หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0503/33449
ที่ นร ๐๕๐๓/๓๓๔๔๙ | สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล กทม. ๑๐๓๐๐ |
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓
เรื่อง | ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย | |
กราบเรียน | ประธานรัฐสภา | |
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ว่า บัดนี้ มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา ๑๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีข้อเท็จจริงของปัญหา ดังนี้
๑.ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด ๒๐๑๙ ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ก่อนแล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อดังกล่าว โดยมีสถิติผู้ป่วยติดเชื้อตลอดจนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศทุกวัน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการที่ห้ามหรือควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักเดินทางจากต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาลงทุนทางธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือใช้บริการสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะเดียวกัน ได้มีผู้นัดชุมนุมกันในทางการเมืองตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดในลักษณะแออัดประชิดตัวอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับมีฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากจนเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขเกรงว่า อาจเกิดโรคระบาดได้ง่าย เพราะประชาชนจะขาดความระมัดระวังในการป้องกันโรคที่เหมาะสมเพียงพอ จึงอาจกระทบต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคและความเชื่อมั่นของผู้จะเดินทางเข้ามาในประเทศได้
๒.การชุมนุมยังคงมีต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ จนเกิดเหตุอันไม่คาดคิดขึ้น เมื่อปรากฏว่า ในวันดังกล่าว มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปในการตั้งเปรียญ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และการพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามต่าง ๆ ๔ แห่ง คือ วัดราชโอรสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ในขณะที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เคลื่อนไปตามถนนพิษณุโลกอันเป็นเส้นทางตรงขึ้นทางด่วนมุ่งไปยังวัดราชโอรสารามฝั่งธนบุรี กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้ขวางทางและหยุดขบวนเสด็จพระราชดำเนินกลุ้มรุมล้อมรถพระที่นั่ง และมีผู้ตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรงแสดงอาการไม่สมควร และเป็นการคุกคามเสรีภาพของผู้อยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินและผู้ถวายการอารักขา ผู้ชุมนุมได้พักค้างคืน ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาลซึ่งใกล้กับบริเวณอันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับและเส้นทางที่จะมีการเสด็จพระราชดำเนินในวันต่อ ๆ ไป ทั้งการชุมนุมส่อว่าจะยืดเยื้อ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ และอาจมีผู้ฉวยโอกาสแทรกเข้าก่อความวุ่นวายได้ แม้บางส่วนจะร่วมชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อยก็ตาม ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและระงับยับยั้งความรุนแรงอันอาจกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล นายกรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวเป็นเวลา ๓๐ วันจนถึงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓
๓.แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ และควบคุมตัวบุคคลบางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีบทบาทสำคัญในการยุยงและก่อให้เกิดการกระทำความผิด แต่การชุมนุมยังคงมีขึ้นในเวลาต่อมาที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกปทุมวัน และแยกย้ายเป็นกลุ่มไปตามที่ชุมนุมชนต่าง ๆ ศูนย์กลางธุรกิจการค้า และสถานีขนส่งผู้โดยสารอีกหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในต่างจังหวัด จนน่าวิตกว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย การคมนาคม และเศรษฐกิจในบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตือน ห้ามปราม และพยายามหยุดยั้งการชุมนุม ที่แม้จะมีเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามมาตรา ๔๔ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐเข้าควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายก็เป็นข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพดังกล่าว ตามที่มาตรา ๔๔ วรรคสอง กำหนดให้ทำได้ แต่เมื่อไม่เป็นผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสกัดและเรียกคืนพื้นที่ อันเป็นขั้นตอนการควบคุมฝูงชนตามมาตรการสากลที่ใช้ในนานาประเทศ เมื่อคืนวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ บริเวณถนนพระรามที่ ๑ ใกล้สี่แยกปทุมวัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมยังสามารถนัดแนะทางสื่อต่าง ๆ เพื่อชุมนุมกันต่อมาอีกหลายครั้ง โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ปล่อยตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และศาลยกคำร้องที่ขอประกันตัว การกยเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ยุบสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งข้อเรียกร้องบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่แล้ว แม้การชุมนุมบางครั้งและบางแห่งจะเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อย แต่บางแห่งยังคงมีการจาบจ้วงบุคคลอื่น การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ และการก่อความชุลมุนวุ่นวาย นับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่อยู่ในความมุ่งหมายของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งน่าวิตกว่า อาจมีบางฝ่ายแฝงตัวเข้ามาฉวยโอกาสใช้อาวุธหรือก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และอาจมีฝ่ายอื่นที่เห็นต่างกันหรือได้รับผลกระทบจากการชุมนุมออกมาจัดการชุมนุมเพื่อตอบโต้หรือต่อต้านบ้างจนเกิดการปะทะกัน อันจะเป็นการจลาจลในบ้านเมืองได้
คณะรัฐมนตรีเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จึงสมควรฟังความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามวิธีทางรัฐธรรมนูญ โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป จักเป็นพระคุณยิ่ง
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๐๐ ต่อ ๑๓๐๓
- โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๕๘
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- ธนวัฒน์ วงค์ไชย. (2563, 23 ตุลาคม). การเปิดสภาสมัยวิสามัญของประยุทธ์ ไม่ได้เป็นการเปิดสภาเพื่อผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของราษฎรฯ. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/ballbanofficial/posts/2496261110676041
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"