระชนมายุยี่สิบแปดปีสิ้นพระชนม์ ในศักราช ๙๐๑ ปี เพราะเหตุที่พระเจ้าพะธิโรราชานั้นพอพระไทยเที่ยวป่าฆ่าสัตว ไม่ยินดีในราชธรรม เหมือนคนใบ้คนหนวก พวกรามัญชาวเมืองเรียกว่าพะธิโรราชา ลำดับพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนชาติรามัญนั้น ตั้งต้นแต่พระยาสะมะละเปนเดิมได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อศักราช ๕๑๔ ปีต่อๆ กันมา ๑๗ พระองค์ จนถึงพระเจ้าดิศราชาเปนที่สุด จึงสิ้นวงษ์พระยาสะมะละในศักราช ๖๒๕ ปี คิดเปนปีได้ ๑๑๑ ปี จึงถึงพระเจ้าแผ่นดินพม่าชื่อพระเจ้าอลังคจอสูลงมาตีรามัญประเทศได้ ตั้งแต่นั้นมาประเทศมอญทั้งปวง ก็อยู่ในอำนาจพระเจ้าแผ่นดินพม่า

๏ ลุศักราช ๖๔๓ ปี มะกะโทจึงฆ่าอลิมามางเจ้าเมืองเมาะตมะเสียตั้งตัวเปนใหญ่ขึ้นในเมืองเมาะตมะ ตำบลหนึ่ง

๏ ลุศักราช ๖๔๗ ปี อะขะมะมอญฆ่าพม่าเจ้าเมืองพะโคเสีย ตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ในเมืองพะโคอิกตำบลหนึ่ง

๏ ครั้งนั้นรามัญประเทศแตกกันออกเปนสองส่วนดังนี้ แลพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองตำบลนั้นเปนชาติรามัญเหมือนกัน แต่ข้างเมืองพะโคนั้นตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ได้สามองค์ คืออะขะมะมอญหนึ่ง ลักขยาพยูหนึ่ง พระเจ้าตะยาพยาหนึ่ง แลกระษัตริย์สามองค์นี้ได้เปนใหญ่ในเมืองพะโคคือเมืองหงษาวดี คิดเปนปีได้เจ็ดปีด้วยกัน ลุศักราช ๖๕๕ ปี พระเจ้าฟ้ารั่วผู้ครองเมืองเมาะตมะ จึงมาฆ่าพระเจ้าตะยาพยาเสียแล้วได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศทั้งสิ้น จึงสืบกระษัตริย์มาเปนสิบห้าองค์ด้วยกัน คือพระเจ้าฟ้ารั่วหนึ่ง พระเจ้ารามประเดิดหนึ่ง พระยาแสนเมืองหนึ่ง พระยารามไตยหนึ่ง ชีปอนไม่เปนเชื้อพระวงษ์แซกเข้ามาได้เจ็ดวัน พระยาอายกำกองหนึ่ง พระยาอายลาวหนึ่ง พระยาอูหนึ่ง พระเจ้าราชาธิราชหนึ่ง พระเจ้าธรรมราชาหนึ่ง พระยารามเกิดหนึ่ง พระยาแก่นท้าวหนึ่ง พระยาทาษราชาหนึ่ง พระยายุตราชาหนึ่ง พระยากำพร้าหนึ่ง นางพระยาท้าวหนึ่ง เชื้อวงษ์ พระเจ้าฟ้ารั่วเปนสิบห้าองค์ด้วยกันดังนี้ มาขาดลงเพียงนางพระยาท้าว ครั้งนั้นศักราชล่วงได้ ๘๓๒ ปี รวมพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่พระเจ้าฟ้ารั่วตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ในรามัญประเทศมา แต่ศักราช ๖๔๓ ปี จนถึงนางพระยาท้าว ในวงษ์นี้เปนสิบห้าองค์ด้วยกัน จนถึงศักราช ๘๓๒ ปีนั้น สืบวงษ์กระษัตริย์มาเปนสิบห้าองค์ด้วยกัน คิดเปนปีได้ ๑๘๙ ปี สิ้นวงษ์พระเจ้าฟ้ารั่วเท่านี้

๏ ครั้นภายหลังพระธรรมเจดีย์ ได้เปนใหญ่ในกรุงหงษาวดีในศักราช ๘๓๒ ปีนั้น สืบวงษ์กระษัตริย์มาสามองค์ด้วยกัน คือพระเจ้าธรรมเจดีย์หนึ่ง พระยารามหนึ่ง พระยาพะธิโรราชาหนึ่ง เมื่อพระยาพะธิโรราชาเปนที่สุดวงษ์สิ้นพระชนม์นั้น ศักราชล่วงได้ ๙๐๑ ปี คิดเปนปีที่ได้เสวยราชสมบัติ ตั้งแต่พระเจ้าธรรมเจดีย์มาจนถึงพระยาพะธิโรราชา ๖๙ ปีด้วยกัน พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนชาติรามัญ ได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศเท่านี้ เมื่อพระยาพะธิโรราชานั้นล่วงไปแล้ว กระษัตริย์พม่าองค์หนึ่ง รามัญเรียกว่าฝรั่งมังส่วย ไทยเรียกว่าฝรั่งมังโสดถิ์ ยกกองทัพลงมาตีเมืองหงษาวดีได้แล้ว ให้ราชบุตรชื่อฝรั่งมังตรีผู้เปนพระยาอุปราชอยู่ครองสมบัติในเมืองอังวะ จึงลงมาเปนใหญ่อยู่ในเมืองหงษาวดี ได้เสียสละพระมหามงกุฏทรงประดับเพ็ชรมีราคามากถวายพระเกษธาตุร่างกุ้ง แลได้ถวายพระอรรคมเหษีเปนทาษีพระเกษธาตุ แล้วไถ่พระอรรคมเหษีด้วยทองคำสิบชั่ง เสียสละเปนเครื่องสักการบูชาพระเกษธาตุ

๏ ลุศักราช ๙๐๕ ปี พระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ผู้เปนใหญ่ในเมืองหงษาวดี จึงมีรับสั่งขึ้นไปถึงพระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เปนพระยาอุปราชอยู่ณเมืองอังวะ ให้เกณฑ์พลพม่าทั้งปวงลงมาสมทบกองทัพรามัญ ณเมืองหงษาวดี แล้วพระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ จึงยกพลพม่ารามัญทั้งปวงเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยา ไปโดยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตีล่วงหัวเมืองสุพรรณบุรีเข้าไปถึงชานกรุงศรีอยุทธยา ได้ทำสงครามกันกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พวกพลล้มตายเปนอันมากทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุทธยา พวกกองทัพพม่าพวกกองทัพรามัญขาดเสบียงลง จึงรับสั่งให้ล่าทัพกลับมาเมืองหงษาวดี โดยทางด่านบ้านรแหงทิศเหนือกรุงศรีอยุทธยา

๏ ลุศักราช ๙๑๐ ปี พระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ทรงพระดำริห์ที่จะเอากรุงศรีอยุทธยาให้จงได้ จึงให้เกณฑ์กองทัพเมืองหงษาวดี เมืองอังวะ เมืองเชียงใหม่พร้อมกันแล้ว จึงให้อินแซะพระราชบุตรชื่อว่าฝรั่งมังตรีที่พระมหาอุปราชนั้น เปนแม่กองทัพน่า พระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์เปนทัพหลวง จึงยกเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาโดยทางบ้านรแหง แล้วตีล่วงหัวเมืองฝ่ายเหนือลงไปจนถึงกรุงศรีอยุทธยา แล้วตั้งทัพหลวงอยู่ณตำบลทุ่งภูเขาทอง กองทัพพระเจ้าหงษาวดีครั้งนั้นมากนัก ตั้งแผ่กันออกรายล้อมรอบกำแพงกรุงศรีอยุทธยา

๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเห็นจะต่อสู้มิได้ จึงเสด็จออกมาเจรจาความเมืองกันกับพระเจ้าหงษาวดี แลพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองกลับเปนพระราชไมตรีกัน จึงให้สัญญากันไว้ว่าจะมิได้ทำร้ายแก่กันสืบไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทยาก็จัดเงินทองของดีมีค่าต่าง ๆ แลช้างเผือกแลม้าดีถวายมาครั้งนั้นมาก แล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงเลิกทัพกลับมาโดยทางด่านบ้านรแหง

๏ ลุศักราช ๙๑๒ ปี ณวันพุฒเดือนหกแรมค่ำหนึ่ง พระ เจ้าฝรั่งมังโสดถิ์สิ้นพระชนม์ ครั้งนั้นยังมีพระราชวงษ์กระษัตริย์รามัญองค์หนึ่ง จึงคิดกันกับท้าวพระยารามัญทั้งปวง พร้อมใจกันจับขุนนางพม่าในเมืองหงษาวดี แลในหัวเมืองรามัญทั้งปวงฆ่าเสียโดยมาก ที่หนีไปได้นั้นก็มาก จึงท้าวพระยารามัญทั้งปวงตั้งพระราชวงษ์กระษัตริย์นั้น ทรงพระนามพระเจ้าธอชุกคะลี ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีต่อมา พระเจ้าธอชุกคะลีทรงพระราชศรัทธาจึงจัดเอาแก้ววิเศษต่าง ๆ ไปประดับฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง

๏ ฝ่ายขุนนางพม่าทั้งหลายซึ่งหนีไปได้นั้นจึงขึ้นไปณเมืองอังวะ เอาเนื้อความซึ่งมอญกลับเปนขบถนั้น กราบทูลพระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เปนพระมหาอุปราช ๆ ได้ทรงทราบแล้ว จึงให้จัดกองทัพลงมาติดเมืองหงษาวดี ลุศักราช ๙๑๓ ปี เดือนห้าแรมสามค่ำเปนวันสงกรานต์ พระเจ้าฝรั่งมังตรีตีเมืองหงษาวดีได้

๏ ฝ่ายพระเจ้าธอชุกคะลีนั้น จึงพาพระมเหษีแลปริสัชของตนหนีออกไปอยู่ในป่า ซ่อนตัวอยู่ในซอกเขาที่ชอบกลแห่งหนึ่ง ครั้นภายหลังลุศักราช ๙๑๔ ปี เดือน ๑๑ พระเจ้าฝรั่งมังตรีก็ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี จึงมีรับสั่งให้พระราชบุตรเขยกลับขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ณเมืองอังวะ

๏ ลุศักราช ๙๑๗ ปี พระเจ้าฝรั่งมังตรีจะใคร่ได้กรุงศรีอยุทธยามาขึ้นแก่พระองค์ให้สิทธิขาด จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่ากองทัพรามัญทั้งปวง มีรับสั่งให้อินแซะนันกูผู้เปนพระราชบุตรซึ่งเปนพระมหาอุปราชนั้น เปนแม่กองทัพน่ายกเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยาโดยทางด่านแม่ละเมาะบ้านรแหง แล้วเลยมาทางเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้นเจ้าเมืองพิศณุโลกเปนบุตรเขยพระเจ้าช้างเผือกณกรุงศรีอยุทธยา ก็กลัวเกรงอานุภาพพระเจ้าหงษาวดี จึงยกกองทัพฝ่ายเหนือทั้งปวงมาบรรจบกับกองทัพพระเจ้าหงษาวดี แล้วตามเสด็จไปตีกรุงศรีอยุทธยาด้วย พระเจ้าหงษาวดีจึงตั้งทัพหลวงณทุ่งภูเขาทองฝั่งตวันตกแห่งพระนคร จึงให้เร่งทำการประชิดติดพระนคร ลุศักราช ๙๑๘ ปี เดือนเก้า พระเจ้าหงษาวดีก็ได้กรุงศรีอยุทธยา แลพระเจ้าช้างเผือก เจ้าพระนครศรี อยุทธยานั้นสวรรคตเสียก่อน เมื่อยังล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่นั้น แล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงอภิเศกเจ้าเมืองพิศณุโลกอันเปนพระราชบุตรเขยพระ เจ้าช้างเผือกนั้น เปนเจ้าพระนครศรีอยุทธยา ให้ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาเปนเมืองขึ้นแก่กรุงหงษาวดี ถึงปีแล้วให้ส่งเครื่องราชบรรณา การไปถวายตามธรรมเนียม แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ยกทัพกลับมาโดยทางด่านบ้านรแหง

๏ ลุศักราช ๙๑๙ ปีเดือนอ้าย พระเจ้าธอชุกคะลีแลพระมเหษีซ่อนอยู่ในป่านั้น ก็ถึงพิราไลยในราวป่าพะตอย

๏ ฝ่ายพระเจ้าฝรั่งมังตรีนั้นมีอานุภาพมาก มีช้างเผือก มีบ่อแก้ว มีบ่อทอง มีบ่อเงิน เกิดขึ้นในแว่นแคว้น แลชนะพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงในประเทศต่าง ๆ ได้เปนใหญ่ในประเทศทั้งสี่ คือรามัญประเทศ ภุกามประเทศ สยามประเทศ มลาวประเทศ เหตุดังนั้นรามัญทั้งหลายเรียกพระเจ้าฝรั่งมังตรีนั้นว่าตะละพะเนียเธอเจาะ แปลว่าพระเจ้าชนะสิบทิศ ได้เปนพระเจ้าช้างเผือก มีพระกลดแก้ว อนึ่งครั้งเมื่อลุศักราช ๙๑๔ ปี พระเจ้าชนะสิบทิศแรกได้ราชสมบัตินั้น พระเจ้าลังกาชื่อพระยาวิมะละธรรมสุริยะ เปนใหญ่อยู่ในเมืองศิริวัฒนะในเกาะลังกา ปราถนาจะหาพระสงฆ์ที่มีศีลบริสุทธิไปบวชกุลบุตรสืบสมณวงษ์ในลังกา จึงแต่งพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการมาณเมืองยะไข่ ครั้งนั้นเมืองยะไข่อยู่ในอำนาจพระเจ้าชนะสิบทิศ เจ้าเมืองยะไข่จึงมีหนังสือบอกขึ้นไปให้กราบทูล พระเจ้าหงษาวดีจึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองยะไข่ จัดพระสงฆ์แลพระไตรปิฎกกับเครื่องราชบรรณาการตอบพอสมควรแล้วให้ส่งออกไป เจ้าเมืองยะไข่ก็ทำตามรับสั่ง ครั้งนั้นทูตลังกาได้พระสงฆ์ออกไปสามสิบสามรูปครั้นพระเจ้าลังกาได้พระสงฆ์ แล้ว ก็ขอบคุณพระเจ้าหงษาวดีนัก ปราถนาเปนพระราชไมตรีกันยืนยาวไปนาน ครั้นภายหลังจึงจัดพระราชธิดาองค์หนึ่ง กับเครื่องมงคลราชบรรณาการ มอบให้ขุนนางผู้ใหญ่เปนราชทูตลงเภตราวิลันดามาเข้าปากน้ำเมืองหงษาวดี ราชทูตจึงนำพระราชธิดาแลเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปถวาย พระเจ้าหงษาวดีก็ยินดีนัก จึงตอบเครื่องราชบรรณาการไปแก่ราชทูตลังกาเปนอันมาก ครั้นภายหลังพระเจ้าชนะสิบทิศ จึงตั้งนางกระษัตริย์มเหษีเดิม ที่เปนพระราชมารดาอินแซะนันกูนั้น เปนพระอรรคมเหษีใหญ่ ตั้งนางกระษัตริย์ลังกาเปนพระมเหษีขวา ตั้งพระราชธิดาพระเจ้าช้างเผือกณกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งพระองค์ได้มาไว้ในกาลก่อนนั้น เปนพระมเหษีฝ่ายซ้าย พระ เจ้าฝรั่งมังตรีนั้นครองราชสมบัติได้มายี่สิบเก้าปี จนถึงศักราช ๙๒๖ ปี ครั้นถึงเดือนเก้าขึ้นสี่ค่ำวันพฤหัศบดีก็สวรรคต จึงอินแซะนันกู ๆ นี้ เรียกตามภาษาพม่า แต่รามัญเรียกว่านานกะยะ ผู้เปนพระมหาอุปราช ได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดีสืบมา

๏ ลุศักราช ๙๒๗ ปี พระราชบุตรพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ครั้นรู้ว่าพระเจ้าชนะสิบทิศสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยกกองทัพขึ้นมาณเมืองหงษาวดีโดยทางด่านแม่ละเมาะ ว่าจะขึ้นมาช่วยกันทำพระราชสงครามตีเมืองอังวะ ครั้นถึงปลายแดนเมืองหงษาวดี พระราชบุตรนั้นกลับคิดขบถ กวาดครัวหัวเมืองปลายแดนได้แล้วก็กลับคืนไปกรุงศรีอยุทธยา ครั้นพระเจ้านันกูได้ทรงทราบก็ทรงพระโกรธ จึงตรัสสั่งให้พระราชบุตรผู้ใหญ่ชื่อมังษาเกียด อันเปนที่พระมหาอุปราช ยกกองทัพไปตามจับพระราชบุตรกรุงไทยให้จงได้ พระมหาอุปราชก็ยกกองทัพรีบตามมา พอพระราชบุตรกรุงไทยยกข้ามแม่น้ำจิตตองไปแล้ว พระมหาอุปราชเห็นจะตามไปไม่ทัน จึงยกกองทัพกลับมากราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ยิ่งทรงพระโกรธ ทรงดำริห์จะไปตีกรุงศรีอยุทธยาให้จงได้

๏ ลุศักราช ๙๒๙ ปี พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งให้พระเจ้าเชียง ใหม่ยกทัพลงไปตีกรุงศรีอยุทธยาโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชร ตรัสสั่งให้เจ้าเมืองพสิมยกเข้าไปทางเมืองกาญจนบุรี ให้ถึงพร้อมกันแล้ว ช่วยกันรดมตีกรุงศรีอยุทธยาให้จงได้ พระราชบุตรทั้งสองของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ก็รับอาสาพระบิดามาทำสงคราม ตีกองทัพเมืองหงษาวดีทางเหนือทางใต้แตกกลับมาสิ้น

๏ ลุศักราช ๙๓๐ ปีเดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่ง บังเกิดอัศจรรย์ พระอาทิตย์เปนสุริยุปราคามืดไปสิ้นวันยังค่ำ ครั้นถึงณวันอังคารเดือนเจ็ดขึ้นเก้าค่ำ บังเกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์เมืองร่างกุ้งทลายลงมาเพียงชั้นกลาง พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่เปนนายการกะเกณฑ์กันทำให้ปรกติ ดังเก่า

๏ ลุศักราช ๙๓๑ ปี พระเจ้าหงษาวดีจึงยกกองทัพเข้าไปกรุงศรี อยุทธยาโดยทางด่านเชียงทอง ยกลงไปตั้งถึงชานเมืองแล้ว ทำการตั้งค่ายประชิดกรุงศรีอยุทธยาอยู่ถึงหกเดือนก็ยังไม่สมความปราถนา ครั้นถึงเทศกาลฝนก็ยกทัพกลับไปเมืองหงษาวดี

๏ ลุศักราช ๙๓๒ ปี พระเจ้าหงษาวดียกทัพเข้าไปตีกรุงศรี อยุทธยาอิกครั้งหนึ่ง ครั้นไม่ได้แล้วก็กลับมา ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าหงษาวดีเข็ดขยาดฝีมือพระราชบุตรกรุงไทยทั้งสองพี่น้อง นัก ออกพระโอษฐว่าเด็กสองคนพี่น้องนี้ นานไปเบื้องน่าจะข่มเหงมอญ จะจับเอาพวกมอญไปเปนชเลยเปนมั่นคง ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าหงษาวดีก็มิได้ยกไปทำสงครามสืบไป ครั้นถึงศักราช ๙๔๐ ปี พระเจ้าหงษาวดีได้ฟังข่าวว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ผู้เปนพระราชบิดาของพระราชกุมารทั้งสองนั้นสวรรคตแล้ว จึงตรัสสั่งพระมหาอุปราชให้ยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยาอิกครั้งหนึ่ง ให้พระเจ้าเชียงใหม่เปนทัพน่า พระมหาอุปราชเปนทัพหลวง ยกเข้าไปโดยทางด่านกาญจนบุรี

๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงไทยทั้งสองพี่น้อง ครั้นทรงทราบแล้วก็รีบยกทัพออกไป จึงพบทัพพระมหาอุปราชณแขวงเมืองสุพรรณบุรี ขณะนั้นรามัญกับไทยได้รบกันเปนสามารถ พระเจ้ากรุงไทยผู้เปนพระเชษฐาไสช้างเข้าไปชนกับช้างพระมหาอุปราช ช้างพระมหาอุปราชเสียทีเบือนไป พระเจ้ากรุงไทยฟันด้วยพระแสงง้าว พระมหาอุปราชก็ถึงแก่กรรมในที่นั้น

๏ ฝ่ายพวกพม่ารามัญทั้งปวง ก็แตกกลับมาณเมืองหงษาวดีแล้วกราบทูลเหตุนั้นให้ทราบ พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังตกพระไทยนัก มีความโสกาไลยถึงพระราชบุตรเปนกำลัง ตั้งแต่นั้นมาก็ให้รอาฝีมือไทย มิได้คิดที่จะมาตีกรุงศรีอยุทธยาสืบไป

๏ ลุศักราช ๙๔๒ ปี ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ ได้ยินข่าวว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจะยกทัพออกไปตีเมืองหงษาวดี ให้เกรงกลัวพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานัก จึงแต่งเครื่องราชบรรณาการลงไปถวาย ขอเปนเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยา ในศักราช ๙๔๒ ปีนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงให้เสนาบดีออกไปตีเมืองทวายเมืองมฤตเมืองตนาวได้ พระเจ้าหงษาวดีก็ไม่ได้ตรัสสั่งให้ยกกองทัพมาตีเอาเมืองทั้งสามคืน เมืองทั้งสามนั้นก็เปนเขตรแดนของกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่นั้นมา ครั้งนั้นสงครามมอญกับไทยงดกันไปถึงเจ็ดปี รามัญทั้งปวงกลัวอานุภาพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทั้งสองพระองค์นั้น รามัญเรียกชื่อว่าตะละบากาวเตะ แปลว่าเจ้าสองพี่น้อง

๏ ฝ่ายพระเจ้านันกูผู้เปนใหญ่ในเมืองหงษาวดี ภายหลังให้บังเกิดความสังเวชพระไทยนัก ด้วยคิดถึงพระองค์ที่ทรงพระชรา จึงตรัสสั่งให้พระยาทะละเปนแม่กอง เอาทองคำหนักห้าชั่ง เงินหนักห้าชั่งไปแผ่ปิดยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง แล้วให้รัดด้วยลวดเงิน ได้หล่อ รฆังทองคำหนักสี่ชั่ง แขวนบูชาไว้แล้ว ทรงพระอุสาหบำเพ็ญกุศลเปนอันมาก ครั้นอยู่มาหัวเมืองรามัญทั้งปวง เห็นพระเจ้านันกูหย่อนกำลังลงแล้ว ก็ชวนกันกระด้างกระเดื่องไม่ปรกติเหมือนแต่ก่อน

๏ ลุศักราช ๙๕๐ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาได้ทรงทราบว่าหัวเมืองมอญทั้งปวงไม่เปนปรกติ จึงตรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีเปนแม่กองทัพน่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทั้งสองพระองค์เปนทัพหลวง ยกออกไปโดยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตีออกมาได้จนถึงเมืองเมาะ ตมะ ขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดีประชวรอยู่ จึงมีรับสั่งให้หาเจ้าเมืองตองอูลงมาช่วยป้องกันเมืองหงษาวดี เจ้าเมืองตองอูเห็นว่าจะรับกองทัพไทยในเมืองหงษาวดีนั้นไม่หยุด จึงเชิญพระเจ้าหงษาวดีกวาดครัวชาวเมืองออกจากเมือง เผาเมืองหงษาวดีเสีย พาพระเจ้านันกูไปรักษาไว้ณเมืองตองอู

๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เมื่อได้เมืองเมาะตมะแล้ว ก็ยกขึ้นไปณเมืองหงษาวดีณเดือนสาม ครั้นเห็นเมืองร้างอยู่ จึงรู้ว่าเจ้าเมืองตองอูพาพระเจ้าหงษาวดีไป

๏ ลุศักราช ๙๕๓ ปี เดือนอ้ายขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ก็รีบเสด็จไปล้อมเมืองตองอู ขณะนั้นกองทัพไทยขาดเสบียงอาหาร เห็นจะทำการไปไม่ตลอด ก็ให้ล่าทัพกลับมาจากเมืองตอง อู แล้วให้กวาดครัวรามัญเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาครั้งนั้นก็มากนัก พระเจ้านันกูครองราชสมบัติอยู่ในเมืองหงษาวดีสิบปี ลุศักราช ๙๕๔ ปี สิ้นพระชนม์ในเมืองตองอู ครั้งนั้นหัวเมืองมอญทั้งปวงไม่ไปขึ้นแก่เมืองตองอู เข้าไปขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาโดยมาก ในศักราช ๙๕๔ ปีนั้น พระยาตองอูจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการเข้าไปถวายพระเจ้ากรุงไทย ขอเปนเมืองขึ้นสืบไป ครั้งนั้นรามัญประเทศทั้งปวงไปขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาทั้งสิ้น

๏ ฝ่ายพระเจ้าอังวะ ก็มิได้ลงมาเบียดเบียนหัวเมืองรามัญทั้งปวง ด้วยเกรงอานุภาพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แต่ประเทศรามัญมาขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุทธยาประมาณเจ็ดปี ครั้นภายหลังกรุงศรีอยุทธยาเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนใหญ่ในภายหลังนั้นเพิกเฉยเสีย มิได้ทรงรวังรามัญประเทศ หัวเมืองมอญทั้งปวงก็ตั้งแขงเมืองเปนแพนก ๆ อยู่ตามลำพัง ไม่มีเมืองใดเปนใหญ่กว่ากัน

