รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492

จาก วิกิซอร์ซ


เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๑๗

๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒
ฉะบับพิเศษ หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรี ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏ
ธานีนิวัต
พระยามานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชชกาลปัจจุบัน

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๙๒ พรรษา ปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม อุสภสมพัตสร ผัคคุณมาส กาฬปักษ์ ทศมีดิถี สุริยคติกาล มีนาคมมาส เตวีสติมสุรทิน พุธวาร โดยกาลบริจเฉท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศความพระราชปรารภว่า จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วนั้น เหตุการณ์บ้านเมืองได้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จำต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อนุโลมตามกาลนิยม จึง ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ ในรัชชสมัยสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใช้แทนรัฐธรรมนูญฉะบับเดิม ครั้นต่อมาในรัชชกาลปัจจุบัน บังเกิดความจำเป็นต้องเลิกใช้รัฐธรรมนูญฉะบับนั้น จึง ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ตรารัฐธรรมนูญขึ้นใช้เป็นการถาวรสืบไป

และเพื่ออนุโลมตามแบบแผนฝ่ายปรสมัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการของไทย ประกอบด้วยสมาชิกสี่สิบคนซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภาสิบคน จากสมาชิกสภาผู้แทนสิบคน และจากบุคคลภายนอกผู้มีคุณสมบัติต่าง ๆ กันสี่ประเภท ประเภทละห้าคน ครั้น ณ วันที่ ๑๒ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดสภาร่างรัฐธรรมนูญและตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการพิจารณาปรึกษาวางหลักการใหญ่ ๆ อันสมควรประมวลไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่า วางหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องกันโดยสม่ำเสมอในการบริหารราชการ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาบางประการ ขยายอำนาจรัฐสภาในอันที่จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ได้ฟังความคิดเห็นของกันและกันได้โดยกว้างขวาง กับทั้งแก้ไขอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความไว้วางใจฝ่ายบริหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเพื่อจะได้ฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าฟังการประชุมปรึกษาของสภาได้ตลอดมา กับทั้งได้เลือกสมาชิกของสภาเก้าคนตั้งเป็นกรรมาธิการ มีหน้าที่สดับตรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วนำเสนอต่อสภา ทั้งเพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เลือกสมาชิกอีกเก้าคนตั้งเป็นกรรมาธิการ มีหน้าที่พิจารณายกร่าง กรรมาธิการได้ยกร่างขึ้นตามหลักการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางไว้ และได้ตรวจพิจารณาบทรัฐธรรมนูญฉะบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ตลอดทั้งที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อ ๆ มาจนถึงฉะบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อเห็นว่าบทมาตราใดยังใช้ได้ ก็นำมาประมวลไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และโดยที่การบ้านเมืองทั้งภายในภายนอกได้เปลี่ยนแปลงไปหลายสถาน แม้นานาประเทศที่มีรัฐธรรมนูญใช้มานานแล้ว ก็ยังได้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย กรรมาธิการจึงได้ค้นคว้าพิจารณารัฐธรรมนูญของนานาประเทศประกอบด้วย เมื่อได้ยกร่างขึ้นแล้ว กรรมาธิการได้เสนอร่างนั้นต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตรวจแก้ร่างที่กรรมาธิการนำเสนอโดยถี่ถ้วน แล้วได้พิจารณาทบทวนโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เห็นชอบพร้อมกันเป็นอันเสร็จสิ้นแต่ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ จึงได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังรัฐสภา รัฐสภาได้พิจารณาปรึกษาเห็นชอบด้วย ลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป ได้ทรงพระราชวิจารณ์โดยตลอด และทรงพระราชดำริเห็นพ้องต้องตามมติของรัฐสภาแล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉะบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ นั้น ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ขอปวงชนชาวไทยจงร่วมจิตต์ต์ร่วมใจสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อความดำรงคงอยู่ด้วยดีแห่งระบอบประชาธิปไตยในรัฐสีมาอาณาจักร และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์สรรพพิพัฒนชัยมงคล เอนกศุภผลสกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชากรของพระองค์ สมดั่งพระบรมราชประสงค์จงทุกประการ


มาตราประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

มาตราประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

มาตราอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

มาตราบุคคลย่อมได้มาและเสียไปซึ่งสัญชาติไทยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ


มาตราองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตราผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี

มาตรา๑๐พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

มาตรา๑๑พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง

มาตรา๑๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์

มาตรา๑๓พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาและมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๔การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดีให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๑๕องคมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ รัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ

มาตรา๑๖ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องปฏิญาณตนฉะเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา๑๗องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๑๘การแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และในกรณีใดที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอน ให้องคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๙ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๒๐ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา๒๑ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคแรกก็ดี ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้

ในกรณีที่ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราว

มาตรา๒๒ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา๒๓การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้

มาตรา๒๔พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์

มาตรา๒๕ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดั่งกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ในกรณีประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑ วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับ


มาตรา๒๖บุคคลไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน

มาตรา๒๗บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี โดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย

มาตรา๒๘บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพดั่งกล่าวในวรรคก่อน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น

มาตรา๒๙บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

มาตรา๓๐ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

ก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาจะต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้โดยฉะเพาะในกฎหมาย และจะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ให้ประกันแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยทราบ

บุคคลผู้ถูกคุมขังหรือถูกจำคุก ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร

มาตรา๓๑บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย

การจับกุมคุมขังหรือตรวจค้นตัวบุคคลไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ผู้ที่ถูกจับกุมหรือถูกตรวจค้นจะต้องได้รับแจ้งเหตุ พร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร ในการที่ถูกจับหรือถูกตรวจค้นโดยไม่ชักช้า และผู้ถูกคุมขังย่อมมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความเป็นการฉะเพาะตัวได้

ในกรณีที่มีการคุมขังตัวบุคคล ผู้ถูกคุมขังเองก็ดี พนักงานอัยยการก็ดี บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังก็ดี มีสิทธิร้องต่อศาลท้องที่ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

มาตรา๓๒การเกณฑ์แรงงาน จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งบัญญัติให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยยการศึก

มาตรา๓๓บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในเคหสถาน

บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปรกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองก็ดี การตรวจค้นเคหสถานก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๓๔สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตต์และการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศโดยตรง หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และต้องชดใช้ค่าทำขวัญอันเป็นธรรมแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้นด้วย

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้าใช้หรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลก็ดี การโอนกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ของบุคคลมาเป็นของรัฐก็ดี ถ้ามิใช่ด้วยความยินยอมของบุคคลนั้น จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และต้องชดใช้ค่าทดแทนอันเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

มาตรา๓๕บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะคับขัน หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความเสื่อมทรามทางจิตต์ใจของยุวชน

การปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์เพื่อบั่นรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้

การให้เสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนโฆษณา จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยยการศึก แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง

การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์ รัฐจะกระทำมิได้

มาตรา๓๖บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการศึกษาอบรม เมื่อการศึกษาอบรมนั้นไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาอบรม และไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรสถานศึกษา

สถานศึกษาของรัฐและของเทศบาล ต้องให้ความเสมอภาคแก่บุคคลในการเข้ารับการศึกษาอบรมตามความสามารถของบุคคลนั้น ๆ

มาตรา๓๗บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม ในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยยการศึก

มาตรา๓๘บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นสมาคม เมื่อมีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสมาคมย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๓๙บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการในทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ขัดต่อระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้

บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับสมาคมจะนำมาใช้บังคับแก่พรรคการเมืองมิได้

มาตรา๔๐บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางไปรษณีย์หรือทางอื่นที่ชอบด้วยกฎหมาย

การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ หรือสิ่งสื่อสารอื่นใดที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอภาคในการใช้การสื่อสารที่จัดไว้เป็นบริการสาธารณะ

