คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีแดงที่ 278 พ.ศ. 2482

จาก วิกิซอร์ซ
ภาคพิเศษ
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เรื่อง ความแพ่งในระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ ๑
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ ๒ จำเลย
(สำเนา)
คำพิพากษา
  • คดีดำที่ ๑๙๗ พ.ศ. ๒๔๘๒
  • คดีแดงที่ ๒๗๘ พ.ศ. ๒๔๘๒
 
ศาลอุทธรณ์
วันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
ความแพ่ง
ในระหว่าง  กระทรวงการคลัง โจทก์

สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ ๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ ๒ จำเลย
คำสั่ง ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ผู้พิพากษา ซึ่งมีนามต่อไปข้างท้ายนี้ ได้พร้อมกันตรวจสำนวนคดีเรื่องนี้แล้ว จึ่งพิพากษาเด็ดขาด ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ มีใจความว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย โจทก์จึ่งฟ้องเรียกเงินรวมทั้งดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน ๖,๒๗๒,๗๑๒ บาท ๙๓ สตางค์

ในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ทั้งหมด รวมทั้งทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยด้วย และโดยที่กรณีมีเหตุฉุกเฉิน จึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งจัดให้มีวิธีคุ้มครองตามคำขอโดยไม่ชักช้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๒ และ ๒๖๗

ศาลแพ่งได้ทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งในวันนั้นเองให้ยกคำร้องของโจทก์เสีย คำสั่งนี้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๗

ในวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกัน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอใหม่ตามความในมาตรา ๒๖๗ วรรค ๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ในคำร้องฉะบับหลังนี้ โจทก์คงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ทั้งหมด รวมทั้งทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยด้วย เช่นเดียวกับคำขอในคำร้องฉะบับแรก โดยอ้างเหตุว่า เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๕๕๓๒ ของจำเลยที่ ๑ ให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากรวิสุทธิ์ไปเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท และในวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน จำเลยที่ ๑ ได้ให้ผู้แทนมาขอต่อเจ้าพนักงานทะเบียนที่ดินและโลหะกิจ จังหวัดพระนครและธนบุรี เพื่อทำนีติกรรมโอนขายที่ดินอีก ๘ แปลง ตามบัญชีท้ายคำร้อง ให้แก่หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล เป็นราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดั่งกล่าวนี้ เป็นการที่จำเลยตั้งใจจะโอนขายทรัพย์สินของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาลซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย และเพื่อฉ้อโกงโจทก์ และนอกจากนั้น ตัวจำเลยอยู่นอกอำนาจศาลด้วย

ศาลแพ่งได้ไต่สวนคำร้องฉะบับนี้แล้วมีคำสั่งให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์ต่อมา

คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๕ การที่ศาลจะอนุญาตตามคำขอของโจทก์ ศาลจะต้องพอใจจากพะยานที่โจทก์นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบว่า

(๑) คำฟ้องที่ผู้ขอยื่นและในโอกาสที่ยื่นคำขอนั้นมีเหตุสมควร และ

(๒) มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ กล่าวคือ

 (ก) จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือยักย้ายไปเสียให้พ้นจากอำนาจศาล เพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับอย่างใดซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะฉ้อโกงโจทก์ หรือ

 (ข) มีเหตุอื่นใดในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น ตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร

ในข้อ (๑) นั้น โจทก์ได้นำหลวงกาจสงคราม ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานในคณะกรรมการตรวจรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อประมาณ ๕ เดือนมานี้ และหลวงดำริอิศรานุวรรต ซึ่งเป็นกรรมการร่วมอยู่ในขณะนี้ และเป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจบัญชีของสำนักงานพระคลังข้างที่ มาเบิกความเป็นพะยาน ได้ความว่า ในการตรวจรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ปรากฏตามบัญชีว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยเป็นจำนวนดั่งที่โจทก์กล่าวไว้ในฟ้อง การที่พะยานยืนยันว่า เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ก็โดยพะยานตรวจทราบจากบัญชีของสำนักงานพระคลังข้างที่ เพราะมีการแยกบัญชีไว้เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทหนึ่ง ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ อีกประเภทหนึ่ง ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เงินที่จ่ายและโอนไปนั้นจ่ายและโอนไปจากบัญชีทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

อนึ่ง หลวงกาจสงครามได้เบิกความด้วยว่า ได้ตรวจพบเอกสารซึ่งจำเลยที่ ๑ สั่งให้กรมพระกำแพงเพ็ชร์ฯ เสนอโครงการณ์ส่งเงินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปต่างประเทศ โครงการณ์ที่เสนอมานั้นมีหลายวิธี การประกันชีวิตเป็นวิธีหนึ่งในโครงการณ์ที่เสนอ และจำเลยได้จ่ายเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปในการประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ การส่งเงินไปประกันชีวิตนั้นเป็นเวลาติด ๆ กับที่กรมพระกำแพงเพ็ชร์ฯ เสนอโครงการณ์

