พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา/ภาค 1/บท 21

จาก วิกิซอร์ซ
แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๑ (พระมหาธรรมราชา)

ลุศักราช ๙๑๘ ปีมโรง อัฐศก วัน ค่ำ พระเจ้าหงษาวดีให้แต่งการราชพิธีปราบดาภิเศกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติผ่านพิภพกรุงเทพพระนครศรีอยุทธยา ทรงพระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์วงษกุระสุริโยดมบรมมหาธรรมราชาธิราชราเมศปวเรศธรรมิกราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทรภูมินทรเทพสมมุติราชบรมบพิตร เจ้ากรุงพระนครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๕๔ พระพรรษา พระเจ้าหงษาวดีก็ให้พระสุนทรสงครามอันส่งไปหงษาวดีขณะเมื่อครั้งได้พระราเมศวรกับช้างเผือกสี่ช้างไปนั้นอยู่เปนพฤฒามาตย์สำหรับพระองค์ แลไว้เมืองนครพรหมแลพลสามพันให้อยู่ช่วยรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัศแก่สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าว่า จงจัดพระสนม แลราชบริวาร แลเครื่องราชูประโภคทั้งปวงออกมา จะได้ขึ้นไปด้วยกัน แล้วมีพระราชบัญชาตรัศแก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาว่า ให้จัดเครื่องราชปิลันทนาสรรพาภรณ์สำหรับขัติยาธิบดีแลพระสนมราชบริวารส่งให้สมเด็จพระมหินทราธิราชด้วย สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็จัดให้ตามรับสั่งทุกประการ แล้วสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จเลิกพลพยุหบาตราทัพกลับไปทางเมืองกำแพงเพ็ชร สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็โดยเสด็จ ครั้นถึงแดนเมืองแครง สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก ลักไวทำมูเอาพระอาการมากราบทูลสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงพระราชทานแพทย์ไปรักษา แล้วตรัศคาดโทษแพทย์มาว่า ถ้าสมเด็จพระมหินทราธิราชทิวงคต จะลงโทษถึงสิ้นชีวิตร ครั้นรุ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเสด็จมาเยือน จึงตรัศว่า อุส่าห์เสวยยาแลพระกระยาหาร อย่าท้อแท้พระไทย เราจะได้ไปด้วยกัน ครั้นพระราชทานโอวาทดังนั้นแล้ว ก็เสด็จกลับมาพลับพลา สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีแต่ประทับแรมอยู่ที่นั้นถึงสิบเอ็จเวน สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็สวรรคต สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธ ตรัศให้ลงพระราชอาชญาแก่แพทย์พม่ามอญไทยสิบเอ็จคน แล้วพระราชทานเพลิงเสร็จ ทรงพระกรุณาให้เอาพระอัฐิแลพระสนมเครื่องราชูประโภคทั้งปวง ให้พม่ามอญลาวคุมลงมาส่งยังพระนครศรีอยุทธยา แล้วสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จไปยังเมืองหงษาวดี.

ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าแผ่นดินตรัศเอาพระสุนทรสงครามเปนพระยาธารมาธิบดี ตรัศเอาพระยาศรีธรรม์เปนพระยาพระเสด็จ ตรัศเอาพระยาเพทราชาเปนพระยาอินทราธิบดีพระนครบาล ตรัศเอาพระยาเลื่องเปนพระยาจักรี ตรัศเอาขุนหลวงเสนามาตย์เปนพระยามหาเสนาธิบดีศรีสมุหพระกระลาโหม ตรัศเอาพระศรีเสาวราชเปนพระยาเดโช ตรัศเอาพระจันทบุรีเปนพระท้ายน้ำ ตรัศให้พระศรีอรรคราชคงที่เปนพระยาคลัง ตรัศเอาขุนจันทราเปนพระยาพลเทพ แล้วก็ตั้งพระหัวเมืองมนตรีมุขทหารพลเรือนทั้งปวงทุกกระทรวงการ แล้วให้ซ่องจัดไพร่พลหมู่องครักษ์จักรนารายน์ชาวดาบชาวเรือแลหมู่ทหารอันกระจัดพลัดพรายทั้งปวงประมูลเข้ามาโดยหมู่โดยกรมแล้ว ก็ให้จัดซ่องไพร่พลหมู่สิบสองพระกำนัลแลหมู่พลเรือนทั้งปวงอันกระจัดพลัดพรายนั้นมาประมูลไว้โดยหมู่โดยกรม รับราชการทุกพนักงาน แล้วก็ตั้งท้าวพระยาสามนตราชแลพระหัวเมืองทั้งหลายให้ออกไปครองอาณาประชาราษฎรทุกหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงสำหรับขอบขัณฑเสมากรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยาโดยบุรพประเวณีพระเจ้าแผ่นดินสยามาธิราชเจ้าแต่ก่อนมา.

ลุศักราช ๙๑๙ ปีมเสง นพศก เดือนยี่ พระยาแลวกยกช้างม้ารี้พลมาทางเมืองนครนายก แลไพร่พลพระยาแลวกมาคราวนั้นประมาณ ๓ หมื่น กรมการเมืองนครนายกบอกข่าวราชการเข้ามาณกรุงฯ มุขมนตรีจึงเอาหนังสือบอกขึ้นบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๆ ครั้นตรัศทราบก็ให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองมุขมนตรีทั้งหลายพิพากษาว่า เมื่อพระยาแลวกยกช้างม้ารี้พลมาดังนี้ ท้าวพระยาทั้งหลายจะคิดประการใด จึงพระยาเพทราชาผู้เปนพระอินทรานครบาลทูลว่า กรุงพระมหานครไซ้พึ่งเปนอันตราย รี้พลบอบบางยังไป่ได้สมบูรณ์ แลพลทหารซึ่งจะขึ้นประจำน่าที่รอบพระนครนั้นเห็นมิครบน่าที่ อนึ่ง ปืนใหญ่น้อยสำหรับพระนครนั้น สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ให้เอาไปเปนอันมาก แลปืนซึ่งตั้งซ่องทั้งปวงนั้นเปนอันน้อยนัก ทั้งกระสุนดินประสิวก็ยังมิได้ประมูลไว้สำหรับที่จะกันพระนคร แลซึ่งจะตั้งอยู่รบพุ่งป้องกันพระนครครั้งนี้เห็นเหลือกำลัง ขอเชิญเสด็จขึ้นไปยังเมืองพระพิศณุโลกให้พ้นราชศัตรูก่อน ท้าวพระยาพระหัวเมืองมนตรีมุขทั้งหลายก็ลงเปนคำเดียวด้วยพระยาเพทราชา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศบัญชาตามท้าวพระยาทั้งหลาย จึงมีพระราชโองการตรัศสั่งแก่ขุนเทพอรชุณให้แต่งเรือพระที่นั่งแลเรือประเทียบทั้งปวงให้สรรพ.

ในขณะนั้น พระเพ็ชรรัตนเจ้าเมืองเพ็ชรบุรีมีความผิด ทรงพระกรุณาให้ยกออกเสียจากที่ พระเพ็ชรรัตนก็คิดเปนขบถ แลซ่องสุมชาวนอกทั้งปวงได้มาก แล้วคิดจะปล้นทัพหลวงเมื่อจะเสด็จขึ้นไปนั้น.

จึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศถามขุนเทพอรชุณด้วยเรือพระที่นั่งทั้งปวง แล้วก็ตรัศถามว่า ซึ่งจะไปจากพระนครนี้ ขุนเทพอรชุณยังคิดเห็นประการใด จึงขุนเทพอรชุณกราบทูบว่า พระยาแลวกยกมาครานี้มิได้เปนศึกใหญ่ ขอทรงพระกรุณาเสด็จอยู่แลให้รบพุ่งป้องกันพระนครให้รู้จักกำลังศึกก่อน ครั้นจะด่วนละพระนครเสียไซ้ พระเจ้าหงษาวดีจะตรัศติเตียนได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศเห็นชอบด้วย ก็มีพระราชโองการตรัศสั่งขุนเทพอรชุณให้เตรียมเรือพระที่นั่ง แลตรวจจัดพลสำหรับเรือพระที่นั่งนั้นไว้ให้สรรพ.

ฝ่ายพระยาแลวกก็ยกทัพเข้ามาถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา แลให้ตั้งทัพตำบลบ้านกระทุ่ม.

ขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้เมืองนครพรหมแลพลชาวหงษาวดีสามพันอยู่ประจำน่าที่ในขื่อน่า แล้วให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลายตรวจจัดพลทหารขึ้นประจำน่าที่กำแพงแลรายกันอยู่รอบพระนคร พระยาแลวกยกพลเข้ามายืนช้างในวัดสามพิหาร แลพลข้าศึกรายกันมาถึงวัดโรงฆ้องแลวัดกุฎีทอง แล้วเอาช้างมายืนอยู่ในวัดพระเมรุราชิการามประมาณสามสิบช้าง พลประมาณสี่พัน พระยาแลวกให้พลทหารลงเรือห้าลำข้ามเข้ามาปล้นในมุมเจ้าสนุก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปยืนพระราชยาน แลให้พลทหารขึ้นรบพุ่ง ข้าศึกก็พ่ายออกไป จึงตรัศให้ยินปืนจ่ารงค์เอาช้างข้าศึกซึ่งยืนอยู่ในวัดสามพิหารนั้น ต้องพระจำปาธิราชซึ่งเปนกองน่าตายกับฅอช้าง พระยาแลวกก็ยกถอยคืนไปยังทัพณบ้านกระทุ่ม แต่ยกเข้ามาปล้นถึงสามครั้งก็มิได้ พระยาแลวกก็ล่าทัพกลับไป จึงกวาดเอาครัวตำบลบ้านนาแลเมืองนครนายกไปเมืองแลวก.

ในขณะนั้น พระยาแลวกแต่งพลมาลาดทั้งทางบกแลทางเรือหลายครั้ง แลเสียชาวจันทบูร ชาวระยอง ชาวฉเชิงเทรา ชาวนาเริ่ง ไปแก่ข้าศึกแลวกเปนอันมาก.

ลุศักราช ๙๒๐ ปีมเมีย สำเรทธิศก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ให้สมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรเปนเจ้าอันเปนสมเด็จพระราชโอรสาธิราชขึ้นไปเสวยราชย์ณเมืองพระพิศณุโลก ขณะนั้น พระชนม์ได้ ๑๖ พระพรรษา แต่สมเด็จเอกาทศรฐผู้เปนพระราชอนุชาสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้านั้น สมเด็จพระราชบิดาเอาไว้ณพระมหานครศรีอยุทธยาด้วย.

ลุศักราช ๙๒๑ ปีมแม เอกศก พระเจ้าหงษาวดียกช้างม้ารี้พลไปเอาเมืองล้านช้าง กำหนดให้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครแลสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จขึ้นไปด้วย แต่สมเด็จเอกาทศรฐอันเปนตรุณราชบุตร พระราชบิดาดำรัศให้อยู่รักษาพระนคร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ยกช้างม้ารี้พลไปถึงตำบลหนองบัวในจังหวัดเมืองล้านช้าง ขณะนั้น สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงพระประชวรทรพิศม์ พระเจ้าหงษาวดีตรัศให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระนเรศวรเสด็จคืนมายังพระนครศรีอยุทธยา ครั้งนั้น พระเจ้าล้านช้างป้องกันรักษาเมืองเปนสามารถ ทัพหงษาจะหักเอาพระนครก็มิได้ พอจวนเทศกาลวสันตฤดู ก็ยกทัพกลับไปเมืองหงษาวดี.

ฝ่ายพระยาแลวกยกมาจะใกล้ถึงปากน้ำพระประแดง เจ้าเมืองธนบุรีแลกรมการทั้งหลายรู้ข่าวว่า พระยาแลวกยกมา ก็บอกขึ้นไปให้กราบทูล ส่วนเรือทัพน่าพระยาแลวกก็ไล่ตามเรือซึ่งตระเวนชเลนั้นติดเข้ามา เจ้าเมืองธนบุรีแลกรมการทั้งหลายมิทันแต่งการที่จะรบพุ่งป้องกันเมือง ต่างคนต่างเอาครัวหนี พระยาแลวกก็ยกทัพเข้ามาตั้งในปากน้ำพระประแดง ก็ให้ลาดจับชาวเมืองธนบุรี ชาวเมืองนนทบุรี ไปเปนเชลย.

จึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้เอาเมืองยศโสธรราชธานีเปนนายกอง แลจัดขุนหมื่นทั้งหลายกับพลทหารสองพัน แลเครื่องสาตราวุธบรรจุเรือไล่สี่สิบลำ ให้ยกลงไปถึงเมืองนนทบุรี ก็พบเรือข้าศึก ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ทัพข้าหลวงก็พ่ายแก่ข้าศึกแลวก แลเสียหมื่นราชามาตย์ ข้าศึกได้เปน เอาไปถวายพระยาแลวก เมืองยศโสธรราชธานีแลข้าหลวงทั้งปวงก็พ่ายขึ้นมายังพระนคร พระยาแลวกก็ให้จับเอาคนทั่วจังหวัดเมืองธนบุรีได้มาก แล้วก็ยกขึ้นมายังพระนคร ตั้งทัพณขนอนบางตนาว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้ท้าวพระยาทั้งหลายตรวจจัดพลทหารขึ้นประจำน่าที่กำแพงพระนคร แล้วแต่งการที่จะรบพุ่งกันพระนคร พระยาแลวกก็ยกทัพเรือขึ้นมาเข้าแฝงอยู่ข้างวัดพระผแนงเชิง ให้แต่เรืออันเปนทัพน่าประมาณสามสิบลำเข้ามาจะปล้นณตำบลนายก่าย ขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในหอราชคฤห์ตรงเกาะแก้ว แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมนตรีมุขทั้งหลายประชุมกันในที่นั้น ครั้นเรือข้าศึกเกือบเข้ามา จึงวางปืนใหญ่ณป้อมนายก่าย ต้องพลข้าศึกตายเปนอันมาก แล้วก็ตรัศให้พลทหารเอาเรือออกไปยอข้าศึก ๆ ทั้งปวงก็พ่ายลงไป พระยาแลวกเห็นจะปล้นพระนครมิได้ ก็เลิกทัพคืนลงไปตั้งอยู่ณปากน้ำพระประแดง แล้วก็แต่งให้ขึ้นไปลาดจับคนถึงสาครบุรี ได้ขุนหมื่นกรมการแลไพร่ชายหญิงอพยพมาเปนอันมาก จึงให้เอารูปเทพารักษ์สำฤทธิทั้งสององค์ชื่อ พญาแสนตา แลบาทสังขกร อันมีมเหศักดิภาพ ซึ่งอยู่ณเมืองพระประแดง อันขุดได้แต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ไปด้วย พระยาแลวกก็เลิกทัพกลับไปเมือง

