ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรฯ - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/47

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๙

ว่า เมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วได้เมืองมอญทั้งปวงรวมกันเป็นรามัญประเทศ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษามคธ ครั้นถึงรัชชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษามคธเป็นภาษามอญ ในคาถานำพระธรรมศาสตร์ไทยก็กล่าวแถลงไว้ว่า พระธรรมศาสตร์ซึ่งได้มายังเมืองไทยเป็นภาษามอญ ต้องเอามาแปลเป็นภาษาไทย ยุตติต้องกับพงศาวดารพะม่า ใช่แต่เพียงนั้น ถ้าสังเกตในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่มจะเห็นได้ต่อไปว่า กฎหมายไทยเดิมจัดหมวดหมู่เป็นอย่างอื่น เพิ่งจัดเข้าประมวญมนูธรรมศาสตร์ในครั้งนั้น มีอีกอย่าง ๑ กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารไทยแต่ย่อ ๆ ว่า เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ (พ.ศ. ๒๑๒๔) มีหนังสือมาแต่เมืองหงสาวดีว่า ปีเถาะนั้น มิใช่อธิกมาส ผิดไป ความที่ว่านี้ส่อให้เห็นว่า ประเทศราชต้องใช้ปฏิทินตามอย่างเมืองหงสาวดี และยังมีคติเรื่องสงกรานต์ซึ่งสมมตว่ามีนางเทพธิดา ๗ ตนผลัดกันมาเมื่อพระอาทิตย์สู่ราศีเมษขึ้นปีใหม่ ก็เป็นคติของโหรมอญประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจะให้รู้ปฏิทินทางอาทิตยืเทียบกับทางจันทร์ได้ง่าย ๆ ไทยเราก็เห็นจะได้มาจากเมืองหงสาวดีในสมัยนั้น และคงมีขนบธรรมเนียมอย่างอื่นอีกซึ่งเลิกศูนย์ไปเสียแล้ว แม้แต่เพียงที่ยังมีอยู่ดังกล่าวมาก็พอจะเห็นได้ว่า ในสมัยนั้นทาง