ข้ามไปเนื้อหา

กฎบัตรสหประชาชาติ

จาก วิกิซอร์ซ

กฎบัตรสหประชาชาติ

เราบรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งเจตจำนง ที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ซึ่งได้นำความวิปโยคอย่างสุดจะพรรณนามาสู่มนุษย์ชาติ ในชั่วชีวิตของเราถึงสองครั้งแล้ว และที่จะยืนยันความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูลในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษยบุคคล ในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี และของประชาชาติใหญ่น้อยและที่จะสถาปนาภาวการณ์ อันจะธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและความเคารพต่อข้อผูกพันทั้งปวงอันเกิดมาจากสนธิสญญา และที่มาอื่นๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ และที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคม และมาตรฐานอันดียิ่งขึ้นแห่งชีวิตในอิสรภาพที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และเพื่อจุดหมายปลายทางเหล่านี้ ที่จะปฏิบัติการผ่อนสั้นผ่อนยาว และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันในสันติภาพเยี่ยงเพื่อนบ้านที่ดี และ ที่จะรวมกำลังของเราเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และที่จะให้ความแน่นอนใจว่า จะไม่มีการใช้กำลังอาวุธ นอกจากเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยการยอมรับหลักการและวิธีการที่จะตั้งขึ้น และที่จะใช้จักรกลระหว่างประเทศสำหรับส่งเสริมความรุดหน้าในทางสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนทั้งปวงจึงได้ลงมติที่จะผสมผสานความพยายามทั้งปวงของเรา ในอันที่จะให้สำเร็จผลตามความุ่หมายเหล่านี้ โดยนัยนี้ รัฐบาลของเราโดยลำดับจึงได้ตกลงกันตามกฎบัตรสหประชาชาติฉบับปัจจุบันนี้ โดยทางผู้แทนที่มาร่วมชุมนุมในนครซานฟรานซิสโก ผู้ซึ่งได้แสดงหนังสือมอบอำนาจเต็มของตนอันได้ตรวจแล้วว่าเป็นไปตามแบบที่ดีและเหมาะสม และ ณ ที่นี้จึงสถาปนาองค์การระหว่างประเทศขึ้น โดยเรียกชื่อว่า สหประชาชาติ

หมวดที่ ๑
ความมุ่งหมายและหลักการ
มาตรา ๑

ความมุ่งหมายของสหประชาชาติมีดังนี้

๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และมุ่งต่อจุดหมายปลายทางอันนี้จะได้ดำเนินมาตรการร่วมกัน อันมีผลจริงจังเพื่อการป้องกัน และการขจัดปัดเป่าการคุกคามต่อ สันติภาพ และเพื่อปราบปรามการรุกรานหรือการล่วงละเมิดอื่นๆต่อสันติภาพ ตลอดจนนำมาโดยสันติวิธีและสอดคล้องกับหลักการแห่งความยุติธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งการปรับปรุงหรือระงับกรณีพิพาท หรือสถานการณ์ระหว่างประเทศอันจะนำไปสู่การล่วงละเมิดสันติภาพได้

๒. เพื่อพัฒนาสัมพันธไมตรีระหว่างประชาชาติทั้งปวง โดยยึดการเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิที่เท่าเทียมกัน และการกำหนดเจตจำนงของตนเองแห่งประชาชนทั้งปวงเป็นมูลฐาน และจะได้ดำเนินมาตรการอันเหมาะสมอย่างอื่นๆ เพื่อเป็นกำลังแก่สันติภาพสากล

๓. เพื่อทำการร่วมมือระหว่างประเทศ ในอันที่จะแก้ปัญหาระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและมนุษยธรรม และส่งเสริมและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพ อันเป็นหลักมูลสำหรับทุกๆ คน โดยปราศจากความแตกต่างในทาง เชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา และ

๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับประสานการดำเนินการของ ประชาชาติทั้งปวง ในอันที่จะบรรลุสู่จุดหมายปลายทางร่วมกันเหล่านี้ให้กลมกลืนกัน

มาตรา ๒
เพื่ออนุวัตตามความมุ่งหมายดังกล่าวในมาตรา ๑ องค์การและสมาชิกขององค์การจะดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้

๑. องค์การย่อมยึดหลักการแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยของสมาชิกทั้งปวงเป็นมูลฐาน

๒. เพื่อทําความแน่ใจให้แก่สมาชิกในสิทธิและผลประโยชน์ อันพึงได้รับจากสมาชิกภาพ สมาชิกทั้งปวงจะต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันนี้โดยสุจริตใจ

๓. สมาชิกทั้งปวง จะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธี ในลักษณาการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่าประเทศและความยุติธรรม

๔. ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงจักต้องละเว้นการคุกคามหรือการใช้กําลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ หรือการกระทําในลักษณะการอื่นใดที่ ไม่สอดคล้องกับความมงหมายของสหประชาชาติ

๕. สมาชิกทั้งปวงจักให้ความช่วยเหลือทุกประการ แก่สหประชาชาติในการกระทําใดๆ ที่ได้ดําเนินไปตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และจักละเว้นจากการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐใดๆ ที่กําลังถูกสหประชาชาติดําเนินการป้องกัน หรือบังคับอยู่

๖. องค์การจักให้ความแน่นอนใจว่า รัฐที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ จะพึงต้องปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้เท่าที่จําเป็นแก่การธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

๗. ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จะให้อํานาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซงในเรื่องซึ่งโดยสาระสําคัญแล้วตกอยู่ในเขตอํานาจภายในของรัฐ หรือจักเรียกร้องสมาชิกให้เสนอเรื่องเช่นว่า

เพื่อจัดระงับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันนี้ แต่หลักการอันนี้จะไม่กระทบกระเทือนถึงการใช้มาตรการบังคับตามความในหมวดที่ ๗

หมวดที่ ๒
สมาชิกภาพ
มาตรา ๓

สมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติได้แก่รัฐซึ่งได้ร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก หรือได้ลงนามไว้ก่อนในปฏิญญาโดยสหประชาชาติ ลงวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แล้ว ได้ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบันและให้สัตยาบันตามความในมาตรา ๑๑๐

มาตรา ๔

๑. สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติ เปิดให้แก่รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และในความวินิจฉัยขององค์การ มีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านี้

๒. การับรัฐใดๆ เช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ จะเป็นผลก็แต่โดยมติของสมัชชาตามคําแนะนําของคณะมนตรีความมั่นคง

มาตรา ๕

สมาชิกแห่งสหประชาชาติที่ได้ถูกคณะมนตรีความมั่นคง ดําเนินการในทางป้องกันหรือบังคับ อาจถูกสมัชชาสั่งงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพได้ โดยคําแนะนําของคณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงอาจคืนการใช้สิทธิและเอกสิทธิเหล่านี้ให้ได้

มาตรา ๖
สมาชิกแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้กระทําการฝ่าฝืนหลักการอันมีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่เป็นเนืองนิจ อาจถูกขับไล่ออกจากองค์การโดยสมัชชาตามคําแนะนําของคณะมนตรีความมั่นคง
หมวดที่ ๓
องค์กร
มาตรา ๗

๑. องค์กรสําคัญของสหประชาชาติที่ได้สถาปนาขึ้น มีสมัชชา คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสํานักเลขาธิการ

๒. องค์กรย่อยเช่นที่จะเห็นจําเป็น อาจสถาปนาขึ้นได้ตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน

มาตรา ๘

สหประชาชาติจักไม่วางข้อจํากัดในการรับบุรุษ และสตรีเข้า ร่วมในองค์กรสําคัญ และองค์กรย่อยไม่ว่าในฐานะใดๆ และต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาค

หมวดที่ ๔
สมัชชา
องค์ประกอบ
มาตรา ๙

๑. สมัชชาประกอบด้วยสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ

๒. สมาชิกแต่ละประเทศ จะมีผู้แทนในสมัชชาได้ไม่มากกว่า ๕ คน

หน้าที่และอํานาจ
มาตรา ๑๐

สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใดๆ หรือเรื่องใดๆ ภายในกรอบแห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือที่เกี่ยวโยงไปถึงอํานาจและหน้าที่ขององค์กรใดๆ ตามที่บัญญัติไว่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันนี้ได้ และอาจทําคําแนะนําไปยังสมาชิกแห่งสหประชาชาติหรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือทั้งสองแห่งในปัญหาหรือเรื่องราวใดๆ เช่นที่ว่านั้นได้ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒

มาตรา ๑๑

๑. สมัชชาอาจพิจารณาหลักการทั่วไปแห่งความร่วมมือในการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการในเรื่องการลดอาวุธและข้อบังคับว่าด้วยกําลังอาวุธ และอาจทําคําแนะนําเกี่ยวกับหลักการเช่นว่าไปยังสมาชิกหรือคณะมนตรีความมั่นคงหรือทั้งสองแห่งก็ได้

๒. สมัชชาอาจอภิปรายปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ อันได้เสนอต่อสมัชชา โดยสมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติ หรือโดยคณะมนตรีความมั่นคง หรือโดยรัฐที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติตามความในมาตรา ๓๕ วรรค ๒ และเว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ อาจทําคําแนะนําเกี่ยวกับปัญหาใดๆ เช่นว่านั้นไปยังรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เกี่ยวข้องหรือคณะมนตรีความมั่นคง หรือทั้งสองแห่งก็ได้ สมัชชาจักส่งปัญหาใดๆ เช่นว่าซึ่งจําเป็นต้องได้รับการดําเนินการไปยังคณะมนตรีความมั่นคงจะเป็นก่อนหรือหลังการอภิปรายก็ได้

๓. สมัชชาอาจแจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบสถานการณ์ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงะหว่างประเทศได้

๔. อํานาจของสมัชชาตามที่กําหนดไว้ในมาตรานี้ จักไม่จํากัดขอบเขตทั่วไปของมาตรา ๑๐

มาตรา ๑๒

๑. ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงกําลังปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกรณีพิพาท หรือสถานการณ์ใดๆ อันได้รับมอบหมายตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันอยู่นั้น สมัชชาจะไม่ทําคําแนะนําใดๆ เกี่ยวกับกรณีพิพาทหรือสถานการณ์นั้น นอกจากคณะมนตรีความมั่นคงจะร้องขอ

๒. โดยความยินยอมของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจักต้องแจ้งให้สมัชชาทราบทุกสมัยระชุมถึงเรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงกําลังดําเนินการอยู่และโดยทํานองเดียวกัน จักต้องแจ้งสมัชชาหรือสมาชิกของสหประชาชาติในกรณีที่สมัชชามิได้อยู่ในสมัยประชุมทราบในทันทีที่คณะมนตรีความมั่นคงหยุดดําเนินการกับเรื่องเช่นว่านั้น

มาตรา ๑๓

๑. ให้สมัชชาริเริ่มการศึกษาและทําคําแนะนํา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะ

ก. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในด้านการเมือง และสนับสนุนพัฒนาการก้าวหน้าองกฎหมายระหว่างประเทศ และการจัดทําประมวลกฎหมายนี้

ข. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและอนามัยและช่วยเหลือให้ประจักษ์ผลในสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสําหรับทุกคนโดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา

๒. ความรับผิดชอบ หน้าที่ และอํานาจต่อไปของสมัชชา เกี่ยวกับเรื่องที่ระบุไว้ในวรรค ๑ ข้อ ข. ข้างต้นได้มีกําหนดไว้ในหมวดที่ ๙ และ ๑๐

มาตรา ๑๔

ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๒ สมัชชาอาจแนะนํามาตรการเพื่อการปรับปรุงโดยสันติแห่งสถานการณ์ใดๆ ซึ่งเห็นว่าจะเสื่อมเสียแก่สวัสดิการทั่วๆไป หรือสัมพันธไมตรีระหว่างนานาชาติ รวมทั้งสถานการณ์ซึ่งเป็นผลมาจาการละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบัน อันได้กําหนดความมุ่งหมายและหลักการของสหประชาชาติไว้ ทั้งนี้โดยมิพึงต้องคํานึงถึงแหล่งกําเนิด

มาตรา ๑๕

๑. สมัชชาจักรับและพิจารณารายงานประจําปี และรายงานพิเศษจากคณะมนตรีความมั่นคงรายงานเหล่านี้จักรวมเรื่องราวของมาตรการทั้งหลายที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยหรือดําเนินการไปเพื่อธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

๒. สมัชชาจักรับและพิจารณารายงานจากองค์กรอื่นๆ ของสหประชาชาติ

มาตรา ๑๖

สมัชชาจักปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศที่ได้รับมอบหมายตามความในหมวดที่ ๑๒ และ ๑๓ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบแก่ความตกลงภาวะทรัสตีสําหรับดินแดนที่มิได้กําหนดไว้เป็นเขตยุทธศาสตร์

มาตรา ๑๗

๑. สมัชชาจักพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่งบประมาณขององค์การ

๒. สมาชิกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายขององค์การตามส่วนที่สมัชชาจะได้กําหนดแบ่งปันให้

๓. สมัชชาจักพิจารณาและให้ความเห็นชอบแก่ข้อตกลงทางการเงิน และงบประมาณกับทบวงการชํานัญพิเศษดังกล่าวไว้ในมาตรา ๕๗ และจักตรวจสอบงบประมาณฝ่ายธุรการของทบวงการชํานัญพิเศษดังกล่าว เพื่อที่จะทําคําแนะนําต่อทบวงการที่เกี่ยวข้อง

การลงคะแนนเสียง
มาตรา ๑๘

๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสมัชชาจักมีคะแนนเสียง ๑ คะแนน

๒. คําวินิจฉัยของสมัชชาในปัญหาสําคัญๆ จักต้องกระทําโดยถือคะแนนเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มาประชุมและออกเสียง ปัญหาเหล่านี้จักรวม คําแนะนําเกี่ยวกับการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเลือกตั้งสมาชิกไม่ประจําของคณะมนตรีความมั่นคง การเลือกตั้งสมาชิกของ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม การเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีภาวะทรัสตีตามมาตรา ๘๖ วรรค ๑ ข้อ ค. การรับสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ การงดใช้สิทธิและเอกสิทธิแห่งสมาชิกภาพ การขับไล่สมาชิก ปัญหาที่เกี่ยวกับการดําเนินงานของระบบภาวะทรัสตี และปัญหางบประมาณ

๓. คําวินิจฉัยปัญหาอื่นๆ รวมทั้งการกําหนดประเภทแห่งปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ เพิ่มเติมนั้นจักกระทําโดยอาศัยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและออกเสียง

มาตรา ๑๙

สมาชิกของสหประชาชาติที่ค้างชําระค่าบํารุงแก่องค์การย่อมไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสมัชชา ถ้าหากจํานวนเงินค้างชําระเท่าหรือมากกว่าจํานวนเงินค่าบํารุงที่ถึงกําหนดชําระสําหรับ ๒ ปีเต็มที่ล่วงมา อย่างไรก็ตามสมัชชาอาจอนุญาตให้สมาชิกเช่นว่านั้นลงคะแนนเสียงก็ได้ ถ้าทําให้เป็นที่พอใจได้ว่าการไม่ชําระนั้นเนื่องมาแต่ภาวะอันอยู่นอกเหนืออํานาจควบคุมของสมาชิกนั้น

วิธีดําเนินการประชุม
มาตรา ๒๐

สมัชชาจักประชุมกันในสมัยสามัญประจําปี และในสมัยพิเศษ เชานที่จําเป็นแก่โอกาส สมัยประชุมพิเศษจักเรียกโดยเลขาธิการตามคําร้องขอของคณะมนตรีความมั่นคง หรือของสมาชิกส่วนข้างมากแห่งสหประชาชาติ

มาตรา ๒๑

สมัชชาจักรับเอาข้อบังคับระเบียบการประชุมของตนเอง ทั้งจักเลือกตั้งประธานสมัชชาสําหรับแต่ละสมัยประชุมด้วย

มาตรา ๒๒

สมัชชาอาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่นที่เห็นจําเป็นสําหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตนก็ได้

หมวดที่ ๕
คณะมนตรีความมั่นคง
องค์ประกอบ
มาตรา ๒๓

๑. คณะมนตรีความมั่นคง ประกอบด้วยสมาชิกแห่งสหประชาชาติ ๑๕ ประเทศ สาธารณรัฐจีน ฝรั่งเศส สหภาพแห่งสาธารณรัฐโซเวียตโซเชียลลิสต์ สหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกประจําของคณะมนตรีความมั่นคง สมัชชาจักเลือกตั้งสมาชิกอื่นของสหประชาชาติอีก ๑๐ ประเทศเป็นสมาชิกไม่ประจําของคณะมนตรีความมั่นคง ทั้งนี้จักต้องคํานึงเป็นพิเศษในประการแรกถึงส่วนอุดหนุนของสมาชิกแห่งสหประชาชาติในการที่จะธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง ระหว่างประเทศและวัตถุประสงค์อื่นขององค์การ กับทั้งการแจกกระจายตามเขตภูมิศาสตร์อันเป็นธรรมอีกด้วย

๒. สมาชิกไม่ประจําของคณะมนตรีความมั่นคง จักได้รับเลือกตั้งมีกําหนดระยะเวลา ๒ ปี ในการเลือกตั้งครั้งแรกของสมาชิกไม่ประจําจักมีประเทศที่ถูกเลือกอยู่ในตําแหน่งมีกําหนด ๑ ปีรวม ๓ ประเทศ สมาชิกที่พ้นตําแหน่งไปแล้วไม่มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งซ้ำโดยทันที

๓. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคง จักมีผู้แทนได้คนเดียว

หน้าที่และอํานาจ
มาตรา ๒๔

๑. เพื่อให้เป็นที่แน่นอนใจ ในการดําเนินการของสหประชาชาติอย่างทันท่วงทีและเป็นผลจริงจัง สมาชิกของสหประชาชาติจึงมอบความรับผิดชอบโดยปฐมภูมิสําหรับการดํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงและตกลงว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบนี้ คณะมนตรีความมั่นคงย่อมกระทําในนามของสมาชิก

๒. ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ คณะมนตรีความมั่นคง จักทําให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย และหลักการของสหประชาชาติ อํานาจเฉพาะที่มอบให้คณะมนตรีความมั่นคง สําหรับปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ ได้กําหนดไว้แล้วในหมวดที่ ๖,๗,๘ และ ๑๒

