ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๔

จาก วิกิซอร์ซ

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๔ จดหมายเหตุเรื่องปราบฮ่อ

พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง สำหรับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ฯ ( ม.ร.ว อรุณ ฉัตรกุล ณกรุงเทพ ) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม แล ราชองครักษพิเศษ ณพระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร


คำนำ นายพลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน ราชองครักษ์ กับคุณหญิง ( หม่อมหลวงวงศ์ ) รับฉันทะท่านผู้หญิงบดินทรเดชานุชิต มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จะพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ที่พระเมรุท้องสนามหลวง เนื่องในงานพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จ้าภาพประสงค์จะพิมพ์หนังสือเปนของแจก สักเรื่อง ๑ แลได้ทราบอยู่ว่าเมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตยังมีชีวิต อยู่นั้น ได้เคยพูดกับข้าพเจ้าไว้ถึงการที่จะให้แต่งเรื่องประวัติของท่านเพราะฉนั้นขอให้ข้าพเจ้าช่วยเลือกเรื่องหนังสือ แลแต่งเรื่องประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตให้ด้วย ข้อที่ว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้เคยพูดกับข้าพเจ้าถึงเรื่องที่ จะให้แต่งประวัติของท่านนั้นเปนความจริง ท่านได้เคยปรารภกับข้าพเจ้ามาสัก ๓ ปีแล้ว จะเปนในเวลางานศพของผู้ใด ข้าพเจ้าจำหาได้ไม่ เมื่อท่านได้อ่านคำนำแลเรื่องประวัติที่ข้าพเจ้าแต่งในหนังสือซึ่งพิมพ์แจกในงานนั้น ท่านชอบใจจึงว่า ถ้าท่านถึงอสัญกรรมเมื่อใด ขอ ให้ข้าพเจ้าช่วยจัดการพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ แลแต่งเรื่องประวัติของท่านพิมพ์ในหนังสือนั้นด้วย แต่ส่วนเรื่องประวัตินั้น ท่านว่าแต่งเมื่อตายแล้วผู้ตายไม่ได้อ่าน อยากจะให้ข้าพเจ้าแต่งเรื่องประวัติของท่าน แต่ในเวลาตัวท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะได้มีโอกาศอ่านทราบความที่แต่ง


ข ข้าพเจ้าได้ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่เคยแต่งประวัติของผู้ใดในเวลาที่ยังมี ชีวิตอยู่ แต่เมื่อท่านประสงค์ก็จะลองแต่งดู บางทีก็จะดีกว่าแต่งต่อ เมื่อสิ้นชีพแล้ว เพราะตัวเจ้าของประวัติมีโอกาสที่จะชี้แจงฤๅแก้ไข คัดค้านความที่จะกล่าวในเรื่องประวัตินั้นได้ เมื่อได้พูดกันวันนั้นแล้ว ต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตมาที่บ้านข้าพเจ้า ได้เอาหัวข้อเรื่องประวัติของท่านมามอบไว้ ด้วยหวังใจว่าจะได้อ่านเรื่องประวัติของท่าน ที่ข้าพเจ้าแต่ง แต่ความหวังใจนั้นไม่เปนผลสำเร็จ เพราะข้าพเจ้ามิได้ แต่งให้ทันท่านได้อ่าน ข้อนี้ข้าพเจ้ารู้สึกทั้งเสียใจแลลอายใจยิ่งนัก ใช่ว่าข้าพเจ้าออกปากรับแล้ว จะไม่ได้ตั้งใจทำดังวาจานั้นหามิได้ แท้จริงได้ลองตั้งต้นแต่งแต่ในหมู่นั้น แต่เกิดขัดข้องขึ้น ๒ ประการ ประการ ที่ ๑ ข้าพเจ้าไม่เคยแต่งประวัติคนเปน ครั้นมาลองแต่งเข้า จะเปนด้วยเหตุใดก็หาทราบไม่ ให้เกิดอุทัจ ได้เริ่มแต่งหลายครั้งก็หาลุล่วงไม่ อิกประการ ๑ นั้น ตัวข้าพเจ้ากับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ถึงชอบชิดสนิทสนมกันฉันมิตรสหายก็จริง แต่หาได้เคยรับราชการอยู่ร่วมกันไม่ เรื่องประวัติของท่านที่เนื่องในราชการ ข้าพเจ้ายังรู้น้อยนัก จึงคิดว่าจะต้องศึกษาหาความรู้เสียให้เพียงพอก่อนจึงจะแต่ง ทั้งตั้งอยู่ในความประมาท นึกว่าท่านคงจะมีอายุอยู่ยั่งยืนไปอิกนาน ไม่จำเปนจะต้องรีบแต่ง ครั้นท่านถึงอสัญกรรมลง เสียใจแล้วกลับประมาทอิกเล่า ว่ากว่าจะพระราชทานเพลิงเห็นจะยังนาน ด้วยสำคัญว่าจะปลงศพที่เมรุวัดครั้นมาทราบว่าจะพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตที่


ฃ พระเมรุกลางเมืองสิใกล้กับวันกำหนดเสียแล้ว จะทำอย่างอื่นนอกจากเพียงให้หนังสือแจกทันงานเท่านั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงขอบอกไว้ในที่นี้ ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าหนังสือแจกในงานศพเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตไม่ดีดังสมควรจะเปนไซ้ ขอให้เข้าใจว่าข้าพเจ้ารับผิด จะพยายามแก้ไขดูตามที่สามารถจะทำได้ ส่วนเรื่องหนังสือที่จะพิมพ์นั้น ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ถ้าเปนเรื่องใน ทางการทหารจึงจะเหมาะสมแก่งานศพของเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเพราะผู้ที่จะได้รับแจกคงมีนายทหารมากด้วยกัน ข้าพเจ้าจึงปฤกษาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ท่านให้ค้นหาเรื่องหนังสือในกรมตำรา ได้จดหมายเหตุปราบฮ่อในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้เคยไปในกองทัพครั้ง ๑ แต่เมื่อยังเปนนายร้อยทหารปืนใหญ่ ให้ ส่งมายังหอพระสมุด ฯ ข้าพเจ้าตรวจดูก็เห็นเหมาะ แต่จดหมายเหตุนั้นเรียบเรียงความพิศดารข้างตอนท้าย แต่บกพร่องข้างตอนต้น แลมีเคลื่อนคลาศกับเรื่องราวที่ข้าพเจ้าทราบว่าเปนความจริงอยู่บ้าง จะให้รวบรวมพิมพ์ตามความที่ปรากฎอยู่ในหนังสือยุทธโกษฐ์ แม้จะเปนการสดวกแก่ข้าพเจ้าดูก็หาสมควรไม่ จึงได้ลงแรงแต่งเสียใหม่ทีเดียว ตอนต้นแต่งตามเรื่องซึ่งข้าพเจ้ารู้มาจากที่อื่น ตอนหลัง ๆ แต่งตาม เนื้อความที่ปรากฎในจดหมายเหตุ แก้ที่ผิดแลตัดรายการอันเปน พลความไม่สำคัญออกเสีย โดยประสงค์จะให้ผู้อ่านหนังสือเรื่องนี้ เข้าใจเหตุการณ์เรื่องปราบฮ่อแจ่มแจ้งกว่าที่ได้เคยทราบมาแต่ก่อน หวังใจว่าจะเปนประโยชน์ได้ดังประสงค์.

ค เรื่องประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต

เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต มหิศรมหาสวามิภักดิ์ สุรินทรศักดิ ประพัทธพงศ จตุรงคเสนาบดี ยุทธวิธีสุขุมวินิต ธรรมสุจริตศิริสวัสดิ์พุทธาธิรัตนสรณธาดา อุดมอาชวาธยาศรัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ มีนามเดิมว่า หม่อมราชวงศอรุณ เปนบุตรหม่อมเจ้านิล ในพระเจ้า บรมวงศเธอชั้น ๑ กรมหมื่นสุรินทรรักษ พระองค์ซึ่งเปนต้นสกุล ฉัตรกุล ณกรุงเทพ มารดาชื่อหม่อมราชวงศสุ่น บ่าลกวงศ ณกรุงเทพเปนนัดาของกรมหมื่นนราเทเวศร ในกรมพระราชวังหลัง เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เกิดที่บ้านบิดาเมื่อยังอยู่วังกรมหมื่น สุรินทรรักษ อันตั้งอยู่ณตำบลท่าเตียนในจังหวัดพระนคร เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นรัฐบาลต้อง การที่จะสร้างศาลต่างประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม จึงให้หม่อมเจ้า นิลแลหม่อมเจ้าองค์อื่นในกรมหมื่นสุรินทรรักษย้ายข้ามฟากไปอยู่ที่สวน ริมวัดบุบผาราม (หมู่บ้านที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตอยู่เมื่อถึง อสัญกรรมนั้น ) อันใกล้กับจวนของท่าน ตรงนี้จะต้องอธิบายความย้อนถอยหลังไปถึงเรื่องประวัติของกรมหมื่นสุรินทรรักษ จึงจะเข้าใจว่าเหตุใดสมเด็จเจ้าพระยา ฯ จึงเอาเปนธุระแก่หม่อมเจ้าในกรมนั้น กรมหมื่นสุรินทรรักษทรงพระนามว่า พระ องค์เจ้าฉัตร เปนพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้า

ต จุฬาโลก เจ้าจอมมารดาชื่อตานี เปนธิดาเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาคแต่เกิดด้วยภรรยาเดิม เมื่อสิ้นภรรยาคนนั้นแล้ว เจ้าพระยามหา เสนาบุนนาคจึงมาได้เจ้าคุณพระราชพันธ์นวลเปนภรรยา เจ้าจอมมารดาตานีเปนพี่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ แลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เปนแต่ต่างมารดากัน เพราะฉนั้นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นสุรินทรรักษจึงนับว่าเปนหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ อนึ่งวังกรมหมื่นสุรินทรรักษที่ท่าเตียนนั้น ได้ทราบว่าเมื่อใน รัชกาลที่ ๑ โปรด ฯ ให้สร้างวังแต่ท้ายเขตรตำหนักแพลงไปจนท่าเตียน ๒ วัง ๆ เหนือพระราชทานเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี วังใต้พระราชทานเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ อันเปนพระโอรสสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย ถึงรัชกาลที่ ๒ ไฟไหม้วังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี แลเวลานั้นพระราชวังเดิมที่ใต้วัดอรุณ ฯ ว่างอยู่ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาไลยจึงโปรด ฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ที่วังที่ไฟไหม้นั้นโปรด ฯ ให้สร้างเปนโรงวิเสทกับคลังสินค้า ยังคงอยู่แต่วังใต้ซึ่งเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษเสด็จ ประทับอยู่ วังที่กรมหมื่นสุรินทรรักษประทับอยู่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ แล รัชกาลที่ ๒ นั้นจะอยู่ที่ใดสืบยังไม่ได้ความ ต่อในรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษเสด็จย้ายข้ามฟากไปอยู่ ( กล่าวกันว่าโดยซื้อ ) วังเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศที่ใต้พระราชวังหลัง พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังเดิมของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษที่ท่า


ฆ เตียนให้เปนที่ประทับของกรมหมื่นสุรินทรรักษ เพราะทรงสนิทชิด ชอบพระราชอัธยาศรัย ไว้วางพระราชหฤไทยมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ แลกรมหมื่นสุรินทรรักษนั้น ได้ทรงกำกับราชการกรมเมืองมาแต่รัชกาล ที่ ๒ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ทรงกำกับราชการกรมมหาดไทยแลกรมท่าด้วย ตามความที่ปรากฎในจดหมายเหตุเก่า แม้ที่ชาวต่างประเทศแต่ง สรรเสริญกรมหมื่นสุรินทรรักษว่าทรงพระปรีชาสามารถมาก เมื่อ ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถัดกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ถึงกรมหมื่น สุรินทรรักษที่ยกย่องว่าเปนหลักในราชการ ข้อนี้ปรากฎอยู่ในครั้ง เมืองเวียงจันท์เปนขบถ กองทัพใหญ่ที่ยกไปปราบปรามข้าศึก โปรด ฯ ให้กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จเปนจอมพลทัพ ๑ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษเสด็จเปนจอมพลทัพ ๑ มีอำนาจเหนือเจ้านายและเสนาบดีที่ไปในกองทัพทั้งนั้น แต่กองทัพกรมหมื่นสุรินทรรักษต้องเรียกกลับมารักษาทาง ปากน้ำ ด้วยครั้งนั้นระแวงจะมีกองทัพอังกฤษยกมาอิกทาง ๑ เพราะ เกิดวิวาทขึ้นกับไทยด้วยเรื่องเมืองไทรในเวลาร่วมกับศึกเวียงจันท์ คน ที่ทันรับราชการในสมัยนั้นมักกล่าวกันว่า ถ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษยังทรงพระชนม์อยู่ภายหลังกรมพระราชวังบวร ฯ พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นจะโปรด ฯ ให้เปนพระมหาอุปราช แต่กรมหมื่น สุรินทรรักษสิ้นพระชนม์เสียเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ มีพระชัณษาเพียง ๔๐ ปี แต่เจ้าจอมมารดาตานียังมีชีวิตอยู่ต่อมาอิกช้านาน คนทั้งหลายเรียกกันว่า


ง เจ้าคุมวัง เพราะท่านเปนพี่เจ้าคุณราชินิกุลที่เปนธิดาของเจ้าคุณ พระราชพันธ์นวล คือเจ้าคุณนุ่น ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณวังหลวง แล เจ้าคุณคุ้ม ซึ่งเรียกกันว่าเจ้าคุณวังน่าเปนต้น เจ้าคุณวังออกมาอยู่ที่วังกรมหมื่นสุรินทรรักษจนถึงอสัญกรรม หม่อมเจ้าในกรมหมื่นสุรินทรรักษจึงอยู่ที่วังนั้นต่อมาจนย้ายไปอยู่ฟากข้างโน้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตยังเด็ก ได้เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักหม่อมเจ้าสุบรรณซึ่งเปนอาว์ และครูอื่น ๆ อิก แต่การเล่าเรียนในสมัยนั้นยังสอนแต่เพียงให้อ่านหนังสือออกกับเขียนหนังสือได้ เจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิตได้เรียนเพียงเท่านั้น ไม่ได้รับประโยชน์ในการศึกษาภาษาต่างประเทศ ฤๅแม้วิชาชั้นสูงในภาษาไทยเหมือนเช่นคนที่เกิด ในชั้นหลัง ข้อนี้เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเรื่องประวัติของท่านที่ปรากฎความสามารถในราชการ และกิจการอย่างอื่นเมื่อชั้นหลัง คิดดูก็ เห็นเปนอัศจรรย์ ด้วยอาศรัยแต่ลำภังคุณความดีที่เปนอุปนิสัยของท่านชักจูงเปนข้อสำคัญอย่างเดียว. ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้นนั้น ทรงพระราชดำริห์ว่าหม่อม เจ้าหม่อมราชวงศ อันเปนเชื้อสายในราชตระกูล เที่ยวกระจัดกระจาย อยู่ตามอำเภอใจโดยมาก ถ้าไปประพฤติชั่วร้ายก็เสื่อมเสียพระเกียรติยศขึ้นชื่อมาถึงราชตระกูล ควรจะรวบรวมมาฝึกหัดให้ได้โอกาศหาคุณความดี ฤๅแม้อย่างต่ำก็พอป้องกันอย่าให้ไปประพฤติเสื่อมเสีย จึง


จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศใน ต่างกรมที่รุ่นหนุ่ม มาฝึกหัดในกรมทหารมหาดเล็ก ในเวลานั้นเจ้า พระยาบดินทรเดชานุชิตอายุได้ ๑๖ ปี จึงอยู่ในหม่อมราชวงศซึ่งเข้ามาเปนทหารมหาดเล็ก ในชั้นแรกเปนพลทหารอยู่ในกองร้อยที่ ๖ การที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้เข้ามาเปนทหารมหาดเล็กครั้งนั้น เมื่อคิดดูในเวลานี้ดูเปนการประสบโชคสำคัญ เหมือนหนึ่ง ว่ากุศลหนหลังชักนำท่านเข้าสู่ทางที่จะถึงคุณวิเศษ ซึ่งเหมาะแก่อุปนิสัยของท่าน รับราชการอยู่ไม่ช้าก็ปรากฎความสามารถ ได้เปนนาย สิบตรีทหารมหาดเล็กกองร้อยที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ต่อมาอิกปีหนึ่ง ได้เลื่อนขึ้นเปนนายสิบโทในกองร้อยที่ ๕ นั้น ถึง พ.ศ. ๒๔๒๑ เจ้าพระยาสุรวงศวัฒนศักดิ ( โต บุนนาค ) ซึ่งได้ไปเล่าเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ในประเทศอังกฤษ จนได้เปนนาย ร้อยทหารอังกฤษแล้ว กลับเข้ามารับราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรด เกล้า ฯ ให้เปนที่พระอมรวิสัยสรเดช ตำแหน่งนายพันตรีผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ญวน ซึ่งได้จัดตั้งตามแบบเก่ามาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาสุรวงศวัฒณศักดิจะจัดการกรมทหารปืนใหญ่ให้เข้าระเบียบแบบแผนอย่างใหม่ ไม่มีตัวนายร้อยพอจะรับราชการในกรมทหาร ปืนใหญ่ จึงกราบบังคมทูล ฯ ขอนายสิบทหารในกรมทหารมหาดเล็ก ไปเปนนายทหารปืนใหญ่ ด้วยพวกผู้ดีมีสกุลรับราชการเปนทหารมหาดเล็กอยู่โดยมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเมื่อยังเปนนายสิบ โทอยู่ในผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับเลือกไปรับราชการเปนนายทหารปืนใหญ่ จึง ฉ ออกจากกรมทหารมหาดเล็กย้ายไป รับราชการเปนตำแหน่งนายร้อยโท มาแต่นั้น ในระหว่างเวลาที่รับราชการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ เจ้า พระยาบดินทรเดชานุชิตได้มีโอกาศไปราชการทัพกับเจ้าพระยาสุรวงศวัฒณศักดิครั้งปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้ขึ้นไปถึงทุ่งเชียงคำ ในแขวงเมืองพวน แต่หาได้มีโอกาศรบพุ่งไม่ เพราะพวกฮ่อทิ้งค่ายหนีไปเสียก่อนกองทัพขึ้นไปถึง. ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมยุทธนาธิการบัญชาการกรมทหารบกทหารเรือรวมกัน กรมยุทธนา ธิการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศวัฒณศักดิ เวลานั้นเปนนายพลตรี พระยาสีหราชเดโชไชย ย้ายจากกรมทหารปืนใหญ่มาเปนผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเวลานั้นเปนนายร้อยเอก ก็ได้ย้ายมาเปนปลัดกองโรงเรียนนายร้อยด้วย ต่อมาได้เปนผู้บังคับการโรงเรียน เลื่อนยศเปนนายพันตรี มีบันดาศักดิเปนหลวงสรวิเศษเดชาวุธ และเปนราชองครักษเวรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ แล้วเลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปน พระสรวิเศษเดชาวุธ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ เริ่มจัดการทหารบกประจำเปนมณฑล เจ้าพระ ยาบดินทรเดชานุชิตได้ย้ายจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาเปนผู้บัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพ ฯ เลื่อนยศขึ้นเปนนายพันโท ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งยกรบัตรทัพบก ได้เลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนพระยาพหลพลพยุหเสนา รับราชการอยู่ใน ช ตำแหน่งนี้ ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ย้ายไปเปนปลัดทัพบก และได้ เปนตำแหน่งองครักษมนตรี ต่อมาอิก ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ เลื่อนยศ ขึ้นเปนนายพันเอกตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ แล้วเลื่อนขึ้นเปนนายพลตรี รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนพระยาสีห ราชเดโชไชย และได้พระราชทานพานทองด้วย ในระยะนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ซึ่งเปนผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสด็จออกไปราชการณประเทศยุโรป ทางนี้เกิดเหตุพวกเงี้ยวก่อการจลาจลขึ้นในมณฑลภาคพายัพ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เปนผู้รั้งราชการกรมยุทธนาธิการต้องรับน่าที่จัดกองทหารส่งขึ้นไปปราบพวกผู้ร้ายเงี้ยว เปนการปัจจุบันในชั้นต้น จัดการได้รวดเร็วเรียบร้อยทันราชการเกินกว่าที่คนคาดหมายกันโดยมาก เมื่อเสร็จราชการครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนยศขึ้นเปนนายพลโท คนทั้งหลายอันอยู่นอกกรมทหารก็เห็นพร้อมยอมกันในคราวนี้ ว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเปนผู้มีความสามารถ ในข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คน ๑ ไม่มีเสียงสอดแคล้วคัดค้านในเวลาที่ท่านได้มีตำแหน่งสำคัญยิ่งขึ้นในชั้นต่อมา นอกจากน่าที่ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ได้รับราชการในน่าที่พิเศษเมื่อรัชกาลที่ ๕ อิกหลายครั้ง คือได้เปนแม่ทัพพิเศษในการรวมพลสวนสนาม รับเสด็จพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปทั้งคราวแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐


ซ และคราวหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ และเปนแม่ทัพพิเศษคราวตรวจพลสวนสนามเปนการพิเศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ อิกคราว ๑ ได้เปนข้าหลวงทหาร ไปตรวจราชการมณฑลบุรพาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ คราว ๑ ไปตรวจราชการมณฑลภาคพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ คราว ๑ ไปปราบจีนอั้งยี่ที่ตำบลดอนกระเบื้องแขวงจังหวัดราชบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ คราว ๑ ได้บังคับการ ทหารรักษาพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ คราว ๑ ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จอมพลพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิต เมื่อยังเปนพระยาสีหราชเดโชไชย เปนตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แล้วเลื่อนยศขึ้นเปนนายพลเอก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมพระคชบาลว่าง โปรด ฯ ให้รั้งตำแหน่งนั้นอยู่คราว ๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เปนผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อยู่จน พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรด เกล้า ฯ ให้เปนเสนาบดีเต็มตำแหน่ง ต่อมาในปีนั้นถึงงานพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาบดินทรเดชา นุชิต มีราชทินนามตามที่ปรากฎอยู่ข้างต้นประวัติ แลเลื่อนยศขึ้นเปน จอมพล


ฌ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน เกียรติยศพิเศษในตำแหน่งทหาร แก่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตหลายอย่าง คือเปนราชองครักษพิเศษอย่าง ๑ เปนนายทหารพิเศษประจำ กรมทหารรักษาวังอย่าง ๑ เปนนายทหารพิเศษประจำโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมอย่าง ๑ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ต่าง ๆ โดยลำดับมาดังนี้ ในรัชกาลที่ ๕ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๐ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ จัตุร์ถาภรณ์มงกุฎสยาม วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ตริตาภรณ์ช้างเผือก วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ประถมาภรณ์มงกุฎสยาม ในรัชกาลปัจจุบันนี้ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ประถมาภรณ์ช้างเผือก วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ปฐมจุลจอมเกล้า วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ รัตนวราภรณ์ วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มหาปรมาภรณ์



ญ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ มหาโยธินแห่งเครื่องราชอิศริยา ภรณ์รามาธิบดี วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นพรัตน์ราชวราภรณ์ เหรียญต่าง ๆ ที่ได้พระราชทานในรัชกาลที่ ๕ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เหรียญจักรมาลา วันที่ ๑๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ เหรียญประพาศมาลา วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๑ เหรียญปราบฮ่อ วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ เหรียญทวีธาภิเศก (ทอง) วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ เหรียญรัชมงคล (ทอง) วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ เหรียญรัชมังคลาภิเศก(ทอง) เหรียญต่าง ๆ ได้พระราชทานในรัชกาลปัจจุบัน วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบัน ชั้นที่ ๓ วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๓ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเศก ( ทอง ) วันที่ ๑๐พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัตยุบัน ชั้นที่ ๒


ฎ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการ แผ่นดิน เข็มต่าง ๆ ที่ได้พระราชทาน วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ เข็มอักษรเสด็จพระราชทานดำเนิรประ พาศยุโรปรักษาพระนครคราวหลัง (เข็มเงิน) วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๒ เข็มพระชนมายุศมงคลชั้น ๒ ( ทองคำ ) วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เข็มข้าหลวงเดิม ในเครื่องราชอิศริยาภรณ์ที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตได้พระราชทานนั้น เปนแปลกพิเศษอยู่อย่าง ๑ ที่ได้พระราชทานนพรัตนราชวราภรณ์อันเครื่องราชอิศริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์นี้ แม้ในเจ้านายจะได้รับพระราชทานก็แต่เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นผู้ใหญ่แต่บางพระองค์ส่วนขุนนางนั้นที่ได้รับพระราชทานมีปรากฎแต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา ศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหมได้พระ ราชทานในรัชกาลที่ ๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้มีแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชา นุชิตผู้เดียว ในข้าราชการที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์ ยังหามีผู้อื่นได้พระราชทานไม่ อนึ่งตั้งแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตมีอายุครบ ๖๐ ทัศ เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน

ฏ รดน้ำเวลาปีใหม่ทุกปีมามิได้ขาด โดยทรงยกย่องว่าเปนผู้ที่ทรงเคารพ ผู้หนึ่ง ซึ่งน้อยตัวที่จะได้พระราชทาน เมื่อคิดดูตามความที่ปรากฎมาข้างต้นประวัติ คือว่าเจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิตก็มิได้มีโอกาศศึกษาวิชาความรู้ลึกซึ้งอย่างคนชั้นหลังแลไม่รู้ภาษาต่างประเทศ ฤๅได้เคยไปดูแบบธรรมเนียมในนานาประเทศเหตุใดจึงสามารถจะรับราชการทหารได้ดีทุกน่าที่ตลอดมา จนได้เปน ถึงจอมพล แลเปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แลที่สุดได้ รับพระราชทานถึงเครื่องราชอิศริยาภรณ์นพรัตน อันเปนเกียรติยศสูงพิเศษควรนับว่าเปนยอดประวัติของท่าน ข้าพเจ้าสันนิษฐานโดยได้ เปนมิตรคุ้นเคยกับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตมาช้านาน เห็นว่าเปนเพราะท่านทรงคุณสมบัติอันเกิดแต่อุปนิสัย ๓ อย่างเปนเครื่องประกอบกับสติปัญญาของท่าน คือ ความซื่ออย่าง ๑ ความสัตย์อย่าง ๑ แลความเพียรอย่าง ๑ คุณสมบัติทั้ง ๓ อย่างนี้เปนสำคัญในอัธยาศรัยของเจ้า พระยาบดินทรเดชานุชิต ความซื่อนั้นเปนบรรทัดทางปฏิบัติของท่าน ทั้งในน่าที่ราชการ แลการที่ประพฤติต่อมิตรสหาย ความสัตย์นั้นเปนอย่างนิจศีลของท่าน มิได้ปล่อยให้โลกธรรมครอบงำให้ผันแปรไป ด้วยประการใด ๆ แลความเพียรนั้นเปนเกียรติคุณของท่านที่ประกอบกิจการทั้งปวง ไม่ว่าการยากง่ายใหญ่น้อยอย่างใด ลงได้ทำแล้วคงพยายามให้การสำเร็จตามประสงค์ ฤๅตามคำสั่งของผู้ใหญ่ในเวลา


ฐ เมื่อท่านยังเปนผู้น้อย นอกจากคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมาเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตยังทรงคุณความดีอิกหลายอย่าง คือที่มีไมตรีจิตรต่อผู้อื่นทั่วไปเปนต้น เพราะฉนั้นจึงเปนที่เคารพรักใคร่ไว้ วางใจของผู้อื่น ทั้งญาติแลมิตรแลผู้ที่ร่วมราชการตั้งแต่ผู้ใหญ่ลง มาจนผู้น้อย เมื่อเปนเช่นนี้การงานทั้งปวงที่ท่านทำ คือราชการใน น่าที่เปนต้น ก็ย่อมจะเปนศุภผล เปนเหตุให้ท่านได้รับความเจริญ รุ่งเรืองมาจนตลอดอายุของท่าน เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตป่วยเปนโรคปอดอักเสบ ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๔ คำณวนอายุได้ ๖๖ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุสาหะเสด็จไปทรงรดน้ำศพ พระราชทานโกฐมณฑป แลเครื่องประโคมกลองชนะ มีจ่าปีจ่ากลองแลแตรงอนแตรฝรั่งตามบันดาศักดิเจ้าพระยาเสนาบดีชั้นสูง ครั้นต่อมาเมื่อสร้างพระเมรุท้องสนามหลวงถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่าเจ้าพระยาบดินทร เดชานุชิตก็เปนเสนาบดีมีเกียรติยศเนื่องในราชตระกูล ทั้งได้รับราช การสนองพระเดชพระคุณมีความชอบความดีมาเปนอันมาก สมควรจะพระราชทานเพลิงศพที่พระเมรุกลางเมืองได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดการแห่ศพเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ด้วยกระบวรทหารตามเกียรติยศจอมพลมายังพระเมรุ แลพระราชทานเพลิงศพ


ฑ เมื่อณวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ สิ้นเรื่องประวัติของเจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิตเพียงนี้ หวังใจว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือนี้ไป คงจะอนุโมทนาในการ ซึ่งท่านผู้หญิงบดินทรเดชานุชิตให้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ทั่วกัน สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕








สารบาญ ตอนที่ ๑ อธิบายว่าด้วยท้องที่ที่เกิดศึกฮ่อ น่า ๑ ตอนที่ ๒ อธิบายว่าด้วยพวกฮ่อ " ๕ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ " ๘ ตอนที่ ๔ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ " ๑๐ ตอนที่ ๕ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ เรื่องกองทัพทางตวันออก " ๑๔ ตอนที่ ๖ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ ต่อมา เรื่องกองทัพตวันตกยกไปเมืองหลวงพระบาง " ๑๗ ตอนที่ ๗ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ ต่อมา เรื่องตอนกองทัพตวันตกรบฮ่อ " ๒๕ ตอนที่ ๘ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ ต่อมา เรื่องตอนกองทัพตวันตกตั้งพักฤดูฝน " ๓๖ ตอนที่ ๙ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ ต่อมา เรื่องตอนกองทัพตวันตกยกไปเมืองแกง " ๔๕




จดหมายเหตุกองทัพปราบฮ่อ ตอนที่ ๑ อธิบายว่าด้วยท้องที่ ๆ เกิดศึกฮ่อ ท้องที่อันเปนบ่อเกิดศึกฮ่ออยู่ตรงชายแดนของประเทศทั้ง ๔ คือ อยู่ข้างใต้ของประเทศจีน อยู่ข้างเหนือของประเทศสยาม อยู่ข้างตวัน ออกของประเทศพม่า แลอยู่ข้างตวันตกของประเทศญวน ในท้องที่ ๆ กล่าวมา เดิมเปนภูมิลำเนาของชนชาติไทยน้อยที่ได้ลงมาเปนใหญ่ในประเทศสยามนี้ นามอาณาเขตรเรียกว่าสิบสองจุไทย ( มาแต่คำว่า สิบสองเจ้าไทย เพราะเคยมีเมืองเจ้าปกครองสิบสองแห่ง ) เขตรแดนเดิมเห็นจะกว้างใหญ่ พวกไทยในที่นั้นจึงมีกำลังสามารถลงมาชิงได้ แดนขอม แล้วตั้งประเทศลานช้างแลประเทศลานนา ตลอดลงมาจนสยามประเทศเปนแผ่นดินไทย บางทีจะเปนเพราะเหตุที่พวกไทยโดย มากพากันอพยบลงมาอยู่เสียทางข้างใต้ อันเปนที่บริบูรณ์ดีกว่าภูมิลำ เนาเดิมนั้นเอง จึงเปนเหตุให้กำลังเมืองสิบสองจุไทยลดถอยน้อยลงประเทศที่ใกล้เคียงก็บุกรุกเขตรแดนเข้าไปโดยลำดับ จนแดนสิบสอง จุไทยที่เหลืออยู่มีแต่เมืองน้อย ๆ แยกกันเปน ๓ ภาค ๆ ตวันตกที่ต่อแดน พม่าเรียกว่าสิบสองปันนา ภาคกลางที่ต่อแดนจีนคงเรียกว่าสิบสองจุไทย ภาคตวันออกที่ต่อแดนญวนเรียกว่าเมืองพวน พวกไทยที่เปนชาวเมือง ๑


๒ ในท้องที่ ๓ ภาคนั้นก็ได้ชื่อต่างกัน พวกชาวสิบสองปันนาได้ชื่อว่าลื้อ พวกชาวสิบสองจุไทยได้ชื่อว่าผู้ไทย พวกชาวเมืองพวนได้ชื่อว่าลาวพวน แต่พูดภาษาไทยแลถือตัวว่าเปนไทยด้วยกันทั้ง ๓ พวก ในสมัยเมื่อพวกไทยที่ลงมาตั้งประเทศลานช้างมีอำนาจมาก ได้ บ้านเมืองพวกไทยทั้ง ๓ภาคที่กล่าวมาไว้ในอำนาจกรุงศรีสัตนาคนหุตทั้งหมด ครั้นพม่ามีอำนาจขึ้น พม่าชิงเอาแดนสิบสองปันนาไปเปนของพม่า ต่อมาเมื่อพวกเม่งจูได้ครองเมืองจีน ๆ ขยายอำนาจเข้ามาปกคลุมเอาทั้งแดนสิบสองปันนาและสิบสองจุไทยไปขึ้นต่อจีนด้วย มาถึงสมัยเมื่อญวนมีอำนาจขึ้น ญวนก็เข้ามาปกคลุมเอาเมืองในแดนพวนไปเปนเมืองขึ้น เพราะเมืองในแดนทั้งสองนั้นเปนแต่เมืองน้อย ๆ อยู่ชายแดนห่างไกลเมืองหลวงพระบาง อันเปนราชธานีกรุงศรีสัตนาคนหุตในสมัยนั้นอำนาจประเทศไหนมาถึงตัวพวกท้าวขุนที่ครองเมืองเห็นว่าจะสู้ไม่ไหวก็ " ทู้ " คือยอมอยู่ในอำนาจ พอให้พ้นไภย ทางกรุงศรีสัตนาคนหุตอัน เคยขึ้นมาแต่เดิมก็คงยอมขึ้นอยู่อย่างแต่ก่อน เมืองในแดนสิบสองจุไทย แลเมืองพวนจึงมักเปนเมืองขึ้นหลายเจ้า เรียกกันว่าเมืองสองฝ่ายฟ้า เว้นแต่เหล่าเมืองที่อยู่ชิดเมืองหลวงพระบาง เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งท้าวพระยาออกไปเปนตำแหน่งหัวพันปกครอง เดิมมี ๕ เมืองแล้ว เพิ่มขึ้นอิกเมือง ๑ เรียกว่าเมืองหัวพันห้าทั้งหก กรุงศรีสัตนาคนหุต ปกครองไว้ได้แต่ฝ่ายเดียว ต่อมากรุงศรีสัตนาคนหุตเกิดแยกกันเปน


๓ ๒ อาณาเขตร เจ้านครหลวงพระบางเปนใหญ่ในอาณาเขตรฝ่ายเหนือเจ้านครเวียงจันท์เปนใหญ่ในอาณาเขตรฝ่ายใต้ เมืองสิบสองจุไทยอยู่ใกล้ทางเมืองหลวงพระบาง ก็ขึ้นต่อเจ้านครหลวงพระบาง ส่วนเมือง พวนอยู่ใกล้ทางเมืองเวียงจันท์ ก็ขึ้นต่อเจ้านครเวียงจันท์สืบมา แต่ครั้ง เมืองหลวงพระบางแลเมืองเวียงจันท์ยังเปนอิศระ ในสมัยเมื่อกรุงศรี อยุธยาเปนราชธานี มาจนเปนประเทศราชขึ้นกรุงสยามในชั้นกรุงรัตน โกสินทร ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศซึ่งครองเมืองเวียงจันท์เปนขบถเอาเมืองพวนกับเมืองหัวพันห้าทั้งหกไปแลกความอุดหนุนของญวนๆ ก็แต่งข้าหลวงเข้ามาอยู่กำกับแต่เมื่อไทยปราบปรามพวกขบถราบคาบแล้วพระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทร เดชา ( สิงห์ สิงห์เสนี ) ยกกองทัพขึ้นไปเมืองพวน ให้เจ้าพระยาธรรมา ( สมบุญ ) ยกกองทัพขึ้นไปเมืองหัวพันห้าทั้งหก พวกข้าหลวงญวน ก็กลับไปหมด ครั้งนั้นโปรด ฯ ให้เลิกประเทศราชเวียงจันท์เสีย เอาหัวเมืองตามริมลำน้ำโขงอันเคยขึ้นเมืองเวียงจันท์อยู่แต่ก่อนมาขึ้นกรุง เทพ ฯ แลเมืองพวนนั้นพระราชทานให้เปนเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางต่อมา ด้วยเจ้านครหลวงพระบางซื่อตรงแลมีความชอบในครั้งนั้น แต่เพราะเขตรแดนเมืองสิบสองจุไทยแลเมืองพวนกว้างใหญ่ ทางที่จะไป ถึงก็กันดาร เมืองหลวงพระบางไม่มีกำลังพอที่จะปกปักรักษา ครั้นสิ้นศึกสงครามแล้ว ญวนก็มาเกลี้ยกล่อมพวกท้าวขุนเจ้าเมืองพวนไปเปน


