ข้ามไปเนื้อหา

ประมวลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย/เล่ม 1/เรื่อง 15

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๗

๒๘ มกราคม ๒๕๐๒
ฉบับพิเศษ หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒
เป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

โดยที่หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมและให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญเช่นว่านี้ สมควรจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิจัดร่างขึ้นประกาศใช้ต่อไป แต่ในระหว่างระยะเวลาก่อนที่จะได้มีและประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรจนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น

มาตราอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย

มาตราประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

มาตราองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตราให้มีคณะองคมนตรีคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินเก้าคน การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชบัญญัติใช้บังคับโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา

คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหาร และศาลใช้อำนาจตุลาการ ทั้งนี้ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

มาตราให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย

มาตราสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยสี่สิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกว่างลง จะได้ทรงตั้งแทนในตำแหน่งที่ว่างนั้น

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้

มาตราภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมปรึกษาของสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การประชุม การปรึกษา และกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

มาตรา๑๐เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประชุมในฐานะรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนั้นว่า จะให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้หรือไม่ การประชุมปรึกษาดังกล่าวนี้ สภาจะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญนั้นประการใดมิได้

การประชุมตามความในวรรคก่อน ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๑ในกรณีการลงมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๐ ไม่ได้คะแนนเสียงของสมาชิกให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้

มาตรา๑๒ในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือ แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ไม่เป็นกรณีที่จะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใด

ความคุ้มครองดังกล่าวในวรรคก่อน ให้ใช้แก่ผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภาด้วย

มาตรา๑๓ในกรณีที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญถูกควบคุมหรือขังหรือถูกฟ้องในคดีอาญา ให้สั่งปล่อยหรืองดการพิจารณาในเมื่อประธานสภาร้องขอ

มาตรา๑๔พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีมีจำนวนตามสมควร ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภามิได้

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา๑๕พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา๑๖ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี

มาตรา๑๗ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ

มาตรา๑๘บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

การตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา๑๙ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

มาตรา๒๐ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
หัวหน้าคณะปฏิวัติ