มาตรา๔๑บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรและในการประกอบอาชีพ

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อความปลอดภัยของประเทศ เศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว

การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรจะกระทำมิได้

มาตรา๔๒บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๔๓สิทธิของบุคคลในครอบครัวย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา๔๔สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดเพื่อการกระทำของเจ้าพนักงาน ในฐานะเสมือนเป็นตัวการหรือนายจ้าง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา๔๕บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำอื่น และพนักงานเทศบาล ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชนพลเมือง เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย ฉะเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ หรือวินัย


มาตรา๔๖บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ

มาตรา๔๗บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๔๘บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๔๙บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย

มาตรา๕๐ในการใช้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิออกเสียงประชามติ บุคคลมีหน้าที่ต้องกระทำโดยสุจริต และมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม

มาตรา๕๑บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๕๒บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๕๓บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษา ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ


มาตรา๕๔บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการบริหารราชการตามนโยบายดั่งกำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ

มาตรา๕๕รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งเอกราช

มาตรา๕๖รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศและถือหลักเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน

มาตรา๕๗รัฐพึงร่วมมือกับนานาประเทศ ในการรักษาความยุตติธรรมระหว่างประเทศและผดุงสันติสุขของโลก

มาตรา๕๘กำลังทหารพึงมีโดยเหมาะสมแก่ความจำเป็นสำหรับรักษาเอกราช

มาตรา๕๙กำลังทหารเป็นของชาติ อยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ไม่ขึ้นต่อเอกชน คณะบุคคล หรือพรรคการเมืองใด ๆ

มาตรา๖๐กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงคราม หรือเพื่อปราบปรามการจลาจล และจะใช้ได้ก็แต่โดยกระแสพระบรมราชโองการ เว้นแต่ในกรณีที่มีประกาศใช้กฎอัยยการศึก

การใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือราชการอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๖๑เอกชนก็ดี คณะบุคคลก็ดี พรรคการเมืองก็ดี จะใช้กำลังทหารไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อมเป็นเครื่องมือในทางการเมืองมิได้

ทหารและบุคคลอื่นในสังกัดฝ่ายทหาร ในระหว่างรับราชการประจำ จะเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือแสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ มิได้

มาตรา๖๒การศึกษาอบรมพึงมีจุดประสงค์ที่จะให้ชนชาวไทยเป็นพลเมืองดี มีร่างกายแข็งแรงและอนามัยสมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถที่จะประกอบการอาชีพ และมีจิตต์ใจเป็นนักประชาธิปไตย

มาตรา๖๓รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรม

การจัดระบบการศึกษาอบรมเป็นหน้าที่ของรัฐโดยฉะเพาะสถานศึกษาทั้งปวงย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ

การศึกษาอบรมชั้นอุดมศึกษา รัฐพึงจัดการให้สถานศึกษาดำเนินกิจการของตนเองได้ภายในขอบเขตต์ที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา๖๔การศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและของเทศบาล จะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน

รัฐพึงช่วยเหลือให้ได้มีอุปกรณ์การศึกษาอบรมตามควร

มาตรา๖๕รัฐพึงสนับสนุนการค้นคว้าในทางศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

มาตรา๖๖รัฐพึงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประจำชาติ แต่ต้องไม่กระทำโดยวิธีการอันเป็นการบังคับฝืนใจบุคคล

มาตรา๖๗รัฐพึงบำรุงรักษาสถานที่และวัตถุอันมีค่าในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปกรรม และป้องกันมิให้มีการส่งวัตถุเช่นว่านี้ออกนอกราชอาณาจักร

มาตรา๖๘การริเริ่มทางเศรษฐกิจส่วนเอกชนย่อมเป็นไปโดยเสรี แต่ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นการขัดแย้งกับการประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค และจะต้องไม่เป็นการบั่นรอนมนุษยธรรม ความมั่นคงของสังคม หรือเสรีภาพของบุคคล

การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค รัฐพึงจัดให้ประสานกันกับการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจส่วนเอกชน ในทางที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม

กิจการอันเป็นการผูกขาดตัดตอนก็ดี การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภคโดยเอกชนก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๖๙รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลิตผลทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ และพึงสนับสนุนการสหกรณ์เพื่อผลเช่นว่านั้นด้วย

มาตรา๗๐รัฐพึงสนับสนุนการค้าและการประกอบการผลิตของเอกชน ทั้งในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

มาตรา๗๑รัฐพึงจัดการตามควรเพื่อมิให้มีการใช้แรงงานเด็กเกินกว่าสภาพแห่งร่างกายของเด็ก

มาตรา๗๒รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการมารดาและทารกสงเคราะห์

การป้องกันและปราบโรคระบาด รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า



มาตรา๗๓รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน

รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๗๔ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธานรัฐสภา

ประธานรัฐสภามีหน้าที่ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามระเบียบ และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

ในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่แทน

มาตรา๗๕ร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

มาตรา๗๖ร่างพระราชบัญญัติซึ่งได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

มาตรา๗๗ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

มาตรา๗๘บุคคลจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนในขณะเดียวกันมิได้

มาตรา๗๙สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนจะเป็นข้าราชการประจำมิได้

มาตรา๘๐สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน

(๑)ต้องไม่รับตำแหน่ง หรือหน้าที่ใดจากรัฐ หน่วยราชการของรัฐ หรือหน่วยงานใด ๆ ที่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐโดยมีประโยชน์ตอบแทน หรือดำรงอยู่ซึ่งตำแหน่งหน้าที่เช่นว่านั้น ทั้งนี้นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น หรือตำแหน่งที่รัฐมนตรีต้องดำรงโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือตำแหน่งที่รัฐสภา วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนเป็นผู้แต่งตั้ง หรือตำแหน่ง หรือหน้าที่เป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาชั้นอุดมศึกษาอื่น

(๒)ต้องไม่เป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ที่รัฐหรือหน่วยราชการของรัฐเป็นผู้ลงทุนหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละห้าสิบของทุนหรือจำนวนหุ้นทั้งสิ้น

(๓)ต้องไม่รับสัมปทานจากรัฐหรือหน่วยราชการของรัฐ หรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานนั้น หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือหน่วยราชการของรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม

(๔)ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากรัฐหรือหน่วยราชการของรัฐเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่รัฐหรือหน่วยราชการของรัฐปฏิบัติกับบุคคลอื่น ๆ ในธุระกิจการงานตามปรกติ และนอกจากเงินหรือประโยชน์ที่พึงได้รับในฐานะเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือในฐานะที่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ดำรงได้โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้

บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนรับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพันซึ่งมีระบุให้จ่ายในงบประมาณแผ่นดินประจำปี และมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนรับหรือดำรงอยู่ซึ่งตำแหน่งกรรมการหรือกรรมาธิการ ที่มีประโยชน์ตอบแทนตามอัตราที่กำหนดโดยกฎหมายหรือโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา๘๑สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนไม่น้อยกว่าห้าคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกแห่งสภานั้นคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด และให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องดั่งกล่าวในวรรคก่อน

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระทั่งกิจการที่สมาชิกคนนั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิกก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัย


มาตรา๘๒วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน

ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา๘๓สมาชิกภาพแห่งสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งฉะเพาะในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปีให้มีการเปลี่ยนสมาชิกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระอำนาจที่จะเลือกและแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกได้

มาตรา๘๔สมาชิกภาพแห่งสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑)ถึงคราวออกตามวาระ

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๘๐

(๕)มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ (๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ (๓)

(๖)ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ

มาตรา๘๕ถ้าตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงเลือกและแต่งตั้งบุคคลผู้มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๒ เข้ามาเป็นสมาชิกแทน สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๒ วรรคสองมาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามความในมาตรานี้