๏ ลุศักราช ๙๖๒ ปี ยังมีฝรั่งนายกำปั่นคนหนึ่งชื่อกับตันหันชราเปนคนมีทรัพย์มาก ก่อตึกค้าขายอยู่ณเมืองเสรี่ยง แลฝรั่งนั้นมีสติปัญญามาก รู้จักเอาใจขุนนางแลราษฎรทั้งปวง ขณะนั้นเจ้าเมืองเสรี่ยงร้ายกาจนัก เบียดเบียนขุนนาง เบียดเบียนราษฎรทั้งปวงได้ความลำบาก กับตันหันชราจึงคิดกันกับชาวเมืองทั้งปวงพร้อมใจกันเนรเทศขับไล่เจ้าเมืองเส รี่ยงเสีย แล้วขุนนางแลราษฎรทั้งปวงยกกับตันหันชรานั้นขึ้นเปนใหญ่ในเมืองเสรี่ยง แลพระยาฝรั่งนั้นมิได้นับถือพระพุทธสาสนา เปนแต่ผู้ช่วยดูแลรักษาพระเจดีย์ใหญ่แลอารามทั้งปวง ตามธรรมเนียมเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ครั้งนั้นมีพระมหาเถรสององค์ แลเจ้าอธิการองค์พุทธ แลเจ้าอธิการเตอละเจได้ชักชวนชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงบำรุงพระพุทธสาสนา ซ่อมแปลงอาวาศแลพระมหาธาตุเจดีย์ซึ่งปรักหักพัง แลชักชวนคนทั้งปวงบำ เพ็ญทานรักษาศีลตามสติปัญญา พระพุทธสาสนาในประเทศนั้นจึงยังบริบูรณ์อยู่ แลพระเจ้าแผ่นดินสามองค์ คือพระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์หนึ่ง พระเจ้าฝรั่งมังตรีหนึ่ง พระเจ้านันกูหนึ่ง ได้เปนใหญ่ในเมืองหงษาวดีตั้งแต่ศักราช ๙๐๑ ปี มาจนศักราช ๙๕๔ ปี แต่พระเจ้า ธอชุกคะลี เปนพระเจ้าแผ่นดินวงษ์รามัญแซกเข้ามาปีหนึ่ง จึงเปนห้าสิบสี่ปีด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมารามัญประเทศทั้งปวงจึงไปขึ้นแก่กรุงไทยได้เจ็ดปี ครั้งเมื่อเมืองมอญทั้งปวงต่างเมืองต่างอยู่ตามลำพัง ส่วนเมืองทวายก็ตั้งแขงเมืองอยู่บ้าง มิได้มาขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ทรงเพิกเฉยเสีย มิได้ยกมาปราบปรามให้อยู่ในอำนาจเหมือนแต่ก่อน ยังขึ้นอยู่แก่กรุงศรีอยุทธยาแต่เมืองมฤต เมืองตนาวสองเมืองเท่านั้น เมื่อพระยากับตันหันชราเปนเจ้าเมืองเสรี่ยงได้สิบสองปี

๏ ลุศักราช ๙๖๕ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง รามัญทั้งหลายเรียกว่า ตะละนันธอกะเดิงมณิก คำไทยว่าพระเจ้าปรา สาททองกลดแก้ว เปนพระราชนัดดาของพระเจ้าฝรั่งมังตรี ครั้นรู้ว่าหัวเมืองมอญทั้งปวงไม่เปนปรกติพร้อมเพรียงกัน จึงยกกองทัพลงมาปราบปรามได้เมืองมอญทั้งปวงตลอดมาจนเมืองทวาย แล้วจึงยกไปตีเมืองมฤตตีเมืองตนาว เจ้าเมืองมฤตเจ้าเมืองตนาว ไม่เห็นกองทัพกรุงศรีอยุทธยาออกมาช่วย ก็ยอมขึ้นแก่พระเจ้าอังวะ แล้วพระเจ้าอังวะจึงตรัสสั่งขุนนางพม่าขุนนางรามัญ ให้เกณฑ์กันสร้างเมืองหงษาวดีขึ้นให้คงดังเก่า แล้วพระเจ้าอังวะก็ยกทัพกลับขึ้นไปเมืองอังวะ แลขณะเมื่อพระเจ้าอังวะยกกองทัพมาตีเมืองเสรี่ยงนั้น พระยากับตันหันชราเห็นว่าจะสู้พม่าไม่ได้ ก็พาพวกพ้องลงกำปั่นหนีไปณเมืองฝรั่ง ขณะเมื่อพระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว ลงมาปราบปรามประเทศรามัญทั้งปวงนั้น

๏ ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงตรัสปฤกษาด้วยแสนท้าว พระยาลาวทั้งปวงว่า บัดนี้พระเจ้าอังวะลงไปย่ำยีหัวเมืองรามัญทั้งปวงให้อยู่ในอำนาจสิ้น จนแต่เมืองมฤตเมืองตนาว ซึ่งขึ้นอยู่แก่พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานั้น พระเจ้าอังวะก็ตีได้ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็เพิกเฉยเสีย ไม่ยกกองทัพไปช่วยป้องกันเมืองขึ้นของพระองค์ ถ้าแม้นเราจะยังคงไปขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาอยู่ แม้นพระเจ้าอังวะยกมาตี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจะไม่ยกมาช่วย พวกเราก็จะได้ความลำบากเปนมั่นคง จำเราจะแต่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะ ขอเปนเมืองขึ้นจึงจะพ้นอันตราย ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงก็เห็นชอบด้วย ครั้นถึงศักราช ๙๖๖ ปี พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดเครื่องราชบรรณาการ มอบให้ราชทูตคุมขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะ ๆ ก็มีพระไทยยินดีนัก แล้วพระราชทานรางวัลแก่ทูตเปนอันมาก ตั้งแต่นั้นมาเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง ก็ไปขึ้นแก่เมืองอังวะ

๏ ลุศักราช ๙๗๓ ปี เปนปลายปี พระเจ้าปราสาททองกลดแก้วจึงจัดให้พระราชวงษ์องค์หนึ่งอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วจึงพาพวกพ้องยกลงมาตั้งอยู่ณเมืองหงษาวดี จึงตั้งราชบุตรชื่อมังรายตูปะเปนพระมหาอุปราชเมืองหงษาวดี

๏ ลุศักราช ๙๗๔ ปี ณวันพุฒเดือนห้าขึ้นแปดค่ำ พระเจ้าปราสาททองกลดแก้วจึงจัดรามัญสี่สิบสองครัว ถวายเปนข้าพระเกษธาตุ ณเมืองร่างกุ้ง พระเจ้าปราสาททองกลดแก้วนั้นไม่ได้กลับขึ้นมาเมืองอังวะอิก เสด็จอยู่ครองราชสมบัติณเมืองหงษาวดี ไม่เสด็จอยู่ในเมืองออกไปตั้งพระราชวังอยู่ณตำบลเกลาะสะเกิบแปลว่าสวนเหตุ ดังนั้นชาวเมืองจึงเรียกว่าพระเจ้าเกลาะสะเกิบ คำไทยว่าพระเจ้าสวน ได้ปฏิ สังขรณ์ซ่อมแปลงบูชาพระเจดีย์ร่างกุ้งไว้มาก ได้ครองราชสมบัติในเมืองอังวะ ๖ ปี ในเมืองหงษาวดี ๖ ปี

๏ ลุศักราช ๙๙๐ ปี ณวันพฤหัศบดีเดือนแปดขึ้นสี่ค่ำ พระเจ้าเกลาะสะเกิบก็สิ้นพระชนม์ จึงพระโอรสพระเจ้าเกลาะสะเกิบชื่อมังรายตูปะ ได้เปนพระเจ้าแผ่นดินในวันศุกรเดือนเก้าแรมสี่ค่ำ จึงเสด็จเข้าไปอยู่ที่พระราชวังเก่าในเมืองหงษาวดี ครองราชสมบัติอยู่ปีหนึ่ง ลุศักราช ๙๙๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์ ภายหลังเจ้าเมืองสะเทิมเปนเชื้อวงษ์เจ้าแผ่นดินพม่า ได้เปนเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี แลในศักราช ๙๙๑ ปี วันเสาร์เดือนสามแรมหกค่ำ เพลาค่ำแล้วนาฬิกาหนึ่ง เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักตกลงในทิศอาคเณย์ ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้ยกขึ้นได้เปนปรกติดังเก่า ลุศักราช ๙๙๖ ปี ณวันอังคารเดือนอ้าย พระเจ้าสะเทิมธรรมราชากลับขึ้นไปครองราชสมบัติณเมืองอังวะได้สี่ปี

๏ ลุศักราช ๑๐๐๐ ปี ณวันอาทิตย์เดือนห้าขึ้นแปดค่ำ ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งหักตกลงมาอิก ครั้นพระเจ้าอังวะได้ทรงทราบก็ทรงพระวิตกว่าคำบุราณว่าไว้ว่า ถ้าศักราชครบ ๑๐๐๐ ปีแล้ว บ้านเมืองจะไม่เปนศุข จะเกิดกลียุคไปทุกประเทศ แลบัดนี้ก็เกิดเหตุใหญ่ฉัตรยอดพระมหาเจดีย์หักลงมา จำเราจะทำกุศลให้ระงับเหตุร้ายนั้นเสีย ครั้นถึงเดือนหกขึ้นสี่ค่ำจึงให้บวชนาค ๑๐๐๐ รูป สำเร็จ ให้เท่ากันกับศักราช ครั้นถึงณวันจันทร์เดือนหกขึ้นแปดค่ำ บวชนาคได้ครบ ๑๐๐๐ รูปสำเร็จแล้ว จึงแผ่พระราชกุศลไปให้ทั่วสัตวทั้งปวง

๏ ลุศักราช ๑๐๐๒ ปี ได้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ขึ้นไว้ดังเก่า พระยาสะเทิมธรรมราชานั้นเมื่อแรกได้ราชสมบัติในเมืองพะโค คือเมืองหงษาวดีนั้น ลุศักราช ๙๙๖ ปี จึงกลับขึ้นไปเมืองอังวะอยู่ได้สี่ปี ลุศักราช ๑๐๑๑ ปี พระเจ้าสะเทิมธรรมราชาสิ้นพระชนม์ในเมืองอังวะ บุตรพระยาสะเทิมชื่อนันตะยะ บางทีเรียกว่านันทชยะได้ราชสมบัติต่อมา ในศักราช ๑๐๑๑ ปีนั้น ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งนั้นเอนไป จึงมีรับสั่งให้ถอนฉัตรนั้นขึ้นไปเมืองอังวะ ครั้นซ่อมแซมดีแล้วจึงให้เอาลงไปปักไว้ดังเก่า

๏ ลุศักราช ๑๐๑๘ ปี พวกกองทัพเมืองฮ่อยกลงมาติดเมืองอังวะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่กลัวว่า กองทัพฮ่อได้เมืองอังวะแล้วจะยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่ จึงใช้ราชทูตลงไปขอกองทัพพระเจ้ากรุงศรี อยุทธยา ๆ ก็ให้จัดกองทัพขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่

๏ ฝ่ายพระเจ้าอังวะ เมื่อกองทัพฮ่อมาติดเมืองอยู่ครั้งนั้น จึงมีรับสั่งลงมาถึงพม่าซึ่งเปนใหญ่ในเมืองรามัญทั้งปวง ให้เกณฑ์พวกรามัญขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ ครั้งนั้นพระราชวงษ์พระเจ้าอังวะองค์หนึ่ง ชื่อมังนันทมิตร ได้มาเปนเจ้าเมืองเมาะตมะ จึงเกณฑ์พวกรามัญจะขึ้นไปช่วยเมืองอังวะ แลรามัญทั้งปวงหลีกหนีเสียมาก มังนันทมิตรจึงให้ตามจับมาได้บ้าง จึงให้เอาพวกรามัญที่หนีตาทัพทั้งหลายนั้นเข้าคอกคลอกเสียด้วยเพลิง ขุนนางรามัญทั้งปวงจึงชักชวนกันเปนขบถ นัดพร้อมกันแล้วก็จุดเพลิงเผาเมืองเมาะตมะขึ้น แล้วชวนกันจับมังนันทมิตรเจ้าเมืองคุมตัวไว้มั่นคงแล้วก็พากันอพยพเข้าไป ณกรุงศรีอยุทธยา แลเอาตัวมังนันทมิตรนั้นเข้าไปด้วย

๏ ฝ่ายกองทัพฮ่อซึ่งมาติดเมืองอังวะอยู่นั้น พอขาดเสบียงอาหารก็เลิกทัพกลับไป

๏ ภายหลังพระเจ้านันตะยะผู้เปนพระเจ้าอังวะ ได้ทรงทราบว่ามอญ เมืองเมาะตมะเปนขบถ ก็ทรงพระพิโรธนัก จึงตรัสสั่งให้พระราชวงษ์องค์หนึ่งนามว่ามังสุราชา ให้เปนแม่ทัพยกตามไปจับมอญให้จงได้ มังสุราชาก็ยกกองทัพลงมาเมืองเมาะตมะ แล้วรีบติดตามครัวมอญเข้าไปตั้งอยู่ที่ปลายแดนเมืองกาญจนบุรี แล้วมีหนังสือเข้าไปถึงเจ้าเมืองกาญจนบุรี ให้เอาความไปแจ้งแก่เสนาบดีในกรุงศรีอยุทธยา ว่าจะขอเอาครัวมอญคืนออกไป ครั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาได้ทรงทราบ ก็ไม่ยอมส่งครัวมอญออกไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงเกณฑ์กองทัพ ให้เจ้าพระยาโกษาเสนาบดีเปนแม่ทัพออกไปรบกับพวกพม่าณตำบลปลายด่านเมือง กาญจนบุรี กองทัพพม่าต่อสู้ไม่ได้แตกไปหลายครั้ง มังสุราชาแม่ทัพจึงปฤกษากันกับติงจาโบกับเมียนวุ่นทั้งสองซึ่งเปนทัพน่า ก็ล่าทัพกลับมาเมืองเมาะตมะ จัดการที่เมืองเมาะตมะให้ราบคาบแล้ว ก็ยกขึ้นไปเมืองอังวะ กราบทูลเหตุนั้นแก่พระเจ้าอังวะทุกประการ พระเจ้าอังวะได้ทรงทราบก็ครั่นคร้ามกองทัพไทย มิได้คิดที่จะให้ยกลงไปตีกรุงศรีอยุทธยาต่อไปอิก

๏ ลุศักราช ๑๐๒๐ ปี วันพุฒเดือนห้าแรมเจ็ดค่ำ เกิดลมพยุใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ในป่าหักโค่นไปเปนอันมาก แลยอดฉัตรพระเจดีย์ร่างกุ้งเอนไปอิก

๏ ลุศักราช ๑๐๒๓ ปี วันเสาร์เดือนเจ็ดแรมเจ็ดค่ำ พระเจ้านันตะยะสิ้นพระชนม์ จึงพระราชบุตรพระเจ้าสะเทิมอิกองค์หนึ่ง เปนน้องพระเจ้านันตะยะ ชื่อมังรายกะยอของ ได้ครองราชสมบัติในเมืองอังวะ ในศักราช ๑๐๒๓ ปี ณวันจันทร์เดือนสามขึ้นสิบค่ำเพลาบ่ายสี่โมงเกิดแผ่นดินไหว ฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งตกลงมาข้างทิศตวันตกเฉียงใต้ พระเจ้ามังรายกะยอของได้ทราบเหตุนั้น จึงตรัสถามโหรทั้งปวง ๆ ทูลทำนายว่า ปีน่าจะเกิดศึกในประเทศพม่ารามัญ แลซึ่งฉัตรยอดพระมหาเจดีย์ตกลงในทิศตวันตกเฉียงใต้นั้น เพราะลมร้ายพัดมาแต่ทิศตวันออกเฉียงใต้ เห็นว่าข้าศึกจะมาแต่ทิศตวันออกเฉียงใต้ พระเจ้าอังวะได้ทรงฟังดังนั้นก็ไม่สบายพระไทย จึงตรัสสั่งให้เอาฉัตรยอดพระเจดีย์ขึ้นไปซ่อมแซมที่เมืองอังวะ

๏ ลุศักราช ๑๐๒๔ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาได้ทรงทราบข่าวอันขุนนางรามัญทั้งหลายในเมืองเมาะตมะ เมืองจิตตอง บอกเข้าไปว่า บัดนี้พระเจ้าอังวะองค์ก่อนนั้นสิ้นพระชนม์แล้ว พระอนุชาพึ่งได้ราชสมบัติใหม่ หัวเมืองมอญทั้งปวงจะชวนกันแขงเมืองขึ้น ขอให้กองทัพกรุงศรีอยุทธยายกออกมาเถิด พวกรามัญทั้งปวงจะช่วยเปนกำลัง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงจัดกองทัพเปนสองฝ่าย ให้เจ้าพระยาโกษาเสนาบดีเปนแม่ทัพยกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ไปยั้งอยู่เมืองเมาะตมะทัพหนึ่ง ให้พระยากำแพงเพ็ชรเปนแม่ทัพยกไปทางด่านบ้านระแหง ไปบรรจบกันที่เมืองเมาะตมะเปนทัพหนึ่ง ให้พระยาสีห ราชเดโชขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ เกณฑ์พวกลาวเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนคร เข้ากองทัพ ยกออกไปข้างด่านเชียงใหม่ให้ถึงเมืองจิตตอง แล้วให้เกณฑ์รามัญเมืองจิตตองเข้ากองทัพ แล้วยกลงไปสมทบทัพหลวงณเมืองเมาะตมะ ครั้นนายทัพนายกองทั้งปวงยกออกมาถึงเมืองเมาะตมะ พวกรามัญทั้งปวงชวนกันมาเข้ากองทัพไทยเปนอันมาก แม่ทัพใหญ่จึงให้ยกไปตีเมืองหงษาวดี เมืองเสียง เมืองร่างกุ้ง ก็ได้โดยง่าย พม่าซึ่งเปนเจ้าเมืองทั้งปวง เมื่อเห็นรามัญทั้งปวงเปนใจด้วยไทยแล้ว ก็พากันหนีกลับขึ้นไปเมืองอังวะ เจ้าพระยาโกษาเสนาบดีจึงจัดพลไทยพลรามัญเปนทัพเรือทัพบก ขึ้นไปจากเมืองร่างกุ้ง ให้รีบยกขึ้นไปตีหัวเมืองรามัญเมืองพม่าทั้งปวงแตกสิ้น จนถึงเมืองปะกันคือเมืองภุกาม อันเปนเมืองหลวงเก่า จึงให้ตั้งค่ายประชิดเมืองภุกาม แลเมืองภุกามนั้นพระเจ้าอังวะมีรับสั่งให้พระราชบุตรชื่อมังจาเลผู้เปนเจ้า เมืองจาเล ให้ทิ้งเมืองจาเลเสียถอยขึ้นมาตั้งรับอยู่ที่เมืองภุกาม ด้วยเมืองนั้นกำแพงมั่นคงนัก เจ้าเมืองมังจาเลก็มารักษาอยู่ที่เมืองภุกาม ปิดประตูเมืองขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินไว้มั่นคง กองทัพไทยจะหักเข้าไปมิได้

๏ ขณะนั้นในแว่นแคว้นเมืองอังวะเข้าแพงนัก เกิดอันตรายเจ็บไข้ตายก็มาก พวกกองทัพก็ขัดเสบียงลงจึงชวนกันล่าทัพกลับไป ครั้งนั้นพวกรามัญทั้งหลายครั้นเห็นพวกไทยไม่ได้เมืองอังวะ ก็ชวนกันอพยพครอบครัวตามกองทัพไทยเข้าไป ด้วยกลัวพม่าจะฆ่าเสียเมื่อภายหลัง ครั้นกองทัพไทยกลับไปแล้ว พระเจ้าอังวะจึงให้ขุนนางผู้ใหญ่หลายคน ยกกองทัพลงมาณรามัญประเทศ ให้เที่ยวเกลี้ยกล่อมรามัญทั้งปวงให้เข้าอยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน แลห้ามปรามกันสิทธิขาด ไม่ให้ขุนนางพม่าข่มเหงพวกมอญทั้งปวงสืบไป ครั้งนั้นรามัญทั้งปวงค่อยได้ความศุข จึงไม่กำเริบวุ่นวายเหมือนครั้งก่อน แลขุนนางพม่าทั้งปวงก็จัดพลพม่าแบ่งปันกัน แยกย้ายกันไปรักษาหัวเมืองรามัญทั้งปวงไว้ หัวเมืองรามัญทั้งปวงก็กลับไปขึ้นแก่พระเจ้าอังวะเหมือนแต่ก่อน

๏ ลุศักราช ๑๐๒๕ ปี วันอังคารเดือนสิบขึ้นสามค่ำ ได้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้ง ได้อังคาสเลี้ยงพระสงฆ์สามเมือง คือเมืองเสียง เมืองพะโค เมืองร่างกุ้ง ได้บูชาพระเจดีย์ด้วยเครื่องสักการบูชาเปนอันมาก พระเจ้ามังรายกะยอของปราถนาจะลงมาเยี่ยมเยียนหัวเมืองรามัญทั้งปวง ครั้นณเดือนสิบสอง จึงเสด็จลงมาจนถึงเมืองร่างกุ้ง แล้วสั่งให้ราชบุรุษทั้งปวงไปเที่ยวสอดแนมสืบถามปากราษฎรทั้งปวงว่าในหัว เมืองมอญจนถึงเมืองทวาย เจ้าเมืองแลขุนนางผู้ใดทำข่มเหงย่ำยีให้ราษฎรได้ความเดือนร้อนบ้าง ถ้าได้ทรงฟังว่าเจ้าเมืองแลขุนนางผู้ใดสงเคราะห์ราษฎรโดยสุจริตแลราษฎร สรรเสริญผู้นั้นมาก ก็รับสั่งให้หามาพระราชทานรางวัลแลยศศักดิเพิ่มเติมขึ้นไป ถ้าเจ้าเมืองถ้าขุนนางผู้ใดทำให้ราษฎรได้ความเดือดร้อน ก็ให้ลงโทษตามโทษา นุโทษ ถ้าทำผิดมากนักก็ให้ประหารชีวิตรเสียทีเดียว ครั้งนั้นรามัญทั้งปวง ชวนกันยกมือไหว้สรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าอังวะเปนอันมาก พระเจ้าอังวะจึงให้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งซึ่งหักลงมาในครั้งก่อนนั้น ให้เปนปรกติดังเก่า แล้วจึงเสด็จกลับขึ้นไปณเมืองอังวะ ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญทั้งปวงก็ราบคาบอยู่เปนอันดี แต่เมืองมฤตเมืองตนาวสองเมืองนี้ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้ขุนนางมารักษาอยู่ แลเมืองลาวพุงดำ คือเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนคร พระเจ้ากรุงไทยก็ให้ขุนนางไทยไปกำกับอยู่ พระเจ้าอังวะก็มิได้ให้กองทัพไปตีหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งห้าตำบลนี้ต่อ ไป ด้วยกลัวจะเกิดวิวาททำสงครามกันไปในภายน่า ราษฎรทั้งปวงจะได้ความเดือดร้อน ไทยกับพม่าก็งดสงครามกันมาตั้งแต่นั้น

๏ ลุศักราช ๑๐๒๖ ปี เดือนอ้ายขึ้นสิบสี่ค่ำวันจันทร์ แผ่นดินไหวอิกครั้งหนึ่ง ยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งตกลงมาหลายชั้น อินทจักรหักห้าศอกสองกระเบียด ตกลงข้างทิศตวันตก องค์พระเจดีย์ชำรุดไปมาก

๏ ลุศักราช ๑๐๒๗ ปี วันจันทร์เดือนยี่ขึ้นเก้าค่ำ พระเจ้ามังรายกะยอของ ตรัสสั่งให้จัดฝังอินทจักร ในศักราช ๑๐๒๗ ปี วันศุกรเดือนสามขึ้นสิบสองค่ำ ให้ยกยอดพระเจดีย์ร่างกุ้งอิกครั้งหนึ่ง มี การมโหรศพสมโภชต่าง ๆ เมื่อพระเจ้ามังรายกะยอของแรกได้ราชสมบัตินั้น พระชนมายุสามสิบเก้าปี อยู่ในราชสมบัติสามสิบสี่ปี

๏ ลุศักราช ๑๐๖๘ ปี วันอาทิตย์เดือนห้าแรมสิบเอ็ดค่ำ พระเจ้า มังรายกะยอของ พระชนมายุ ๗๓ ปีสิ้นพระชนม์ จึงอินแซะแมงราชบุตรได้ราชาภิเศก วันอังคารเดือนสิบขึ้นหกค่ำ ชาวเมืองทั้งหลายเรียกเจ้าแผ่นดินนั้นว่าเนมะโยแมง แปลว่าเจ้าอาทิตย์ อยู่ในราชสมบัติยี่สิบเจ็ดปี ลุศักราช ๑๐๙๕ ปี เนมะโยแมงสิ้นพระชนม์ พระราชบุตรพระเจ้าเนมะโยแมงชื่อมังลาวะมิน ได้เสวยราชสมบัติในเมืองอังวะต่อมา

๏ ลุศักราช ๑๐๙๗ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าธรรมิกราชปราถนาจะเปนพระราชไมตรีกับพระเจ้าอังวะจึงแต่งให้ ราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปเมืองอังวะ เสนาบดีนำขึ้นเฝ้า ราชทูตไทยจึงถวายพระราชสาส์นเครื่องราชบรรณาการ พระเจ้าอังวะได้ทรงฟังพระราชสาส์นซึ่งมาสืบทางพระราชไมตรีนั้น ก็ยินดีในพระไทยนัก จึงตรัสปราไสด้วยราชทูตตามธรรมเนียมแล้ว จึงให้แต่งพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ ตอบลงไปณกรุงศรี อยุทธยา ตั้งแต่นั้นมากรุงศรีอยุทธยากับกรุงอังวะก็เปนทางพระราชไมตรีกัน เมื่อพระเจ้าอังวะครองราชสมบัติได้เจ็ดปี

๏ ลุศักราช ๑๑๐๑ ปี เมื่อจะเกิดเหตุใหญ่ในรามัญประเทศนั้น เทพยดาสำแดงนิมิตรให้เห็นประจักษ์ ณวันพฤหัศบดีเดือนห้าขึ้นสี่ค่ำ เพลาเช้าเกิดแผ่นดินไหวสเทือนอยู่นาน ฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาวณเมืองหงษาวดีนั้นหักลงมา

๏ ลุศักราช ๑๑๐๒ ปี มะยุวุ่นขุนนางพม่า คือมองซวยตองกะยอ ซึ่งมาครองเมืองหงษาวดีแต่ศักราช ๑๐๙๙ ปีนั้น รามัญทั้งหลายเรียกว่ามังสาอ่อง ๆ เปนเจ้าเมืองได้สามปี

๏ ลุศักราช ๑๑๐๒ ปีนั้น มังสาอ่องจึงคิดขบถต่อพระเจ้าอังวะ จะตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดี จึงคิดกันกับขุนนางพม่าขุนนางรามัญหลายคน จึงก่อเหตุทำการมงคลเจาะหูบุตร ให้ประชุมพวกกรมการพร้อมกัน ให้มีงานมโหรศพต่าง ๆ เจ็ดวัน ให้คนทั้งปวงถือน้ำพระพิพัฒสัตยาบาล แลขุนนางรามัญว่ากล่าวขัดแขงนั้นสี่คน คือ สมุหบาญชีหนึ่ง นายกองหนึ่ง พระปลัดหนึ่ง นายบ้านหนึ่ง มังสาอ่องจึงให้ฆ่าคนทั้งสี่นั้นเสีย จึงขุนนางรามัญคนหนึ่งชื่อธอระแซงมูเปนนายกองช้าง พระเจ้าอังวะตั้งไว้ให้ช่วยราชการเมืองหงษาวดี กับรองปลัด ยกรบัตร เปนสามคนด้วยกัน ครั้นเห็นมังสาอ่องทำวุ่นวายดังนั้น จึงปฤกษากันมีหนังสือลับลอบให้คนสนิทถือรีบขึ้นไปเมืองอังวะ ให้กราบทูลเหตุนั้นแก่พระเจ้าอังวะ ครั้นพระเจ้าอังวะได้ทรงทราบ จึงตรัสสั่งมังมหาราชา แต่รามัญเรียกว่ามังรายกะยอของอันเปนเชื้อพระวงษ์ผู้ใหญ่ กับพระอนุชาต่างพระมารดาชื่อมังรายองค์เนิน รามัญเรียกว่ามองซวยเยนะระทา ให้เกณฑ์ไพร่พลหมื่นหนึ่งยกกองทัพมาจับมังสาอ่อง ๆ หนีไปอาไศรยอยู่ในหัวเมืองทะละ เจ้าเมืองทะละจับมังสาอ่องได้ แล้วส่งให้มังมหาราชา ๆ ก็เอาตัวมังสาอ่องไปฆ่าเสียที่เมืองหงษาวดี มังมหาราชาจึงตั้งให้มองซวยเยนะระทาครองเมืองหงษาวดีต่อไป มังมหาราชาก็กลับขึ้นไปเมืองอังวะดังเก่า ครั้นอยู่มามองซวยเยนะระทานั้นเปนคนโลภมาก เบียดเบียนเอาทรัพย์พัศดุเงินทองของราษฎรทำให้ผิดธรรมเนียม แลพวกพ้องของมองซวยเยนะระทานั้นก็เที่ยวข่มเหงราษฎร ฉุดลากบุตรสาวหลานสาวชาวเมืองมาเปนภรรยา ราษฎรได้ความเดือนร้อนนัก