๓. คณะมนตรีความมั่นคง จักเสนอรายงานประจําปี และรายงานพิเศษในเมื่อจําเป็นต่อสมัชชาเพื่อให้พิจารณา

มาตรา ๒๕

สมาชิกของสหประชาชาติ ตกลงที่จะยอมรับและปฏิบัติตาม คําวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน

มาตรา ๒๖

เพื่อที่จะส่งเสริมการสถาปนา และการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยการนําเอาทรัพยากรทางมนุษยชนและทางเศรษฐกิจของโลกมาใช้เพื่อเป็นกําลังอาวุธให้น้อยที่สุด ให้คณะมนตรีความมั่นคงรับผิดชอบในการจัดรูปแผนผังที่จะเสนอต่อสมาชิกสหประชาชาติ สําหรับการสถาปนาระบบแห้งข่อบังคับว่าด้วยกําลังอาวุธ ทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๗

การลงคะแนนเสียง
มาตรา ๒๗

๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีความมั่นคง จะมีคะแนนเสียง ๑ คะแนน

๒. คําวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง ในเรื่องวิธีดําเนินการจักกระทําโดยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิก ๙ ประเทศ

๓. คําวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง ในเรื่องอื่นทั้งหมด จักกระทําโดยคะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิก ๙ ประเทศ ซึ่งรวมคะแนนเสียงเห็นชอบของบรรดาสมาชิกประจําอยู่ด้วย แต่ว่าในคําวินิจฉัยตามหมวดที่ ๖ และตามวรรค ๓ ของมาตรา ๕๒ ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทจักต้องงดเว้นจากการลงคะแนนเสียง
วิธีดําเนินการประชุม
มาตรา ๒๘

๑. คณะมนตรีความมั่นคง จักก่อตั้งขึ้นในลักษณะที่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้โดยต่อเนื่องเรื่อยไป เพื่อความมุ่งหมายข้อนี้ จึงให้สมาชิกแห่งคณะมนตรีความมั่นคง มีผู้แทนประจําอยู่ทุกเวลา ณ ที่ตั้งขององค์การ

๒. คณะมนตรีความมั่นคง จะประชุมกันเป็นครั้งคราว ซึ่งเมื่อปรารถนาสมาชิกแต่ละประเทศก็อาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือผู้อื่นที่ได้กําหนดตัวเป็นพิเศษ เป็นผู้แทนของตนเข้าร่วมประชุมได้

๓. คณะมนตรีความมั่นคง อาจประชุม ณ สถานที่อื่น นอกไปจากที่ตั้งแห่งองค์การ หากวินิจฉัยเห็นว่าจะทําความสะดวกแก่การงานให้ดีที่สุด

มาตรา ๒๙

คณะมนตรีความมั่นคง อาจสถาปนาองค์กรย่อยเช่ที่เห็นจําเป็นสําหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

มาตรา ๓๐

คณะมนตรีความมั่นคงจักรับเอาข้อบังคับระเบียบการประชุมของตนเองรวมทั้งวิธีเลือกตั้งประธาน

มาตรา ๓๑

สมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง อาจร่วมในการอภิปรายปัญหาใดๆ ที่นํามาสู่คณะมนตรีความมั่นคงได้ โดยไม่มีคะแนนเสียง ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า ผลประโยชน์ของสมาชิกนั้นได้รับความกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ

มาตรา ๓๒

สมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติซึ่งมิใช่สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง หรือรัฐใดๆ ที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ หากตกเป็นฝ่าย ในกรณีพิพาทซึ่งอยู่ในการพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคง จักพึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับกรณีพิพาทนั้นด้วย โดยไม่มีคะแนนเสียง คณะมนตรีความมั่นคงจักกําหนดเงื่อนไขเช่นที่เห็นเป็นการยุติธรรม สําหรับการเข้าร่วมของรัฐที่มิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ

หมวดที่ ๖
การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
มาตรา ๓๓

๑. ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใดๆ ซึ่งหากดําเนินอยู่ต่อไป น่าจะเป็นอันตรายแก่การธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจักต้องแสวงหาการแก้ไขโดยการเจรจาการไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล การหันเข้าอาศัยทบวงการตัวแทน หรือการตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีประการอื่นใดที่คู่กรณีจะพึงเลือก

๒. เมื่อเห็นว่าจําเป็น คณะมนตรีความมั่นคงจักเรียกร้องให้คู่พิพาทระงับกรณีพิพาทของตนโดยวิธีเช่นว่านั้น
มาตรา ๓๔

คณะมนตรีความมั่นคง อาจสืบสวนกรณีพิพาทใดๆ หรือสถานการณ์ใดๆ ซึ่งอาจจะนําไปสู่การกระทบกันระหว่างประเทศหรือก่อให้เกิดกรณีพิพาท เพื่อกําหนดลงไปว่าการดําเนินอยู่ต่อไปของกรณีพิพาท หรือสถานการณ์นั้นๆ น่าจะเป็นอันตรายแก่การธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

มาตรา ๓๕

๑. สมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติอาจนํากรณีพิพาทใดๆ หรือสถานการณ์ใดๆ ตามลักษณะที่กล่าวถึงในมาตรา ๓๔ มาเสนอคณะมนตรีความมั่นคง หรือสมัชชาได้

๒. รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ อาจนำกรณีพิพาทใดๆ ซึ่งตนเป็นฝ่ายมาเสนอคณะมนตรีความมั่นคง หรือสมัชชาได้ ถ้ารัฐนั้นยอมรับล่วงหน้าซึ่งข้อผูกพันแห่งการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันเป็นความมุ่งหมายในการระงับกรณีพิพาท

๓. การดําเนินการพิจารณาของสมัชชาในเรื่องที่เสนอขึ้นมาตามมาตรานี้ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา ๑๑ และ ๑๒

มาตรา ๓๖

๑. คณะมนตรีความมั่นคง อาจแนะนําวิธีดําเนินการหรือวิธีการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสม ได้ ไม่ว่าในระยะใดๆ แห่งการพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในมาตรา ๓๓ หรือแห งสถานการณ์อันมีลักษณะทํานองเดียวกันนั้น

๒. คณะมนตรีความมั่นคงชอบที่จะพิจารณาถึงวิธีดําเนินใดๆ เพื่อการระงับข้อพิพาทซึ่งคู่พิพาทได้รับปฏิบัติแล้ว

๓. ในการทําคําแนะนําตามมาตรานี้ คณะมนตรีความมั่นคงชอบที่จะพิจารณาด้วยว่า กรณีพิพาทในทางกฎหมายนั้น ตามหลัก ทั่วไป ควรให้คู่พิพาทเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญของศาลนั้น

มาตรา ๓๗

๑. หากผู้เป็นฝ่ายแห่งกรณีพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในมาตรา ๓๓ ไม่สามารถระงับกรณีพิพาทโดยวิธีที่ได้ระบุไว้ใน มาตรานั้นแล้ว ก็ให้ส่งเรื่องนั้นไปเสนอคณะมนตรีความมั่นคง

๒. ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่า โดยพฤติการณ์ การคงดําเนินต่อไปแห่งกรณีพิพาทน่าจะเป็นอันตรายต่อการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว ก็ให้วินิจฉัยว่าจะดําเนินการตามมาตรา ๓๖ หรือจะแนะนําข้อตกลงระงับกรณีพิพาทเช่นที่จะพิจารณาเห็นเหมาะสม

มาตรา ๓๘

คณะมนตรีความมั่นคงอาจทําคําแนะนําแก่คู่พิพาทเพื่อทําความตกลงระงับกรณีพิพาทโดยสันติวิธี หากผู้เป็นฝ่ายทั้งปวงในกรณีพิพาทร้องขอเช่นนั้น ทั้งนี้ โดยมิให้กระทบกระเทือนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๓ ถึง ๓๗

หมวดที่ ๗
การดําเนินการเกี่ยวกับการคุมคามต่อสันติภาพ
การละเมิดสันติภาพ และการกระทําการรุกราน
มาตรา ๓๙

คณะมนตรีความมั่นคงจักกําหนดว่า การคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพหรือการกระทําการรุกรานได้มีขึ้นหรือไม่ และจักทําคําแนะนําหรือวินิฉัยว่าจะใช้มาตรการอันใดตามมาตรา ๔๑ และ ๔๒ เพื่อธํารงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

มาตรา ๔๐

เพื่อป่องกันมิให่สถานการณ์ทวีความร้ายแรงยิ่งขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงอาจเรียกร้องให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอนุวัตตามมาตรการชั่วคราวเช่นที่เห็นจําเป็น หรือพึงปรารถนา ก่อนที่จะทําคําแนะนํา หรือวินิจฉัยมาตรการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙ มาตรการชั่วคราวเช่นว่านี้ จักไม่ทําให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิอํานาจเรียกร้องหรือฐานะของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง คณะมนตรีความมั่นคงจักต้องคํานึงถึงการไม่อนุวัตตามมาตรการชั่วคราวเช่นว่านั้น