มาตรา๘๖สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง มีจำนวนตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๗

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ และวิธีรวมเขตต์จังหวัด

มาตรา๘๗การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ถือเกณฑ์จำนวนราษฎรแต่ละจังหวัดตามผลสำรวจสำมะโนครัวครั้งสุดท้าย หนึ่งแสนห้าหมื่นคนต่อสมาชิกสภาผู้แทนหนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนห้าหมื่นคน เศษของหนึ่งแสนห้าหมื่นถ้าถึงเจ็ดหมื่นห้าพันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งแสนห้าหมื่น

มาตรา๘๘บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๙ และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๙๐ ย่อมมีสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา๘๙ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้

(๑)มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวก็ดี บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติก็ดี ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนอีกด้วย

(๒)มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

มาตรา๙๐บุคคลผู้มีลักษณะดั่งต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งคือ

(๑)บุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๒)คนหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

(๓)ภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช

(๔)ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๕)ผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา

มาตรา๙๑บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๘๘ และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๒ ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๙๓ ย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน แต่บทบัญญัติมาตรา ๙๐ (๔) มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ยังมิได้มีคำพิพากษาของศาลใดศาลหนึ่งให้จำคุกผู้ต้องคุมขัง

มาตรา๙๒ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้

(๑)มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

(๒)มีความรู้ไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือมีความรู้ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น

มาตรา๙๓บุคคลผู้มีลักษณะดั่งต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ

(๑)ผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

(๒)คนตาบอดทั้งสองข้าง

(๓)บุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี

(๔)ผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

(๕)ข้าราชการประจำ

(๖)บุคคลซึ่งเคยเป็นข้าราชการประจำมาแล้วและได้พ้นจากตำแหน่งราชการประจำมายังไม่ถึงหนึ่งปีในวันเลือกตั้ง แต่บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้จำต้องเข้ารับราชการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๙๔ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

มาตรา๙๕อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป

มาตรา๙๖เมื่ออายุของสภาผู้แทนสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

มาตรา๙๗พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่

การยุบสภาผู้แทนให้กระทำโดยพระกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

มาตรา๙๘สมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภาผู้แทนเริ่มแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา๙๙สมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภาผู้แทนสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑)ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทน หรือมีการยุบสภาผู้แทน

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๘๐

(๕)มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ (๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ (๓)

(๖)ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ

มาตรา๑๐๐ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทน หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาที่เหลืออยู่


มาตรา๑๐๑สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

มาตรา๑๐๒ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา๑๐๓วุฒิสภาและสภาผู้แทนแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา

มาตรา๑๐๔ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่ ซึ่งจะต้องกระทำเมื่อถึงคราวที่มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่ง

ประธานและรองประธานสภาผู้แทนดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาหรือมีการยุบสภา

ประธานและรองประธานวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระพ้นจากตำแหน่งตามความในสองวรรคก่อน เมื่อ

(๑)ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก

(๒)ลาออกจากตำแหน่ง

(๓)ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น

(๔)ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก

มาตรา๑๐๕ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีหน้าที่ทำกิจการแทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา๑๐๖ในเมื่อประธานและรองประธานแห่งวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น

มาตรา๑๐๗การประชุมวุฒิสภาก็ดี การประชุมสภาผู้แทนก็ดี ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๐๘การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่เรื่องซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้

สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา๑๐๙ในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้

เอกสิทธิ์นี้ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลที่สภาเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมด้วย

มาตรา๑๑๐สมัยประชุมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน ตามสมัยประชุมของรัฐสภา

มาตรา๑๑๑ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้

มาตรา๑๑๒ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทนจะกำหนด การประชุมครั้งแรกต้องให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง

วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด

มาตรา๑๑๓สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้

ในระหว่างเวลาดั่งกล่าวในวรรคก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้