๏ เมื่อจุลศักราช ๑๑๐๒ ปีเดือนยี่นั้น ยังมีชายผู้หนึ่งเปนชาติเซมกวยบวชเปนภิกษุช้านานอยู่ในอารามแห่งหนึ่ง ข้างทิศอุดรแห่งเมืองหงษาวดีใกล้บ้านอเวิ้ง บ้านนั้นพวกเงี้ยวอยู่ประมาณสามร้อยเศษ แลพระกวยที่บวชเปนภิกษุนั้น ได้เรียนไตรเพทแลคัมภีร์พยากรณ์ทั้งปวงจนเปนนักปราชญ์ พิจารณาดูรู้ว่าตัวจะมีโชคไชยได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีเปนราชธานีใหญ่ แล้วสึกออกจากภิกษุ เจ้าเมืองหงษาวดีเก่าตั้งให้เปนพระยา ชื่อว่าสมิงธอกวย แลพวกชาติเซมกวยนั้น พูดภาษาไม่เหมือนภาษารามัญ เปนชาวป่าอยู่นอกเมืองหงษาวดี สมิงธอกวยนั้นเปนคนมีวิชาเวทมนต์มากเปนเสน่ห์แก่คนทั้งปวง พวกรามัญชาวเมืองก็รักใคร่มาก สมิงธอกวยนั้นได้คุมพวกเซมกวยประมาณสามพันเศษ อยู่ในประเทศชื่อเนระอุปะสะระกะเพียง ครั้นเห็นมองซวยเยนะระทานั้นข่มเหงราษฎรนัก จึงชวนน้องชายสองคนยกพวกเซมกวยทั้งปวง มาตั้งค่ายอยู่ณตำบลเภานักที่นอกเมืองหงษาวดี ส่วน ธอระแซงมูรู้เหตุนั้น จึงมีหนังสือลับออกไปนัดหมายกับสมิงธอกวยจะกำจัดมองซวยเยนะระทาเสีย ครั้นมองซวยเยนะระทารู้ว่าสมิงธอกวยคิดขบถมาตั้งค่ายอยู่ดังนั้น จึงสั่งให้ธอระแซงมูจัดกองทัพยกออกไปจับสมิงธอกวย ธอระแซงมูจึงจัดกองทัพพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธเสร็จแล้ว จึงกลับยกเข้าไปจับตัวมองซวยเยนะระทาฆ่าเสีย ครั้นสมิง ธอกวยรู้เหตุนั้นก็ยกพวกพลเข้าไปในเมือง ธอระแซงมูกลัวสมิงธอกวยด้วยสมิงธอกวยมีพวกพ้องคนนับถือมาก จึงยอมให้สมิงธอกวยเปนเจ้าเมืองหงษาวดี แล้วจึงยกบุตรสาวของตัว ชื่อว่ามียายเส่ม ให้เปนภรรยาสมิงธอกวย ครั้นภายหลังรามัญทั้งปวง จึงยินยอมพร้อมใจกันตั้งสมิงธอกวยเปนเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติในเมืองหง ษาวดี มีพระ นามว่าพระยาพธิโรราชา บางทีรามัญเรียกว่า พระเจ้าธอพุทธเกษี ๆ จึงตั้งธอระแซงมูผู้เปนพ่อตาเปนที่พระยาสัสดีแม่กองเลข ให้ควบคุมบรรดาเลขสมพรรคกำลังทั้งปวงในเมืองหงษาวดี ครั้นภายหลังตั้งให้เปนตะละมหาเสนาบดี คำไทยแปลว่าเจ้ามหาเสนาบดี เปนผู้สำเร็จราชการสิทธิขาดในรามัญประเทศทั้งปวง จึงตั้งรามัญคนหนึ่งชื่อธอจุให้เปนพระยานันทสุริยะ ตั้งพระอนุชาทั้งสองเปนพระยาชื่อท้าวทองสุกหนึ่ง ชื่อท้าวทองอยู่หนึ่ง แล้วตั้งสหายคนหนึ่ง ให้เปนพระยาชื่อท้าวธุก พระเจ้าหงษาวดีนั้นได้ตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยอิกเจ็ดสิบเอ็ดคน มีเมืองขึ้น ๓๒ หัวเมือง ขณะเมื่อสมิงธอกวยได้เปนเจ้าแผ่นดินนั้น จุลศัก ราชล่วงได้ ๑๑๐๓ ปี ภายหลังพระเจ้าอังวะได้ทราบว่า ธอระแซงมูกับสมิงธอกวยคิดอ่านกัน ฆ่ามองซวยเยนะระทาอันเปนพระอนุชาเสีย พระเจ้าอังวะจึงปฤกษาขุนนางทั้งปวง ว่าจะให้ยกกองทัพไปจับสมิง ธอกวยกับธอระแซงมูฆ่าเสีย

๏ ขณะนั้นพวกโหรจึงทำฎีกาถวายว่า ในสิบสองปีนี้เปนคราวชตาเมืองอังวะตก พวกรามัญทั้งปลายนั้นเปนคราวชตาขึ้น ถ้าจะยกกองทัพลงไปทำสงครามกับรามัญเห็นจะไม่มีไชย ขอรับพระราชทานให้งดการสงครามเมืองหงษาวดีไว้ก่อน พระเจ้าอังวะได้ทรงฟัง จึงรับสั่งให้มังมหาราชา ยกกองทัพลงไปตั้งอยู่ณเมืองเปร เปนภาษาพม่าแต่รามัญเรียกว่าเมืองปรอน อันเปนพรมแดนรามัญกับพม่าต่อกัน ให้ตั้งขัดทัพอยู่เกลือกรามัญจะยกขึ้นมา ครั้งนั้นเจ้าเมืองเมาะตมะชื่อมังนราจอสูเปนชาติพม่า ครั้นรู้ว่าเมืองหงษาวดีวุ่นวายด้วยมอญขบถก็คิดกลัวพวกมอญเมาะตมะจะฆ่าเสีย ครั้นจะหนีขึ้นไปเมืองอังวะก็ไปไม่ได้ด้วยเมืองหงษาวดีกั้นหนทางอยู่ จึงพาบุตรภรรยาพวกพ้องของตัวอพยพหนีลงไปอยู่กับมังลักแวเจ้าเมืองทวายอันเปน ชาติพม่าเหมือนกัน ครั้นอยู่มาพระเจ้าหงษาวดีทราบเหตุนั้น จึงให้มีหนังสือลงไปถึงกรม การเมืองทวายทั้งปวง ให้ส่งมังนราจอสู มังลักแว ทั้งสองขึ้นมา ณเมืองหงษาวดี ถ้ากรมการไม่ส่งจะให้กองทัพลงไปตีเมืองทวายฆ่าพวกกรมการเสียให้สิ้น

๏ ฝ่ายกรมการเมืองทวายทั้งปวง ครั้นรู้หนังสือนั้นแล้วก็ตกใจ จึง ปฤกษากันจะจับมังนราจอสู มังลักแว ทั้งสองส่งขึ้นไปตามหนังสือมังนราจอสูกับมังลักแวครั้นรู้เหตุนั้น จึงชวนกันอพยพครอบครัวหนีลงไปณเมืองตนาวศรี อันเปนเขตรแดนพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา เจ้าเมือง ตนาวศรีจึงบอกหนังสือเข้าไปณกรุงศรีอยุทธยา จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมือง ตนาวศรีส่งมังนราจอสู มังลักแว ทั้งสอง กับพวกพ้องทั้งปวงเข้าไป ณกรุงศรีอยุทธยา แล้วจึงให้ปลัดเมืองทวายกับเจ้าเมืองตนาวศรีกำกับกันยกกองทัพออกมารักษา เมืองทวายไว้ ส่วนพระเจ้าหงษาวดีกับตะละมหาเสนาบดีรู้เหตุนั้นจึงปฤกษากันว่า ถ้าเราจะยกกองทัพไปตีเมืองทวายบัดนี้ ก็จะเปนข้าศึกขึ้นกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แม้นพม่าลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ไทยยกมาตีหัวเมืองด้านตวันออกด้านใต้ เราต้องสู้เปนสองฝ่าย ภายหลังจะแก้ตัวยาก จำเราจะเปนไมตรีกันกับกรุงไทยเสียดีกว่า จะคิดสู้พม่าแต่ด้านเดียวเสียก่อน ภายหลังจึงค่อยคิดการต่อไป แล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงจัดเครื่องราชบรรณาการมอบให้เจ้าเมืองเรนำลงมาถึงเจ้า เมืองตนาวศรี อันมาตั้งอยู่ณเมืองทวายนั้น ให้นำเจ้าเมืองเรเข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ขอเปนทางไมตรีกันไปภายน่า ครั้นแล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงให้ตะละมหาเสนาบดี คือเจ้ามหาเสนาบดี เปนแม่ทัพบก พระเจ้าหงษาวดีนั้นเปนแม่ทัพเรือ ยกขึ้นไปณเมืองปรอน เพื่อจะตีกองทัพมังมหาราชา แล้วจะเลยขึ้นไปติดเมืองอังวะทีเดียว

๏ ฝ่ายพระเจ้าอังวะครั้นรู้ข่าวว่ามังนราจอสูเจ้าเมืองเมาะตมะ มังลักแวเจ้าเมืองทวาย หนีไปพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาอยู่ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ทรงเลี้ยงไว้ให้เปนศุข พระเจ้าอังวะจึงให้แต่งพระราชสาส์นขอบพระคุณพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา กับเครื่องราชบรรณาการ มอบให้ราชทูตลงไปณกรุงศรีอยุทธยา[S1]

๏ ฝ่ายราชทูตก็ลงไปณกรุงศรีอยุทธยา ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแล้ว ก็ยังอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาประมาณเดือนหนึ่ง เมื่อราชทูตพม่ากราบถวายบังคมลาจะกลับขึ้นมานั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงทรงจัดราชทูตไทยสามนาย ให้นำพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการตอบขึ้นไปกับราชทูตพม่า ราชทูตทั้งหลายนั้นพากันออกมาโดยทางด่านเมืองเชียงใหม่ เดินพาดไปทางปลายแดนเมืองตองอู

๏ ขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดีขึ้นไปตั้งค่ายประชิดเมืองปรอนอยู่ ทำสง ครามกันกับมังมหาราชายังไม่แพ้ไม่ชนะกัน พอขาดเสบียงลง จึงให้พวกรามัญแบ่งกันออกจากค่าย เที่ยวแยกย้ายหาเสบียง กองรามัญพวกหนึ่งเที่ยวหาเสบียงมาจนถึงแดนเมืองตองอู ครั้นราชทูตพม่ารู้ความดังนั้น ก็พาราชทูตไทยออกจากทางใหญ่เดินลัดเข้าไปในป่า

๏ ขณะนั้นพวกรามัญรู้ว่าราชทูตพม่าพากันมาตามทางนั้น ก็พากันรีบตามไปหวังจะจับเอาตัวนายให้ได้ รามัญทั้งหลายตามไปไม่ทันพวกราชทูต จับได้แต่ไพร่พม่าสองคนซึ่งเลื่อยล้าอยู่ในหนทาง จึงจับเอาตัวมาให้พระเจ้าพุทธเกษี ๆ จึงให้ไต่ถามไพร่พม่าสองคนให้การว่าพระเจ้าอังวะให้ราชทูตลงไปขอกองทัพไทย ขึ้นมาช่วยป้องกันเมืองอังวะ พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังดังนั้นก็ตกพระไทย พอกองทัพรามัญขาดเสบียงลงด้วย จึงให้เลิกทัพกลับลงไปณเมืองหงษาวดี

๏ ฝ่ายราชทูตพม่า ก็พาราชทูตไทยขึ้นไปถึงเมืองอังวะ ราชทูตไทยได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะๆ จึงพระราชทานรางวัลแลเครื่องราชบรรณาการตอบแทนเสร็จแล้ว ก็ส่งราชทูตกลับลงไปโดยทางเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าหงษาวดีนั้นครั้นกลับลงมาถึงเมืองหงษาวดีแล้ว จึงปฤกษากันกับตะละมหาเสนาบดีว่า บัดนี้พระเจ้ากรุงไทย พระเจ้ากรุงอังวะ เปนไมตรีกัน กองทัพไทยจะยกขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองอังวะ จำเราจะทำ ไมตรีกันกับพระเจ้ากรุงไทย ขอพระราชธิดาออกมาตั้งเปนพระอรรค มเหษี ไมตรีไทยกับรามัญจึงจะสนิทติดพันกันไป พระเจ้ากรุงไทยกับพระเจ้าอังวะจึงจะขาดทางพระราชไมตรีกัน ตะละมหาเสนาบดีก็เห็นด้วย พระเจ้าหงษาวดีจึงให้แต่งพระราชสาส์นแลจัดเครื่องราชบรรณาการ มอบให้ราชทูตรามัญเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาโดยทางด่านกาญจนบุรี ถึงกรุงศรีอยุทธยา ครั้นเสนาบดีนำราชทูตรามัญเข้าเฝ้าทูลถวายพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ ครั้งนั้น พระเจ้ากรุง ศรีอยุทธยาได้ทรงทราบก็ขัดเคืองพระไทย ตรัสว่าสมิงธอกวยไม่รู้จักประมาณตัว กำเริบอิศริยยศ ตัวเปนแต่ชาติกวยชาวป่า ครั้นวาศนาส่งให้ได้เปนเจ้าแผ่นดิน ทำใจสูงเย่อหยิ่งเอื้อมอาจหาญมาขอลูกสาวเราอันเปนกระษัตริย์ เปนเจ้าในกรุงไทยมาได้หลายชั่วกระษัตริย์แล้วพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็มิได้ ตรัสปราไสด้วยราชทูตมอญตามธรรมเนียม แต่รับสั่งให้เสนาบดีเลี้ยงดูให้รางวัลแก่ราชทูตตามธรรมเนียมแล้ว จึงให้มีหนังสือเสนาบดีตอบออกมา ในหนังสือนั้นว่ากล่าวเปรียบปรายสมิงธอกวยด้วยชาติด้วยตระกูลเปนเนื้อความ หลายข้อ แล้วจึงให้ส่งราชทูตรามัญกลับออกมา ครั้นพระเจ้าหงษาวดีทราบในหนังสือเสนาบดีว่ากล่าวหยาบช้ามานั้นก็โกรธ จึงปฤกษากับตะละมหาเสนาบดีว่าเราจะยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยา ตะละมหาเสนาบดีจึงทัดทานไว้ว่าสงครามพม่ากับเรายังติดพันกันอยู่ ซึ่งจะเปนศัตรูกันกับกรุงไทยนั้นยังไม่ได้ก่อน พระเจ้าหงษาวดีจึงได้งดอยู่

๏ ในศักราช ๑๑๐๓ ปีนั้น เมืองมาตะราเปนเมืองขึ้นแก่เมืองอังวะ ตั้งอยู่เหนือเมืองอังวะขึ้นไป เมืองนั้นพวกรามัญอยู่ประมาณหมื่นเศษ มีรามัญคนหนึ่ง ชื่อนายอินท์ อยู่ในเมืองมาตะรานั้น ได้บวชเปนภิกษุเรียนพระไตรปิฎกแลไตรเพทจบ สึกออกจากภิกษุแล้วนุ่งผ้าขาว รามัญเรียกว่าลมาตอินท์ ได้บอกหนังสือพระภิกษุแลสามเณรเปนอันมาก เปนที่นับถือของชาวเมืองมาตะราทั้งปวง ครั้งนั้นสมิงโดด สมิงแปะกะยอ สองคนพี่น้อง คิดปฤกษากันว่าไม่เปนข้าเจ้าอังวะต่อไปแล้ว ครั้นถึงวันเพ็ญเดือนห้าจึงแกล้งทำอุบายให้มีงานมโหรศพ ประชุมคนในเมืองมาตะรา สมิงแปะกะยอ สมิงโดด สมิงท้าวของ สมิงท้าว สุริย กับสมิงพวกอื่นเปนอันมาก ให้ความสัตย์สาบาลแก่กัน แล้วจึงกวาดต้อนคนทั้งหลายที่อยู่นอกเมือง ให้เข้ามาอยู่ในเมืองทั้งสิ้น แล้วให้ขุดคูกว้างสามวาฦกเจ็ดศอก จัดป้อมค่ายคูประตูหอรบน่าที่เชิงเทินให้มั่นคงเสร็จแล้ว สมิงโดด สมิงแปะกะยอ ปฤกษากับขุนนางทั้งปวงว่า เมืองเรานี้ยังไม่มีเจ้าเมือง ควรเราจะไปเชิญลมาตอินท์มาครองเมืองเปนเจ้าของเรา ปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึงสร้างทำเนียบที่อยู่เสร็จแล้ว จึงไปเชิญลมาตอินท์มาให้ครองสมบัติเปนเจ้าเมืองมาตะรา ลมาตอินท์จึงใช้ให้สมิงโดด สมิงแปะกะยอไปตีเมืองยะไข่ อันตั้งอยู่เหนือเมืองมาตะราขึ้นไป จับได้พวกจีนฮ่อประมาณสามสิบเศษ สมิงทั้งสองนำจีนฮ่อมามอบให้แก่ลมาตอินท์ ๆ เลือกได้จีนฮ่อแปดคน แล้วเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสิ้นเจ็ดวันแล้ว จึงลงยันต์ผูกฅอจีนฮ่อคนละแผ่นครบทั้งแปดคน ให้ขุดหลุมลงยันต์ปิดพื้นหลุมปากหลุมข้างหลุมทั้งแปดทิศ ฝังไว้เพียงฅอรอบเมืองมาตะรา ห่างออกไปจากเมืองเส้นหนึ่ง หลุมละทิศทั้งแปดทิศด้วยกัน ครั้น ลมาตอินท์เอายันต์ผูกฅอจีนฮ่อแล้วขุดหลุมฝังเปนอาถรรภ์ทั้งแปดทิศรอบเมืองมา ตะราเสร็จแล้ว

๏ ครั้นพระเจ้าอังวะได้ทรงทราบว่า พวกรามัญชาวเมืองมาตะรามีสมิงโดด สมิงแปะกะยอเปนต้นคิดขบถ จึงรับสั่งให้มังมหาราชาเกณฑ์พลพม่าหมื่นหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธยกไปตีเมืองมาตะรา จึงไปตั้งค่ายอยู่ณปากน้ำเมืองมาตะรา พวกพม่าตั้งค่ายแล้วบ้างยังบ้าง ลมาตอินท์รู้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมา ก็ให้สมิงโดดสมิงแปะกะยอ เกณฑ์คนห้าพัน ครั้นได้ไชยฤกษ์แล้ว ก็ยกออกไปรบกับกองทัพพม่า มังมหาราชาไม่อาจต้านทานกองทัพรามัญได้ พวกพม่าตายประมาณหกพันเศษแล้วแตกหนีกลับไป ครั้งนั้นชาวเมืองมาตะราเก็บได้เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก ลมาตอินท์ใช้ให้ทหารไปตัดศีศะพวกพม่ามาลงอักษรที่ศีศะ ๆ ละอักษร แล้วให้ไปเสียบไว้รอบเมืองมาตะราทั้งสองฟากแม่น้ำ อยู่มาประมาณเดือนหนึ่ง มังมหาราชาเกณฑ์ไพร่พลสามหมื่นกับม้าพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ ยกขึ้นไปล้อมเมืองมาตะราอิกครั้งหนึ่ง ในเมืองมาตะรานั้น มีสมิงรามัญสี่คน คือ สมิงโดดหนึ่ง สมิงแปะกะยอหนึ่ง ท้าวของหนึ่ง ท้าวสุริยหนึ่ง เกณฑ์ไพร่พลได้คนละห้าร้อยเปนสองพันด้วยกัน ไพร่พลที่เหลืออยู่นั้นก็ให้ตั้งกองพิทักษ์รักษาอยู่ในเมืองมาตะรา ลมาตอินท์ให้ฤกษ์แล้วสมิงรามัญทั้งสี่ก็ยกออกไปจากประตูเมืองทั้งสี่ทิศ รบกับกองทัพพม่าเปนสามารถ พวกพม่าตายประมาณพันเศษแล้วแตกหนีไป พวกรามัญชาวเมืองมาตะราเก็บได้เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก ครั้นอยู่มาประมาณอิกเดือนหนึ่ง มังมหาราชาเกณฑ์ไพร่พลห้าหมื่นยกขึ้นไปล้อมเมืองมาตะราอิก ตั้งค่ายอยู่ไกลเมืองประมาณสิบเส้น แต่ล้อมอยู่นั้นได้สามวัน ลมาตอินท์จึงบังคับให้สมิงแปะกะยอยกพลสองพันออกไปตั้งค่ายอยู่นอกเมืองข้าง ทิศอุดร ให้สมิงโดดยกพลสองพันออกไปตั้งค่ายอยู่ข้างประจิมทิศ ให้สมิงท้าวของยกพลสองพันออกไปตั้งค่ายอยู่ข้างทิศทักษิณ ให้สมิงท้าวสุริยยกพลสองพันออกไปตั้งค่ายอยู่ข้างทิศตวันออก ให้อยู่ในเมืองมาตะราแต่พระภิกษุสงฆ์แลพวกผู้หญิงประมาณพันหนึ่ง ลมาตอินท์ดูฤกษ์ยามดีแล้วทำนายว่าวันนี้ กองทัพพวกเรายกไปรบพม่า จะได้ทหารเมืองหงษาวดีทั้งสองที่พม่าเอามาไว้ ลมาตอินท์ทำนายแล้วจึงให้ฤกษ์ แล้วให้เปิดประตูเมืองทั้งสี่ทิศให้ยิงปืนใหญ่ ให้ยกกองทัพออกไปรบกับทัพพม่า ๆ ต้านทานมิได้ตายลงประมาณพันเศษ แล้วแตกหนีกระจัดกระจายไป พวกรามัญชาวเมืองมาตะราเก็บได้ปืนใหญ่สองบอก ปืนนั้นมีอักษรจาฤกชื่อไว้ว่าพระอาทิตย์บอกหนึ่ง พระจันทร์บอกหนึ่ง เรียกว่าทหารหงษา ปืนนั้นยาวสามศอกใหญ่รอบห้ากำลูกกระสุนห้านิ้ว ครั้นภายหลังนายทัพพม่าสองคน ชื่อมองรายคนหนึ่ง มองละยอคนหนึ่ง ตั้งอยู่สองฟากแม่น้ำ ไม่อาจขึ้นไปตีเมืองมาตะราได้

จะว่าด้วยเมืองหงษาวดีต่อไป

๏ ลุศักราช ๑๑๐๕ ปี เดือนสิบสอง พวกกะเหรี่ยงร้อยห้าสิบคน ยกลงมาจากปลายแม่น้ำ เข้าปล้นเมืองหงษาวดีในเพลากลางคืน พระเจ้าหงษาวดีตกพระไทยหนีออกไปอยู่นอกเมือง กะเหรี่ยงได้เมืองไว้คืนหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้าพระเจ้าหงษาวดีทรงทราบว่าเปนพวกกะเหรี่ยง ก็เข้าไปจับพวกกะเหรี่ยงฆ่าเสียสิ้น แล้วพระองค์ก็ได้ครองราชสมบัติดังเก่า ในปีนั้นพวกเมืองมฤต เมืองตนาว ยกขึ้นไปตีเมืองมรแมนคือเมืองเมาะลำเลิ่ง ไม่ได้เมือง ได้แต่ครอบครัวประมาณพันหนึ่งแล้วกลับไป

๏ ลุศักราช ๑๑๐๕ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีได้ช้างกระดำผู้ช้างหนึ่ง จึงให้ชื่อพระยารัตนฉัททันต์

๏ ลุศักราช ๑๑๐๖ ปี พระเจ้าหงษาวดีรับสั่งให้สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก เปนแม่ทัพใหญ่ ยกไพร่พลสามพันขึ้นไปตีเมืองอังวะ ให้สมิงท้าวธอระเกณฑ์คนห้าร้อยไปตีเมืองปรอน ให้สมิงธอรายเกณฑ์คนเจ็ดร้อยไปตีเมืองตองอู กองทัพซึ่งยกไปนั้นไม่ได้รบ พวกพม่าออกมาอ่อนน้อมถวายเครื่องราชบรรณาการยอมเปนเมืองขึ้น สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะครั้งนั้น จึงได้รู้ว่าพวกรามัญเมืองมาตะราเปนขบถแก่พม่า จึงให้คนถือหนังสือไปถึง ลมาตอินท์ บอกความว่าในเมืองหงษาวดี สมิงธอกวยได้เสวยราชสมบัติแล้ว ลมาตอินท์ได้ฟังก็มีความยินดี จึงให้คนออกไปรับสมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก กับไพร่พลสามพันเข้าไปในเมือง แล้วเลี้ยงดูกันเปนอันมาก

๏ ในศักราช ๑๑๐๖ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีปฤกษากันกับตะละมหา เสนาบดี ว่าบัดนี้กรุงศรีอยุทธยาไม่เปนไมตรีกันกับเราแล้ว จึงให้พวกเมืองมฤตเมืองตนาวมาตีเมืองเมาะลำเลิ่ง เราจำจะทำไมตรีกันกับพระเจ้าหอคำเจ้าเมืองเชียงใหม่เถิด จะได้เปนกำลังสู้รบกันกับพม่า เราจะให้ไปขอราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่มาตั้งเปนพระมเหษี ท่านจะเห็นเปนประการใด ตะละมหาเสนาบดีก็เห็นชอบด้วย ครั้นณเดือนหก พระเจ้าธอพุทธเกษีจึงจัดเครื่องราชบรรณาการแลพระราชสาส์น มอบให้ราชทูตไปณเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าหอคำเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็เกรงอานุภาพพระเจ้าธอพุทธเกษี จึงยอมยกราชธิดามอบมาแก่ราชทูต แลให้ราชทูตลาวนำราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าธอพุทธเกษีณ เมืองหงษาวดีด้วย พระเจ้าหงษาวดีจึงตั้งราชธิดาเจ้าเชียงใหม่เปนพระอรรคมเหษี ครั้นถึงณวันอาทิตย์เดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำ ในศักราช ๑๑๐๖ ปีนั้น พระเจ้าธอพุทธเกษี ได้ยกฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาวนั้นขึ้นไว้ให้เปนปรกติดังเก่า ครั้นอยู่มาพระเจ้าธอพุทธเกษีก็หลงรักราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่นัก ไม่เอื้อเฟื้อแก่ธิดาตะละมหาเสนาบดีอันเปนพระมเหษีเดิม ให้ธิดาตะละมหาเสนาบดีอันเปนพระมเหษีเดิมนั้นอยู่ในอำนาจราชธิดาเมือง เชียงใหม่ ด้วยเห็นว่าราชธิดาเมืองเชียงใหม่เปนเชื้อกระษัตริย์ ตะละมหาเสนาบดีก็น้อยใจ คิดจะทำร้ายสมิง ธอพุทธเกษีอยู่เปนนิจ

