หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/107

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๗๐

กองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนไชย เมืองนครลำปาง ให้ได้พล ๑๐๐๐๐ เศษ ยกไปฝ่ายเหนือทางหนึ่ง.

ครั้นถึงกติกมาศ ได้ศุภวารดฤถีพิไชยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลายกพลโยธาทัพแยกกันไปทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์บ้าง ทางด่านเขาปูนแลด่านสลักพระแดนเมืองอุไทยธานีบ้าง ทางทวายบ้าง เกณฑ์กวาดเอาพลเมืองทวาย แลเมืองเมาะตมะ กับเมืองขึ้น ได้พลหมื่นเศษ ยกมาทางด่านระแหงบ้าง ทางด่านเมืองเถินแลเมืองนครลำปางบ้าง ไปพร้อมทัพตำบลเมืองจิตตองลำน้ำสโตง แลกองทัพทั้งปวงประชุมพร้อมสิริพลโยธาหาญประมาณ ๙๐๐๐๐ เศษ เจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพใหญ่ก็จัดแจงทัพตามตำหรับพิไชยสงครามพร้อมเสร็จ แล้วยกไปตีเมืองหงษาวดี เมืองเสี่ยง เมืองย่างกุ้ง เจ้าเมืองทั้ง ๓ สู้รบบ้างไม่รบบ้าง เห็นเหลือกำลังจะต้านทานมิได้ก็พ่ายหนี พวกรามัญทั้งปวงพากันมาขอเข้าด้วยกองทัพไทยก็มาก นายทัพนายกองทั้งปวงได้รามัญประมาณ ๒๐๐๐๐ เศษ ยกแยกกันตีหัวเมืองรายทางขึ้นไปถึงเมืองปรอนแลเมืองตองอู ตีได้หัวเมืองพม่ารามัญรายทางแลครอบครัวเปนอันมาก ถึง ๔ เดือนจึงยกขึ้นไปถึงเมืองอังวะ แม่ทัพให้ตั้งค่ายใหญ่แลค่ายครัวกองหลังไกลเมืองอังวะทางโยชน์หนึ่ง ทัพน่า แลกองเกียกกายปีกซ้ายปีกขวา แลยุกรบัตร ยกเข้าตั้งค่ายรายรอบเมืองทั้ง ๓ ด้านห่างเมืองประมาณ ๒๐ เส้น เปิดไว้แต่ด้านริมน้ำ ให้เก็บเรือใหญ่น้อย ข้ามพลไปตีได้เมืองจักไกฝ่ายฟากข้างโน้นตรงเมืองอังวะข้าม