พระราชบัญญัติล้างมลทินฯ พ.ศ. ๒๔๙๙
พระราชบัญญัติ ล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐
เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรล้างมลทินให้แก่ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในกรณีความผิดคดีต่าง ๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว ผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ และผู้ถูกลงโทษถึงต้องออกจากองค์การรัฐบาล องค์การสาธารณ เทศบาล หรือสุขาภิบาล และผู้ถูกลงโทษทางวินัยอย่างอื่นในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ ๒๕ ศตวรรษ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในกรณีความผิดคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดในคดีนั้น ๆ
มาตรา ๔ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ และผู้ถูกลงโทษเพราะประพฤติชั่วถึงต้องออกจากองค์การรัฐบาล องค์การสาธารณะ เทศบาล หรือสุขาภิบาล ตลอดจนโทษทางวินัยอย่างอื่นซึ่งกระทำผิดก่อนวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ และได้ถูกลงโทษก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยต้องถูกลงโทษทางวินัย การล้างมลทินตามมาตรานี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ บรรดาผู้ที่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ใดถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน หรือถูกถอดจากยศหรือบรรดาศักดิ์ เนื่องในการกระทำผิดอันได้รับการล้างมลทินนั้น และประสงค์จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศหรือบรรดาศักดิ์คืนตามที่ได้รับอยู่เดิม ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เพื่อดำเนินการขอพระราชทานคืนให้ต่อไป
มาตรา ๖ บรรดาผู้ที่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเป็นบุคคลที่เคยได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมาแล้ว ก็ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามเดิม ถ้าบุคคลดังกล่าวเคยเป็นข้าราชการมาก่อน และยังไม่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ ก็ให้ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญในการที่ต้องออกจากราชการเพราะเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญที่ใช้อยู่ในขณะที่ออกจากราชการนั้น การให้เบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ผูกพันรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือให้สิทธิใด ๆ เท่าเทียมกับข้าราชการที่ออกจากราชการโดยมิได้กระทำผิดหรือถูกลงโทษ ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังพิจารณาจ่ายภายในวงเงินที่อนุมัติในงบประมาณ ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของกระทรวงการคลังเป็นเด็ดขาด
มาตรา ๗ สิทธิในการรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามมาตรา ๖ ให้เกิดตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้เบิกจ่ายย้อนนับแต่วันที่กล่าวแล้วนี้ได้ แต่ต้องยื่นคำร้องขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ ๒๕ ศตวรรษ ทางราชการจะได้บำเพ็ญกุศล เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ การให้อภัยทานถือว่าเป็นกุศลอย่างหนึ่ง ทางรัฐบาลจึงจะได้ดำเนินการให้มีการอภัยโทษแก่นักโทษทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร และนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏ จลาจล และผู้กระทำความผิดเนื่องในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามกบฏหรือจลาจลด้วย นอกจากผู้ที่จะได้รับอภัยโทษและนิรโทษกรรมแล้ว ยังมีบุคคลอีกบางประเภท คือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาในกรณีความผิดคดีต่าง ๆ ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้ว ผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ และผู้ถูกลงโทษถึงต้องออกจากองค์การรัฐบาล องค์การสาธารณ เทศบาล หรือสุขาภิบาล บุคคลเหล่านี้ได้มีกฎหมายบางฉบับตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิบางประการไว้ ไม่มีสิทธิสมบูรณ์เหมือนประชาชนพลเมืองทั้งหลายสมควรที่จะได้ล้างมลทินให้แก่บุคคลเหล่านี้ โดยถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษา คำสั่งให้ลงโทษ และให้ได้รับสิทธิบางประการที่สูญเสียไปเป็นการให้อภัยทาน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีสิทธิดำเนินชีวิตได้เช่นเดียวกับบุคคลที่ไม่เคยต้องรับโทษ เสมือนเป็นการชุบชีวิตให้เกิดขึ้นใหม่ ในการนี้จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ ขึ้นใช้บังคับต่อไป
พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙ มิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดการยื่นความประสงค์ขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศหรือบรรดาศักดิ์คืนสำหรับผู้ได้รับการล้างมลทินไว้ ทำให้เป็นการยุ่งยากแก่การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการขอพระราชทานคืนให้ จึงสมควรกำหนดเวลาสิ้นสุดการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศหรือบรรดาศักดิ์เสียภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
อ้างอิง
[แก้ไข]งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"