ลุศักราช ๙๒๒ ปีวอก โทศก พระยาแลวกแต่งพระยาอุเทศราชแลพระยาจีนจันตุยกทัพเรือมา พลประมาณสามหมื่น จะเอาเมืองเพ็ชรบุรี พระศรีสุรินทรฦๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชรบุรีแลกรมการทั้งหลายแต่งการรบพุ่งป้องกันเปนสามารถ แลข้าศึกยกเข้าปล้นเมืองถึงสามวัน รี้พลข้าศึกต้องสาตราวุธเจ็บป่วยล้มตายเปนอันมาก จะเอาเมืองเพ็ชรบุรีมิได้ พระยาอุเทศราชแลพระยาจีนจันตุก็เลิกทัพคืนไปเมืองแลวก ขณะนั้น พระยาจีนจันตุให้ทานบนแก่พระยาแลวกไว้ว่า จะเอาเมืองเพ็ชรบุรีให้ได้ ครั้นมิได้เมืองเพ็ชรบุรี พระยาจีนจันตุก็กลัวว่า พระยาแลวกจะลงโทษ พระยาจีนจันตุก็พาครัวอพยพทั้งปวงหนีเข้ามายังพระนครศรีอยุทธยา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พระยาจีนจันตุ ตรัศให้พระราชทานเปนอันมาก ครั้นอยู่มา พระยาจีนจันตุก็มิได้สวามิภักดิ์ ลอบแตกแต่งสำเภาที่จะหนีจากพระนคร ครั้นถึงณวัน ค่ำ ปีรกา ตรีนิศก เพลาค่ำประมาณ ๒ นาฬิกา พระยาจีนจันตุก็พาครัวลงสำเภาหนีล่องไป ขณะนั้น สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จลงมาแต่เมืองพระพิศณุโลก เสด็จอยู่ในวังใหม่ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็เสด็จยกทัพเรือตามพระยาจีนจันตุลงไปในเพลากลางคืนนั้น แล้วตรัศให้เรือประตู เรือกัน แลเรือท้าวพระยาทั้งหลายเข้าล้อมสำเภาพระยาจีนจันตุ แลได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พระยาจีนจันตุก็ให้โล้สำเภาไปกลางน้ำ รบต้านทานรอลงไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ตรัศให้เอาเรือประตู เรือกัน เข้าจดท้ายสำเภาพระยาจีนจันตุ จะให้พลทหารปีนสำเภาขึ้น แล้วเอาเรือพระที่นั่งหนุนเข้าไปให้ชิดสำเภา แลทรงปืนนกสับยิงถูกจีนผู้ใหญ่ตายสามคน พระยาจีนจันตุก็ยิงปืนนกสับมาต้องรางปืนต้นอันทรงนั้นแตก พระยาจีนจันตุรบพุ่งป้องกันเปนสามารถ พลทหารข้าหลวงจะปีนขึ้นสำเภามิได้ พระยาจีนจันตุให้เร่งโล้สำเภารุดหนีลงไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็เสด็จตามรบพุ่งลงไปถึงเมืองธนบุรี พระยาจีนจันตุก็ให้เร่งโล้สำเภาออกไปพ้นปากน้ำตกฦก ฝ่ายสมเด็จพระราชบิดาก็เสด็จหนุนทัพสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าลงไปถึงเมืองพระประแดง พอสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ายกกลับขึ้นมาพบเสด็จ ทูลการทั้งปวงให้ทราบ สมเด็จพระราชบิดากับสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็เสด็จขึ้นมายังพระนคร.

ลุศักราช ๙๒๔ ปีจอ จัตวาศก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้แต่งพระนคร ให้ขุดคูขื่อน่าฝ่ายทิศบุรพาแต่ป้อมมหาไชยวังน่าลงไปบรรจบบางกะจะ กว้างสิบวา ฦกสามวา แล้วให้ยกกำแพงออกไปริมน้ำขอบนอกพระนครบรรจบป้อมมหาไชย แต่ป้อมมหาไชยลงไปบรรจบป้อมเพ็ชร ในปีนั้น เกิดขบถญาณพิเชียรเปนจลาจลในจังหวัดแขวงหลวง แลญาณพิเชียรนั้นเรียนคุณโกหก กระทำการอันพิปริตสำแดงแก่ชาวชนบทประเทศนั้น แลซ่องสุมเอาเปนพวกได้มาก ญาณพิเชียรก็มาซ่องสุมคนในตำบลบ้านยิล้น ขุนศรีมงคลแขวงส่งข่าวขบถนั้นเข้ามาถวาย จึงสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงก็มีพระราชโองการตรัศใช้เจ้าพระยาจักรีให้ยกพลทหารออกไปจับญาณพิเชียรซึ่งเปนขบถ เจ้าพระยาจักรีแลขุนหมื่นทั้งหลายยกออกไปตั้งทัพในตำบลบ้านมหาดไทย ญาณพิเชียรรู้ดังนั้น ก็ยกสมัครพรรคพวกทั้งปวงมารบเจ้าพระยาจักรี ส่วนชาวมหาดไทยอันยืนน่าช้างเจ้าพระยาจักรีนั้นก็กลับเปนพวกญาณพิเชียร ครั้นได้รบพุ่งกัน พันไชยธุชก็ปีนท้ายช้างขึ้นฟันเจ้าพระยาจักรีตายกับฅอช้าง ไพร่พลอันไปด้วยเจ้าพระยาจักรีนั้นก็แตกฉาน เสียขุนหมื่นตายในที่รบนั้นเปนหลายคน ครั้นเสียเจ้าพระยาจักรีแล้ว ชาวชนบทนั้นก็เข้าเปนพวกญาณพิเชียร แต่ชายสกรรจ์เปนคนประมาณสามพัน ญาณพิเชียรตั้งพันไชยธุชเปนพระยาจักรี ตั้งหมื่นศรียิล้นชื่อพระยาเมือง แลญาณพิเชียรคิดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกไปยังเมืองลพบุรี.

ฝ่ายพระยาสีหราชเดโชซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศสั่งให้ไปซ่อมกำแพงเมืองลพบุรีนั้น ครั้นแจ้งข่าวว่า ขบถญาณพิเชียรยกมาเมืองลพบุรี ก็ตกแต่งการที่จะรบพุ่งป้องกันเมืองไว้ ฝ่ายญาณพิเชียรก็ยกไปถึงเมืองลพบุรี ขี่ช้างเข้าไปยืนอยู่ตำบลหัวตรี แล้วให้พรรคพวกเข้าปล้นในที่นั้น พระยาสีหราชเดโชก็ออกมายืนช้างให้รบพุ่งป้องกัน จึงชาวประเทศชื่ออมรวดีแฝงต้นโพธิ์ยิงปืนนกสับไปต้องญาณพิเชียรซบลงตายกับฅอช้าง พวกขบถทั้งปวงแตกฉานพ่ายออกไป แลต่างคนต่างหนีกระจัดพลัดพรายไปทุกตำบล พระยาสีหราชเดโชก็เอาอมรวดีซึ่งยิงขบถตายนั้นเข้ามาถวาย จึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศให้พระราชทานแก่อมรวดีนั้นมากนัก แล้วตรัศให้ข้าหลวงออกไปจับพวกขบถทั้งปวงนั้นได้มาก บรรดาจะลงพระราชอาชญาไซ้ เหตุด้วยพระองค์ทรงทศพิธราชธรรม ก็มิได้ลงพระราชอาชญา แลให้แต่ศักหมายหมู่เข้าผสมหมู่โดยโทษ ครั้นถึงเดือนสาม พระยาแลวกก็ยกทัพเรือมา พลประมาณเจ็ดหมื่น มาเอาเมืองเพ็ชรบุรี ในขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศให้เมืองยศโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานี ออกไปรั้งเมืองเพ็ชรบุรี จึงพระศรีสุรินทรฦๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชรบุรี แลเมืองยศโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานี ก็ช่วยกันตกแต่งการที่จะรบพุ่งป้องกันเมือง ครั้นพระยาแลวกยกมาถึง ก็ให้ยกพลขึ้นล้อมเมืองเพ็ชรบุรีอยู่สามวัน แล้วให้ยกเข้าปล้นเมืองเพ็ชรบุรี ให้พลทหารเอาบันไดพาดปีนกำแพงเมือง แลชาวเมืองเพ็ชรบุรีรบพุ่งป้องกันเปนสามารถ ข้าศึกชาวแลวกต้องสาตราวุธตายเปนอันมาก จะปีนป่ายปล้นมิได้ ก็พ่ายออกไป แต่พระยาแลวกยกเข้าปล้นดังนั้นถึงสามครั้งก็มิได้เมือง แล้วดำริห์ว่า จะปล้นอิกครั้งหนึ่ง ถ้ามิได้ไซ้ จะเลิกทัพคืนไป ขณะนั้น เจ้าเมืองเพ็ชรบุรี แลเมืองยศโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานี มิได้สมัครสมานด้วยกัน ต่างคนต่างบังคับบัญชาแลอยู่ป้องกันแต่น่าที่ซึ่งได้เปนพนักงานรักษา มิได้พร้อมมูลคิดอ่านด้วยกันซึ่งจะแต่งการป้องกันข้าศึก ครั้นถึงวัน ๘ ค่ำ พระยาแลวกยกเข้าปล้นตำบลคลองกะแชงแลประตูบางจาน ชาวเมืองต้านทานเปนสามารถ ข้าศึกเผาหอรบทลายลง แล้วปีนกำแพงเข้าได้ในที่นั้น ก็เสียเมืองเพ็ชรบุรีแก่พระยาแลวก แลเสียเจ้าเมืองเพ็ชรบุรี เมืองยศโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานี ตายในที่นั้น พระยาแลวกก็กวาดครัวอพยพเลิกทัพคืนไปเมือง.

ลุศักราช ๙๒๕ ปีกุน เบญจศก เดือนสิบเอ็จ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จลงมาแต่เมืองพระพิศณุโลก สถิตย์อยู่ในวังใหม่ ขณะนั้น พระยาแลวกแต่งทัพพระทศราชา พระสุรินทราชา ให้ยกช้างม้าแลพลประมาณห้าพันมาลาดถึงหัวเมืองฝ่ายตวันออก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศรู้ข่าวดังนั้น ก็เอาช้างเร็วม้าเร็วแลพลทหารล้อมวังสามพันเสด็จออกไป ตรัศให้เมืองไชยบุรีแลขุนหมื่นชาวม้าเอาพลทหารห้าร้อยไปเปนทัพน่า แลให้รุดออกไปควบด้วยทัพเมืองศรีถมอรัตน เอาพลเข้าซุ่มอยู่สองข้างทางที่ข้าศึกจะมานั้น พลหัวน่าศึกก็ยกมาประมาณพันหนึ่ง ถึงที่เมืองไชยบุรีแลเมืองศรีถมอรัตนซุ่มอยู่นั้น ครั้นข้าศึกเกือบเข้ามา เมืองศรีถมอรัตน เมืองไชยบุรี ก็ยกพลออกยอข้าศึก ๆ ก็แตกฉานพ่ายหนีไป จึงเมืองไชยบุรี เมืองศรีถมอรัตน ตามตีข้าศึกไปจนถึงทัพใหญ่ แลได้ฟันแทงข้าศึกตายเปนอันมาก พระทศราชา พระสุรินทราชา ก็เลิกทัพหนีคืนไปเมืองแลวก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จถึงเมืองไชยบาดาล แจ้งว่า ข้าศึกพ่ายไปแล้ว ก็เสด็จคืนมายังพระนคร เฝ้าสมเด็จพระราชบิดา ทูลแจ้งเหตุซึ่งเขมรพ่ายไปนั้นเสร็จสิ้นทุกประการ แล้วก็ถวายบังคมลาคืนขึ้นไปเมืองพระพิศณุโลก.

ลุศักราช ๙๒๖ ปีชวด ฉศก สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีทรงพระประชวรหนัก ถึงณวัน ค่ำ เสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๖๕ พรรษา แต่เสด็จอยู่ในราชสมบัติสามสิบห้าพระพรรษา มังเอิงราชบุตรผู้เปนพระมหาอุปราชาได้ผ่านสมบัติกรุงหงษาวดี ก็ตรัศให้มังสาเกลียดราชบุตรเปนพระมหาอุปราชา สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีเสวยราชใหม่ บ้านเมืองยังมิปรกติ ฝ่ายเมืองรุม เมืองคัง ก็แขงเมือง ข่าวนั้นแจ้งลงมาถึงพระนเรศวรเปนเจ้า ๆ ก็เสด็จลงมาณกรุงเทพฯ กราบทูลสมเด็จพระบรมราชบิดาตามข้อความซึ่งแจ้งมานั้นทุกประการ จะขอถวายบังคมลาขึ้นไปช่วยการสงครามเมืองหงษาวดี จะได้ฟังอึงกิตาการในเมืองหงษาวดีด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ถวายบังคมลากลับขึ้นมาเมืองพระพิศณุโลก ให้ตรวจเตรียมรี้พลช้างม้าโดยขบวนพยุหบาตราทัพ พลสกรรจ์ลำเครื่องแสนหนึ่ง ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย ครั้นได้ศุภฤกษ์ ก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่ง ยกทัพหลวงขึ้นไปถึงตำบลพระตำหนักไม้ไผ่ใกล้เมืองหงษาวดีสามเวน ก็พักผลอยู่ที่นั้น จึงบอกหนังสือเข้าไป พระเจ้าหงษาวดีแจ้งก็ดีพระไทย จึงให้แต่งเสบียงอาหารแลเครื่องเสวยให้ข้าหลวงนำลงมาถวาย แล้วก็นำเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงตรัศว่า ซึ่งพระเจ้าหลานเรายกขึ้นมาครั้งนี้ เรามีความยินดีนัก แล้วแจ้งการซึ่งเมืองรุม เมืองคัง แขงเมืองนั้นให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทูลว่า ข่าวแจ้งลงไป ข้าพระองค์จึงยกมาช่วยการพระราชสงคราม พระเจ้าหงษาวดีตรัศให้สมเด็จพระนเรศวร กับพระมหาอุปราชา แลพระสังขทัต ยกไปเอาเมืองรุม เมืองคัง จงได้ ทั้งสามพระองค์ก็ถวายบังคมลายกทัพไปถึงเมืองรุม เมืองคัง ให้ตั้งค่ายแล้วปลูกราชสัณฐาคารไว้ท่ามกลาง เสด็จปฤกษาราชการพร้อมกันทั้งสามพระองค์ พระมหาอุปราชาจึงตรัศว่า ซึ่งจะยกเข้ารบพร้อมกันทั้งสามทัพนั้น ไพร่พลจะตลุมบอนกันนัก จะผลัดกันเข้ารบทัพละวัน ครั้นปฤกษาพร้อมกันแล้ว พระมหาอุปราชายกขึ้นไปรบณวัน ค่ำ เพลาสี่ทุ่ม เดือนตก ฝ่ายข้าศึกก็คัดก้อนศิลาลงมาทับรี้พลล้มตายเปนอันมาก ขึ้นมิได้ เพลาจวนรุ่งก็ถอยลงมา ครั้นณวัน ค่ำ ทัพพระสังขทัตยกขึ้นไปรบ ข้าศึกก็คัดก้อนศิลาลงมาทับรี้พลล้มตายเปนอันมาก จะหักเอามิได้ ก็ถอยลงมา ครั้นณวัน ค่ำ เพลาตีสิบเอ็จทุ่ม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ยกทหารปืนครบมือขึ้นไป ให้พลปีนปีนเขาแซงขึ้นสองข้าง แลทางกลางนั้นให้พลอยู่แต่เชิงเขาให้ห่าง แล้วโห่ร้องกระทำอาการดุจปีนขึ้นทางนั้น ชาวเมืองสำคัญว่า ศึกขึ้นมาทางนั้น ก็กลิ้งก้อนศิลาลงมา ก็มิได้ถูกผู้ใด ฝ่ายพลซึ่งแซงขึ้นไปก็ยิงปืนระดมไปต้องข้าศึกล้มตายเจ็บป่วยมากแตกระส่ำระสาย เพลาเช้า สามโมง ก็ได้เมือง จับได้ตัวเจ้าเมืองรุม เมืองคัง ลงมายังค่าย ทั้งสามพระองค์ก็เลิกทัพคุมเอาตัวเจ้าเมืองรุม เมืองคัง มายังเมืองหงษาวดี แล้วทูลตามซึ่งได้ไชยชำนะ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดียินดี ตรัศชมฝีมือแลความคิดสมเด็จพระนเรศวร แล้วพระราชทานพานทองคำใส่พระภูษาองค์หนึ่ง ทองหนักห้าชั่ง จำหลักเปนรูปเทวดา พระมหาอุปราชาน้อยพระไทยแก่พระนเรศวรนัก ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ทูลลาพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ตรัศให้มังทุ มังอนัน มังอสารจอถ่าง สมิงพัตเบิด ลงไปอยู่หัวเมืองรายทาง ให้จ่ายเสบียงเลี้ยงดูไพร่พลไปกว่าจะถึงแดนพระนครศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จกลับลงมาถึงเมืองพระพิศณุโลกแล้ว ก็เปลื้องเครื่องทรงออกบูชาถวายพระชินราช พระชินสีห์เจ้า ให้กระทำศัพทสมโภชการมหรศพสามวัน แล้วเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาณกรุงเทพมหานคร จึงเอาการซึ่งได้รบพุ่งมีไชยชำนะข้าศึกนั้นกราบทูลให้ทราบ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระไทยยินดีนัก ให้แต่งการสมโภชสมเด็จพระอรรคโอรสาธิราชเจ้าเจ็ดวัน แล้วพระราชทานปูนบำเหน็จทแกล้วทหารทั้งปวงโดยสมควร ครั้นเสร็จการสมโภชแล้ว สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปสถิตย์อยู่ยังเมืองพระพิศณุโลก.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีนั้นมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ดำริห์ว่า พระนเรศวรประกอบไปด้วยปัญญาหลักแหลมฦกซึ้ง ทั้งการสงครามก็องอาจกล้าหาญ นานไปเห็นจะเปนเสี้ยนหนามศัตรูต่อเมืองหงษาวดีเปนมั่นคง จำจะคิดเทครัวอพยพหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงมาไว้เปนกำลังในเมืองหงษาวด็ การศึกพระนเรศวรก็จะถอยกำลังลง ครั้นดำริห์แล้ว จึงตรัศให้นันทสูกับราชสังครำถือพลหมื่นหนึ่งไปตั้งยุ้งฉางอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร นันทสูกับราชสังครำก็ยกไปตั้งทำการอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชรตามรับสั่ง ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีก็คิดเปนอุบายให้มีศุภอักษรออกไปถึงพระนเรศวรว่า บัดนี้ กรุงรัตนบุรอังวะเปนขบถแขงเมืองต่อพระนครหงษาวดี ให้เชิญพระนเรศวรยกมาช่วยการสงครามตีกรุงรัตนบุรอังวะ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าแจ้งดังนั้น สำคัญว่าจริง ก็เสด็จลงไปทูลลาสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็กราบถวายบังคมลาขึ้นมายังเมืองพระพิศณุโลก จึงกำหนดให้ตรวจเตรียมพลสกรรจ์ลำเครื่องแสนหนึ่ง ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย ไว้ให้พร้อม ณวัน ค่ำ ปีฉลู สัปตศก เพลา ๑๑ ทุ่ม ๙ บาท กอประด้วยเพ็ชรฤกษ์ เสด็จทรงพระคชาธารพร้อมด้วยพยุหแสนยากร ทอดพระเนตรเห็นพระสาริริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหารแต่บุรพทิศผ่านพระคชาธารไปโดยปัจฉิมทิศเท่าผลมะพร้าวปอกแล้ว จึงเสด็จยาตราทัพหลวงออกไปโดยประตูไชยแสน ไปถึงตำบลวัดยมท้ายเมืองกำแพงเพ็ชร เวลาบ่าย ๕ โมง เกิดวาตพยุฝนห่าใหญ่แผ่นดินไหวเปนอัศจรรย์ ครั้นรุ่งขึ้น ก็ยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองกำแพงเพ็ชร ตั้งประทับแรมอยู่ตำบลหนองปลิง ๓ เวน แล้วก็ยกไปโดยทางเชียงทองกุมตเหมาะ.

