ประกาศ สนธิสัญญาไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตต์
ไปยังการนำทาง
ไปยังการค้นหา
ประกาศ
ใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตต์แห่งกันและกัน
- มีพระบรมราชโองการให้ประกาศทราบทั่วกันว่า
- โดยที่สัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตต์แห่งกันและกัน ซึ่งได้ลงนามกัน ณะ กรุงโตคิโอ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ มีบทในข้อ ๕ ว่าให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป และ
- โดยที่พระราชสัตยาบันของทั้งสองฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนกัน ณะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓
- ฉะนั้น สนธิสัญญานี้จึ่งเป็นอันใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นต้นไป
- ประกาศมาณะวันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นปีที่ ๗ ในรัชชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
คำแปลสนธิสัญญา[แก้ไข]
คำแปล
สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรี
และต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตต์
แห่งกันและกัน
- สมเด็นพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย แลสมเด็จพระราชาธิบดี พระจักรพรรดิ์แห่งประเทศญี่ปุ่น
- มีพระราชประสงค์จริงจังเท่าเทียมกันในอันจะยืนยันและยังความผูกมิตรภาพ ซึ่งมีสืบเนื่องมาในระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ให้แข็งแรงขึ้น และ
- ทรงตระหนักว่า สันติภาพและเสถียรภาพแห่งเอเชียตวันออกเป็นกิจเกี่ยวข้องร่วมกันแห่งรัฐทั้งสอง
- จึงได้ทรงตกลงทำสัญญา และเพื่อการนี้ได้ทรงตั้งผู้มีอำนาจเต็ม คือ
- ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดี พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย
- พระยาศรีเสนา ประถมาภรณ์มงกุฎไทย อัครราชทูตประจำพระราชสำนักสมเด็จพระราชาธิบดีพระจักรพรรดิ์แห่งประเทศญี่ปุ่น
- ฝ่ายสมเด็จพระราชาธิบดีพระจักรพรรดิ์แห่งประเทศญี่ปุ่น
- ฮาชิโร อารีตา สโยซันมิ กยอกกุยิตซึ ขั้นหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสมเด็จพระราชาธิบดีพระจักรพรรดิ์
- ผู้ซึ่ง เมื่อได้ส่งหนังสือมอบอำนาจเต็มของแต่ละฝ่ายให้แก่กันและกัน และได้ตรวจเห็นว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและถูกต้องแล้ว ได้ทำความตกลงกันเป็นข้อๆ ดั่งต่อไปนี้
ข้อ ๑
- อัครภาคีผู้ทำสัญญานี้ต่างจะเคารพบูรณภาพอาณาเขตต์แห่งกันและกัน และในที่นี้ ยืนยันสันติภาพพิเศษเป็นนิจและมิตรภาพเป็นนิรันดรที่มีอยู่ระหว่างกัน
ข้อ ๒
- อัครภาคีผู้ทำสัญญานี้ต่างจะรักษาไว้ซึ่งการติดต่อกันฉันมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร และปรึกษาหารือกันในปัญหาข้อหนึ่งข้อใดเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันอันจะพึงมีขึ้น
ข้อ ๓
- ในกรณีที่อัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกอานุภาพภายนอกใดๆ จะเป็นประเทศเดียวหรือหลายประเทศโจมตี ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งรับรองว่าจะไม่ไห้ความช่วยหรือความช่วยเหลือแก่อานุภาพที่กล่าวนั้น เป็นการปฏิปักษ์ต่อภาคีฝ่ายที่ถูกโจมตี
ข้อ ๔
- สนธิสัญญานี้จะได้รับสัตยาบันและได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกัน ณะ กรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้
ข้อ ๕
- สนธิสัญญานี้ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันเป็นต้นไป และให้คงใช้อยู่เป็นกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่ว่านั้น
- ในกรณีที่อัครภาคีผู้ทำสัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้บอกกล่าวเจตนาที่จะเลิกสนธิสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งหกเดือนก่อนสิ้นกำหนดเวลาห้าปีดังกล่าวแล้ว สนธิสัญญานี้จะคงใช้อยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้ให้คำบอกกล่าวเช่นว่านั้น
- เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มของแต่ละฝ่ายได้ลงนาม และประทับตราสนธิสัญญานี้ไว้เป็นสำคัญ
- ทำคู่กันสองฉบับ ณะ กรุงโตกิโอ เมื่อวันที่สิบสองเดือนที่สาม พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบสาม ตรงกับวันที่สิบสองเดือนที่หกปีสโยวะที่สิบห้า และวันที่สิบสองมิถุนายน คริสตศักราชพันเก้าร้อยสี่สิบ
(ลงนามและประทับตรา) พระยาศรีเสนา
(ลงนามและประทับตรา) ฮาชิโร อารีตา
อ้างอิง[แก้ไข]
- ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๗ หน้า ๙๔๔ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๓
ขึ้น |

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะมีลักษณะตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา ๗ สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (๑) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (๒) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (๓) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (๔) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (๕) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (๑) ถึง (๔) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น"