มาตรา๑๑๔พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม

พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งจะมาทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้

มาตรา๑๑๕เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้

มาตรา๑๑๖สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้

คำร้องขอดั่งกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใด ก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภานั้น ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภาก็ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา

ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๑๗การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตรา๑๑๘ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ หรือคุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไปทำการสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการจับสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยด่วน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการคุมขังได้

มาตรา๑๑๙ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก แต่กระนั้น การพิจารณาคดีก็ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุมสภา

การพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง ย่อมเป็นอันใช้ได้

มาตรา๑๒๐ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ

คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อน ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม

มาตรา๑๒๑ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทน แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือการตั้งขึ้นหรือยกเลิกหรือลดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือผ่อนหรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรรหรือรับหรือรักษาหรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้ หรือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเงินตรา

ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่

มาตรา๑๒๒ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนก่อน เมื่อสภาผู้แทนได้พิจารณาลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อวุฒิสภาและวุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกำหนดหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกำหนดสามสิบวัน ทั้งนี้เว้นแต่สภาผู้แทนจะได้ลงมติขยายเวลาออกไปเป็นพิเศษ

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้มาถึงวุฒิสภา

ถ้าวุฒิสภาไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคแรก ก็ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น

มาตรา๑๒๓เมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว

(๑)ถ้าหากวุฒิสภาเห็นชอบด้วยโดยไม่แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖

(๒)ถ้าหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมายังสภาผู้แทน

(๓)ถ้าหากวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมนั้นกลับคืนมายังสภาผู้แทน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สภาทั้งสองต่างตั้งบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนกำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น แล้วให้คณะกรรมาธิการร่วมกันนั้นรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติตามที่ได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วนั้น ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖ ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน

คณะกรรมาธิการร่วมกันย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้ และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัน ต้องมีกรรมาธิการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำข้อบังคับการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมาธิการมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๒๔ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้โดยบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓ นั้น เมื่อเวลาหนึ่งปีได้ล่วงพ้นไป นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติกลับคืนมายังสภาผู้แทน สภาผู้แทนอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖

ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยังยั้งไว้เป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖

มาตรา๑๒๕ในกรณีที่สภาผู้แทนสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทน บรรดาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน ให้เป็นอันตกไป

มาตรา๑๒๖งบประมาณแผ่นดินประจำปีให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง

มาตรา๑๒๗การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็ฉะเพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาในโอกาสแรกที่พึงกระทำได้

คำอนุมัติของรัฐสภาให้ทำเป็นพระราชบัญญัติฉะเพาะเรื่อง หรือรวมลงไว้ในพระราชบัญญัติโอนเงินในงบประมาณหรือพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีถัดไป

มาตรา๑๒๘วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดินโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๒๙ในที่ประชุมวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

มาตรา๑๓๐สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน แล้วแต่กรณี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

ญัตติดั่งกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใดก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภานั้น และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับญัตติแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเวลาสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับแจ้ง แต่คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ระงับการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นเสียได้เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ สภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

มาตรา๑๓๑สมาชิกสภาผู้แทนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ

เมื่อการเปิดอภิปรายทั่วไปในสภาผู้แทนสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ก็ให้ประธานสภาผู้แทนแจ้งไปยังประธานวุฒิสภา และในกรณีเช่นว่านี้ วุฒิสภาอาจเปิดอภิปรายทั่วไปในปัญหาเดียวกันนั้น และอาจส่งข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานั้นได้

การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ให้สภาผู้แทนกระทำภายหลังที่ได้รับแจ้งผลแห่งการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาตามความในวรรคก่อนแล้ว

มาตรา๑๓๒ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

มาตรา๑๓๓การประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละสภา แต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ

มาตรา๑๓๔วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวงงานของสภาแล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาอยู่นั้นได้

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย

มาตรา๑๓๕การประชุมคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรรมาธิการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๓๖วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมปรึกษาของแต่ละสภา เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การประชุม การปรึกษาและกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้