ขณะนั้น พระยากำแพงเพ็ชรส่งข่าวไปถวายว่า ไทยใหญ่ เวียงเลือ เสือต้าน เกียกกาย ขุนปลัด มังทราง มังนิววายลอง กับนายม้าทั้งปวงอันอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร พาครอบครัวอพยพหนี พม่ามอญตามไปทัน ได้รบกันตำบลหนองปลิงเปนสามารถ พม่ามอญแตกแก่ไทยใหญ่ ๆ ทั้งปวงยกไปทางเมืองพระพิศณุโลก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทราบดังนั้น ก็ให้ม้าเร็วไปบอกแก่หลวงโกษาแลลูกขุนอันอยู่รักษาเมืองพระพิศณุโลกว่า ซึ่งไทยใหญ่หนีมานั้น เกลือกจะไปเมืองอื่น ให้แต่งออกอายัติด่านเพ็ชรบุรี เมืองนครไท ชาตการ แสนเซา ให้มั่นคงไว้ อย่าให้ไทยใหญ่ออกไปรอด หลวงโกษาแลลูกขุนทั้งปวงทราบดังนั้นก็แต่งออกไปกำชับด่านทางทั้งปวงตามรับสั่ง ฝ่ายไทยใหญ่ก็พาครอบครัวตรงเข้ามาเมืองพระพิศณุโลก หลวงโกษาแลลูกขุนทั้งปวงก็รับพิทักษ์รักษาไว้ นันทสูกับราชสังครำมีหนังสือมาให้ส่งไทยใหญ่ หลวงโกษาแลลูกขุนผู้อยู่รักษาเมืองพระพิศณุโลกก็มิได้ส่ง ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จยกพยุหแสนยากรไปถึงเมืองแครงณวัน ค่ำ

ขณะนั้น รู้จ่าวไปถึงซักแซกยอถ่างเจ้าเมืองแครง ให้ปลัดเมืองออกมาทูลว่า ขอเชิญเสด็จพักพลอยู่แต่นอกเมืองแครงก่อน สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ให้พักพลอยู่ใกล้อารามพระมหาเถรคันฉ่อง แล้วตรัศให้ข่าวขึ้นไปถึงพระเจ้าหงษาวดีว่า ยกทัพมาถึงเมืองแครงแล้ว พระเจ้าหงษาวดีทราบดังนั้น มีความยินดีว่า ครั้งนี้ จะสมคิดแล้ว จึงให้จัดกองทัพหมื่นหนึ่งออกไปซุ่มไว้ต่อทางพระนเรศวรจะขึ้นมานั้นไกลเมืองหงษาวดีวันหนึ่ง แล้วตรัศให้พระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ลงไปรับ ถ้าพระนเรศวรยกล่วงขึ้นมาแล้ว เราจะยกทัพหลวงออกตีน่า ให้พระยาเกียรติ์ พระยาพระราม เอากองทัพทั้งนี้ตีกระหนาบหลัง จับเอาตัวพระนเรศวรประหารชีวิตรเสียให้จงได้ เมืองหงษาวดีจึงจะเปนอิสรภาพไพศาลกว่าพระนครทั้งปวง พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ กราบถวายบังคมลายกไปถึงเมืองแครง ก็ทูลสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าว่า พระเจ้าหงษาวดีให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้มารับเสด็จขึ้นไป ทูลเท่าดังนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมลาไปนมัสการพระมหาเถรคันฉ่องผู้เปนอาจารย์ แจ้งความซึ่งพระเจ้าหงษาวดีคิดทำการทั้งปวงนั้นให้พระมหาเถรคันฉ่องฟังทุกประการ พระมหาเถรคันฉ่องแจ้งดังนั้น มีใจกรุณาแก่สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า เพื่อว่าหาความผิดมิได้ อนึ่ง ด้วยพระราชกฤษฎาภินิหารบารมีสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าจะได้บำรุงพระบวรพุทธศาสนาอาราประชาราษฎรให้ถาวรวัฒนาการสืบไป ครั้นเพลาค่ำ ก็พาพระยาพระราม พระยาเกียรติ์ เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าแล้วถวายพระพรว่า พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ นี้ เปนสานุศิษย์รูป มาบอกว่า พระเจ้าหงษาวดีคิดประทุษฐร้ายต่อพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าแจ้งดังนั้น ก็ตรัศถามพระยาพระราม พระยาเกียรติ์ ว่า เหตุผลประการใด พระเจ้าหงษาวดีจึงคิดจะทำร้ายเรา พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ ก็กราบทูลตามความซึ่งพระเจ้าหงษาวดีคิดแลสั่งนั้นถวายทุกประการ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าได้ทรงทราบก็น้อยพระไทย คิดอาฆาฎแก่พระเจ้าหงษาวดี จึงตรัศแก่พระมหาเถรคันฉ่องว่า ซึ่งพระผู้เปนเจ้าเมตตาบอกเหตุการแก่ข้าพเจ้าทั้งนี้ พระคุณนั้นหาที่สุดมิได้ อันพระผู้เปนเจ้าจะอยู่ในเมืองมอญนี้ พระเจ้าหงษาวดีแจ้ง อันตรายก็จะมีเปนมั่นคง ข้าพเจ้าจะนำพระผู้เปนเจ้า กับพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม แลญาติโยมทั้งปวง ลงไปอยู่ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา จะได้กระทำปฏิการสนองคุณพระผู้เปนเจ้า แลปลูกเลี้ยงพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ด้วย พระมหาเถรกับพระยาทั้งสองก็ยินยอมพร้อมโดยพระราชบริหาร สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ตรัศแก่มุขมาตยาโยธาหาญทั้งปวงว่า เราหาความผิดมิได้ ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีคิดร้ายต่อเราก่อนนั้น อันแผ่นดินพระมหานครศรีอยุทธยากับแผ่นดินหงษาวดีขาดจากทางพระราชไมตรีกัน เพราะเปนอกุศลกรรมนิยมสำหรับที่จะให้สมณพราหมณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน แล้วพระหัดถ์ก็ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล จึงออกพระโอฐตรัศประกาศแก่เทพยเจ้าทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิแลทิพจักขุทิพโสตรซึ่งสถิตย์อยู่ทุกทิศานุทิศจงเปนทิพพยาน ด้วยพระเจ้าหงษาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยคลองสุจริตมิตรภาพขัติยประเพณี เสียสามัคคีรศธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไป กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับเมืองหงษาวดีมิไดเปนสุวรรณปัถพีเดียวดุจหนึ่งแต่ก่อน ขาดจากกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน ครั้นมีพระราชบริหารประกาศเปนฉินทภาคอุไภยพระมหานครเสร็จแล้ว ก็มีพระราชโองการตรัศสั่งท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงว่า เราจะยกกลับไปพระนครครั้งนี้ จะพาพระมหาเถรคันฉ่อง แลญาติโยม กับพระยาพระราม พระยาเกียรติ์ ไป แล้วจะตีกวาดครัวรามัญเมืองรายทางไปด้วย ครั้นณวัน ค่ำ เพลา ๑๑ ทุ่ม ให้เอาพระคชาธารเข้าเทียบเกย ทอดพระเนตรเห็นพระสาริริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหารแต่ปัจฉิมทิศผ่านพระคชาธารไปโดยบุรพทิศ จึงเสด็จพยุหบาตราทัพออกจากเมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่อง พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ แลญาติโยม ก็มาโดยเสด็จ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงก็แยกย้ายกันตีครัวต้อนครัวรายทางมาได้ประมาณหมื่นเศษ ครั้นถึงฝั่งแม่น้ำสโตง ก็ให้เที่ยวเก็บเรือหาไม้ผูกพ่วงแพเร่งข้ามครอบครัวรี้พลช้างม้าถึงฟากสิ้นแล้ว ก็ให้เผาเรือทำลายแพเสีย พอพระเจ้าหงษาวดีแจ้ง ก็ให้พระมหาอุปราชาถือพลแสนหนึ่ง สุรกำมาเปนกองน่า ตามมาถึงแม่น้ำสโตงฟากหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ให้นายทัพนายกองนำพระมหาเถรคันฉ่องกับครอบครัวรีบยกไปก่อน แต่พระองค์กับทหารลำลองหมื่นห้าพันนั้นยังรออยู่ริมฝั่ง จึงทอดพระเนตรไปเห็นสุรกำมากองน่าใส่เสื้อแดงยืนช้างอยู่ริมฝั่ง ตรัศให้ทหารเอาปืนหามแล่นแลนกสับคาบชุดยิงรดมไป ทหารก็ยิงรดมไปเปนอันมากก็มิได้ถึง จึงสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ทรงพระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบยิงไปต้องสุรกำมาตายตกจากฅอช้าง รี้พลมอญทั้งนั้นเห็นอัศจรรย์ ด้วยแม่น้ำนั้นกว้างเหลือกำลังปืน กลัวพระเดชเดชานุภาพ แลพระมหาอุปราชมิอาจจะตามมา ก็เลิกทัพกลับไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็เสด็จยกมาโดยทางเมืองกาญจนบุรี ครั้นถึงพระนครศรีอยุทธยา ก็กราบทูลสร่ายเรื่องยุบลคดีทั้งปวงถวายให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระราชบิดาแจ้งดังนั้นก็ตรัศว่า เรามิได้มีสิ่งผิด พระเจ้าหงษาวดีมิได้ตั้งอยู่ในคลองธรรมเสียสัตยานุสัตย์ประพฤติพาลทุจริตอิสสาจารเปนวิสมโลภต่อเราฉนี้ ก็เพราะผลวิบากแห่งสัตวเปนสำหรับการกระลียุค ตั้งแต่นี้ไป มอญกับไทยจะเปนปรปักษ์แก่กัน สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็กราบทูลว่า ถึงมาทว่าพระเจ้าหงษาวดีจะยกพยุหแสนยากรมาสักเท่าใด ๆ ก็มิได้เกรง ข้าพเจ้ามีแต่ชีวิตร จะสนองพระคุณมิให้เคืองฝ่าพระบาท สมเด็จพระราชบิดากับสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าดำริห์การกันเสร็จแล้ว จึงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องอยู่วัดพระมหาธาตุเปนสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาบรินายก ติปิฎกธราจารย์ สฤษดิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรอุดรวามคณะสังฆารามคามวาสี สถิตย์อยู่ณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง ทรงถวายสัประทน กันชิง คานหามคนหาม จังหันนิจภัต เครื่องสมณบริขารต่าง ๆ แลซึ่งสมเด็จพระวันรัตนสังฆราชคามวาสีเดิมนั้น โปรดให้ว่าแต่คณะปักษ์ใต้เปนฝ่ายขวา แลคณะคามวาสีซึ่งแบ่งออกเปนสองคณะจำเดิมแต่นั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ฝ่ายพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ก็พระราชทานเจียดทอง เต้าน้ำทอง กระบี่บั้งทอง เงินตรา เสื้อผ้าพรรณนุ่งห่ม แลเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก แลครอบครัวมอญซึ่งกวาดลงมานั้น ก็พระราชทานให้พระยาพระราม พระยาเกียรติ์ ควบคุมว่ากล่าวด้วย แลพระยาพระราม พระยาเกียรติ์ นั้น ให้อยู่ตำบลบ้านขมิ้นวัดขุนแสน ญาติโยมพระมหาเถรคันฉ่องนั้น ให้อยู่ตำบลบ้านหลังวัดนก แล้วสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากราบถวายบังคมลาขึ้นมายังเมืองพระพิศณุโลก เสด็จเข้าไปถวายนมัสการพระชินราช พระชินสีห์ จึงทรงพระราชอุทิศศรัทธาเปลื้องเครื่องสุวรรณอลงการ์ขัติยาภรณ์ออกกระทำสักการบูชา แล้วเสด็จออกพร้อมด้วยมุขมาตยมนตรี.