๏ ลุศักราช ๑๑๐๘ ปี ตะละมหาเสนาบดีจึงคิดเปนความลับกับพวกกรมช้าง ให้บอกหนังสือเข้ามาว่าได้พบปะช้างเผือกผู้ตำบลราวป่าแขวงเมืองกะเทิง พระเจ้าธอพุทธเกษีได้ฟังมีความยินดีนัก จึงให้จัดพวกพลกับกรมช้าง แล้วพาราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ กับธิดาตะละมหาเสนาบดีชื่อมียายเส่ม ขึ้นช้างพระที่นั่ง แลตะละมหาเสนาบดีหนึ่งเจียระกีปันจุหนึ่ง กับเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ยกไปณราวป่าแขวงเมืองกะเทิง ให้สมิงนันทสุริยอยู่เฝ้าเมือง พระเจ้าหงษาวดีเสด็จออกไปแรมอยู่ในป่าถึงสองครั้งสามครั้ง ๆ ที่สุดนั้น เสด็จไปอยู่ในป่าช้านานถึงสามเดือนเศษ สมิงนันทสุริยอยู่เฝ้าเมืองหงษาวดี จึงปฤกษากับเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงว่า พระเจ้าหงษาดวีไม่เอาพระไทยใส่ในราชการ เห็นแต่จะไปเที่ยวเล่นป่าแรมอยู่ช้านานนัก เราจะได้ผู้ใดเปนพระเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติว่าราชการบ้านเมืองต่อไปเล่า จึงเห็นว่านายจรังคันเปนคนมีสมบัติมาก แล้วมีอายุสูงกว่าเราทั้งสองจึงตั้งให้นายจรังคันเปนสมมุติกระษัตริย์ ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดีสืบไปได้สองเดือนเศษ ครั้นนายจรังคันได้ครองราชสมบัติแล้ว ตัวเปนแต่ตระกูลไพร่ไม่รู้จักธรรมเนียมพระมหากระษัตริย์ ไม่เข้าใจว่าราชการจัดการบ้านเมืองให้ถูกต้องตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าแผ่นดิน สมิงนันทสุริยผู้เปนเสนาบดีผู้ใหญ่ก็จับนายจรังคันฆ่าเสียแล้ว จึงมีหนังสือลับไปถึงตะละมหาเสนาบดี ให้เข้ามาครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดี ตะละมหาเสนาบดีรู้แจ้งในหนังสือนั้นแล้ว จึงใช้ให้ท้าวธอติกแลเจียระก็ปันจุไปลักพระมเหษีสมิงธอกวย อันเปนธิดาของตนในป่าได้แล้ว กลับเข้ามากับพวกพลเปนอันมาก แล้วได้ครองราชสมบัติในเมืองหงษาวดี ครั้นภายหลังตะละมหาเสนาบดี จึงเกณฑ์คนขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินเมืองหงษาวดี ตะละมหาเสนาบดีก็ยกกองทัพจะตามไปจับสมิงธอกวย กับราชธิดาเมืองเชียงใหม่ฆ่าเสีย ส่วนสมิงธอกวยครั้นรู้เหตุนั้นจะกลับมาเมืองหงษาวดีมิได้ จึงพาราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ หนีไปหาพระเจ้าหอคำณเมืองเชียงใหม่

๏ ลุศักราช ๑๑๐๙ ปีเดือน ๕ สมิงธอกวยจะกลับมาตีเมืองหงษาวดีคืนจึงมอบราชธิดาแก่พระเจ้าเชียงใหม่แล้วก็ ขอกองทัพเมืองเชียงใหม่สมทบกันกับพวกรามัญ ยกออกจากเมืองเชียงใหม่กลับเข้ามาในแดนเมืองหงษาวดีอิก ครั้นตะละมหาเสนาบดีรู้แล้ว จึงยกกองทัพออกมา เมื่อจะรบกับสมิงธอกวยนั้นตะละมหาเสนาบดีจึงดำริห์เห็นว่า ถ้าสมิง ธอกวยสู้ไม่ได้แล้ว ก็จะหนีกลับไปเมืองเชียงใหม่อิก จะไปขอกองทัพพ่อตาเพิ่มเติมมาอิก การสงครามจะไม่รู้แล้ว จำเราจะให้ยกกองทัพไปสกัดหนทางเสีย อย่าให้สมิงธอกวยกลับไปเมืองเชียงใหม่ได้ แล้วตะละมหาเสนาบดี จึงเกณฑ์กองทัพรามัญพวกหนึ่งให้ยกไปตั้งอยู่ตำบลบ้านเจ้ากิ อันเปนปากทางจะไปเมืองเชียงใหม่ ให้คอยกั้นกองทัพสมิงธอกวย อย่าให้ตีออกไปทางนั้นได้ แลทางด่านกาญจนบุรีซึ่งจะไปกรุงศรีอยุทธยานั้น ตะละมหาเสนาบดีมิได้ให้กองทัพมาตั้งสกัดอยู่ ด้วยสำคัญว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาชิงชังสมิงธอกวยอยู่เห็นว่าสมิงธอกวยจะ ไม่อาจเข้าไปเมืองไทยได้ แล้วตะละมหาเสนาบดีจึงยกกองทัพมาต่อสู้กับสมิงธอกวยณตำบลราวป่า แขวงเมืองกะเทิงสมิงธอกวยต่อสู้ตะละมหาเสนาบดีไม่ได้ ก็แตกหนีจะกลับไปณเมืองเชียงใหม่ ครั้นมาถึงกลางทางได้รู้ข่าวว่ากองทัพมาตั้งสกัดอยู่ณตำบลเจ้ากิ สมิงธอกวยตกใจไม่รู้ที่จะไปข้างไหน จึงหนีมาอาไศรยอยู่ริมตำบลแม่กลองแม่จาน อันเปนปลายแดนเมืองกาญจนบุรี พระเจ้าหงษาวดีใหม่ จึงตั้งให้สมิงธอติกเปนเจ้าเมืองเมาะตมะ ตั้งให้เจียระกีปันจุเปนพระปลัดเมือง แล้วพระราชทานเครื่องยศต่าง ๆ เปนอันมากตามสมควร ตะละมหาเสนาบดีพระเจ้าหงษาวดีใหม่ได้เสวยราชสมบัติแล้ว จึงมีรับสั่งให้หากองทัพสองพวก ที่พระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อนใช้ไปรบพวกพม่านั้น ให้เลิกทัพกลับคืนมา กองทัพทั้งสองนั้นไปค้างอยู่ในเมืองมาตะรา จะกลับมาไม่ทันด้วยเปนทางไกลนัก เมื่อจุลศักราช ๑๑๐๘ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีตั้งนายธอลองผู้เปนพระอนุชาให้เปนที่พระอุปราช แล้วมีรับสั่งให้เกณฑ์ไพร่พลหมื่นหนึ่งไปตีเมืองปรอนให้สมิงนันทสุริยเกณฑ์ ไพร่พลหมื่นหนึ่ง ยกไปตีเมืองตองอู กองทัพพม่าต้านทานกองทัพรามัญไม่ได้ ล่าถอยกลับไปเมืองอังวะ พวกกองทัพรามัญตีได้หัวเมืองทั้งสอง คือ เมืองปรอน เมืองตองอูสำเร็จแล้ว

๏ ฝ่ายสมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก ผู้เปนแม่ทัพสองคน ที่ค้างอยู่ในเมืองมาตะรานั้น มิได้รู้ว่าในเมืองหงษาวดีเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ ปฤกษากันกับลมาตอินท์ สมิงโดด สมิงแปะกะยอว่าเรามาตั้งอยู่ที่เมืองมาตะรานี้เปนเมืองน้อย กำลังไพร่พลแลเสบียงอาหารก็น้อยนัก จะป้องกันรักษาเมืองไว้ก็ยาก จำเราจะอพยพไปอยู่เมืองหงษาวดีจึงจะมีกำลังมากลมาตย์อินท์จึงแต่งศุภอักษร เสร็จแล้วจัดดอกไม้เงินทองมอบให้สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก ไปถวายพระเจ้าหงษาวดี สมิงท้าวทองสุกกับไพร่พลสองพันยกออกจากเมืองมาตะราลงมาทางเรือ สิมงท้าวธุกกับไพร่พลสองพันยกมาทางบก ข้างทิศตวันออกหลังเมืองอังวะ จึงพบบ้านรามัญแห่งหนึ่ง เปนพวกพนักงานจับช้างโขลงถวายพระเจ้าอังวะ บ้านรามัญนั้นตั้งอยู่ข้างทิศใต้เมืองอังวะ ทางไกลประมาณวันหนึ่ง คนในบ้านนั้นก็เต็มใจมาด้วย จึงจัดเสบียงอาหารลงบรรทุกเรือไว้ทั้งสิ้น คอยท่าสมิงท้าวทองสุก แม่ทัพใหญ่ ครั้นสมิงท้าวทองสุกมาถึงพร้อมกันแล้ว แม่ทัพทั้งสองก็ออกรบกองทัพพม่า ๆ ต้านทานมิได้ก็แตกหนีไป กองทัพทั้งสองอพยพครอบครัวรามัญลงมา ครั้งนั้นมังมหาราชาตั้งค่ายอยู่นอกเมืองปรอนรู้ว่าสมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก กวาดเอาครอบครัวรามัญมา จึงไล่ติดตามลงมารบกับกองทัพทั้งสองพวกกองทัพรามัญเมืองหงษาวดีที่รักษา เมืองปรอน แลเมืองตองอูไว้นั้น จึงตีกระหนาบขึ้นไป พวกกองทัพมังมหาราชาต้องทัพกระหนาบพวกรามัญ พม่าล้มตายเปนอันมากก็แตกกระจาย สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก พบมังธอลองผู้เปนน้องพระเจ้าหงษาวดีใหม่ในเมืองปรอนแล้ว จึงรู้ความว่า สมิงธอกวยเจ้านายของตัวหนีไปแล้ว จึงจำใจเข้าไปหาแจ้งข้อราชการให้ฟังทุกประการ มังธอลองอุปราชาจึงแต่งหนังสือแจ้งข้อราชการที่สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุกได้ครัวรามัญมาเปนอันมาก จึงใช้ให้ขุนนางถือหนังสือลงมากราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงทราบแล้ว จึงมีรับสั่งให้หากองทัพสมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก กลับมาเมืองหงษาวดี ครั้นแม่ทัพทั้งสองมาถึงแล้วเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพระเจ้าหงษาวดี ๆ มีพระไทยยินดีนัก แล้วตรัสสั่งให้แม่ทัพทั้งสองถือน้ำพระพิพัฒเสร็จแล้ว จึงพระราชทานรางวัลแลเครื่องยศแก่แม่ทัพทั้งสองแลนายทัพนายกองทั้งปวงเปนอัน มาก สมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก กราบทูลแจ้งข้อราชการในเมืองมาตะรา ให้พระเจ้าหงษาวดีทรงทราบทุกประการแล้ว จึงถวายศุภอักษรที่ลมาตอินท์ให้ถือมา พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงทราบในศุภอักษรชาวเมืองมาตะรา มีลมาตอินท์เปนอธิบดีผู้ใหญ่ จะมาถวายตัวเปนข้าราชการแผ่นดินในเมืองหงษาวดีก็มีพระไทยยินดีนัก

๏ ในศักราช ๑๑๐๙ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีมีรับสั่งให้สมิงศิริคุณหนึ่ง สมิงตะละปั่นหนึ่ง สมิงท้าวธออินท์หนึ่ง เกณฑ์คนหมื่นหนึ่ง ขึ้นไปรับชาวเมืองมาตะราลงมา สมิงสามคนยกไปข้างหลังเมืองอังวะข้างทิศตวันออกครั้งนั้นไม่ได้สู้รบกับกอง ทัพพม่า ไปถึงเมืองมาตะราเดือนสี่ ลมาตอินท์ สมิงโดด สมิงแปะกะยอ รู้ว่าพระเจ้าหงษาวดีมีรับสั่งให้สมิงสามคนขึ้นมารับก็มีความยินดี จึงรับสมิงสามคนกับไพร่พลพันหนึ่งเข้ามาในเมือง เลี้ยงดูกันเสร็จแล้ว ก็ทำบาญชีคนในเมืองมาตะราได้หกหมื่นเศษ ก็ตระเตรียมพร้อมเสร็จแล้วยกล่วงลงมาถึงทางใกล้เมืองอังวะ พวกพม่าเกรงฝีมือไม่อาจออกมากั้นกางไว้ได้ แต่เดินทางมาสิ้นสามเดือนถึงเมืองหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดี รับสั่งให้พวกรามัญเมืองมาตะราถือน้ำพระพิพัฒเสร็จแล้ว ตั้งลมาตอินท์ สมิงโดด สมิงแปะกะยอ ให้เปนอำมาตย์ผู้ใหญ่ พระราชทานเครื่องยศตามสมควร ครั้งนั้นสมิงท้าวทองสุก สมิงท้าวธุก จึงคิดเปนเล่ห์กลอุบายว่าจะไปนมัสการพระเจดีย์ร่างกุ้ง จึงพากันเข้าไปทูลลาพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็โปรดให้ไป ครั้นออกจากเมืองจึงคิดปฤกษากันว่า พระเจ้าหงษาวดีองค์นี้มิใช่เจ้าของเรา เราจะต้องไปตามเจ้าของเราจึงจะควร ปฤกษากันแล้วก็ติดตามไป จึงไปพบพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อนผู้เปนเจ้าของตน มาอาไศรยอยู่ที่แม่กลองแม่จาน ในปีนั้นสมิงธอกวยผู้เปนพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อน เกลี้ยกล่อมพวกลว้าได้สองพันเศษ ยกมาตีหัวเมืองขึ้นแก่เมืองหงษาวดีได้หลายเมือง คือเมืองกลิดหนึ่ง เมืองตองเบาะหนึ่ง เมืองขะเติงหนึ่ง เมืองทาครามหนึ่งเมืองลังพลอยหนึ่ง เมืองปองหนึ่ง แล้วตีล่วงเข้าไปถึงเมืองเกริน ครั้งนั้นสมิงท้าวธอติกเปนเจ้าเมืองเมาะตมะ ให้เจียระกีปันผู้เปนปลัดเมืองเกณฑ์ไพร่พล ๒๐๐๐ ออกไปรบทัพสมิงธอกวย ผู้เปนพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อน เจ้าเมืองเมาะตมะจึงแต่งหนังสือแจ้งข้อราชการศึกว่าพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อน ยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตมะ ให้ขุนนางกรมการถือขึ้นไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้มะกำสะเกณฑ์คนห้าร้อยไปช่วยรบ ครั้งนั้นเจียระกีปันจุยกกองทัพไปรบกับสมิงธอกวยผู้เปนพระเจ้าหงษาวดีองค์ ก่อนที่เมืองเกริน ตั้งค่ายประชิดอยู่ที่เมืองเกริน รบกันเปนสามารถถึงสิบวัน กองทัพสมิง ธอกวยผู้เปนพระเจ้าหงษาวดีองค์ก่อนแตกพ่ายกระจัดกระจาย จึงจำใจเข้าไปณกรุงศรีอยุทธยาโดยทางพระเจดีย์สามองค์แล้วตั้งอยู่ปลายด่าน จึงมีหนังสือเข้าไปถึงพระยากาญจนบุรี ว่าจะเข้าไปพึ่งพระบารมีพระ เจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระยากาญจนบุรีจึงมีหนังสือเข้าไปถึงเสนาบดี ๆ จึงเอาหนังสือนั้นขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงไทย ๆ จึงตรัสสั่งให้เจ้าเมืองกาญจนบุรีส่งตัวสมิงธอกวยนั้นเข้าไป แลเมื่อสมิงธอกวยเข้าไปถึงกรุงศรีอยุทธยานั้นในเดือนเจ็ด

๏ ฝ่ายนายกำสะที่พระเจ้าหงษาวดีรับสั่งให้เกณฑ์คนห้าร้อยไปช่วยรบข้าศึกครั้ง นั้น ครั้นออกมาจากเมืองหงษาวดีน่อยหนึ่งก็ถึงเมืองวาน หยุดกองทัพอยู่ที่เมืองนั้นสองวัน เกณฑ์คนในหัวเมืองนั้นได้อิกพันเศษจึงคิดขบถแก่พระเจ้าหงษาวดีจับคนในหัว เมืองนั้นมาฆ่าเสียเปนอันมากสมิงท้าวธอติกเจ้าเมืองเมาะตมะยกกองทัพออกไปรบ จับได้มกำสะกับไพร่พลสามสิบเศษซึ่งเปนคู่ร่วมคิดกันฆ่าเสีย เจ้าเมืองเมาะตมะจึงบอกหนังสือแจ้งข้อราชการที่ได้รบกับสมิงธอกวยผู้เปนพระ เจ้าหงษาวดีองค์ก่อน ทัพสมิงธอกวยแตกหนีเข้าไปกรุงศรีอยุทธยาทั้งสิ้น กับเรื่องราวมะกำสะคิดขบถได้ชำระฆ่าเสียเสร็จแล้ว ให้เจียระกีปันจุผู้น้องถือขึ้นไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ได้ทรงทราบในหนังสือนั้นแล้วก็มีพระหฤไทยยินดีนัก จึงพระราชทานเครื่องยศต่าง ๆ ให้เจียระกีปันจุเปนอันมาก เจียระกีปันจุก็ถวายบังคมลากลับไปเมืองเมาะตมะ

๏ ในศักราช ๑๑๐๙ ปีนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระราชทานภูมิฐานบ้านเรือนให้สมิงธอกวยอาไศรยอยู่เปนศุข ครั้นภายหลังเจ้าแลขุนนางไทยไปมาหาสมิงธอกวยมากขึ้น ด้วยสมิงธอกวยนั้นมีความรู้วิชาการแลเจรจาเปนที่ชอบใจคนทั้งปวง ครั้นนานมาพระเจ้ากรุงไทยทรงทราบไม่ไว้พระหฤไทยสมิงธอกวย จึงตรัสสั่งให้เจ้าพระยายมราชเอาตัวสมิงธอกวยไปจำไว้ณคุก แลเมื่อสมิงธอกวยได้เปนเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดีนั้น ตั้งแต่ศักราช ๑๑๐๓ ปี จนถึงศักราช ๑๑๐๘ ปี จึงได้พลัดไปจากเมือง ได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่หกปีเท่านั้น

๏ เมื่อศักราช ๑๑๐๙ ปีนั้น พระยารามัญสามคน คือ พระยารามหนึ่ง พระยากลางเมืองหนึ่ง พระยาน้อยวันดีหนึ่ง ที่สมิงธอกวยตั้งไว้ให้ขัดทัพอยู่เมืองเจกอง ใต้เมืองปรอนลงมาประมาณสองวัน ให้คอยป้องกันกองทัพพม่าซึ่งจะยกมาตีรามัญประเทศแลพระยารามัญทั้งสามนั้น ครั้นรู้ว่าสมิงธอกวยวิวาทกันกับตะละมหาเสนาบดี แล้วหนีเข้าไปณกรุงศรีอยุทธยาดังนั้น พระยารามัญทั้งสามจึงปฤกษากันว่า ครั้งนี้สมิงธอกวยผู้เปนเจ้านายของเราก็หนีเข้าไปเมืองไทยเสียแล้วแลเราทั้ง สามนี้ สมิงธอกวยตั้งแต่งไว้ให้มียศศักดิ์ เห็นว่าตะละมหาเสนาบดีจะไม่เลี้ยงเราเปนปรกติ คงจะคิดทำร้ายเราเปนมั่นคง เราจะคิดอุบายหนีไปณกรุงไทย ไปตามสมิงธอกวยเจ้านายของเราเถิดครั้นพระยาทั้งสามคิดกันดังนั้นแล้ว จึงบอกความแก่คนสนิทที่ไว้ใจได้ ต่างคนก็มีหนังสือลงมาถึงบุตรภรรยาณเมืองหงษาวดีว่า เราทั้งหลายมาตั้งขัดทัพอยู่นานแล้ว ได้ความลำบากอดอยากด้วยอาหาร จะใคร่เห็นหน้าบุตรภรรยาบ้าง ให้บุตรภรรยาจัดหาเสบียงอาหารแล้วชวนกันขึ้นมาส่ง พอให้เราทั้งหลายเห็นหน้าบ้าง ส่วนบุตรภรรยานายทัพนายกองทั้งหลายนั้น ครั้นได้รู้ในหนังสือนั้นแล้ว ก็ชวนกันจัดหาเสบียงอาหารของกินต่าง ๆ แล้วพากันขึ้นไปณเมืองเจกอง พระยารามัญทั้งสามกับนายทัพนายกองทั้งปวง จึงบอกความลับนั้นแก่บุตรภรรยา ครั้นถึงเดือนสามพระยารามัญทั้งสามกับนายทัพนายกองซึ่งรู้กันนั้น ก็ชวนกันอพยพครอบครัวรีบเดินตัดมาทางตวันออก มาทางปลายแดนเมืองตองอู ครัวรามัญมาคราวนั้นประมาณสี่ร้อยเศษ

๏ ฝ่ายไพร่รามัญทั้งปวง ซึ่งเหลืออยู่ในเมืองเจกองนั้น ครั้นเห็นพวกตัวนายทั้งปวงยกครัวหนีไปดังนั้น ไม่รู้ว่าเหตุผลเปนประการใด ก็ชวนกันตกใจ ต่างคนต่างก็รีบไปถิ่นฐานบ้านเมืองของตน ลางคนจึงเอาความนั้นมาแจ้งแก่ขุนนางในเมืองหงษาวดี

๏ ฝ่ายพระยารามัญทั้งสามก็เข้าไปในเมืองเชียงใหม่พระเจ้าเชียง ใหม่จึงแจกเสบียงให้แล้วให้ส่งครัวรามัญทั้งปวงลงไปจากเมืองตาก เจ้าเมืองตากจึงบอกหนังสือลงไปให้กราบบังคมทูลพระกรุณา จึงมีรับสั่งให้ส่งครัวมอญทั้งนั้นลงไปกรุงศรีอยุทธยา จึงตรัสสั่งให้เสนาบดีซักถาม ครั้นทราบความแล้ว จึงตรัสสั่งให้พระยารามัญทั้งสามแลครอบครัวทั้งปวง ไปอยู่ตำบลโพธิ์สามต้น

๏ ลุศักราช ๑๑๑๐ ปีเดือนห้า พระเจ้าหงษาวดี จึงให้แต่งราชสาส์นเปนใจความว่า สมิงธอกวยหนีเข้าไปพึ่งพระบารมีอยู่นั้นเปนคนอกตัญญู อย่าให้พระเจ้ากรุงไทยเลี้ยงดูไว้ ตัวข้าพเจ้าได้ทำคุณแก่สมิงธอกวยมาก เมื่อสมิงธอกวยจะได้ราชสมบัตินั้นก็เพราะข้าพเจ้าคิดอ่านให้ แล้วข้าพเจ้าก็ยกบุตรสาวให้เปนภรรยา ครั้นได้เปนใหญ่แล้วกลับข่มเหงบุตรสาวข้าพเจ้า แล้วกลับต่อสู้จะฆ่าข้าพเจ้าเสีย หากว่ารามัญทั้งหลายช่วยข้าพเจ้ามาก สมิงธอกวยจึงกลับ ปราไชยไป ให้พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเห็นแก่ไมตรีเถิด จงจับตัวสมิงธอกวย กับพระยาพระราม พระยากลางเมือง พระยาน้อย วันดี ทั้งสามนั้น จำคุมส่งให้แก่ราชทูตออกมาณเมืองหงษาวดี แล้วจึงมอบราชสาส์น แลเครื่องราชบรรณาการให้ราชทูตเข้าไปกรุงศรี อยุทธยา จึงถวายราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงพระนามพระเจ้าทรงธรรมจึงตรัสสั่งให้เสนาบดีมี หนังสือตอบมาว่า ซึ่งสมิงธอกวยหนีเข้ามาพึ่งพระบารมีนั้น ครั้นพระเจ้าอยู่หัวใก้ซักถาม ได้เนื้อความว่าสมิงธอกวยกลับทำร้ายพระเจ้าหงษาวดีจึงเห็นแก่ไมตรีซึ่งเคยมี กันมาแต่ก่อนนั้น จึงให้จำสมิงธอกวยไว้ในคุกจนทุกวันนี้ แลพระเจ้าหงษาวดีจะให้ส่งตัวสมิงธอกวยออกไปนั้น ทรงเห็นว่าไม่ต้องด้วยเยี่ยงอย่างธรรมเนียมกระษัตริย์ผู้ดำรงราชสมบัติโดย ทศพิธราชธรรม ด้วยสมิงธอกวยหนีความตายมาได้แล้ว ครั้นจะส่งให้กลับออกไปตายเล่าก็จะเปนบาปเปนกรรม เห็นไม่ควรนัก แต่ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็รักษาทางพระราชไมตรีไว้ จะให้เนรเทศสมิงธอกวยเสียจากกรุงศรีอยุทธยา จะให้โดยสานสำเภาจีนออกไปแล้ว ให้นายสำเภาปล่อยเสียในเกาะแดนเมืองจีนโน้น แลพระยารามัญทั้งสามนั้นทรงเห็นว่าไม่มีโทษผิด เพราะไม่ได้คิดร้ายต่อพระเจ้าหงษาวดี เปนแต่ไม่สบายแล้วก็อพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบารมี ก็เปนธรรมเนียมที่พระเจ้าแผ่นดินจะสงเคราะห์ไว้ อย่าให้พระเจ้าหงษาวดีน้อยพระไทยเลย ครั้นพระเจ้ากรุงไทยให้เสนาบดีทำหนังสือตอบฉนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยายมราช นำเอาตัวสมิงธอกวยมาทั้งเครื่องจำ ให้ผู้คุมสี่คนกำกับไปด้วย ให้ลงสำเภาจีนต่อหน้าราชทูตรามัญ แลมอบให้นายสำเภาว่าถ้าถึงปากน้ำเจ้าพระยาแล้ว ให้ส่งผู้คุมทั้งสี่ขึ้น ณเมืองสมุทปราการ แล้วให้นายสำเภาเอาสมิงธอกวยไปปล่อยเสีย ณเกาะแดนเมืองจีน

