มติมหาเถรสมาคม ที่ 11/2566
มติที่ | ๑๑/๒๕๖๖ | |
เรื่อง | การใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ |
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๖ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระบรมราชโองการ สถาปนาและพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระพุทธศาสนาให้ได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะเจ้าคณะรอง พระราชาคณะ และพระครูสัญญาบัตร นั้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับข้อหารือว่า กรณี ประกาศสถาปนาและพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์พระภิกษุ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น แต่ยังไม่ได้ประกอบพิธีรับพระบรมราชโองการ และพระราชทานสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ และสัญญาบัตรพัดยศ ประจำสมณศักดิ์นั้น ๆ จะสามารถใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ที่ได้รับการสถาปนาและตั้งใหม่ได้เลยหรือไม่ หรือควรปฏิบัติอย่างไร จึงเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อไป
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ตามโบราณราชประเพณีและจารีตของคณะสงฆ์ พระภิกษุที่ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นเจ้าคณะรอง และได้รับการตั้งสมณศักดิ์ในชั้นพระราชาคณะอื่น ๆ และพระครูสัญญาบัตร ถ้ายังไม่ได้ประกอบพิธีรับการพระราชทานสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ และสัญญาบัตรพัดยศ ประจำสมณศักดิ์นั้น ๆ ควรใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ในชื่อเดิมไปก่อน
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"