ขณะนั้น หลวงโกษาแลลูกขุนทั้งปวงผู้รักษาเมืองนั้นก็นำบันดานายไทยใหญ่เข้าเฝ้า จึงบังคมทูลว่า มีหนังสือนันทสู ราชสังครำ ซึ่งมาตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชรมาให้ส่งไทยใหญ่แลครัวซึ่งหนีมาอยู่ณเมืองพระพิศณุโลก ข้าพเจ้าตอบไปว่า ธรรมดาพระมหากระษัตราธิราชผู้ดำรงทศพิธราชธรรมนั้นอุประมาดังร่มพระมหาโพธิอันใหญ่ แลมีผู้มาพึ่งพระราชสมภารหวังจะให้พ้นจากไภยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งนันทสูกับราชสังครำจะให้ส่งไทยใหญ่ไปนั้น ไม่ควรด้วยคลองขัติยราชประเพณีธรรม ฝ่ายนันทสูกับราชสังครำแจ้งดังนั้นก็ปฤกษากันว่า สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ายกพยุหบาตราทัพขึ้นไปเมืองหงษาวดีครั้งนี้ เหตุไฉนจึงไม่กลับโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชรเล่า บัดนี้ ก็มีหนังสือเปนคำฉกรรจ์องอาจมาดังนี้ เห็นประหลาดนัก เราจะอยู่มิได้ จำจะเลิกครัวเมืองกำแพงเพ็ชรอพยพไปเมืองหงษาวดี จึงจะมีความชอบ แลข่าวทั้งนี้ก็แจ้งไปถึงเมืองพระพิศณุโลก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าให้ประชุมท้าวพระยามุขมนตรีปฤกษาว่า ซึ่งเราจะละให้ชาวเมืองกำแพงเพ็ชรฉิบหายพลัดพรายจากภูมิลำเนานั้นมิชอบ เราจะยกไปตีนันทสูกับราชสังครำมิให้เอาครัวเมืองกำแพงเพ็ชรไปได้ ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงก็เห็นโดยพระราชบริหาร สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ตรัศให้ข้าหลวงไปกุมเอาพม่ามอญซึ่งมาอยู่ประจำหัวเมืองฝ่ายเหนือส่งลงไปกรุงเทพมหานครสิ้น แล้วกำหนดไปแก่พระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย ให้โดยเสด็จ จะยกไปเอานันทสูกับราชสังครำ จึงให้ตรวจรี้พลช้างม้า ครั้นณวัน ค่ำ เพลาชายแล้ว ๕ บาท ก็เสด็จพยุกบาตราทัพจากเมืองพระพิศณุโลกไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร ฝ่ายนันทสูกับราชสังครำรู้ข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเสด็จมา ก็เลิกรี้พลช้างม้าหนีไปจากเมืองกำแพงเพ็ชร สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทราบ ก็ตรัศให้พระยาไชยบูรณ ขุนพระศรี แลพระหัวเมืองทั้งปวง ยกรี้พลช้างม้าเปนกองน่าทัพหลวงตามไป พระยาไชยบูรณตามมาทันถึงตำบลแม่รกา นันทสูกับราชสังครำก็ยอช้างม้ารี้พลรบพุ่งพระยาไชยบูรณแลข้าหลวงทั้งปวงเปนสามารถ ในขณะนั้น พระยาไชยบูรณขี่ช้างพลายปืนพระราม ได้ชนช้างนันทสู ช้างนันทสูได้ล่าง ช้างพระยาไชยบูรณเสียทีแปรไป นันทสูจ้วงฟันด้วยของ้าวต้องนิ้วชี้พระยาไชยบูรณกระทบขอขาด ช้างพระยาไชยบูรณกลับได้ล่างค้ำถนัด ช้างนันทสูทานกำลังไม่ได้ขวางพ่ายไป ขุนพระศรีขี่ช้างพลายศัตรูพินาศ ได้ชนด้วยช้างราชสังครำเปนสามารถ ช้างราชสังครำก็แพ้แก่ข้าหลวงทั้งสอง แลนันทสูกับราชสังครำก็รุดหนีไปโดยทางเชียงทอง ครั้งนั้น ได้ไทยใหญ่ชาวแสนหวีอันมาอยู่กับเชียงทอง สกรรจ์ แลครัวอพยพ ประมาณสองหมื่นเศษ แต่ผู้มีบันดาศักดิ์ เจ้าฟ้าเมืองจี่ เจ้าฟ้าเมืองลองแจใหม่ เมืองปากสมิงตีม้ายาเยื่อ แลไทยใหญ่ชาวม้าทั้งปวง ก็เอาครัวอพยพออกมาสู่พระราชสมภาร จึงแต่งช้างม้ารี้พลแลทหารช่วยตามตีนันทสูกับราชสังครำถึงตำบลแม่รางสะรางแล้ว ก็กลับมายังทัพหลวงตำบลเชียงทอง.

ฝ่ายพระยาพิไชยข้าหลวงเดิมแจ้งว่า สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับพระเจ้าหงษาวดีเปนปรปักษ์แก่กัน ก็คิดการขบถ ครั้นแจ้งพระราชกำหนด ก็มิได้ยกไปโดยเสด็จ จึงซ่องสุมชาวเมือง แล้วกวาดครอบครัวของตัวแลครัวชาวเมืองทั้งปวงซึ่งเข้าด้วยนั้นไปณเมืองสวรรคโลก แจ้งความทั้งปวงแก่พระยาสวรรคโลก ๆ ก็ลงใจด้วย คิดกันจะยกไปตีเอาเมืองพระพิศณุโลก แต่หลวงปลัด แลขุนยกรบัตร ขุนนรนายก ไซ้ มิได้ลงด้วย พระยาทั้งสองจึงให้กุมเอาหลวงปลัด ขุนยกรบัตร ขุนนรนายก จำไว้.

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าแจ้งว่า พระยาทั้งสองเปนขบถ จึงยกทัพหลวงเสด็จจากเชียงทองไปเมืองสวรรคโลก เสด็จไปทางศุโขไทย ครั้นเสด็จถึงศุโขไทย ก็ตั้งทัพหลวงตำบลวัดฤๅษีชุม จึงทรงพระกรุณาตรัศให้ชาวพ่อชุมนุมพราหมณาจารย์ เอาน้ำในบ่อพระสยมภูวนารถแลเอาน้ำตระพังโพยสีมามาตั้งบูชาโดยกิจพิธีกรรมเปนน้ำสัตยาธิษฐาน แลเอาพระศรีรัตนไตรยเจ้าเปนประธาน ให้ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทหารทั้งหลายกินน้ำสัตยาแล้ว ครั้นรุ่ง ก็ยกทัพหลวงเสด็จขึ้นไปโดยทางเขาคับถึงเมืองสวรรคโลก ณวัน ค่ำตั้งทัพหลวงตำบลไม้งาม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงพระกรุณาแก่พระยาทั้งสอง ตรัศให้ข้าหลวงเข้าไปร้องประกาศว่า ให้พระยาทั้งสองออกมาถวายบังคม ทรงพระกรุณามิได้เอาโทษ แลพระยาพิไชย พระยาสวรรคโลก มิได้โดยพระราชโอวาท ทำอุกอาจตรวจตราจัดไพร่พลเมืองขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินป้องกันเมืองไว้ แล้วพระยาทั้งสองก็ฆ่าหลวงปลัด ขุนยกรบัตร ขุนนรนายก ซึ่งมิลงด้วยนั้นเสีย ตัดเอาศีศะซัดออกมาให้ข้าหลวง สมเด็จพระนเรศวรเจ้าทรงพระพิโรธ ครั้นเพลาค่ำ ก็ตรัศให้ยกพลทหารเข้าปล้นเมืองตำบลประตูสามเกิดแห่งหนึ่ง ปล้นแต่ค่ำถึงเที่ยงคืน แลเผาป้อมชั้นนอกประตูสามเกิด ก็เข้ามิได้ จึงมีพระราชโองการตรัศถามโหราจารย์ว่า ยังจะได้เมืองสวรรคโลกฤๅ โหราจารย์บังคมทูลว่า คงจะได้ แต่ซึ่งจะปล้นข้างประตูสามเกิดนี้ เห็นจะได้ด้วยยาก ถ้าปล้นข้างทิศดอนแหลมไซ้ เห็นจะได้โดยง่าย เพราะทิศข้างนั้นเปนอริแก่เมือง จึงมีพระราชโองการตรัศให้พระยาไชยบูรณ ขุนหลวงธรรมไตรโลก ขุนราชรินทร ยกพลจากประตูสพานจันมาตั้งข้างประตูดอนแหลม แล้วให้เร่งแต่งการอันจะเข้าปล้นเมือง อนึ่ง ที่ประตูสามเกิดแลประตูป่าหม้อ ก็ให้แต่งพลทหารเข้ารบพุ่งจนสว่างก็ยังมิได้.

ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ค่ำ ก็ยกทัพหลวงมาตั้งประตูข้างดอนแหลม แล้วก็เร่งแต่งการให้เข้าปล้นเมืองนั้นเปนสามารถ ชาวเมืองยิงปืนไฟพุ่งสาตราวุธมาต้องพลข้าหลวงป่วยเจ็บล้มตายเปนอันมาก จะปีนกำแพงขึ้นมิได้ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ตรัศให้ลงโทษขุนอินทรเดชะผู้เปนยุกรบัตรอันบังคับต้อนพลเข้าปล้นเมือง แลนายทัพนายกองทั้งหลายนั้นให้มัดตระเวนรอบทัพ จึงขุนอินทรเดชะแลข้าหลวงทั้งปวงถวายทานบนว่า จะขอปล้นเมืองให้ได้ พระยาไชยบูรณบังคมทูลว่า ซึ่งไปมิได้ตั้งค่ายประชิแลจะปีนปล้นเอาเมืองดังนี้ พลทหารทั้งหลายจะทำการมิสดวก เพราะชาวเมืองป้องกันถนัด จะขอทำค่ายประชิแลปลูกหอรบให้สูงเทียมกำแพง แล้วจะได้ยิงปืนใหญ่น้อยสาดเข้าไป เจ้าน่าที่ก็จะรส่ำรสาย เห็นจะได้เมืองโดยง่าย สมเด็จพระนเรศวรเปนเห็นชอบด้วย ก็ให้ตัดไม้ใหญ่แลไม้โตนดมาทำตามพระยาไชยบูรณกราบทูล ครั้นณวัน ค่ำ เวลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท ยกพลทหารเข้าเผาประตูดอนแหลมนั้นทลายลง จึงให้พลทหารตรูกันเอาบันไดเข้าพาดกำแพงปีนเข้าไปในเมืองนั้นได้ แลตัวพระยาสวรรคโลกก็หนีไปพึ่งอยู่บนกุฎีพระสงฆ์ณวัดไผ่ใต้ แลชาวทหารก็ตามไปกุมตัวได้เอามาถวาย ส่วนพระยาพิไชยหนีจากเมืองสวรรคโลกไปถึงแดนกะจุนจะไปพึ่งเมืองเชียงใหม่ ชาวด่านก็กุมเอาพระยาพิไชยมาถวาย สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าดำรัศให้มัดพระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย ตระเวนรอบทัพ แล้วให้ฆ่าเสีย จึงตรัศให้เทเอาครัวอพยพทั้งปวงมายังเมืองพระพิศณุโลก แล้วให้เชิญรูปพระยาร่วง พระยาฦๅ อันรจนาด้วยงาช้างเผือกงาดำนั้นมาด้วย ถึงณวัน ค่ำ เวลาสิบเอ็จทุ่ม ๘ บาท ให้เรียกช้างพระที่นั่งประทับเกย เห็นพระสาริริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหารแต่ตวันตกผ่านช้างพระที่นั่งมาตวันออกโดยทางที่จะเสด็จมานั้นเท่าผลมพร้าวปอกแล้ว ก็ยกทัพหลวงเสด็จคืนมาโดยทางน้ำขุ่น ทางพิไชย เสด็จมาถึงเมืองพระพิศณุโลก ขณะนั้น พอสมเด็จพระราชบิดาดำรัศให้พระยาราชนิกูล หมื่นเทพเสนา หมื่นราชามาตย์ นำเอาหนังสือกับขุนเทพโกษา หมื่นไชยสงคราม หมื่นเทพปรีชา เขมรสามนายซึ่งพระยาแลวกแต่งให้เปนทูตถือหนังสือ มาทางด่านเมืองระยอง ในหนังสือนั้นว่า พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีรำพึงถึงพระคุณสมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา แลสมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรเปนเจ้าเมืองพระพิศณุโลก ได้เสวยราชสมบัติครองพิภพกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาโดยบุราณพระมหากระษัตราธิราชนั้น เห็นว่า บุญญานุภาพประเสริฐนัก ด้วยแต่ก่อนนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกทรงพระมหากรุณาพระเชษฐาข้าพระบาทซึ่งเปนปรปักษ์ต่อพระองค์ แล้วมิได้มีพระไทยอาฆาฏ ปลูกเลี้ยงให้ตั้งอยู่ในเสวตรฉัตรกรุงกัมพุชประเทศ แล้วรับเอานักพระสุโท นักพระสุทัน ไปชุบเลี้ยงเปนราชบุตรบุญธรรมนั้น พระคุณใหญ่หลวงนัก ฝ่ายข้าพระบาทนี้เล่าก็เปนคนโมหจิตรคิดประทุษฐร้ายเปนปัจจามิตรต่อพระองค์แต่ก่อนนั้น โทษผิดนัก ขอพระองค์จงให้อไภยโทษแก่ข้าพเจ้า บัดนี้ ข้าพระบาทกับท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขสมณพราหมณาจารย์ทั้งหลายขอเปนพระราชไมตรีด้วยพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทราบดังนั้น ก็มีพระไทยยินดี พระราชทานทูตานุทูต แล้วดำรัศให้แต่งหนังสือตอบไปเปนใจความว่า ซึ่งพระยาแลวกโมหจิตรแล้วคิดกลับได้มาขอเปนราชไมตรีนั้น เราก็อไภยโทษให้ อันเมืองแลวกโพ้นจะถาวรบริบูรณ์ทั้งสมณพราหมณาจารย์ ไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมากรุงกัมพุชจะเปนศุขานุศุขสืบไป ถึงเดือนแปด ปฐมาสาธ จึงดำรัศให้เมืองศรีภิรมย์ ขุนพศรี หมื่นรามณรงค์ ถือรับสั่งออกไปกับทูตานุทูตเมืองแลวก.

ครั้นณวัน ๑๑ ค่ำ ปีขาล อัฐศก จึงตรัศให้ส่งครอบครัวไทยใหญ่ซึ่งมาพึ่งพระโพธิสมภารลงไปยังกรุงมหานคร สมเด็จพระราชบิดาก็พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ไทยใหญ่ทั้งปวง แล้วก็ให้ตั้งบ้านอยู่ตำบลวัดป้อม ครั้นถึงเดือน ๘ ทุติยาสาธ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศให้ขุนอินทรเดชะเปนนายกองทัพพลสามพัน ช้างเครื่องสามสิบ ม้าร้อยหนึ่ง ไปลาดถึงแดนเชียงใหม่ ให้ฟังข่าวคราวเมืองหงษาวดีด้วย ในวันจะยกทัพนั้น พระมหาโพธิใหญ่ในกำแพงสนามน่าวังนั้นหาเหตุการณ์มิได้ กิ่งข้างตวันตกนั้นหักลงกิ่งใหญ่ประมาณสามอ้อน ถึงณวันอาทิตย์ เดือนเก้า แรมห้าค่ำ ขุนอินทรเดชะกลับลงมาถึงเมืองพระพิศณุโลก.