มาตรา ๔๑

คณะมนตรีความมั่นคง อาจวินิจฉัยว่าจะต้องใช้มาตรการอันใดอันไม่มีการใช้กําลังอาวุธ เพื่อยังผลให้เกิดแก่คําวินิจฉัยของคณะมนตรี และอาจเรียกร้องให้สมาชิกแห่งสหประชาชาติใช้มาตรการ เช่นว่านั้น มาตรการเหล่านี้อาจรวมถึงการตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการคมนาคมทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุและวิถีทางคมนาคมอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน และการตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตด้วย

มาตรา ๔๒

หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า มาตรการตามที่บัญญัติไวาในมาตรา ๔๑ น่าจะไม่เพียงพอ หรือได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ คณะมนตรีก็อาจดําเนินการใช้กําลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน เช่นที่เห็นจําเป็นเพื่อธํารงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ การดําเนินการเช่นว่านี้อาจรวมถึงการแสดงแสนยานุภาพ การปิดล้อม และการปฏิบัติการอย่างอื่น โดยกําลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดินของบรรดาสมาชิกสหประชาชาติ

มาตรา ๔๓

๑. เพื่อได้มีส่วนร่วมในการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติรับที่จะจัดสรรกําลังอาวุธ ความช่วยเหลือ และความสะดวก รวมทั้งสิทธิในการผ่านดินแดนตามที่จําเป็น เพื่อธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงเมื่อคณะมนตรีเรียกร้อง และเป็นไปตามความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับ

๒. ความตกลงฉบับเดียว หรือหลายฉบับเช่นว่านั้น จักกําหนดจํานวนและประเภทของกําลัง ขั้นแห่งความเตรียมพร้อมและตําบลที่ตั้งโดยทั่วไปของกําลัง และลักษณะของความสะดวกและความช่วยเหลือที่จัดหาไว้ให้

๓. ให้ดําเนินการเจรจาความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับนั้น โดยความริเริ่มของคณะมนตรีความมั่นคงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้ ความตกลงเหล่านี้ จักได้ลงนามกันระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิก หรือระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและกลุ่มสมาชิก และจักต้องได้รับสัตยาบันโดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐเหล่านั้น

มาตรา ๔๔
เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยที่จะใช้กําลังแล่ว ก่อนที่จะเรียกร่องให่สมาชิกซึ่งมิได้มีผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงจัดส่งกําลังทหาร เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อผูกพันที่ได้รับไว้ตามมาตรา ๔๓ คณะมนตรีจะต้องเชิญสมาชิกนั้นให้เข้าร่วมในการวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง เกี่ยวกับการใช้หน่วยแห่งกําลังทหารของสมาชิกนั้น หากสมาชิกนั้นประสงค์เช่นนั้น
มาตรา ๔๕

เพื่อที่จะทําให้สหประชาชาติสามารถดําเนินมาตรการทางทหารได้โดยด่วน สมาชิกจักต้องจัดสรรหน่วยกําลังทางอากาศแห่งชาติไว้ให้พรักพร้อมโดยทันที สําหรับการดําเนินการบังคับระหว่างประเทศโดยรวมกัน กําลังและขั้นแห่งการเตรียมพร้อมของหน่วยกําลังเหล่านี้ และแผนการสําหรับการดําเนินการโดยรวมกัน จักได้กําหนดโดยคณะมนตรีความมั่นคง ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร ทั้งนี้ภายในขอบจํากัดที่วางไว้ในความตกลงพิเศษฉบับเดียว หรือหลายฉบับที่อ้างถึงในมาตรา ๔๓

มาตรา ๔๖

แผนการสําหรับการใช้กําลังทหาร จักได้จัดทําโดยคณะมนตรีความมั่นคง ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร

มาตรา ๔๗

๑. ให้จัดสถาปนาคณะกรรมการเสนาธิการทหารขึ้น เพื่อให้คําปรึกษาและช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวกับความต้องการทางทหารของคณะมนตรีความมั่นคง สําหรับการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในการใช้ และการบังคับบัญชากําลังทหารที่มอบให้คณะมนตรีในกําหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์และในการลดอาวุธอันจะพึงเป็นไปได้

๒. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจักประกอบด้วยเสนาธิ-การกลาโหมของสมาชิกประจําของ คณะมนตรีความมั่นคง หรือผู้แทนของบุคคลเหล่านี้ คณะกรรมการจักต้องเชิญสมาชิกสหประชาชาติ ที่มิได้มีผู้แทนประจําอยู่ในคณะกรรมการเข้าร่วมงานกับคณะกรรมการด้วย เมื่อใดที่การปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการให้ประสิทธิผลเรียกร้องให้สมาชิกนั้นเข้าร่วมในงานของคณะกรรมการ

๓. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจักต้องรับผิดชอบภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงสําหรับการอํานวยการทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้กําลังทหาร ซึ่งได้มอบไว้ให้กับคณะมนตรีความมั่นคง ปัญหาเกี่ยวกับการบังคับบัญชากําลังทหารเช่นว่านั้น จักได้พิจารณาดําเนินการในภายหลัง

๔. คณะกรรมการเสนาธิการทหารอาจสถาปนาคณะอนุกรรมการส่วนภูมิภาคขึ้นได้ ทั้งนี้โดยได้รับอํานาจจากคณะมนตรีความมั่นคง และหลังจากได้ปรึกษาหารือกับทบวงการส่วนภูมิภาคที่เหมาะสมแล้ว

มาตรา ๔๘

๑. การดําเนินการที่พึงประสงค์ เพื่อปฏิบัติตามคําวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงในการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ จักได้กระทําโดยสมาชิกสหประชาชาติทั้งปวง หรือแต่บางประเทศตามแต่คณะมนตรีความมั่นคงจะพึงกําหนด

๒. คําวินิจฉัยเช่นว่านั้นจักต้องปฏิบัติโดยสมาชิกสหประชาชาติโดยตรง และโดยผ่านการดําเนินการของสมาชิกเหล่านั้นในทบวงการระหว่างประเทศที่เหมาะสม ซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่

มาตรา ๔๙
สมาชิกสหประชาชาติจักร่วมกันอํานวยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการปฏิบัติมาตรการที่คณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยไว้แล้ว
มาตรา ๕๐

หากคณะมนตรีความมั่นคงได้ดําเนินมาตรการป้องกัน หรือบังคับต่อรัฐใดรัฐอื่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติหรือไม่ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาพิเศษทางเศรษฐกิจเนื่องมาแต่การปฏิบัติมาตรการเหล่านั้น ย่อมมีสิทธิที่จะหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

มาตรา ๕๑

ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอันจักรอนสิทธิประจําตัวในการป้องกันตนเองโดยลําพังตน หรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีโดยกําลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดําเนินมาตรการที่จําเป็นเพื่อธํารงไว้ซึ่ง สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรการที่สมาชิกได้ดําเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้จักต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันที และจักไม่กระทบกระเทือนอํานาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงภายใต้กฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ทางหนึ่งทางใด ในอันที่จักดําเนินการเช่นที่เห็นจําเปนเพื่อธํารงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศในขณะหนึ่งขณะใด

หมวดที่ ๘
ข้อตกลงส่วนภูมิภาค
มาตรา ๕๒

๑. ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันที่กีดกันการมีข้อตกลงส่วนภูมิภาค หรือทบวงการตัวแทนสําหรับจัดการเรื่องที่เกี่ยวกับการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเช่นที่เห็นเหมาะสมสําหรับการดําเนินการส่วนภูมิภาคขึ้น หากข้อตกลงหรือทบวงการตัวแทนเช่นว่าและกิจกรรมนั้นๆ สอดคล้องกับความมุ่งหมาย และหลักการของสหประชาชาติ

๒. สมาชิกของสหประชาชาติที่เข้าร่วมในข้อตกลงเช่นว่านั้น หรือประกอบขึ้นเป็นทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้นจักต้องกระทําความพยายามทุกประการที่จะจัดระงับข้อพิพาทแห่งท้องถิ่นโดยสันติวิธีด้วยอาศัยข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคง

๓. คณะมนตรีความมั่นคงจักสนับสนุนพัฒนาการแห่งการระงับข้อพิพาทแห่งท้องถิ่นโดยสันติวิธีด้วยอาศัยข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาคเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือโดยเสนอเรื่องมาจากคณะมนตรีความมั่นคงก็ดี

๔. มาตรานี้ไม่ทําให้เสื่อมเสียโดยประการใดๆ ต่อการนํามาตรา ๓๔ และ ๓๕ มาใช้

มาตรา ๕๓

๑. เมื่อใดเห็นเหมาะสม คณะมนตรีความมั่นคงจักใช้ประโยชน์ในข้อตกลงส่วนภูมิภาค หรือทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้นเพื่อการดําเนินการบังคับภายใต้อํานาจของตน แต่จะมีการดําเนินการบังคับตามข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค โดยปราศจากการให้อํานาจของคณะมนตรีความมั่นคงไม่ได้ เว้นแต่มาตรการที่กระทําต่อรัฐศัตรู ดังที่นิยามไว้ในวรรค ๒ แห่งมาตรานี้ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยอนุวัตตามมาตรา ๑๐๗ หรือในข้อตกลงส่วนภูมิภาค ซึ่งต่อต้านการรื้อฟื้นนโยบายรุกรานของรัฐศัตรูเช่นว่านั้น จนกว่าจะถึงเวลาที่องค์การอาจเข้ารับผิดชอบเพื่อป้องกันการรุกรานต่อไปโดยรัฐศัตรูเช่นว่าตามคําร้องขอของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง

๒. คําว่ารัฐศัตรูที่ใช้ในวรรค ๑ แห่งมาตรานี้ย่อมนํามาใช้แก่รัฐใดๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เคยเป็นศัตรูต่อรัฐที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน
มาตรา ๕๔

คณะมนตรีความมั่นคง จักต้องได้รับแจ้งโดยครบถ้วนตลอดทุกเวลาถึงกิจกรรมที่ได้กระทําไป หรืออยู่ในความดําริตามข้อตกลงส่วนภูมิภาคหรือโดยทบวงการตัวแทนส่วนภูมิภาค เพื่อการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

หมวดที่ ๙
ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทางเศรษฐกิจ และสังคม
มาตรา ๕๕

ด้วยทัศนะที่จะสถาปนาภาวการณ์แห่งเสถียรภาพและสวัสดิ-ภาพ ซึ่งจําเป็นสําหรับความสัมพันธ์โดยสันติและโดยฉันท์มิตรระหว่างนานาชาติ ด้วยยึดความเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันเท่าเทียมกัน และการกําหนดเจตจํานงของตนเองของประชาชนเป็นมูลฐาน สหประชาชาติจักส่งเสริม

ก. มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น การมีงานทําโดยทั่วถึงและภาวการณ์แห่งความก้าวหน้าและพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม

ข. การแก่ไขปัญหาระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ สังคม อนามัยและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และการร่วมมือระหว่างประเทศทางวัฒนธรรมและการศึกษา และ

ค. การเคารพโดยสากล และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสําหรับทุกคน โดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา

มาตรา ๕๖

สมาชิกทั้งปวงให้คํามั่นว่า จะดําเนินการร่วมกัน และแยกกัน ในการร่วมมือกับองค์การ เพื่อให้บรรลุผลแห่งความมุ่งหมายที่กําหนดไว้ในมาตรา ๕๕

มาตรา ๕๗

๑. ทบวงการชํานัญพิเศษต่างๆ ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยความตกลงระหว่างรัฐบาล และมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดังได้นิยามไว้ในเอกสารก่อตั้งของตน จักต้องนําเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ตามบทบัญญัติในมาตรา ๖๓

๒. ทบวงการตัวแทนเช่นว่านี้ ด้วยเหตุที่ได้นําเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ต่อไปก็จะเรียกว่า ทบวงการชํานัญพิเศษ

มาตรา ๕๘

องค์การจักทําคําแนะนําสําหรับการประสานนโยบาย และกิจกรรมของทบวงการชํานัญพิเศษ

มาตรา ๕๙
เมื่อเห็นเหมาะสม องค์การจักริเริ่มการเจรจาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อการก่อตั้งทบวงการชํานัญพิเศษใหม่ใดๆ อันพึงประสงค์เพื่อการยังผลสําเร็จในความมุ่งหมายที่กําหนดไว้ในมาตรา ๕๕
มาตรา ๖๐

ความรับผิดชอบสําหรับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การตามที่กําหนดไว้ในหมวดนี้จักมอบให้แก่สมัชชา และภายใต้อํานาจของสมัชชาแก่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจักมีอํานาจเพื่อการนี้ตามที่กําหนดไว้ในหมวดที่ ๑๐

หมวดที่ ๑๐
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
องค์ประกอบ
มาตรา ๖๑

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติ ๕๔ ประเทศซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยสมัชชา

๒. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในวรรค ๓ แต่ละปีสมาชิกแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม ๑๘ ประเทศจักได้รับเลือกตั้งเป็นกําหนดเวลา ๓ ปี สมาชิกที่พ้นตําแหน่งไปแล้วมีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งอีกทันที

๓. ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการเพิ่มจํานวนสมาชิก ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจาก ๒๗ ประเทศ เป็น ๕๔ ประเทศ รวมทั้งสมาชิกที่ได้รับเลือกเพื่อแทนที่สมาชิก ๙ ประเทศ ซึ่งเวลาดํารงตําแหน่งจะสิ้นสุดลงในปลายปีนั้นจักได้เลือกสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น ๒๗ ประเทศ สมาชิกที่ได้รับเลือกเพิ่มขึ้น ๒๗ ประเทศนี้ เวลาดํารงตําแหน่งของ ๙ ประเทศที่ได้รับเลือก จะสิ้นสุดลงในปลายปีแรก และอีก ๙ ประเทศจะสิ้นสุดลงในปลายปีที่ ๒ ตามข้อตกลงที่สมัชชาได้ทําไว้

๔. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักมีผู้แทนได้ ๑ คน

หน้าที่และอํานาจ
มาตรา ๖๒

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจทําหรือริเริ่มการศึกษาและรายงานเกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจทําคําแนะนําเกี่ยวกับเรื่องเช่นว่านั้นเสนอต่อสมัชชา ต่อสมาชิกของสหประชาชาติและต่อทบวงการชํานัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง

๒. คณะมนตรีอาจทําคําแนะนําเพื่อความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเคารพ และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสําหรับทุกคน

๓. คณะมนตรีอาจจัดเตรียมร่างอนุสัญญา เพื่อเสนอต่อสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบอํานาจของคณะมนตรี

๔. คณะมนตรีอาจเรียกประชุมระหว่างประเทศในเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบอํานาจของคณะมนตรีตาม ข้อบังคับที่สหประชาชาติกําหนดไว้

มาตรา ๖๓

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจเข้าทําความตกลงกับทบวงการตัวแทนใดๆ ที่อ้างถึงในมาตรา ๕๗ โดยวางข้อกําหนดสําหรับที่ทบวงการตัวแทนที่เกี่ยวข้องจักได้เข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ความตกลงเช่นว่านั้นจักต้องได้รับความเห็นชอบของสมัชชา

๒. คณะมนตรีอาจประสานกิจกรรมของทบวงการชํานัญพิเศษโดยการปรึกษาหารือและการทําคําแนะนําต่อทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้น และโดยการทําคําแนะนําต่อสมัชชา และต่อสมาชิกของสหประชาชาติ
มาตรา ๖๔

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจดําเนินการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับรายงานโดยสม่ำเสมอจากทบวงการชํานัญพิเศษ คณะมนตรีอาจทําข้อตกลงกับสมาชิกของสหประชาชาติ และกับทบวงการชํานัญพิเศษเพื่อให้ได้รับรายงานเกี่ยวกับการดําเนินการที่จะยังให้บังเกิดผลแก่คําแนะนําของตน และแก่คําแนะนําของสมัชชาในเรื่องที่อยู่ในขอบอํานาจของคณะมนตรี

๒. คณะมนตรีอาจแจ้งข้อสังเกตของตนเกี่ยวกับรายงานเหล่านี้ต่อสมัชชา

มาตรา ๖๕

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมอาจจัดหาขอสนเทศให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง และจักช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคงในเมื่อร้องขอ

มาตรา ๖๖

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักปฏิบัติหนาที่เช่นที่ตกอยู่ในขอบอํานาจของตนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคําแนะนําของสมัชชา

๒. ด้วยความเห็นชอบของสมัชชา คณะมนตรีอาจปฏิบัติการตามคําร้องขอของสมาชิกสหประชาชาติและตามคําร้องขอของทบวงการชํานัญพิเศษ

๓. คณะมนตรีจักปฏิบัติหน้าที่อื่น เช่นที่ระบุไว้ ณ ที่อื่นใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือเช่นที่สมัชชาอาจมอบหมายให้

การลงคะแนนเสียง
มาตรา ๖๗

๑. สมาชิกแต่ละประเทศแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักมีคะแนนเสียง ๑ คะแนน

๒. คําวินิจฉัยของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม จักกระทําโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง

วิธีดําเนินการประชุม
มาตรา ๖๘

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักจัดตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ ขึ้นในด้านเศรษฐกิจและสังคม และสําหรับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมาธิการอื่นเช่นที่อาจพึงประสงค์สําหรับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

มาตรา ๖๙

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักเชิญสมาชิกใดๆ ของสหประชาชาติให้เข้าร่วม โดยไม่มีคะแนนเสียงในการพิจารณาของคณะมนตรีในเรื่องใดๆ อันมีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะต่อสมาชิกนั้น

มาตรา ๗๐
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทําขอตกลงสําหรับผู้แทนของทบวงการชํานัญพิเศษที่จะเข้าร่วมโดยไม่มีคะแนนเสียงในการพิจารณาของคณะมนตรีและในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการที่คณะมนตรีได้สถาปนาขึ้นและสําหรับผู้แทนของตนที่จะเข้าร่วมในการพิจารณาของทบวงการชํานัญพิเศษ
มาตรา ๗๑

คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อาจทําข้อตกลงที่เห็นสมควรเพื่อการปรึกษาหารือกับองค์การที่มิใช่ของรัฐบาลซึ่งมีความเกี่ยว ข้องกับเรื่องอันอยู่ภายใน ขอบอํานาจของตนเหล่านั้น ข้อตกลงเช่นว่าอาจทํากับองค์การระหว่างประเทศ และเมื่อเห็นเหมาะสมกับองค์การประจำชาติภายหลังที่ได้ทําการปรึกษาหารือกับสมาชิกของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องแล้ว

