คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 67–69/2555

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
ตราครุฑ
ตราครุฑ
(๒๒)
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลรัฐธรรมนูญ
คำสั่งที่ ๖๗–๖๙/๒๕๕๕
เรื่องพิจารณาที่ ๕๕/๒๕๕๕
เรื่องพิจารณาที่ ๕๘/๒๕๕๕
เรื่องพิจารณาที่ ๕๙/๒๕๕๕
 
วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕
 
ระหว่าง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ ๑ ผู้ร้อง
นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ที่ ๒
นายสิงห์ทอง บัวชุม ที่ ๓

พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ ๑ ผู้ถูกร้อง
นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ ๒
เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ และนายสิงห์ทอง บัวชุม ยื่นคำร้องรวมสามคำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ว่า พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และคณะ ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องทั้งสามมีประเด็นแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาสั่งคำร้อง จึงมีคำสั่งให้รวมคำร้องทั้งสาม (เรื่องพิจารณาที่ ๕๕/๒๕๕๕ เรื่องพิจารณาที่ ๕๘/๒๕๕๕ และเรื่องพิจารณาที่ ๕๙/๒๕๕๕) เข้าด้วยกัน โดยให้เรียกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ว่า ผู้ร้องที่ ๑ นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ผู้ร้องที่ ๒ นายสิงห์ทอง บัวชุม ผู้ร้องที่ ๓ และให้เรียก พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ผู้ถูกร้องที่

ข้อเท็จจริงตามคำร้องทั้งสามและเอกสารประกอบสรุปได้ดังนี้

คำร้องที่หนึ่ง (เรื่องพิจารณาที่ ๕๕/๒๕๕๕)

ผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นประธานองค์การพิทักษ์สยาม ได้จัดให้มีการชุมนุมที่ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยใช้ชื่อว่า "หยุดวิกฤตและหายนะของชาติ" เพื่อขับไล่รัฐบาล โดยมีผู้ถูกร้องที่ ๒ เข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยว่ามีแผนการล้มรัฐบาล หลังจากการชุมนุมยุติลง ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้นัดให้มีการชุมนุมอีกครั้งปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ต่อมา ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันเวลาและโอกาสต่าง ๆ ว่า หากประชาชนมาร่วมชุมนุมเกิน ๑ ล้านคนก็ล้มรัฐบาลได้ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา แต่ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ตั้งคณะทำงานในรูปแบบคณะปฏิวัติโดยประชาชน

ผู้ร้องที่ ๑ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อล้มล้างรัฐบาลจึงไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งยังเข้าลักษณะการล้มล้างอำนาจบริหาร หรือเพื่อให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารไม่ได้ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และผู้ถูกร้องทั้งสองได้นัดให้มีการชุมนุมอีกครั้งปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ผู้ร้องที่ ๑ ในฐานะผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงใช้สิทธิยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสอง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองและผู้เกี่ยวข้องเลิกกระทำการนัดชุมนุมครั้งต่อไป และถ้าผู้เกี่ยวข้องนั้นเป็นพรรคการเมืองใด ขอให้วินิจฉัยสั่งการหรือมีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสาม และวรรคสี่

คำร้องที่สอง (เรื่องพิจารณาที่ ๕๘/๒๕๕๕)

ผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นประธานองค์การพิทักษ์สยามซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการและสมาชิกภาคีเครือข่าย เช่น กลุ่มเสื้อหลากสี และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยต่อต้านรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร โดยการสร้างกระแสมวลชนจนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มาแล้ว ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้จัดชุมนุมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ ณ บริเวณราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อล้มล้างรัฐบาล โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต่อต้าน และขับไล่รัฐบาลด้วยวิธีการยุยง ปลุกระดมผู้มาชุมนุมและประชาชนให้เกลียดชังรัฐบาลในข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบัน เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการใช้กำลังของมวลชนจำนวนมากต่อต้านและกดดันเพื่อหยุดยั้งการทำงานของรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อันถือได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ กับองค์การพิทักษ์สยามกระทำความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๔ และเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ผู้ถูกร้องที่ ๑ กับองค์การพิทักษ์สยามได้วางแผนประชุมเพื่อกำหนดนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีการปลุกระดมและจัดจ้างคนกว่าหนึ่งล้านคนเพื่อล้มล้างรัฐบาลด้วยการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการทำงานและขับไล่รัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องที่ ๑ เคยเสนอปิดประเทศหรือแช่แข็งประเทศเป็นเวลา ๕ ปี ให้มีคณะผู้บริหารประเทศซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ๓๑ คน ตัวแทนอาชีพเป็นสภา ๒๕๐ คน โดยไม่มีนักการเมือง