๏ ฝ่ายราชทูตรามัญทั้งปวง ครั้นถึงเดือนเจ็ดก็เข้าไปถวายบังคมลารับพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ ตอบแทนแล้วก็พากันออกมายังกรุงหงษาวดี จึงเข้าไปเฝ้าถวายพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการนั้น พระเจ้าหงษาวดีครั้นได้ทราบพระราชสาส์นแล้วไม่ชอบพระไทย แต่ไม่รู้ที่จะทำประการใด ด้วยกลัวเมืองไทยกับเมืองมอญจะขาดทางพระราชไมตรีกันไป จะเสียทีแก่พม่า

๏ ลุศักราช ๑๑๑๑ ปี จึงพระเจ้าหงษาวดีตั้งนายธอลองน้องชายใหญ่เปนพระมหาอุปราชา ตั้งน้องชายรองเปนพระยาทละมหาเสนาบดีฝ่ายขวา ตั้งหลานชายผู้หนึ่งเปนพระยาตะละปั้นกองทหารมหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย

๏ ในศักราช ๑๑๑๑ ปีนั้นถึงเดือนสี่สมิงธอกวยจึงขึ้นไปได้ถึงเมืองเชียงใหม่อิก

(แลข้อความซึ่งสมิงธอกวย กลับขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ได้ ด้วยอุบายประการใดนั้น ในเรื่องราชพงษาวดารฉบับรามัญไม่มีความจดหมายไว้ ยกขึ้นว่าแต่เนื้อความไปถึงเมืองเชียงใหม่ทีเดียว)

๏ ขณะนั้นสมิงธอกวยจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ ทูลเล่าความทุกข์แต่หนหลังให้ฟังทุกประการ พระเจ้าเชียงใหม่ก็มีความกรุณา จึงให้สมิงธอกวยไปอยู่กับราชธิดาเหมือนแต่ก่อน

๏ ลุศักราช ๑๑๑๒ ปีเดือนสาม สมิงธอกวยจึงให้ราชธิดาเจ้าเชียง ใหม่เข้าไปกราบทูลพระบิดา จะขอกองทัพให้สามีกลับไปตีเมืองมอญพระเจ้าเชียงใหม่ก็ไม่จัดให้ตามพระราช ธิดาขอ จึงตรัสว่าสมิงธอกวย ก็พากองทัพเมืองเชียงใหม่ไปล้มตายพลัดพรายเสียเปนอันมากครั้งหนึ่งแล้ว บัดนี้ถ้าเราจะให้ไปก็จะพาคนไปตายเสียอิก ครั้นสมิงธอกวยไม่ได้กองทัพแล้วก็ต้องจำใจอยู่ในเมืองเชียงใหม่

๏ ในศักราช ๑๑๑๒ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีจึงเกณฑ์กองทัพให้พระมหาอุปราชาคุมไพร่พล ๒๐๐๐๐ เปนทัพเรือ ให้พระยาทะละคุมไพร่พล๒๐๐๐๐กับสมิงตะละปั้นคุมไพร่พล ๗๐๐๐ เปนทัพน่ายกไปทางบกพวกรามัญทั้งทัพบกทัพเรือยกไปตีมังมหาราชา อันตั้งอยู่ณเมืองปรอนนั้น มังมหาราชาก็ต่อสู้เปนสามารถ ครั้งนั้นเปนคราวชตารามัญขึ้นพวกรามัญทั้งปวงจึงมีฝีมือเข้มแขงนัก มังมหาราชาเห็นเหลือกำลัง ก็ทิ้งเมืองปรอนเสีย ถอยขึ้นไปตั้งรับอยู่ณเมืองปะกัน จึงให้เจ้าเมืองปะกันกับเมียนวุ่นคุมพลไปตั้งค่ายอยู่ฟากตวันตกตรงเมืองปะ กันข้ามตัวมังมหาราชากับปลัดเมืองปะกันนั้น เข้าตั้งมั่นรักษาเมืองปะกันฟาก ตวันออกอยู่ แล้วจึงมีหนังสือบอกข้อราชการขึ้นไปเมืองอังวะ

๏ ฝ่ายกองทัพรามัญ ครั้นได้เมืองปรอนแล้ว ก็แยกกันทั้งทัพบกทัพเรือตีหัวเมืองพม่าฟากตวันออกแม่น้ำเอรวดีขึ้นมา แลกองทัพเรือนั้นพระมหาอุปราชาเมืองหงษาวดีเปนแม่ทัพคอยกั้นหัวเมืองฟากตวัน ตกไว้ไม่ให้ข้ามมาช่วยเมืองฟากตวันออกได้ ขณะนั้นพวกรามัญตีหัวเมืองฟากตวันออกขึ้นไปได้สิบหัวเมือง คือ เมืองเมยแกะหนึ่ง เมืองตองดวนหนึ่ง เมืองปะตะนะคูหนึ่ง เมืองมีนกูนหนึ่ง เมืองมะกวยหนึ่ง เมืองแวกมะจะสอหนึ่ง เมืองเวนันฉ่องหนึ่ง เมืองเปมะหนึ่ง เมือง ปกันแงหนึ่ง เมืองจาเลหนึ่ง เปนสิบหัวเมืองด้วยกัน แลกองทัพเรือนั้น ก็คอยป้องกันทัพเรือพม่าฟากตวันตกไม่ให้ตามมาช่วยกันได้ จึงถึงเมืองจาเลฟากตวันออก แล้วทัพบก ทัพเรือ พวกรามัญ ก็ตั้งพักพวกพลอยู่ณเมืองจาเล ทางแต่เมืองจาเลถึงเมืองปะกัน ซึ่งมังมหาราชาถอยขึ้นไปตั้งอยู่นั้นประมาณสามวันถึงกัน

๏ ฝ่ายพระมหาอุปราชาจึงสั่งพระยาทะละพระยาตะละปั้น ทั้งสองให้อยู่รักษาเมืองจาเลไว้ แล้วก็ยกทัพเรือข้ามไปตีค่ายฟากตวันตกตรงเมืองปะกันข้าม ซึ่งเจ้าเมืองปะกันข้ามไปรักษาอยู่นั้น เจ้าเมืองปะกันต้านทานไม่อยู่ เห็นเหลือกำลังก็พากันแตกข้ามมาเมืองปะกันสิ้น พระมหาอุปราชาจึงจัดให้สมิงพระรามอยู่รักษากองทัพเรือ แล้วก็ยกขึ้นไปตั้งอยู่ในค่ายบกฟากตวันตกนั้นแล้ว มีหนังสือลงไปถึงพระยาทละพระยาตะละปั้นทั้งสอง ให้เร่งทัพบกยกขึ้นไปตีเมืองปะกันฟาก ตวันออกให้ได้

๏ ขณะนั้นพระเจ้ามังลาวะมิน ครั้นได้ทรงทราบในหนังสือบอกว่าเมืองรายทางฟากตวันออกเสียแก่รามัญทั้งสิบ ตำบลดังนั้น ก็สลดพระไทยลง จึงตรัสปฤกษาการสงครามกับขุนนางทั้งปวง ขุนนางทั้งหลายพร้อมกันกราบทูลว่า กองทัพรามัญยังกล้าแขงอยู่ทั้งนี้ เพราะได้ส่งเสบียงกันโดยทางเรือได้ถนัด จำจะคิดตัดกองทัพเรือเสบียงเสีย พวกรามัญจึงจะถอยกำลังลง พระเจ้าอังวะเห็นชอบด้วย จึงตรัสสั่ง อะตองวุ่นมหาเสนาบดีอันเปนพนักงานว่าข้างทิศใต้ ให้เกณฑ์คนหมื่นหนึ่งยกข้ามไปณเมืองจะเกิง แลเดินทัพทางฟากตวันตกยกลงไปให้ถึงเมืองจะเปน ตรงน่าเมืองปะกันแงข้าม แล้วให้ตระเตรียมเรือรบเรือไล่ให้พร้อม คอยตีสกัดตัดลำเลียงกองเสบียงรามัญพวกเรืออันจะขึ้นมาทางนั้น อะตองวุ่นจึงถวายบังคมลามาจัดกองทัพพร้อมแล้ว ก็ยกข้ามไปเดินทางฝั่งฟากตวันตก ส่วนพระมหาอุปราชาเมืองหงษาวดีซึ่งตั้งอยู่ค่ายฟากตวันตกนั้น ให้คนขึ้นไปสอดแนมดูข้างบน ครั้นรู้ว่ามีกองทัพบกยกลงมาทางฟากตวันตกนั้น ก็จัดกองทัพรามัญให้ยกออกจากค่าย ขึ้นไปซุ่มอยู่ในราวป่าสองข้างทางซึ่งพม่าจะยกลงมานั้น ส่วนกองทัพพม่าเมื่อยกลงมานั้นไม่ทันพิจารณา ก็ยกล่วงเลยกองทัพรามัญลงมาประมาณได้กึ่งหนึ่ง พวกรามัญซึ่งซุ่มอยู่ได้ท่วงทีก็ยิงปืนขึ้นเปนสำคัญ ชวนกันออกตัดกลางกองทัพพวกพม่า แล้วพระมหาอุปราชาก็ยกตีต้านน่าสวนทางขึ้นไป พวกอะตองวุ่นตกใจ ไม่ทันได้สู้รบก็แตกกระจัดกระจายไปสิ้น ขณะนั้นพระยาทละพระยาตะละปั้นทั้งสองก็ยกทัพขึ้นไปตีเมืองปะกัน มังมหาราชาก็ต่อสู้เปนสามารถ พวกรามัญยังหักเอาเมืองไม่ได้

๏ ฝ่ายพระมหาอุปราชาครั้นตีทัพอะตองวุ่นแตกไปแล้วจึงกลับมาค่าย ได้ยินเสียงปืนพวกข้างเมืองปะกันอื้ออึงอยู่ ก็ยกกองทัพเรือข้ามมารบกระหนาบเข้าข้างด้านริมน้ำ แล้วขึ้นบกยกหนุนเข้าไปใกล้เชิงกำแพงเมือง

๏ ฝ่ายข้างพวกรามัญนั้น พระมหาอุปราชาทรงพระแสงดาบไล่ต้อนพลให้เร่งเอาบันไดพาดกำแพงเมืองขึ้นไป พวกรามัญถึงจะตายสักเท่าใดก็ไม่ถอย ด้วยพระมหาอุปราชามีอาญาสิทธิเข้มแขงนัก มังมหาราชาเห็นเหลือกำลังที่จะรักษาเมืองไว้ ก็ชวนเจ้าเมืองปะกันเปิดประตูเมืองด้านเหนือ ตีฝ่ากองทัพรามัญออกไป แล้วรีบหนีขึ้นไปเมืองอังวะ ครั้นพระเจ้าอังวะได้ทรงทราบว่า มังมหาราชาแลอะตองวุ่นเสียทัพขึ้นไปดังนั้นก็ตกพระไทยนัก จึงตรัสสั่งให้ปิดประตูเมืองอังวะ แล้วเกณฑ์คนขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินทั้งกลางวันกลางคืน เปนอันกวดขันนักส่วนกองทัพรามัญครั้นได้เมืองปะกันแล้ว ก็พร้อมกันยกขึ้นมาตีเมืองตะลูมะยู ครั้นได้เมืองนั้นแล้วก็ยกขึ้นมาตั้งล้อมเมืองอังวะไว้ ขณะนั้นมอญกับพม่าฆ่าฟันกันตายลงเปนอันมาก จนศพเกลื่อนไปทั้งนอกเมืองทั้งในเมือง มีกลิ่นอันเหม็นเปนปฏิกูลหนักหนา เมืองอังวะครั้งนั้นเหมือนป่าช้าผีดิบ ควรจะพึงสังเวชนัก แลคนทั้งหลายตายด้วยรบกันบ้าง ด้วยเจ็บไข้บ้าง ด้วยอดอยากบ้าง ในเมืองอังวะนั้นเข้าแพงนัก คิดเปนราคาเงินไทยทนานละบาทมีเศษ คนในเมืองอังวะได้ความลำบากนัก แต่กองทัพรามัญตั้งอยู่นอกเมือง ก็จ่ายกันออกเที่ยวหาเสบียงอาหารทั่วทั้งแขวงจังหวัดเมืองอังวะ ก็พอได้มาเลี้ยงกันบ้างแต่ว่าไม่พออิ่มเปนปรกติแต่พวกรามัญมาล้อมเมืองอังวะ อยู่ได้สามเดือนเศษแล้ว ก็ยังหักเอาเมืองอังวะไม่ได้ แต่พวกรามัญยกขึ้นมา ตีเมืองอังวะนั้น ตั้งแต่ศักราช ๑๑๑๒ ปีมาจนถึงศักราช ๑๑๑๕ ปี ได้สามปีแล้วก็ยังไม่ได้เมืองอังวะ ถึงฉนั้นพระมหาอุปราชาก็ไม่สั่งให้ถอยทัพมุ่งหมายจะเอาเมืองอังวะให้ได้ มีรับสั่งให้พวกกองทัพเที่ยวขุดมันขุดกลอยในป่า แลฆ่าโคกระบือเลี้ยงชีวิตรกว่าจะได้เมืองอังวะ

๏ ขณะนั้นพระเจ้าอังวะให้เศร้าโศกในพระไทยนัก จึงตรัสสั่งให้ประชุมขุนนางพร้อมแล้ว จึงตรัสว่าแผ่นดินภุกามประเทศนี้ คิดตั้งแต่พระเจ้าอะนอระทามังฉออันเปนใหญ่ในเมืองตะกอง ซึ่งเปนเมืองหลวงแต่ก่อนนั้น ไม่เคยเสียแก่กระษัตริย์องค์ใด ขณะนั้นภุกามประเทศผู้คนก็ยังน้อย บ้านเมืองก็ยังไม่มั่นคงนัก พวกเงี้ยวพวกไทยใหญ่อันอยู่ฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือยกมาเบียดเบียนอยู่เนือง ๆ ถึงฉนั้นพระเจ้าอะนอระทามังฉอ ก็ยังทรงพระอุสาหยกกองทัพไปปราบปรามข้าศึก ไม่ให้ย่ำยีตีเอาแผ่นดินอันเปนภุกามประเทศไปได้ แล้วสืบพระวงษ์มาหลายชั่วกระษัตริย์ ถ้าจะคิดรวมปีก็ได้ร้อยปีเศษ กระษัตริย์ในวงษ์นั้นก็ได้ปราบปรามพวกเงี้ยวพวกไทยใหญ่ต่อ ๆ กันมา จนพวกเงี้ยวพวกไทยใหญ่ราบคาบอยู่ในอำนาจพม่าทั้งสิ้น ครั้นอยู่มาถึงศักราช ๖๒๕ ปี พระเจ้าอลังคจอสูผู้เปนใหญ่ในเมืองปะกัน อันเปนเมืองหลวงครั้งนั้น ก็ยกทัพลงไปปราบปรามรามัญประเทศทั้งปวง ให้อยู่ในอำนาจพระองค์สิ้น ครั้งนั้นภุกามประเทศก็ไพศาลกว้างขวาง ข้างทิศใต้ตลอดจนทเล ข้างทิศเหนือกระทั่งแดนจีนเปนกำหนด ครั้นพระเจ้า อลังคจอสูสวรรคตล่วงไปแล้ว ลุศักราช ๖๔๙ ปี มกะโทคิดขบถตั้งตัวขึ้นเปนกระษัตริย์ในรามัญประเทศเข้าสืบวงษ์มาถึงพระยาสี หราชา ธิราช อันเปนกระษัตริย์ในรามัญประเทศเข้มแขงนัก ก็ได้ยกกองทัพขึ้นมาทำสงครามในภุกามประเทศ ขณะนั้นพระเจ้ามณเฑียรทองอันเปนใหญ่ในเมืองอังวะนี้ ก็ได้ทำสงครามป้องกันแผ่นดินไว้ ไม่ให้รามัญชิงไปได้ ครั้งนั้นรามัญประเทศไม่อยู่ในอำนาจพม่า ได้เปนประเทศใหญ่มาจนถึงศักราช ๙๐๑ ปี จึงมีพระมหากระษัตริย์ ผู้เปนพระไอยกาทวดของเรา ทรงพระนามชื่อว่าพระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์ จึงยกกองทัพลงไปปราบปรามรามัญประเทศได้ทั้งสิ้น ครั้นถึงพระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เปนพระโอรส ก็ยิ่งมีบุญมากกว่าพระบิดา เที่ยวปราบปรามกระษัตริย์ทั้งปวงให้อยู่ในอำนาจทั้งสิ้นแล้ว ก็เปนใหญ่ในภุกามประเทศ ในรามัญประเทศ ในสยามประเทศ ในมลาวประเทศ ได้มาเปนเขตรแดนเมืองอังวะทั้งสิ้น ขณะนั้นภุกามประเทศมีอำนาจมากนักครั้นถึงพระเจ้านานกะยอผู้เปนพระโอรส ทำสงครามกันกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรี อยุทธยา ก็เสียรามัญประเทศกลับเปนเขตรแดนของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยา ถึงฉนั้นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าฝรั่งมังตรีก็ยังรักษาภุกามประเทศไว้ ไม่ให้ตกเปนเขตรแดนกรุงศรีอยุทธยาได้ ครั้นถึงศักราช ๙๖๕ ปี จึงพระไอยกาของเราพระองค์หนึ่งทรงพระนามพระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว อันเปนใหญ่ในเมืองอังวะนี้ จึงยกกองทัพลงไปปราบปรามรามัญประเทศทั้งปวงได้แล้ว เสด็จลงไปเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองหงษาวดี สืบวงษ์มาได้สามพระองค์ จึงถึงพระเจ้ามังรายกะยอของ ได้ครองราชสมบัติในเมืองอังวะนี้ ครั้นอยู่มาจนถึงศักราช ๑๐๒๔ ปี พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยา ให้เสนาบดียกกองทัพมาตีรามัญประเทศได้แล้วล่วงขึ้นมาในภุกามประเทศนี้ ตีได้หัวเมืองขึ้นมาจนถึงเมืองปะกัน พระเจ้ามังรายกะยอของก็ให้พระราชบุตรลงไปรักษาเมืองปะกันไว้ กองทัพไทยจะหักเอาไม่ได้ ก็ล่าทัพกลับไป ครั้นภายหลังพระเจ้ามังรายกะยอของผู้เปนพระไอยกาของเราก็กลับคิดอ่านเอา รามัญประเทศมาไว้ในอำนาจได้เหมือนแต่ก่อน ครั้นสืบวงษ์มาถึงพระบิดาของเรา ก็ยังรักษาภุกามประเทศ แลยังรักษารามัญประเทศทั้งสองนี้ไว้เปนปรกติได้ ครั้นต่อมาถึงเราบัดนี้เปนคราว ชตาภุกามประเทศตก รามัญทั้งปวงกลับมีอำนาจขึ้น ตั้งแต่ศักราช ๑๑๐๔ ปี มาจนถึงศักราช ๑๑๑๔ ปีนี้ คิดรวมด้วยกันก็เปน ๑๒ ปี ต้องดังคำโหรทั้งหลายทำนายไว้แต่ในกาลก่อน แลบัดนี้มาบังเกิดฆ่าฟันกันตายความฉิบหายต่าง ๆ เมื่อขณะเราได้ครองราชสมบัติครั้งนี้ ก็เห็นว่าเราเปนพระเจ้าแผ่นดินบุญน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายแต่ก่อนบัด นี้เราพิเคราะห์ดูก็เห็นว่าวาศนาเราสิ้นแล้ว ทหารพม่าจึงมีฝีมืออ่อนกว่าพวกรามัญนัก ดูผิดประหลาดกว่าแต่ก่อนหนักหนา ถ้าเราทั้งหลายจะปิดประตูเมืองนิ่งขึงอยู่ฉนี้ไพร่บ้านพลเมืองก็จะพากัน ฉิบหายตายเสียสิ้นถึงมาทว่าเราจะตายผู้เดียวก็ตามเถิด แต่ให้คนทั้งปวงรอดชีวิตรอยู่ความนินทาจึงจะไม่มีต่อไปในภายน่า เราคิดจะเปิดประตูเมืองปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาเสียโดยดี แต่เราจะขอสัญญาอย่าให้เบียดเบียนราษฎรทั้งปวงเลย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด

๏ ขณะนั้นแต่บรรดาราชวงษานุวงษ์ มีมังมหาราชาอันเปนที่แมงยีอินตอ แปลว่าเจ้าวังใหญ่เปนต้น แลพวกขุนนางมีมหาเสนาบดีทั้งสี่เปนต้น แลมหาเสนาบดีทั้งสี่นั้น คือ อะแซวุ่นเสนาบดีว่ากล่าวข้างทิศตวันออกหนึ่ง อะตองวุ่นเสนาบดีว่ากล่าวข้างทิศใต้หนึ่ง มย็อกวุ่นเสนาบดีว่ากล่าวข้างทิศเหนือหนึ่ง อะน้อวุ่นเสนาบดีว่ากล่าวข้างทิศตวันตกหนึ่ง ครั้นได้ฟังพระเจ้าอังวะตรัสดังนั้นก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ชวนกันร้องไห้แล้วกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาตรัสดังนี้สมควรแล้ว ถ้านิ่งไว้ชาวเมืองทั้งปวงจะฉิบหายเสียสิ้น

๏ ลุศักราช ๑๑๑๔ ปี ณวันเสาร์เดือนหกแรมสามค่ำ พระเจ้ามังลาวะมินผู้เปนพระเจ้ากรุงอังวะ จึงตรัสสั่งให้มังมหาราชาจัดม้าพระที่นั่งทรงประดับด้วยเครื่องประดับสำหรับ ม้าเสร็จ แลพระกลดขาวอันเปนเครื่องสูงสำหรับกระษัตริย์ แลพวกกรมวังแลพวกชาวมาลาภูษาเปิดประตูเมืองออกมารับพระมหาอุปราชาเมืองหง ษาวดี มังมหาราชาจึงออกมาณค่ายประชิด จึงเข้าไปหาพระมหาอุปราชา ๆ ก็ต้อนรับแล้วเชิญให้มังมหาราชานั่งในที่อันสมควรแล้ว จึงถามว่าท่านออกมาหาเราด้วยกิจการอันใด มังมหาราชาจึงตอบว่า บัดนี้พระเจ้าอังวะก็รู้พระองค์ว่าวาศนาของพระองค์สิ้นเสียแล้ว เห็นว่าชตาเมืองอังวะสูญเปนแท้แล้ว ถ้านิ่งปิดประตูเมืองต่อสู้อยู่ ไพร่พลเมืองจะพากันฉิบหายเสียสิ้น จึงมีรับสั่งแก่เราให้ออกมาเชิญท่านเข้าไปโดยดีแต่ว่าจะขอความสัตย์อย่าให้ ท่านทำอันตรายแก่พระเจ้าอังวะ แลชาวเมืองทั้งปวงให้ได้ความลำบากเลย