มาตรา ๗๒

๑. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักรับเอาข้อบังคับวิธีดําเนินการประชุมของตนเองรวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย

๒. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักประชุมกันตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของตนซึ่งจักรวมบทบัญญัติสําหรับเรียกประชุมตามคําร้องขอของสมาชิกส่วนข้างมากของคณะมนตรีไว้ด้วย

หมวดที่ ๑๑
ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง
มาตรา ๗๓

สมาชิกของสหประชาชาติซึ่งมีหรือเข้ารับเอาความรับผิดชอบในการปกครองดินแดนซึ่งประชาชนยังมิได้บรรลุถึงการปกครองตนเองโดยเต็มภาคภูมิ ย่อมรับรู้หลักการที่ว่าผลประโยชน์ของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนเหล่านี้เป็นสิ่งสําคัญยิ่งยวดและรับเอาเป็นภาระมอบหมายอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งข้อผูกพันที่จะส่งเสริมสวัสดิการของประชาชนผู้อาศัยในดินแดนเหล่านี้อย่างสุดกําลังภายในระบบแห่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ได้สถาปนาขึ้นโดยกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และเพื่อจุดหมายอันนี้

ก. จะให้ประกันด้วยความเคารพตามสมควรต่อวัฒนธรรมของประชาชนที่เกี่ยวข้อง แก่ความก้าวหน้าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา แก่การปฏิบัติอันเที่ยงธรรม และแก่ความคุ้มครองให้พ้นจากการละเมิด

ข. จะพัฒนาการการปกครองตนเอง จะคํานึงตามสมควรถึงปณิธานทางการเมืองของประชาชน และจะช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ในการพัฒนาการสถาบันทางการเมืองอันอิสระให้ก้าวหน้าตามพฤติการณ์ โดยเฉพาะของแต้ละดินแดนและของประชาชนและขั้นแห่งความรุดหน้าอันต่างกันของประชาชนเหล่านั้น

ค. จะส่งเสริมสันติภาพความมั่นคงระหว่างประเทศ

ง. จะส่งเสริมมาตรการแห่งพัฒนาการอันเป็นการเสริมสร้าง จะสนับสนุนการวิจัยและจะร่วมมือซึ่งกันและกัน และเมื่อใดและ ณ ที่ใดเห็นเหมาะสมกับทบวงการชํานัญพิเศษระหว่างประเทศเพื่อให้บรรลุถึงโดยแท้จริงซึ่งความมุ่งหมายทางสังคม เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ ดั่งกล่าวไว้ในมาตรานี้

จ. จะส่งข้อสนเทศทางสถิติและทางอื่นอันมีลักษณะเทคนิคเกี่ยวกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในดินแดนซึ่งตนรับผิดชอบโดยลําดับ นอกเหนือไปจากดินแดนที่จะได้นําเอาหมวดที่ ๑๒ และ ๑๓ มาใช้บังคับ ให้แก่เลขาธิการโดยสม่ําเสมอ เพื่อประโยชน์ในการสนเทศ ทั้งนี้ภายในบังคับแห่งข้อจํากัด เช่นที่ความมั่นคงและข้อพิจารณาทางรัฐธรรมนูญจะพึงต้องการ

มาตรา ๗๔
สมาชิกของสหประชาชาติ ยอมตกลงด้วยว่านโยบายของตนเกี่ยวกับดินแดนที่หมวดนี้ใช้ บังคับอยู่จะต้องยึดถือหลักการทั่วไปแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเป็นมูลฐานไม่น้อยไปกว่าที่เกี่ยวกับดินแดนอาณาเขตนครหลวงของตนเอง ทั้งนี้พึงคํานึงตามสมควรถึงผลประโยชน์และสวัสดิการของส่วนอื่นของโลกในเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ และการพาณิชย์ด้วย
หมวดที่ ๑๒
ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ
มาตรา ๗๕

สหประชาชาติจักสถาปนาขึ้นภายใต้อํานาจของตนซึ่งระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศสําหรับการปกครองและการควบคุมดูแลดินแดนเช่นที่อาจจะนําเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนี้ โดยความตกลงเป็นรายๆ ไปในภายหลัง ดินแดนเหล่านี้นับแต่นี้ไปจะเรียกว่าดินแดนทรัสตี

มาตรา ๗๖

วัตถุประสงค์มูลฐานของระบบภาวะทรัสตีตามความมุ่งหมายของสหประชาชาติที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑ แห่งกฎบัตรฉบับปัจจุบันคือ

ก. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ข. ส่งเสริมความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาของประชาชนผู้อาศัยอยู่ในดินแดนทรัสตีเหล่านั้น และส่งเสริมพัฒนาการอันก้าวไปสู่การปกครองตนเองหรือเอกราชตามความเหมาะสมแห่งพฤติการณ์ โดยเฉพาะของแต่ละดินแดนและของประชาชน และความปรารถนาอันแสดงออกโดยอิสระ ของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และตามแต่ข้อกําหนดของความตกลงภาวะทรัสตีแต่ละรายจะวางไว้

ค. สนับสนุนความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสําหรับทุกคน โดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา และสนับสนุนการรับรู้ในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประชาชนของโลก และ

ง. ให้ประกันการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันในเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ และการพาณิชย์สําหรับสมาชิกทั้งปวงแห่งสหประชาชาติและชนชาติของสมาชิกเหล่านั้น และทั้งการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันสําหรับชนชาติแห่ง ประเทศสมาชิกในการอํานวยความยุติธรรม ทั้งนี้โดยมิให่เสื่อมเสียแกาการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้างต้น และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๘๐

มาตรา ๗๗

๑. ระบบภาวะทรัสตี จักนํามาใช่บังคับแก่ดินแดนในประเภทดังต่อไปนี้เช่นที่จะอาจนํามาไว้ภายใต้ระบบนี้ได้โดยวิถีทางแห่งความตกลงภาวะทรัสตี

ก. ดินแดนซึ่งบัดนี้อยู่ภายใต้อาณัติ

ข. ดินแดนซึ่งอาจแยกมาจากรัฐศัตรู โดยผลแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง และ

ค. ดินแดนซึ่งรัฐที่รับผิดชอบในการปกครอง ได้นําเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนี้โดยสมัครใจ

๒. เป็นเรื่องที่จะทําความตกลงกันภายหลัง ว่าจะให้นําดินแดนใดในประเภทที่กล่าวข้างต้นมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีและโดยมีข้อกําหนดอย่างไรบ้าง

มาตรา ๗๘

ระบบภาวะทรัสตี จักไม่นํามาใช้บังคับแก่ดินแดนที่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว ซึ่งสัมพันธภาพระหว่างกันจะต้องยึดความเคารพต่อหลักการแห่งความเสมอภาคในอธิปไตยเป็นมูลฐาน

มาตรา ๗๙

ข้อกําหนดแห่งภาวะทรัสตีสําหรับแต่ละดินแดนอันจะนํามาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี รวมทั้งข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขใดๆ จักต้องได้รับความตกลงโดยรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงรวมทั้งประเทศที่ใช้อํานาจอาณัติในกรณีที่เป็นดินแดนภายใต้อาณัติอันสมาชิกสหประชาชาติได้รับมอบหมาย และจักต้องได้รับความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๓ และ ๘๕

มาตรา ๘๐

๑. นอกจากที่จะได้ตกลงไว้ในความตกลงภาวะทรัสตีเป็นรายๆไป ซึ่งทําตามมาตรา ๗๗, ๗๙ และ ๘๑ นําเอาดินแดนแต่ละดินแดนมาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี และจนกระทั่งความตกลงเช่นว่านั้นได้ลงนามกันแล้ว ไม่มีข้อความใดในหมวดนี้จักแปลความในหรือโดยตัวเองเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใดๆ ซึ่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐหรือประชาชนใดๆ หรือแห่งข้อกําหนดในพิธีสารระหว่างประเทศที่มีอยู่ซึ่งสมาชิกสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีโดยลําดับ

๒. วรรค ๑ แห่งมาตรานี้จักต้องไม่ตีความไปในทางที่ถือเป็นมูลเหตุสําหรับการหน่วงเหนี่ยวให้ช้าหรือการผลัดเลื่อนการเจรจาและการลงนามความตกลง เพื่อนําดินแดนในอาณัติหรือดินแดนอื่นมาไว้ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗

มาตรา ๘๑

ความตกลงภาวะทรัสตี ในแต่ละกรณีจักรวมไว้ซึ่งข้อกําหนดตามที่ดินแดนทรัสตีจะถูกปกครองและ จักกําหนดตัวผู้ทรงอํานาจ ซึ่งจะทําการปกครองดินแดนทรัสตี ผู้ทรงอํานาจเช่นว่านี้ซึ่งแต่นี้ต่อไปจะเรียกว่า ผู้ใช้อํานาจปกครอง อาจเป็นรัฐเดียวหรือมากกว่านั้น หรือองค์การสหประชาชาติเองก็ได้

มาตรา ๘๒

ในความตกลงภาวะทรัสตีรายหนึ่งรายใด อาจมีการกําหนดเขตยุทธศาสตร์เขตหนึ่งหรือหลายเขตซึ่งอาจรวมดินแดนทรัสตีแต่บางส่วน หรือทั้งหมดที่ทําความตกลงบังคับใช้อยู่โดยมิให้เสื่อมเสียแก่ความตกลงพิเศษฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับที่ทําไว้ตามมาตรา ๔๓

มาตรา ๘๓

๑. หน้าที่ทั้งปวงของสหประชาชาติเกี่ยวกับเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบในข้อกําหนดของความตกลงภาวะทรัสตี และของข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขจักกระทําโดยคณะมนตรีความมั่นคง

๒. วัตถุประสงค์มูลฐานที่กล่าวไว้ในมาตรา ๗๖ จักนํามาใช้บังคับได้แก่ประชาชนของเขตยุทธศาสตร์แต่ละเขต

๓. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของความตกลงภาวะทรัสตี และโดยมิให้เสื่อมเสียแก่ข้อพิจารณาทางความมั่นคงคณะมนตรีความมั่นคงจักถือเอาประโยชน์แหงความช่วยเหลือของคณะมนตรีภาวะทรัสตีเพื่อปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ของสหประชาชาติภายใต้ระบบภาวะทรัสตีเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาในเขตยุทธศาสตร์เหล่านั้น

มาตรา ๘๔

เป็นหน้าที่ของผู้ใช้อํานาจปกครองที่จะให้ประกันว่า ดินแดนทรัสตีจักมีสวนในการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและ ความมั่นคงระหว่างประเทศ เพื่อจุดหมายอันนี้ ผู้ใช้อํานาจปกครองอาจใช้ประโยชน์ของกองทหารอาสาสมัคร ความสะดวก และความช่วยเหลือจากดิน-แดนทรัสตีในการปฏิบัติตามข้อผูกพันต่อคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งผู้ใช้อํานาจปกครองเข้ารับเอาเกี่ยวกับการนี้ตลอดทั้งการป้องกันทางท้องถิ่นและการธํารงไว้ซึ่งกฎหมายและระเบียบภายในดินแดนทรัสตี

มาตรา ๘๕
๑. หน้าที่ของสหประชาชาติเกี่ยวกับความตกลงภาวะทรัสตีสําหรับเขตทั้งปวงที่มิได้กําหนดให้เป็นเขตยุทธศาสตร์ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบในข้อกําหนดของความตกลงภาวะทรัสตี และของข้อเปลี่ยนแปลงหรือข้อแก้ไขจักกระทําโดยสมัชชา

๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตีซึ่งดําเนินการภายใต้อํานาจของสมัชชาจักช่วยเหลือสมัชชาในการปฏิบัติตามหน้าที่เหล่านี้

หมวดที่ ๑๓
คณะมนตรีภาวะทรัสตี
องค์ประกอบ
มาตรา ๘๖

๑. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จักประกอบด้วยสมาชิกของสหประชาชาติดังต่อไปนี้

ก. สมาชิกที่ปกครองดินแดนทรัสตี

ข. สมาชิกที่ได้ระบุนามไว้ในมาตรา ๒๓ ซึ่งมิได้ปกครองดินแดนทรัสตี และ

ค. สมาชิกอื่นๆ ซึ่งสมัชชาไดเลือกตั้งขึ้น มีกําหนดเวลา ๓ ปีเท่าจํานวนที่จําเป็น เพื่อให้ประกันว่าจํานวนรวมของสมาชิกแหงคณะมนตรีภาวะทรัสตีจะแบ่งออกได้เท่ากันกับระหว่างสมาชิกของสหประชาชาติที่ปกครองดินแดนทรัสตีและที่ไม่ได้ปกครอง

๒. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีภาวะทรัสตี จักกําหนดบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นพิเศษเฉพาะคนหนึ่งเป็นผู้แทนในคณะมนตรี

หน้าที่และอํานาจ
มาตรา ๘๗

ในการปฏิบัติตามหน้าที่ สมัชชาและคณะมนตรีภาวะทรัสตี ภายใต้อํานาจของสมัชชาอาจจะ

ก. พิจารณารายงานซึ่งผู้ใช อํานาจปกครองเสนอมา

ข. รับคําร้องทุกข์ และตรวจสอบคําร้องเหล่านั้น โดยปรึกษาหารือกับผู้ใช้อํานาจปกครอง

ค. จัดให้มีการเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราวแก่ดินแดนทรัสตีโดยลําดับตามกําหนดเวลาที่จะได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อํานาจปกครอง และ

ง. ดําเนินการเหล่านี้และอื่นๆ โดยสอดคล้องกับข้อกําหนดแห่งความตกลงภาวะทรัสตี

มาตรา ๘๘

คณะมนตรีภาวะทรัสตี จักวางรูปข้อถามเกี่ยวกับความรุดหน้าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาของประชาชนผู้อาศัยในแต่ละดินแดนทรัสตี และผู้ใช้อํานาจปกครองสําหรับแตละดินแดนทรัสตีภายในขอบอํานาจของสมัชชา จักทํารายงานประจําปีเสนอต่อสมัชชา โดยอาศัยมูลฐานแห่งข้อถามเช่นว่านั้น

การลงคะแนนเสียง
มาตรา ๘๙

๑. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจักมีคะแนนเสียง ๑ คะแนน

๒. คําวินิจฉัยของคณะมนตรีภาวะทรัสตีจักกระทําโดยเสียงข้างมากของสมาชิกที่ประชุมและลงคะแนนเสียง

วิธีดําเนินการประชุม
มาตรา ๙๐
๑. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จักรับเอาข้อบังคับระเบียบการ-ประชุมของตนเองรวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย

๒. คณะมนตรีภาวะทรัสตี จักประชุมกันตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของตนซึ่งจักรวมบทบัญญัติสําหรับเรียกประชุม ตามคําร้องขอของสมาชิกส่วนมากด้วย

มาตรา ๙๑

เมื่อเห็นเหมาะสมคณะมนตรีภาวะทรัสตี จักถือเอาประโยชน์แห่งความช่วยเหลือของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมและของทบวงการชํานัญพิเศษเกี่ยวกับเรื่องซึ่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และทบวงการชํานัญพิเศษเหล่านี้เกี่ยวข้องอยู่โดยลําดับ

หมวดที่ ๑๔
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
มาตรา ๙๒

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จักเป็นองค์กรทางตุลาการอันสําคัญของสหประชาชาติ ศาลจักดําเนินหน้าที่ตามธรรมนูญผนวกท้ายซึ่งยึดถือธรรมนูญของศาลประจํายุติธรรมระหว่างประเทศเป็นมูลฐาน และซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกฎบัตรฉบับปัจจุบัน

มาตรา ๙๓

๑. สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ โดยพฤตินัยย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

๒. รัฐซึ่งมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ อาจเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้โดยเงื่อนไขซึ่งสมัชชาจะได้กําหนดเป็นรายๆไปตามคําแนะนําของคณะมนตรีความมั่นคง

มาตรา ๙๔

๑. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะอนุวัตตามคําวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นฝ่าย

๒. ถ้าผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคําพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งถ้าเห็นจําเป็นก็อาจทําคําแนะนําหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดําเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คําพิพากษานั้น

มาตรา ๙๕

ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จักหวงห้ามสมาชิกแห่งสหประชาชาติมิให้มอบหมายการแก้ไขข้อขัดแย้งของตนต่อศาลอื่น โดยอาศัยอํานาจแห่งความตกลงที่ได้มีอยู่แล้ว หรือที่อาจจะลงนามกันในอนาคต

มาตรา ๙๖

๑. สมัชชาหรือคณะมนตรีความมั่นคง อาจร้องขอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความเห็นแนะนําในปัญหากฎหมายใดๆ

๒. องค์กรอื่นของสหประชาชาติและทบวงการชํานัญพิเศษ ซึ่งอาจได้รับอํานาจจากสมัชชาในเวลาใดๆ ก็อาจร้องขอความเห็นแนะนําของศาลเกี่ยวกับปัญหากฎหมายอันเกิดขึ้นภายในกรอบแห่งกิจกรรมของตน
หมวดที่ ๑๕
สํานักเลขาธิการ
มาตรา ๙๗

สํานักเลขาธิการ จักประกอบด้วยเลขาธิการคนหนึ่ง และพนักงานเท่าที่องค์การอาจต้องการ เลขาธิการจักได้รับการแต่งตั้งโดยสมัชชา ตามคําแนะนําของคณะมนตรีความมั่นคง เลขาธิการจักเป็นเจ้าหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การ

มาตรา ๙๘

เลขาธิการ จักปฏิบัติการในอํานาจหน้าที่นั้นในการประชุมทั้งปวงของสมัชชา ของคณะมนตรีความมั่นคงของคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม และของคณะมนตรีภาวะทรัสตี และจักกระทําหน้าที่อยางอื่นเช่นที่องค์การเหล่านี้จะพึงมอบหมายให เลขาธิการจักทํารายงานประจําปีเสนอต่อสมัชชาเกี่ยวกับงานขององค์การ

มาตรา ๙๙

เลขาธิการอาจนําเรื่องใดๆ ซึ่งตามความเห็นของตนอาจคุกคามการธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศมาเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบ

มาตรา ๑๐๐

๑. ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เลขาธิการและพนักงานจักไม่แสวงหรือรับคําสั่งจากรัฐบาลใดๆ หรือจากเจ้าหน้าที่อื่นใดภายนอกองค์การ บุคคลเหล่านี้จักเว้นจากการดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจมีผลสะทือนถึงฐานะของตนในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศซึ่งรับผิดชอบต่อองค์การเท่านั้น

๒. สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะเคารพต่อลักษณะระหว่างประเทศโดยเฉพาะของความรับผิดชอบของเลขาธิการและพนักงาน และจะไม่แสวงใช้อิทธิพลต่อบุคคลเหล่านั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของเขา

มาตรา ๑๐๑

๑. พนักงานจักได่รับการแต่งตั้งโดยเลขาธิการตามระเบียบที่สมัชชาได้สถาปนาขึ้น

๒. พนักงานที่เหมาะสมจักได้รับมอบหมายให้ไปประจําอยู่เป็นการถาวรในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมในคณะมนตรีภาวะทรัสตีและองค์การอื่นของสหประชาชาติตามที่พึงประสงค์ พนักงาน เหล่านี้จักถือเป็นส่วนหนึ่งของสํานักเลขาธิการ

๓. ข้อพิจารณาอันสําคัญยิ่งยวด ในการจ้างพนักงานและในการกําหนดเงื่อนไขแห่งบริการ ได้แก่ความจําเป็นที่จะต้องให้ได้มาซึ่งมาตรฐานอันสูงสุดแห่งสมรรถภาพ ความสามารถ และความซื่อสัตย์มั่นคง ความสําคัญในการจัดหาพนักงานโดยยึดมูลฐานทางภูมิศาสตร์ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะกระทําได้ จักต้องเป็นที่พึงคํานึงถึงตามสมควร

หมวดที่ ๑๖
บทเบ็ดเตล็ด
มาตรา ๑๐๒
๑. สนธิสญญาทุกฉบับและความตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับ ซึ่งสมาชิกใดๆ แห่งสหประชาชาติได้เข้าเป็นภาคีภายหลังที่กฎบัตรฉบับปัจจุบัน ได้ใช้บังคับจักต้องจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้และจักได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสํานักงานนี้

๒. ภาคีแห่งสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่าใดๆ ซึ่งมิได้จดทะเบียนไว้ตามบทบัญญัติในวรรคหนึ่งแห่งมาตรานี้ ไม่อาจยกเอาสนธิสญญาหรือความตกลงนั้นๆ ขึ้นกล่าวอ้างต่อองค์กรใดๆ ของสหประชาชาติ

มาตรา ๑๐๓

ในกรณีแห่งการขัดแย้งระหว่างข้อผูกพันของสมาชิกสหประชาชาติตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันและตามข้อผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศอื่นใด ข้อผูกพันตามกฎบัตรฉบับปัจจุบันจักต้องใช้บังคับ

มาตรา ๑๐๔

องค์การจักได้รับประโยชน์ในความสามารถตามกฎหมายในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศ ขององค์การเท่าที่จําเป็นเพื่อการบริหารหน้าที่และการยังให้บรรลุผลสําเร็จในความมุ่งหมายขององค์การ

มาตรา ๑๐๕

๑. องค์การจักได้รับประโยชน์ในเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศขององค์การเท่าที่จำเป็น เพื่อยังให้บรรลุผลสําเร็จในความมุ่งหมายขององค์การ

๒. ผู้แทนของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ขององค์การจักได้รับประโยชน์ในเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในทํานองเดียวกันเท่าที่จําเป็นสําหรับการบริหารหน้าที่เกี่ยวกับองค์การโดยอิสระ

๓. สมัชชาอาจทําคําแนะนําเพื่อกําหนดรายละเอียดในการนําเอาวรรค ๑ และ ๒ ของมาตรานี้มาใช้บังคับ หรืออาจเสนออนุสัญญาต่อสมาชิกของสหประชาชาติเพื่อความมุ่งหมายนี้

หมวดที่ ๑๗
ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
มาตรา ๑๐๖

ในระหว่างที่ยังมิได้ใช้บังคับความตกลงพิเศษดังที่อ้างถึงในมาตรา ๔๓ ซึ่งตามความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคงจะช่วยให้ตนได้เริ่มบริหารตามความรับผิดชอบของตนในมาตรา ๔๒ ภาคีแห่งปฏิญญา ๔ ประชาชาติซึ่งได้ลงนามกัน ณ กรุงมอสโคว์ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ และฝรั่งเศส จะปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน และเมื่อโอกาสเรียกร้องกับสมาชิกอื่นของสหประชาชาติ ตามบทบัญญัติแห่งวรรค ๕ ของปฏิญญานั้น โดยมุ่งที่จะดําเนินการร่วมกันในนามขององค์การเช่นที่อาจจําเป็นเพื่อความมุ่งหมายที่จะธํารงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

มาตรา ๑๐๗

ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จักทําให้ไม่สมบูรณ์ หรือลบล้างการดําเนินการในความเกี่ยวพันกับรัฐใดๆ ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เป็นศัตรูของรัฐใดๆ ที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลที่รับผิดชอบสําหรับการดําเนินการเช่นว่านั้นได้กระทําไป หรือได้ให้อํานาจกระทําไปโดยผลแห่งสงครามนั้น

หมวดที่ ๑๘
การแก้ไข
มาตรา ๑๐๘

การแก้ไขกฎบัตรฉบับปัจจุบัน จักมีผลใช้บังคับสําหรับสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ ก็ต่อเมื่อการแก้ไขนั้นได้รับคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของสมาชิกแห่งสมัชชาลงมติให้ และได้รับสัตยาบันตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญจาก ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสหประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกประจําทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงด้วย

มาตรา ๑๐๙

๑. การประชุมทั่วไปของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ เพื่อความมุ่งหมายที่จะวิจารณ์กฎบัตรฉบับปัจจุบันอาจจัดให้มีขึ้น ณ เวลาและสถานที่ซึ่งจะกําหนดโดยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของสมาชิกแห่งสมัชชาและโดยคะแนน เสียงของสมาชิกใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง ๙ ประเทศ แต่ละสมาชิกของสหประชาชาติจักมีคะแนนเสียง ๑ คะแนนในการประชุมนี้

๒. การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันซึ่งได้รับคําแนะนําโดยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของที่ประชุมจักมีผลเมื่อได้รับสัตยาบันตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญจาก ๒ ใน ๓ ของสมาชิกแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกประจําทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว

๓. ถ้าการประชุมเช่นว่ายังมิได้จัดให้มีขึ้นก่อนสมัยประชุมประจําปีครั้งที่ ๑๐ ของสมัชชานับแต่กฎบัตรฉบับปัจจุบันได้มีผลใช้บังคับแล้ว ข้อเสนอที่จะให้เรียกประชุมเช่นว่าจักต้องนําเข้าระเบียบวาระของสมัยประชุมนั้นของสมัชชา และการประชุมจักจัดให้มีขึ้น หากได้วินิจฉัยเช่นนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกแห่งสมัชชา และโดยคะแนนเสียงของสมาชิกใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง ๗ ประเทศ

หมวดที่ ๑๙
การสัตยาบันและการลงนาม
มาตรา ๑๑๐

๑. กฎบัตรฉบับปัจจุบันจักต้องได้รับสัตยาบัน โดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของประเทศของตน

๒. สัตยาบันจักมอบไว้กับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งจักแจ้งให้รัฐที่ลงนามทั้งปวงตลอดจนเลขาธิการขององค์การเมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว ให้ทราบถึงการมอบแต่ละครั้ง

๓. กฎบัตรฉบับปัจจุบันจักมีผลใช้บังคับเมื่อสาธารณรัฐจีน ฝรั่งเศส สหภาพแห่งสาธารณรัฐโซเวียตโซเชียลลิสต์ สหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา และจํานวนข้างมากแห่งรัฐอื่นๆ ที่ลงนามได้มอบสัตยาบันแล้ว พิธีสารแห่งสัตยาบันที่ได้มอบไว้นั้นจักจัดทําขึ้นโดยรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งจักได้ส่งสำเนาพิธีสารนั้นไปยังรัฐที่ลงนามทั้งปวง

๔. รัฐที่ลงนามในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน และให้สัตยาบันภายหลังที่กฎบัตรมีผลใช้บังคับแล้ว จักเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสหประชาชาติในวันที่มอบสัตยาบันของตน

มาตรา ๑๑๑
กฎบัตรฉบับปัจจุบันซึ่งตัวบทภาษาจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสเปน ได้รับนับถือเป็นต้นฉบับแท้จริงโดยเท่าเทียมกัน จักได้มอบไว้ในบรรณสารของรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา รัฐบาลนั้นจักได้ส่งสําเนาซึ่งรับรองโดยชอบแล้วไปยังรัฐบาลแห่งรัฐที่ลงนามอื่นๆ

เพื่อเป็นหลักฐานในการนี้ ผู้แทนของรัฐบาลทั้งหลายแห่งสหประชาชาติได้ลงนามไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน ทําขึ้น ณ นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕

(ข้อความกฎบัตรสหประชาชาติทั้งหมดนี้ เป็นคําแปลของทางราชการ)

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"