พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2491

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏ
มานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491
เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหมให้เหมาะสมแก่กาลสมัย


พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และมาตรา 15 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2491 จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2491”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

หน้าที่ราชการในกองทัพบก แยกเป็น

ก.ส่วนกลาง[แก้ไข]

1.กรมเสนาธิการทหารบก
2.กรมจเรทหารบก
3.โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ
4 กรมพลาธิการทหารบก
5.กรมสรรพาวุธทหารบก
6.กรมแผนที่ทหารบก
7.กรมแพทย์ทหารบก
8.กรมการเงินทหารบก
9.กรมพาหนะทหารบก
10.กรมสวัสดิการทหารบก

ข ส่วนภูมิภาค[แก้ไข]

[2]

1.ภาคทหารบกที่ 1
2 ภาคทหารบกที่ 2
3 ภาคทหารบกที่ 3
4 มณฑลทหารบกที่ 5

ค ส่วนกำลังรบ[แก้ไข]

[3]

1.กองทัพที่ 1
2.กองทัพที่ 2
3 กองทัพที่ 3
4 กองพลที่ 5
5 กรมต่อสู้อากาศยาน
6 กรมรถรบ
7 กรมผสมที่ 21

มาตรา 4[แก้ไข]

กรมเสนาธิการทหารบกซึ่งเสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการของทหารบกในการเตรียมการ เพื่อป้องกันราชอาณาจักร ตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทั้งปวงให้ดำเนินไปตามระเบียบและแผนการที่กำหนด และแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.แผนกกลาง มีหน้าที่ปฏิบัติในทางธุรการการกฎหมาย

2.แผนกที่ 1 มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดและกำหนดกำลัง การระดมกำลัง การบรรจุ เลื่อน ปลด ย้ายตำแหน่ง และการบำเหน็จ กับวิทยาการของสัสดี

3.แผนกที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการข่าว การรหัส และกิจการอันเกี่ยวกับการทหารบกต่างประเทศ

4.แผนกที่ 3 มีหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาและวางแผนการยุทธการ วางหลักการยุทธ การฝึกฝนผสมเหล่าหรือกองทหารขนาดใหญ่

5.แผนกที่ 4 มีหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาและวางแผนการฝ่ายบำรุงทั้งปวง วางแผนการคมนาคม การส่งกำลังและการส่งกลับ

6.แผนกตำรา มีหน้าที่เกี่ยวกับการค้นคว้า การเรียบเรียงตำรา สำหรับใช้ในกองทัพบก กับการประวัติศาสตร์ทหาร

7.โรงเรียนเสนาธิการทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยการศึกษาให้นายทหารสัญญาบัตรมีความรู้ในเสนาธิการกิจและวิชาทหารชั้นสูง


มาตรา 5[แก้ไข]

กรมจเรทหารบกซึ่งจเรทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการของทหารพลรบเหล่าต่างๆ การกำหนดและการจัดกำลังทางเทคนิคของอาวุธยุทโธปกรณ์ การศึกษา การฝึกอบรม การบรรจุ เลื่อนและย้ายตำแหน่งของแต่ละเหล่า และแบ่งส่วนราชการ ดังนี้

1.กรมจเรทหารราบ มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและกิจการของเหล่าทหารราบ

2.กรมจเรทหารม้า มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและกิจการของเหล่าทหารม้าและรถรบ

3.กรมจเรทหารปืนใหญ่ มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและกิจการของเหล่าทหารปืนใหญ่

4.กรมจเรทหารช่าง มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและกิจการของเหล่าทหารช่าง

5.กรมจเรทหารสื่อสาร มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและกิจการของเหล่าทหารสื่อสาร

มาตรา 6[แก้ไข]

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่อำนวยการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร และแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.กองนักเรียนนายร้อย มีหน้าที่ปกครองและฝึกนักเรียนนายร้อยที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร

2.แผนกศึกษา มีหน้าที่อำนวยการศึกษา และอบรมนักเรียนนายร้อยที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร

มาตรา 7[แก้ไข]

กรมพลาธิการทหารบกซึ่งพลาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและพลาธิการกิจของกองทัพบก และแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.กรมยกกระบัตรทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา เก็บรักษาและจ่ายยุทธภัณฑ์ และสันติภัณฑ์ที่ใช้ในกองทัพบก
2.กรมเกียกกายทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทหาร การเสบียง และการปศุสัตว์ของกองทัพบก
3.กรมยุทธโยธาทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการซ่อม สร้าง อาคาร การประปาการไฟฟ้า และถนน ที่ใช้ในกองทัพบก
4.กรมการสัตว์พาหนะทหารบก มีหน้าที่ในการศึกษาและจัดหาสัตว์พาหนะ การสัตวรักษ์และการเสบียงสัตว์
5.โรงเรียนพลาธิการทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับอำนวยการศึกษาเกี่ยวกับพลาธิการกิจ