๏ พระมหาอุปราชาได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงให้หาพระยาทะละแลตะละปั้นขุนนางรามัญทั้งปวงมาพร้อมแล้ว จึงบอกเหตุนั้นให้ฟังทุกประการ ครั้นขุนนางทั้งหลายเห็นชอบด้วยพร้อมกันแล้ว พระมหาอุปราชาจึงให้สัตย์ปฏิญาณแก่มังมหาราชา เพื่อจะไม่ทำร้ายแก่พระเจ้าอังวะแลชาวเมืองทั้งปวง มังมหาราชาจึงเชิญพระมหาอุปราชาจะให้ขึ้นขี่ม้าพระที่นั่งพระเจ้าอังวะ แลให้ชาวมาลาภูษากางพระกลดขาวยกขึ้น จะคอยรับเสด็จพระมหาอุปราชา ๆ ไม่ขึ้นม้าพระที่นั่ง แลไม่กั้นพระกลดร่วมพระเจ้าอังวะ ตรัสสั่งให้ลดพระกลดลงเสียแล้ว มอบเครื่องยศสำหรับกระษัตริย์ทั้งปวงคืนให้มังมหาราชา แลขณะเมื่อพระมหาอุปราชาจะเข้าไปนั้น จึงตรัสสั่งให้พระยาตะละปั้น กับไพร่พลประมาณ ๓๐๐ พร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธยกเข้าไปก่อน ขณะนั้นพระเจ้าอังวะเสด็จออกมาจากพระราชวัง เสด็จมานั่งอยู่ณศาลาลูกขุนพร้อมด้วยขุนนางทั้งปวง พระยาตะละปั้นจึงเข้าไปถึงศาลาลูกขุน แล้วให้พวกรามัญรายล้อมวงอยู่รอบศาลาลูกขุน ครั้นภายหลังพระมหาอุปราชาจึงจัดทหารประมาณ ๕๐๐ พร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธแล้ว จึงทรงม้าพระที่นั่งของพระองค์ มังมหาราชาทรงม้านำเสด็จเข้าไปในเมืองอังวะ ครั้นใกล้ถึงศาลาลูกขุนซึ่งพระเจ้าอังวะเสด็จออกมาทรงนั่งอยู่นั้น พระมหาอุปราชาก็ลงจากม้าพระที่นั่งแต่ไกล เสด็จดำเนินเข้าไปด้วยพระบาทเปล่า ครั้นใกล้ถึงจึงส่งพระแสงหอกสำหรับพระหัดถ์ให้แก่มหาดเล็ก แล้วเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะบนศาลาลูกขุน ถวายบังคมแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้ามาทำการทั้งนี้ด้วยถือรับสั่งพระเจ้าหงษาวดี ธรรมเนียมอย่างนี้ก็เคยมีมาแต่ก่อน ถ้าพระมหากระษัตริย์พระองค์ใดถึงคราวเมื่อบุญจะสิ้นไปแล้ว ก็ให้บังเกิดความวิบัติต่าง ๆ เมืองอื่นมาทำร้ายบ้าง ขุนนางในเมืองทำร้ายบ้าง กระษัตริย์นั้นก็เสียพระนครแลราชสมบัติ วงษ์กระษัตริย์ก็สิ้นสูญไป ย่อมเปนความฉนี้มีมาแต่บุราณแล้ว พระองค์อย่าน้อยพระไทยเลย พระเจ้าอังวะจึงตรัสว่าธรรมดาเกิดมาเปนมนุษย์ก็ย่อมมีความสองประการ คือสมบัติ คือวิบัติ เหมือนกันทั่วทุกตัวสัตว ก็บัดนี้วิบัติมาถึงเราแล้ว แต่ตัวเรานั้นท่านจะเอาไปทำเปนประการใดก็ตามอัชฌาไศรย ขอแต่ราษฎรทั้งปวงนั้นอย่าให้ได้ความลำบากเลย พระมหาอุปราชาจึงถวายสัตย์แก่พระเจ้าอังวะ เพื่อจะมิได้ทำร้ายแก่พระองค์แลราษฎรทั้งปวง แล้วจึงทูลว่า พระเจ้าหงษาวดีมีรับสั่งขึ้นมาว่า ถ้าได้เมืองอังวะแล้วให้เชิญเสด็จพระองค์แลพระญาติวงษ์ แลขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงลงไปณเมืองหงษาวดีความประการนี้ข้าพเจ้าจะต้องทำตาม รับสั่งพระเจ้าหงษาวดี พระเจ้าอังวะจึงตรัสว่า ท่านว่านี้ควรแล้ว ท่านจงทำตามรับสั่งเถิดแล้วพระเจ้าอังวะ จึงตรัสเรียกขุนนางพนักงานบาญชีพระราชทรัพย์ในท้องพระคลัง แลบาญชีไพร่พลในเมืองอังวะ มอบให้แก่พระมหาอุปราชาแล้ว จึงเสด็จเข้าพระราชวัง ครั้นภายหลังพระมหาอุปราชาจึงเกณฑ์ให้พระยาทะละเปนแม่กอง ไปตั้งล้อมพระราชวังอยู่ในทิศใต้กองหนึ่ง ให้พระยาตะละปั้นไปตั้งล้อมอยู่ในทิศเหนือกองหนึ่ง ให้สมิงพระรามไปตั้งล้อมอยู่ในทิศตวันตกกองหนึ่ง ตัวพระมหาอุปราชานั้นตั้งอยู่ในศาลาลูกขุนข้างทิศตวันออกแห่งพระราชวังกอง หนึ่ง แล้วให้เจ้าเมืองเสี่ยงเที่ยวตรวจตราแต่บรรดาสาตราวุธหอกดาบปืน อันเปนเครื่องสำหรับเมืองนั้น มอบให้ขุนนางรามัญรักษาไว้ให้เปนหมวดเปนกอง แล้วตั้งพวกรามัญกำกับประตูพระราชวังอยู่ทุก ๆ ประตูคอยห้ามไม่ให้พระราชวงษ์ คอยห้ามไม่ให้เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งปวงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอังวะ ปล่อยให้แต่มหาดเล็กแลคนใช้สอยเข้าออกพอสมควร แลในภายในพระราชสถานข้างน่าสถานข้างใน ก็ห้ามมิให้พวกรามัญเข้าไปละเล้าละลุมวุ่นวาย แล้วตั้งกฎหมายประกาศพวกกองทัพไม่ให้เบียดเบียนช่วงชิงสิ่งของ ๆ ราษฎรทั้งปวง แต่พระมหาอุปราชาจัดบ้านจัดเมืองประมาณกึ่งเดือน ครั้นราบคาบเปนปรกติดีแล้ว จึงสั่งให้พระยาทะละ แลพระยาตะละปั้นทั้งสองคุมพลอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วจึงให้เก็บเงินทองสิ่งของพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังต่าง ๆ ลงบรรทุกเรือ แล้วสั่งให้พระราชวงษ์ แลเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งปวง อพยพครอบครัวของตนลงเรือให้เสร็จ แต่ขุนนางผู้น้อยจะตามเสด็จลงไป ฤๅจะช่วยราชการเมืองอังวะก็ตามอัชฌาไศรย ขณะนั้นพระสังฆราชาถานา นุกรมอันดับทั้งปวง ซึ่งจะติดตามเสด็จพระเจ้าอังวะแลติดตามญาติโยมครอบครัวของตนลงไปนั้น ประมาณสามร้อยเศษ พระมหาอุปราชาก็จัดพระสงฆ์ แลครอบครัวคฤหัสถ์ทั้งปวงลงบรรทุกเรือทั้งสิ้นแล้วจัดเรือพระที่นั่ง กระเชียง มีพระมหามณฑปตั้งกลาง สำหรับเปนพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอังวะ พร้อมด้วยเสวตรฉัตรพัดโบกจามรธงไชยธงฉานเสร็จ จึงเชิญเสด็จพระเจ้าอังวะ แลพระมเหษีพระราชบุตรบุตรีภาคิไนยนารถราชประยูรวงษ์ทั้งปวง ลงเรือพร้อมกันแล้ว จึงให้บันฦๅเสียงแตรสังข์พิณพาทย์ราชดนตรีเสียงอึกทึกกึกก้องโกลาหล พระมหาอุปราชาจึงให้จัดกองทัพเรือสมิงพระรามเปนกองน่าถัดนั้นลงไปจึงถึงเรือ พระที่นั่งพระมหาอุปราชา พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาโยธาทหารทั้งปวงป้องกันตามเสด็จพระเจ้าอังวะ ถัดลงไปถึงเรือครอบครัวพระราชวงษานุวงษ์ แลขุนนางผู้ใหญ่ของพระเจ้าอังวะแลเรือบรรทุกพระสงฆ์ ถ้าจะประมาณพวกครอบครัวพม่ารวมด้วยกันสักหมื่นเศษ กองทัพเรือข้างหลังนั้น เจ้าเมืองเสรี่ยงเปนแม่กองจึงเชิญเสด็จประทับรอนแรมล่วงลงมาตามระยะทาง ประมาณสิบวันจึงถึงเมืองหงษาวดี พระมหาอุปราชาจึงเชิญเสด็จพระเจ้าอังวะแลพระมเหษีพระราชวงษ์ทั้งปวง ให้อาไศรยอยู่ในวังน่าก่อน แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี กราบทูลความซึ่งมีไชยได้พระเจ้าอังวะลงมาทุกประการ

๏ พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังก็มีพระไทยยินดีนัก ตรัสสรรเสริญสติปัญญาพระอนุชาเปนอันมาก แล้วพระราชทานรางวัลแก่พระมหาอุปราชา แลขุนนางแม่ทัพนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบแล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงให้พระ เจ้าอังวะ แลราชวงษานุวงษ์ กับท้าวพระยานายทัพนายกองพม่าทั้งปวง ถือน้ำพระพิพัฒสัตยาทั้งสิ้น แล้วจึงตรัสสั่งให้พระมหาอุปราชาจัดทำนุบำรุงพระเจ้าอังวะ แลพระญาติวงษ์ทั้งปวงไว้ให้อยู่เปนศุข แลครอบครัวพม่าทั้งปวงซึ่งได้มานั้นก็มอบให้พระมหาอุปราชาว่ากล่าวทั้งสิ้น พระมหาอุปราชาจึงจัดพระราชวังถวายพระเจ้าอังวะ ให้เสด็จอยู่ในที่ใกล้วังน่า ทำนุบำรุงพระเจ้าอังวะไว้เปนอันดี ถ้าว่างราชการแล้วก็อุสาหเสด็จไปเยี่ยมเยียนพระเจ้าอังวะเนือง ๆ พระเจ้าอังวะก็พระราชทานโอวาทฉบับธรรมเนียมพระมหากระษัตริย์แก่พระมหาอุป ราชานั้นทุกครั้ง พระมหาอุปราชาก็มีพระไทยรักใคร่ในพระเจ้าอังวะดุจเปนพระบิดาของพระองค์

๏ ในศักราช ๑๑๑๓ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีให้สร้างราชมณเฑียรทั้งปราสาท ๙๙ ยอด มีสีหบัญชรสลักเปนรูปราชสีห์ บานพระแกลนั้นใส่ลูกล้อ พระแกลแห่งหนึ่งเมื่อเปิดแลปิดเสียงดังเหมือนเสียงราชสีห์พละแกลแห่งหนึ่ง เสียงดังเหมือนเสียงนกการเวก พระแกลแห่งหนึ่งเสียงดังเหมือนเสียงนกกะเรียนพระแกลแห่งหนึ่งเสียงดังเหมือน ช้างร้องแล้วสร้างพระราชบัลลังก์ทั้งสอง คือราชบัลลังก์ชื่อเสลี่ยงแร่ง แปลว่าราชบัลลังก์สูงสุด ๑ แลราชบัลลังก์ชื่อขะเต่อละวี แปลว่าราชบัลลังก์กระดานไม้มะเดื่อ ๑ ราชบัลลังก์ทั้งสองนี้ตั้งไว้กลางพระมหาปราสาทเมื่อจุลศักราช ๑๑๑๔ ปี พระเจ้าหงษาวดรได้ราชาภิเศก ทรงพระนามพระเจ้าอะเนตโตราชามหากระษัตราธิราชในเมืองหงษาวดี ครั้นกาลล่วงมาได้เดือนหนึ่ง เทพยดาผู้รักษาคำภูฉัตรในเมืองหงษาวดี นฤมิตรเพศเปนนกตระกรุมกลืนกินวิฬาร์ตายตัวหนึ่ง แล้วบินมาจากทิศตวันออกเข้ามาสำรอกไว้ตรงพระภักตร์พระเจ้าหงษาวดี ๆ ทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรับสั่งให้หาปโรหิตทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ให้ทำนายซึ่งนิมิตรเหตุอันนั้นว่าร้ายแลดีประการใด ปโรหิตทั้งปวงจึงปฤกษากันว่านกตระกรุมนั้เปนธาตุพระเสาร์ วิฬาร์นั้นเปนธาตุพระจันทร์ พระเสาร์กลืนพระจันทร์ นิมิตรเหตุอันนี้คงจะมีมลคลลาภอันใหญ่แก่พระมหากระษัตริย์เปนเที่ยงแท้ ปโรหิตพิจารณาตามคัมภีร์โหราสาตราราชนิมิตรคิดปฤกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึงกราบทูลทำนายว่า ตั้งแต่วันนี้ไปเบื้องน่าไม่ช้านาน พระยาประเทศราชเมืองอื่น จะให้นำนางกระษัตริย์นารีมีรูปศิริอันงาม กับเครื่องมงคลราชบรรณาการมาถวายแต่ข้างทิศตวันออก พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังมีพระไทยยินดีนัก จึงพระราชทานรางวัลแก่ปโรหิตเปนอันมาก ครั้งนั้นไม่ช้านานเจ้าเมืองลำพูนให้แสนท้าวพระยาลาว นำเอาดอกไม้เงินทองกับธิดาไปถวายแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้สมิงท้าวทองอยู่ลงไปรับเพียงเขตรแดนเมืองวาน ครั้นมาถึงเมืองหงษาวดีแล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็พระราชทานที่อยู่แลยศศักดิทรัพย์สมบัติแก่นางกระษัตริย์โดย สมควร

๏ เมื่อจุลศักราช ๑๑๑๕ ปี นิมิตรปรากฎขึ้นในเมืองหงษาวดีอิก แม่ค้าเอาปลาร้าปลาดุกมาเชือดศีศะแล้วใส่อ่างวางขายไว้ที่ร้านกลางตลาด ปลาร้าปลาดุกนั้นกลับเปนขึ้นดิ้นอยู่ในอ่าง สมิงนันทสุริยจึงนำเอาเหตุนั้นเข้าไปกราบทูลแก่พระเจ้าหงษาวดีๆจึงรับสั่ง ให้หาปโรหิตเข้ามาทำนาย ปโรหิตกราบทูลว่า พระองค์เอาพระเจ้าอังวะมารักษาไว้นี้ เปรียบเหมือนหางปลาดุกดิ้นอยู่ในอ่างนั้น นานไปเบื้องน่าพวกพม่าในเมืองอังวะจะเกิดเปนขบถขึ้น พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังไม่สบายพระไทย จึงนิมนต์พระสงฆ์ให้มาสวดพระพุทธมนต์ แล้วถวายไทยธรรมกระทำบูชาทุกวัน หวังจะให้อันตรายเสื่อมหายไป

๏ เมื่อจุลศักราช ๑๑๑๕ ปีนั้น พระเจ้าหงษาวดีให้สร้างปราสาทเสาต้นเดียวทำสำเร็จในปีนั้น จึงรับสั่งให้พราหมณ์ทั้งหลายมารดน้ำสังข์จะให้เปนมงคลแก่ธิดาของพระองค์ ชื่อว่าพระนางมียายเส่มเสร็จ ให้พระธิดาขึ้นอยู่ในปราสาทเสาต้นเดียว ขณะนั้นบังเกิดลมพยุใหญ่พัดเอาผ้าสไบกรองทองที่พระธิดาห่มอยู่นั้น ไปพันติดอยู่บนยอดปรา สาทที่พระธิดาอยู่ พระเจ้าหงษาวดีทราบเหตุดังนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้หาปโรหิตมาทำนาย ปโรหิตกราบทูลว่าพระธิดาของพระองค์จะได้พระสามีในประเทศที่ไกล ตั้งแต่นั้นมาพระธิดาของพระเจ้าหงษาวดีชื่อว่าพระนางมียายเส่ม อยู่ในปราสาทเสาเดียวได้ความศุขเปนอันมาก

๏ ในเพลาวันหนึ่ง พระเจ้าอังวะจึงตรัสแก่พระมหาอุปราชาว่า จงเอาเนื้อความไปกราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ด้วยเมืองอังวะนั้นยังไม่ราบคาบ ขณะเมื่อเรายังรักษาเมืองอังวะ แลยังทำศึกอยู่กับพวกรามัญนั้น ให้เสนาบดีมีหนังสือขึ้นไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นบรรดาหัวเมือง ที่เกรงกลัวอยู่ก็ลงมาตามรับสั่ง แต่อองไชยะมังลองซึ่งเปนนายบ้านมุกโชโบนั้นดูท่วงทีจะเปนขบถอยู่ ไม่เกณฑ์คนลงมา ตามรับสั่ง กลับชักชวนนายบ้านลูกบ้านประมาณสิบสี่บ้านสิบห้าบ้านเอาต้นตาลทำเปนค่าย รวบรวมคนไว้ประมาณห้าพันเศษ ตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่แขงอยู่ตำบลหนึ่ง ครั้นเราได้รู้แล้วจะยกให้กองทัพขึ้นไปปราบปรามก็จนใจ ด้วยกองทัพรามัญติดพันกันอยู่ ถ้าละไว้นานไปอองไชยะมีกำลังกล้าขึ้นแล้ว เห็นจะยกมาชิงเอาเมืองอังวะเปนมั่นคง พระมหาอุปราชาได้ทรงฟังดังนั้น จึงถวายบังคมลามาเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีแล้วกราบทูลเหตุนั้นทุกประการ ครั้นพระเจ้าหงษาวดีได้ทรงทราบก็สดุ้งตกพระไทย จึงมีหนังสือรับสั่งขึ้นไปถึงเมืองอังวะ แจ้งข้อรับสั่งแก่พระยาทะละสมิงตะละปั้นทั้งสอง ให้เร่งจัดกองทัพขึ้นไปปราบปรามอองไชยะมังลองเสีย อย่าให้ตั้งตัวในค่ายมุกโขโบได้

๏ พระยาทะละสมิงตะละปั้นแจ้งข้อรับสั่งแล้วจึงเกณฑ์คนสองหมื่นสมิงตะละปั้นเปน แม่ทัพ ตระเตรียมไว้คอยดูท่วงทีก่อน ครั้งนั้นพวกพม่าแต่บรรดาอยู่ในเขตรแดนเมืองอังวะทั้งสิ้น ต้องนำเอาเครื่องบรรณา การต่าง ๆ เข้ามาคำนับพระยาทะละสมิงตะละปั้นผู้รักษาเมืองอังวะ แต่ อองไชยะมังลองผู้เปนนายบ้านมุกโชโบมีคนอยู่ห้าพันเศษมิได้นำเครื่องบรรณาการ เข้ามาคำนับแก่พระยาทะละสมิงตะละปั้นๆ จึงให้ขุนนางคนหนึ่ง กับไพร่ห้าสิบคน ให้ไปหาตัวอองไชยะมังลองผู้เปนนายบ้านมุกโชโบ ๆ อ้อนวอนกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะขอผัดแต่พอได้จัดเครื่องบรรณาการสักสิบวันก่อน เมื่อจัดเครื่องบรรณาการเสร็จแล้ว จะได้ไปคำนับแก่พระยาทะละสมิงตะละปั้น ขุนนางกับไพร่ห้าสิบนั้นก็กลับไปแจ้งความแก่พระยาทะละสมิงตะละปั้น ครั้นถึงกำหนดสิบวันไม่เห็นอองไชยะมังลองเอาเครื่องบรรณาการมาส่ง แต่ผัดอยู่ดังนี้ถึงสองครั้ง ครั้นภายหลังพระยาทะละสมิงตะละปั้น ใช้ขุนนางคนหนึ่งกับทหารห้าร้อยไปหาตัวอองไชยะมังลอง ๆ ก็ว่าข้าพเจ้าจะไป แล้วจึงเชิญขุนนางกับทหารห้าร้อยเข้าไปในบ้าน เลี้ยงดูให้กินสุราแลอาหาร อองไชยะมังลองจึงให้สัญญาไว้แก่ชาวบ้านว่า เมื่อขุนนางแลพวกทหารห้าร้อยนั้นเมาสุราสิ้นสติประมาทลงแล้ว จึงช่วยกันฆ่าฟันเสียอย่าให้เหลือแต่สักคนหนึ่ง ครั้นขุนนางแลทหารห้าร้อยเมาสุราเหลือกำลังตั้งสติไว้มิได้ อองไชยะมังลองก็ให้ฆ่าฟันขุนนางแลทหารตายสองร้อยหนีกลับไปเมืองอังวะได้นั้น สามร้อยคน พระยาทะละกับสมิงตะละปั้นรู้ว่าอองไชยะมังลองคิดขบถเปนเที่ยงแท้แล้วพระยาทะ ละกับสมิงตะละปั้นจึงใช้ให้นายกองคุมไพร่ร้อยห้าสิบคนไปสืบข่าวทัพ พบคนอองไชยะมังลองนั่งทางอยู่ที่บ้านบวกสอก ไกลกันกับบ้านมุกโชโบทาง ๘๐๐ เส้นได้รบกันเปนสามารถ พากันแตกกลับไปเมืองอังวะ พระยาทะละอยู่รักษาเมืองอังวะเกณฑ์ให้สมิงตะละปั้นเปนแม่ทัพ กับกะตุกวุ่นด่อถ่อกะละโปเปนแม่ทัพหน้า ประมาณคนรามัญ ๕๐๐๐ คน พม่า ๑๕๐๐๐ เปน ๒๐๐๐๐ ยกทัพขึ้นไปล้อมค่ายมุกโชโบไว้สิบห้าวัน ได้รบพุ่งกันตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่ายเปนอันมาก แต่กองทัพรามัญนั้นขาดเสบียงลง ฆ่าโคกระบือกินอดอยากเปนอันมาก อองไชยะมังลองจึงยกกองทัพออกตีกองทัพรามัญ สมิงตะละปั้นก็แตกหนีถอยลงไปเมืองอังวะ อองไชยะมังลองจึงเกณฑ์กองทัพให้ติดตามไปแต่เช้าจนเที่ยง ได้เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก ครั้นสมิงตะละปั้นแตกถอยลงมาถึงเมืองอังวะแล้ว จึงเข้าไปแจ้งความแก่พระยาทะละทุกประการ พระยาทะละได้ฟังข่าวฝีมือแลสติปัญญาทำสงครามแห่งอองไชยะมังลองดังนั้นก็ ครั่นคร้ามใจวิตกไปว่าครอบครัวพม่า แลขุนนางทั้งปวงยังตกอยู่ในเมืองอังวะนี้มากนัก ถ้าหากว่าอองไชยะมังลองยกทัพมาติดเมืองอังวะเข้า พม่าในเมืองก็จะพร้อมใจกันกำเริบขึ้นทำร้ายพวกรามัญทั้งปวง เราจำจะคิดอ่านผ่อนครัวพม่า แลเก็บเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อยขุนนางผ่อนลงไปเมืองหงษาวดีเสียอิก จึงจะทำสงครามกับอองไชยะมังลองได้ถนัด จะได้ไม่ต้องระวังข้างในเมือง พระยาทะละคิดการดังนี้แล้วจึงปฤกษากันกับตะละปั้นตามซึ่งได้คิดไว้นั้น สมิงตะละปั้นก็เห็นด้วยพระยาทะละจึงเกณฑ์ไพร่หมื่นหนึ่ง มอบให้สมิงตะละปั้นอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วสั่งว่าท่านจงอยู่รักษาเมืองไว้ให้จงดี เราจะรีบคุมครอบครัวลงไปถึงเมืองหงษาวดี แล้วจะรีบกลับขึ้นมาช่วยรักษาเมืองอังวะ แล้วพระยาทะละก็ต้อนครัวรามัญทั้งปวงลงบรรทุกเรือ เกณฑ์กองทัพรามัญป้องกันมาทางบกทั้งสองฟากน้ำนั้นเปนอันมาก แล้วพระ ยาทะละก็เกณฑ์กองทัพเรือรามัญป้องกันพวกครัวรามัญ ล่องลงมาเมืองหงษาวดี

๏ ฝ่ายอองไชยะมังลอง เมื่อกองทัพรามัญแตกถอยไปแล้ว ก็เร่งเกณฑ์กองทัพให้มองระผู้บุตรเปนทัพน่า อองไชยะมังลองผู้บิดาเปนทัพหลวง กองทัพพม่าทั้งทัพน่าทัพหลวงรวมด้วยกันเปนคน ๓๐๐๐๐ ยกลงมาล้อมเมืองอังวะ สมิงตะละปั้นก็เกณฑ์กองทัพรามัญต่อสู้อยู่กับอองไชยะมังลองได้ห้าวัน สมิงตะละปั้นแตกหนีออกจากเมืองอังวะถอยลงไปตั้งมั่นอยู่ณเมืองปรอนใต้เมือง อังวะลงมาทางเจ็ดคืน อองไชยะมังลองจึงให้มองระผู้บุตรอยู่รักษาเมืองอังวะ แล้วอองไชยะมังลองก็ยกกลับขึ้นไปณค่ายมุกโชโบ ส่วนสมิงตะละปั้นครั้นลงมาตั้งอยู่เมืองปรอน จึงมีหนังสือบอกลงมาให้กราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ได้ทรงทราบรับสั่งให้พระมหาอุปราชาเปนแม่ทัพบก สมิงตะละปั้นเปนทัพเรือ ให้รีบยกกลับขึ้นไปล้อมเมืองอังวะ

๏ เมื่อศักราช ๑๑๑๕ ปี เดือนห้านั้น กองทัพรามัญทั้งปวงยกขึ้นมาติดเมืองอังวะอยู่ มองระจึงให้หนังสือไปถึงบิดา อองไชยะมังลองจึงยกลงมาทั้งทัพบกทัพเรือ ได้รบกันกับพวกรามัญเปนสามารถ ลุศักราช ๑๑๑๖ ปี ณวันเดือนหกขึ้นห้าค่ำ กองทัพรามัญซึ่งล้อมเมืองอังวะอยู่นั้นแตกถอยลงไปตั้งอยู่เมืองปรอน ครั้นถึง ณวันเดือนเจ็ดขึ้นสามค่ำ อองไชยะมังลองจึงให้มองระ เปนทัพน่า ตัวอองไชยะมังลองเปนทัพหลวง ยกลงมาทั้งทัพบกทัพเรือ ได้รบกับพวกรามัญที่เมืองปรอน ครั้นถึงณวันเดือนเจ็ดแรมสิบสองค่ำกองทัพรามัญแตกถอยลงไปตั้งอยู่ณเมืองร่าง กุ้ง อองไชยะมังลองจึงให้มองระเปนทัพน่ายกลงมาตีเมืองร่างกุ้ง แต่ตัวอองไชยะมังลองนั้นตั้งมั่นอยู่เมืองปรอน

๏ ขณะนั้นสมิงธอกวยซึ่งอาไศรยอยู่ณเมืองเชียงใหม่ ครั้นรู้ว่า อองไชยะมังลอง ยกกองทัพลงมาตีเมืองหงษาวดี บัดนี้อยู่เมือง ปรอน สมิงธอกวยจึงปฤกษากันกับพระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเปนภรรยานั้นว่า เราบัดนี้เหมือนคนยากจนทนทุกข์อยู่ในเมืองเชียงใหม่หลายปีแล้ว จำจะคิดออกตั้งตัวเปนใหญ่เสียบ้าง เราทั้งสองจะชักชวนพวกพ้องของเรา หนีพระเจ้าเชียงใหม่ไป จะเข้าหาอองไชยะมังลองณเมืองปรอน ขออาสาเปนทัพน่ายกลงไปตีเมืองหงษาวดี ครั้นได้แล้วจะขอแต่เปลือกเมืองอยู่ ตั้งตัวเปนใหญ่ในรามัญประเทศสืบไปอิก ส่วนภรรยาได้ฟังก็เห็นชอบด้วยสามีแล้วสมิงธอกวยจึงเข้าไปทูลพระเจ้า เชียงใหม่ว่า ข้าพเจ้าเคยชำนาญในวิชาคล้องช้างมาแต่ก่อน ครั้นตกมาอยู่เมืองนี้ช้านานแล้ว ไม่ได้เที่ยวไปโพนช้างเลย วิชานั้นจะเสื่อมถอยไป ข้าพเจ้าจะบังคมลาพาภรรยาเที่ยวโพนช้าง จะเลือกช้างดี ๆ มาถวายพระองค์บ้าง พระเจ้าเชียงใหม่ไม่รู้เท่ากลสมิงธอกวย จึงยอมให้พาธิดาไปเที่ยวโพนช้าง สมิงธอกวยจึงพาภรรยากับพวกพ้องรามัญพวกพ้องลาวประมาณร้อยเศษ พร้อมด้วยสาตราวุธเสบียงอาหารเสร็จ จึงพาภรรยาขึ้นช้างคนละช้าง ยกออกจากเมืองเชียงใหม่ในศักราช ๑๑๑๖ ปีเดือนสี่นั้น ตัดทางไปข้างด้านตวันตก ยกข้ามแม่น้ำกั้นแดนเมืองเชียงใหม่ ข้างพม่าเรียกว่าแม่น้ำสลอน ข้างลาวเรียกว่าแม่น้ำค่ง จึงเข้าไปในแดนเมืองตองอู

๏ ขณะนั้นพม่าพวกกองทัพอองไชยะมังลอง มาเที่ยวตระเวนตรวจด่าน จึงพบสมิงธอกวยกับภรรยา จึงชวนกันเข้าล้อมจับสมิงธอกวยแลพวกพ้องทั้งปวงไม่ต่อสู้ กองทัพพม่าจึงจับได้ทั้งสิ้น แล้วส่งมาณเมืองปรอน ขุนนางพม่าจึงให้คุมตัวสมิงธอกวยกับพวกพ้องไปไว้แล้ว เข้าไปแจ้งความแก่อองไชยะมังลอง ๆ จึงว่าสมิงธอกวยคนนี้เปนคนดีมีชื่อเสียงปรากฎมานานแล้ว ให้เอาตัวเข้ามา เราจะขอดูสักหน่อย ขุนนางพม่าจึงนำตัวสมิงธอกวยกับภรรยาเข้าไปคำนับอองไชยะมังลอง แล้วหมอบก้มหน้าอยู่ อองไชยะมังลองจึงตรัสว่าสมิงธอกวยนี้รูปร่างลักษณคมสันงดงามนัก สมควรจะเปนนายทหารได้ แล้วจึงให้ขุนนางพม่า ขุนนางรามัญกำกับกันซักถามสมิงธอกวยดู สมิงธอกวยก็ให้การตั้งแต่ต้น คิดอ่านตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดินในเมืองหงษาวดีแล้วพลัดออกไปถึงกรุงศรีอยุทธยา ต้องเนรเทศลงสำเภาจีน แล้วคิดอุบายกลับขึ้นมาณเมืองเชียงใหม่ได้ จนคิดอ่านพาธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่หนีมา ให้แจ้งแก่ขุนนางพม่าทุกประการ ขุนนางพม่าจึงเอาคำให้การนั้นอ่านถวายอองไชยะมังลองจนจบ อองไชยะมังลองได้ฟังแล้วจึงตรัสว่า สมิงธอกวยคนนี้เปนคนมีสติปัญญาวิชาดี ถึงที่ตายหลายหนแล้วก็ยังไม่ตาย เราจะเลี้ยงไว้ให้เปนทหาร สมิงธอกวยจึงกราบทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอ อาสาเปนทัพน่า ลงไปตีเมืองหงษาวดีถวาย ด้วยรามัญในเมืองหงษาวดีนั้นเปนที่พวกพ้องรักใคร่กันกับข้าพเจ้ายังมีอยู่ มาก เห็นจะได้เมืองหงษาวดีโดยง่าย อองไชยะมังลองได้ฟังดังนั้นยังไม่ไว้ใจสมิง ธอกวย ด้วยเห็นว่าสมิงธอกวยเปนคนดีมีอุบายมาก จึงแกล้งสั่งว่าท่านพึ่งจะมาถึงยังเหน็ดเหนื่อยอยู่ จงหยุดยั้งเสียก่อนเถิด ถ้าสงครามรามัญยังติดพันกันนานไป ภายหลังจึงจะให้ท่านออกอาสาแล้วจึงสั่งขุนนางพม่า ให้พาสมิงธอกวยกับภรรยาแลพวกพ้องทั้งสองลงเรือแล้ว ให้คุมขึ้นไปส่งณค่ายมุกโชโบ มอบไว้แก่มังลอกบุตรใหญ่ของเราให้เลี้ยงสมิงธอกวยกับพวกพ้องไว้จงดี ขุนนางพม่า ก็พาสมิงธอกวยกับพวกพ้องลงเรือคุมขึ้นไปส่งถึงค่ายมุกโชโบ แล้วมอบให้แก่มังลอก แจ้งความตามอองไชยะมังลองสั่งมาทุกประการ มังลอกก็รับเลี้ยงดูทำนุบำรุงสมิงธอกวยกับพวกพ้องไว้ให้เปนศุข สมิง ธอกวยก็ได้อยู่ในเมืองมุกโชโบนั้นจนถึงกำหนดสิ้นชีวิตร