มาตรา๑๓๗ในกรณีต่อไปนี้ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน

(๑)การให้ความเห็นชอบในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐

(๒)การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อรัฐสภาตามความในมาตรา ๒๒

(๓)การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามความในมาตรา ๒๕

(๔)การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามความในมาตรา ๗๗

(๕)การเปิดประชุมรัฐสภาตามความในมาตรา ๑๑๔

(๖)การเปิดอภิปรายทั่วไปตามความในมาตรา ๑๓๒

(๗)การให้ความยินยอมในการประกาศสงครามตามความในมาตรา ๑๕๓

(๘)การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา ๑๕๔

(๙)การแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๖๘

(๑๐)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๗๓

(๑๑)การตีความรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๗๗

มาตรา๑๓๘ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาโดยอนุโลม

มาตรา๑๓๙ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา๑๔๐พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าสิบห้าคนและไม่มากกว่ายี่สิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี

มาตรา๑๔๑ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนฉะเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา๑๔๒รัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการประจำมิได้

มาตรา๑๔๓รัฐมนตรีจะกระทำการใด ๆ ที่ห้ามไว้มิให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนกระทำตามที่บัญญัติในมาตรา ๘๐ มิได้ และนอกจากนั้นรัฐมนตรีจะเป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์การใด ๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไรก็มิได้ด้วย

มาตรา๑๔๔รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกแห่งสภา ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมของวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๕ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของสภาผู้แทน

รัฐมนตรีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาในหน้าที่ของตน และรัฐมนตรีทุกคน จะได้รับการแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

มาตรา๑๔๖คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินจะต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนและต่อวุฒิสภาตามลำดับ การลงมติให้ความไว้วางใจหรือไม่ให้ความไว้วางใจคณะรัฐมนตรีนั้น ให้สภาผู้แทนกระทำภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อวุฒิสภาแล้ว

ในการที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อวุฒิสภานั้น วุฒิสภาอาจตั้งข้อสังเกตส่งไปยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานั้นได้

มาตรา๑๔๗ในระหว่างเวลาบริหารราชการแผ่นดิน ภายหลังที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนแล้ว ถ้ามีพฤติการณ์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้สภาผู้แทนยืนยันความไว้วางใจอีกก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๔๘รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)สภาผู้แทนไม่ให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๗

(๒)สภาผู้แทนมีมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๓๑

(๓)สภาผู้แทนที่ได้ให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๑๔๖ สิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทน

(๔)คณะรัฐมนตรีลาออก

(๕)ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔๙

คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

มาตรา๑๔๙ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงฉะเพาะตัวเมื่อ

(๑)ตาย

(๒)ลาออก

(๓)มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ (๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ (๓)

(๔)ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก

(๕)กระทำการที่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๓

(๖)สภาผู้แทนลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๓๑

มาตรา๑๕๐ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดี เมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้เสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า ถ้ารัฐสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็ให้มีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระทั่งกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ

มาตรา๑๕๑ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามความในวรรคก่อน จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายในสองวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๕๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยยการศึก ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยยการศึก

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยยการศึกฉะเพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยยการศึก

มาตรา๑๕๓พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม เมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภาแล้ว

มติให้ความยินยอมของรัฐสภา ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

มาตรา๑๕๔พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทยหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

มาตรา๑๕๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา๑๕๖พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสสริยาภรณ์

มาตรา๑๕๗พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา๑๕๘พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า

มาตรา๑๕๙การกำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนและการลงโทษข้าราชการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

มาตรา๑๖๐ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๗๔ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ


มาตรา๑๖๑การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ ซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

มาตรา๑๖๒บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ

มาตรา๑๖๓การตั้งศาลขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยฉะเพาะ แทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้

มาตรา๑๖๔การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณา เพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยฉะเพาะ จะกระทำมิได้