๔ สองฝ่ายฟ้าอิก ด้วยเมืองพวนอยู่ใกล้ชิดติดกับแดนญวน เรื่องต้นตำนานส่วนท้องที่ ในสมัยเมื่อก่อนจะเกิดศึกฮ่อมีเนื้อความดังแสดงมา ยังมีเรื่องตำนานอันว่าด้วยพวกชาวเมืองในแดนสิบสองจุไทยกับแดนเมืองพวนอิกส่วน ๑ ในท้องที่เหล่านั้นพวกชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ โดยมากก็จริง แต่ยังมีชนชาติอื่นอิก คือพวกข่าชาติ ๑ พวกข่านี้เปนเชื้อสายพวกขอมเดิม เมื่อไทยลงมาชิงได้ดินแดนก็ได้พวกขอมในท้อง ที่ไว้เปนเชลย พวกเชื้อสายขอมซึ่งเรียกว่าข่า จึงเปนคนสำหรับพวกไทย ใช้สอยสืบมาจนเปนประเพณีในเมืองหลวงพระบาง นอกจากพวกข่ายังมี เชื้อสายพวกจีนซึ่งอพยบหลบหนีมาแต่ครั้งพวกเม่งจูได้เปนใหญ่ในเมืองจีน แต่เมื่อมาอยู่ทางนี้แล้วมานิยมต่างกันจึงกลายไปเปน ๒ พวก ๆ ๑ อยู่สมรศปะปนกับพวกไทย ลูกหลานที่เกิดมาพูดภาษาไทยแลประพฤติเปนไทย คงรักษาขนบธรมเนียมจีนอยู่แต่บางอย่าง จีนอิกพวก ๑ เที่ยวอยู่ตามภูเขาแต่ลำภังพวกของตนไม่ปะปนกับพวกไทย ครั้นนานมาจึงได้ นามว่าแม้วแลเย้าเปนต้น ยังพวกญวนอิกพวก ๑ ซึ่งอพยบหนีไภยมาครั้งเกิดขบถในเมืองญวนเมื่อตอนปลายสมัยครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีในสยามประเทศนี้ ก็มาอยู่ปะปนกับพวกไทยทางเมืองพวนจนเกิดเชื้อสายสืบมา เพราะเหตุที่ชาวเมืองปะปนเปนเชื้อสายหลายชาติ แลทำเลท้องที่ก็อยู่ในระหว่างประเทศใหญ่ พวกชาวสิบสองจุไทยกับชาวเมืองพวน จึงไปมาค้าขายกันกับเมืองจีนเมืองญวนแลเมืองไทยในราชอาณาเขตร สยาม คุ้นเคยกับทุกฝ่ายด้วยกัน


๕ ตอนที่ ๒ อธิบายว่าด้วยพวกฮ่อ มนุษย์จำพวกที่เรียกกันว่า " ฮ่อ " นี้ เรามักเข้าใจกันแต่ก่อนว่า เปนชนชาติหนึ่งต่างหาก เมื่อครั้งปราบฮ่อคราว พ.ศ. ๒๔๑๘ พระยามหาอำมาตย์ ( ชื่น กัลยาณมิตร ) จับได้ฮ่อส่งลงมายังกรุงเทพ ฯ มีเสียงกระซิบนินทากันว่าพระยามหาอำมาตย์จับเจ๊กส่งลงมาลวงว่าฮ่อเพราะผู้ที่นินทานั้นหารู้ความจริงไม่ ว่าฮ่อมันก็เจ๊กนั่นเอง เปนแต่ พวกไทยทางฝ่ายเหนือไม่เรียกว่าเจ๊ก เขาเรียกว่าฮ่อมาแต่โบราณ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งกล่าวถึงเรื่องจีนตีเมืองพม่าเมื่อ ตอนก่อนศึกอะแซหวุ่นกี้ ก็เรียกว่าฮ่อตามคำไทยข้างฝ่ายเหนือ บางทีคำที่เรียกว่าฮ่อนี้ ชั้นเดิมทีเดียวจะหมายความว่าพวกมงโคลที่ได้เปนใหญ่ในเมืองจีนครั้งราชวงศ์หงวน ฤๅมิฉนั้นจะหมายความว่าพวก เม่งจูที่ได้เปนใหญ่ในเมืองจีนครั้งราชวงศ์ไต้เชง เรียกให้ผิดกับจีน ก็อาจจะเปนได้ แต่ในชั้นหลังมาพวกชาวลานช้างแลลานนาในมณฑลภาคพายัพเรียกบรรดาเจ๊ก ( ทั้งจีนแลเม่งจู ) ที่ลงมาทางบกแต่ฝ่ายเหนือว่าฮ่อตามอย่างโบราณ เรียกพวกเจ๊กที่ขึ้นไปจากกรุงเทพ ฯ ว่าจีนฤๅเจ๊กตามคำชาวกรุงเทพ ฯ จึงชวนให้ชาวกรุงเทพ ฯ เข้าใจว่าฮ่อเปนชนชาติหนึ่งต่างหาก พวกฮ่อที่มารบกับไทยนั้น ที่จริงเปนจีนแท้ทีเดียว เดิมจีน พวกนั้นเปนขบถ เรียกพวกของตนว่า " ไต้เผง " หมายจะชิงเมืองจีน จากอำนาจพวกเม่งจู เกิดรบพุ่งกันในเมืองจีนเปนการใหญ่หลวง ในที่


๖ สุดพวกไต้เผงสู้ไม่ได้ ต้องหลบหนีแยกย้ายกันไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตาม ป่าแลภูเขาในมณฑลต่าง ๆ ทั้งในมณฑลฮกเกี้ยน กวางไส กวางตุ้ง แลเสฉวน มีจีนไต้เผงนั้นพวก ๑ ประมาณ ๔๐๐๐ คน ผู้เปนหัวน่าชื่อง่ออาจง พากันอพยบหนีเข้ามาในแดนญวนทางเมืองตังเกี๋ยเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ จีนพวกนี้ที่มาเปนพวกฮ่อ ชั้นเดิมมาตั้งอยู่ที่เมืองฮานอย ญวนเกรงพวกฮ่อจะมาก่อการกำเริบขึ้น จึงบอกไปขอกำลังจีนที่เมือง ฮุนหนำ จีนให้กองทัพมีจำนวนพลประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน มาสมทบกับกองทัพญวนยกไปตีพวกฮ่อ ๆ สู้ไม่ไหว ง่ออาจงนายตายในที่รบพรรคพวกที่เหลือตายก็พากันแตกหนีไปอาศรัยอยู่ที่เมืองซันเทียน อันเปนเมืองของพวกแม้วตั้งเปนอิศระอยู่บนภูเขาที่ชายแดนจีนต่อกับแดนสิบสองจุไทย พวกไพร่พลพร้อมกันยกน้องชายของง่ออาจง ชื่อปวงนันซีขึ้นเปนหัวน่า ตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ที่เมืองซันเทียนนั้น ครั้น ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ ปวงนันซีได้กำลังมากก็ยกกองทัพฮ่อไปตีเมืองเลากายในแดนญวนเขตรตังเกี๋ย พวกจีนกับญวนยกกองทัพมารบสู้ พวกฮ่อไม่ได้ ปวงนันซีตีได้เมืองเลากายเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่เมื่อได้เมืองเลากายแล้วปวงนันซีเกิดเปนอริกับนายทัพคนสำคัญในพวกฮ่อคน ๑ ชื่อลิวตายัน พวกฮ่อเกิดรบกันขึ้นเอง ปวงนันซีสู้ไม่ได้ ก็พาพรรคพวกรี้พลของตน แยกมาตั้งซ่องที่เมืองฮายางในแดนสิบสอง จุไทย ฮ่อพวกลิวตายันใช้ธงดำ ฮ่อพวกปวงนันซีใช้ธงเหลือง จึงได้


๗ นามว่าฮ่อธงดำพวก ๑ ฮ่อธงเหลืองพวก ๑ แต่นั้นมา ๑ อยู่มาญวน เกลี้ยกล่อมยอมให้พวกฮ่อปกครองเมืองเลากายขึ้นต่อญวน ฝ่ายพวกฮ่อธงเหลืองไม่มีบ้านเมืองอยู่เปนหลักแหล่งเหมือนพวกฮ่อธงดำ จึงประพฤติเปนโจรคุมกำลังเที่ยวตีปล้นบ้านเมืองในแดนสิบสองจุไทยแลเมืองพวน แห่งใดต่อสู้ถ้าแพ้ฮ่อ ๆ ก็จับเหล่าตัวนายที่เปนหัวน่าฆ่าเสียแล้วเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติแลจับลูกหลานบ่าวไพร่เปนเชลย ใครมี ทรัพย์ยอมเสียค่าไถ่ตัวฮ่อก็ปล่อยตัวไป ที่ไม่สามารถจะไถ่ตัวได้ก็ เอาไปแปลงเปนฮ่อไว้ใช้สอยเปนกำลัง ถ้าแห่งใดยอมทู้ไม่ต่อสู้พวก ฮ่อก็เปนแต่กะเกณฑ์ใช้เปนกำลังพาหนะ พวกฮ่อธงเหลืองเที่ยวตีบ้านเมืองโดยอาการดังกล่าวมานี้ ตั้งแต่ปีแรกในรัชกาลที่ ๕ ได้หัวเมืองในแดนสิบสองจุไทยแลแดนเมืองญวนหลายเมือง ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ฮ่อยกลงมาตีเมืองพวน ท้าวขันตีเจ้าเมืองเชียงขวางอันเปนเมืองหลวง ในแดนพวนให้ไปขอกำลังญวนมาช่วย ญวนให้กองทัพมาก็พ่ายแพ้ ฮ่อ ๆ จึงได้เมืองเชียงขวางแล้วปราบปรามแดนพวนไว้ได้ในอำนาจทั้งหมด แล้วจึงลงมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทุ่งเชียงคำ อันเปนต้นทางที่จะ ลงมาทางหัวเมืองริมแม่น้ำโขง แลจะไปตีเมืองหลวงพระบางต่อไป

๑ ตามฝรั่งกล่าว ว่าปวงนันซีเปนพวกธงดำ ลิวตายันเปนพวกธงเหลือง แต่ตาม ที่พวกฮ่อตัวนายให้การแก่กองทัพไทยกลับกันไป เห็นว่าจะถูกอย่างพวกฮ่อว่า


๘ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เปนปีที่ ๗ ในรัชกาลที่ ฮ่อเตรียมทัพ ที่ทุ่งเชียงคำจะยกลงมาทางเมืองเวียงจันท์ มาตีเมืองหนองคายทัพ ๑ จะยกไปทางเมืองหัวพันห้าทั้งหกไปตีเมืองหลวงพระบางอิกทัพ ๑ ข่าว ที่ฮ่อเตรียมจะยกกองทัพเข้ามาครั้งนี้ กรมการเมืองหนองคายได้ทราบความจากพวกท้าวขุนเมืองพวนที่แตกหนีเข้ามาอาศรัยอยู่เมืองหนองคาย จึงบอกเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ถึงพร้อมกับใบบอกเจ้านครหลวงพระบางขณะนั้นพระยามหาอำมาตย์ ( ชื่น กัลยาณมิตร ) เปนข้าหลวงขึ้นไป สักเลขอยู่ในมลฑลอุบล จึงโปรด ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์เกณฑ์ กำลังมลฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็จ แลมลฑลอุบล เปนกองทัพ ๑ ให้พระยานครราชสิมา (เมฆ) เกณฑ์กำลังนครราชสิมาเปนกองทัพ อิกทัพ ๑ ให้พระยามหาอำมาตย์เปนแม่ทัพใหญ่ยกขึ้นไปป้องกันเมืองหนองคาย แลโปรด ฯ ให้เกณฑ์กำลังมลฑลพิศณุโลกเข้ากองทัพ ให้พระยาพิไชย ( ดิศ ) คุมขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองหลวงพระบางอิกทัพ ๑ ฝ่ายทางกรุงเทพ ฯ โปรดให้เกณฑ์กำลังเข้ากองทัพ ให้เจ้าพระยาภู ธราภัยที่สมุหนายกเปนแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อทางเมืองหลวงพระบาง ทัพ ๑ โปรด ฯ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเปนแม่ทัพยกไปปราบฮ่อทางเมืองหนองคายทัพ ๑


๙ เมื่อกองทัพพระยามหาอำมาตย์ยกขึ้นไปถึงเมืองหนองคาย ฮ่อก็ ลงมาถึงฝั่งน้ำโขงฟากโน้น ตั้งค่ายอยู่ที่วัดจันทน์ในเมืองเวียงจันท์ แห่ง ๑ ที่บ้านสีฐานแห่ง ๑ ที่บ้านโพนทานาเลาแห่ง ๑ แล้วข้ามฟากมาตีเมืองปากเหืองแตกเมือง ๑ พระยามหาอำมาตย์กับพระยานคร ราชสิมา ( เมฆ ) พระพรหมภักดี ( กาจ สิงห์เสนี ) ๑ ยกรบัตรเมืองนครราชสิมา ยกขึ้นไปได้รบพุ่งกับพวกฮ่อ ๆ ต่อสู้อยู่วัน ๑ ก็แตกหนีไปหมด จับเปนได้ก็มาก กองทัพเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงยกออกจากกรุงเทพฯ โดย ทางเรือ เมื่อวันพุฒ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๘ ตั้งโขลนทวาร ที่เหนือท่าขุนนาง เสด็จลงส่งกองทัพที่ท่าราชวรดิษฐ์ตามประเพณีโบราณ กองทัพขึ้นไปตั้งประชุมพลที่ตำบลหาดพระยาทดแขวงเมืองสระบุรี แล้วยกเปนกองทัพบกขึ้นไปเมืองนครราชสิมาทางดงพระยาไฟ เมื่อกองทัพเจ้าพระยามหินทร ฯ ยกไปแล้ว ได้ข่าวมาถึงกรุงเทพ ฯ ว่าพวกฮ่อที่ลงมาทางเมืองหนองคายแตกทัพพระยามหาอำมาตย์ไปหมดแล้ว เห็นไม่จำเปนจะให้กองทัพใหญ่ขึ้นไป จึงมีตราให้หากองทัพเจ้า พระยามหินทร ฯ กลับมาจากเมืองผไทยสงฆ์ กองทัพเจ้าพระยา ภูธราภัยนั้นยกออกจากกรุงเทพ ฯ เหมือนอย่างครั้งกองทัพเจ้าพระยา ๑ เปนบุตรเจ้าพระยายมราช แก้ว ต่อมาได้เลื่อนเปนพระยาปลัดแลเปนพระยานครราชสิมา แล้วเปนพระยานครราชเสนี จางวาง. ๒


๑๐ มหินทร ฯ เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ไปตั้งประชุมพล ที่เมืองพิไชย แล้วยกกองทัพเดินทางบกต่อไป ฝ่ายกองทัพพระยาพิไชย ( ดิศ )ซึ่งได้ยกล่วงน่าขึ้นไปก่อน ไป ถึงเมืองหลวงพระบางได้ทราบว่ากองทัพฮ่อมาตั้งอยู่ที่เมืองเวียงกัดในแขวงหัวพันห้าทั้งหก พระยาพิไชยก็รีบยกขึ้นไปจากเมืองหลวงพระบาง ไปพบกองทัพฮ่อได้รบกันเมื่อเดือน ๑๒ ปีกุญ แต่กำลังกองทัพพระยา พิไชยไม่พอจะตีฮ่อให้แตกไปได้ จึงตั้งมั่นรักษาด่านอยู่ เมื่อเจ้าพระยา ภูธราภัยขึ้นไปถึงเมืองพิไชย ได้ทราบว่าพระยาพิไชยรบพุ่งติดพันอยู่กับพวกฮ่อ จึงจัดกองทัพให้พระสุริยภักดี ( เวก บุณยรัตพันธุ์) ๑ เจ้ากรมพระตำรวจรีบยกขึ้นไปเมืองหลวงพระบางตามไปช่วยพระยาพิไชย กองทัพพระสุริยภักดีขึ้นไปถึงเข้าตีทัพฮ่อแตกยับเยินไป เจ้าพระยาภูธราภัยจึงสั่งให้กองทัพพระยาอำมาตย์ แลกองทัพพระสุริยภักดีติดตามตี ฮ่อไปจนทุ่งเชียงคำพวกฮ่อก็พากันอพยบหลบหนีไปจากเมืองพวน เปนเสร็จการปราบฮ่อในคราวนั้น กองทัพเจ้าพระยาภูธราภัยได้ยกขึ้นไป ตั้งอยู่ที่ตำบลปากลายริมแม่น้ำโขงข้างใต้เมืองหลวงพระบาง จนมีตราให้หากลับมา ตอนที่ ๔ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ เมื่อพวกฮ่อธงเหลืองแตกหนีกองทัพไทยไปจากเมืองพวนแลเมือง หัวพันห้าทั้งหกนั้น กลับไปตั้งรวบรวมกันอยู่ที่เมืองซันเทียน ซึ่งได้เคย

๑ เปนบุตรของเจ้าพระยาภูธราภัย ภายหลังได้เปนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ๑๑ อาศรัยมาแต่ก่อน แล้วเที่ยวปล้นสดมภ์บ้านเล็กเมืองน้อยตามชาย แดนจีนแดนญวน จีนกับญวนจึงนัดกันให้กองทัพยกไปปราบพวกฮ่อ ธงเหลือง คราวนี้ช่วยกันระดมตีได้เมืองซันเทียน แลฆ่าปวงนันซี ผู้เปนหัวน่าฮ่อธงเหลืองตายในที่รบ พวกฮ่อที่หลบหนีได้ไม่มีคนสำคัญจะเปนหัวน่าต่อไป ก็แยกกันออกเปนหลายพวกหลายเหล่า ต่าง พวกต่างใช้ธงสีอันใดอันหนึ่งเปนเครื่องหมายพวกของตน จึงเกิดพวก ฮ่อธงแดงธงลายแลธงสีอื่น ๆ ขึ้นอิกแต่ตอนนี้ไป เมื่อฮ่อแยกกันออกเปนหลายพวกเช่นนี้ ต่างพวกย่อมมีกำลังยิ่งแลหย่อนกว่ากัน เปนเหตุ ให้ประพฤติหาเลี้ยงชีพโดยวิธีต่างกัน บางพวกที่มีกำลังมาก ก็ใช้กำ ลังเที่ยวเบียดเบียนผู้อื่นเอาไว้ในอำนาจอย่างเคยมา พวกที่มีกำลังน้อยบางพวกก็หาเลี้ยงชีพด้วยรับจ้างเปนกำลังรบพุ่งให้ผู้อื่น บางพวกก็เข้าอ่อนน้อมยอมตัวต่อเจ้าของเมือง ขอตั้งภูมิลำเนาประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างชาวเมือง แต่ที่แท้มักค้าของต้องห้ามเช่นฝิ่นเถื่อนเปนต้น การที่พวกฮ่อเกิดกระจายเปนหลายเหล่าเช่นนี้ เปนปัจจัยต่อไปถึงความประพฤติของพวกท้าวขุนเจ้าเมืองใหญ่น้อยในแดนดินสิบสองจุไทยแลแดนพวน เพราะใครมีสาเหตุอริวิวาทต่อกันก็มักว่าจ้างฮ่อให้ไปรบพุ่งปล้นสดมภ์พวกที่เปนสัตรู บางเมืองก็เกลี้ยกล่อมเอาฮ่อไปไว้เปนกำลังป้องกันเมืองของตน พวกฮ่อจึงเที่ยวตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแดนเหล่านั้น หามีกองทัพญวนฤๅจีนยกมาปราบพวกฮ่อเหมือนแต่ก่อนไม่ ฝ่ายเมือง หลวงพระบางตั้งแต่กองทัพไทยไปปราบฮ่อเมื่อครั้งปีกุญ พ.ศ.๒๔๑๘ แล้ว


