หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/132

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๙๕

ใจกลัวทัพไทยยิ่งนัก จึงเร่งให้ตกแต่งการป้องกันเมืองทั้งกลางคืนกลางวันเปนสามารถ แลให้เอาไม้ซุงทั้งหลายมาผูกแขวนรายไว้ที่บนใบเสมากำแพงเมืองนั้นโดยรอบ แลจะได้ตัดให้ตกลงไปทับข้าศึก แล้วให้ตั้งกะทะคั่วกรวดทรายปูนผงแลเคี่ยวน้ำมันยางไว้ให้ร้อนจงทุก ๆ น่าที่ สำหรับจะหว่านซัดสาดราดเทลงไปให้ถูกต้องข้าศึกล้มตายขณะเมื่อจะยกเข้ามาป่ายปีนกำแพงปล้นเอาเมืองนั้นอย่าให้ทำการได้ถนัด แลจัดแจงการทั้งปวงไว้พร้อมเสร็จแล้ว ก็คอยกองทัพเมืองอังวะจะยกลงมาช่วยฤๅประการใด.

ฝ่ายพม่าเมืองอังวะได้แจ้งในหนังสือบอกเมืองเชียงใหม่ดังนั้นแล้ว ก็ให้คิดเข็ดขามคร้ามฝีมือศึกไทยยิ่งนัก แลมิอาจจะยกลงมาช่วยเมืองเชียงใหม่ได้ ในขณะทัพหลวงมาตั้งอยู่ได้ ๗ วัน พอรี้พลช้างม้าหายเหน็ดเหนื่อยเลื่อยล้าแล้ว จึงเจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลพระกรุณาจะขอยกเข้าแหกหักเอาเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำรัศให้พระโหราหาฤกษ์ แล้วมีพระราชกำหนดให้ท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองทั้งปวงตรวจจัดช้างม้าพลาพลเดินเท้าแลทหารคนดีมีวิชาทั้งหลายให้พร้อมไว้แต่ใน ๕ วัน แลกระทำบันไดน้อยใหญ่กว่าพันอันสำหรับจะป่ายปีนปล้นเอาเมือง แลซึ่งช้างทั้งหลายนั้นก็ให้ทำเกือกหนังเสื้อหนังน่าร่าหุ์หนังใส่ครบทุก ๆ ตัว แลพลโยธาหาญนั้นก็ให้ตกแต่งกายสรวมใส่หมวกเสื้อแลรองเท้าล้วนทำด้วยหนังสิ้น แลให้พูนดินขึ้นเปนป้อมสูงเทียมกำแพงเมืองในที่มุมเมืองทั้งสามแลหว่างกลางทั้งสามนั้นเปนหกแห่งด้วยกัน แลให้เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งจังกายิงเข้าไปตามเชิงเทินเมืองจงทุกป้อม อย่าให้ชาวเมืองอยู่รักษาน่าที่ได้ถนัด