ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรฯ - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ยิ่งกว่าหนังสือที่ได้ทรงแต่งไว้ด้วยพระกำลังกายและพระกำลังปัญญาในเวลาที่ทรงพระชราพระชันษาถึง ๘๐ ปีแล้ว ดังนี้ ครั้นต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จนิวัตสู่พระนครใน พ.ศ. ๒๔๘๘ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ก็ได้นำพระนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อณวันที่ ๒๙ ธันวาคม ปีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เก็บรักษาต้นฉะบับไว้สำหรับจะได้พิมพ์ในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้จึงสมควรด้วยประการทั้งปวงที่จะจัดพิมพ์ขึ้นเป็นของพระราชทานแจกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้นนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทราบ ก็ทรงเห็นชอบด้วย และทรงอนุมัติให้กรมศิลปากรดำเนินการจัดพิมพ์จนสำเร็จ

เรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเรื่องแสดงจริยาของบุคคลสำคัญผู้เกิดมาบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศชาติ จนพระนามปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าเป็น “วีรบุรุษ” ประเทศชาติต่าง ๆ ย่อมมีวีรบุรุษเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือบุคคลสามัญบังเกิดในบางยุคบางสมัย และคนในชาตินั้น ๆ ย่อมจดจำอภินิหารของวีรบุรุษแห่งชาติตนเชิดชูเกียรติไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศ บางทีก็แต่งเป็นเรื่องประวัติขึ้นโดยฉะเพาะ เพื่อให้เป็นคติแก่คนชั้นหลังที่จะจดจำยึดถือเป็นแบบอย่างในอันที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติตามกำลังความสามารถของตน ๆ ก็ในกระบวนประวัติแห่งวีรบุรุษของชาติไทยยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เห็นจะไม่มีประวัติของผู้ใดที่ละเอียดพิสดาร ทั้งน่าอ่านและเร้าใจให้กล้าหาญยิ่งไปกว่าพระประวัติของ