หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/254

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๑๗

พระกรุณาว่า บุตรข้าพระพุทธเจ้ากระทำการเปนกระบถดังนี้ โทษถึงตาย ๗ ชั่วโคตรตามบทพระไอยการ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ตรัศได้ทรงทราบดังนั้น จึงตรัศชมว่า ปขาวจันเพ็ชรเปนผู้ใหญ่สัจซื่อตรง ว่ากล่าวคำนั้นจริง ปขาวจันเพ็ชรจะขออ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์ฤๅ ปขาวจันเพ็ชรจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ผู้กระทำผิดคิดมิชอบแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไม่รับพระราชทานขอโทษเลย ควรมิควรตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด จึงทรงพระกรุณาโปรดตรัศว่า เออ ปขาวจันเพ็ชรไม่เสียทีเปนผู้ใหญ่ ว่ากล่าวนั้นชอบ เราเห็นด้วย เราให้ชีวิตรอ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์แก่ปขาวจันเพ็ชรเถิด แต่ทว่า โทษตัวมันมาก ให้อ้ายหมื่นราชสิทธิกรรม์ไปกระทำการต่อสำเภากว่าจะสิ้นโทษ ปขาวจันเพ็ชรได้ฟังดังนั้น ก็โสมนัศยินดียิ่งนัก จึงถวายบังคมลาไป.

ลุศักราชได้ ๑๐๙๕ ปีฉลู เบญจศก ณเดือน ๕ นั้น ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงมีเสนาบดีเปนประธาน กับทั้งสมเด็จพระสังฆราชพระราชาคณะประชุมพร้อมกัน ถึงวันศุภวารดิถีพิไชยมงคลมหามหุติฤกษ์ จึงกระทำการพิธีปราบดาภิเศกอัญเชิญสมเด็จพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเสด็จขึ้นผ่านพิภพมไหศวรรยาธิปัติถวัลยราชสมบัติณพระที่นั่งวิมานรัตยาในพระราชวังบวรสถานฝ่ายน่านั้นสืบต่อไป ข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงพร้อมกันกราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒสัตยาถวายสัตย์สาบาลตามบุราณราชประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนชำนาญชาญณรงค์เปนเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ว่าที่โกษาธิบดี โปรด