ศาลแพ่งเห็นว่า ตามคำพะยานโจทก์ดั่งกล่าวนี้ คดียังไม่พอฟังเป็นมูลได้ว่า จำเลยได้โอนและจ่ายเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย พอแก่การที่จะออกคำสั่งก่อนคำพิพากษาให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยตามคำขอของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้นำบัญชีแม้แต่แผ่นเดียวหรือหนังสือสั่งการของจำเลยที่ ๑ แม้แต่ชิ้นเดียวมาแสดง พะยาน ๒ ปากนี้ทราบเป็นข้อเท็จจริงมาได้ก็โดยตรวจพบจากเอกสารต่าง ๆ จึ่งมีค่าเสมือนพะยานบอกเล่า โจทก์หาได้นำพะยานที่รู้เรื่องเดิมแม้แต่ปากเดียวมาสืบประกอบไม่

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นนี้ บทบัญญัติในมาตรา ๒๕๕ อนุมาตรา (๑) มีแต่เพียงว่า คำฟ้องที่ผู้ขอยื่นและในโอกาสที่ยื่นคำขอนั้นมีเหตุสมควรเท่านั้น กฎหมายไม่ประสงค์ถึงกับว่า ศาลต้องพอใจจากพะยานที่โจทก์นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบว่า คดีของโจทก์มีพะยานหลักฐานมั่นคง เมื่อฟังได้ว่า คดีของโจทก์มีเค้ามูลควรเชื่อว่า เป็นความจริง ก็เพียงพอแล้ว ยิ่งในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศาลอาจมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อนคำพิพากษาโดยเพียงแต่ฟังจากคำแถลงของโจทก์เท่านั้น ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๗ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ในเรื่องนี้ โจทก์ได้นำหลวงการสงคราม และหลวงดำริอิศรานุวรรต ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ราชการดั่งกล่าวแล้ว มาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยดั่งคำฟ้องของโจทก์ นับว่า โจทก์ได้นำพะยานมาสืบเป็นที่พอใจของศาลแล้วตามมาตรา ๒๕๕ อนุมาตรา (๑)

ในข้อ (๒) นั้น โจทก์ได้นำหลวงสารสินทะเบียนสิษฐ์ นายวินิต นาวิกบุตร์ และนายเฉลียว ปทุมรส มาเบิกความ ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินตำบลสวนดุสิต ๑ แปลงให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ เป็นราคา ๕,๐๐๐ บาท ครั้นวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ได้มาขอทำนีติกรรมณหอทะเบียนที่ดินเพื่อขายที่ดินอีก ๘ แปลง ราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท ให้แก่บุคคลคนเดียว คือ หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ที่ดินรายแรกที่จำเลยขายให้แก่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ์นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนขายให้แก่หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ ทองใหญ่ เป็นราคา ๔,๐๐๐ บาท หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ และหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล มิใช่เป็นคนอื่นไกล แต่เป็นคนที่อยู่ในวังสุโขทัย ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของจำเลย และในบัดนี้ อยู่ในความครอบครองของจำเลย และบุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่จำเลยที่ ๑ เคยอุปการะมา นอกจากนั้น หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ก็เป็นน้องชายของหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการทรัพย์สมบัติของจำเลยที่ ๑ ด้วย อนึ่ง หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ไม่มีฐานะพอที่จะซื้อที่ดินราคาตั้ง ๕,๐๐๐ บาทได้

ศาลแพ่งเห็นว่า ไม่มีเหตุผลจะฟังได้ว่า จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาลซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้สืบว่า จำเลยรู้ถึงการเรียกทรัพย์สินเหล่านั้นคืน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำธรรมดาของบุคคลในการดำเนินอาชีพ และฐานะหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ก็ดี การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนที่ดินที่ได้รับซื้อไว้ต่อไปก็ดี เป็นเรื่องส่วนตัวของหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้รู้เห็นด้วยอย่างไร ทั้งเป็นจำนวนเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องและทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่

ความเห็นของศาลแพ่งในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่เห็นพ้องด้วยอีก เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่โจทก์ได้นำพะยานมาสืบประกอบกันเข้าแล้ว จะเห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ อันเป็นเนื้อแท้ของบทบัญญัติในมาตรา ๒๕๕ (๒) (ก) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ อาศัยอยู่ในวังสุโขทัยก็ดี ได้เคยรับความอุปการะจากจำเลยก็ดี ตลอดจนไม่มีฐานะพอที่จะซื้อที่ดินราคาตั้ง ๕,๐๐๐ ได้นั้น ส่อให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้กระทำไปอย่างธรรมดาของบุคคลในการดำเนินอาชีพ ยิ่งกว่านี้ ต่อมาอีกเพียง ๔ วัน หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ได้โอนขายที่รายนั้นให้แก่หม่อมเจ้าหญิงอุไรวรรณ ทองใหญ่ ไปเพียงราคา ๔,๐๐๐ บาท ยอดขาดทุนถึง ๑,๐๐๐ บาทชั่วเวลา ๔ วัน ในแง่กฎหมาย การที่หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ โอนขายที่รายนั้นไปอีกต่อหนึ่งเช่นนี้ อาจเป็นผลให้โจทก์ ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้จำเลย เสื่อมเสียสิทธิยิ่งขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ การที่จะหาพะยานหลักฐานโดยตรงมาแสดงให้ศาลเห็นว่า จำเลยได้รู้เห็นด้วยกับหม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ ถ้าไม่พ้นวิสัย ก็เห็นจะไม่ง่ายนัก แต่ศาลย่อมสันนิษฐานเอาได้ตามพฤติการณ์นั้น

นอกจากนี้ โจทก์ยังได้นำสืบอีกว่า เมื่อได้โอนขายที่ดินให้หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ แล้ว ต่อมาอีก ๒ วัน ผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ยังได้มาขอทำนีติกรรมณหอทะเบียนที่ดินเพื่อโอนขายที่ดินอีก ๘ แปลง ราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท ให้แก่หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นคนอยู่ในวังสุโขทัยนั้นเอง และเป็นน้องชายหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการทรัพย์สมบัติของจำเลยที่ ๑

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้สืบเป็นที่พอใจของศาลในข้อนี้แล้ว อันที่จริง เพียงแต่สืบว่า จำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลย ก็พอกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๕ (๒) (ก) ที่กล่าวมาแล้ว แต่ในคดีนี้ โจทก์ได้สืบไปถึงว่า จำเลยได้โอนขายไปเสียซ้ำไป และเมื่อตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับอย่างใดซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะฉ้อโกงโจทก์ แม้เพียงเล็กน้อยเท่าใด ก็ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๓ ได้ระวังความเสียหายของจำเลยอยู่แล้ว ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จึ่งพิพากษากลับคำสั่งศาลแพ่ง ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยถึง ๖,๒๗๒,๗๑๒ บาท ๙๓ สตางค์ แต่ทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เท่าที่โจทก์ได้สอบสวนมานั้น ตามบัญชีปรากฏว่า มีราคาต่ำกว่าจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จึ่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดไว้ก่อนพิพากษา รวมจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย ตามความในมาตรา ๒๕๔ อนุมาตรา (๑) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และโดยเหตุที่โจทก์เป็นองค์การส่วนใหญ่ในระเบียบราชการบริหารของประเทศ จึ่งไม่จำเป็นที่จะสั่งให้โจทก์นำเงินมาวางศาลเพื่อเป็นประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยอาจได้รับก่อนศาลจะออกหมายยึดหรืออายัด ค่าธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ผู้แพ้คดีในที่สุดเสีย

  • (ลงนาม) มนูเวทย์วิมลนาท
  • (ลงนาม) พิจารณาปรีชามาตย์
  • (ลงนาม) เลขวณิชธรรมพิทักษ์
พระมนูเวทย์วิมลนาท ปรึกษา
พระยาพิจารณาปรีชามาตย์
พระยาเลขวณิชธรรมพิทักษ์

การติดต่อกับสำนักงานจัดการผลประโยชน์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ

เนื่องจากศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยทั้งสอง ทั้งหมดไว้ก่อนคำพิพากษา รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยแล้ว

จึ่งขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า บัดนี้ สำนักงานจัดการผลประโยชน์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ คงดำเนินการไปตามเดิม ภายใต้ความควบคุมของคณะกรรมการตรวจรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานจัดการผลประโยชน์นี้ ก็คือ เจ้าหน้าที่เดิมนั้นเอง ฉะนั้น ขอให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานนี้มาชำระหนี้สินและติดต่อตามเคย

  • สำนักงานจัดการผลประโยชน์สมเด็จพระปกเกล้าฯ
  • วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๒
  • สำนักงานโฆษณาการ
  • ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๒

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ศาลอุทธรณ์. (2482). "คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีแดงที่ 278 พ.ศ. 2482". สำนักงานโฆษณาการ, ข่าวโฆษณาการ, 2(6), 3–7.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"