มาตรา 8[แก้ไข]

กรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการและการศึกษาสรรพาวุธและอุปกรณ์ รวมทั้งการสงครามเคมี และแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.กรมช่างแสงทหารบก มีหน้าที่จัดหา ซ่อมสร้าง สรรพาวุธ และเครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ ที่ใช้ในกองทัพบก
2.กรมคลังแสงทหารบก มีหน้าที่เก็บรักษา และจ่ายสรรพาวุธและเครื่องอุปกรณ์ของอาวุธที่ใช้ในกองทัพบกรวมทั้งเครื่องอุปกรณ์การสงครามเคมี
3.กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการค้นคว้า ตรวจทดลองทางวิทยาศาสตร์และสงครามเคมี รวมทั้งการจัดหา ซ่อม สร้าง เครื่องอุปกรณ์การสงครามเคมี

มาตรา 9[แก้ไข]

กรมแผนที่ทหารบกซึ่งเจ้ากรมแผนที่ทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการแผนที่ของทหารบกและแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.แผนกที่ 1 มีหน้าที่วางหมุดหลักฐาน เพื่อทราบลักษณะของดวงพิภพ และเพื่อการสำรวจพื้นภูมิประเทศ กับการวัดระดับ
2.แผนกที่ 2 มีหน้าที่สำรวจรายละเอียดภูมิประเทศเขียนแผนที่และแก้แผนที่
3.แผนกที่ 3 มีหน้าที่พิมพ์แผนที่ พิมพ์หนังสือ ถ่ายรูป พิมพ์ภาพ
4.แผนกที่ 4 มีหน้าที่กำหนดตำแหน่งของจุดต่างๆ โดยทางดาราศาสตร์ สำรวจสภาพของแม่เหล็กและสำรวจความดูดของพิภพ กับทำแผนที่จากรูปถ่าย
5.โรงเรียนแผนที่ทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับอำนวยการศึกษาให้นายทหาร และนักเรียนแผนที่มีความรู้ในวิชาแผนที่

มาตรา 10[แก้ไข]

กรมแพทย์ทหารบกซึ่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ของทหารบก และแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.แผนกที่ 1 มีหน้าที่เกี่ยวกับตรวจหาสมุฏฐานของโรค โดยการทดลองและค้นคว้า ตรวจวิเคราะห์ทางชีวะเคมี วิเคราะห์ยา และเคมีสารต่างๆ ประดิษฐ์ยาจำพวกชีวะเคมี ทำวัคซินเซรุ่ม ตรวจและให้คำแนะนำในเรื่องการสุขาภิบาล อนามัย ทำสถิติในด้านสุขาภิบาล
2.แผนกที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับควบคุมกิจการทางวิทยาการทั่วไป และรวบรวมสถิติการเสนารักษ์ทั้งสิ้นเผยแพร่วิชาแพทย์ วางระเบียบและออกคำแนะนำ การรักษาพยาบาลในยามปกติและยามสงคราม กำหนดอัตราเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ อัตรายาและเวชชภัณฑ์ ตรวจการรักษาพยาบาล และการใช้ยา ประมวลข่าวการแพทย์และแนะนำวิทยาการซึ่งเกิดขึ้นใหม่
3.แผนกที่ 3 มีหน้าที่เกี่ยวกับ จัดหา เก็บ รักษา และจ่ายยาเวชชภัณฑ์ทั้งปกติและสนาม
4.แผนกศึกษา มีหน้าที่เกี่ยวกับอำนวยการศึกษาวิชาการแพทย์
5.โรงพยาบาลทหารบก มีหน้าที่รักษาพยาบาล
6.โรงพยาบาลอานันทมหิดล มีหน้าที่รักษาพยาบาล

มาตรา 11[แก้ไข]

กรมการเงินทหารบกซึ่งเจ้ากรมการเงินทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชีเงิน การงบประมาณและการตรวจเงินของกองทัพบกและแบ่งส่วนราชการดังนี้

