ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๖๑

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๑”

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕ ตรี เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตราให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคเจ็ดของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

“ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจที่จะทรงพระกรุณาโปรดหรือมีพระราชวินิจฉัยให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์

การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง และการดำเนินการตามมาตรา ๑๕ (๔) และวรรคสอง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑)มรณภาพ

(๒)พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

(๓)ลาออก

(๔)พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก

ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งพระภิกษุตามมาตรา ๑๒ รูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน

กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคสอง ให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๕ ทวิ พระบรมราชโองการตามมาตรา ๑๐ วรรคเจ็ด การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามมาตรา ๑๒ และการให้กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

มาตราให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๐/๑ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐/๒ การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม”

มาตรา๑๐ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๐/๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

“มาตรา ๒๐/๒ การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการไปตามพระราชดำรินั้น

สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น”

มาตรา๑๑ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

  • ผู้รับสนองพระราชโองการ
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญมั่นคงเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อยตลอดมา เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม มีความร่มเย็นผาสุกแก่ประชาชนและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรบัญญัติกฎหมายให้เป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"