๑๒ ก็มิได้จัดการปกครองเมืองพวน แลเมืองหัวพันห้าทั้งหกให้มั่นคงขึ้น เคยเปนอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็เปนอยู่อย่างนั้น จึงมีฮ่อธงเหลืองพวก ๑ ตัวนายชื่ออาจึงคน ๑ ไกวซึงคน ๑ คุมกำลังมาตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ ในแขวงเมืองพวนประมาณ ๗ ปี ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๒๖ ฮ่อพวกนี้ยกกองทัพไปตีเมืองในแดนหัวพันห้าทั้งหก ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองหลวงพระบาง เจ้านครหลวงพระบางบอกลงมายังกรุงเทพ ฯ จึงโปรด ฯ ให้เกณฑ์ กำลังมณฑลพิศณุโลกเข้ากองทัพ ให้พระยาพิไชย ( มิ่ง ) กับพระ ยาศุโขทัย ( ครุธ )๑ คุมขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบางก่อน แล้วให้ พระยาราชวรานุกูล ( เวก บุญยรัตพันธ์ ซึ่งเคยคุมทัพไปรบฮ่อเมื่อยังเปนพระสุริยภักดีนั้น ) ตามขึ้นไปเปนแม่ทัพใหญ่ปราบฮ่อที่ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง แล้วโปรด ฯ ให้เกณฑ์ทัพใหญ่เตรียมไว้อิกทัพ ๑ เผื่อจะมีกองทัพฮ่อยกลงมาทางหัวเมืองริมแม่น้ำโขงเหมือนอย่างคราวก่อน ด้วยในเวลานั้นยังไม่ทราบว่าฮ่อจะมีกำลังมากน้อยเท่าใด กอง ทัพที่เตรียมนี้จะโปรด ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งได้ทรงบัญชาการมหาดไทยต่อเจ้าพระยาภูธราภัยเสด็จไปเปนจอมพล แลจะโปรด ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า ดิศวรกุมาร ๒ ซึ่งทรงบังคับการกรมทหารมหาดเล็กแลกรมแผนที่อยู่ในเวลานั้น โดยเสด็จไปอำนวยการทำแผนที่พระราชอาณาเขตรข้างฝ่าย

๑ ภายหลังได้เปนพระยารณไชยชาญยุทธตำแหน่งจางวาง ครั้นแก่ชรากราบถวาย บังคมลาออกบวชเปนสามเณรอยู่จนถึงอนิจกรรม. ๒ คือกรมพระดำรงราชานุภาพ. ๑๓ เหนือด้วย แต่เมื่อต่อมาได้ข่าวแน่นอนว่าฮ่อมีกำลังไม่มากนัก แลยกไปแต่ทางเมืองหลวงพระบางทางทีเดียว จึงโปรด ฯ ให้เลิกกองทัพใหญ่ที่ได้ตระเตรียมเสีย เปนแต่ให้พระวิภาคภูวดล ( แมกคาธี ) คุมพนักงานขึ้นไปทำแผนที่ตามที่ได้ทรงพระราชดำริห์ไว้. กองทัพไทยยกขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบาง พวกฮ่อทราบความ ก็พากันถอยหนีจากเมืองหัวพันห้าทั้งหกกลับไปยังค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำพระยาราชวรานุกูล พระยาพิไชย แลพระยาศุโขไทยยกกองทัพติด ตามไปจนถึงทุ่งเชียงคำ เข้าล้อมค่ายฮ่อไว้ แต่ค่ายฮ่อคราวนี้ตั้งมา ช้านานจนถึงปลูกกอไผ่บังแทนระเนียดล้อมรอบ ปืนใหญ่ที่กองทัพไทย มีไปกำลังไม่พอจะยิงล้างกอไผ่ได้ กองทัพไทยยกเข้าตีค่ายหลายครั้ง ก็เข้าค่ายไม่ได้ ด้วยพวกฮ่ออาศรัยกอไผ่บังตัวยิงปืนกราดออกมา ฝ่ายข้างไทยมิใคร่จะเห็นตัวพวกฮ่อ ครั้งหนึ่งพระยาราชวรานุกูลยก เข้าตีค่ายฮ่อเอง ถูกปืนข้าศึกที่ขาเจ็บป่วยแต่ยังบัญชาการศึกได้ จึง สั่งให้ตั้งล้อมค่ายฮ่อไว้ในระหว่างเวลาที่รักษาบาดแผล ฝ่ายฮ่อถูกล้อมอยู่ในค่ายก็ขัดสนเสบียงอาหาร เห็นว่าจะรบสู้ต่อไปไม่ไหว นายทัพ ฮ่อจึงให้ออกมาว่ากับพระยาราชวรานุกูลว่าจะยอมทู้ ขอถือน้ำกระทำสัตย์เปนข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพ ฯ ต่อไป ขอแต่อย่าให้ไทย ทำอันตราย ฝ่ายพระยาราชวรานุกูลว่าถ้าฮ่อจะยอมทู้ก็ให้ส่งเครื่อง สาตราวุธบรรดามีมาให้เสียก่อน แล้วให้ตัวออกมาหาจะไม่ทำอันตรายอย่างใด พวกฮ่อไม่ไว้ใจ เกรงว่าไทยจะลวงเอาเครื่องสาตราวุธแล้ว


๑๔ จะฆ่าฟันเสีย ก็ไม่ออกมา กองทัพไทยต้องล้อมอยู่ ๒ เดือน ผู้คนเกิดป่วยเจ็บด้วยขัดสนเสบียงอาหารส่งไปไม่ทัน พระยาราชวรานุกูลก็ต้องเลิกทัพกลับมาทางเมืองหนองคาย เปนสิ้นเรื่องปราบฮ่อครั้งที่ ๒ เพียงนี้. ตอนที่ ๕ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ การปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เปนเรื่องเนื่องมาแต่การปราบฮ่อครั้งที่ ๒ คือเมื่อได้ข่าวมาถึงกรุงเทพ ฯ ว่า พระยาราชวรานุกูลแม่ทัพไปถูก อาวุธข้าศึก กองทัพไทยได้แต่ตั้งล้อมค่ายฮ่ออยู่ที่ทุ่งเชียงคำ แลใน ขณะนั้นได้รับใบบอกเมืองหลวงพระบาง ว่ามีทัพฮ่อยกมาย่ำยีเมืองหัวพันห้าทั้งหกอิก ที่ในกรุงเทพ ฯ ไม่ทราบว่าจะเปนฮ่อพวกเดียว กับที่ทุ่งเชียงคำฤๅต่างพวกกัน ทรงพระราชดำริห์ว่ากองทัพพระยา ราชวรานุกูลคงทำการไม่สำเร็จ ด้วยเปนแต่เกณฑ์พลเรือนไปรบ ตามแบบโบราณ ในเวลานั้นกรมทหารที่ได้ฝึกหัดจัดขึ้นใหม่ตามวิธี ยุโรปก็มีหลายกรม ควรจะใช้ทหารปราบปรามฮ่อให้คุ้นเคยการศึก เสียบ้าง จึงโปรด ฯ ให้จัดทหารบกในกรุงเทพ ฯ เข้าเปนกองทัพ ๒ ทัพ ให้นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษศิลปาคม ผู้บังคับการกรมทหารรักษาพระราชวัง เปนแม่ทัพ ( ตวันออก ) ยกไปปราบฮ่อ ในแขวงเมืองพวนทัพ ๑ ให้นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ( เจิม แสง-ชูโต) ๑ ผู้บังคับการกรมทหารน่า (ราบที่ ๔) เปนแม่ทัพ (ตวันตก) ๑ คือเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี


๑๕ ยกไปปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหกทัพ ๑ ยกขึ้นไปในปีรกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ทั้ง ๒ ทัพ ในตอนนี้จะกล่าวแต่รายการส่วนที่กองทัพตวันออกยกไป รายการส่วนกองทัพตวันตกจะงดไว้กล่าวในตอนน่า. กรมหมื่นประจักษศิลปาคมเสด็จโดยทางเรือออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อณวันจันทร เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำปีรกา ขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมือง พิศณุโลก ได้ข่าวว่ากองทัพพระยาราชวรานุกูลถอยกลับลงมายังเมืองหนองคายแล้ว กรมหมื่นประจักษศิลปาคมทรงเร่งพาหนะได้พร้อมแล้ว จึงทรงจัดให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค)๑ เปนทัพน่า (เจ้าพระยา บดินทรเดชานุชิต ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล ณกรุงเทพ เวลานั้นยังเปนนายร้อยเอก ฯ ทหารปืนใหญ่ได้ไปในทัพนี้ ) พระราชวรินทร (บุตร บุญย รัตพันธ์)๒ เปนทัพหลัง พระองค์เสด็จเปนทัพหลวง ยกออกจาก เมืองพิศณุโลกเมื่อณวันเสาร์ เดือนอ้าย แรม ๕ ค่ำ เดินบกทางแขวงเมืองหล่มศักดิ เมืองเลย เมืองแก่นท้าว ๒๑ วันถึงเมืองหนองคาย ๓ เมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ตั้งที่บัญชาการอยู่ณเมืองหนองคายนั้น ทรงจัดให้กองทัพพระอมรวิไสยสรเดชยกไปตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ ให้พระยาปลัด ( กาจ ) เมืองนครราชสิมา๔ เปนนายกองลำเลียง แล้วทรงจัด

๑ ภายหลังได้เปนเจ้าพระยาสุรวงศวัฒนศักดิ. ๒ ภายหลังได้เปนพระยาอภัยรณฤทธิ์. ๓ ทางเดินทัพทางนี้กะไว้แต่ครั้งสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์จะเสด็จยกกองทัพ โดยคาดว่าเปนทางเดินสดวกกว่าขึ้นทางเมืองสระบุรี แต่ที่จริงเดินลำบากกว่า ทางเมืองสระบุรีมาก เพราะต้องเดินข้ามภูเขาแทบตลอดทาง ๔ ผู้ได้เคยรบฮ่อที่เมืองเวียงจันท์ครั้งยังเปนพระยกรบัตร. ๑๖ ให้กองทัพพระราชวรินทรเปนทัพหนุนอิกทัพ ๑ ให้จมื่นไชยาภรณ์ ( สาย สิงห์เสนี ) ๑ เปนนายกองลำเลียง ยกออกจากเมืองหนองคายเมื่อ เดือนยี่ แรม ๙ ค่ำ ครั้งนั้นกำลังพาหนะแลเสบียงอาหารในมณฑลอุดรร่อยหรอฝืดเคือง ต้องรวบรวมเปนการลำบากมาก กองทัพเดิน ทางถึง ๓๕ วันจึงถึงทุ่งเชียงคำ เมื่อเดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ พวกฮ่อรู้ตัวเผา ค่ายหนีไปเสียก่อนแล้ว กองทัพตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำไม่มีเสบียงอาหาร จึงถอยมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ให้ออกสืบเสาะว่าพวกฮ่อจะไปตั้ง อยู่ณที่ใด ได้ความว่าพวกฮ่อที่หนีไปจากทุ่งเชียงคำ อพยบไปอาศรัยพวกแม้วพวกเย้าอยู่ที่ปลายแดนญวน ระยะทางห่างเมืองเชียงขวางประมาณ ๖ วัน พวกฮ่อกำลังจะพากันไปเมืองญวน๒ นายทัพทั้ง ๒ ปฤกษากันเห็นว่าจะยกติดตามฮ่อไปก็คงไม่ทัน จึงตั้งจัดการบ้านเมืองเกลี้ยกล่อมพวกพลเมืองที่แตกฉานไปอยู่ตามป่าแลเขาให้กลับคืนมายังภูมิลำเนา แลพาหัวน่าพวกข่าซึ่งตั้งขัดแขงเจ้าเมืองกรมการอยู่แต่ก่อนแลเข้ามาอ่อนน้อมต่อกองทัพนั้น เลิกทัพกลับมายังเมืองหนองคาย กองทัพตวันออกที่ยกไปครั้งนั้นหาได้มีโอกาศรบพุ่งกับพวกฮ่อไม่ ครั้นบ้านเมืองเรียบร้อยเปนปรกติแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ กองทัพกรมหมื่นประจักษศิลปาคมกลับคืนมายังกรุงเทพ ฯ เสด็จมาถึงเมื่อเดือน ๖ ปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐

๑ ภายหลังได้เปนพระยาอนุชิตชาญไชย. ๒ ครั้งนั้นประจวบเวลาจีนรบกับฝรั่งเศสในแดนตังเกี๋ย จีนจ้างพวกฮ่อเปนกำลังฮ่อพวกนี้คงหมายไปรับจ้างจีนรบฝรั่งเศส. ๑๗ ตอนที่ ๖ ว่าด้วยปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ต่อมา ฝ่ายกองทัพตวันตกซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถเปนแม่ทัพนั้น ยกออกจากกรุงเทพ ฯ โดยทางเรือเมื่อวันอังคารเดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีรกา พ.ศ. ๒๔๒๘ ขึ้นไปถึงเมืองพิไชยเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิไชยนั้น ได้โปรด ฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพ ( อ่วม )๑ ขึ้น ไปเปนพนักงานจัดพาหนะส่งกองทัพ จึงปฤกษากันจัดการเดินทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบางเปน ๓ ทาง ๆ ที่ ๑ ที่กองทัพใหญ่จะยกไปนั้น ยกจากเมืองพิไชยทาง ๓ วันถึงเมืองฝาง ต่อนั้นไป ๔ วันถึงท่าแฝกเข้าเขตรเมืองน่าน ต่อไปอีก ๖ วันถึงเมืองน่าน จากเมืองน่าน ๖ วันถึงตำบลนา ดินดำ ต่อไปอิก ๖ วันถึงบ้านนาแล แต่บ้านนาแล ๖ วัน รวม ๓๑ วันถึงเมืองหลวงพระบาง ทางที่ ๒ นั้นจะได้จัดแบ่งเครื่องใช้สำหรับกองทัพแต่งให้พระศรีพิไชยสงครามปลัดซ้ายกรมการเมืองพิไชย กับนายทหารกรุงเทพ ฯ ให้คุมไปทางเมืองน้ำปาดตรงไปตำบลปากลาย ลงบรรทุกเรือขึ้นไปทางลำแม่น้ำโขงส่งยังเมืองหลวงพระบาง ทางที่ ๓ เมื่อกองทัพใหญ่ยกไปถึงเมืองน่านแล้ว จะแต่งให้พระพลสงครามเมืองสวรรคโลก กับนายทหารกองทหารปืนใหญ่คุมปืนใหญ่แลกระสุนดินดำแยกทางไปลงท่านุ่นริมแม่น้ำโขง จัดลงบรรทุกเรือส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง

๑ ภายหลังได้เปนพระยาราชวรานุกูล ๓

๑๘ อนึ่งเสบียงอาหารที่จะจ่ายให้ ไพร่พลในกองทัพตั้งแต่เมืองพิไชย เปนระยะตลอดไปกว่าจะถึงเมืองหลวงพระบางนั้น พระยาศรีสิงหเทพรับ จัดส่งเสบียงขึ้นไปรวบรวมไว้เปนระยะทุกๆ ตำบลที่พักให้พอจ่ายกับจำนวนคนในกองทัพมิให้เปนที่ขัดขวางได้ กองทัพตั้งพักรอพาหนะอยู่ที่เมืองพิไชยประมาณได้ ๒๐วัน พาหนะ ก็ยังหามาพรักพร้อมแลพอกับจำนวนสิ่งของที่จะบรรทุกขึ้นไปไม่ ได้ ช้างที่จะไปในกองทัพ ๑๐๘ ช้าง โคต่าง ๓๑๐ โค ม้า ๑๑ ม้าเท่านั้น แม่ทัพเห็นว่าจะรอคอยพาหนะให้พร้อมแล้วจึงยกกองทัพขึ้นไปก็จะเสียเวลามากนัก จึงได้จัดเสบียงแบ่งไปแต่พอควรส่วนหนึ่งก่อน ส่วนหนึ่งนั้นได้มอบให้ กรมการเมืองพิไชยรักษาไว้ส่งไปกับกองลำเลียงภายหลัง ครั้นณวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๑๑ ค่ำ ปีรกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพจากเมืองพิไชย ให้พระพลจางวางด่านเมืองพิไชยเปนกองนำทาง ให้พระอินทรแสนแสงปลัดเมืองกำแพงเพ็ชร คุมขุนหมื่นไพร่เปนกองน่าสำหรับทำทางที่รกเรี้ยวกีดขวาง พอให้ช้างเดินตลอดไปได้โดยสดวก ให้นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ ( อิ่ม )๑ คุมทหารกรุงเทพ ฯ เปนกองตรวจแลรักษาการไปในสองข้างทาง แลให้เปนผู้แนะนำทหารหัวเมืองกองพระปลัดเมืองกำแพงเพ็ชร

๑ ภายหลังได้เปนพระยาเทพาธิบดีผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร แล้วเลื่อนเปนสมุหเทศา ภิบาลมณฑลพิศณุโลก.


๑๙ ให้รักษาการอย่างทหารด้วย ให้นายพันตรี นายจ่ายวด ศุข ชูโต ๑ เปนผู้กำกับตรวจตรากองน่านี้ด้วย แลกองอื่น ๆ นอกจากที่ได้กล่าวมา นี้ก็ให้ยกเปนลำดับไปทุก ๆ กองตามวิธีจัดทัพ ครั้นณวันพุฒ เดือนยี่ แรมค่ำ ๑ ปีรกา ถึงสบสมุนใกล้กับเมืองน่าน ระยะทางประมาณ ๑๐๐ เส้น แม่ทัพจึงสั่งให้ตั้งพักจัดกองทัพที่จะเดินเข้าไปยังเมืองน่าน ในเวลานั้นเจ้านครเมืองน่าน ๒ แต่งให้พระยา วังซ้ายแลเจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพระยาคุมช้างพลายสูง ๕ ศอก ผูกจำลองเขียนทองออกมารับ ๓ ช้าง กับดอกไม้ธูปเทียนพานหนึ่ง แจ้งความ ว่าเจ้านครเมืองน่านให้มารับกองทัพเข้าไปยังเมืองน่าน แม่ทัพจึงให้ เจ้านายบุตรหลานกลับไปแจ้งความแก่เจ้านครเมืองน่านว่าในเวลาวันนี้จะหยุดพักคืนหนึ่งก่อน ต่อรุ่งขึ้นจึงจะได้ยกเข้าไป เพราะผู้คนช้างม้าอิด โรยบอบช้ำมาหลายเวลา จะพักผ่อนพอให้พร้อมมูลกันก่อน. รุ่งขึ้นณวันพฤหัศบดี เดือนยี่แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงเศษเจ้านคร เมืองน่านจึงแต่งให้ท้าวพระยาคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทองออกมารับ ๓ ช้าง แลจัดเปนกระบวรแห่ให้ออกมารับกองทัพด้วย ในวันนั้นเวลาเช้า ๓ โมงเศษ แม่ทัพแลนายทัพนายกองพร้อมกันเดินกระบวรทัพเข้าไปในเมือง ให้กระบวรแห่ซึ่งเจ้านครเมืองน่านแต่งมารับนั้นนำกอง ทัพไปข้างน่า เวลาเช้า ๔ โมงเศษกองทัพถึงพร้อมกันยังทำเนียบที่พัก

๑ ภายหลังได้เปนพระยาฤทธิรงค์รณเฉท แลเปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจิณ. ๒ เจ้าอนันตรฤทธิเดช

๒๐ ซึ่งเจ้านครเมืองน่านแต่งไว้รับ ตั้งอยู่ตรงประตูกำแพงเวียงด้านตวันออกในเวลานั้นเจ้าอุปราชราชวงศ๑ แลเจ้านายบุตรหลานพร้อมกันต้อนรับ ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เจ้านครเมืองน่านกับเจ้าอุปราชราชวงศ แลบุตรหลานพร้อมกันแต่งเต็มยศ มายังทำเนียบที่พักกองทัพนั้น ฝ่ายกองทัพก็ได้จัดทหารเปนกองเกียรติยศรับที่ประตู มีนายทหาร ๑ คน พลทหารถือปืน ๑๒ คน พลทหารแตรเดี่ยว ๒ คน คำนับรับตาม สมควรแก่ยศศักดินั้น เจ้านครเมืองน่านพร้อมด้วยเจ้าอุปราชราชวงศ แลบุตรหลานก็มาหาแม่ทัพปราไสยไต่ถามด้วยข้อราชการแลอวยไชยให้พรในการที่จะปราบข้าศึกสัตรูให้มีไชยชนะ สำเร็จราชการตามพระ บรมราชประสงค์จงทุกประการ แลจัดพระศิลานิลองค์หนึ่ง พระบรมธาตุองค์หนึ่งให้แม่ทัพ เพื่อจะได้เปนศิริคุ้มครองป้องกันสรรพอันตราย ที่จะไปในราชการสงครามครั้งนี้ กับใบเมี่ยง ๖ กระบอก เข้าสารเปน เข้าเจ้า ๔ ขัน หมากพลู ๒ ขัน แม่ทัพก็ได้จัดของซึ่งเปนสิ่งของแปลก ปลาดแก่ชนชาวประเทศนั้นหลายสิ่ง ซึ่งจัดขึ้นไปแต่กรุงเทพ ฯ ให้ ตอบแทนแก่เจ้านครเมืองน่านตามสมควร ตั้งแต่กองทัพตวันตกยก ออกจากเมืองพิไชยไปจนถึงนครเมืองน่าน รวมวันเดินกองทัพ ๑๗ วัน หยุดพักอยู่เมืองฝางแลท่าแฝก ๔ วัน รวมเปน ๒๑ วัน อนึ่งพระยาศรีสิงหเทพข้าหลวง เชิญเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหา สุราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน

๑ เจ้าราชวงศนี้ ภายหลังได้เปนพระเจ้าสุริยพงศผริตเดช

๒๑ แก่เจ้านครเมืองน่านขึ้นไปถึง กำหนดนำไปพระราชทานเมื่อณวันอาทิตย์เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ แม่ทัพจัดให้มีกองทหารแห่นำไปแต่ทำเนียบพระยาศรีสิงหเทพ จนถึงในเวียงที่คุ้มเจ้านครเมืองน่านส่วนแม่ทัพแลนายทัพนายกองก็พร้อมกันไปประชุมในสนามที่ว่าราชการของเจ้าเมืองนครน่าน ซึ่งจัดแจงแต่งรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์นั้นด้วย ถึงเดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ เจ้านครเมืองน่านได้ส่งช้างมาเข้ากระบวร ทัพ ๑๐๐ ช้าง แม่ทัพจึงได้เปลี่ยนช้างหัวเมืองชั้นในที่ได้บรรทุกกระสุนดินดำเสบียงอาหารมาในกองทัพ ๕๘ ช้าง มอบให้พระพิไชยชุมพลมหาดไทยเมืองพิไชยคุมกลับคืนไปยังเมืองพิไชย เพื่อจะได้บรรทุก เสบียงลำเลียงเข้าจากเมืองพิไชยขึ้นมาส่งยังฉางเมืองท่าแฝก ซึ่งพระยาสวรรคโลกได้มาตั้งฉางพักเสบียงไว้ สำหรับที่เมืองน่านจะมารับลำเลียงส่งต่อไปถึงท่าปากเงย แลเมืองหลวงพระบางจะได้จัดเรือมารับลำเลียงแต่ท่าปากเงยต่อไป ๑ ครั้นณวันจันทร เดือนยี่ แรม ๑๓ ค่ำ ปีรกา เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพออกจากเมืองน่าน เดินทางข้ามห้วยธารแลเทือกเขาไป ๑๐ วัน ถึงเมืองไชยบุรีศรีน้ำฮุงในเขตรเมือง หลวงพระบาง เจ้าราชภาคิไนยเมืองหลวงพระบางมาคอยรับกองทัพ

๑ ครั้งนั้นพวกข่าที่เคยหาเสบียงอาหารส่งเมืองหลวงพระบาง เห็นพวกฮ่อมาย่ำยีก็พลอยขัดแข็งบิดพลิ้ว ไม่ยอมหาเสบียงส่งอย่างแต่ก่อน เสบียงสำหรับกองทัพ จึงต้องส่งไปแต่หัวเมืองชั้นใน.

๒๒ แลจ่ายเสบียงสำหรับที่จะเดินทางต่อไปด้วย ตำบลนี้มีบ้านเรือนประมาณ ๓๐๐ หลังเรือนเศษ เปนที่ไร่นาบริบูรณ์พอหาเสบียงอาหารได้ รุ่งขึ้น ณวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ยกจากเมืองน้ำฮุงไปทางเปนที่ราบ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษถึงท่าเดื่อริมแม่น้ำโขง ตั้งพักอยู่คืนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ยกจากท่าเดื่อเดินเลียบ ไปตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมงเศษถึงเมืองน่าน ( น้อย ) หยุดพักกองทัพที่เมืองน่าน ( น้อย ) นั้น ๒ คืน ด้วยตามประเพณีของเมืองหลวงพระบางมีมาแต่โบราณ ถ้าเจ้านายเมืองหลวงพระบางจะ ลงไปกรุงเทพ ฯ ฤๅข้าหลวงขึ้นมาแลจะเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง แล้วต้องพักที่เมืองน่าน ( น้อย ) บวงสรวงเทพารักษก่อนจึงยกเลยไป เมื่อกองทัพถึงเมืองน่าน ( น้อย ) คราวนี้ เจ้านครหลวงพระบาง๑ แต่งให้ท้าวพระยานำเครื่องสังเวยเทพารักษ มีกระบือคู่ ๑ กับเครื่องกระยาบวงสรวงตามธรรมเนียม มาแจ้งความแก่แม่ทัพว่าเจ้านครหลวงพระบางให้จัดมาทำการบวงสรวงเทพารักษสำหรับกองทัพที่ยกมาตามแบบอย่างประเพณีของเมืองหลวงพระบาง เพื่อจะให้คุ้มครองป้องกันสรรพอันตรายทั่วทั้งกองทัพ แม่ทัพจึงได้ตั้งพักกองทัพอยู่ณที่นั้นสังเวยเทพารักษ์ตามธรรมเนียมของบ้านเมือง ตั้งแต่เมืองน่าน ( น้อย ) ต่อไป กองทัพเดินเลียบไปตามริมฝั่ง แม่น้ำโขงบ้าง เดินตัดไปทางป่าห่างฝั่งแม่น้ำโขงบ้าง ๒ วันถึงท่าเลื่อน

๑ เจ้ามหินทรเทพนิภาธร ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเปนพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร

๒๓ เมื่อวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แต่ที่นี้แม่ทัพสั่งให้ผ่อนสิ่งของที่มีน้ำหนักมากลงบรรทุกเรือไปยังเมืองหลวงพระบาง เพราะช้างที่บรรทุกของบอบช้ำอิดโรยมาก จึงผ่อนให้เดินไปแต่ลำพัง แลทางเรือแต่ท่าเลื่อนไปเมืองหลวงพระบางนั้น ไปได้สดวกแลถึงเร็วกว่าทางบกด้วย เมื่อแม่ทัพได้จัดผ่อนสิ่งของส่งไปโดยทางเรือเสร็จแล้ว รุ่งขึ้น ณวันศุกร์ เดือน ๓ แรมค่ำ ๑ ยกจากท่าเลื่อน ทางเปนที่ราบมีทุ่งนาเปนระยะไปจนเวลาเช้า ๒ โมงเศษ พบเจ้าราชวงศ๑ กับเจ้าราชสัมพันธวงศ คุมปี่พาทย์ฆ้องกลองกับดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะมา คอยอยู่ แจ้งความว่าเจ้านครหลวงพระบางแต่งให้มารับกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง แล้วนำกองทัพยกไปเวลาเที่ยงถึงทำเนียบที่พักบ้านเชียงแมนริมแม่น้ำโขงฝั่งตวันตก ตรงน่าเมืองหลวงพระบางข้ามเจ้าอุปราชแลเจ้านายบุตรหลานกับพระยาศุโขไทย ( ครุธ )๒ ผู้แทนข้าหลวงกำกับเมืองหลวงพระบาง พร้อมกันจัดเรือมาคอยรับกองทัพที่จะข้ามไปทำเนียบทางฝั่งตวันออก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงพระบางนั้นแม่ทัพจึงขอให้เจ้านายเมืองหลวงพระบาง กลับไปแจ้งความแก่เจ้านครหลวงพระบางว่า ไพร่พลบอบช้ำมาหลายเวลาจะขอพักอยู่ที่เชียงแมนคืนหนึ่งก่อน ต่อรุ่งขึ้นจึงจะได้ยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง ครั้นรุ่งขึ้นณวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีรกา เวลาเช้า ๓ โมง เศษ เจ้านครหลวงพระบางจึงแต่งให้เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ พร้อม ๑ ภายหลังได้เปนเจ้าสักรินทร ฯ เจ้านครหลวงพระบาง ๒ ได้เคยไปรบฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเมื่อคราวก่อน ๒๔ ด้วยพระยาศุโขไทยผู้แทนข้าหลวง จัดเรือเก๋งลำหนึ่งกับเรือที่จะบรรทุกไพร่พลทหารข้ามไปยังเมืองหลวงพระบาง รวม ๔๐ ลำ มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเปนกระบวรแห่มารับกองทัพข้ามแม่น้ำโขงไปถึงที่ฝั่งฟากตวันออก แล้วแม่ทัพให้ทหารกรุงเทพ ฯ แลทหารหัวเมืองเดินเปนกระบวรทัพ เข้าไปในเมืองหลวงพระบาง สองข้างทางที่เดินกองทัพไปนั้น มีราษฎรชายหญิงมาดูเนืองแน่นตลอดไปจนถึงทำเนียบที่พัก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ กับลำน้ำคาน ฝ่ายทิศตวันออกของเมืองหลวงพระบางนั้น เมื่อแม่ทัพ แลนายทัพนายกองไปถึงทำเนียบพร้อมกันแล้ว เจ้านครหลวงพระบางพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานมาเยียนตามประเพณีราชการ แม่ทัพให้ จัดทหารเปนกองเกียรติยศรับ ๒๔ คน ทหารแตรเดี่ยว ๒ คน ครั้น รุ่งขึ้นแม่ทัพแลนายทัพนายกองพร้อมกันไปหาเจ้านครหลวงพระบาง แลได้ไปเยียนตอบเจ้านายในเมืองหลวงพระบางนั้นด้วย เมื่อกองทัพขึ้นไปถึงเมืองหลวงพระบางแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถ สอบสวนเรื่องราวข่าวทัพฮ่อ ได้ทราบว่าข้อความตามที่เมืองหลวง พระบางบอกลงมายังกรุงเทพ ฯ นั้น เปนแต่รู้จากคำพวกราษฎรบอก เล่าเปนพื้น เพราะหนทางจากเมืองหลวงพระบางไปยังเมืองหัวพันห้า ทั้งหก ต้องเดินข้ามห้วยเขาป่าดงเปนทางกันดาร การที่แต่งคนไป สืบข้อราชการ ถ้าแต่งเปนกองใหญ่คนไปมากก็ติดขัดด้วยเรื่องหา เสบียงอาหาร ถ้าคนไปน้อยให้พอหาเสบียงอาหารได้ในท้องที่ ก็ไม่ กล้าไปไกลด้วยเกรงอันตราย จึงได้แต่ไต่ถามพวกราษฎรตามท้องที่


๒๕ ใกล้ ๆ มารายงาน จะเชื่อฟังเอาเปนจริงทีเดียวไม่ได้ คงฟังได้ เปนหลักฐานแต่ว่ามีพวกฮ่อเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในแดนเมืองหัวพันห้าทั้งหกหลายตำบล แลหัวเมืองเหล่านั้นท้าวขุนต่างเมืองต่างรักษาประโยชน์ของตน หามีใครที่จะบังคับบัญชารวมกันทั้งหมดไม่ ได้ความเช่นนี้ แม่ทัพจึงเห็นว่า ซึ่งจะตั้งอำนวยการปราบฮ่ออยู่ที่เมืองหลวงพระบางนั้นห่างนัก ตรวจดูตามแผนที่อันพอจะรู้ได้ในเวลานั้นประกอบกับ คำชี้แจงที่เมืองหลวงพระบาง เห็นว่ากองทัพจะต้องขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนในเขตรเมืองหัวพันห้าทั้งหกจึงจะปราบปรามพวกฮ่อตลอดไปได้ทุกเมือง เมื่อตกลงเช่นนี้แล้วจึงจัดวางการที่จะส่งเสบียงอาหารสำหรับ กองทัพ แลกำหนดการที่จะยกกองทัพขึ้นไปให้ถึงเมืองซ่อนในเดือน ๔ ปีรกานั้น ให้ได้ทำการปราบฮ่อแต่ก่อนถึงฤดูฝน ตอนที่ ๗ ว่าด้วยปราบฮ่อคราวที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ต่อมา ถึงวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีรกา เวลาเช้า ๓ โมง เจ้า หมื่นไวยวรนารถยกกองทัพจำนวนพลรบ ๒,๕๐๐ คนออกจากเมืองหลวงพระบาง เดินทางบกไป ๑๐ วัน ข้ามลำน้ำอูไปถึงที่พักณเมืองงอย เห็นทางเดินทัพกันดาร เจ้าหมื่นไวย ฯ ปฤกษากับพระยาศุโขไทย แลเจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบางเห็นพร้อมกันว่า จะรีบยกกองทัพขึ้นไป เมืองซ่อนทั้งหมด เสบียงอาหารคงส่งไม่ทัน จะตั้งอยู่เมืองงอยคอยให้ ๔


๒๖ เสบียงอาหารพรักพร้อมเสียก่อนเล่าก็จะช้าการไป แม่ทัพจึงแบ่ง ทหารหัวเมืองให้พระยาศุโขไทยกับนายพันตรี พระพาหนพลพยุหเสนา (กิ่ม)๑ คุมอยู่ที่เมืองงอยกองหนึ่ง เพื่อจะได้ลำเลียงเสบียงอาหารส่งไปโดยเร็ว เมื่อได้เสบียงพอแล้ว เจ้าหมื่นไวย ฯ จะมีหนังสือลงมายัง เมืองงอยให้พระยาศุโขไทย และพระพาหนพลพยุหเสนายกตามขึ้นไป อนึ่งแม่ทัพได้แต่งให้เจ้าราชวงศ์คุมไพร่พลยกขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ตำบลสบซางคอยรับเสบียงแลคิดลำเลียงส่งไปถึงเมืองซ่อนอิกกองหนึ่ง ส่วนแม่ทัพกับนายจ่ายวดแลไพร่พลทหารกรุงเทพ ฯ นั้น จะรีบยกขึ้นไปยังเมืองซ่อน ทีเดียว. ถึงวันอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ แล นายทัพนายกองทหารกรุงเทพ ฯ กับทหารหัวเมืองที่สมทบกัน จึงยก ออกจากเมืองงอยเดินทางข้ามห้วยธารแลเทือกเขาไป ๓ วัน ถึง เมืองซ่อนเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีจอยังเปนสัปตศก ทำเลเมืองซ่อนนั้นมีทางที่จะแยกไปยังเมืองอื่น ๔ ทาง ๆ ที่ ๑ ฝ่ายทิศตวันออกเฉียงเหนือไปเมืองสบแอดระยะทาง ๘ วัน ทางที่ ๒ ฝ่ายทิศตวันออกเฉียงใต้ไปเมืองแวนแลเมืองพูนระยะทาง ๑๐ วัน ทางที่ ๓ ไปทุ่งเชียงคำระยะทาง ๑๐ วัน ทางที่ ๔ คือทางมาเมืองงอยที่กองทัพ ยกขึ้นไป เมืองซ่อนเปนเมืองต้นทางควรตั้งกองทัพแลเปนที่รวบรวมเสบียงอาหาร แม่ทัพจึงให้ตั้งค่ายมั่นแลจัดรักษาด่านทางให้เปนที่มั่น

๑ ภายหลังเลื่อนเปนพระยา ฯ

๒๗ คงแขงแรง เมื่อกองทัพไปถึงเมืองซ่อนสืบได้ความชัดว่า มีฮ่อตั้งค่าย อยู่ที่ตำบลบ้านใดในแขวงเมืองสบแอดค่ายหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลนาปาแขวงเมืองสบแอดอิกค่ายหนึ่ง ค่าย ๒ แห่งนี้เปนที่มั่นของฮ่อ ระยะทางห่างกันประมาณ ๒๐๐ เส้น แลฮ่อแยกไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพูนอิกค่ายหนึ่ง มีฮ่อแลผู้ไทยทู้อยู่ เปนพวกฮ่อที่เปนชายฉกรรจ์ทั้ง ๓ ค่ายจำนวนคนประมาณ ๘๐๐ แลยังมีครอบครัวของพวกฮ่อตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ค่ายบ้านใดแลค่ายบ้านนาปาแขวงเมืองสบแอดทั้ง ๒ แห่ง เมื่อสืบได้ความมั่นคงดังกล่าวมา แม่ทัพจึงแต่งให้นายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ (อยู่)๑ กับเจ้าราชภาคินัย คุมทหารกรุงเทพ ฯ กับทหารหัวเมืองรวมนายไพร่ ๓๐๐ คน ยกขึ้นไปทางสายตวันออกเฉียงเหนือหมายไปตีค่ายฮ่อบ้านใด แลบ้านนาปาแขวงเมืองสบแอดกอง ๑ ให้นายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ ( อิ่ม ) กับเจ้าราชวงศ์ คุมทหารกรุงเทพ ฯ กับทหารหัวเมืองรวมนายไพร่ ๔๐๐ คน ยกขึ้นไปทางสาย ตวันออกเฉียงใต้หมายไปตีค่ายฮ่อที่ตั้งอยู่ณเมืองพูนอิกกอง ๑ ให้ฮ่อ พว้าพวังต้องต่อสู้เปน ๒ ทางอย่าให้รวมกำลังกันได้. อนึ่งในขณะเมื่อกองทัพตั้งอยู่ณเมืองซ่อนนั้น หัวพันเมืองพูนได้นำครอบครัวอพยบหนีฮ่อมาหากองทัพ ๔๐ ครัว รวมชายหญิงทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ๔๑๘ คน หัวพันเมืองโสยนำครอบครัวอพยบหนีฮ่อมา ๑๕ ครัว รวม ๑๘๘ คน หัวพันเมืองสบแอดนำครอบครัวอพยบหนีฮ่อมา ๔๐ ครัว

๑ ภายหลังได้เปนนายพันเอก พระยาดัษกรปลาศ ราชองครักษ.