มาตรา๑๖๕ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา๑๖๖พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ย้าย และถอดถอนผู้พิพากษา

มาตรา๑๖๗การแต่งตั้ง การย้าย และการถอดถอนผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล

การเลื่อนตำแหน่งและการเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ


มาตรา๑๖๘คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย

ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ

มาตรา๑๖๙คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้

วิธีการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา๑๗๐ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม

ในการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในวรรคแรก รัฐสภาจะแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกได้

มาตรา๑๗๑ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป

(๒)ตาย

(๓)ลาออก

(๔)มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ (๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ (๓)

(๕)ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก

มาตรา๑๗๒ถ้าตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกเมื่อเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามาแทนภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม


มาตรา๑๗๓รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยเงื่อนไขดั่งต่อไปนี้

(๑)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนรวมกัน หรือจากสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

(๒)ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(๓)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

(๔)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สอง ชั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(๕)เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(๖)การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามชั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา

(๗)เมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๑๗๔ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตามมาตรา ๑๗๓ กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชนและทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น

ในการให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชกฤษฎีกานั้น ต้องกำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงภายในเก้าสิบวัน ซึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรานี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๓ (๗) มาใช้บังคับ

มาตรา๑๗๕ในการให้ประชาชนออกเสียงตามมาตรา ๑๗๔ ถ้ามีเสียงข้างมากเป็นประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลประชามติ และเมื่อได้ประกาศรัฐธรรมนูญนั้นในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ถ้าไม่มีเสียงข้างมากเป็นประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป

มาตรา๑๗๖บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ

หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


มาตรา๑๗๗ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๙ ถ้ามีปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญอันอยู่ในวงงานของวุฒิสภา สภาผู้แทน หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะตีความ และให้ถือว่าการตีความของรัฐสภาเป็นเด็ดขาด

ในการตีความรัฐธรรมนูญตามความในวรรคก่อน ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๗๘บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา๑๗๙ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๑๗๘ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด และให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระทั่งคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา๑๘๐ในวาระเริ่มแรก ถ้าต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็ให้ประธานอภิรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๘๑ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และกำหนดเวลาแห่งสมาชิกภาพให้นับแต่วันที่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกชุดนั้น

มาตรา๑๘๒ให้สมาชิกสภาผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญนี้ และอายุของสภาให้นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งสมาชิกชุดนั้นได้รับเลือกตั้ง

ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนซึ่งจะได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๘๔ เข้ารับหน้าที่ ให้สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกดั่งกล่าวในวรรคก่อน

มาตรา๑๘๓ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับแก่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน แต่ทั้งนี้ฉะเพาะในกรณีที่สมาชิกนั้น ๆ ได้กระทำการต้องตามลักษณะที่ต้องห้ามตามความในมาตรานั้นมาก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๘๔ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นให้ครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๗ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๘๕ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นให้ครบถ้วนตามความในมาตรา ๑๘๔ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ และพระราชบัญญัติเลือกตั้งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาใช้บังคับ ยกเว้นการห้ามตามมาตรา ๑๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙

ก่อนที่จะได้มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ก็ให้นำบทบัญญัติวรรคก่อนมาใช้บังคับ

มาตรา๑๘๖ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) คงอยู่ในตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาต่อไปก่อน และพ้นจากตำแหน่งเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนชุดที่ได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้นตามความในมาตรา ๑๘๔ เข้ารับหน้าที่ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๘ วรรคสองมาใช้บังคับ

มาตรา๑๘๗ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๓ มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ฉะเพาะในกรณีที่รัฐมนตรีนั้น ๆ ได้กระทำการต้องตามลักษณะที่ต้องห้ามตามความในมาตรานั้นมาก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้

มาตรา๑๘๘ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๖๘ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันเปิดประชุมครั้งแรกหลังจากวันใช้รัฐธรรมนูญนี้

กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ศรีธรรมาธิเบศ
ประธานวุฒิสภา

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"