๏ ฝ่ายมองระบุตรอองไชยะมังลองเปนกองทัพน่านั้น ลงมารบกับรามัญอยู่เมืองร่างกุ้ง แต่เดือนสิบเอ็ดข้างแรมในปีนั้น ลุศักราช ๑๑๑๗ ปี เดือนหกแรมห้าค่ำก็ได้เมืองร่างกุ้ง พวกรามัญถอยลงไปอยู่เมืองเสรี่ยง มองระจึงยกลงไปติดเมืองเสรี่ยงไว้แต่เดือนเจ็ดข้างแรม ตั้งรบกันอยู่ถึงสิบเอ็ดเดือนก็ได้เมืองเสรี่ยง มังลองก็ยกกองทัพติดพันลงมาจนถึงชานเมืองหงษาวดี ให้ตั้งค่ายประชิดรบพุ่งหักเอาเมืองหงษาวดีให้จงได้ พระเจ้าหงษาวดีเห็นเหลือกำลัง จึงให้ขุนนางรามัญออกมาเจรจาความเมืองกับมังลองว่า จะขอเปนไมตรีกัน จะถวายธิดาแล้วยอมเปนเมืองขึ้นแก่มังลอง ๆ จึงให้งดการสงครามไว้ ในศักราช ๑๑๑๗ ปี เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำ พระเจ้า หงษาวดีจึงให้ขุนนางรามัญนำพระบุตรี แลเครื่องบรรณาการออกมาถวายมังลอง ส่วนพระมหาอุปราชา พระยาทะละ สมิงตะละปั้นสามคนนี้ไม่เต็มใจขึ้นแก่อองไชยะมังลอง ครั้นเวลากลางคืนก็ลอบยกออกมาตีค่ายมังลองแตกประมาณสามส่วนสี่ส่วน มังลองโกรธนักว่าเจ้าเมืองหงษาวดีเสียสัตย์แล้ว ให้เร่งยกเข้าหักเอาเมืองให้จงได้ กองทัพพม่าก็เร่งประชิดติดพันเมืองหงษาวดีกวดขันยิ่งกว่าเก่า

  • ในขณะนั้นพระเจ้าอังวะซึ่งตกมาอยู่ในเมืองหงษาวดีนั้น ครั้นเห็นศึกมังลองมาติดพันรบกันกับพวกเมืองหงษาวดีครั้งนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระปัญญาว่ารามัญจะสู้พม่ามังลองไม่ได้แล้ว ทรงดำริห์ว่าเราเกิด มาครั้งนี้เปนกระษัตริย์วาศนาน้อยอาภัพนักตกมาเปนเชลยรามัญอันเปนบ่าวของตัว ครั้งหนึ่งแล้ว ยังจะกลับไปเปนเชลยมังลองพม่าข้าแผ่นดินของตัวอิกเปนคำรบสองเล่า เขาได้ไปจะเลี้ยงไว้ฤๅจะไม่เลี้ยงก็ยังไม่รู้ จะดูหน้าคนไปกะไรได้ พระเจ้าอังวะทุกข์ตรอมไปก็ประชวรลงพระเจ้าหงษาวดีจึงให้แพทย์พม่าแพทย์รามัญ มาพยาบาล พระโรคนั้นก็ไม่คลาย อยู่ได้สิบวันพระเจ้าอังวะนั้นก็สิ้นพระชนม์ในวันพุฒเดือนหกขึ้นแปดค่ำเพลา สองยาม ศักราช ๑๑๑๘ ปี แลพระเจ้ามังลาวะมินเจ้าอังวะนี้ เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นศักราช ๑๐๙๕ ปี ครองราชสมบัติได้สิบเก้าปี ครั้นถึงศักราช ๑๑๑๔ ปีจึงเสียเมืองอังวะแก่พวกรามัญ แล้วเสด็จมาอยู่ณเมืองหงษาวดีได้สามปีเศษก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงษาวดีแลพระมหาอุปราชาก็รีบจัดแจงพระเมรุทำเปนแต่สังเขป พร้อมด้วยเครื่องสการศพพอสมควรแล้วก็เร่งถวายพระเพลิงเสีย ด้วยข้าศึกยังประชิดติดพันรบกันอยู่วุ่นวายนัก แต่พม่าล้อมเมืองหงษาวดีประมาณได้ปีกึ่ง ไพร่พลเมืองได้ความอดอยากลำบากนัก จึงนัดหมายเปนใจด้วยพม่า บ้างก็ลอบจุดไฟขึ้นในเมือง บ้างก็หย่อนเชือกใหญ่ลงมารับกองทัพพม่าเข้าไปในเมือง

๏ ลุศักราช ๑๑๑๙ ปี ณวันศุกรเดือนหกแรมห้าค่ำเพลาสองยามเศษ เมืองหงษาวดีแตกแก่อองไชยะมังลอง ครั้นพวกกองทัพ อองไชยะมังลองเข้าเมืองได้แล้ว ก็เที่ยวริบราชบาทว์ชาวบ้านชาวเมือง ฆ่าฟันเก็บเอาพัศดุเงินทองสิ่งของต่าง ๆ มารวบรวมไว้เปนอันมาก ขณะนั้นทหารอองไชยะมังลอง จึงจับพระยาหงษาวดีพระยาอุปราชา พระยาทะละทั้งสามคนนี้ เข้าไปถวายแก่อองไชยะมังลอง แต่ตะละปั้นหนีไปได้ อองไชยะมังลองจึงไต่ถามถึงพระเจ้าอังวะ ก็ได้ความว่าสิ้นพระชนม์เสียแล้ว อองไชยะมังลอง จึงแกล้วตรัสว่า เราอุส่าห์ลงมาทำการสงครามครั้งนี้ ก็เพื่อจะเอาสมบัติคืนถวายพระเจ้าอังวะ แลบัดนี้ก็ไม่สมความปราถนา พระเจ้าหงษาวดีจับเอาพระเจ้าอังวะลงมาไว้ ทำประการใดพระองค์จึงดับสูญเสียดังนี้ แล้วอองไชยะมังลองจึงให้หาแต่บรรดาขุนนางพม่าซึ่งลงมากับพระเจ้าอังวะเมื่อ ครั้งก่อนนั้นลงมาไต่ถาม ขุนนางพม่าทั้งปวงก็เบิกความตามสัตย์ว่า พระเจ้าอังวะประชวรลง พระเจ้าหงษาวดีก็ได้จัดให้แพทย์มารักษาพยาบาลโดยสุจริต แต่ว่าถึงกำหนดบุญพระเจ้าอังวะสิ้นเท่านั้น พอครบสิบวันก็สิ้นพระชนม์ เจ้าพนักงานเอาคำพยานขึ้นกราบทูล อองไชยะมังลองก็มิได้ว่าประการใดแล้วตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้ง ปวงประชุมกัน ให้ปฤกษาโทษพระเจ้าหงษาวดี พระยาอุปราชา พระยาทะละ ว่าคนทั้งสามนี้เปนขบถประทุษฐร้ายต่อพระเจ้าอังวะผู้มีพระคุณ ชวนกันไปชิงราชสมบัติของพระองค์ จนกรุงรัตนอังวะเปนราชธานีใหญ่พินาศฉิบหายเสียฉนี้ โทษคนทั้งสามจะเปนประการใด ขุนนางทั้งปวงปฤกษากันพร้อมแล้วกราบทูลว่า โทษคนทั้งสามนี้เปนมหันตโทษใหญ่หลวงนัก ควรจะตัดศีศะเสียบประจานไว้ณประตูเมืองหงษาวดี อย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยง อย่างได้ อองไชยะมังลองจึงตรัสว่า โทษคนทั้งสามนี้ก็ถึงที่ตายอยู่แล้ว ก็แต่ว่าคนทั้งสามนี้เปนแต่ปลายเหตุ เดิมนั้นมะยุวุ่นมังสาอ่องเปนขบถ แซงมูคือเจ้าเมืองหงษาวดีคนนี้ ได้ให้หนังสือลับขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ จึงแต่งแม่ทัพลงมาจับมังสาอ่องฆ่าเสีย แล้วจึงตั้งมังรายองเนินขึ้นครองราชสมบัติ มังรายองเนินก็หยาบช้าเบียดเบียนราษฎรแล้วเปนขบถขึ้นอิก แซงมูจึงกลับฆ่ามังรายองเนินเสีย ยกสมบัติให้สมิงธอกวย ๆ ตั้งตัวเปนพระเจ้าแผ่นดิน แล้วตั้งให้สัสดีแซงมูเปนตะละมหาเสนาบดี ๆ ก็กำจัดสมิงธอกวยเสีย จึงตั้งตัวเปนพระเจ้าแผ่นดินในภายหลัง จึงได้ขึ้นไปตีเมืองอังวะรับพระเจ้าอังวะลงมาเลี้ยงไว้โดยดี ไม่ทำอันตรายแก่พระองค์ เราพิเคราะห์เห็นว่าพระยาสามคนพี่น้องนี้ เปนแต่ชิงราชสมบัติของผู้กระบถต่อ ๆ กันมาแต่ว่ามีความผิดที่ไม่ถวายรามัญประเทศแก่พระเจ้าอังวะ แล้วกลับขึ้นไปตีเมืองอังวะอิกเล่า ก็แต่ว่ายังมีอัชฌาไศรยไว้ตนเปนคนมีกระตัญญูบ้าง ไม่ทำอันตรายชีวิตรพระเจ้าอังวะ ทำนุบำรุงเลี้ยงพระเจ้าอังวะไว้โดยสุจริต ซึ่งข้อผิดนั้นเราจะขอไว้ก่อน แลคนทั้งสามนี้ทำแก่พระเจ้าอังวะฉันใด เราก็จะทำให้เหมือนฉนั้นบ้าง จะส่งตัวคนทั้งสามนี้ขึ้นไปไว้ณเมืองมุกโชโบ จึงจะควรแก่โทษ แล้วอองไชยะมังลองจึงสั่งให้มองระผู้บุตรนำเอาคนทั้งสามนั้นไปคุมไว้ให้จงดี

๏ ขณะนั้นอองไชยะมังลอง โกรธพระสงฆ์รามัญนัก ว่าพระสงฆ์รามัญทั้งปวง ทำมงคลทำประเจียดทำตะกรุดลงเลขยันต์กันอาวุธให้แก่รามัญทั้งปวง จึงต่อสู้กล้าหาญในการสงคราม ฆ่าฟันกันตายเสียเปนอันมาก เพราะพระสงฆ์ทำเครื่องให้จึงเต็มใจทำศึกมาช้านานถึงเพียงนี้ พระสงฆ์เหล่านี้ไม่เปนสมณะ ขาดจากศีลขันธ์แล้วโดยแท้ อองไชยะมังลองจึงให้ทหารพม่าเที่ยวฆ่าพระสงฆ์เสียประมาณพันเศษครั้งนั้นพระ สงฆ์รามัญทั้งปวงแตกตื่นหนีไปในทิศต่าง ๆ บางพวกข้ามไปซ่อนตัวอยู่ในป่าแขวงเมืองกะเทิงบ้าง บางพวกก็หนีไปเมืองไทย เมืองเชียงใหม่ เมืองทวาย จึงได้รอดชีวิตร

๏ ในศักราช ๑๑๑๙ ปีเดือนแปดอองไชยะมังลองจึงให้คุมพระเจ้าหงษาวดี อุปราชา พระยาทะละ แลญาติวงษ์ทั้งปวง กับพระราชวงษ์ของพระเจ้าอังวะแลขุนนางพม่าขุนนางรามัญทั้งปวง พาครอบ ครัวชาวเมืองทั้งปวงลงเรือนำขึ้นไปไว้ณเมืองมุกโชโบ ครั้นถึงณวัน ศุกรเดือนเก้าแรมห้าค่ำเกิดแผ่นดินไหว ฉัตรยอดพระเจดีย์มุตาวในเมืองหงษาวดีหักลงมา องค์พระเจดีย์นั้นทลายลงมาเพียงฅอระฆัง ครั้นภายหลังพระเจ้าอองไชยะมังลอง จึงจัดให้ขุนนางพม่ากับไพร่พม่าพอสมควรอยู่รักษาเมืองหงษาวดี แล้วพระเจ้าอองไชยะมังลองจึงยกกลับขึ้นมาเสวยราชสมบัติณเมืองมุกโชโบ ได้พระนามว่าอลองพะราญี แปลว่าพระเจ้าหน่อพุทธางกูรใหญ่ จึงเลี้ยงพระเจ้าหงษาวดีพระยาอุปราชา พระยาทะละ แลพระราชวงษ์ของพระเจ้ามังลาวะมินทั้งปวงนั้นไว้ในเมืองมุกโชโบ

๏ ลุศักราช ๑๑๒๑ ปีณวันเดือนสามแรมสิบค่ำ พระเจ้ามังลองจึงให้มองระบุตรผู้น้อยเปนทัพน่า พระเจ้ามังลองเปนทัพหลวง ให้มังลอกบุตรใหญ่อยู่รักษาเมืองมุกโชโบ แล้วยกทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยาตีเข้าไปทางเมืองทวาย เมืองตะนาว เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี จนถึงกรุงศรีอยุทธยา แล้วตั้งอยู่ฝั่งฟากตวันตกแห่งพระนคร ตั้งอยู่หกวัน ไม่ได้กรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ามังลองเกิดวรรณโรคสำหรับบุรุษจึงให้ล่าทัพกลับไป แลขณะเมื่อพระเจ้ามังลองมาตีกรุงศรีอยุทธยาอยู่นั้นให้เที่ยวเก็บริบจีวรแพร ริบบาตรเหล็ก ในพระอารามทั้งปวงไปมากนักจีวรผ้านั้นเก็บเอาไปทำฟูกทำหมอน ทำถุงใส่เงิน ทำไถ้ใส่เสบียง แลทิ้งเรี่ยรายไว้ตามทางก็มาก แลเก็บริบเอาสิ่งของเงินทองของราษฎรไปก็มาก ครั้นขึ้นไปถึงบ้านระแหงแล้วออกทางด่านนั้น ครั้นถึงตำบลแม่ประ ลุศักราช ๑๑๒๒ ปี ณวันศุกรเดือนเจ็ดขึ้นสิบสามค่ำพระเจ้าอองไชยะมังลองสิ้นพระชนม์ แลพระเจ้าอองไชยะมังลองได้เปนพระเจ้าแผ่นดินอยู่เจ็ดปีภายหลังพระราชบุตร ชื่ออินแซะตะแคงลอกคือมังลอก แต่รามัญเรียกว่ามังตุกกี ได้เปนเจ้าแผ่นดินในเมืองมุกโชโบต่อมา ใจความว่ามังลอกนั้นเกิดเมื่อศักราช ๑๐๗๘ ปีวอกอัฐศกวันศุกร ได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่เจ็ดปี เมื่สิ้นพระชนม์อายุได้ ๔๔ ปี ภายหลังมังลอกราชบุตรใหญ่ได้ครองราชสมบัติต่อมา แลมังลอกนั้นเกิดเมื่อศักราช ๑๐๙๕ ปีฉลูเบญจศกวันอังคาร ได้ราชสมบัติในศักราช ๑๑๒๒ ปีเดือนสี่ปีมโรงโทศก เมื่อได้ราชสมบัตินั้นอายุได้ ๒๗ ปี ลุศัก ราช ๑๑๒๕ ปี เดือนสิบสองขึ้นแปดค่ำ มังลอกเกณฑ์ให้ติงจาแมง ฆองคุมคน ๓๐๐๐ เปนกองน่า ให้อาปะระกามะนีคุมคน ๗๐๐๐ เปนกองหนุน ยกไปตีเมืองเชียงใหม่สี่เดือนจึงได้ จับเจ้าจันท์ผู้เปนเจ้าเมืองได้ทั้งบุตรภรรยา กองทัพยังไม่กลับคืนไป มังลอกถึงแก่กรรมในเดือนสี่ ก็ปลงศพตามอย่างธรรมเนียม แลมังลอกนั้นได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่ในเมืองมุกโชโบได้สามปี เมื่อตายนั้นอายุได้ ๓๐ ปี จึงมองระผู้เปนพระอนุชาได้ราชสมบัติต่อมา แลมองระผู้นี้ บางทีพม่าเรียกว่ามองจะวาบ้าง บางทีเรียกว่าสแคงมะเรตุบ้าง แต่รามัญเรียกว่ามังช้างฉอยเยี่ยง มองระนั้นเกิดเมื่อศักราช ๑๐๙๖ ปีขาลฉศกวันอาทิตย์ เมื่อได้ราชสมบัตินั้นอายุยี่สิบเก้าปี แลอาปะระกามนีเปนนายทัพมาตีเมืองเชียงใหม่นั้น จึงเกณฑ์ให้มังมหานอระทากับคน ๗๐๐๐ คุมเอาเจ้าจันท์กับทั้งบุตรภรรยาไปถวายมองระ แต่อาปะระกามนีกับคน ๓๐๐๐ อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ มองระจึงมีนามปรากฎว่า พระ เจ้าช้างเผือก เลี้ยงเจ้าจันท์ไว้ ณวันเดือนสิบเอ็ดในปีนั้น มองระให้โยลัดวุ่นลงมาทำเมืองสร้างปราสาทในเมืองอังวะ

๏ ฝ่ายสมิงตะละปั้นทหารพระเจ้าหงษาวดี ขณะเมื่อมังลองได้เมืองหงษาวดีนั้น พาบุตรภรรยาอพยพหนีไปอาไศรยอยู่ณเกาะปิ่นแขวงเมืองเมาะตมะ ครั้งเมื่อมังลอกยังมีชีวิตรอยู่นั้น ได้ให้คนมาเกลี้ยกล่อมสมิงตะละปั้น ๆ จึงขึ้นไปอยู่ในเมืองมุกโชโบ ครั้นสมิงตะละปั้นคิดประทุษฐร้าย ให้นายทุยทาษจุดไฟขึ้นในเมืองมุกโชโบ มองระจึงให้ประหารชีวิตรสมิงตะละปั้นเสีย

๏ ลุศักราช ๑๑๒๖ ปีเดือนสิบสอง ให้อแซวุ่นกี้คิงจาโบคุมไพร่หมื่นหนึ่งเปนกองน่า มองระคุมไพร่สองหมื่นเปนทัพหลวง ไปตีเมืองกะแซในปีนั้น เดือนยี่ข้างขึ้นได้เมือง กวาดเอาเชื้อวงษ์แลเจ้ากะแซมาถึงเมืองมุกโชโบแต่เดือนสาม

๏ ลุศักราช ๑๑๒๗ ปีเดือนหก มองระลงมาจากเมืองมุกโชโบเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองอังวะ จึงเลี้ยงเจ้ากะแซแลบุตรภรรยาไว้เดือนเจ็ดแรมห้าค่ำในวันเดียวนั้น บังเกิดพยุใหญ่ฝนตกฟ้าผ่าลงหอกลองทีหนึ่ง ลงยอดปราสาทเปนเพลิงติดขึ้นเท่าวงกระด้ง ยอดปราสาทหักสบั้นลงมา ดับเพลิงได้ พยุแลฝนบันดาลหาย มองระจึงถามโหราพฤฒาจารย์พราหมณ์ปโรหิต ๆ จึงทำนายว่า พระราชวงษ์แลอาณาประชาราษฎรในขอบขัณฑเสมาจะอยู่เย็นเปนศุข ให้ชำระสระเกษปล่อยคนโทษแลสรรพสัตวทั้งปวง ซึ่งต้องขังทนเวทนาอยู่นั้น

๏ ในศักราช ๑๑๒๗ ปีเดือนสิบสองนั้น ให้ขับพกุงโบ ยาน กวนจอโบ คุมไพร่ ๕๐๐๐ ยกเปนทัพน่า ทัพหนุนนั้นให้เมียนวุ่นเนเมียวมหาเสนาบดีคุมไพร่ ๕๐๐๐ ยกมาทางเหนือ ค้างเทศกาลฝนอยู่ ณเมืองเชียงใหม่ ทางเมืองทวายนั้นให้เมคะราโปคุมไพร่ ๕๐๐๐ เปนกองน่า ทัพหนุนนั้นให้มหานอระทาคุมไพร่ ๑๐๐๐ หนึ่งยกมายั้งทัพอยู่ณเมืองทวาย ออกพรรษาแล้ว จึงยกเข้าไปตีได้กรุงศรีอยุทธยาแล้ว จึงยกพวกพลกลับทัพไปเมืองรัตนบุระอังวะ ในศักราช ๑๑๒๙ปีนั้น อนึ่งในศักราช ๑๑๒๘ ปีนั้นพวกฮ่อยกกองทัพเข้ามาถึงเมืองแสนหวี ไกลกับเมืองอังวะทางห้าสิบวัน มองระให้ติงจาโบคุมไพร่ ๕๐๐๐ เปนกองน่า อะแซวุ่นกี้คุมไพร่ ๑๐๐๐ หนึ่งไปตี ครั้นศักราช ๑๑๒๙ ปี พวกฮ่อยกทัพเข้ามาอิก ถึงตำบลบ้านยองใกล้เมืองอังวะทางคืนหนึ่ง จึงสั่งให้อะแซวุ่นกี้ โยลัดวุ่น เมียน หวุ่น สามนายเปนแม่ทัพ ถือพลทหารเปนอันมากยกไป ได้รบกับพวกฮ่อสามวัน กองทัพฮ่อแตก จับได้นายทัพฮ่อสี่นาย กับทหารนายแลไพร่เปนคนหกพัน มองระให้เลี้ยงไว้

๏ ลุศักราช ๑๑๓๑ ปี พวกฮ่อยกทัพมาอิก กวยชวยโบเปนแม่ทัพคุมไพร่พลเปนอันมาก ยกมาถึงเมืองกองดุงปะมอ ไกลเมืองอังวะทางสิบห้าวัน มองระให้อะแซวุ่นกี้เปนแม่ทัพยกไป อะแซวุ่นกี้ให้ปลูกโรงลงในท่ามกลางแล้ว แม่ทัพทั้งสองฝ่ายไปเจรจากันว่าแต่วันนี้ไปขอให้ขาดสงครามเปนมิตรสันถวะ อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองจะได้ไปมาซื้อขายถึงกัน อะแซวุ่นกี้ก็ยอมพร้อมด้วนายทัพนายกองก็เลิกทัพกลับมาเมืองอังวะ

๏ อนึ่งเมื่อขณะกรุงศรีอยุทธยาจวนจะเสียนั้น พระยาตากคุมพวกพลประมาณพันเศษ ตีฝ่ากองทัพพม่าออกไปได้ อาไศรยอยู่ณเมืองจันทบุรี ครั้นพม่าตีได้กรุงแลกวาดครอบครัวไทยอพยพไปแล้ว ครั้นถึงเดือนสิบสองในศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศกนั้น พระยาตากจึงยกกองทัพเรือพร้อมด้วยเสบียงอาหารเข้ามาณกรุง ยกไปเที่ยวปราบปรามคนทั้งหลาย ที่ตั้งตัวเปนเจ้าเปนนายซ่องอยู่หลายตำบลให้อยู่ในอำนาจแล้ว ขุนนางแลชาวเมืองทั้งปวงจึงยกพระยาตากนั้นขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดินครอบ ครองกรุงศรีอยุทธยาสืบไป แลพระเจ้าตากนั้นไม่ขึ้นไปอยู่ที่กรุงเก่า ตั้งเมืองธนณตำบลบางกอกเปนเมืองหลวงจึงเที่ยวปราบปรามเมืองนครราชสิมา เมืองพิศณุโลก เมืองสวางคบุรี เมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองทั้งสี่นี้แต่ล้วนตั้งตัวเปนเจ้าสิ้น พระเจ้าแผ่นดินก็ปราบให้อยู่ในอำนาจทั้งสี่เมือง แต่เที่ยวปราบไปสามปีจึงสำเร็จ ส่วนมองระเจ้าอังวะครั้งนั้นไม่เอาพระไทยใส่ในเมืองไทย ด้วยสำคัญว่าเมืองไทยแตกยับเยินไปแล้ว ที่ไหนจะตั้งขึ้นได้ จึงไม่ระวังสอดแนมดู กองทัพฮ่อก็มาติดเมืองอังวะถึงสามครั้ง พระเจ้าตากจึงได้โอกาศเที่ยวปราบปรามหัวเมืองทั้งปวงถึงสามปีก็สำเร็จตั้ง ตัวได้

๏ ครั้นศักราช ๑๑๓๓ ปี เจ้าวงษ์ผู้เปนเจ้าเมืองหลวงพระบางยกมาตีเมืองจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีบอกขึ้นไปเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะให้เนมะโยมหาเสนาบดี คือโปสุพลา เปนแม่ทัพหลวงลงมาตีเมืองหลวงพระบางได้ แล้วโปสุพลากลับขึ้นไปพร้อมทัพกัน ณเมืองจันทบุรี ค้างเทศกาลฝนอยู่ที่นั้น

