หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/178

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔๑

แล้วมีพระราชดำรัศสั่งสมุหกระลาโหมให้ตรวจเตรียมช้างม้าเครื่องสรรพยุทธทั้งปวงแลเรือรบเรือไล่เรือลำเลียงเสบียงอาหารให้พร้อมไว้ทั้งทางบกทางเรือ แล้วมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัศเหนือเกล้าฯ สั่งให้พระยาสุรสงครามเปนแม่ทัพหลวง พระสุรเสนาเปนยุกรบัตร พระยาเพ็ชรบุรีเปนเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปนกองน่า พระยาราชบุรีเปนทัพหลัง ถือพลสกรรจ์ลำเครื่อง ๑๐๐๐๐ ช้างเครื่อง ๓๐๐ สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง ยกไปทางบก ฝ่ายทัพเรือนั้นให้พระยาราชบังสรรเปนนายกอง เรือรบ ๑๐๐ ลำ เรือชเล ๑๐๐ ลำ พลรบพลแจว ๕๐๐๐ ยกไปทางชเลทัพหนึ่ง แลให้ทัพบกทัพเรือยกไประดมตีเอาเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นถึงวันอันได้มหาพิไชยฤกษ์ จึงพระยาสุรสงคราม พระยาราชบังสรร แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็กราบถวายบังคมลายกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชโดยลำดับสถลมารคชลมารค ไปพร้อมทัพกันณเมืองไชยาบุรี แลแม่ทัพบกเกณฑ์เอาผู้รั้งกรมการเมืองชุมพร เมืองไชยา ถือพลหัวเมืองทั้งปวงเข้ามาบรรจบทัพยกไปด้วย แล้วกำหนดไปแก่กองทัพเรือให้ยกทัพออกจากเมืองไชยาพร้อมกัน แลกองทัพบกยกไปถึงพรมแดนเมืองไชยาแลเมืองนครศรีธรรมราชต่อกันซึ่งนายสังข์ยมราชตั้งอยู่นั้น ก็เข้าล้อมไว้ในเพลากลางคืน แลนายสังข์ยมราชมิรู้ตัว ไม่ทันที่จะจัดแจงต้านทานไว้ให้มั่นคง ต้องจำเปนจำรบพุ่ง ผู้คนทแกล้วทหารมิทันพร้อมเพรียงกัน ระส่ำระสายไปเปนอลหม่าน แลนายสังข์ยมราชมีฝีมือเข้มแขง ถือพลทหารออกแหกหักจะออกมา ทัพกรุงต่อรบต้านทานไว้เปนสามารถ แล้วเข้ารุมตีขนาบเปนหลาย