แลในเดือนเก้านั้น มีพระราชกำหนดสมเด็จพระราชบิดาให้ขึ้นไปเทครัวอพยพชาวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังพระนครศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า ครั้นแจ้งพระราชกำหนดดังนั้น ตรัศให้เทครัวอพยพในเมืองพระพิศณุโลก เมืองพิไชย เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทย เมืองกำแพงเพ็ชร์ เมืองพิจิตร เมืองเล็กน้อยทั้งนั้น ลงบรรทุกเรือบ้างแพบ้าง แล้วแต่งเรือคุมเปนหมวดเปนกองแลแต่งกองทัพป้องกันทั้งสองฝั่งฟากน้ำลงมามิให้ครัวหนีได้จนถึงกรุงเทพมหานคร ครั้นณวัน ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็เสด็จจากเมืองพระพิศณุโลกลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศให้บำรุงการป้องกันพระนคร แลซ่อมกำแพงป้อมค่ายหอรบเชิงเทินทั้งปวงรอบพระนคร แล้วก็ให้ขุดคูเมืองเบื้องบุรพทิศนั้นให้กว้างฦกเปนแม่น้ำประจบกันรอบพระนคร เสร็จก็ให้ถ่ายเข้าเทครัวอพยพเมืองนอกทั้งปวงเข้ามาในพระนคร แล้วซ่องจัดทหารอาสาทั้งหลายทุกหมู่ทุกกรมตกแต่งเครื่องสรรพยุทธไว้สรรพ.

ฝ่ายเมืองศรีภิรมย์ แลขุนพศรี หมื่นรามณรงค์ ผู้ถือรับสั่งนั้น ครั้นไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดี พระยาแลวกให้แต่งรับ แล้วจึงให้เบิกเมืองศรีภิรมย์ แลขุนพศรี หมื่นรามณรงค์ เข้ามาเฝ้า แลได้ฟังลักษณราชอักษร พระยาแลวกยินมลากยินดีซึ่งจะได้เปนพระราชไมตรี พระยาแลวกให้รางวัลแก่เมืองศรีภิรมย์ ขุนพศรี หมื่นรามณรงค์ พระยาแลวกก็แต่งให้พระราชาอุไภย พระอินทราเดโช พระทรงคเชนทร หลวงศรีราชนคร หลวงมฤทธิคเชนทร หลวงนเรนทมฤทธิ จำทูลพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการมาด้วยเมืองศรีภิรมย์ ขุนพศรี หมื่นรามณรงค์ ครั้นทูตานุทูตชาวแลวกมาถึงพระนคร จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัศให้เบิกทูตานุทูตเข้าถวายบังคม พระราชทานแก่ทูตานุทูตนั้น แล้วก็ให้แต่งพระราชสาสนตอบพระยาแลวก ให้พระศรีเสาวราช ขุนหลวงธรรมาทิต ขุนมงคลรัตน ขุนจันทราเทพ ขุนเทียรฆราษ หมื่นธรรมเถียร จำทูลพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการไปด้วยทูตานุทูตอันมานั้น.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดี ตั้งแต่พระนเรศวรเปนเจ้าพาพระมหาเถรคันฉ่อง แลญาติโยม กับพระยาเกียรติ์ พระยาพระราม แล้วเอาครัวอพยพกลับไปยังพระนครศรีอยุทธยา ทั้งนันทสู ราชสังครำ เล่า ก็มาแจ้งเหตุทุกประการ ทรงพระพิโรธคิดอาฆาฏหมายจะเอาพระนครศรีอยุทธยาให้ได้ ครั้นถึงศักราช ๙๒๙ ปีเถาะ นพศพ เดือนสิบ ขึ้นเก้าค่ำ จึงตรัศให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกช้างม้ารี้พลทัพบกแลทัพเรือประมาณแสนหนึ่งลงมาโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชร์ แลให้พระยาพสิมผู้เปนอาว์ยกช้างม้ารี้พลประมาณสามหมื่นมาโดยทางกาญจนบุรี ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ให้จัดช้างม้ารี้พลโดยขบวนทัพบกทัพเรือเสร็จ ครั้นณวัน ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า สามโมง ๖ บาท ได้มหาศุภวารดิถีวิไชยฤกษ์อันอุดม ก็เสด็จทรงพระคชาธารพร้อมพลแสนยากรทวยหาญมโหฬารดิเรกด้วยกลิ้งกลดแลฆ้องกลองแตรสังข์ศัพทเภรีนฤนาทกึกก้องมาโดยรัถยางควิถีทางเมืองกำแพงเพ็ชร์ แลทัพพระยาพสิมนั้นยกมาถึงเมืองสุพรรณบุรีในวัน ค่ำ ฝ่ายทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยังไป่มิได้มาถึงเมืองนครสวรรค์.

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศรู้ข่าวศึกอันยกมาทั้งสองทางนั้น ก็ตรัศให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนเรศวรเปนเจ้าแลสมเด็จพระเอกาทศรฐเตรียมช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือไว้สรรพ จึ่งตรัศให้พระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกเปนกองทัพเรือ ตรัศให้พระยาพระคลังเปนยุกรบัตร ให้ยกทัพเรือนั้นไปเมืองสุพรรณบุรี ครั้นยกทัพเรือไปถึงเมืองสุพรรณบุรี พระยาพสิมก็ยกทัพออกมารบด้วยกองทัพกรุง ๆ ก็วางปืนใหญ่ขึ้นไปต้องพลข้าศึกล้มตายเปนอันมาก แลทัพพระยาพสิมจะตั้งอยู่มิได้ ก็เลิกออกไปทางราชสิงห์ แลไปตั้งทัพมั่นอยู่ในตำบลเขาพญาแมน.

ถึงณวัน ค่ำ เวลายามกับสองนาฬิกาเก้าบาท จึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทั้งสองพระองค์เสด็จยกพยุหบาตราทัพจากพระนครศรีอยุทธยาไปโดยชลมารค เสด็จขึ้นเหยียบชิงไชยภูมิตำบลลุมพลี แลให้พระพิไชยสงครามฟันไม้ข่มนาม แล้วเสด็จจากลุมพลีประทับเรือพระที่นั่งณเมืองวิเศษไชยชาญ จึงเสด็จพยุหบาตราทัพขึ้นโดยสถลมารคไปตั้งทัพหลวงณตำบลสามขนอน แลเมื่อตั้งทัพอยู่สามขนอนนั้น ม้าตัวหนึ่งตกลูกเปนสองตัวศีศะเดียวกัน มีเท้าตัวละสี่เท้าชิงศีศะกัน จึงบัญชาสั่งให้เจ้าพระยาศุโขไทยเปนนายกองแลท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลายยกช้างม้ารี้พลหมื่นหนึ่งก้าวสลักออกไปตีทัพพระยาพสิมณเขาพญาแมน แลพบทัพน่าข้าศึก ได้รบพุ่งกัน พม่ามอญก็แตกฉานล้มตายเปนอันมาก พระยาพสิมก็เลิกทัพยกหนีไป เจ้าพระยาศุโขไทยแลข้าหลวงยกตามไปถึงกาญจนบุรี จับได้ฉางชวีกับช้างม้ามาถวาย แลทัพหลวงตั้งอยู่ตำบลสามขนอนนั้น ๗ เวน จึ่งเสด็จยกทัพหลวงเลี้ยวมาโดยทางสุพรรณบุรี ก็เสด็จคืนเข้าพระนครศรีอยุทธยา.

ครั้นทัพพระยาพสิมแตกฉานพ่ายไปแล้ว ในเดือนเดียวนั้น ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่มิได้รู้ว่า พระยาพสิมพ่ายไป ก็ยกทัพบกทัพเรือลงมาเมืองนครสวรรค์ แล้วยกกองทัพล่วงลงมาถึงเมืองไชยนาท ก็ให้ไชยกยอสูแลนันทกยอสูยกช้างม้าแลพลประมาณหมื่นห้าพันเปนทัพน่าลงมาตั้งถึงบางพุทรา บางเกี่ยวหญ้า.

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชแจ้งข่าว ก็เสด็จยกทัพบกทัพเรือขึ้นไปโดยทางลำแม่น้ำใหญ่ ตั้งตำบลชไว ก็ตรัศให้พระราชมนูเปนนายกอง ขุนราชเดชะเปนยุกรบัตร ยกทัพม้าสองร้อยแลพลทหารอาสาสามพันขึ้นไปตีทัพข้าศึกอันมาตั้งอยู่ตำบลบางเกี่ยวหญ้า พระราชมนูแลขุนรามเดชะก็ยกขึ้นไปตั้งเปนทัพซุ่มอยู่ในป่า ครั้นข้าศึกออกเกี่ยวหญ้าช้างแลออกลาดหากินก็ดี พระราชมนูแลขุนรามเดชะก็โจมตีฆ่าฟันข้าศึกไปจนค่าย ได้ช้างม้าแลเชลยส่งลงมาถวายเปนอันมาก ไชยกยอสูแลนันกยอสูเห็นเหลือกำลัง ก็เลิกทัพขึ้นไปหาทัพใหญ่ณเมืองไชยนาท พระราชมนูแลขุนรามเดชะตามตีข้าศึกขึ้นไปถึงค่ายใหญ่ณเมืองไชยนาทบุรี ขณนั้น พระเจ้าเชียงใหม่รู้ข่าวว่า ทัพพระยาพสิมซึ่งยกมาทางเมืองกาญจนบุรีนั้นแตกฉานพ่ายหนีไปแล้ว ก็ปฤกษาด้วยท้าวพระยาทั้งหลายว่า กำหนดพระเจ้าหงษาวดีบัญชาให้ทัพพระยาพสิมมาบรรจบพร้อมกันกับทัพเรา แลทัพพระยาพสิมรีบรุดยกเข้ามาก่อนแล้วแตกฉานไปดังนี้ ควรเราจะเลิกทัพคืนไปฟังกำหนดพระเจ้าหงษาวดีก่อน อนึ่ง เรายกทัพมาคราวนี้ ยังมิได้บำรุงการศึกมาเปนสามารถ ทั้งมิได้ควบคุมทัพพร้อมมูลกัน จึงเสียที บัดนี้ เราจะยกทัพกลับคืนไปก่อน จะบำรุงการศึกไว้ท่าพระราชกำหนดพระเจ้าหงษาวดี ครั้นปฤกษาพร้อมกันแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่ก็เลิกทัพจากเมืองไชยนาทบุรีกลับคืนไปเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชแจ้งว่า ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกเลิกกลับไปแล้ว ก็เสด็จคืนเข้ายังพระมหานครศรีอยุทธยา กราบทูลประพฤดิเหตุแก่สมเด็จพระราชบิดาทุกประการ.

ในเดือนสี่ ปีเถาะนั้น พระยาแลวกก็ใช้พระอุไภยพงษาแลหลวงสุภาทิพจำทูลพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการมาด้วยพระศรีเสาวราชแลทูตานุทูตทั้งหลายอันไปนั้น ในลักษณพระราชสาสนพระยาแลวกมาคราวนั้นว่า ขอให้หลั่งน้ำสัตโยทกตั้งสีมาจาฤกสำหรับการพระราชไมตรีตามประเพณีบุราณพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็แต่งท้าวพระยาขุนมนตรีแลสมณพราหมณาจารย์ทั้งหลายไปหลั่งน้ำสัตโยทก ฝ่ายขุนมนตรีไซ้ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก เจ้าพระยาศุโขไทย พระยาเทพรณงค์ฦๅไชย พระยาพลเทพ พระศรีภูริปรีชา แลขุนหมื่นทั้งหลาย ฝ่ายพระสงฆ์ไซ้ สมเด็จพระสังฆราชคามวาสีอรัญวาสี พระครูสดำ พระครูเฉวียง แลพระสงฆ์ ๒๐ รูป ฝ่ายพราหมณาจารย์ไซ้ พระมเหธรราชสุภาวดี พระราชปโรหิตาจารย์ พระเทพาจารย์ พระโหราธิบดี แลชีพ่อพราหมณาจารย์ ๑๐ คน ฝ่ายพระยากัมพูชาธิบดีก็แต่งเจ้าฟ้าทะละหะ พระยาธรรมเดโช พระยาจักรรัตน พระศรีภูริปรีชา แลท้าวพระยาเสนาบดีสมณพราหมณาจารย์ในกรุงกัมพุชประเทศนั้นมาหลั่งน้ำสัตโยทก จึงท้าวพระยาเสนาบดีแลพราหมณาจารย์ทั้งสองฝ่ายก็ชุมนุมกันในท้ายสระเกษ ก็แต่งการที่จะหลั่งน้ำสัตโยทกในที่นั้น ถึงณวัน ๑๒ ค่ำ ประกอบด้วยศุภฤกษ์ จึงฝังสีมาจาฤกสัตยาธิษฐานลงในศิลาบาตร แล้วก็หลั่งน้ำสัตโยทกเหนือพื้นมหาปัถพีเปนสักขีทิพพยาน เพื่อจะให้พระราชไมตรีสีมามณฑลทั้งสองฝ่ายมั่นคงตรงเท่ากัลปาวสาน แล้วก็ให้อุปสมบทกรรมภิกษุ ๖ รูปในที่นั้น.

ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่เลิกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งก็ทรงพระโกรธว่า พระเจ้าเชียงใหม่มิได้ยกลงไปโดยกำหนด จึงไม่ทันกองทัพพระยาพสิม ๆ จึงเสียทีแก่ข้าศึก ครั้นจุลศักราช ๙๓๐ ปีมโรง สำเรทธิศก พระเจ้าหงษาวดีดำรัศให้พระยาอภัยคามินี กับซักแซกยอถ่าง สมิงโยคราช ๓ นาย ไปกำกับทัพเชียงใหม่ให้เร่งยกลงไปตีเอาพระนครศรีอยุทธยาให้ได้ พระเจ้าเชียงใหม่แจ้งพระราชกำหนด ก็จัดช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ให้พระยาเชียงแสนถือพลหมื่นห้าพัน ช้างเครื่องร้อยห้าสิบ ม้าพันหนึ่ง เปนทัพน่า ครั้นเดือนสิบสอง ก็ยกจากเมืองเชียงใหม่มาโดยทางเมืองลี่ แลทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาคราวนั้นพลแสนหนึ่ง ช้างเครื่องสามร้อย ม้าสามพัน เรือรบเรือลำเลียงพันลำ แล้วเคลื่อนทัพบกทัพเรือลงมาตั้งชุมนุมพลณเมืองนครสวรรค์ในวัน ค่ำ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบข่าวศึกยกมาดังนั้น ก็ดำรัศให้ถ่ายเข้าเทครัวเข้าในพระนคร แล้วให้จัดตรวจรี้พลแลเครื่องสรรพยุทธไว้สำหรับน่าที่กำแพงรอบพระนคร แล้วจึงมีพระราชกำหนดให้นายทหารอาสาทั้งปวงคุมพลเปนหลายกองยกออกไปซ่องคนซึ่งซ่านเซ็นอยู่ป่า แล้วยกเปนกองโจรคอยก้าวสกัดตีโดยทางข้าศึกจะยกออกมาอย่าให้ออกลาดหากินได้สดวก ฝ่ายพระยาแลวกแจ้งข่าวออกไปว่า กองทัพเมืองหงษาวดียกมากระทำแก่พระนครศรีอยุทธยา จึงดำรัศปฤกษาท้าวพระยาเสนามุขมนตรีว่า กรุงกัมพูชาธิบดีกับพระนครศรีอยุทธยาพึ่งเปนทางพระราชไมตรีกัน บัดนี้ มีปัจจามิตรข้าศึก ครั้นจะมิไปช่วย ก็จะเสียทางพระราชไมตรี ก็จะไม่ถาวรวัฒนาสืบไป จำจะให้ยกกองทัพไปช่วย ท้าวพระยาเสนามุขมนตรีทั้งปวงก็เห็นพร้อมด้วย พระยาแลวกก็ให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เปนพระอนุชาถือพลหมื่นหนึ่ง ช้างเครื่องร้อยหนึ่ง ม้าสามร้อย ยกเข้ามาช่วยทางด่านเมืองปราจิณบุรี กรมการบอกเข้ามาให้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรัศให้หลวงราชเสนา หลวงเสนาภักดี กับขุนพิพิธวาที หมื่นพจนาพิจิตร ออกไปรับพระศรีสุพรรณมาธิราชเข้ามาเฝ้า แล้วตรัศสั่งให้กองทัพเขมรตั้งอยู่ตำบลวัดพระผแนงเชิง ครั้นณวัน ค่ำ พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพบกทัพเรือล่วงลงมาตั้งค่ายมั่นอยู่ตำบลสระเกษ แล้วแต่งให้เจ้าเมืองพเยาคุมทัพม้าพันหนึ่งไปลาดจับคนดูกองทัพจะออกมาตั้งอยู่ตำบลใดบ้าง เจ้าเมืองพเยายกทัพม้ามาถึงสพานขายเข้า ก็เที่ยวเผาบ้านเรือน ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชทราบดังนั้น ก็เสด็จโดยชลมารคถึงสพานขายเข้า ให้ทหารยกขึ้นไป ได้รบกันถึงตลุมบอน ยิงแทงถูกเจ้าเมืองพเยากับทหารตกม้าตาย ๒๐ คน เจ็บป่วยเปนอันมาก ทัพม้าทั้งนั้นก็แตกถอยไป ได้ม้า ๒๐ ม้า แล้วเสด็จคืนเข้าพระนคร.

ครั้นถึงเดือนห้า ปีมเสง เอกศก พระเจ้าหงษาวดีดำรัศให้พระมหาอุปราชาถือพลห้าหมื่นลงมาตั้งทำนาณเมืองกำแพงเพ็ชร แล้วแต่งหนังสือรับสั่งให้สมิงพตะเบิดถือไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ว่า อันพระนครศรีอยุทธยานั้น แม่น้ำเปนคูรอบ แต่องค์สมเด็จพระราชบิดาเรามีบุญบารมีปราบได้ถึงสิบทิศยังทำการปี ครั้งนี้ ทั้งพระมหาธรรมราชาก็มีราชบุตรสององค์ การสงครามก็องอาจกล้าหาญ ถึงมาทว่าพลทหารเราจะมากกว่าสักร้อยเท่าก็ดี อันจะหมิ่นหักเอาโดยเร็วเหมือนยังเมืองทั้งปวงนั้นมิได้ จำจะคิดเปนการปีจึงจะได้ บัดนี้ ก็ให้พระมหาอุปราชาถือพลห้าหมื่นยกหนุนลงมาตั้งทำนาอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร ให้พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งมั่นไว้อย่าให้ชาวพระนครออกหักได้ แล้วให้ทำไร่นาตั้งยุ้งฉางผ่อนเสบียงณเมืองเชียงใหม่ลงไปไว้จงมาก ประการหนึ่ง ให้แต่งออกลาดอย่าให้ชาวเมืองทำไร่นาลงได้ พระนครศรีอยุทธยาจึงจะผอม ออกพระวัสสาแล้ว ทัพหลวงจึงจะเสด็จลงไปพร้อมกัน จะหักเอาทีเดียว พระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งพระราชกำหนดพระเจ้าหงษาวดีดังนั้น ก็ให้ขยายค่ายขุดคูตั้งป้อมพูนเชิงเทินหอรบมั่นคงตามรับสั่ง แล้วแต่งกองออกเที่ยวลาดเปนหลายกอง ได้รบกันกับกองตระเวน ชาวพระนครตีแตกเปนหลายครั้ง ที่จับได้เปนก็ส่งเข้าไปถวาย ถามได้เนื้อความแจ้งสิ้นทุกประการ.

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงดำรัศแก่พระบรมราชโอรสทั้งสองพระองค์ว่า พระเจ้าหงษาวดีคิดการปี ให้พระมหาอุปราชาผู้เปนพระราชบุตรถือพลห้าหมื่นยกมาตั้งทำนาอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร พระเจ้าเชียงใหม่ถือพลแสนหนึ่งยกมาตั้งมั่นอยู่ตำบลสระเกษ ปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงอาหารมาไว้ ออกพระวัสสาแล้ว ทัพพระเจ้าหงษาวดีจะยกมาบรรจบกัน ซึ่งเราจะละไว้ให้ทัพประชุมกันเข้าทั้งสามทัพนั้น กำลังศึกจะมากขึ้น จะหนักมือจะเหนื่อยแรงทหารนัก ทั้งไพร่ฟ้าประชากรก็จะมิได้ทำไร่นา กำลังพระนครก็จะถอยลง เราจะยกไปตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่เสียก่อนอย่าให้ตั้งอยู่ได้ ประการหนึ่ง ก็จะได้ชมมือทหารทั้งปวงด้วย สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชกราบถวายบังคมฉลองพระราชโองการว่า อันทัพพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งมาตั้งอยู่ตำบลสระเกษนี้ ชีวิตรข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองอยู่ในใต้เบื้องบาท อย่าได้ทรงวิตกเลย จะตีเสียให้แตกไปจงได้ สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงฟังพระราชโอรสทั้งสองทูลดังนั้น ก็แย้มพระโอฐ จึงสั่งให้ตรวจพลแปดหมื่น ช้างเครื่องห้าร้อย ม้าพันหนึ่ง เรือรบห้าร้อยลำ ทัพบกทัพเรือสรรพ ครั้นณวัน ค่ำ เพลาย่ำรุ่งแล้ว ๕ นาฬิกากับบาทหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ยกไปตั้งไชยตำบลลุมพลี ถึงณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชตรัศให้เทียบเรือรบเรือไล่ทั้งปวง แล้วเสด็จด้วยพระชลวิมานขึ้นไปถึงปากโมกน้อยเพื่อจะดูกำลังข้าศึก.

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แจ้งว่า กองตระเวนได้รบกับกองทัพกรุงเปนหลายครั้งแตกขึ้นมา จึงแต่งให้สเรนันทสูคุมทหารห้าพัน ช้างเครื่องสามสิบ ม้าห้าร้อย ยกเข้ามาปากโมกน้อย แล้วแต่งให้พระยาเชียงแสนนายกองทัพน่าคุมพลทหารหมื่นหนึ่ง ช้างเครื่องร้อย ม้าห้าร้อย ยกตามลงมาอิกทัพหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรปเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าแจ้งว่า ข้าศึกยกเข้ามา ก็ให้เทียบเรือรบเรือไล่ทั้งปวงเข้าฝั่ง ให้พลทหารอาสาขึ้นบกยกเข้าไปตั้งต่อข้าศึก แล้วก็เสด็จขึ้นจากพระชลวิมานทั้งสองพระองค์ ทรงสุพรรณรัตนปาทุกาฉลองพระบาท จึงตรัศให้ทหารทั้งปวงขึ้นยอข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงพระแสงปืนนกสับยิงถูกนายม้าผู้ดีห่มเสื้อสักหลาดลาดแดงขับดาบบั้งทองตกลงจากม้าตาย จึงชาวทหารเข้าตัดศีศะนายม้านั้น ได้ทั้งเสื้อสักหลาดแลดาบบั้งทองกับม้ามาถวาย ฝ่ายข้าศึกอันยกมานั้นก็พ่ายไป ทหารอาสาก็ไล่ฟันแทงขึ้นปะทะทัพพระยาเชียงแสน ๆ เห็นดังนั้นก็ให้แยกพลออกรับตีประดาลงไป ทหารกรุงเห็นเหลือกำลังก็ถอยรอรับลงมา สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเห็นข้าศึกยกใหญ่ออกมาตี ทหารเสียทีจะลงเรือมิทัน จึงเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งขึ้นไปเหนือคลองปากโมกน้อย แลขนานเรือพระที่นั่งทั้งสองลำ เสด็จอยู่กันพลเรือรบแลทหารอันอยู่ริมน้ำนั้น ข้าศึกก็วางช้างม้ารี้พลมาถึงริมน้ำ แลได้รบพุ่งกันเปนสามารถ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระแสงปืนนกสับยิงต้องข้าศึกตายเปนอันมาก ข้าศึกพุ่งสาตราวุธตกถึงเรือพระที่นั่ง จึงพระบาทสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ให้สอดเรือพระที่นั่งเสด็จเข้าไปข้างฝั่งกันเรือพระที่นั่งสมเด็จพระเชษฐาธิราช แล้วดำรัศสั่งให้ยิงปืนใหญ่ในเรือรบเรือไล่ทั้งปวงขึ้นไปต้องช้างม้าข้าศึกแลพลตายเปนอันมาก ข้าศึกทั้งปวงก็พ่ายไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงว่า พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพแสนลงมาตั้งอยู่ณสระเกษถึงสี่เดือนห้าเดือนแล้ว พึ่งได้เห็นฝีมือกำลังทหารวันนี้ ดีร้ายจะเปนบ้าสงคราม ในสองวันสามวันนี้จะยกมาอิก ถ้ายกลงมา เราจะตีให้ถึงค่ายทีเดียว ตรัศดังนั้นแล้วก็มิได้เสด็จลงมาลุมพลี ตั้งอยู่ณปากโมกน้อย.

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แจ้งว่า สเรนันทสู พระยาเชียงแสน แตกขึ้นไป ก็ทรงพระโกรธ สั่งให้ประหารชีวิตรเสีย พระยาพเยาน้องพระเจ้าเชียงใหม่ กับท้าวพระยาแสนขุนแสนหมื่นทั้งหลาย ทูลขอโทษให้แก้ตัว พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้โทษ แต่ทว่า ให้ไปตระเวนประจานรอบทัพ แล้วตรัศปฤกษานายทัพนายกองแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า พระยาเชียงแสน สเรนันทสู แตกข้าศึกขึ้นมา พระนเรศวรพี่น้องจะมีใจกำเริบ จะยกขึ้นมาตีถึงค่ายเรา ๆ คิดว่า จะยกลงไปหักเสียก่อน ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นด้วย พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้โหรหาฤกษ์ได้ณวัน ค่ำ เพลาตีสิบทุ่มห้าบาท จึงบัญชาให้ตรวจเตรียมกองทัพ ให้พระยาเชียงแสน สเรนันทสู ถือพลหมื่นห้าเปนทัพน่าแก้ตัว ทัพพระเจ้าเชียงใหม่พลหกหมื่น ช้างเครื่องสามร้อย ม้าพันหนึ่ง ครั้นถึงณวัน ค่ำ เวลาตีสิบทุ่มห้าบาท ก็ยกลงมา.

ขณะพระเจ้าเชียงใหม่คิดเตรียมทัพจะลงมาตีนั้น ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศแก่ท้าวพระยาทั้งปวงว่า เราตีทัพเชียงใหม่แตกขึ้นไป เห็นประหนึ่งจะยกเพิ่มเติมกันมาอิก ถึงสองวันสามวันแล้วก็มิได้ยกลงมาณวัน ค่ำ เราจะยกขึ้นไปให้ทหารยั่วดูทีสักเพลาหนึ่ง ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นพร้อมกันโดยพระราชบริหาร จึงสั่งให้พระราชมนูถือพลหมื่นหนึ่ง ขี่ช้างต้นพลายไฟภัทกัลป ช้างนายทัพนายกองขี่ยี่สิบช้าง มีธงสามชายสำคัญทุกตัวข้างน่า เปนทัพน่าชั้นหนึ่ง ให้พระยาศุโขไทยถือพลหมื่นหนึ่ง ขี่ช้างต้นพลายสังหารคชสีห์ ช้างนายทัพนายกองขี่ยี่สิบช้าง มีธงสามชายสำคัญทุกตัวช้าง เปนทัพชั้นสอง ให้ยกในเดือนห้า แรมสองค่ำ เพลาบ่าย ไปตั้งอยู่ต้นทาง ครั้นเพลาสิบเอ็จทุ่ม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงเครื่องศิริราชปิลันทนาลังการยุทธ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงช้างต้นพลายมงคลทวีปเปนพระคชาธาร สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรเปนพระคชาธาร พร้อมทั้งช้างดั้งกันแซกแซงล้อมวังพังคาร้อยหนึ่งกับพลทหารสามหมื่น ก็เสด็จพยุหบาตราทัพโดยทางสถลมารควิถี พอแสงทินกรเรื่อเรืองโพยมมาศ ทัพน่าพระเจ้าเชียงใหม่กับพระราชมนูปะทะรบกันตำบลบางแก้ว ทัพหลวงเสด็จถึงตำบลบ้านแห ได้ยินเสียงปืนรบ ก็มิได้ยกหนุนพระราชมนูขึ้นไป ซุ่มทัพอยู่ในป่าจิกป่ากระทุ่มฟากทางตวันตก จึงใช้ให้หมื่นทิพรักษากับม้าเร็วสิบม้าขึ้นสั่งพระราชมนูให้ลาดถอยลงมา ทัพหลวงจะยอกลาง พระราชมนูก็บอกลงมากราบทูลว่า ศึกได้รบติดพันกันอยู่แล้ว ถ้าถอยหลังก็จะแตกฉาน พระราชมนูก็มิได้ถอย สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าก็ให้หมื่นทิพรักษาขึ้นไปสั่งอิก พระราชมนูก็มิได้ถอย หมื่นทิพรักษากลับลงมากราบทูล ก็ทรงพระโกรธ ตรัศสั่งว่า ให้กลับขึ้นไปอิกครั้งหนึ่ง ถ้ามันยังขัดมิถอย ให้เอาศีศะลงมา หมื่นทิพรักษาก็กลับขึ้นไปแจ้งตามรับสั่ง พระราชมนูแจ้งรับสั่งก็ตกใจ ให้โบกธงฝ่ายซ้ายเปนสำคัญ เจ้าพระยาศุโขไทย ทหารทั้งปวง เห็นดังนั้น ก็ขยายลาดถอยลงมา ฝ่ายทหารเชียงใหม่สำคัญว่าแตก ก็โห่ร้องไล่รุกโจมตีลงมา ทหารม้าก็วางม้า ทหารช้างก็ขับช้าง พระเจ้าเชียงใหม่ดีพระไทย ก็เร่งขับช้างพระที่นั่งตามปนกองน่าลงมามิได้เปนขบวน สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าเห็นข้าศึกเสียขบวน จึงให้ลั่นฆ้องไชยโบกธงเปนสำคัญ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ขับพระคชาธารแลดารี้พลช้างม้าโยธาหาญเข้ายอกลางทัพข้าศึกถึงอาวุธสั้น ฝ่ายพระราชมนูเห็นดังนั้น ก็ต้อนพลตีกระหนาบขึ้นมา ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็แตกพ่ายไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เสด็จตามตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่แตกฉานยับเยินไม่คุมกันได้ พลทหารชาวกรุงก็ไล่ฟันแทงพลข้าศึกทั้งนายแลไพร่ตายอยู่ริมทางแลกลางทุ่งนั้นมากนัก แลท้าวพระยาฝ่ายข้าศึกฅอขาดบนฅอช้างในยุทธภูมินั้น คือ พระยาพเยาน้องพระเจ้าเชียงใหม่ พระยาลอ พระยากาว พระยานครล้านช้าง พระยาเชียงราย มางยามงิบ สมิงโยคราช เจพยอางขบูน สเรนันทสูเมืองเตริน แสนเชียงใหม่ ตายในที่นั้นประมาณพันเศษ ได้ช้างใหญ่ยี่สิบช้าง ม้าร้อยเศษ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เสด็จตามตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่ไปถึงปากน้ำชไว.