1.แผนกที่ 1 มีหน้าที่รับ - จ่าย เก็บรักษา และทำบัญชีเงิน
2.แผนกที่ 2 มีหน้าที่เกี่ยวกับการงบประมาณ
3.แผนกที่ 3 มีหน้าที่ตรวจเงิน

มาตรา 12[แก้ไข]

กรมพาหนะทหารบกซึ่งเจ้ากรมพาหนะทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับวิทยาการของเหล่าทหารพาหนะ และการจัดหาเตรียมสะสมยานพาหนะของกองทัพบก และค้นคว้า ตรวจ ทดลองในสิ่งที่เกี่ยวแก่ยานพาหนะ และซ่อมสร้างยานพาหนะทุกชนิดทั้งทางบกและทางน้ำ ตลอดจนรักษาเบิกจ่ายสิ่งอุปกรณ์เกี่ยวกับยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำ และการลำเลียงขนส่งด้วยพาหนะ

มาตรา 13[แก้ไข]

กรมสวัสดิการทหารบกซึ่งเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพของทหารบก และการฌาปนกิจ

มาตรา 14[แก้ไข]

[4] ภาคทหารบก ซึ่งผู้บัญชาการภาคทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ตรวจ ควบคุม แนะนำชี้แจง และสั่งราชการอันเกี่ยวกับการทหารตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน

ทุกภาคทหารบกแบ่งออกเป็นมณฑลทหารบก ซึ่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา

ทุกมณฑลทหารบกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เรียกว่า จังหวัดทหารบก ซึ่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชา

มาตรา 14 ทวิ[แก้ไข]

[5] มณฑลทหารบก และจังหวัดทหารบก มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย การวินัยภายนอกหน่วยทหาร การรักษาการณ์ การคดี การศาล การระดมกำลัง และการสัสดี ทั้งนี้ภายในเขตมณฑลทหารบก และจังหวัดทหารบก

มาตรา 14 ตรี[แก้ไข]

[6] ภาคทหารบกมีดังต่อไปนี้

1.ภาคทหารบกที่ 1 ประกอบด้วยมณฑลทหารบกและจังหวัดทหารบก คือ
ก.มณฑลทหารบกที่ 1
ข.มณฑลทหารบกที่ 2
ค.จังหวัดทหารบกลพบุรี
2.ภาคทหารบกที่ 2 ประกอบด้วยมณฑลทหารบก คือ
ก.มณฑลทหารบกที่ 3
ข.มณฑลทหารบกที่ 6
3.ภาคทหารบกที่ 3 ประกอบด้วยมณฑลทหารบก คือ
ก มณฑลทหารบกที่ 4
ข มณฑลทหารบกที่ 7

มาตรา 14 จัตวา[แก้ไข]

[7] พื้นที่มณฑลทหารบกมีดังต่อไปนี้

1 มณฑลทหารบกที่ 1 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ มีพื้นที่ตรงกับเขตพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี
ข.จังหวัดทหารบกเพชรบุรี มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดเพชรบุรี
ค.จังหวัดทหารบกราชบุรี มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี
2.มณฑลทหารบกที่ 2 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก.จังหวัดทหารบกฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา
ข.จังหวัดทหารบกปราจีนบุรี มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดนครนายก และจังหวัดปราจีนบุรี
3.มณฑลทหารบกที่ 3 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก.จังหวัดทหารบกนครราชสีมา มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา
ข.จังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด
ค.จังหวัดทหารบกอุดร มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร และจังหวัดอุดรธานี
4.มณฑลทหารบกที่ 4 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก.จังหวัดทหารบกนครสวรรค์ มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี
ข.จังหวัดทหารบกพิษณุโลก มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดพิจิตร จังหวัด พิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์
ค.จังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์
5.มณฑลทหารบกที่ 5 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก.จังหวัดทหารบกชุมพร มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง
ข.จังหวัดทหารบกนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดพัทลุง จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ค.จังหวัดทหารบกสงขลา มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา
6.มณฑลทหารบกที่ 6 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก.จังหวัดทหารบกสุรินทร์ มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีษะเกษ และจังหวัดสุรินทร์
ข.จังหวัดทหารบกอุบล มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดอุบลราชธานี
7.มณฑลทหารบกที่ 7 ประกอบด้วยจังหวัดทหารบก คือ
ก.จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดลำพูน
ข.จังหวัดทหารบกเชียงราย มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดเชียงราย
ค.จังหวัดทหารบกลำปาง มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง
8.จังหวัดทหารบกลพบุรี มีพื้นที่ตรงกับเขตจังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง

มาตรา 15[แก้ไข]

[8] กองทัพและกองพลซึ่งแม่ทัพและผู้บัญชาการกองพลเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองบังคับบัญชา เตรียมกำลัง อำนวยการฝึก และอบรมหน่วยทหารซึ่งขึ้นอยู่ในบังคับบัญชา

มาตรา 15 ทวิ[แก้ไข]

[9] กองทัพมีดังต่อไปนี้

1 กองทัพที่ 1 แยกเป็น
ก กองพลที่ 1
ข กองพลที่ 2
2 กองทัพที่ 2 แยกเป็น
ก.กองพลที่ 3
ข.กองพลที่ 6
3. กองทัพที่ 3 แยกเป็น
ก.กองพลที่ 4
ข กองพลที่ 7

มาตรา 16[แก้ไข]

กรมต่อสู้อากาศยานซึ่งผู้บังคับการกรมต่อสู้อากาศยานเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่อสู้อากาศยานทางพื้นดิน การเตรียมกำลัง การฝึก และอบรมหน่วยทหารต่อสู้อากาศยาน

มาตรา 17[แก้ไข]

กรมรถรบซึ่งผู้บังคับการกรมรถรบเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการเตรียมกำลัง การฝึกและอบรมหน่วยทหารรถรบ

มาตรา 17 ทวิ[แก้ไข]

[10] กรมผสมที่ 21 ซึ่งผู้บังคับการกรมผสมที่ 21 เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่เกี่ยวกับการเตรียมกำลัง การฝึกและอบรมหน่วยทหารในกรมนี้

มาตรา 18[แก้ไข]

สภากองทัพบก เป็นที่ปรึกษาหารือของผู้บัญชาการทหารบก ในเรื่องต่อไปนี้

1.การจัดโครงการส่วนใหญ่ของกองทัพบก
2.หลักการเกี่ยวแก่การฝึก การศึกษาอบรม การบำรุงหน่วยทหารบก และฝ่ายบริการต่างๆ
3.หลักการใช้กำลังทหารบก
4.หลักการระดมสรรพกำลัง
5.การคมนาคมทั้งปวง ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงแผนการทัพบก
6.การจัดหา แก้ไข และปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์
7.กระบวนการทั้งปวง เกี่ยวกับการป้องกันชายแดน ชายฝั่ง และการป้องกันภัยทางอากาศ เท่าที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบก
8.หลักการที่เกี่ยวกับการเตรียมกำลังกองทัพบกเพื่อป้องกันราชอาณาจักร
9.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกำหนด ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการทหารบก
10.กรณีที่ผู้บัญชาการทหารบกปรึกษาหารือ

มาตรา 19[แก้ไข]

[11] สภากองทัพบก ประกอบด้วยสมาชิกดังต่อไปนี้

1. ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน
2 รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองประธาน
3. เสนาธิการทหารบก
4. จเรทหารบก
5. ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ
6. พลาธิการทหารบก
7. เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก
8. เจ้ากรมแผนที่ทหารบก
9. นายแพทย์ใหญ่ทหารบก
10. เจ้ากรมการเงินทหารบก
11. แม่ทัพที่ 1
12. แม่ทัพที่ 2
13. แม่ทัพที่ 3
14. ผู้บัญชาการกองพลที่ 5
15. หัวหน้าแผนกกลาง กรมเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการ

มาตรา 20[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

เอกสารประกอบ[แก้ไข]

  • พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491 [12]
  • พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2492 [13]
  • พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493 [14]
  • พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2493 [15]

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 53/เล่ม 65/หน้า 507/14 กันยายน 2491
  2. มาตรา 3 ข แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  3. มาตรา 3 ค แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2493
  4. มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  5. มาตรา 14 ทวิ เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  6. มาตรา 14 ตรี เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  7. มาตรา 14 จัตวา เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  8. มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  9. มาตรา 15 ทวิ เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  10. ข้อ 17 ทวิ เพิ่มโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2493
  11. มาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2493
  12. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 65/ตอนที่ 77/ฉบับพิเศษ หน้า 30/31 ธันวาคม 2491
  13. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 23/เล่ม 66/หน้า 276/19 เมษายน 2492
  14. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 29/เล่ม 67/หน้า 512/23 พฤษภาคม 2493
  15. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 50/เล่ม 67/ฉบับพิเศษ หน้า 1/22 กันยายน 2493