ข้ามไปเนื้อหา

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๔๐

๑ มีนาคม ๒๕๓๔
ฉบับพิเศษ หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
พุทธศักราช ๒๕๓๔

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

โดยที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งได้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสียนั้น ก็โดยปรารถนาให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยราบรื่น ประกอบกับมีความมุ่งหมายที่จะขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมดสิ้น และบังเกิดความสงบเรียบร้อยโดยรวดเร็ว รวมตลอดทั้งกำหนดกลไกการปกครองที่จะเอื้ออำนวยให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของชนในชาติ แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งตามความจำเป็น จึงสมควรให้มีธรรมนูญการปกครองประเทศเพื่อใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้นำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้จัดร่างขึ้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้

มาตราประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

มาตราอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

มาตราองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบสี่คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี

คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา

การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี และการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ย่อมเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

มาตราให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติคำนึงถึงการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นภายในพุทธศักราช ๒๕๓๔

มาตราสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยคน แต่ไม่เกินสามร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ตามที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินำความกราบบังคมทูล

ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่างลง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นสมาชิกแทนก็ได้

ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มาตราในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ใดกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการขัดขวางต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ

มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันลงคะแนน

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาคนหนึ่ง และเป็นรองประธานสภาคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้

ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มาตรา๑๐ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง จำนวนไม่เกินยี่สิบคน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งจะประกอบด้วยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยก็ได้

มาตรา๑๑เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๑๐ แล้ว ให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสามวาระ การพิจารณาในวาระที่หนึ่งและวาระที่สอง ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับวาระที่สาม ให้กระทำได้เมื่อการพิจารณาวาระที่สองได้ล่วงพ้นไปแล้วสิบห้าวัน

การประชุมในวาระที่สาม ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันประชุม จึงจะเป็นองค์ประชุม

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันลงคะแนน

เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๒ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม ให้สภานิติบัญญัติแห่งแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้นตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ แต่ถ้าการร่างและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลให้ไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายในพุทธศักราช ๒๕๓๔ ให้ขยายกำหนดเวลาการจัดให้มีการเลือกตั้งออกไปหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นพุทธศักราช ๒๕๓๔

มาตรา๑๓ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๒ ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบตามมาตรา ๑๑ ในวาระที่หนึ่งหรือวาระที่สาม ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดพ้นจากตำแหน่งในวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ และให้สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๒ หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่ง มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมร่วมกันตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงการเลือกตั้งซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นโดยเร็วเท่าที่กระทำได้

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๔ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวันประชุม จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา๑๕ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด บุคคลใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้

เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ให้คุ้มครองถึงกรรมาธิการของสภา ผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกควบคุมหรือขังหรือถูกฟ้องร้องในคดีอาญา ให้สั่งปล่อยหรืองดการพิจารณาในเมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอ

มาตรา๑๖สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติที่ไม่มีลักษณะเป็นการขอให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงหรือแสดงความเห็นในเรื่องใด ๆ การอภิปราย การลงมติ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

มาตรา๑๗พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรี

มาตรา๑๘ให้มีสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกอบด้วย บุคคลตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ และประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นกรรมการ

ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติอาจแต่งตั้งกรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกินสิบห้าคน

ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้งเป็นรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และให้เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นเลขาธิการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

ให้สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือไม่ได้เป็นกรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นรองเลขาธิการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้

ในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

มาตรา๑๙สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีจะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเสนอแนะหรือให้ความคิดเห็นในเรื่องใด ๆ ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่คณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองนี้

ในการประชุมร่วมกันของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

มาตรา๒๐ในกรณีที่เห็นสมควร ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อร่วมพิจารณาและแก้ไขปัญหาใด ๆ อันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา๒๑พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และรัฐมนตรีตามจำนวนที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูล ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา๒๒พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติถวายคำแนะนำ และให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ

มาตรา๒๓ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๒๔นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้ และจะดำรงตำแหน่งใดในกิจการเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไรมิได้

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมเพื่อแถลงนโยบายและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ตามมาตรา ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา๒๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา๒๖ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงแห่งชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องพิจารณาโดยรีบด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่ชักช้า ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติแล้ว ให้พระราชกำหนดมีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่อนุมัติ ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น

การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา๒๗ในกรณีที่ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงแห่งชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ด้วยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี หรือคำสั่งหรือการกระทำที่ได้สั่งหรือกระทำร่วมกัน รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ

มาตรา๒๘บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๒๙ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา๓๐ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด

มาตรา๓๑ในกรณีมีปัญหาว่า การกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

มาตรา๓๒บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ได้กระทำ ประกาศ หรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศ หรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่า การกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง รวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ตลอดจนการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าว เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา๓๓ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุนทร คงสมพงษ์
หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"