๒๘ รวม ๔๙๕ คน รวมครัวทั้ง ๓ เมืองซึ่งมาหากองทัพณเมืองซ่อน ๙๕ ครัว ชายหญิง ๑,๑๐๑ คน แม่ทัพต้องรับไว้ที่เมืองซ่อนทั้งสิ้น เสบียงอาหารที่จะแจกจ่ายเจือจานก็อัตคัด แม่ทัพจึงจ่ายเงินให้พวกครัวเที่ยวซื้อหาอาหาร ด้วยเห็นเปนคนในพื้นเมืองพอจะเที่ยวซื้อหาเองได้ไปชั่วคราว แลเวลานั้นก็จวนเข้าฤดูฝน พวกครัวซึ่งมารวบรวมกันอยู่ยังหา มีถิ่นที่ไร่นาที่จะทำพอเลี้ยงชีวิตรต่อไปไม่ แม่ทัพจึงให้เจ้าราชวงศ์ขอ ยืมที่นาของราษฎรในเมืองซ่อนซึ่งยังรกร้างมีอยู่บ้าง กับพื้นที่ว่างเปล่า อันมีอยู่แบ่งปันให้แก่พวกครัวพอจะได้ทำมาหากิน โคซึ่งมีไปสำหรับ กองทัพ อันมิใช่โคพาหนะ เปนโคจัดซื้อไปสำหรับเปนเสบียงกองทัพ แม่ทัพก็ให้ยืมพอที่พวกครัวจะได้ใช้คราดไถในการทำนานั้น แลให้ เจ้าราชวงศ์แจ้งความลงมายังเจ้านครหลวงพระบาง ขอให้จัดหากระบือส่งขึ้นไปพอจะได้เปนกำลังของพวกครัวบ้างตามสมควร แต่คนครัว ทั้ง ๓ เมืองที่เปนชายฉกรรจ์นั้น แม่ทัพเกณฑ์ให้ขนลำเลียงเสบียงแต่เมืองซ่อนขึ้นไปส่งกองทัพที่ได้ยกขึ้นไปแล้วทั้ง ๒ ทาง. จะกล่าวถึงกองหลวงดัษกรปลาศ ซึ่งยกขึ้นไปทางทิศตวันออกเฉียงเหนือหมายไปตีค่ายฮ่อบ้านใดบ้านนาปาแขวงเมืองสบแอดนั้น ยก ขึ้นไปถึงบ้านใดก็เข้าตีค่ายฮ่อ เมื่อณวันจันทร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจอ ยังเปนสัปตศก ฮ่อยกออกต่อสู้นอกค่าย เอาปืนใหญ่กระสุนเท่าผลส้มเกลี้ยงลากออกมาตั้งยิงที่น่าค่าย พอยิงปืน ๆ นั้นแตก ฮ่อก็หนีกลับ เข้าค่าย กองทหารไทยได้ทีก็ไล่รุกเข้าไปถึงค่าย นายร้อยโท นายดวง


๒๙ คุมทหารหมวดหนึ่ง เข้าพังประตูค่ายด้านใต้ เจ้าราชภาคินัยกับนาย ร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศคุมทหารเปนกองหนุน นายร้อยโท นาย เอื้อน (ชูโต) คุมทหารหมวดหนึ่ง เข้าพังประตูค่ายด้านทิศตวันตก พระพิพิธณรงค์กรมการเมืองลับแล กับพระเจริญจัตุรงค์กรมการเมือง พิไชยคุมทหารหัวเมืองเปนกองหนุน ทหารพวกหมวดนายร้อยโทดวง พังประตูค่ายด้านใต้ตีหักเข้าค่ายได้ก่อนด้านอื่น ฮ่อแตกกระจัดกระจายพ่ายหนีออกหลังค่ายทิศตวันออก ทหารก็หักค่ายเข้าไปได้ทุกทาง แต่นั้นฮ่อก็มิได้ต่อสู้รีบทิ้งค่ายหนีไป รบกันครั้งนี้ฮ่อตายในที่รบ ๒๓ คน ถูกอาวุธป่วยเจ็บไปเห็นจะมาก ในเวลาเมื่อต่อรบกันนั้น กระสุนปืนถูกฮ่อกอยี่ซึ่งเปนนายรักษา ค่ายบ้านใดที่ขาซ้ายป่วยลำบากอยู่ จ่านายสิบนายธูปคุมทหาร ๔ คนตรงไปจะกุมตัว กอยี่ชักปืนสั้นออกยิงตัวเองขาดใจตาย ทหารจับได้ครอบครัวฮ่อ คือ ภรรยากวานหลวงฮ่อกับบุตรคน ๑ ภรรยากวานยี่ฮ่อ คน ๑ กับครอบครัวพวกฮ่อรวม ๓๒ คนเก็บได้เครื่องสาตราวุธปืนคาบศิลา ๒๐ บอก ดาบแลมีดต่าง ๆ ๓๒ เล่ม สามง่าม ๒ เล่ม ดินดำ ๕ ถัง สังกะสีดีบุก ๑๐ แท่ง หลอมเปนกระสุนแล้ว ๑ ถัง ธงดำ ๑ ธง กับ ธงสีต่าง ๆ เล็กใหญ่ ๘ ธง กำยานประมาณ ๒ หาบ หม้อทองแดง เล็กใหญ่ ๓๐ หม้อ กะทะเหล็กบ้างทองแดงบ้าง ๑๑ กระทะ กับเครื่องใช้แลเครื่องมือตีเหล็กที่มีอยู่ในค่ายนั้นหลายอย่าง ม้า ๓ โค ๖ กระบือ ๕ เข้าเปลือกเต็มฉางหนึ่งประมาณ ๑,๔๐๐ ถังเศษ เข้าสารเปนเข้าเจ้า


๓๐ ๒๐๐ ถังเศษ เปนเข้าเหนียว ๔๐๐ ถังเศษ กองทหารก็เข้าตั้งมั่น อยู่ในค่ายบ้านใดแต่ในเวลานั้น ครั้นรุ่งขึ้นณวันพุฒ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีจออัฐศก พวกชาวเมือง สบแอดที่ได้ยอมทู้ฮ่อประมาณ ๔๐๐ คนเศษ นำครอบครัวมาหากอง ทัพทั้งสิ้น แจ้งความว่าเกรงกลัวฮ่อจึงได้ยอมเข้าทู้ หาได้คิดจะ เปนกำลังช่วยฮ่อต่อสู้กองทัพไม่ กับแจ้งความว่าที่ค่ายบ้านนาปานั้น มีฮ่อแท้ ๕๐ คน นอกนั้นเปนแต่พวกผู้ไทยทู้ เมื่อกลางคืนเวลา ๒ ยามได้ข่าวไปว่ากองทหารตีค่ายบ้านใดแตกแล้ว คนที่เข้าทู้ก็เอาใจออก หากพากันหลบหลีกหนีไปสิ้น ฮ่อเห็นจะต่อสู้มิได้ทิ้งค่ายบ้านนาปาหนี เข้าป่าดงไปแล้ว แต่เสบียงอาหารยังมีเต็มฉางอยู่ เจ้าราชภาคินัย กับนายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศจึงคุมทหารไปยังค่ายบ้านนาปา เกณฑ์คนพลเมืองให้ขนเข้าในฉางนั้นมารวมไว้ในฉางค่ายบ้านใดทั้งสิ้น ตรวจได้เข้าเปลือก ๓,๕๐๐ ถัง เข้าสาร ๑๐๐ ถัง กับนายบ้านนำไปได้ เข้าที่ฮ่อตั้งฉางไว้ในป่าเปนเข้าสารอิก ๒๒๐ ถัง จำนวนเข้าทั้งสิ้นนี้ได้เกณฑ์คนพลเมืองให้ขนมาขึ้นฉางไว้ยังค่ายบ้านใด รวมเข้าที่ได้ทั้ง ๒ ค่าย เปนเข้าเปลือก ๔,๙๐๐ ถัง เข้าสาร ๙๒๐ ถัง รวมทั้งเข้าเปลือก เข้าสาร ๕,๘๒๐ ถัง เมื่อกองทหารตีค่ายฮ่อที่เมืองสบแอดได้หมดแล้ว แม่ทัพจึงมี คำสั่งให้ออกประกาศแก่บรรดาพลเมืองทุก ๆ ตำบลมีความว่า "ทรง พระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพใหญ่ขึ้นมาปราบปรามฮ่อที่


๓๑ เที่ยวย่ำยีตีปล้นเขตรแขวงหัวพันห้าทั้งหกในพระราชอาณาเขตร ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความยากแค้นเดือดร้อนทั่วไป ครั้นกองทัพยกขึ้นมาปราบปราม ฮ่อต่อต้านทานกำลังมิได้ก็แตกฉานเข้าป่าดงไป เวลานี้ ฮ่อก็ยังคุมขึ้นเปนหมู่เปนกองหาได้ไม่ ให้ไพร่พลเมืองมีความเจ็บ ร้อนช่วยกันสืบเสาะจับตัวพวกฮ่อมาส่งให้สิ้นเชิง จะได้มีความศุขทั่วกัน ต่อไปภายน่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจับตัวฮ่อมาส่งได้คนหนึ่งจะให้รางวัล ๒๐ รูปิย์ ส่วนคนที่เข้าทู้ฮ่อโดยความยินดีที่จะกระทำการโจรกรรมกับพวกฮ่อ แล้วยอมเข้ารับทำการงานเปนกำลังนั้น ยังเปนผู้มีความผิดอยู่ เพราะ ฉนั้นถ้าจะแก้ตัวให้พ้นผิดก็จงจับฮ่อมาส่ง ถ้าได้แต่คนหนึ่งขึ้นไปก็จะ ยกโทษให้ทั้งครอบครัว ถ้าผู้ใดสืบได้ข่าวว่าฮ่อไปแอบแฝงอยู่แห่งใด ตำบลใด เมื่อยังเกรงกลัวอยู่ก็ให้มาแจ้งความยังกองทัพ จะได้ให้ ทหารเร่งไปจับตัวให้จงได้ ถ้าผู้ใดเปนใจให้ฮ่อสำนักอาศรัย ฤๅให้ กำลังเสบียงอาหารอุดหนุนฮ่อแต่อย่างหนึ่งอย่างใด จะเอาโทษผู้นั้นเสมอกับโทษฮ่อ ให้พลเมืองทั่วไปมีความเจ็บร้อนคิดช่วยเสาะสาง เอาตัวฮ่อมาส่งให้สิ้นเชิงจงได้ " ฝ่ายกองนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจกับเจ้าราชวงศ ซึ่งยก ขึ้นไปทางทิศตวันออกเฉียงใต้หมายไปตีค่ายฮ่อที่เมืองพูนนั้น ได้ยก ออกไปถึงเมืองแวนเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจออัฐศก เดินทางต่อไปอิก ๒ วันถึงเมืองจาดซึ่งเปนเมืองขึ้นของเมืองโสย พบฮ่อกับพวกม้อยที่เข้าทู้ตั้งค่ายอยู่ที่นั้น มีฮ่อแลคนทู้ประมาณ ๔๐ คนเศษ นายร้อยตรี เพ็ชร กับท้าวอ่อนกรมการเมืองไทรซึ่งเปนกองน่า เข้า

๓๒ ระดมตีฮ่อแลพวกม้อยแตกหนีทิ้งค่ายไป ทหารเข้าในค่ายได้เข้าเปลือก ในฉางประมาณ ๔๐๐ ถังเศษ กองน่าตั้งพักอยู่ที่เมืองจาดนั้นคืนหนึ่งครั้นรุ่งขึ้นกองนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจกับเจ้าราชวงศไปถึง พร้อมกันแล้วก็ยกตามพวกฮ่อต่อไป ฝ่ายฮ่อที่แตกไปนั้นไปตั้งอยู่บ้าน หอแขวงเมืองโสย ครั้นกองทหารไปถึงที่นั้น ฮ่อได้กำลังมากขึ้น ก็ออกต่อรบยิงปืนโต้ตอบกันอิกพัก ๑ ฮ่อถูกกระสุนปืนตายในที่รบ ๔ คน ที่เหลืออยู่ก็แตกหนีไปเมืองโสย นายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจกับ เจ้าราชวงศจะยกติดตามฮ่อต่อไปในวันนั้นเปนเวลาพลบค่ำ จึงถอย กลับมาตั้งอยู่ค่ายเมืองจาด แล้วมีหนังสือแจ้งข้อราชการมายังกองทัพใหญ่ณเมืองซ่อน ขอให้ส่งเสบียงอาหารเพิ่มเติมขึ้นไปจะได้ยกตามฮ่อ ไปยังเมืองโสย แม่ทัพดำริห์เห็นว่าทางที่จะเดินต่อไปยังเมืองโสยนั้น เปนทางกันดาร ในเวลานั้นก็เข้าฤดูฝน ๆ ตกชุกอยู่แล้ว จะให้กอง ทหารเร่งยกติดตามฮ่อต่อไป ฮ่อก็จะถอยร่นต่อไปจนถึงเมืองพูนซึ่งเปน ที่มั่นของมัน ฝ่ายเราจะลำเลียงเสบียงอาหารส่งจะเปนการยากขึ้นทุกทีด้วยเปนฤดูฝนผู้คนก็จะป่วยเจ็บ เห็นเปนการขัดขวางอยู่ดังนี้ แม่ทัพ จึงประชุมนายทัพนายกอง พร้อมด้วยพระยาศุโขไทยปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า เวลานั้นก็ถึงฤดูฝนตกชุกแล้ว ควรจะต้องงดรอการรบพุ่ง ตั้งมั่นพักบำรุงกำลังไพร่พลไว้ก่อน ต่อถึงเดือน ๑๑ ปีจออัฐศกสิ้นฤดู ฝน จึงจะปราบปรามฮ่อต่อไป ปฤกษาเห็นพร้อมกันดังนี้แล้ว แม่ทัพ จึงมีคำสั่งให้ทหารกองนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจกับเจ้าราชวงศถอยมาตั้งมั่นบำรุงไพร่พลเมืองอยู่ที่เมืองแวน

๓๓ ฝ่ายกองทัพนายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคินัย ซึ่งยกขึ้นไปตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายบ้านใดแขวงเมืองสบแอดที่ตีได้นั้น แจ้งข้อราชการลงมายังแม่ทัพเมืองซ่อนว่า เมื่อณวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจออัฐศก พ.ศ.๒๔๒๙ ท้าวฉิม นายบ้านห้วยสารนายมลงมาแจ้งความแก่นายร้อยโท ดวง ซึ่งคุมกองทหารขึ้นตั้งรักษาหมู่บ้านราษฎรณเมือง สบแอดว่าฮ่อประมาณ ๗๐ คน ไปตั้งรวบรวมกันอยู่ที่บ้านห้วยสารนายมแขวงเมืองสบแอด แลสืบได้ความว่ารุ่งขึ้นฮ่อจะพากันไปยังเมืองฮุงในแขวงสิบสองจุไทยระยะทางประมาณ ๑๐ ชั่วโมง ทางที่มันจะเดิน นั้นจะต้องเดินทางห้วยแหลก ครั้นนายร้อยโท ดวง ได้ทราบความแล้ว จึงพร้อมด้วยนายร้อยตรี พลอย ๑ พระเจริญจัตุรงค์กรมการเมืองพิไชย ๑ ทหาร ๒๔ คนรีบยกขึ้นไปคอยสกัดทางที่ห้วยแหลก ระยะทางแต่เมืองสบแอดถงห้วยแหลก ๓ ชั่วโมง ครั้นถึงกลางห้วยแหลกก็พอประจวบ กับพวกฮ่อเดินสวนทางมาในลำห้วย กองทหารยิงพวกฮ่อ ๆ ก็แตกถอยกลับไป ทหารก็ไล่ยิงติดตามต่อไป พวกฮ่อขึ้นจากห้วยได้ก็หันกลับมา ต่อสู้ ยิงปืนโต้ตอบกันไปมา ฮ่อถูกกระสุนปืนตาย ๘ คน ที่ป่วยเจ็บไปหลายคน ฮ่อก็แตกกระจัดกระจายทิ้งเสบียงอาหารหนีเข้าป่าดงไป ในเวลาเมื่อทหารไล่ฮ่อไปนั้น พลทหารอ่อนถูกกระสุนปืนฮ่อที่ไหล่ซ้าย แต่หาเปนอันตรายไม่ ฝ่ายกองนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ กับเจ้าราชวงศเมื่อได้ รับคำสั่งแม่ทัพให้ถอยจากเมืองจาดมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองแวน คาดว่ากอง ๕

๓๔ ทหารถอยมาจากเมืองจาดแล้วไว้ดีร้ายพวกฮ่อคงจะกลับมาตั้งอยู่อิก จึง คิดกลอุบายแกล้งทิ้งค่ายฮ่อไว้ไม่รื้อเสีย เอากระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุ ดินดำเปนลูกแตกมีแก๊บชนวนอยู่ในกระสุน ฝังไว้ริมทางเข้าออก ผูก สายยนต์ดักไว้ ให้คนเดินต้องกระทบสายยนต์นั้น แลเอากระสุนแตกห้อยแขวนไว้บ้างก็มี แล้วแต่งคนให้คอยด้อมมองอยู่ยังเมืองแวน เมื่อกองทหารถอยมาได้สัก ๗ วัน ผู้ซึ่งคอยสืบกลับมาบอกรายงานที่แวน ว่า เมื่อกองทัพถอยมาแล้วมีฮ่อกับพวกผู้ไทยทู้ประมาณ ๕๐ คนพากันกลับมาแลเข้าไปในค่ายเมืองจาดนั้น ฮ่อแลผู้ไทยถูกจันห้าวที่ดักไว้กระสุนปืนใหญ่ลั่นรเบิดออกถูกฮ่อตาย ๓ คน ผู้ไทย ๒ คน ที่ป่วยไปหลายคน ฮ่อมิอาจอยู่ในค่ายนั้นก็พากันกลับไปยังเมืองพูนทั้งสิ้น แล้ว เก็บได้กระสุนปืนซึ่งแขวนไว้ที่ตอไม้กระสุนหนึ่งเอาไปดวย ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวทิพกรมการเมืองแวนรวมนายไพร่ ๓ คน ซึ่งขึ้นไปสืบราชการยัง เมืองโสยเมืองพูนกลับมาแจ้งข้อราชการยังค่ายเมืองแวนว่า ฮ่อได้ กระสุนปืนไปจากค่ายเมืองจาดกระสุนหนึ่ง เอาเข้าไปยังค่ายเมืองพูนมันเรียกว่าลูกหมากโม้ ฮ่อเอาขวานทุบต่อยกระสุนนั้นก็ระเบิดออกถูก ฮ่อตาย ๒ คน ป่วยเจ็บไปหลายคน บัดนี้มีความครั่นคร้ามกองทัพแลกระสุนปืนนั้นเปนอันมาก เพราะไม่ทราบว่าจะฝังไว้ที่ใด ต่างแยกย้ายพากันอพยบไปเปนพวกเปนหมู่ละ ๓๐ คน ๔๐ คนหาได้รวบรวมกันไม่ สืบได้ความว่าจะพากันไปอยู่ตำบลท่าขวา แขวงสิบสองจุไทยริมฝั่งน้ำแท้ ยังมีฮ่อคงอยู่ที่ค่ายเมืองพูนอิกประมาณ ๓๐ คน ที่เมืองโสยมีพวกผู้ไทย

