หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๒-๐๒).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๕๘๗

มาก ถึงได้ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระสารประเสริฐไปร่างประกาศนี้ ซึ่งแต่แรกทรงหวังที่จะให้อาลักษณ์อ่านในเวลาที่จะพระราชทาน เมื่อพระสารประเสริฐได้ร่างแล้ว ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร แล้วก็พระราชทานมาให้คณะกรรมการราษฎรดู คณะกรรมการราษฎรพิจารณาเห็นว่า ถ้อยคำที่เขียนมานั้น ถ้าจะใช้เป็นพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญ ก็จะเหม่ะและงดงามดี จึ่งได้นำความกราบบังคมทูล ก็โปรดเกล้าฯ ว่า จะให้เป็นพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเช่นนี้ พระราชปรารภก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หาเป็นประกาศไม่ จึ่งได้นำมาเสนอสภา ส่วนในการที่จะประกาศพระราชทาน ก็จะอ่านถ้อยคำนี้ แต่อ่านจากพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น พระราชปรารภนี้จึงไม่ใช่ประกาศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ จึ่งนำมาเสนอเพื่อความเห็นชอบของที่ประชุม และเมื่อที่ประชุมประสงค์จะให้อ่านเสนอ ก็ยินดี แต่ว่ามีภาษามคธและสังสกฤตที่จะแปลให้ฟังไม่ได้

พระยาพหลพลพยุหเสนาเสนอว่า เนื่องจากถ้อยคำบางคำในภาษามคธและสังสกฤตที่เราอ่านไม่เข้าใจว่า แปลว่าอะไร ฉะนั้น เห็นว่า ควรจะเรียกผู้ชำนาญทางภาษา เช่น พระธรรมนิเทศทวยหาร มาแปลความให้ฟังจะดีกว่า

ประธานคณะกรรมการราษฎรกล่าวว่า ร่างพระราชปรารภ