ฝ่ายสมเด็จพระราชบิดาดำรัศให้เตรียมรี้พลแลเรือพระที่นั่งดั้งกันเรือรบเรือไล่พร้อมเสร็จ แล้วพระราชทานเรือพระที่นั่งรองแลเรือทั้งปวงให้พระศรีสุพรรณมาธิราชน้องพระยาแลวกโดยเสด็จด้วย ครั้นณวัน ค่ำ เวลารุ่งแล้วห้าบาท ได้ศุภฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ยกพยุหบาตราทัพเสด็จโดยชลมารคด้วยพระชลวิมานขึ้นไป ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกรุดรีบเข้าในค่ายหลวง ในวันนั้น เพลาจวนค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชตั้งทัพหลวงอยู่ณปากน้ำชไว จึงมีพระราชกำหนดแก่ท้าวพระยาพระหัวเมืองว่า เวลาย่ำรุ่ง จะยกพลทหารเข้าหักค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แตกขึ้นไปถึงค่าย เสียพระไทย มิได้คิดที่จะรับ ครั้นแจ้งว่า กองทัพพระนเรศวรยกขึ้นมาถึงปากน้ำชไว เกรงจะรับมิอยู่หนีก็มิพ้น ครั้นเวลาค่ำ ก็ขึ้นช้างเร็วเลิกทัพหนีรีบไป.

ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ค่ำ เวลาโมงเศษ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จยกพยุหโยธาทัพใกล้ถึงค่ายสระเกษ ก็แจ้งว่า พระเจ้าเชียงใหม่เลิกทัพหนีไปถึงตำบลปากน้ำบางพุทรา มิได้ทันพระเจ้าเชียงใหม่ ทหารกองน่าจับได้พระยาเชียงแสน ลูกพระยาเชียงแสน แลแสนหลวงล่ามแขกมางจอจวยลูกแม่นมพระเจ้าเชียงใหม่ แลได้ช้างพังพลายใหญ่หกศอกนิ้วร้อยยี่สิบช้าง ได้ม้าร้อยเศษ แต่ช้างใหญ่ ๖ ศอกคืบมีเสษ พลายจะนาทศัก ๑ พลายปวงหุลรายภัก ๑ พลายหลุเกียนกยอ ๑ พลายพิไชยโกลา ๑ พลายมรูดตองอู ๑ พลายมณีจักรพรรดิ ๑ พลายสิงห์ดำ ๑ พลายมงคลชาตรี ๑ พลายแขแม ๑ พลายแก้วไกรลาศ ๑ พลายอุโบสถ ๑ ช้างที่นั่งพระเจ้าเชียงใหม่พลายมหาเมฆ ๑ พลายหัตถีราชา ๑ พลายเกิดสวัสดี ๑ พลายภาพยาว ๑ พลายยาตรา ๑ พลายแปร ๑ พลายศรีบุญเรือง ๑ พลายรำชาย ๑ พลายมหากุณฑล ๑ แลได้ช้างสูงใหญ่ ๒๒ ช้าง แลได้พม่ามอญลาวเชียงใหม่แลชาวไทยใหญ่ชายหญิงหมื่นเศษ ได้เรือรบเรือเสบียงสี่ร้อยเศษ แลได้เครื่องสรรพยุทธเครื่องช้างเครื่องม้าปืนใหญ่จ่ารงค์มณฑกนกสับมาก แลเครื่องราชาบริโภคพระเจ้าเชียงใหม่แตรเงินแตรทองกระโจมหุ้มสำรับหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชแต่งทหารกำหนดให้ตามพระเจ้าเชียงใหม่ให้ถึงเมืองนครสวรรค์ แลทัพหลวงตั้งอยู่บางพุทรา ประทับแรมอยู่ทั้งทัพบกทัพเรือเวนหนึ่ง.

ครั้นณวัน ค่ำ ฝ่ายสมเด็จพระราชบิดาเสด็จถึงบางพุทรา พระราชโอรสทั้งสองพระองค์มาเฝ้ากราบถวายบังคมทูลสร่ายเรื่องยุบลซึ่งได้รณรงค์ข้าศึกก็มีไชยชำนะถวายเสร็จสิ้นทุกประการ สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงฟัง ก็ทรงพระโสมนัสยินดี เสด็จประทับแรมอยู่สองเวน ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ค่ำ เวลาบ่ายสามโมง สมเด็จพระราชบิดาก็เลิกทัพคืนเข้าพระนครโดยชลมารค ครั้นณวัน ๑๐ ค่ำ กองทัพซึ่งไปตามพระเจ้าเชียงใหม่กลับมาถึง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เลิกทัพเสด็จด้วยพระชลวิมานพร้อมด้วยดั้งกันนำตาม ครั้นถึงตำบลโพธิสามต้น ทอดพระเนตรเห็นเรือพระศรีสุพรรณมาธิราชกับเรือนายทัพนายกองเขมรทั้งปวงจอดอยู่ณฝั่งตวันตก แต่พระศรีสุพรรณมาธิราชนั้นถือตัวว่าเปนเจ้าผู้ใหญ่ มิได้หมอบ นั่งดูเสด็จอยู่ ก็ทรงพระพิโรธ ให้รอเรือพระที่นั่งไว้ แล้วดำรัศให้หลวงพิไชยบุรินทราตัดเอาศีศะลาวเชลยซึ่งจับได้นั้นไปเสียบไว้ตรงเรือพระศรีสุพรรณมาธิราช หลวงพิไชยบุรินทราก็ไปทำโดยรับสั่ง สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เสด็จคืนเข้าพระนคร ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชเห็นดังนั้นก็น้อยพระไทย คิดอาฆาฏ มิได้ว่าประการใด ก็ล่องเรือมาที่อยู่.

ครั้นรุ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวง จึงดำรัศว่า ซึ่งพระยาแลวกให้พระศรีสุพรรณมาธิราชผู้เปนพระอนุชายกกองทัพเข้ามาช่วยงานพระราชสงครามจนเสร็จนั้น ขอบใจ ให้พระราชทานพานทองกับฉลองพระองค์อย่างเทศอย่างน้อย แลนายทัพนายกองเขมรทั้งปวงนั้นก็พระราชทานเสื้อผ้าโดยสมควร พระศรีสุพรรณมาธิราชกับพระยาพระเขมรทั้งปวงกราบถวายบังคมลา ก็เลิกทัพกลับไปพระนคร.

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แตกขึ้นไปเมืองกำแพงเพ็ชร ไปเฝ้าพระมหาอุปราชา แจ้งการซึ่งได้รบกับกองทัพพระนเรศวรจนแตกขึ้นมาเสร็จสิ้นทุกประการ พระมหาอุปราชาก็เสียพระไทย จึงแต่งทหารมอญออกก้าวสกัดต้นทางซึ่งพลชาวเชียงใหม่แตกกระจัดกระจายขึ้นมานั้นประมวญกันเข้าได้แล้ว ก็ให้พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชรด้วย แล้วบอกหนังสือส่งตัวพระยาอภัยคามินี ซักแซกยอถ่าง ซึ่งกำกับทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ให้พละกำกองรีบไปณเมืองหงษาวดี พระมหาอุปราชาก็เกณฑ์กันให้รีบทำไร่นา ให้พระเจ้าเชียงใหม่ทำเรือกระจังเลาคา.

ฝ่ายพระศรีสุพรรณมาธิราชนั้นคิดแค้นอยู่มิได้ขาด ครั้นไปถึงเมืองแลวก ขึ้นเฝ้ากราบทูลว่า ซึ่งรับสั่งให้ข้าพระบาทยกเข้าไปช่วยการสงครามพระนครศรีอยุทธยาครั้งนี้ ได้ความอัปรยศนัก ด้วยพระนเรศวรดูหมิ่นหยาบช้า ให้ตัดศีศะเชลยมาเสียบไว้ริมเรือตรงหน้าข้าพระบาท ความแค้นความอายปิ้มจะแลไม่เห็นฟ้าแลดิน พระยาแลวกแจ้งดังนั้น ก็ทรงพระโกรธ ตรัศว่า เราก็เปนกระษัตริย์ เขาก็เปนกระษัตริย์ มาดูหมิ่นกันดังนี้ ไหนกรุงกัมพูชาธิบดีกับกรุงศรีอยุทธยาจะเปนทางพระราชไมตรีกันสืบไปได้ ก็คอยหาโอกาสกลับคืนเปนปัจจามิตรสืบต่อไป.

ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีทราบว่า พระเจ้าเชียงใหม่แตกขึ้นมาเสียไพร่พลมาก ก็ทรงพระโกรธ คิดจะเอาโทษก็เกรงจะเสียเขตรขัณฑเสมาเมืองลาว จึงตอบลงมาว่า ครั้งก่อน กำหนดให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกไปบรรจบกับทัพพระยาพสิม ก็ไม่ทัน จนเสียทัพพระยาพสิมครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ ยกพลลงไปถึงแสนหนึ่งก็แตกแก่ข้าศึกขึ้นมา ทำการมิได้มั่นคงดุจทารกโคบาลให้เสียรี้พลมากมายข้าศึกได้ใจดังนี้ เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่มิได้มีความลอายไม่ไว้เกียรติยศในแผ่นดินแล้ว ก็แล้วไปเถิด ออกพระวัสสาแล้ว ทัพหลวงจะยกไปกระทำ อย่าให้พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชรเลย ให้เปนกองลำเลียงขึ้นไปจัดแจงเสบียงอาหารณเมืองเชียงใหม่ผ่อนลงมาไว้ให้พอสามแสนอย่าให้ขัดสนได้ ถ้าขัดสนเสบียงอาหารมิทันมิพอพลสามแสน จะมีโทษ ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้ว ก็ส่งให้พละกำกองถือกลับมาณเมืองกำแพงเพ็ชร ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งในรับสั่งดังนั้น ก็กลัวพระราชอาชญา ลาพระมหาอุปราชากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่ เร่งรัดทำการลำเลียงตามรับสั่ง

ครั้นถึงเดือนสิบสอง ปีมเสง เอกศก พระเจ้าหงษาวดีก็ยกช้างม้ารี้พลมาโดยทางเชียงทอง แลชุมพลทางบกทางเรือทั้งปวงณเมืองกำแพงเพ็ชร ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกทัพลำเลียงลงมาถึงทัพพระเจ้าหงษาวดี พลสองแสน ช้างเครื่องพันหนึ่ง ม้าเจ็ดพัน แลเรือกระจังเลาคาพันลำ ฝ่ายทัพพระมหาอุปราชา ช้างเครื่องสี่ร้อย ม้าสามร้อย พลห้าหมื่น กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่เปนทัพลำเลียง เรือรบเรือลำเลียงห้าร้อย พลสองหมื่น พระเจ้าหงษาวดียกช้างม้ารี้พลลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ ให้ทัพพระมหาอุปราชาแลพระยาตองอูยกมาทางฟากตวันออกก ให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมทัพเรือ ทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาทางฟากตวันตก ถึงณวัน ค่ำ พระเจ้าหงษาวดีก็ยกทัพใหญ่เข้ามาตั้งมั่นตำบลขนอนปากคู แลมังหมอดลูกพระเจ้าหงษาวดีแลพระยาพระรามมาตั้งตำบลมขามหย่องทัพหนึ่ง ให้ตั้งค่ายขุดคูเอามูลดินพูนค่ายขึ้นเปนกำแพงดิน ให้พระยานครมาตั้งตำบลปากน้ำพุทเลาทัพหนึ่งพลหมื่นห้าพัน ให้นันทสูมาตั้งตำบลขนอนบางล่างฟากตวันออกทัพหนึ่งพลห้าพัน เรือกระจังเลาคาสี่ร้อยลำ.