๓๕ ทู้รักษาอยู่ประมาณ ๓๐ คน รวมฮ่อแลผู้ไทยทู้ทั้ง ๒ ค่าย มีประมาณ ๖๐ คน แต่ยังเที่ยวย่ำยีตีปล้นราษฎรพลเมืองอยู่เนือง ๆ นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ กับเจ้าราชวงศ์บอกข้อราชการมายังแม่ทัพใหญ่ณะเมืองซ่อน แม่ทัพเห็นว่าพวกฮ่อย่อย่นระส่ำระสายอยู่แล้ว จำจะต้องรีบปราบปรามเสียทีเดียว จึงมีคำสั่งให้นายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ แต่งนายทหารที่เข้มแขงคุมพลทหารสักกอง ๑ เร่งยกขึ้นไปปราบปราม ฮ่อที่เมืองโสยเมืองพูนเสีย อย่าให้กลับกล้าหาญได้ หลวงจำนง ยุทธกิจจึงแต่งให้นายร้อยโทแขกนาย ๑ ท้าวอ่อนกรมการเมืองไทร นาย ๑ คุมไพร่พลทหารกรุงเทพ ฯ แลหัวเมือง รวมนายไพร่ ๑๗๐ คน ยกขึ้นไปเมืองโสยเมืองพูนตามคำสั่งของแม่ทัพ นายร้อยโท แขก กับท้าวอ่อนกรมการเมืองไทร คุมทหารขึ้นไปถึงเมืองโสยเข้าตีค่ายฮ่อ ณเมืองโสย เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีจออัฐศก พวกฮ่อแล ผู้ไทยทู้มีรักษาค่ายอยู่ประมาณ ๑๕๐ คนออกต่อสู้อยู่พักหนึ่ง ทหารยิง ถูกฮ่อตาย ๑๕ คน เจ็บป่วยไปหลายคน ฮ่อก็ทิ้งค่ายหนีไปรวบรวมอยู่ที่ค่ายเมืองพูน ระยะทางห่างจากค่ายเมืองโสย ๒ วัน ทหารเข้าในค่าย ได้จับฮ่อชายฉกรรจ์ได้ ๒ คน หญิงภรรยาฮ่อ ๑ คน บุตรฮ่อ ๑ คนรวม ๔ คน ได้เข้าเปลือกที่ในค่ายฉางหนึ่งมีเข้าประมาณ ๓๐๐ ถัง แต่ครอบครัวฮ่อแลสิ่งของในค่ายหามีไม่ นายร้อยโท แขก กับท้าวอ่อนแลไพร่ พลเข้าตั้งอยู่ในค่ายเมืองโสยนั้น ๒ วัน ครั้นณวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ จึงยกติดตามฮ่อต่อไปยังค่ายเมืองพูน แต่เมื่อกองทหารยกไป


๓๖ ถึงเมืองพูน ยังไม่ทันที่จะเข้าตีค่าย พวกฮ่อก็เอาเพลิงจุดเผาฉางเข้าในค่าย แล้วพากันอพยบออกทางหลังค่ายหนีไปสิ้น กองทหารพร้อมกัน เข้าดับเพลิง ได้เข้าประมาณ ๒๐๐ ถัง เหลือจากนั้นไฟไหม้เสียสิ้น กองทหารก็เข้าตั้งมั่นรักษาค่ายเมืองพูนไว้ ณเดือน ๗ ปีจออัฐศกนั้น บรรดาค่ายฮ่อที่มาตั้งในแดนเมืองหัว พันห้าทั้งหก กองทัพตวันตกตีได้หมดทุกค่าย ตอนที่ ๘ ว่าด้วยปราบฮ่อคราวที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ต่อมา เมื่อฤดูฝนปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น กองทัพตวันตกตั้งพักอยู่ ๔ แห่ง กองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพตั้งอยู่ที่เมืองซ่อนแห่ง ๑ กองนายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคินัยตั้งอยู่ที่ค่ายบ้านใด ซึ่งตีได้จาก ฮ่อที่ในแขวงเมืองสบแอดแห่ง ๑ กองนายร้อยเอก หลวงจำนงยุทธกิจ กับเจ้าราชวงศ์ตั้งอยู่ที่ค่ายเมืองแวนแห่ง ๑ พวกทหารเจ็บป่วยทุพลภาพส่งลงมาอยู่ที่โรงพยาบาลณเมืองหลวงพระบางอิกแห่ง ๑ มีพวกท้าวขุนแลราษฎรชาวเมืองหัวพันห้าทั้งหกที่ได้ทู้ฮ่อ พากันกลับเข้ามาสารภาพ รับผิดหลายราย ที่เปนรายสำคัญนั้นคือองค์พ้องจะลอเจ้าเมืองปุง แลท้าวเพี้ยเมืองโสย เดิมได้พาสมัคพรรคพวกไปเข้ากับฮ่อ เมื่อฮ่อแตก หนีไปพวกไพร่พากันกลับมาหากองทัพโดยมาก แต่องค์พ้องจะลอเจ้าเมืองปุงแลพวกท้าวเพี้ยเมืองโสยยังหลบหลีกอยู่ด้วยเกรงความผิด ในตอนนี้ก็เข้ามาลุแก่โทษต่อเจ้าราชวงศ์โดยดีราย ๑ อิกราย ๑ ท้าวบา


๓๗ ท้าวเมือง ท้าวโดย เพี้ยบัวเงิน กับพรรคพวกแลครอบครัวรวมประมาณ ๔๐๐ คน ซึ่งได้ยอมทู้อยู่กับฮ่อแต่ก่อน พากันเข้ามาอ่อนน้อมยอมสารภาพต่อนายร้อยโท แขก การที่เปนจลาจลในเมืองหัวพันห้าทั้งหกก็ราบคาบลงโดยลำดับ เจ้าหมื่นไวย ฯ ปฤกษากับแม่ทัพนายกองเห็นพร้อมกันว่า เมืองหัวพันห้าทั้งหกติดต่อกับแดนสิบสองจุไทย พวกฮ่อ ทแตกหนีไปจากเมืองหัวพันห้าทั้งหก คงไปตั้งมั่วสุมกันอยู่ในแดนสิบ สองจุไทย เมื่อกองทัพกลับลงมาแล้วพวกฮ่อก็คงจะกลับเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองหัวพันห้าทั้งหกอย่างเดิมอิก เพราะฉนั้นถ้าไม่คิดอ่านปราบ ปรามฮ่อที่ยังอยู่ในดินแดนสิบสองจุไทยให้ราบคาบ การที่กองทัพได้ยกขึ้น ไปก็จะไม่เปนประโยชน์อันใด จึงตกลงกันว่าพอถึงฤดูแล้งจะยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองแถง ( อันเปนราชธานีเดิม ) ในแดนสิบสองจุไทย ด้วย กายตงเจ้าเมืองแถงเข้ามาสามิภักดิ์รับราชการอยู่ในกองทัพ ได้เปน ที่พระสวามิภักดิสยามเขตร รับจะนำกองทัพไป พระสวามิภักดิสยามเขตรนี้เดิมเปนจีนชาวเมืองกังไส จะมากับ พวกจีนใต้เผงฤๅจะมาด้วยเหตุอย่างใดหาปรากฎชัดไม่ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองแถงช้านานจนพูดภาษาไทยได้ ได้ช่วยเจ้าเมืองไลรบฮ่อธงเหลือง แลต่อมาได้ช่วยญวนปราบฮ่อธงเหลืองมีความชอบ ญวนจึงตั้ง ให้เปนที่กายตงเจ้าเมืองแถง แต่ทีหลังมากายตงเกิดเปนอริขึ้นกับเจ้าเมืองไล ( อันอยู่ใกล้แลมีกำลังมากกว่าเมืองแถง ) เกรงเจ้าเมืองไล จะฆ่าเสีย จึงพาพรรคพวกอพยบเข้ามาอยู่ในแดนหัวพันห้าทั้งหก มา


๓๘ พบพระวิภาคภูวดลขึ้นไปทำแผนที่ กายตงเข้าอ่อนน้อมขอทำราชการขึ้น ต่อกรุงสยาม แลได้นำพระวิภาคภูวดลเที่ยวทำแผนที่มีความชอบ จึง ได้รับประทวนตั้งเปนที่พระสวามิภักดิสยามเขตร ครั้นกองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถยกขึ้นไป พระสวามิภักดิสยามเขตร ( เรียกกันเปนสามัญ แต่ว่า " พระสวา " ) จึงเข้ารับราชการอยู่ในกองทัพ ด้วยเปนผู้ชำนาญ รู้การในท้องที่ตลอดไปจนแดนสิบสองจุไทย เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ทราบความจากพระสวา ฯ ว่า มีฮ่อพวก ๑ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าขวาริมลำน้ำแท้ ในแดนสิบสองจุไทย ตัวหัวน่าตั้งตัวเปนองค์บา มีพรรคพวกมาก แต่ตั้งทำมาหากินอยู่เปนปรกติ ยังหาได้เข้ากับพวกฮ่อที่มาย่ำยีเมืองหัวพันห้าทั้งหกไม่ เจ้าหมื่นไวย วรนารถจึงทำหนังสือให้พระสวา ฯ ถือไปเกลี้ยกล่อมฮ่อองค์บา ชี้แจง ไปว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้กองทัพยกขึ้นไปปราบปรามพวกโจรฮ่อ ซึ่งเข้ามาย่ำยีไพร่บ้านพลเมืองในพระราชอาณาเขตรให้ได้ความเดือดร้อน พวกฮ่อซึ่งซื่อตรงมิได้มาประพฤติเปน โจรผู้ร้ายในพระราชอาณาเขตรนั้น กองทัพหาประสงค์จะเบียดเบียนอย่าง ใดไม่ หัวเมืองในแดนสิบสองจุไทยก็อยู่ในพระราชอาณาเขตร ถ้าองค์ บาประสงค์จะตั้งอยู่ต่อไปโดยปรกติอย่างเปนข้าขอบขัณฑสิมา ก็ให้แต่ง คนต่างตัวมาพูดจากับกองทัพให้เข้าใจกันเสีย จะได้บอกเข้าไปกราบบัง คมทูล ฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เห็นจะทรงพระกรุณาโปรด ฯ ชุบเลี้ยงให้มีความศุขสืบไป พระสวา ฯ ได้ออกจากค่ายเมืองซ่อนไป เมื่อเดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ

๓๙ แต่ฝ่ายกองทัพตั้งแต่เดือน ๖ ปีจอ พอฝนตกชุกก็เกิดความไข้ใน พวกทหารที่ไปตั้งอยู่ทั้ง ๔ แห่ง อาการป่วยเปนไข้ป่าทั้งนั้น รักษาได้แต่ด้วยยาคิวนิน เมื่อกองทัพยกไปจากเมืองพิไชยพาหนะไม่พอ ต้องแบ่งสิ่งของสำหรับกองทัพไว้ที่เมืองพิไชยให้ส่งตามขึ้นไป ยาสำหรับรักษา โรคที่เตรียมไปก็ต้องแบ่งเช่นเดียวกับของอื่น กองทัพได้ยาคิวนินติดขึ้นไปประมาณ ๔๐๐ ขวด ครั้นเกิดความไข้ในกองทัพใช้ยาคิวนินเปลืองไปเกือบจะหมด เร่งเรียกยาที่แบ่งไว้ณเมืองพิไชย จะเปนด้วยของสับ สนฤๅเพราะเหตุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง หาได้ยาคิวนินขึ้นไปไม่ ต้องบอก ขอลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ทางข้างโน้นพอยาคิวนินหมดความไข้ก็ยิ่งกำเริบกองทหารที่ไปตั้งอยู่ณที่ต่าง ๆ มีจำนวนคนป่วยแทบจะเท่ากับที่เปน ปรกติอยู่ ในขณะนั้นพวกฮ่อที่แตกหนีไปจากค่ายบ้านใดแลค่ายบ้านนาปาไปรวบรวมกันแล้วจ้างพวกฮ่อขององค์บา ( ที่แม่ทัพให้พระสวา ฯ ไปเกลี้ยกล่อม แต่ยังไปไม่ถึงนั้น ) ได้กำลังเพิ่มเติมยกกลับลงมาตั้ง ค่ายที่เมืองฮุงต่อกับแขวงเมืองสบแอดเมื่อเดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ บางที พวกฮ่อจะได้ข่าวว่าเกิดความไข้ในกองทัพไทยผู้คนกำลังเจ็บป่วย ต่อมาอิก ๓ วันพวกฮ่อก็ยกมาเมืองสบแอด ตีปล้นบ้านเรือนราษฎรในระยะทาง เข้ามา พวกชาวเมืองสบแอดพากันหนีฮ่อมาอาศรัยหลวงดัษกรปลาศ อยู่ที่ค่ายบ้านใดประมาณ ๔๐๐ คน ฝ่ายพระเจริญจัตุรงค์กรมการเมือง พิไชยซึ่งคุมไพร่รักษาด่านอยู่ที่เมืองสบแอด ห่างกับค่ายบ้านใดระยะ


๔๐ ทางเดินประมาณ ๖ ชั่วโมง เห็นพวกฮ่อยกมามีกำลังเหลือที่จะต่อสู้ได้ก็รวบรวมไพร่พลล่าถอยมา พวกฮ่อตามมาทันที่ห้วยก๊วง พระเจริญ จัตุรงค์ต่อสู้ยิงกันกับพวกฮ่ออยู่ ขณะนั้นนายร้อยโท เอื้อน ชูโต กับทหาร ๖ คน ซึ่งหลวงดัษกรปลาศให้ขึ้นไปตรวจการที่เมืองสบแอด เดินทางไปได้ยินเสียงปืนก็รีบขึ้นไปถึงที่ห้วยก๊วง เห็นพระเจริญจัตุรงค์กำลังต่อสู้พวกฮ่อติดพันอยู่ นายร้อยโท เอื้อน ชูโต กับทหารก็เข้าสมทบช่วยรบฮ่อ ต่อสู้กันอยู่ประมาณ ๔ ชั่วโมง พวกไทยยิงถูกตา เล่าแย้นายฮ่อตายคน ๑ พวกพลฮ่อตายประมาณ ๒๐ คน พวกฮ่อ กองหนุนตามมาถึงก็ล้อมพวกไทยไว้ ฮ่อยิงพระเจริญจัตรุงค์กับพวก ไทยตาย ๔ คน นายร้อยโท เอื้อน ชูโต เห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ต่อไป จึงนำพวกไทยที่เหลืออยู่ตีแหกแนวล้อมของพวกฮ่ออกมาได้ แต่ตัว นายร้อยโท เอื้อน ชูโต กับนายสิบโท ท้วม แลพลทหาร ๓ คนถูกปืน ข้าศึกตายในที่รบ นอกนั้นรอดกลับมายังค่ายบ้านใดได้ พวกฮ่อก็เลย ตามลงมาถึงค่ายบ้านใด แต่ไม่กล้าเข้าตีค่าย เห็นจะเปนเพราะ เกรงจะถูกลูกรเบิด จึงเปนแต่เที่ยวแอบซุ่มบนที่สูง เอาปืนยิงกราดเข้า มาในค่ายไทย ฝ่ายข้างไทยเปนเวลากำลังทหารป่วยเจ็บอยู่โดยมาก ไม่มีกำลังพอจะยกออกจากค่ายไปรบรุกฮ่อได้ดังแต่ก่อน ก็ได้แต่ยิง ปืนตอบฮ่ออยู่แต่ในค่าย รบกันอยู่จนเวลาเย็นพวกฮ่อก็ถอยกลับไปตั้ง ค่ายอยู่ที่วัด ห่างจากค่ายไทยที่บ้านใดระยะทางประมาณ ๒ ชั่วโมง หลวงดัษกรปลาศจึงรีบบอกข่าวลงมายังแม่ทัพใหญ่ที่เมืองซ่อน ขณะนั้น

๔๑ พระสวา ฯ ซึ่งถือหนังสือของแม่ทัพไปเกลี้ยกล่อมองค์บาไปถึงที่บ้านใด รู้ว่าฮ่อกลับมารบกับไทย พระสวา ฯ จึงแต่งให้พรรคพวกถือหนังสือ ไปยังองค์บา ส่วนตัวพระสวา ฯ เองอยู่กับหลวงดัษกรปลาศที่ค่าย บ้านใด ครั้นถึงเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ พวกฮ่อได้กำลังเพิ่มเติมมาอิก จึงยกลงมาตั้งค่ายประชิดค่ายไทยที่บ้านใดห่างกันประมาณ ๓๐ วา แต่ พวกฮ่อก็ยังหาอาจเข้าตีค่ายไม่ เปนแต่จัดกำลังไปเที่ยวตั้งดักทาง มิให้ไทยที่ในค่ายไปมาหาพวกข้างนอกได้ ประสงค์จะล้อมไว้ให้สิ้น เสบียงอาหารต้องแพ้ฮ่อด้วยอดอยาก ส่วนหลวงดัษกรปลาศเห็นว่า กำลังไม่พอจะตีฮ่อให้แตกไปได้ ก็ตั้งมั่นรอกำลังกองทัพที่จะยกขึ้นไปช่วยจากเมืองซ่อน ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงเปนแต่ยิงปืนโต้ตอบกันไปมา เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพได้ทราบว่า พวกฮ่อมีกำลังยก กลับมาล้อมค่ายหลวงดัษกรปลาศไว้ จึงรีบจัดให้นายร้อยเอก หลวง หัดถสารศุภกิจ (ภู่)๑ กับนายร้อยโท แจ คุมทหาร ๒๐๐ คน มีทั้ง ทหารปืนใหญ่ยกขึ้นไปช่วยหลวงดัษกรปลาศที่บ้านใด แต่เมื่อก่อน ทหารกองนี้ยกไปถึง มีพวกฮ่อถือธงขาวเข้ามาที่น่าค่ายไทย เมื่อ เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ บอกว่าเปนตำแหน่งกวานเล่าแย้นายฮ่อที่ท่าขวาองค์บาให้ถือหนังสือตอบมาถึงพระสวา ฯ จึงรับหนังสือนั้นมาแปล ได้ความว่าองค์บามีความยินดีที่ได้ทราบประสงค์ของแม่ทัพไทย ด้วยทุก

๑ ภายหลังได้เปนพระยาอาหารบริรักษ์ ในกระทรวงเกษตราธิการ. ๖

๔๒ วันนี้องค์บาก็ไม่มีที่แผ่นดินแห่งอื่นจะอาศรัยอยู่ จะขอสามิภักดิ์เปนข้าขอบขัณฑสิมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพ ฯ ต่อไป แต่เมื่อก่อนจะได้หนังสือของพระสวา ฯ นั้น ฮ่อกวานกอยี่ (ที่ล้อมค่ายบ้านใด) ได้ไปขอกำลังมาช่วย บัดนี้องค์บาได้สั่งพรรคพวกที่มาช่วยฮ่อกวานกอยี่นั้น มิให้รบพุ่งกับไทย จะเรียกกลับคืนไปทั้งสิ้น ขอให้พระสวา ฯ ช่วย นำความขึ้นเรียนต่อท่านแม่ทัพไทยด้วย อนึ่งฮ่อกวานกอยี่ที่ยกทัพ กลับลงมาครั้งนี้นั้น บอกว่าด้วยเปนห่วงบุตรภรรยาที่ไทยจับไว้ ถ้าคืนบุตรภรรยาให้ได้อยู่กินด้วยกันต่อไป องค์บาจะรับว่ากล่าวให้ยอมสามิภักดิ์เปนข้าขอบขัณฑสิมาด้วยอิกพวก ๑ แล้วแต่ท่านแม่ทัพจะ ให้ไปตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพณตำบลใด แลจะใช้สอยอย่างใดก็คงกระทำตาม เห็นจะไม่ประพฤติเปนโจรผู้ร้ายต่อไป ครั้นทราบความตามจดหมายแล้ว หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคินัยจึงให้พระสวา ฯ จัดการพิธีอย่างจีนให้กวานเล่าแย้กับพรรคพวกกระทำสัตยสัญญาว่าจะไปมาโดยสุจริต แล้วให้รับตัวเข้าไปในค่ายไต่ถามเรื่องราวได้ความตลอดแล้ว จึงทำหนังสือสำคัญให้กวานเล่าแย้ถือไปยังองค์บาว่า จะบอกส่งหนังสือยอมสามิภักดิ์ขององค์บาไปยังแม่ทัพใหญ่ คงจะรับความสามิภักดิ์ให้มีความศุขสืบไป เมื่อกวานเล่าแย้กลับไปจากค่ายแล้ว ต่อมาถึงเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า กวานกอยี่นายทัพฮ่อที่มาตั้งประชิดค่ายไทยอยู่ที่บ้านใด ร้องบอกออกมาจากที่ซุ่มอยู่ในป่า ว่าอย่าให้ไทยยิงปืนออกไป จะขอให้คน


