หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/113

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๗๖

หนึ่ง กองทัพเราก็ฝืดเคืองขัดด้วยเสบียงซึ่งจะเลี้ยงกัน จะกวาดต้อนครอบครัวเชลยไปนั้นก็ลำบาก ด้วยอดอยากล้มตายมากกว่ามากนัก แลครั้งนี้เราไม่ได้เมืองอังวะ ครั้นจะล่าทัพถอยไปเล่า ก็เกรงพระราชอาชญาจะลงโทษโดยพระไอยการศึกถึงสิ้นชีวิตร จะเลิกทัพกลับไปก็ไม่ได้ แลบรรดาพม่านายไพร่ในเมืองอังวะนี้ไม่มีใครกล้าหาญ ล้วนแต่มีสันดานขลาดดุจสัตรีสิ้นแล้วฤๅประการใด จึงไม่ออกมาตีทัพเรา แลไม่ออกมาเจรจาความเมืองด้วยเรา ชวนกันนิ่งซ่อนน่าอยู่แต่ในเมืองได้ ช่างกะไรไม่มีความละอาย ผิดพิไสยชายชาติทหาร คิดการดังนี้มิควรนัก จงเห็นแก่ทางไมตรีที่ได้เคยเปนคู่สนุกด้วยกันในสงคราม ขอให้ยกพลโยธาทหารออกมาต่อตีทัพเราอิกสักครั้งหนึ่งเถิด พอจะได้เอาเหตุนี้บอกหนังสือแก้ตัวส่งลงไปกราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานครว่า พลพม่าออกมาตีทัพไทยเปนอันมากหลายครั้งเหลือกำลังที่จะสู้รบ ทั้งขัดสนสิ้นเสบียงอาหาร ขอพระราชทานล่าทัพกลับไปตั้งทำไร่นาที่ปลายแดน ได้เสบียงอาหารบำรุงช้างม้ารี้พลให้มีกำลังบริบูรณ์พร้อมแล้ว จึงจะยกพยุหโยธาทัพกลับไปตีเอาเมืองอังวะในครั้งหลังให้จงได้ ครั้นแต่งหนังสือเสร็จแล้ว ก็ให้พม่าเชลยถือเข้าไปแจ้งแก่เสนาบดีในเมืองอังวะ แลเจ้าพระยาโกธาธิบดีพิจารณาเห็นพม่าทุพพลภาพถอยกำลัง ทั้งเกรงกลัวฝีมือพลทหารไทย เห็นจะไม่อาจยกกองทัพออกมาต่อตีเปนแท้ จึงแสร้งแต่งหนังสือฉบับนี้ส่งเข้าไปในเมือง ฝ่ายเสนาบดีพม่าได้แจ้งในหนังสือนั้นก็พิจารณาเห็นเปนกลอุบายฬ่อลวง ก็มิได้แต่งกองทัพออกไปต่อตีตามหนังสือซึ่งให้เข้ามา เกรงจะเสียท่วงที จึงปฤกษากันว่า ถ้าเราจะยกทัพออกไป