หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๑).pdf/223

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๖๖

เดชานุภาพอภินิหารบารมีปกเกษเกล้าดุจหนึ่งปริมณฑลร่มมหาโพธิ ถ้าพระองค์จะเสด็จยกพยุหโยธาทัพไปแห่งใด จะขออาสาโดยเสด็จงานพระราชสงครามกว่าจะสิ้นกำลัง ข้าพระองค์ให้นันทะพะยะ กับแสนหนังสือ แสนหลวง จำทูลพระราชสาสนเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการลงมาจำเริญทางพระราชไมตรี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟัง ทรงพระโสมนัศ จึงมีพระราชปฏิสันถารปราไสแก่ทูตานุทูตสามนัด แล้วดำรัศสั่งให้พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยถานานุกรม แล้วแต่งตอบพระราชสาสนส่งทูตานุทูตกลับไป ฝ่ายนันทะพะยะ กับแสนหนังสือ แสนหลวง ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ ทูลราชกิจเสร็จสิ้นทุกประการ พระเจ้าเชียงใหม่ก็โสมนัศ ดุจหนึ่งผู้เดินมาตามสถลรัถยากันดารไกลในเพลาเที่ยง ร้อนกระวนกระวายด้วยแสงภาณุมาศกล้า แลมีผู้เอาน้ำอันเย็นใสมาโสรดสรงกายาให้เย็นสบาย.

 ขณะนั้น พอมีหนังสือบอกเมืองเชียงแสนมาว่า ชาวด่านเมืองเชียงแสนกับชาวด่านเมืองล้านช้างไปตรวจตระเวนด่าน พบกันเข้า วิวาทฆ่าฟันกันตาย บัดนี้ พระเจ้าล้านช้างแต่งให้พระยาหลวงเมืองแสนเปนแม่ทัพ พลประมาณเจ็ดพัน ยกตีขึ้นมาถึงเมืองเชียงแสน ได้รบพุ่งกันอยู่แล้ว ขอให้พระเจ้าพื้นบาทหอคำลงมาช่วยค้ำ พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทราบ ก็ให้กองทัพไปช่วย แล้วแต่งหนังสือบอกลงไปให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวว่า กองทัพล้านช้างยกลงมาตีเมืองเชียงแสน ขอให้กองทัพกรุงขึ้นมาช่วย แต่งแล้วส่งให้พระยาหลวงเมือง แก้วหมื่นโยธา กับไพร่ ๒๐ คน ถือลงไป ครั้นถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา อรรคมหาเสนาธิบดีนำหนังสือบอกเข้ากราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว