หน้า:พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒ (๒๔๕๕) b.pdf/317

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๒๘๐

ฝ่ายกองทัพน่าพม่าข้างใต้ซึ่งตั้งค่ายอยู่ณตอกระออมนั้น ถึงณเดือนสิบ ปีรกา สัปดศก เมฆราโบจึงยกทัพเรือพลพันเศษลงมาตีค่ายทัพไทยซึ่งตั้งอยู่ตำบลบำหรุนั้นแตก แล้วก็ยกลงมาตีทัพเรือพวกไทยตำบลบางกุ้งก็แตกฉานพ่ายหนี จึงยกล่วงเข้ามาถึงเมืองธนบุรี พระยารัตนาธิเบศมิได้สู้รบ หนีกลับขึ้นไปกรุงเทพมหานคร กองทัพเมืองนครราชสิมาก็เลิกไปทางฟากตระวันออกยกกลับไปเมืองสิ้น พม่าก็ได้เมืองธนบุรี เข้าตั้งอยู่สามวัน แล้วเลิกทัพกลับไปณค่ายตอกระออมดังเก่า

ในขณะนั้น กำปั่นอังกฤษลูกค้าลำหนึ่งบรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาจำหน่ายณกรุงเทพมหานคร โกษาธิบดีให้ล่ามถามแก่นายกำปั่นว่า ถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบุรีอิก นายกำปั่นจะอยู่ช่วยรบฤๅจะไปเสีย นายกำปั่นว่า จะอยู่ช่วยรบ แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้ให้กำปั่นเบาก่อน ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้ว ก็ถอยกำปั่นล่องลงมาทอดอยู่ณปากคลองบางกอกใหญ่

ครั้นณเดือนยี่ เมฆราโบก็ยกทัพเรือเข้ามาเมืองธนบุรีอิก ไม่มีใครอยู่รักษาเมืองแลสู้รบ พม่าเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อมวิไชเยนทร์ฟากตระวันตกยิงโต้ตอบกับปืนกำปั่นจนเพลาค่ำ กำปั่นจึงถอนสมอลอยขึ้นไปตามน้ำขึ้นไปทอดอยู่เหนือเมืองนนทบุรี แลกองทัพพระยายมราชซึ่งตั้งอยู่เมืองนนท์นั้นก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย มิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า พม่าเข้าตั้งอยู่ณเมืองธนแล้ว จึงแบ่งทัพขึ้นมาตั้งค่ายณวัดเขมาทะหลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืน นายกำปั่นจึงขอเรือกราบลงมาชักสลุบช่วงล่องลงไปไม่ให้มีปากเสียง ครั้นตรง