๔๓ เข้าไปหานายทัพ เพื่อจะยอมสามิภักดิ์ด้วยกันทั้งสิ้น นายทหารที่ใน ค่ายจึงให้ร้องตอบออกไปว่า ให้มาเถิดจะไม่ทำอันตราย กวานกอยี่จึง ให้ฮ่อ ๒ คนถือหนังสือเข้ามาส่ง ในหนังสือนั้นแปลได้ความว่า กวานกอยี่กับพรรคพวกจะยอมสามิภักดิ์ ขออย่าให้กองทหารทำอันตราย จะขอความกรุณาแต่เพียงให้ได้บุตรภรรยาคืน ต่อไปจะยอมเปนข้าขอบขัณฑ สิมากรุงเทพ ฯ จะโปรดให้ไปอยู่ที่ใด และจะให้รับราชการอย่างใด จะยอมทำตามคำสั่งของแม่ทัพไทยทั้งสิ้น หลวงดัษกรปลาศ เจ้า ราชภาคินัยปฤกษากับพระสวา ฯ แล้ว สั่งไปให้บอกกวานกอยี่ว่า ซึ่ง จะยอมสามิภักดิ์นั้นก็ดีแล้ว ถ้าสามิภักดิ์จริง ก็จะยอมคืนบุตรภรรยา ให้ แต่การที่พูดด้วยปากยังจะไว้ใจไม่ได้ ให้กวานกอยี่ถอดเสื้อวาง อาวุธเข้ามาอ่อนน้อมยอมกระทำสัตยสัญญาให้ถูกต้องตามอย่างธรรมเนียมก่อน จึงจะเชื่อถือว่าสามิภักดิจริง ในวันนั้นเวลาบ่าย ๔ โมง กวานกอยี่กับพวกนายฮ่อ ๔ คนถอดเสื้อวางอาวุธเสีย มายังค่ายไทย แต่ตัว หลวงดัษกรปลาศกับเจ้าราชภาคินัยให้กวานกอยี่กับพวกฮ่อ กระทำสัตยสาบาลแล้ว ปล่อยตัวให้กลับไปยังค่าย แต่นั้นฮ่อกับไทย ก็เลิกรบกัน กวานกอยี่ขออนุญาตไปอยู่ที่เมืองฮุง รอเจ้าหมื่นไวยวรนารถ แม่ทัพที่จะขึ้นไปในฤดูแล้ง ฝ่ายข้างไทยก็คืนบุตรภรรยาไปให้กวานกอยี่ อนึ่งตั้งแต่เกิดศึกฮ่อคราวนี้ พวกข่าแจะซึ่งพวกเมืองหลวงพระบาง เคยใช้สอยในกิจการต่าง ๆ เปนประเพณีบ้านเมืองมาช้านานนั้น พากันเปน " เจือง " คือขัดแขงกำเริบขึ้นหลายตำบล ข่าแจะพวก ๑ ตั้งอยู่ที่


๔๔ ตำบลห้วยตะบวนในแขวงเมืองหัวเมือง มีหัวน่าชื่อพระยาพระคน ๑ พระยาว่านคน ๑ ครั้นถึงเดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ ปีจอ พระยาว่านคุม พรรคพวกประมาณ ๑๕๐ คน มาตั้งค่ายอยู่ที่ห้วยห้อมในแขวงเมือง ซ่อน ซึ่งกองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถตั้งอยู่ มาเที่ยวแย่งชิงเสบียง อาหารแลทรัพย์สมบัติของราษฎร เจ้าหมื่นไวยวรนารถทราบความจึง แต่งให้เจ้าก่ำบุตรเจ้าอุปราช กับนายร้อยโท แจ คุมทหารกับกำลัง หัวเมืองสมทบกันเปนจำนวนคน ๑๐๐ เศษ มีปืนใหญ่ด้วยบอก ๑ ยก ไปปราบพวกข่าแจะ เมื่อกองทหารยกไปถึงห้วยห้อม พวกข่าแจะ ต่อสู้ ครั้นเดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ กองทหารเอาปืนใหญ่ยิงกระสุนแตกเข้า ไปในค่ายพวกข่าแจะ ๓ กระสุน ปืนรเบิดถูกข่าตายหลายคน ทเหลืออยู่พากันเที่ยวหนีซุกซ่อน กองทหารเข้าค่ายได้ไล่ฆ่าฟันพวกข่าแจะตายหลายคน จับได้พระยาว่านตัวหัวน่ากับนายรอง ชื่อคำเพ็ชรคน ๑ เพี้ยไชยคน ๑ เพี้ยเมืองคน ๑ กับพรรคพวกอิก ๓๖ คน และเครื่อง สาตราวุธหมดทั้งสิ้น กองทหารเผาค่ายเสียแล้วยกกลับไปยังเมือง ซ่อน แต่นั้นพวกข่าที่ตั้งเปนเจืองอยู่ณที่อื่นก็พากันครั่นคร้าม ที่เข้ามาขอลุแก่โทษ คือท้าวยี่น้อย ท้าวยี่ใหญ่ เพี้ยเถ้า เพี้ยไทร พระยา คำน้อย พันแสน พระยาน้อยคำฟั่น แสนเมืองเดียวกา แสนขันอาสา พระยาแก้ว พระยาลิ้นทอง เหล่านี้ล้วนตัวหัวน่าพวกข่าแจะที่ตั้งเปน เจืองอยู่ณตำบลแกวหมากเฟือง ตำบลผาลอย ตำบลเพียงโค้ง ตำบลห้วยคี้ แขวงเมืองซำเหนือซำใต้ พาพรรคพวกเข้ามาลุแก่โทษด้วยทั้ง

๔๕ นั้น พระยาพระชึ่งเปนหัวน่าพวกข่าแจะณตำบลห้วยตะบวนเที่ยวหลบหนี อยู่คราว ๑ แล้วก็เข้ามาลุแก่โทษอย่างเดียวกัน ถึงเดือน ๑๐ องค์ทั่งนายฮ่อธงเหลือง ซึ่งหนีกองทัพไปจากค่าย เมืองพูน ไปตั้งอยู่ณตำบลพ้องจะลอแขวงเมืองลาด ก็เข้ามายอมสามิภักดิ์ถือน้ำกระทำสัตย์อิกพวก ๑ เพราะฉนั้นเมื่อถึงปลายฤดูฝน ปีจอ การที่ปราบพวกฮ่อและพวกข่าเจืองในแขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก เปนอันสำเร็จไปอิกตอน ๑ ตอนที่ ๙ ว่าด้วยปราบฮ่อคราวที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ต่อมา ถึงเดือน ๙ ปีจอ เมื่อได้ยาคิวนินขึ้นไปจากกรุงเทพ ฯ แล้ว ทหาร ที่ป่วยเจ็บก็ค่อยคลายหายขึ้นโดยลำดับ เจ้าหมื่นไวยวรนารถแม่ทัพ จัดการทนุบำรุงกำลังกองทัพจนเดือน ๑๐ ถึงงานเฉลิมพระชัณษา ฯ จึงเรียกแม่ทัพนายกองกับทั้งเจ้านายท้าวพระยาเมืองหลวงพระบางที่ขึ้นไปด้วยกองทัพมาประชุมกันที่เมืองซ่อน แลเรียกบรรดาท้าวขุนอันเปน หัวน่าในเมืองหัวพันห้าทั้งหก ทั้งพวกหัวน่านายฮ่อที่ได้ยอมสามิภักดิ์ มาประชุมด้วย พร้อมกันทำการพิธีสมโภชแลถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ แล้วถือน้ำกระทำสัตยถวายต่อไป๑ ในเวลาแรม ๑๓ ค่ำ ครั้นเสร็จงานแล้วก็ตระเตรียม ๑ วันเฉลิมพระชัณษารัชกาลที่ ๕ กำหนดโดยสุริยคติที่ ๒๑ กันยายน แต่การพิธีถือน้ำหนหลังยังกำหนดโดยจันทรคติ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ.


๔๖ การที่จะยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองแถงในแดนสิบสองจุไทย แลมีใบบอก ข้อราชการที่กองทัพได้ทำสำเร็จเสร็จไปแล้วลงมายังกรุงเทพ ฯ ครั้นถึงเดือน ๑๒ แรม ๘ ค่ำ ปีจอ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกอง ทัพออกจากเมืองซ่อนเดินบกขึ้นไปยังเมืองแถง เมื่อกองทัพยกไปถึงตำบลห้วยน้ำแปนในระยะทาง เจ้าหมื่นไวย ฯ ได้รับรายงานของกอง ล่วงน่าบอกมาแต่เมืองแถงว่า เจ้าเมืองไลให้บุตร ๓ คน ชื่อว่าคำล่า คน ๑ คำสามคน ๑ บางเบียนคน ๑ คุมพวกฮ่อแลผู้ไทยประมาณ ๑๕๐ คน มีเครื่องสาตราวุธครบมือ เข้ามาตั้งค่ายที่ตำบลบ้านเชียงจันในแขวงเมืองแถง ห่างจากบ้านห้องขัวลายที่ตั้งทำเนียบรับกองทัพระยะทางเดินประมาณชั่วโมง ๑ ได้ให้ไปถามพวกเมืองไลบอกว่าจะมารับท่านแม่ทัพแต่ลักษณที่พวกเมืองไลตั้งค่ายนั้น เห็นปลูกหอรบขุดคูทำเปนค่ายมั่น แลวางผู้คนประจำน่าที่เปนกระบวรรบผิดสังเกตอยู่ เจ้าหมื่นไวย ฯ จึงให้กองทัพน่ารีบยกขึ้นไปก่อน ให้ไปบอกพวกเมืองไลว่า ถ้ามา รับแม่ทัพโดยดีก็ให้รื้อค่ายแลเลิกกระบวรรบเสีย ถ้าว่าไม่ฟังให้กอง ทัพน่าหน่วงเหนี่ยวตัวหัวน่าพวกเมืองไลไว้ให้จงได้ กองทัพน่ายกขึ้น ไปถึงเมืองแถงไปว่ากล่าวพวกเมืองไลหายอมรื้อค่ายไม่ เจ้าหมื่นไวยฯ ยกขึ้นไปถึงเมืองแถงเมื่อเดือนอ้ายขึ้น ๖ ค่ำ จึงสั่งให้จับตัวคำล่าคำสาม แลบางเบียนบุตรเจ้าเมืองไลไว้ทั้ง ๓ คน แล้วให้เก็บรวบรวมเครื่องสาตรา วุธของพวกเมืองไล ได้ปืนสะไนเดอร ๑๓ กระบอก ปืนเรมิงตัน ๑๒ กระบอก ปืนเฮนรีมาตินีกระบอก ๑ ปืนวินเชสเตอร ๒ กระบอก


๔๗ ปืนเอนฟิลด์ ๘๐ กระบอก กับปัสตันแลเครื่องยุทธภัณฑ์อย่างอื่นอิกหลาย อย่าง ส่วนพวกรี้พลเมื่อเห็นตัวนายถูกจับแล้วก็พากันแตกหนีไปมิได้ ต่อสู้ แต่พวกท้าวขุนแลราษฎรชาวเมืองแถงนั้นสงบเปนปรกติอยู่ พา กันมาร้องทุกข์ต่อแม่ทัพว่า เดิมเมืองแถงก็มิได้ขึ้นแก่เมืองไล เจ้า เมืองไลถือว่ามีกำลังมากกว่าเอิบเอื้อมเข้ามาบังคับบัญชา กดขี่เอา พวกชาวเมืองแถงไปใช้สอย แล้วเที่ยวกะเกณฑ์ลงเอาเงินทองของ ต่าง ๆ ได้ความเดือดร้อนกันทั่วไป จนราษฎรพลเมืองไม่เปนอันทำมาหากิน ที่ต้องหลบหนีไปอยู่ในป่าดงแลไปอยู่เสียต่างเมืองก็มาก ขอให้ กองทัพช่วยคุ้มครองป้องกันอย่าให้ได้รับความเดือดร้อนต่อไป แม่ทัพ ปฤกษากับเจ้าราชวงศเห็นว่า เมืองแถงเปนเมืองหนึ่งต่างหากมาแต่ เดิม พระสวา ฯ ที่เปนตัวเจ้าเมืองก็ยังอยู่ เจ้าเมืองไลมาบุกรุกเอาไป เปนแดนของตน ครั้นกองทัพยกขึ้นไปก็ไม่มาอ่อนน้อมโดยดี กลับ ให้เข้ามาตั้งค่ายคูอวดอำนาจ แลที่สุดพวกพลเมืองก็มิได้สมัคจะอยู่ ในบังคับบัญชาของเจ้าเมืองไล ครั้นจะยอมให้เจ้าเมืองไลมีอำนาจเหนือเมืองแถงนั้นไม่ได้ ครั้นจะยกกองทัพขึ้นไปว่ากล่าวถึงเมืองไล ๆ ก็ตั้ง อยู่เหนือลำน้ำแท้นอกพระราชอาณาเขตร ( เพราะเมืองหลวงพระบาง ถือว่าแนวลำน้ำแท้นั้นเปนเขตรของเมืองหลวงพระบาง ) เมื่อกองทัพ กลับมาแล้วบางทีเจ้าเมืองไลจะเอิบเอื้อมเข้ามาอิก จะต้องเอาบุตรเจ้าเมืองไลทั้ง ๓ คนไว้เปนตัวจำนำก่อน เมื่อเจ้าเมืองไลมาว่ากล่าวยอม ตกลงโดยดี จึงค่อยปล่อยตัวบุตรให้ไป แม่ทัพจึงจัดวางการปกครอง


๔๘ เมืองแถง ตั้งให้พระสวา ฯ เปนเจ้าเมืองตามเดิม แล้วให้แต่งค่ายเก่า ที่ตำบลบ้านเชียงแลอันเปนเมืองเดิมเปนที่มั่น แลสั่งให้เมืองหลวงพระ บางเกณฑ์คนผลัดเปลี่ยนกันไปเปนกำลังรักษาค่ายนั้น กว่าบ้านเมือง จะเปนปรกติเรียบร้อยจึงให้ถอนกลับมา เมื่อกองทัพตั้งอยู่ที่เมืองแถงนั้น มีฮ่ออิกพวก ๑หัวน่าเปนจีนชาว เมืองกังไส ชื่อเล่าเต็กเซง เดิมมีพรรคพวกประมาณ ๖๐๐ คน เที่ยว รับจ้างรบพุ่งอยู่ในแขวงสิบสองจุไทย ภายหลังมากำลังน้อยลง ฮ่อพวก นี้จึงไปตั้งอยู่ที่เมืองม่วยบ้าง เมืองลาบ้าง ระยะทางห่างจากเมืองแถงเดินประมาณ ๑๒ วัน ฮ่อพวกนั้นเกรงกองทัพจะยกไปปราบปราม เล่าเต็กเซงตัวนายจึงพาพรรคพวกมาหาแม่ทัพที่เมืองแถง เมื่อเดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ ขอสามิภักดิ์ยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมาต่อกรุงเทพ ฯ แม่ทัพ ก็ให้กระทำสัตยสาบาล แล้วยอมรับสามิภักดิเหมือนกับฮ่อพวกอื่น กองทัพตั้งจัดการด่านทางแลวางการปกครองหัวเมืองอยู่ที่เมืองแถง จนเดือน ๓ ปีจอ ได้รับท้องตราพระราชสีห์ให้หากองทัพกลับกรุงเทพ ฯ เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงสั่งให้ทำลายค่ายฮ่อที่บ้านใดแลที่อื่น ๆ ซึ่งตีไว้ได้แล้วให้นายพันตรี จ่ายวดกับเจ้าราชวงศล่วงน่าลงมายังเมืองหลวงพระบาง บอกเจ้านครหลวงพระบางให้จัดท้าวพระยาที่มีสติปัญญาออกไปประจำรักษาการตามเมืองหัวพันห้าทั้งหก แล้วเจ้าหมื่นไวยวรนารถยก กองทัพออกจากเมืองแถง เมื่อเดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ ปีจอ พาหัวน่าพวก ท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหก และหัวน่าพวกฮ่อที่สามิภักดิ์กลับลงมาเมือง หลวงพระบาง มาพักฉลองพระเจดีย์ที่กองทัพได้สร้างไว้ที่เมืองงอย

๔๙ ๒ วัน แล้วเดินทางต่อมาถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อเดือน ๔ แรมค่ำ ๑ จัดผ่อนสิ่งของในกองทัพส่งลงมา และรอเจ้านายเมืองหลวงพระบาง มีเจ้าราชวงศ์กับเจ้าราชภาคินัยเปนต้น ซึ่งจะคุมตนไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย อิกประการ ๑ แม่ทัพดำริห์ว่าถ้าให้พวกท้าวขุนเมืองหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองจุไทย ทั้งหัวน่าพวกฮ่อได้ ลงมาถึงกรุงเทพ ฯ มาเห็นราชธานีเสียสักครั้ง ๑ การปกครองต่อไป ภายน่าเห็นจะสดวกขึ้น จึงได้เลือกคัดพวกท้าวขุนได้ ๑๕๐ คน กับพวกฮ่อทั้งนายไพร่ ๙๐ คนพาลงมากรุงเทพ ฯ ด้วย ถึงเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ยกกองทัพออกจากเมืองหลวงพระบางโดยทางเรือ ล่องแม่น้ำโขงลง มาถึงบ้านปากลายเมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ แล้วเดินทางบกต่อมาถึง เมืองพิไชยเมื่อเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ลงเรือล่องจากเมืองพิไชยมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือน ๗ แรม ๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ เลื่อนยศบันดาศักดิ์นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ขึ้นเปนนายพลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี นายทัพนายกองซึ่งมีบำเหน็จความชอบในราชการปราบฮ่อครั้งนั้น ก็ได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลตามสมควรแก่ความชอบทั่วกัน สิ้นเนื้อความเรื่องปราบฮ่อครั้งที่ ๓ เพียงเท่านี้

ยังมีเรื่องปราบฮ่อครั้งที่ ๔ ซึ่งติดเนื่องกับครั้งที่ ๓ นี้อิกครั้ง ๑ แต่จดหมายเหตุที่ได้มา เรื่องราวยังไม่ครบบริบูรณ์ จึงยังมิได้เรียบเรียง ลงไว้ในหนังสือเรื่องนี้


งานนี้เป็นสาธารณสมบัติ เนื่องจากต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

  • (๑) เป็นภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรก (หรือวันที่มีการเผยแพร่งานครั้งแรก) แล้วแต่ว่ากรณีใดปรากฏก่อน
  • (๒) เป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับยี่สิบห้าปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๓) เป็นงานโดยผู้ไม่เปิดเผยชื่อหรือผู้ใช้นามแฝง ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับห้าสิบปี นับแต่วันสร้างสรรค์หรือเผยแพร่ครั้งแรก
  • (๔) เป็นงานในหมวดหมู่อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น และผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตายมากว่าห้าสิบปีแล้ว
  • (๕) เป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานนี้ไม่ปรากฏ ผู้สร้างสรรค์งานนี้เป็นนิติบุคคล หรือตายก่อนการเผยแพร่งาน ประกอบกับงานนี้มีอายุอย่างน้อยห้าสิบปี นับแต่วันเผยแพร่งานครั้งแรก