หน้า:มูลเหตุแห่งการสร้างวัดฯ - ดำรง - ๒๔๗๑.pdf/35

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๒

ซึ่งมีอยู่ในวัด เช่นว่า "วัดโพธิ์" หรือ "วัดโบสถ์" เป็นต้น อย่าง ๑ เรียกตามนามของผู้สร้าง เช่นว่า "วัดพระยาไกร" หรือ "วัดจางวางพ่วง" เป็นต้น อย่าง ๑ เมื่อพิเคราะห์ดูก็ชอบกล แม้วัดที่ปรากฎชื่อในครั้งพุทธกาล ก็ดูเหมือนจะเป็นชื่อตามที่คนทั้งหลายเรียก เช่น คำบาลีว่า "เชตวัน" "เวฬุวัน" "อัมพวัน" "อโศการาม" "บุบผาราม" เหล่านี้ ถ้าเป็นในเมืองไทย ก็คงเรียกว่า "ป่า (เจ้า) เชต" "ป่าไผ่" "ป่ามะม่วง" "สวน (อ) โศก" "สวนดอก (ไม้)" ดังนี้ ว่าฉะเพาะประเทศสยามนี้ พิเคราะห์ดูเหตุที่ไม่ตั้งชื่อวัด สันนิษฐานว่า เห็นจะเกิดแต่ไม่มีความจำเป็น คือ เมื่อราษฎรไปรวบรวมกันตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นหลักแหล่งในตำบลใด แล้วชวนกันสร้างวัดขึ้น คนในตำบลนั้นก็คงเรียกกันแต่ว่า "วัด" เพราะมีวัดเดียว ย่อมเข้าใจได้ แต่เมื่อเรียกวัดตำบลอื่น ก็จำต้องเอาชื่อตำบลเพิ่มเข้าด้วย เช่น เรียกวัดที่บางยี่เรือว่า "วัดบางยี่เรือ"