หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/214

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๗๗

ลุศักราช ๑๐๖๔ ปีมเมีย จัตวาศก ขณะนั้น โขลงชาวบ้านแก่งนำโขลงเข้ามาแต่ท้องป่าต้น แลกันเอาช้างพลายงาสั้นติดโขลงเข้ามาได้ตัวหนึ่ง สูงประมาณ ๖ ศอก ๕ นิ้ว สรรพด้วยคชลักษณ์งามบริบูรณ์ แลชักโขลงนั้นเข้ามาณพเนียด จึงพระราชวังเมืองนำเอาข่าวช้างสำคัญนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไปณพเนียดทอดพระเนตร ให้ชักช้างโขลงเข้าพเนียด แล้วทรงพระกรุณาให้กันช้างสำคัญนั้นเข้าไว้ในวงพาด ให้ปรนปรือฝึกสอนให้ค่อยชำนิชำนาญ แล้วจึงนำเข้าไว้ณโรงที่พเนียด ทรงพระกรุณาให้มีการมหรศพสมโภชสามวัน แล้วให้นำลงสู่เรือขนาน มีเรือคู่ชักแห่เปนกระบวนเข้ามายังพระนคร จึงให้นำขึ้นไว้ณโรงยอดในพระราชวัง ทรงพระกรุณาพระราชทานนามบัญญัติชื่อ พระบรมไตรจักร แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายโขลงนั้นโดยสมควร.

ในปีมเมีย จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาให้ช่างต่ออย่างพระมรฎปพระพุทธบาทให้มียอดห้ายอด ให้ย่อเก็จมีบันแถลงแลยอดแทรกด้วย นายช่างต่ออย่างแล้วเอาเข้าทูลถวาย จึงมีพระราชดำรัศสั่งให้ปรุงเครื่องบนพระมรฎปตามอย่างนั้นเสร็จ จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหบาตรราชลมารคสถลมารคขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทตามอย่างพระราชประเพณีมาแต่ก่อน แล้วทรงพระกรุณาให้ช่างพนักงานจับการยกเครื่องบนพระมรฎปพระพุทธบาท ขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราชตามเสด็จขึ้นไปช่วยเปนแม่การด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระไทยปราโมทย์ยิ่งนัก จึงทรงพระกรุณามอบการทั้งปวงถวายให้สมเด็จพระสังฆราชเปนแม่การ แล้วก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร

๑๒