๏ ลุศักราช ๑๑๓๔ ปี โปสุพลาจึงยกกองทัพลงมาตีเมืองลับแลเมืองพิไชย รบกับกองทัพกรุงศรีอยุทธยา กองทัพโปสุพลาแตก หนีถอยทัพไปตั้งอยู่ณเมืองเชียงใหม่ ค้างเทศกาลฝนอยู่ ลุศัก ราช ๑๑๓๕ ปี ออกพรรษาแล้ว ให้พระยาจ่าบาลกับแสนท้าวไพร่ลาวพันหนึ่งยกเปนกองน่า ให้เนมะโยกามะนีเฝ้าเมืองเชียงใหม่อยู่โปสุพลากับไพร่เก้าพันจะลงมาตีกรุง ศรีอยุทธยา ยกออกจากเมืองเชียงใหม่คืนหนึ่งประมาณทางห้าร้อย โปสุพลารู้ว่าพระยาจ่าบาลคิดการประทุษฐร้าย เข้าด้วยกองทัพไทย กลับจะรบโปสุพลา ๆ จึงกลับทัพเข้าไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่ พอกองทัพกรุงศรีอยุทธยาขึ้นมาทั้งกองทัพพระยากาวิละ พระยานคร พระยาจ่าบาล บรรจบกันเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ โปสุพลา เนมะโยกามะนี แตกหนีไปอยู่เมืองหน่าย

๏ ฝ่ายภรรยาโปสุพลาซึ่งอยู่ณมืองอังวะนั้น พระเจ้าอังวะให้จำขังไว้ ภรรยานั้นให้คนมาบอกโปสุพลาว่า อย่าให้ไปเมืองอังวะเปนอันขาดทีเดียว โปสุพลาจึงหลบหลีกอยู่ณบ้านซุยเกียน ไกลกันกับเมืองตองอูทางห้าวัน เมื่อศักราช ๑๑๓๕ ปีนั้นมีตราลงมาแต่เมืองอังวะ ให้ปะกันวุ่นเกณฑ์พวกรามัญหมื่นหนึ่งเปนแม่ทัพไปตีกรุงศรี อยุทธยา ปะกันวุ่นจึงเกณฑ์พระยาเจ่ง ตะละเซง พระยาอู เปนกองน่ากับไพร่ ๓๐๐๐ ให้แพกิจจาเปนแม่ทัพยกไปก่อน ตั้งฉางอัศมิฉางแม่กระษัตริย์ ออกพรรษาแล้วปะกันวุ่นกับไพร่ ๗๐๐๐ จึงจะยกไปตาม ลุศักราช ๑๑๓๖ ปี จะยกกองทัพ ปะกันวุ่นผู้เปนเจ้าเมืองเมาะตมะเก็บเอาเงินเอาทองของภรรยานายทัพนายกองแล ไพร่สมิงรามัญที่ยกไปทำฉางนั้น ไพร่พลเมืองได้ความเดือดร้อน ตะละเกิงจึงมีหนังสือไปถึงพระยาเจ่งตะละเซงสมิงรามัญทั้งปวงว่า ให้เร่งคิดยกทัพมาณเมืองเมาะตมะเปนการเร็ว พระยาเจ่งตะละเซงสมิงรามัญทั้งปวง ก็พร้อมกันจับแพกิจจาแม่ทัพฆ่าเสีย แล้วกลับทัพมาณเมืองเมาะตมะ ปะกันวุ่น อะคุงวุ่น ลงเรือหนีไปเมืองร่างกุ้ง พระยาเจ่งตะละเซงสมิงรามัญยกติดตามขึ้นไปตีได้ค่ายตัดกะเสริมเมืองร่างกุ้ง พอกองทัพน่าอะแซวุ่นกี้ยกลงมาแต่เมืองอังวะได้รบกับพระยาเจ่งตะละเซงนายทัพ นายกองสมิงรามัญ ๆ แตกหนีลงมาเมืองเมาะตมะ พาครอบครัวอพยพเข้ามากรุงศรีอยุทธยา กองทัพพม่ายกตามมาจับได้บุตรภรรยาณแขวงเมืองเมาะตมะส่งขึ้นไปถวาย ครั้งนั้นมองระกับเสนาบดีลงมายกฉัตรอยู่ณเมืองร่างกุ้ง จึงได้ถามตะละเกิงว่า ตัวคิดการประทุษฐร้ายทั้งนี้ใครรู้เห็นเป็นใจด้วย ตะละเกิงให้การว่า พระยาหงษาวดี พระยาอุปราชา มีหนังสือมาถึงข้าพเจ้ากับพระยาเจ่ง ให้ชักชวนกันแต่สมิงรามัญทั้งปวง ให้จับพม่านายไพร่ที่อยู่ในเมืองเมาะตมะฆ่าเสีย แล้วให้ยกทัพไปตีเมืองร่างกุ้งขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะมองระจึงให้เอาพระเจ้า หงษาวดี กับพระยาอุปราชา พระยาตะละเกิง ไปประหารชีวิตรเสีย

๏ ลุศักราช ๑๑๓๖ ปีอะแซวุ่นกี้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยากองทัพน่าก็ยกมาถึงเมือง ราชบุรี กองทัพไทยล้อมไว้ อะแซวุ่นกี้จึงบอกขึ้นไปถึงมองระเจ้าอังวะ ๆ จึงให้อะคุงวุ่นมังโยกับไพร่ ๓๐๐๐ อันรับอาสาจะมาตีเอาคนสามพันในค่ายล้อมเขานางแก้วให้ได้ ให้พลพม่าล้อมค่ายเปนอันมาก อะแซวุ่นกี้จึงบอกไปถึงเจ้าอังวะว่า ถ้าจะเอาคนสามพันให้ได้จะเสียคนกว่าสามหมื่น เพราะจวนเทศกาลฝนไพร่พลอดเสบียงอาหาร จะขอถอยทัพมาแรมค้างอยู่เมืองเมาะตมะ ต่อรุ่งขึ้นปีน่าข้าพเจ้าจึงจะยกกองทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าอังวะว่าชอบด้วยราชการอยู่แล้ว

๏ ลุศักราช ๑๑๓๗ ปี มองระกลับขึ้นไปเมืองอังวะ ครั้น ณเดือนสิบเอ็ดในปีนั้น อะแซวุ่นกี้ให้แมงยางู กับนายกองผู้น้อยแลปันยีแยฆ่องจอ ปันยีตะจอง สามนาย คุมไพร่สามหมื่นยกไปทางระแหง อะแซวุ่นกี้กับไพร่หมื่นห้าพันเข้าล้อมเมืองพิศณุโลก อะแซวุ่นกี้จึงแยกกองทัพลงมารับทัพกรุงศรีอยุทธยา ซึ่งขึ้นไปช่วยปากน้ำพิง ครั้นเมืองพิศณุโลกเสียแล้ว อะแซวุ่นกี้บอกหนังสือขึ้นไปถึงเจ้าอังวะ พอเจ้าอังวะสิ้นพระชนม์ จิงกุจา รามัญเรียกว่าเจนปูชา บุตรมองระ ขึ้นเปนเจ้า ให้ข้าหลวงมาบอกให้เลิกทัพเมืองมฤต เมืองตนาว เมืองทวาย แลอะแซวุ่นกี้ก็กลับขึ้นไปจิงกุจาก็ปลงศพบิดาตามอย่างธรรมเนียม แลมองระนั้นได้เปนเจ้าแผ่นดินอังวะอยู่สิบสองปี เมื่อสิ้นพระชนม์นั้นในศักราช ๑๑๓๗ ปี มแมสัปตศก อายุได้ ๔๑ ปี จิงกุจาบุตรมองระนั้นเกิดเมื่อศักราช ๑๑๑๗ ปีกุญสัปตศกวันจันทร์ เมื่อได้ราชสมบัตินั้นอายุ ๒๐ ปี ลุศักราช ๑๑๓๙ ปีรกานพศก จิงกุจาให้อำลอกวุ่นยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่อพยพครอบครัวหนีลงมา อาไศรย อยู่ณเมืองสวรรคโลก ครั้นถึงเดือนสี่พม่ายกกลับขึ้นไปเมืองอังวะ ครั้นถึงศักราช ๑๑๔๒ ปี จิงกุจาเจ้าอังวะให้ถอดอะแซวุ่นกี้ออกจากราชการ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก พระเจดีย์ซุยจิกุงในเมืองแปงยะใกล้เมืองอังวะทาง ๓๐๐ เส้นพังลง แลพระพุทธรูปในเมืองจะเกิงอยู่ฟากแม่น้ำข้างหนึ่งตรงเมืองอังวะบันดาลให้มี น้ำพระเนตรไหลออกมา ในปีนั้นจิงกุจาพาพระอรรคมเหษีพระราชบุตร ลงเรือพระที่นั่งขึ้นไปไหว้พระเจดีย์สีห์ ต่อไกลกันกับเมืองอังวะทางห้าคืน ภายหลังมังมองบุตรมังลอกนี้ รามัญเรียกว่ามังตุกกี กับพวกเพื่อนเปนอันมากยกเข้าปล้นเอาเมืองอังวะได้ แลมังมองผู้นี้ เกิดวันพฤหัศบดีปีขาลสัมฤทธิศกศักราช ๑๑๒๐ ปี เมื่อได้เมืองอังวะนั้นอายุได้ ๒๓ ปี ขณะเมื่อมังมองยังบวชเปนภิกษุอยู่นั้น ฝันเห็นว่าแยกเท้าคร่อมแม่น้ำทั้งสองฟาก มีสวะลอยไปใต้เท้าคร่อม จึงไปแก้ฝันกับอาจารย์ ๆ ทำนายไว้ว่าจะได้เปนใหญ่ข้างน่า จึงลาอาจารย์สึกออกมาแล้ว คิดขบถได้เมืองอังวะในครั้งนี้ จึงตั้งอะแซวุ่นกี้คงที่อะแซวุ่นกี้ แลพรรคพวกมังมองซึ่งตั้งเปนเสนาบดีขึ้นใหม่ ข่มเหงฉุดคร่าบุตรหญิง เก็บริบเอาพัศดุเงินทองของอาณาประชาราษฎรซึ่งไม่มีความผิด ไพร่พลเมืองได้ความเดือดร้อนนัก ปะดุงจึงปฤกษาด้วยญาติวงษ์แลเสนาอำมาตย์คนเก่าว่า มังมองได้เปนเจ้าห้าหกวัน ราษฎรได้ความเดือดร้อนดังนี้ ไม่ควรที่จะให้เสวยราชสมบัติ เสนาบดีไพร่พลเมืองก็เปนใจด้วยปะดุงเข้าล้อมราชวัง รบกับมังมองแต่เช้าจนเที่ยง ผู้คนล้มตายเปนอันมาก จับตัวมังมองได้ประหารชีวิตรเสีย มังมองได้ราชสมบัติอยู่หกวันครึ่ง แลปะดุงผู้นี้เปนบุตรมังลอง เปนน้องมองระ แต่ต่างมารดากัน ชื่อเดิมนั้นชื่อมังแวง ได้กินเมืองปะดุง จึงเรียกชื่อปะดุงสะแคง เมื่อเกิดนั้นศักราช ๑๑๐๐ ปี วันจันทร์ ได้ราชสมบัติเมื่ออายุได้ ๔๓ ปี ในศักราช ๑๑๔๔ ปี ขาลจัตวาศก ครั้นปะดุงได้เปนเจ้าแผ่นดินอังวะแล้ว จึงให้มหาศิละวะอำมาตย์ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมจิงกุจา ครั้นได้ตัวแล้วเอาลงมาฆ่าเสีย จิงกุจานั้นได้เปนเจ้าแผ่นดินอังวะอยู่เจ็ดปี เมื่อตายนั้นอายุได้ ๒๗ ปี

๏ เมื่อปีขาลจัตวาศกนั้น ฝ่ายข้างกรุงไทยก็เปลี่ยนแผ่นดินใหม่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระ พุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครบวรราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชมหาสถาน ครั้นถึงเดือนสิบสองในปีขาลจัตวาศกนั้น ปะดุงให้สร้างเมืองใหม่ ที่ตำบลผ่องกา เหนือเมืองอังวะทาง ๓๐๐ เส้น ให้ชื่อเมืองอะมะระบุระ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบญจศกเดือนเจ็ดปะดุงยกไปอยู่เมืองสร้างใหม่ ครั้นถึงเดือนสิบสองในปีนั้นจึงให้ราชบุตรสององค์ คือ จะกุ คือ กามะสะแคงยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่ได้ จับเจ้าเมืองยะไข่กับครอบครัวทั้งปวงมาไว้ในเมืองอะมะระบุระ เจ้าเมืองยะไข่มาอยู่ไม่นานก็ถึงแก่กรรม

๏ ลุศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสงสัปตศกเดือนเก้า ปะดุงเจ้าพม่าคิดจะเข้ามาตีกรุงไทย จึงจัดให้แกงวุ่นเปนแม่ทัพทางเมืองมฤตทิศใต้ ลงไปตีเมืองถลาง เมืองชุมพร เมืองไชยา ทางเมืองทวายนั้นให้อนอกแพกติคะวุ่นเปนแม่ทัพยกเข้ามาตีเมืองราชบุรี ทางเมาะตมะนั้นให้เมียนวุ่นเปนแม่ทัพที่หนึ่ง เมียนวุ่นเปนแม่ทัพน่าที่สอง กามะสะแคงบุตรชายน้อยเปนแม่ทัพที่สาม จะกุสะแคงบุตรชายกลางเปนแม่ทัพน่าที่สี่ ปะดุงคุมพลเปนทัพหลวง ให้บุตรชายใหญ่อันเปนที่อินแซะมหาอุปราชาอยู่เฝ้าเมือง ทางระแหงนั้น ให้จอมองนอระทาเปนแม่ทัพ ทางเชียง ใหม่นั้น ให้เสดาะมหาศิริอุจะนาเปนแม่ทัพ ทางเจหุมนั้น ให้อา ปะระกามนีเปนแม่ทัพ แลกองทัพเจ้าอังวะนั้นยกเข้ามาทางพระเจดีย์สามองค์ก่อนกองทัพทั้งปวง ถึงในเดือนสิบสองข้างแรม

๏ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระเจ้าอยู่หัว ครั้นได้ทรงทราบข่าวศึก จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพไปตั้งรับกองทัพพม่าณตำบลลาดหญ้าเหนือปากแพรกทางสองวัน ที่เมืองราชบุรีนั้นให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เจ้าพระยายมราช คุมกองทัพไปตั้งรักษาอยู่ ทางฝ่ายเหนือนั้น ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังไปตั้งรับอยู่ณเมืองนครสวรรค์ แต่ข้างปากใต้นั้นไม่ได้เกณฑ์กองทัพออกไปด้วยจะรักษาแดนอันใกล้พระนครไว้ ก่อน ส่วนสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ เมื่อสู้รบกับพม่านั้น ก็ทรงคิดกลอุบายแต่งกองโจรให้ไปตั้งลอบสกัดตัดลำเลียงพม่า จนกองทัพน่าพม่าขาดเสบียงลงก็แตกถอยไปจากลาดหญ้า เจ้าปะดุงเห็นกองทัพขัดสนด้วยเสบียงอาหารจะทำการไม่สำเร็จ ก็ล่าถอยไปณเมืองเมาะตมะ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ ก็มีพระราชบริหารให้กองทัพน่ายก ลงมาเมืองราชบุรีโดยทางบก เสด็จล่วงลงมาโดยทางชลมารค ทัพบกลงมาพบค่ายพม่าอันตั้งอยู่นอกเขางูแดนเมืองราชบุรี ก็เข้าตีค่ายพม่า ๆ แตกหนีไปสิ้น แล้วเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพ ฯ จึงตรัสสั่งให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพเรือทเลออกไปช่วยหัวเมืองปากใต้แล้ว พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยก พยุหโยธาทัพหนุนขึ้นไปณทางฝ่ายเหนือ ครั้งนั้นหัวเมืองฝ่ายเหนือเสียแก่พม่าสิ้น ด้วยเจ้าเมืองกรมการน้อยตัวก็อพยพครอบครัวหลีกเข้าป่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งให้รีบขึ้นไป กองทัพพม่าฝ่ายเหนือแตกกลับไปสิ้น ครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ร้างอยู่แต่ครั้งพม่ามาตีเมื่อแผ่นดินพระเจ้าตาก กองทัพพม่าจึงเลยล่วงมาติดเมืองนครลำปาง พระยากาวิละเจ้าเมืองเข้มแขงนัก ต่อรบอยู่ถึงสี่เดือนรักษาเมืองไว้ได้ พอกองทัพไทยขึ้นไปช่วยตีกระหนาบเข้า พม่าก็แตกไปสิ้น แลทางข้างปากใต้นั้น พม่าตีได้เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนคร แต่เมืองถลาง เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ยังไม่เสีย พอสม เด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกออกไปถึงได้รบกันที่เมืองไชยา พม่าแตกหนีกลับไปสิ้น แล้วเสด็จลงไปตีเมืองตานีได้ แล้วเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพ ฯ ในศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศกนั้นครั้นถึงเดือนสิบสอง ปะดุงให้อินแซะมหาอุปราชคุมพลลงมาตั้งค่ายทำยุ้งฉางใส่เสบียงอาหารณตำบลสาม สบอิกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยกทัพออกไปตีพม่าแตกออกไปสิ้น ในเดือนสี่ศักราช ๑๑๔๙ ปีมแมนพศก ครั้นภายหลังสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปทรงจัดเมืองเชียงใหม่ ตั้งให้พระยากาวิละเปนเจ้าเมืองนครลำปาง ครั้นถึงเดือนยี่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปตีเมืองกลิอ่องได้ แล้วไปตีเมืองทวายไม่ได้ ทัพหลวงเสด็จกลับมายังกรุงเทพ ฯ

๏ ครั้นถึงศักราช ๑๑๕๓ ปีกุญตรีศก ปะดุงให้ขุนนางลงมาผลัดเจ้าเมืองทวาย ๆ ไม่ขึ้นไปเมืองอังวะ กลับคิดจะฆ่าขุนนางซึ่งมาผลัดนั้นเสียจึงมีหนังสือเข้ามาขอกองทัพกรุงไทยให้ ออกไปช่วยรักษาเมืองทวายไว้ในเดือนสี่ปีนั้น ตรัสสั่งให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยากลาโหมยกทัพออกไปก่อน แลเจ้าพระยาทั้งสองไปตั้งค่ายโอบเมืองทวายไว้

๏ ลุศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก เดือนยี่ กองทัพเมืองอังวะยกลงมากระหนาบ พวกทวายในเมืองมีหนังสือออกมาถึงแม่ทัพพม่าสัญญากันให้ตีเข้ามา ข้างในเมืองจะตีออกไป กองทัพพม่าก็ตีเข้าไปตามสัญญา ข้างในเมืองก็ตีออกมา กองทัพไทยต้านทานไม่ได้ ก็พาพระยาทวายอพยพครอบครัวเข้ามากรุงเทพ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัปตศก ปะดุงให้อุบากองเปนแม่ทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกขึ้นไปช่วยจับอุบากองลงมาได้

  • ลุศักราช ๑๑๖๐ ปีมเมียสัมฤทธิศก อุบากองกลับหนีออกไปได้

๏ ลุศักราช ๑๑๖๔ ปีจอจัตวาศก มีรับสั่งให้เจ้าพระยายมราชยกทัพขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสน ตีไม่ได้กลับลงมา ภายหลังเจ้าเมืองเชียงใหม่ไปตีได้

๏ ลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยพระเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชสมบัติ ครั้นถึงเดือนสิบสองปะดุงเจ้าอังวะให้กองทัพลงมาตีเมืองถลางเดือนยี่เมือง ถลางเสียแก่พม่าแม่ทัพพม่าจึงกวาดครัวเมืองถลางบรรทุกเรือไป ให้จิกแกปลัดทัพอยู่รับหลัง ครั้งนั้นเกิดลมพยุใหญ่พัดมาทิศตวันตก เรือจิกแกซัดเข้ามาฝั่งที่กองทัพไทยตั้งอยู่ กองทัพไทยจับจิกแกกับไพร่ได้เปนอันมากแล้วส่งเข้ามากรุงเทพ ฯ

๏ ลุศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีศก มีพราหมณ์เทศมาแต่ทิศตวันตกเอาหนังสือเรื่องพงษาวดารเมืองพราหมณ์มาแปลถวาย เจ้าอังวะ ว่าสาสนาพระสมณโคดมสิ้นเสียแล้ว ซึ่งกุลบุตรบวชเปนสงฆ์ทุกวัน อุปสมบทหาขึ้นไม่ ให้ไปไหว้บูชาถวายทานแก่พระพุทธรูปเท่านั้นจึงจะควร ปะดุงก็เชื่อถือ จึงให้สึกพระสงฆ์พม่าพระสงฆ์รามัญเสียครั้งนั้นมาก ครั้นถึงเดือนอ้ายให้กองทัพยกมาตั้งค่ายทำยุ้งฉางณตำบลท้องชาตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้กรมหลวงพิทักษมนตรียกกองทัพออกไป ตีค่ายพม่า ล้อมจับได้ตัวนายแลไพร่เข้ามาได้มาก ที่เหลือนั้นก็แตกหนีไปสิ้น

๏ ลุศักราช ๑๑๗๗ ปีกุญสัปตศกเดือนห้า พวกรามัญเมืองเมาะตมะ มีพระยารัตนจักรเปนต้นเปนคน ๕๐๐๐ เศษ เห็นเจ้าอังวะถือวิปริตแลพม่าก็ข่มเหงนัก จึงชวนกันอพยพเข้ามาพึ่งพระบารมีโพธิสมภาร ณกรุงเทพ ฯ ส่วนอินแซะมหาอุปราชราชบุตรของปะดุงถึงแก่กรรมก่อนปะดุงผู้เปนบิดา ปะดุงจึงตั้งบุตรของอินแซะชื่อมองนานยะอันเปนราชนัดดานั้น เปนที่อินแซะมหาอุปราชแทนบิดาสืบไป ด้วยเข้าใจว่าบุตรอินแซะนั้น คือจิงกุจาเจ้าอังวะเก่าที่ตนให้ฆ่าเสีย เพราะกุมารนั้นมีอาการกิริยาเจรจาพาทีคล้ายกันกับจิงกุจา แลของวิเศษสิ่งใดที่จิงกุจาซ่อนไว้ไม่มีผู้ใดรู้ กุมารนั้นไปเอามาได้แล้วกล่าวว่าเปนของ ๆ ตัวในก่อน เพราะเหตุดังนี้ ปะดุงจึงให้ที่อุปราชแก่บุตรอินแซะแล้วตรัสแก่ราชวงษานุวงษ์ทั้งปวงว่าอย่า น้อยใจเลย เจ้าของเขายังอาไลยในสมบัติของเขา จึงมาเกิดเปนหลานของเรา ควรเราจะมอบสมบัติให้เขาเสีย จึงมอบที่อุปราชให้แก่มองนานยะแต่นั้นมา

๏ ฝ่ายปะดุงเจ้าอังวะครองราชสมบัติมาได้ ๓๗ ปี ลุศักราช ๑๑๘๐ ปีเถาะเอกศก อายุได้ ๘๑ ปีถึงแก่กรรม จึงมองนานยะมหาอุปราชผู้เปนพระราชนัดดาได้ราชสมบัติ ชื่อจักกายแมง แต่รามัญเรียกว่าจักเกยตะเคียง แลจักกายแมงผู้นี้เกิดวันศุกรศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบญจศก เมื่อได้ราชสมบัตินั้นอายุ ๓๒ ปี

๏ ลุศักราช ๑๑๘๖ ปีวอกฉศก ณวันเดือนแปดแรมสิบเอ็ดค่ำพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราช สมบัติ

๏ ฝ่ายข้างเมืองอังวะเมื่อเดือนห้า ในศักราช ๑๑๘๖ ปีนั้น มีรับสั่งเจ้าอังวะให้หาเจ้าเมืองยะไข่ ๆ มีความผิดอยู่ไม่มา จึงให้มหาบัณดุละเสนาบดี ยกกองทัพไปจับเจ้าเมืองยะไข่ ๆ หนีไปอยู่ในแดนเมืองเบ้งกะหล่า มหาบัณดุละเสนาบดีมีหนังสือไปให้เจ้าเมืองเบ้งกะหล่าส่งตัว อังกฤษเจ้าเมืองเบ้งกะหล่าไม่ส่ง มหาบัณดุละยกกองทัพไปตีปลายแดนเบ้งกะหล่าเข้าไป แลแต่ก่อนนั้นอังกฤษก็คิดจะทำสงคราม กับพม่าอยู่แล้ว ได้เตรียมเรือกลไฟเรือรบไว้ที่เมืองเกาะหมาก เมืองมละกา พร้อมอยู่แล้ว ครั้นเกิดเหตุมหาบัณดุละตีปลายแดนเข้าไปดังนั้น เจ้าเมืองเบ้งกะหล่า จึงมีหนังสือให้เรือกลไฟรีบไปบอกทัพ ณเมืองเกาะหมาก เมืองมละกา ให้เรียกมาตีหัวเมืองพม่าชายทเลโดยเร็ว เรือรบก็รีบยกมาตีได้เมืองร่างกุ้ง เมืองเมาะตมะ เมืองทวาย เมืองมฤต ได้ในเดือนหกปีวอกฉศกนั้น แม่ทัพอังกฤษจึงยกทัพเรือกลไฟตีขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองอังวะ จักกายแมงครั้นรู้เหตุนั้น ก็จัดกองทัพลงมารบอังกฤษ แล้วมีหนังสือไปถึงมหาบัณดุละให้เลิกกองทัพกลับมาช่วยกันรบกองทัพอังกฤษ อย่าให้ขึ้นมาถึงเมืองอังวะได้ มหาบัณดุละจึงล่าทัพกลับมาจากแดนเมืองเบ้งกะหล่า มารบกับอังกฤษที่ขึ้นมาตีเมืองอังวะ วันหนึ่งพวกกองทัพอังกฤษจับคนในกองทัพมหาบัณดุละมาได้ แม่ทัพอังกฤษจึงพาคนนั้นขึ้นไปบนหอรบที่สูง ให้พม่าคนนั้นชี้ตัวมหาบัณดุละให้ เพลานั้น มหาบัณดุละนั่งกินเข้าอยู่ในค่าย แม่ทัพอังกฤษเอากล้องมาส่องดูเห็นชัดแล้ว จึงให้ทหารแม่นปืนยิงปืนมาถูกมหาบัณดุละแม่ทัพตายพวกพม่าก็แตกไปสิ้น อังกฤษก็เร่งเรือขึ้นไปไม่มีผู้ใดต่อต้านได้ อังกฤษตีขึ้นมาได้ถึงเมืองตะลุมะอยู่ทางสองวันจะถึงเมืองอังวะ จักกายแมงเจ้าอังวะตกใจนัก จึงปฤกษาด้วยขุนนางทั้งปวงเห็นพร้อมกันแล้วจึงให้ขุนนางมาเจรจากับแม่ทัพ อังกฤษ จะขอเสียเงินให้ ๆ อังกฤษถอยทัพเสีย อังกฤษก็ยอมแล้วปันเขตรแดนกัน ข้างทิศตวันตกเฉียงเหนือเมืองอังวะนั้น อังกฤษเอาไว้สี่เมือง คือเมืองยะไข่ เมืองเวสาลี เมืองกระแซ เมืองอะลิมะ ข้างทิศตวันออกเฉียงใต้นั้นอังกฤษเอาไว้หกเมือง คือ เมืองเมาะลำเลิ่ม เมืองละเมิง เมืองเร เมืองทวาย เมืองมฤต เมืองตนาว เปนสิบหัวเมืองด้วยกัน


งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก