ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์/บันทึกหลักการและเหตุผล

จาก วิกิซอร์ซ
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อรื้อถอนอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ลดความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างโอกาสกลับสู่ประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังต่อไปนี้

(๑)ยกเลิกความในมาตรา ๖๕ มาตรา ๘๘ มาตรา ๒๐๓ มาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๗๐ มาตรา ๒๗๒ มาตรา ๒๗๕ และมาตรา ๒๗๙

(๒)ยกเลิกหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๗ ถึงมาตรา ๒๖๓

(๓)การตัดยุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๔๒)

(๔)แก้ไขจากการใช้ระบบบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๕๙ วรรคแรก)

(๕)ตัดข้อความที่บังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโบายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๖๒ วรรคแรก)

(๖)ตัดข้อความที่ให้มี "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย" จำกัดให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๒ วรรคสอง)

(๗)แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๕๖)

(๘)ยกเลิกที่มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษจำนวน ๒๕๐ คน และให้มีสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จำนวน ๒๐๐ คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๖๙)

(๙)ยกเลิกกระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่มาของกรรมการชุดปัจจุบัน รวมทั้งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย (ร่างมาตรา ๑๑)

(๑๐)ให้เริ่มสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ (ร่างมาตรา ๑๒)

(๑๑)การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เพิ่มหมวด ๑๗ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๒๖๑/๑ มาตรา ๒๖๑/๒ มาตรา ๒๖๑/๓ มาตรา ๒๖๑/๔ และมาตรา ๒๖๑/๕)

เหตุผล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ถูกออกแบบโดยการวางโครงสร้างทางการเมืองไว้เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจและรักษาอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สถาบันทางการเมืองและกติกาที่ถูกบังคับใช้เป็นเหมือนดั่งเสาค้ำยันอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น คสช. ยังออกแบบกติกากีดกันไม่ให้ประชาชนหรือผู้แทนราษฎรสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คสช. ได้โดยง่าย หากไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากผู้นำ คสช., วุฒิสภาจากการแต่งตั้งของ คสช. และพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

กติกาที่มีไว้เพื่อรักษาอำนาจของคนกลุ่มเดียว จึงทำให้การบริหารประเทศไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน ทำให้เกิกระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาด จนเกิดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมที่เคยเป็นเสาหลักให้สังคม กลับถูกแทรกแซงจนเกิดวิกฤตศรัทธา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่สามารถเป็นเสาหลักในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซ้ำยังเป็นใจกลางของปัญหาซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หนทางที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้อย่างมีความชอบธรรมมากที่สุด ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อรื้อถอนอำนาจของ "ระบอบ คสช." และสร้างโอกาสในการกลับสู่ "ประชาธิปไตย" ให้กับสังคมไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนวนปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งหมด ๑๐ ประเด็นที่ต้องมีการยกเลิกแก้ไขทันที คือ

๑)ปิดทางนายกฯ คนนอก ยกเลิกมาตรา ๒๗๒ ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ในช่วง ๕ ปีที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

๒)บอกลายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ยกเลิกมาตรา ๖๕ และ ๒๗๕ ที่ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน, นโยบายรัฐบาล และการทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนแม่บท

๓)ไม่ต้องมีแผนปฏิรูปประเทศ ยกเิลกการปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก ๓ เดือน ตัดอำนาจ สว. ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ

๔)ยกเลิกผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ ยกเลิกข้อความในมาตรา ๒๕๒ ที่ให้มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ยืนยันหลักการองค์กรที่ใช้อำนาจต้องยึดโยงกับประชาชนโดยตรง

๕)พังเกราะที่คุ้มครอง คสช. ยกเลิกมาตรา ๒๗๙ ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัวไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำอย่าง คสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลบังคับใช้อยู่ตลอดไป

๖)นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ยกเลิกระบบบัญชีแคนติเดตนายกฯ ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่มาได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

๗)ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ยกเลิก ส.ว. ๒๕๐ คนที่มาจากการแต่งตั้ง และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ ๒๐๐ คน และใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

๘)แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรอิสระ ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ จากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ชุดแรกโดยวิธ๊ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

๙)ปลดล็อกกลไกแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไขให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว. เป็นพิเศษ สามารถทำได้โดยเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภา และไม่บังคับให้ต้องลงประชามติ

๑๐)มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ๒๐๐ คนมาจากการเลือกตั้ง ผู้สมัครจะลงสมัครเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มก้ได้ ไม่ต้องเป็นพรรคการเมือง โดยต้องแถลงข้อเสนอในการเขียนรัฐธรรมนูญ ประชาชน ๑ คนเลือก ส.ส.ร. ได้เพียง ๑ คนหรือ ๑ กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน ๓๖๐ วันนับตั้งแต่มี ส.ส.ร.

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา เพื่อปลดชนวนความขัดแย้งและเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกลับมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... นี้