ดังนั้น เพื่อป้องกันความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ ผู้ร้องที่ ๒ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ กับองค์การพิทักษ์สยาม เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ และขอให้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินเพื่อใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี โดยสั่งผู้ถูกร้องที่ ๑ กับองค์การพิทักษ์สยามยุติการชุมนุมในวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

คำร้องที่สาม (เรื่องพิจารณาที่ ๕๙/๒๕๕๕)

ผู้ร้องที่ ๓ ทราบว่า มีการร่วมกันชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ ณ บริเวณราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีผู้ถูกร้องที่ ๑ และคณะได้ร่วมกันปราศรัยโดยมีวัตถุประสงค์อย่างแจ้งชัดเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกประเภทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมบริเวณราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า จะจัดให้มีการชุมนุมปราศรัยขึ้นในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๑ นาฬิกาเป็นต้นไป ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีวัตถุประสงค์อย่างแจ้งชัดเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้ร้องที่ ๓ ในฐานะผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสอง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ และคณะ เลิกการกระทำ นัดชุมนุมในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๑ นาฬิกา เป็นต้นไป ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องทั้งสามยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องไต่สวนโดยวิธีการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะสั่งรับหรือไม่รับคำร้องทั้งสามไว้พิจารณาวินิจฉัย จึงมีหนังสือเรียกผู้ถูกร้องที่ ๑ ในฐานะประธานองค์การพิทักษ์สยาม และพลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี โฆษกองค์การพิทักษ์สยาม มาไต่สวนสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ในวันนัดไต่สวน ผู้ถูกร้องที่ ๑ ยื่นคำชี้แจง ฉบับลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ สรุปได้ว่า การดำเนินกิจกรรมชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ มาตรา ๖๓ และหน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๑ ทุกประการ มิได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เป็นการจัดการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นไปโดยสันติวิธี ผู้ถูกร้องที่ ๑ ยังได้ทำหนังสือแจ้งการจัดการชุมนุมไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายกสภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อีกทั้งได้ส่งหนังสือทางโทรสารและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงสถานทูตต่าง ๆ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และหน้าที่ของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ

ทางการไต่สวน สอบถามนายประยงค์ ไชยศรี ซึ่งเป็นผู้แทนผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้แทนพลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี สรุปได้ว่า การนำเสนอแนวคิดการปิดประเทศหรือการแช่แข็งประเทศไทยนั้น ผู้ถูกร้องที่ ๑ มิได้เป็นผู้กล่าว แต่ได้เสนอว่าจะแช่แข็งนักการเมืองเลว นักการเมืองชั่วไว้สักระยะเวลา ๕ ปี เพื่อปรับปรุงมิให้นักการเมืองเข้ามากอบโกยหรือหาประโยชน์ ส่วนการตั้งคณะทำงานในรูปแบบคณะปฏิวัติโดยประชาชนนั้น เห็นว่า แม้พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม แต่การชุมนุมในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นว่า มีประชาชนบางส่วนไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาล

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง เอกสารประกอบ และทางการไต่สวนแล้ว มีข้อเท็จจริงเพียงพอในการพิจารณาสั่งคำร้องทั้งสาม

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสามต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ หรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้" และวรรคสองบัญญัติว่า "ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำ ดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว"

พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากทางการไต่สวนสอบถามผู้แทนผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้แทนพลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี ต่างยืนยันว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่ได้มีการกล่าวเกี่ยวกับแนวคิดปิดประเทศหรือแช่แข็งประเทศ แต่กล่าวว่า เป็นการแช่แข็งนักการเมืองเลว นักการเมืองชั่ว ไว้สักระยะเวลา ๕ ปี เพื่อป้องกันมิให้เข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์ และตามคำชี้แจงยังได้ความต่อไปว่า การนัดชุมนุมในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงพลังขับไล่รัฐบาล หากขับไล่แล้วไม่เป็นผล ก็จะยุติการชุมนุม และมิได้มีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบจากการชุมนุมครั้งนี้ ดังนั้น กรณีตามคำร้องยังไม่ปรากฏมูลเหตุว่า จะมีการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้งสามไว้พิจารณาวินิจฉัย


นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ


นายจรัญ ภักดีธนาุกล
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายจรูญ อินทจาร
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายเฉลิมพล เอกอุรุ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายนุรักษ์ มาประณีต
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายสุพจน์ ไข่มุกด์
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ศาลรัฐธรรมนูญ. (2555). คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 67–69/2555 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ในคดีระหว่างนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ 1 นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ที่ 2 นายสิงห์ทอง บัวชุม ที่ 3 ผู้ร้อง พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ 1 นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ 2 ผู้ถูกร้อง เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68. สืบค้นจาก http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20161129105352.pdf.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (4) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"