ฝ่ายพระมหาอุปราชาแลพระยาตองอูก็ยกทัพมาโดยทางลพบุรีแลสระบุรี แล้วเข้ามาตั้งทัพมั่นณตำบลชายเคือง พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศให้ตกแต่งการป้องกันพระนครนั้นมั่นคง แล้วให้ชุมท้าวพระยาพฤฒามาตย์เสนามนตรีมุขข้าทหารทั้งหลาย จึงมีพระราชบริหารตรัศปฤกษาการศึกว่า พระเจ้าหงษาวดียกทัพมาครานี้ใหญ่หลวง เห็นจะได้รบพุ่งกันเปนสามารถยิ่งกว่าศึกพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาคราก่อนนั้น แลเราอย่าเพ่อยกทัพใหญ่ออกรบก่อน ให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองขุนหมื่นทั้งหลายตรวจตราจัดพลทหารอาสาทัพบกทัพเรือทั้งปวงให้สรรพไว้ แลจะแต่งพลทหารอาสาแต่งเปนกองไปกันให้ราษฎรทั้งปวงเกี่ยวเข้าซึ่งเหลืออยู่ในท้องนาแขวงจังหวัดรอบพระนครนั้นให้ได้จงสิ้นเชิงก่อน อย่าให้ข้าศึกได้เปนกำลัง แล้วจึงจะยกทัพใหญ่ออกตีทีเดียว มุขมนตรีเห็นด้วย สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับพระอนุชาธิราชตรัศให้แต่งขุนหมื่นทหารอาสาทั้งหลายถือพลอาสาออกไปเปนหลายกอง แลป่าวให้ราษฎรทั้งปวงออกไปเกี่ยวเข้าทุกตำบล แลพลทหารซึ่งออกไปกันให้เกี่ยวเข้านั้นได้รบพุ่งด้วยข้าศึก ข้าศึกแตกพ่าย ได้ศีศะเข้ามาถวายทุกวันมิได้ขาด พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้พระราชทานรางวัลแก่นายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงโดยบำเหน็จอันได้รบพุ่งมากแลน้อยตามสมควร ในขณะนั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัศให้เจ้าพระยากำแพงเพ็ชรบังคับราชการในที่กระลาโหม จึงตรัศให้เจ้าพระยากำแพงเพ็ชรถือพลทหารล้อมวังออกไปกันให้ราษฎรทั้งหลายเกี่ยวเข้าณทุ่งชายเคืองที่ทัพพระมหาอุปราชาตั้งอยู่นั้น พระมหาอุปราชาแต่งพลม้าประมาณพันหนึ่งยกออกมารบ ทัพเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรก็แตก สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระโกรธแก่เจ้าพระยากำแพงเพ็ชร ตรัศให้ลงพระราชอาญาโดยโทษตามพระอัยการศึก สมเด็จพระราชบิดาทรงพระกรุณาตรัศว่า เจ้าพระยากำแพงเพ็ชรเปนแต่พลเรือน มิได้เปนทแกล้วทหาร ขอโทษเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรไว้ครั้งหนึ่งก่อน สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็มิได้ลงโทษเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร แล้วตรัศปฤกษาด้วยท้าวพระยาเสนามาตย์โยธาหาญทั้งหลายว่า ซึ่งเจ้าพระยากำแพงเพ็ชรพ่ายเข้ามาให้ข้าศึกได้ใจดังนี้ เราจะนิ่งไว้ช้ามิชอบ ๆ เราจะยกพยุหบาตราทัพหลวงออกตีทัพมหาอุปราชาอย่าให้ตั้งอยู่ณชายเคืองนั้นได้ ราษฎรทั้งปวงจึงจะได้เกี่ยวเข้าในท้องทุ่งสดวก แล้วตรัศให้ตรวจช้างม้ารี้พลทหารอาสาให้เอาเครื่องสรรพยุทธปืนใหญ่แลปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับลงบรรจุเรือรบเรือไล่สองร้อยลำนั้นสรรพ จึงแต่งทหารให้ลอบออกไปทางบางทางเรือที่ชอบกล ซุ่มพลทหารปืนใหญ่น้อยไว้ จึงยั่วให้ข้าศึกออกไล่ เห็นได้ทีแล้วจึงจะออกทลวงตี ทั้งปืนใหญ่น้อยยิงรดมสาดเอาข้าศึกให้แตกฉานอย่าให้คุมกันติด ฝ่ายกองทหารอาสาก็ไปซุ่มอยู่ตามรับสั่ง จึงสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็เสด็จด้วยพระชลวิมานลำเดียวกันไปโดยชลมารค แล้วท้าวพระยาพระหัวเมืองขุนหมื่นทหารทั้งปวงก็ไปโดยขบวนน่าหลัง ครั้นถึงตำบลชายเคืองใกล้ทัพพระมหาอุปราชาตั้งอยู่นั้น จึงตรัศให้ทหารอาสาขึ้นไปยั่วข้าศึกน่าค่าย แลข้าศึกก็ยกออกมา ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ฝ่ายกองทหารอาสาที่ซุ่มอยู่นั้นก็ยกพลออกทลวงตียิงปืนใหญ่น้อยสาดไปต้องข้าศึกล้มตายเปนอันมาก ข้าศึกมิได้รส่ำรสาย ยกหนุนวกลงมาข้างริมน้ำ ฝ่ายทัพกรุงก็วางปืนใหญ่แลปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับขึ้นไปแต่เรือรบ ต้องพม่ามอญแลช้างม้าตายเปนอันมาก แลพลข้าศึกนั้นยังต่อรบอยู่ ขณะนั้น สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จออกยืนน่าแคร่พระที่นั่งทั้งสองพระองค์ ทรงปืนนกสับยิงต้องข้าศึกช้างม้าแลคนตายมาก ทหารชาวกรุงก็ยิงปืนรดมไป ฝ่ายข้าศึกก็ลงมาสกัดข้างหลังเรือพระที่นั่ง แล้วยิงปืนไฟตอบมาเปนสามารถ แลเรือรบข้าหลวงทั้งปวงทานมิได้ก็พ่ายมาสิ้น ยังแต่เรือพระที่นั่งแลเรือรบห้าลำอยู่ยิงตอบกันไปมา ฝ่ายข้าศึกยิงปืนไฟมาต้องฉลองพระองค์สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรอันทรงนั้นแต่ปลายพระหัดถ์ขาดขึ้นไปถึงต้นพระพาหุ อนึ่ง ข้าศึกยิงปืนไฟมาต้องคนในเรือกันนั้นเจ็บป่วยลำบากมาก แต่กระสุนปืนนกสับข้าศึกยิงมาตกอยู่ณเรือพระที่นั่งนั้นประมาณสามสิบกระสุน พอเพลาค่ำ เสด็จคืนเข้าพระนคร.

ครั้นณวัน ๑๑ ค่ำ เพลาสิบเอ็จทุ่ม สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จยกพยุหบาตราทัพออกจากพระนครข้ามไป สมเด็จพระเชษฐาทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรสูงหกศอกสิบเอ็จนิ้วติดน้ำมันน่าหลัง สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทรงพระคชาธารจักรมหิมาสูงหกศอกคืบติดน้ำมันน่าหลัง เจ้าพระยามหาเสนาขี่ช้างพลายปราบไตรภพสูงห้าศอกคืบ เจ้าพระยาจักรีขี่ช้างพลายแก้วสังหารสูงหกศอกสี่นิ้ว เอาขุนหมื่นกองช้างนอกขี่ช้างพังคั่นกลางหว่างละสี่ข้าง ให้มอญเข้าไปร้องน่าค่ายพระเจ้าหงษาวดีว่า มีหนังสือบอกพระมหาอุปราชาให้ขึ้นมากราบทูล ให้เร่งเปิดประตูรับ เจ้าน่าที่นายประตูร้องว่า จะกราบทูลก่อน จะเปิดยังมิได้ สักครู่หนึ่ง ในค่ายพระเจ้าหงษาวดีวางปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับระดมออกมา สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับพระอนุชาธิราชเห็นว่า ข้าศึกรู้ตัวแล้ว ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งคืนเข้าพระนคร.

ครั้นณวัน ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินออกไปตั้งทัพไชยตำบลวัดช่องลม ครั้นณวัน ค่ำ เอาปืนพระมหากาลมฤตยุราชใส่สำเภาขึ้นไปยิงค่ายพระเจ้าหงษาวดีณขนอนปากคู พระเจ้าหงษาวดีเห็นชาวพระนครเอาปืนใส่สำเภามายิงได้ถึงค่าย ก็เลิกทัพไปตั้งปากโมกใหญ่ ครั้นณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชยกขึ้นไปตีทัพพระเจ้าหงษาวดีถึงปากโมกใหญ่ เสด็จทางชลมารค แต่งทัพบกยกไปสองฟากฝั่ง ข้าศึกยกขนาบตีทัพบอกสองฟากฝั่ง ทัพกรุงแตกย่นลงมาถึงทัพหลวง แลกระกระสุนปืนข้าศึกยิงลงมาต้องบโทนเรือพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าศีศะขวั้นออกไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็กรีธาทัพเรือขึ้นบก ทหารล้วนถืออาวุธสั้น สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชทรงพระแสงดาบสองพระหัดถ์ แลทัพบกซึ่งย่นลงมานั้นก็มีน้ำใจกลับน่าพร้อมกัน สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ต้อนพลทลวงไล่ฟันข้าศึก ๆ แตกฉานตายแลลำบากเปนอันมาก แล้วสมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับพระอนุชาธิราชก็เสด็จเข้าพระนคร.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดียกมาติดพระนครถึงหกเดือนจนถึงวสันตฤดู เสียพลทหารเปนอันมาก เห็นจะเอาพระนครมิได้ ก็เลิกทัพกลับไป.

ขณะเมื่อทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาถึงนั้น ข่าวแจ้งออกไปถึงกรุงกัมพุชประเทศ พระยาแลวกก็ดีพระไทย จึงแต่งให้ฟ้าทะละหะ พระยาเดโช พระยาราชนายก พระยามโนไมตรี พระยาสวรรคโลก กับพระยาแสนท้องฟ้า กับทหารหมื่นหนึ่ง ให้ฟ้าทะละหะเปนแม่ทัพยกเข้ามาตีหัวเมืองแถบตวันออก ฟ้าทะละหะมิได้เดินตามทางใหญ่ ลัดมาทางป่าสี่เส้นมาบ้านหอกบ้านควาย เข้าจู่ตีเมืองปราจิณแตก กรมการเมืองนครนายกบอกเข้ามา สมุหนายกนำขึ้นกราบทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทราบก็ทรงพระโกรธ ตรัศแก่พระบรมราชปิโยรสว่า เหตุไฉนพระยาแลวกจึงกลับมาเปนปัจจามิตรดังนี้ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากราบบังคมทูลฉลองพระราชโองการว่า พระยาแลวกมิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์ ปราศจากวิจารณญาณ ฟังคำน้องชายให้เสียทางพระราชไมตรี คอยแต่ซ้ำกันดังนี้ ความแค้นข้าพระบาทดังต้องปืนพิศม์ ขอให้พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช กับพลทหารห้าพัน ยกออกไปตี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช กราบถวายบังคมลาแล้วก็ยกไปทางบ้านนาเริ่ง ถึงเมืองนครนายกณวัน ค่ำ ครั้นณวัน ค่ำ เพลาสองโมงเช้า ทัพเขมรก็ยกตีเข้ามาถึงเมืองนครนายก พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช ก็ยกออกตี ทัพเขมรถอยไปทางด่านหณุมานออกทางพระจาฤก พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช ก็ตามตีไปจนสิ้นแดน กองทัพเขมรเจ็บป่วยล้มตายตามรายทางไป จับได้เปนแลเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช ก็กลับเข้ามาตั้งอยู่ณเมืองปราจิณ แล้วบอกเข้ามาว่า กองทัพเขมรก็แตกไปแล้ว จะขอเข้ามาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ส่งเขมรเชลยแลเครื่องสาตราวุธเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้ตอบออกไปว่า ทัพหงษาวดียังมิได้แตกฉาน จะไว้ใจแก่พระยาแลวกมิได้ เกลือกจะแต่งกองทัพให้ยกเข้ามาอิก จะเสียประจันตชนบท อย่าเพ่อให้พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช เลิกทัพเข้ามา ให้อยู่รักษาหัวเมืองแถบตวันออกก่อน ต่อเมื่อใดทัพหงษาวดีแตกไปแล้ว จึงให้เลิกทัพกลับเข้ามา ครั้นแจ้งไปว่า ทัพหงษาวดีแตกไปแล้ว พระยาศรีไสยณรงค์ พระยาสีหราชเดโช ก็เลิกทัพกลับเข้ามาโดยพระราชกำหนด.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีเสด็จถึงพระนครแล้ว ก็ทรงพระดำริห์แต่ที่จะเอากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้ได้ ก็ให้จัดทแกล้วทหารบำรุงช้างม้ารี้พลเครื่องสรรพสาตราวุธเสบียงอาหารกระสุนดินประสิวไว้พร้อมเสร็จ แลเมื่อพระเจ้าหงษาวดีให้เตรียมทัพครั้งนั้น พลห้าสิบหมื่น ช้างเครื่องสามพัน ม้าหมื่นหนึ่ง ให้พระมหาอุปราชา พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่ เข้าขบวนทัพด้วย.

ครั้นณวัน ค่ำ ศักราช ๙๓๒ ปีมเมีย โทศก เพลาอุสาโยค สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีก็ทรงเครื่องพิไชยยุทธนาลังการาภรณ์วิภูสิตพิพิธโภคมหิมาดูมโหฬาราดิเรกสำหรับขัติยราชรามัญประเทศโดยพิไชยยุทธสงครามเสร็จ ครั้นได้เพลามหามหุติฤกษ์มังคลา โหราธิบดีลั่นฆ้องไชย ชีพ่อพราหมณ์ถวายเสียงสังข์ประนังศัพท์ฆ้องกลองกาหฬสนั่นนฤนาท เสด็จทรงช้างต้นพลายไชยมงคลเปนราชพาหนะ ประดับเครื่องคชาภรณ์อลังการ เคลื่อนพยุหโยธาหาญโดยขบวนซ้ายขวาน่าหลัง พลดาบดั้งโตมรสลอน พลเสโลห์ทวนทองรยาบ พลดาบเขนเปนขนัดริ้วราย ดูสุดสายตาไสว เถือกธงไชยธงฉานวาลวิชนีกลิ้งกลดบดบังแสงทินกรไพโรจนโชตนาการพันฦก อธึกดูพร้อมพรั่งดาษดา ร้อนแรมมาโดยสถลมารค ข้ามแม่น้ำเมาะตมะเข้าทางเมืองกำแพงเพ็ชร เสด็จถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยาณวัน ๑๔ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตั้งค่ายหลวงตำบลบางปหัน พระมหาอุปราชาตั้งค่ายกุ่มดอง พระเจ้าแปรตั้งค่ายสีกุก พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งค่ายตำบลวัดสังฆาวาศ.

สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าตรัศทราบว่า ทัพพระเจ้าหงษาวดียกมา ก็ทรงม้าทวนกับทหารสามกอง ๆ หนึ่งยี่สิบสองคน กองหนึ่งสี่สิบสองคน กองหนึ่งเจ็ดสิบสองคน ขี่ม้าถือทวนครบมือยกออกไป กองน่าข้าศึกออกมารบ ทหารกรุงเทพมหานครตีแตกฉานเข้าไป สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงคาบพระแสงดาบกับทหารปีนค่ายขึ้นไป ข้าศึกในค่ายเอาทวนแทนพลัดตกลงมาเปนหลายครั้งขึ้นมิได้ ทรงม้าพระที่นั่งกลับเข้าพระนคร ข้าศึกเอาการซึ่งได้รบพุ่งไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี ๆ ตรัศถามเสนาบดีว่า พระนเรศวรออกมาทำเปนอย่างทหารดังนี้ เหมือนหนึ่งเอาพิมเสนมาแลกเกลือ พระราชบิดานั้นจะรู้ฤๅหาไม่ เสนาบดีกราบทูลว่า เห็นพระราชบิดาจะไม่รู้ ถ้ารู้แล้ว เห็นจะมิให้ออกมาทำ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึงตรัศว่า พระนเรศวรทำศึกอาจหาญนัก ถ้าออกมาอิก ถึงมาทแม้นเราจะเสียทหารมาก ก็จะแลกเอาตัวให้จงได้ แล้วสั่งให้จัดทหารที่มีฝีมือสันทัดทุกทัพทุกกองให้ได้หมื่นหนึ่ง เอาไปช่วยค่ายลักไวทำมูแลทหารทศตำบลลุมพลี ถ้าพระนเรศวรออกมาตีค่าย ให้กุมเอาเปนจงได้ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงม้าพระที่นั่งออกไป ทหารสามกองกับล้อมวังพันหนึ่ง ถือโตมรแลดาบดั้งออกไป ได้รบพุ่งกันแต่เพลาเช้าสามโมงจนสี่โมง ข้าศึกแตกเข้าไปอยู่สักครู่หนึ่ง กลับเอาม้าสามสิบออกมายั่วทัพ จึงแต่งเปนปีกฉะนางแลกองซุ่มไว้ ปีกหนึ่งลักไวทำมู ปีกหนึ่งทหารทศ สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าทรงม้ารำทวนไล่ข้าศึกเข้าไป แลข้าศึกสองปีกหุ้มพระองค์แลทหารเข้าไว้ ลักไวทำมูถือดาบดั้งเข้ามาจะกุมเอาพระองค์ ๆ ทรงแทงด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมู ๆ ฟันต้องพระแสงทวนเปนแผล แต่ลักไวทำมูตาย ทหารทศถือโตมรแลหอกใหญ่ตรงเข้ามา ทรงฟันด้วยพระแสงดาบสพายแล่งล้มลง ก็เสด็จกลับเข้าพระนคร สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีให้เข้ามาตีค่ายชาวพระนครถึงสองครั้งสามครั้งก็มิได้แตกฉาน จึงตรัศว่า จวนเทศกาลฟ้าฝนน้ำนองอยู่แล้ว ก็สั่งให้เลิกทัพเสด็จกลับคืนไปเมืองหงษาวดี.

ครั้นศักราช ๙๔๐ ปีขาล สำเรทธิศก ณวัน ๑๓ ค่ำ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวร ครั้นณวัน ๑๒ ค่ำ เสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๗๖ พระพรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๓ ปี.