หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/122

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๘๕

ลุศักราช ๑๐๒๒ ปีชวด โทศก กรมการเมืองนครสวรรค์บอกลงมาถึงสมุหนายกว่า นายกองช้างผู้มีชื่อคล้องต้องช้างเผือกผู้ สูงประมาณสี่ศอกมีเศษ สรรพด้วยคชลักษณงามบริบูรณ แลคล้องได้ณป่าแขวงเมืองนครสวรรค์นั้น จึงเจ้าพระยาจักรีเอาข้อราชการสารเสวตรขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุดังนั้นก็ทรงพระปราโมทย์ยิ่งนัก จึงมีพระราชดำรัศให้ท้าวพระยาเสนาบดีแลพระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลายขึ้นไปรับพระยาเสวตรกุญชรชาติตัวประเสริฐลงมายังกรุงเทพมหานคร แลให้แห่แหนประดับประดาโดยชลมารคสถลมารคตามอย่างแต่ก่อน แล้วให้สถิตย์อยู่ณโรงนอกพระราชวัง ทรงพระกรุณาให้ตั้งการพระราชพิธีสงฆ์ แลพิธีไสยเวท แลการมหรศพสมโภชคำรบ ๗ วันเปนกำหนด แล้วรับเข้ามาไว้ณโรงในพระราชวัง แลทรงพระประสาทพระราชทานนามกรชื่อ เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ แลพระราชทานเครื่องสุวรรณคชาภรณ์อลังการด้วยมหาเนาวรัตนอันประเสริฐสำหรับประดับกายพระยาเสวตรกุญชรนั้น แลทรงพระกรุณาให้ขุนหมื่นผู้ใหญ่ในกรมช้างแลหัวสิบทั้งหลายอยู่ประฏิบัติรักษาพระยาช้างเผือกนั้น แลซึ่งนายช้างผู้คล้องถูกนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดให้เปนที่ขุนหมื่นตามบุรพประเพณีแลพระราชทานเครื่องยศแลเสื้อผ้าเงินตราตามธรรมเนียม แลสมัคพรรคพวกซึ่งได้ช่วยในการช้างนั้นก็พระราชทานรางวัลถ้วนทุกคน แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้มีตราภูมคุ้มห้ามส่วยสัดพิกัดอากรขนอนตลาดแก่ผู้คล้องพระยาช้างเผือกได้ทั้งหลายนั้น แลให้ไปอยู่ทำกินตามภูมิลำเนาดุจแต่ก่อน ส่วนขุนหมื่นผู้ใหญ่นายช้างซึ่งอภิบาลพระยาเสวตรคเชนทรนั้นก็ฝึกสอน