คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523

จาก วิกิซอร์ซ
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ 66/2523
เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์

1. ทั่วไป

 1.1 สถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค วิกฤตการณ์ดังกล่าวเกิดจากปัญหาหลักในเรื่องการขาดพลังงาน ความแตกต่างในดุลยอำนาจทางทหารของอภิมหาอำนาจและความขัดแย้งของโลกในค่ายสังคมนิยม สถานการณ์โดยทั่วไปได้เปลี่ยนเข้าสู่สภาพการเผชิญหน้าในรูปแบบของสงครามเย็นอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยอย่างที่สุด

 1.2 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังดำรงเจตนาอันแน่วแน่ ในการทำสงครามปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐ โดยใช้เงื่อนไขประชาชาติประชาธิปไตยเป็นหลักและเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เปิดให้สนับสนุน ได้พลิกแพลงสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้เป็นประโยชนต่อตน โดยให้ความสำคัญอย่างที่สุดต่อการสร้างแนวร่วมทุกระดับเพื่อสร้างสถานการณ์ปฏิวัติและสร้างสถานการณ์สงครามต่างลัทธิ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการเปลี่ยนความขัดแย้งภายในให้เป็นสงครามประชาชาติ การปฏิบัติในท้องถิ่นได้เปลี่ยนสภาพจากป่าพึ่งป่าเป็นป่าพึ่งเมืองเพื่อสอดคล้องกับนโยบายการสร้างแนวร่วมดังกล่าว ความแตกแยกทางความคิดในขบวนการโดยเฉพาะข้อสงสัยในเรื่องความสำเร็จในการปฏิวัติประชาธิปไตย โดยชนชั้นกรรมาชีพเป็นจุดอ่อนสำคัญที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

 1.3 รัฐบาลมีเจตนารมย์ในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเคร่งครัด บริหารราชการแผ่นดินโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชน ยึดมั่นในการประสานผลประโยชน์ของคนในชาติและในเอกลักษณ์ที่ดีงามของไทย ยึดถือหลักการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมโดยเที่ยงธรรมและสันติวิธี รวมทั้งจะปลูกฝังให้คนไทยทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน และให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้กองทัพมีบทบาท และหน้าที่สำคัญในการป้องกันประเทศและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐบาลถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญและเร่งด่วนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อันเป็นเหตุสำคัญยิ่งในการบั่นทอนความมั่นคงของชาติ

2. วัตถุประสงค์

เพื่อยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ อันมีความสำคัญและเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างที่สุดของประเทศให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว

3. นโยบาย

ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกเร็วทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในการปฏิบัติทั้งปวง เพื่อลิดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสถานการณ์ปฏิวัติ ยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติด้วยนโยบายเป็นกลางและขยายผลจากโอกาสที่เปิดให้เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการการต่อสู้ในแนวทางสันติ

4. การปฏิวัติ

 4.1 ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็วหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในสภาพยืดเยื้ออันเป็นความประสงค์ของฝ่ายตรงข้าม การจะเอาชนะดังกล่าวได้โดยรวดเร็วจะต้องกลับเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง ซึ่งได้แก่การปฏิบัติทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ประชาชนสำนึกว่าแผ่นดินนี้เป็นของตนที่จะต้องปกป้องรักษา ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของปกครอง และได้ผลประโยชน์ ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ

 4.2 ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 4.3 กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้นและสำนึกว่า ประชาชนไทยทุกชนชั้นต่างก็มีจิตใจรักประเทศชาติ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 4.4 ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง กำหนดวิธีการให้ได้รับรู้ปัญหาของประชาชนให้ถือความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการกำหนดแนวทางปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองความต้องการ

 4.5 สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้น ๆ อันพึงจะมีให้ระมัดระวังและอย่าสับสนระหว่างขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงโดยยกประชาธิปไตยนำหน้า

 4.6 ภารกิจของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ มีทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธ และการปฏิบัติในด้านการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ขอบเขตและระดับของการปฏิบัติงานในการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธอาจแตกต่างกันออกไปบ้างแต่ภารกิจในด้านการเมืองซึ่งเป็นเรื่องหลักมีความทัดเทียมกันทุกประการ การปฏิบัติด้วยกำลังอาวุธให้พิจารณาประเภท ขนาดกำลังและยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดัน ลิดรอน ทำลาย กองกำลังติดอาวุธโดยต่อเนื่อง

 4.7 ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม

 4.8 ให้ความสำคัญการต่อสู้ในเมืองให้มากที่สุดเพื่อขจัดการจัดตั้ง และขายแนวร่วมตามแนวทางการเมืองสนับสนุนป่า และการขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติ และสถานการณ์สงครามประชาชาติ สถานการณ์ปฏิวัติมีรูปแบบในการโดดเดี่ยว รัฐบาลจากประชาชนทำลายรัฐบาลให้อ่อนแอ การทำลายหรือช่วงชิงการนำขบวนการประชาธิปไตย อันเป็นศัตรูของคอมมิวนิสต์ การสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติจะอาศัยแนวร่วมซึ่งมีแทรกอยู่ทุกระดับเพื่อสร้างประชามติ และนำชาติไปสู่การสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ หากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยบรรลุผลสำเร็จในการจัดตั้ง และขยายแนวร่วมในเมืองได้ จะสามารถดำรงขีดความสามารถในการรุกทางการเมือง สามารถสร้างความสับสนทางการเมือง ความวุ่นวายในทางเศรษฐกิจและสามารถสร้างกระแสคลื่นของประชาชนส่วนใหญ่ไปแนวทางที่ต้องการได้ จะต้องทำความเข้าใจว่าการสร้างแนวร่วมในเมืองนี้ยากที่จะมองเห็นได้แจ่มชัดเพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายอาศัยตัวแทนในรูปแบบต่างๆ และการใช้เหตุการณ์เฉพาะกรณีให้เป็นไปเสมือนการขัดแย้งโดยทั่วไป นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง

 4.9 การข่าว การจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ เป็นมาตรการอันสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จึงได้ให้ความสำคัญและให้ดำเนินการในลักษณะเชิงรุกอย่างมีแผนและสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน

5. การบริหาร

 5.1 การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์นั้นเป็นภารกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ จึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดองรัฐบาล ให้กระทรวง ทบวง กรมและองค์การต่าง ๆ กำหนดแผนโครงการ และการปฏิบัติทั้งสิ้นให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งนโยบายนี้

 5.2 สภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบในการเสนอคณะรัฐมนตรี ในเรื่องอันเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง

 5.3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นกองอำนวยการเฉพาะกิจ มีผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไป เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามนโยบายและการสั่งการ ตลอดจนการประสานงานของกระทรวง ทบวง กรม และองค์การที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษที่เป็นผลต่อข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารและบุคคลอื่น ๆ ซึ่งผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปได้แต่งตั้งจากส่วนราชการต่าง ๆ มาปฏิบัติงาน

 5.4 การสนับสนุนงาบประมาณในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ให้ถือว่ามีความเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ

 5.5 บรรดาคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับใด ซึ่งขัดแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งนี้แทน

 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

  • สั่ง ณ วันที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2523

  • พลเอก ป. ติณสูลานนท์
  • (เปรม ติณสูลานนท์)
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์". (ม.ป.ป.). ใน เฉลิมพล โสมอินทร์, พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 78 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 กฎกระทรวง, ประกาศกระทรวง และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523, ที่ 65/2525 และที่ 47/2529 พระราชบัญญัติผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ พ.ศ. 2519 (น. 150–155). เชียงใหม่: วัฒนาการพิมพ์.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"